ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.ไฟเขียวพักหนี้เกษตรกร 2.7 ล้านราย แถมปล่อยกู้ใหม่ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย เริ่ม 1 ต.ค.นี้

ครม.ไฟเขียวพักหนี้เกษตรกร 2.7 ล้านราย แถมปล่อยกู้ใหม่ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย เริ่ม 1 ต.ค.นี้

26 กันยายน 2023


เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมแถลงข่าวมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย 2.7 ล้านราย ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง

ครม.ไฟเขียวพักหนี้เกษตรกรรายย่อย เฟสแรก 2.7 ล้านราย พร้อมจัดโครงการฝึกอบรมอาชีพลูกหนี้ – ปล่อยกู้ใหม่เพิ่มไม่เกิน 100,000 บาท/ราย เริ่ม 1 ต.ค. 2566 – 30 ก.ย. 2567

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 – 12 กันยายน 2566 โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาชดเชยภาระดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.วงเงิน 11,096 ล้านบาท และอีก 1,000 ล้านบาท ใช้ในโครงการการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการดังกล่าว โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

    1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีเงินต้นคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 – 3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs)) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs ก็สามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว
    2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอก ดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยน หรือ ขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า วันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติ และหนี้ค้างชำระที่มีเงินต้นเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท คาดว่าจะมีเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจำนวนกว่า 2.69 ล้านราย ทั้งนี้ เกษตรกรต้องแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ พร้อมรับการประเมินศักยภาพ และความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหลังการพักชำระหนี้ สำหรับผู้เข้าร่วมมาตรการที่ประสงค์ชำระดอกเบี้ยค้างเดิมที่เกิดขึ้นก่อนเข้าร่วมมาตรการมีรายละเอียดดังนี้

  • กรณีเป็นหนี้ปกติ ธ.ก.ส.จะเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยในอัตราส่วน 50:50 ของเงินที่นำมาชำระในแต่ละคราวและ
  • กรณีเป็นหนี้ค้างชำระ (NPL) ธนาคารจะจัดสรรชำระเงินต้นให้ทั้งจำนวนที่ลูกค้าส่งชำระในแต่ละคราว รวมทั้งสามารถเข้าร่วมมาตรการจูงใจตามโครงการชำระดีมีโชคของ ธ.ก.ส. ได้อีกด้วย ทั้งนี้ การแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ จะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของลูกหนี้

และเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงลดความคับคั่งในการเข้าไปใช้บริการที่สาขา ธ.ก.ส. ได้จัดวางระบบให้เกษตรกรลูกค้าแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” โดยใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แสดงความประสงค์ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ จากนั้นระบบจะมีการประมวลข้อมูลตรวจสอบคุณสมบัติ หากเข้าเกณฑ์ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรการ ธ.ก.ส. จะนัดหมายลูกค้าและผู้ค้ำประกันไปที่สาขาหรือจุดบริการที่นัดหมาย เพื่อจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึง 31 มกราคม 2567 รวม 4 เดือน อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกษตรกรไม่สะดวก สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการที่สาขาใกล้บ้านทั่วประเทศ ซึ่งพนักงานจะอำนวยความสะดวกในการแจ้งความประสงค์ผ่าน BAAC Mobile เพื่อเข้าสู่ระบบการประมวลผลและตรวจสอบสิทธิ์เช่นเดียวกัน

นอกจากการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับภารกิจในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนลดภาระหนี้สินเกษตรกรรายย่อยและเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยในระหว่างการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอาชีพ ทั้งอาชีพเดิม อาชีพเสริม และอาชีพใหม่ ภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” โดยร่วมมือกับส่วนงานภายนอกทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้เพิ่มมูลค่าผลผลิต การลดต้นทุน การปรับปรุงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อสร้างรายได้ เป้าหมายเกษตรกร 300,000 คนต่อปี เช่น การส่งเสริมการปลูกผักระยะสั้น อาทิ การปลูกผักบนแคร่ของชุมชนห้วยเสือเต้น จังหวัดขอนแก่น และการปลูกผักสลัดและมะเขือเทศทานสดของฟาร์มศุข จังหวัดศรีสะเกษ ที่ส่งจำหน่ายไปยังโรงแรม หรือ โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัด ซึ่งช่วยส่งเสริมการบริโภคท้องถิ่น เป็นต้น พร้อมเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพวงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ในการจัดหาปัจจัยการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนได้อย่างมั่นคง หลังการพักชำระหนี้

สำหรับลูกหนี้ที่ประสงค์จะออกจากการเข้าร่วมมาตรการจะต้องแจ้งความประสงค์ต่อ ธ.ก.ส. โดยมีเงื่อนไขดังนี้

    1) ต้องเป็นลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
    2) ลูกหนี้ที่ประสงค์จะใช้บริการสินเชื่อตามปกติกับ ธ.ก.ส. โดยก่อนการยื่นขอสินเชื่อจะต้องสละสิทธิ์การเข้าร่วมมาตรการ ซึ่งจะได้รับการพิจารณาวงเงินตามศักยภาพ และ
    3) กรณีลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ เช่น การไม่เข้าร่วมการประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ประจำปี หรือไม่เข้าร่วมการอบรมและฟื้นฟูการประกอบอาชีพตามที่ ธ.ก.ส. กำหนด หรือ ก่อภาระหนี้เพิ่มขึ้นกับสถาบันการเงินอื่นระหว่างเข้าร่วมมาตรการ ธ.ก.ส.จะพิจารณาให้ออกจากมาตรการดังกล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากฝากย้ำเกษตรกรและบุคคลที่จะเข้าร่วมมาตรการคือ ขอให้ระวังมิจฉาชีพที่อาจใช้โอกาสนี้ นำเรื่องพักชำระหนี้ไปหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ โดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปติดต่ออำนวยความสะดวก หรือหลอกลวงให้กดลิงก์ต่าง ๆ แบบอัตโนมัติ จึงขอให้ลูกค้าทุกท่านศึกษาข้อมูลการดาวน์โหลดและใช้งานแอปพลิ เคชัน BAAC Mobile ได้บนระบบ IOS และ Android ผ่านทาง App store และ Play store เท่านั้น หรือสอบถามข้อมูลอื่น ๆ ได้ที่ Call Center 02 555 0555 หรือสาขาทั่วประเทศ

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับโครงการพักชำระหนี้ของรัฐบาลชุดนี้มีจุดเด่น หรือ ความแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมาดังนี้

    1. คงชั้นหนี้เดิมเอาไว้ หมายความว่า เมื่อเกษตรกรเข้าโครงการพักชำระหนี้ เกษตรกรยังคงสถานะเป็นหนี้ดี ไม่กลายเป็นหนี้เสีย
    2. ธ.ก.ส.พยายามลดภาระหนี้ให้กับเกษตรกรในระหว่างที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ โดยเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย

    3. ในระหว่างที่เกษตรกรเข้าโครงการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส.จะมีการพิจารณาสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้กับเกษตรกรรายละไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา หากเกษตรกรเข้าโครงการพักชำระหนี้จะไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ ตรงนี้คือจุดแตกต่าง ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าหากเกษตรกรมีความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพได้ดีขึ้นตาม เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ก็สามารถมาขอสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมได้ โดย ธ.ก.ส.จะเป็นผู้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้
    4. ในระหว่างที่เกษตรกรเข้าโครงการพักหนี้ ธ.ก.ส.จะมีมาตรการเพิ่มศักยภาพให้กับลูกค้าเกษตรกร
    5. โครงการพักหนี้ครั้งนี้จะครอบคลุมไปถึงเกษตรกรที่มีสถานะเป็นลูกหนี้ NPLs ด้วย ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้ NPLs ลดลง โดยการปรับโครงสร้างหนี้มีการชำระเงินต้น เพื่อที่จะทำให้ NPLs ของธนาคารลดลงด้วย

อนึ่ง เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs

กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน รวมถึงมีโอกาสขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ซึ่ง ธ.ก.ส. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอกอย่างบูรณาการจะช่วยยกระดับการดำรงชีพของเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความมั่นคงของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป

  • PIER ถอดบทเรียนพักหนี้เกษตรกรไทย : ‘ยิ่งพักหนี้ ยิ่งเป็นหนี้เรื้อรัง ติดกับดักหนี้’