60 วัน รัฐบาลเศรษฐา อนุมัติงบฯ – ก่อหนี้ผูกพัน – ใช้เงินนอกงบฯกว่า 2.6 แสนล้านบาท ทำโครงการอะไรบ้าง?
60 วัน นับจากวันที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยในขณะนั้น เพิ่งจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ได้ไม่นาน ก็มาเผชิญราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาน้ำมันที่ใช้ในภาคขนส่ง ต้นทุนของพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าสูง ค่าไฟแพง แก๊สหุงต้มและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามกระทบค่าครองชีพของประชาชน
หากดูย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 ครม.นัดแรก มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในระยะสั้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลอีก 3 เดือน ทำให้กรมสรรพสามิตขาดรายได้ 15,000 ล้านบาท และใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปแทรกแซงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม และปรับลดอัตราค่าไฟฟ้า รอบแรก ในรอบบิลเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จากอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลดลงเหลือ 4.10 บาท/หน่วย และมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว โดยเปิดฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน รัสเซีย อินเดีย และไต้หวัน และมีมติอนุมัติงบกลาง 998.44 ล้านบาท อุดหนุนค่าเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 2,254,534 คน
ต่อมา ที่ประชุม ครม.วันที่ 18 กันยายน 2566 มีมติปรับค่าไฟฟ้ารอบที่ 2 จากอัตรา 4.10 บาท/หน่วย ลดลงเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ทั้ง 2 รอบ ทำให้ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงอย่างน้อย 10% โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไปหารือกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้า จากเดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชะลอการต้องเรียกเก็บเงินค่า Ft คงค้าง 135,000 ล้านบาท คืนจากประชาชน 38.31 สตางค์/หน่วย ออกไป 4 เดือน คิดเป็นเงิน 23,428 ล้านบาท โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง เรียกเก็บเงินจากประชาชนคืนภายหลังสถานการณ์พลังงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติขยายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่มอีก 130,000 ล้านบาท จากเดิมที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำไว้ 3,350,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3,480,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้ใช้ในโครงการลงทุนต่างๆตามนโยบายของรัฐบาล และมีมติอนุมัติงบกลาง 2,310.26 ล้านบาท อุดหนุนค่าอาหารกลางวัน และจัดซื้อนมโรงเรียนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
วันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท จำนวน 2.698 ล้านราย เฟสแรก 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – วันที่ 30 กันยายน 2567 และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาชดเชยภาระดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.วงเงิน 11,096 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายให้ ธ.ก.ส.ในโครงการการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการการนี้อีก 1,000 ล้านบาท รวม 12,096 ล้านบาท ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 700,000 ราย
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 1,962.62 ล้านบาท ไปสนับสนุนให้ประชาชนเร่งตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า (EV) วงเงิน 1,024.41 ล้านบาท , จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยผู้พิการ 541.09 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคเรียนที่ 1/2566 อีก 397.12 ล้านบาท
หลังจากดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไปแล้ว มาถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เติมเงินให้ประชาชนไปจับจ่ายใช้สอย คาดว่าจะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยที่ประชุม ครม.วันที่ 3 ตุลาคม 2566 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และแต่งตั้งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ฯ ศึกษารายละเอียดและแนวทางในการดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาก่อนส่งให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติ รวมทั้งได้มีการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 35 คน โดยมีนายภมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน และยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำไปใช้ในการเสริมสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 18,000 ล้านบาท
จากนั้นที่ประชุม ครม.วันที่ 16 ตุลาคม 2566 มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ในวงเงิน 29,748 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 – 2571 โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงินรวม 385 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 369 ล้านบาท , ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดิน 9 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการประกวดราคา 7 ล้านบาท และมีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศ และค้ำประกันเงินกู้ให้ รฟท.วงเงินรวม 29,363 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 28,759 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 604 ล้านบาท
และในวันเดียวกันนั้น ที่ประชุม ครม.ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน 2567 สำหรับรถไฟชานเมือง สายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต) ของการไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะทำให้ รฟท.สูญเสียรายได้ปีละ 77.15 ล้านบาท และรฟม.อีก 193.23 ล้านบาท
วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 1 บาท ตามสัดส่วนของเนื้อน้ำมันที่ผสมอยู่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 และใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าไปแทรกแซงให้ราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงลิตรละ 2.50 บาท คาดว่าจะทำให้กรมสรรพสามิตขาดรายได้ไปประมาณ 2,700 ล้านบาท อีกทั้งที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารออมสิน และธ.ก.ส.ดำเนินโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) วงเงิน 2,000 ล้านบาท (ธนาคารละ 1,000 ล้านบาท) ปล่อยกู้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลไม่เกิน 150,000 บาท/ราย เพื่อนำเงินไปชำระหนี้จากการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล หรือนำไปลงทุนประกอบอาชีพใหม่ กรณีเกิดความเสียหายจากการดำเนินโครงการดังกล่าว รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณ 1,200 ล้านบาท มาชดเชยให้กับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวนทั้งสิ้น 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 55,038.96 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 44,437 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 10,601 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรวงเงิน 34,437.00 ล้านบาท เพื่อเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกเข้าสู่ตลาด 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยกำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท กรณีเกษตรมียุ้งฉางเป็นของตนเอง รัฐบาลจัดงบฯจ่ายให้เกษตรกรเป็นค่าเก็บรักษาข้าวตันละ 1,500 บาท กรณีเกษตรกรไม่มียุ้งฉางไปฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร รัฐบาลจ่ายค่าเก็บข้าวให้สถาบันเกษตรกร 1,000 บาท/ตัน ส่วนเกษตรกรได้ 500 บาท/ตัน นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังปี 2566/67 วงเงิน 370 ล้านบาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก 65.17 ล้านบาท
รวม 60 วัน ครม.เศรษฐา อนุมัติงบประมาณปี 2567 โดยใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ไปพลางๆก่อน รวมทั้งอนุมัติงบผูกพัน ปรับลดอัตราภาษี ค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจ และการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 260,000 ล้านบาท ทั้งที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังอยู่ระหว่างการจัดทำและรอนำเสนอที่ประชุมรัฐสภาผ่านความเห็นชอบ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม 2567 ส่วนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หลังจากที่สำนักงบประมาณใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ไปพลางๆก่อน โดยจัดงบฯชดเชยหนี้ให้กับแบงก์รัฐ ล่าสุด รัฐบาลมีภาระค้างจ่ายเงินชดเชยแบงก์รัฐอยู่ที่ 940,229 ล้านบาท (นับรวมโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย)คิดเป็นสัดส่วน 29.25% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2566 (เพดานตามกฎหมายอยู่ที่ 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมโครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าวแจกเงินชาวนา 468,000 ครัวเรือน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท คาดว่าต้องใช้เงินอีก 56,000 ล้านบาท และโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่ต้องใช้เงิน 500,000 ล้านบาท เหลือเงินนอกงบประมาณให้รัฐบาลใช้จ่ายได้ไปจนกว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 อีก ล้านบาท
ดังนั้นถ้าจะทำนโยบายแค่ประชานิยม ก็ยากที่จะฟื้นเศรษฐกิจ แม้จะอ้างว่าเป็นนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อลดความเดือดร้อนประชาชน แต่การใช้เงินเพื่อลดความเดือดร้อนประชาชนสามารถทำได้หลายรูปแบบและยั่งยืนได้ ทำอย่างไรที่จะเกิดการจ้างงานสร้างรายได้จริงๆ เพราะเม็ดเงินลงทุนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวยาวๆและยั่งยืน ยังไม่เห็นวี่แววและแอคชั่นจริงๆ มีแต่อีเวนท์และอีเว้นท์ แล้วจะกระตุกเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอย่างไร…