ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเคลียร์ปม “บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก” แค่ลิ้นกับฟัน – มติ ครม.ตั้ง ‘เศรษฐา’ ประธานบอร์ด “ดิจิทัล วอลเล็ต”

นายกฯเคลียร์ปม “บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก” แค่ลิ้นกับฟัน – มติ ครม.ตั้ง ‘เศรษฐา’ ประธานบอร์ด “ดิจิทัล วอลเล็ต”

3 ตุลาคม 2023


เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
  • นายกฯเคลียร์ปม “บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก” จบแล้ว แค่ลิ้นกันฟัน
  • สั่ง ผบ.ตร.ติดตามเหตุการณ์กราดยิงในห้างดัง
  • กำชับทุกหน่วยใช้งบฯอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็น – ไม่ควรใช้
  • คาดชง ครม.ตั้งผู้ว่าการ กฟผ.สัปดาห์หน้า
  • มติ ครม.ตั้ง ‘เศรษฐา’ ประธานบอร์ด “ดิจิทัล วอลเล็ต” ถกนัดแรกสัปดาห์นี้
  • เปิดชื่อ 35 คกก.แก้รัฐธรรมนูญ ถกนัดแรก 10 ต.ค.นี้
  • กู้เสริมสภาพคล่อง รฟท. 1.8 หมื่นล้าน
  • โยก ‘กุลยา’ นั่งอธิบดีสรรพากร ‘ธีรัชย์’ คุมกรมศุลฯ
  • เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา แถลงต่อสื่อมวลชน และได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รายงานความคืบหน้าเรื่องแรวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รายงานความคืบหน้านโยบายดิจิทัลวอลเลต รวมทั้งยังมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและมติ ครม.

    ชี้บริหารน้ำให้ดี ดึงดูดต่างชาติลงทุน

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องไม่มีการขาดแคลนน้ำ และถ้าสามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำได้ดี จะเป็นแรงดึงดูดใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เมื่อวานได้มีการคุยกับรองอธิบดีกรมชลประทาน โดยรองอธิบดีฯ ได้ให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยมีการพูดคุยกันว่าต้องทำอย่างไร และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง

    ยันไม่แทรกแซงราคาน้ำมัน ปล่อยตามกลไกตลาด

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องค่าเงินบาทอ่อน ส่งผลกระทบไปถึงราคาน้ำมัน ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า “ต้นทุนน้ำมันเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง แต่เรื่องการก้าวก่าย หรือ แทรกแซงคงไม่มี ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด แต่การที่เงินบาทอ่อนค่า มันไม่ได้ไม่ดีเสียทั้งหมด ซึ่งการส่งออกก็เป็นส่วนประกอบของจีดีพีประเทศมากกว่า 50% ได้รับอานิสงส์ในเชิงบวก ท่องเที่ยวก็ 20% ของจีดีพี น่าจะได้รับอานิสงส์ด้วย ก็ต้องดูให้เหมาะสม ปัจจุบันผมเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดูแล มอนิเตอร์อยู่แล้ว”

    เมื่อถามย้ำว่าการนำเข้าน้ำมันทำให้มีราคาสูงขึ้น นายเศรษฐา ตอบว่า “ราคาน้ำมันเป็นธรรมดา เพราะเรานำเข้าน้ำมันเยอะ ต้องใช้พลังงานทดแทน และใช้แผนระยะยาว เรื่องแหล่งพลังงานที่มีปัญหากันอยู่ก็ต้องแก้ไขกันไป”

    เคลียร์ปม “บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก” จบแล้ว แค่ลิ้นกันฟัน

    ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายกฯ หารือกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีวาระพิเศษอะไร โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ได้สั่งงาน และรับฟังข้อคิดเห็นจากเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการให้วีซ่าฟรีของคนจีน มีปัญหาอย่างไร บริหารจัดการอย่างไร มีข้อเรียกร้องอย่างไร บางข้อที่ท่านเรียกร้องก็เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย หรือ กระทรวงการคลังในแง่การเก็บภาษีต่างๆ ก็มาฟังและหาวิธีต่อไป”

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “เรื่องการพบปะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การคลัง ฝ่ายความมั่นคง จากนี้ต่อไป ผมจะทำลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์ประชุมใหญ่ หรือ องคาพยพใหญ่ๆ หลาย 10 คน แต่จากนี้คุยกัน 3 ถึง 4 คน มากสุด 6 คนเต็มที่”

    “เป็นการพบปะธรรมดา อาจจะเป็นมิติใหม่ในการทำงาน ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ เราทำกันอยู่แล้ว เท่าที่มีการพูดคุยพบว่ามีเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากกว่า เป็นอะไรที่ไม่ต้องเป็นทางการมาก ก็ต้องมีการเตรียมงาน และกระตุ้นให้ทุกคน รวมทั้งผมเองให้ข้อมูลต้องพร้อม เตรียมตัวให้ดีตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัว 2 ถึง 3 วัน บอกเช้าต้องมาบ่ายได้ มาสายได้ อยากให้ผู้ร่วมงานทุกคน หัวหน้าหน่วยงานมีความกะตือรือร้น ไม่ต้องซีเรียสมาก มาพูดคุยกัน ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นไร กลับมาหาข้อมูลกันใหม่” นายเศรษฐา กล่าว

    เมื่อถามต่อถึงประเด็นวงการตำรวจ โดยเฉพาะเรื่อง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล (บิ๊กโจ๊ก) โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมคิดว่าในช่วงที่มีการแต่งตั้งออกไป ท่าน ผบ.ตร. และท่านรอง ผบ.ตร. ได้มีภาพข่าวออกไปแล้ว ได้มีการพูดคุยกันในเชิงบวกแล้ว”

    “คนเราอยู่ด้วยกัน ก็มีลิ้นกับฟันเป็นธรรมดา ผมเชื่อว่าความตั้งใจจริงของทั้งสองท่าน และอยากมีอีกหลายๆ คู่ที่เป็นคู่กรณีกัน ซึ่งผมก็ไม่ทราบ แต่นโยบายชัดเจนว่าเรามีภารกิจใหญ่ คือ ความมั่นคงของประเทศ การดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญ เรื่องส่วนตัวอีกเรื่อง แต่ต้องทำงานให้ได้ ไม่มีข่าวเชิงลบ ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พี่น้องได้ตลอดเวลา” นายเศรษฐา ตอบว่า

    ผู้สื่อข่าวถามต่อทันทีว่า เหมือนวงการตำรวจจะขัดแย้งกันจริงๆ และมีอีกหลายคู่ด้วย ด้านนายเศรษฐา จึงตอบว่า “เป็นธรรมดาของวงการ”

    เมื่อถามว่า นายกฯ พร้อมห้ามศึกไหม นายเศรษฐา ตอบทันทีว่า “ผมคิดว่ามันไม่ต้องห้าม เรามีการพูดคุยอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องทะเลาะเบาะแว้ง คนเรามันผิดใจกันได้ และกลับมาสมานใจกันได้ใหม่ สังคมอยู่ด้วยกันมาจากหลายที่หลายทาง มันเห็นตรงกันไม่หมด สำคัญที่สุดคือมีการพูดคุยในภาษาที่น่าฟัง และไม่มีการด้อยค่าซึ่งกันและกัน ไม่มีการดูถูกดูแคลนกัน สังคมแตกแยกมาเยอะแล้ว ขอให้มีมิติใหม่ในการพูดคุยดีกว่า”

    นายเศรษฐา กล่าวถึงความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการให้ปฏิรูปวงการตำรวจว่า “ผมเชื่อว่าทุกๆ วงการ ทุกสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือ การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดูแลทุกข์สุข การพัฒนาความสัมพันธ์ หรือ แก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าทุกท่านตระหนักดี และรู้ว่าอะไรที่มันไม่ดี ก็ต้องแก้ไข”

    ถามต่อว่า นายกฯ สั่งการอะไรเป็นพิเศษ ให้ ผบ.ตร. บ้าง โดย นายเศรษฐา ตอบว่า เท่าที่ตนจำได้ มีประเด็นวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวจีน ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก หรือ การตรวจคนเข้าเมือง และกำชับว่าต้องไม่สะดวกเกินไปจนลืมความมั่นคง นอกจากนี้ยังกำชับเรื่องยาเสพติดอีกด้วย

    คาดชง ครม.ตั้งผู้ว่าการ กฟผ.สัปดาห์หน้า

    ถามว่าทำไมการแต่งตั้งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกิดความล่าช้า ติดปัญหาอะไร นายเศรษฐา ตอบว่า “ยังไม่มีการรายงานเรื่องนี้เข้ามาที่ ครม. ต้องขอโทษจริงๆ แต่เชื่อว่าในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า กระทรวงพลังงานคงจะมีการรายงานเข้ามา”

    มอบ ‘จุลพันธ์’ แจง “Digital Wallet”

    มีคำถามเรื่องการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยปี 2567 นายเศรษฐา กล่าวว่า “เมื่อวานมีการสนทนากับผู้ว่าธปท.การคุยกันระยะยาว และระยะกลางด้วยว่าถ้านโยบายออกไปแล้ว มันควรเป็นอย่างไร ภาพที่ทั้งเครดิตเรทติ้ง ภาพประชาชน หรือ นักลงทุนต่างประเทศ อยากจะเห็น ท่านก็ให้คำแนะนำ และให้ไกด์ไลน์ว่ารัฐบาลควรทำอย่างไร เราก็น้อมรับ เมื่อวานตอนบ่ายผมก็ไปที่กระทรวงการคลังด้วย ก็มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีช่วยทั้งสองท่าน และท่านปลัดกระทรวงการคลัง และว่าที่อธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงการคลังคนใหม่ๆ ก็น้อมรับไปพิจารณาและไปพูดคุยกัน”

    เมื่อถามเรื่องนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท นายเศรษฐา ย้ำว่า สถานภาพการเงินกาารคลังของประเทศยังแข็งแรง

    ถามต่อว่าแหล่งงบประมาณ ต้องบรรจุในวงเงินประมาณด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา บอกว่า “เดี๋ยววันนี้ตอนบ่ายโมง คุณจุลพันธ์ (รมช.คลัง) จะแถลง”

    กำชับทุกหน่วยใช้งบฯอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็น – ไม่ควรใช้

    ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายที่มอบให้กองทัพชะลอการจัดซื้ออาวุธ และยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “เมื่อวานผมไปเปิดประชุมสัมมนาของสำนักงบประมาณ ได้มีการพูดคุยเรื่องการใช้งบต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อะไรใช้ไปแล้ว ไม่มีความจำเป็น ก็ไม่ควรจะใช้”

    “วันนี้ไม่ใช่แค่กองทัพ หรือ กรมไหน กระทรวงไหนอย่างเดียว ไม่ได้มีการเจาะจงไป เป็นนโยบายของเราอยู่แล้ว เพราะเราต้องระมัดระวังการใช้งบประมาณ” นายเศรษฐา ตอบ

    เมื่อถามว่า โครงการไหนที่ไม่ควรจะอยู่ในยุคนี้แล้ว นายเศรษฐา กล่าวว่า “ไม่มีครับ ผมก็ต้องให้เกียรติทุกกระทรวง ก็ต้องไปพูดคุย เพราะเวลาจะจัดซื้ออะไร ก็ต้องผ่าน ครม. อยู่ดี ได้มีการสั่งการไปแล้วว่าให้ไปดูให้ดี คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน”

    “ผมคิดว่าทุกท่านมีความเป็นผู้ใหญ่พอ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ บ้านเมืองเป็นหลัก ให้โอกาสท่านนิดนึง” นายเศรษฐา กล่าว

    เชื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ปชช.ดี ม็อบลดลง

    คำถามสุดท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ จะทำอย่างให้ทำเนียบไม่เป็นจุดศูนย์รวมของม็อบต่างๆ ทำให้นายเศรษฐา ตอบว่า “เป็นเรื่องที่เราก็กังวลเหมือนกัน ผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ทุกภาคส่วนสบายใจและมั่นใจในรัฐบาล ผมเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ก็ลดน้อยลงไป”

    สั่ง ผบ.ตร.ติดตามเหตุการณ์กราดยิงในห้างดัง

    หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน นายกรัฐมนตรีได้ทวิตข้อความว่า “รับทราบและติดตามสถานการณ์กรณีมีเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างพารากอน โดยได้สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์ โดยสิ่งที่ห่วงใยที่สุดตอนนี้ คือความปลอดภัยของประชาชนทุกคน ขอให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ติดตามดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ทุกคนปลอดภัย”

    มติ ครม.มีดังนี้

    เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง , นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(จากซ้ายไปขวา) ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม.เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความคืบหน้าโครงการ Digital Wallet ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ตั้ง ‘เศรษฐา’ ประธานบอร์ด “ดิจิทัล วอลเล็ต” ถกนัดแรกสัปดาห์นี้

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 มีมติมอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง , สำนักงบประมาณ , สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษารายละเอียดของแนวทางในการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้ชัดเจนแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้จัดประชุมหารือ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 และ 27 กันยายน 2566 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน รวม 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ 2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ 3. คณะทำงานด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ และ 4. คณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการฯ

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่ง นายกรัฐมนตรี จะลงนามในคำสั่งตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

    ส่วนประเด็นเรื่อง Digital Wallet กระทรวงการคลัง เสนอเรื่องต่อ ครม. แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่ง กระทรวงการคลัง ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ธนาคารแห่งประเทศไทย และมีข้อสรุป ถึงความสำคัญของโครงการ ใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ซึ่งคณะกรรมการเมื่อพิจารณารายชื่อแล้วถือเป็น “คกก.” ที่มีองค์ประกอบชุดใหญ่ เหมือนเป็น ครม. ย่อยๆ โดย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีรองประธาน 4 คน ได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบครอบคลุมทุกกลไกที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมี รมช.กระทรวงการคลัง ทั้ง 2 คน เป็น คกก. รวมถึงปลัด DES ปลัด มท. ปลัด กระทรวงการคลัง เป็นเลขานุการ รวมทั้งมี ผู้ว่า ธปท. , เลขา สศช. , ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ , กฤษฎีกา , อัยการสูงสุด , ผู้อำนวยการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมต้นน้ำปลายน้ำ แนวนโยบาย กลไกต่าง ๆ รวมถึงงบประมาณที่ได้ริเริ่ม ติดตามตรวจสอบ การทุจริต รวมทั้งสรุปผลว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เพื่อรายงาน ครม. เพื่อให้รับทราบต่อไป

    ขณะนี้มีการนัดหมายการประชุม คกก.ชุดใหญ่นัดแรกภายในสัปดาห์นี้ การประชุมนัดแรกนี้จะมีการหารือเรื่องการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน รวบรวมประเด็นรายละเอียดนำเสนอชุดใหญ่ ซึ่งอนุฯขับเคลื่อนจะมี รมช.จุลพันธ์ เป็นประธาน และมี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.กระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งนี้ เข้าใจดีถึงคำถามจากสื่อมวลชนที่จะเกิดขึ้น ขอรอเวลาให้แต่งตั้งคณะอนุชุดเล็ก และเสนอเข้าชุดใหญ่ก่อน คาดว่าไม่น่าจะเกิน 1 ถึง 2 สัปดาห์ และจะได้มาชี้แจงและลงรายละเอียดให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ทราบต่อไป

    อนึ่ง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีองค์ประกอบ และหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
    1. องค์ประกอบ

      (1) นายกรัฐมนตรีประธานกรรมการ
      (2) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1
      (3) รองนายกรัฐมนตรีรองประธานกรรมการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนที่ 2
      (4) รองนายกรัฐมนตรีรองประธานกรรมการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนที่ 3
      (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองประธานกรรมการ คนที่ 4
      (6) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกรรมการ
      (7) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกรรมการ
      (8) เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกรรมการ
      (9) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกรรมการ
      (10) ปลัดกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ
      (11) ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
      (12) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการ
      (13) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
      (14) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
      (15) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
      (16) อัยการสูงสุด กรรมการ
      (17) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
      (18) ประธานกรรมการสมาคม สถาบันการเงินของรัฐ กรรมการ
      (19) ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการ
      (20) ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Wallet ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการ
      (21) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและการคลัง ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการ
      (22) ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Blockchain ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการ
      (23) ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการและเลขานุการร่วม
      (24) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการและเลขานุการร่วม
      (25) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ช่วยเลขานุการ
      (26) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้ช่วยเลขานุการ
      (27) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารที่ได้รับมอบหมาย ผู้ช่วยเลขานุการ
      (28) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลังผู้ช่วยเลขานุการ

    2. หน้าที่และอำนาจ

      (1) กำหนดนโยบายโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ แนวทางการดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
      (2) กำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
      (3) กำกับ ติดตาม ขับเคลื่อน และเร่งรัดส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุผลสำเร็จและเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
      (4) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการฯ
      (5) ติดตามและประเมินผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการฯ เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี
      (6) รวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ของประชาชน
      (7) กำหนดแนวทางในการจัดการฐานข้อมูล รวมถึงดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ ประมวลผล และเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ
      (8) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือคณะที่ปรึกษา เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
      (9) เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของทางราชการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการ
      (10) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

    สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของ สศค.

    เปิดชื่อ 35 คกก.แก้รัฐธรรมนูญ ถกนัดแรก 10 ต.ค.นี้

    ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) เป็นเรื่องที่มีมติ ครม. เมื่อ 13 กันยายน 2566 โดย นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามจัดตั้ง คกก. ศึกษาแนวทางการทำประชามติ แก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเป็นการสรรหาที่ได้คุยกันในหลักการก่อน โดยจะร่าง รธน. ผ่านการทำประชามติก่อน หลักการคือไม่แตะต้องหมวด 1-2 และไม่แตะต้องพระราชอำนาจ แต่มีกระบวนการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องเสร็จสิ้นภายใน 4 ปี ของการทำงานรัฐบาล โดยเสร็จสิ้นถึงกฎหมายลูกด้วย

    วิธีการในการทำประชามติ 1 ประชาชน 50,000 คนเข้าชื่อ ซึ่งวิธีนี้ต้องใช้เวลาตรวจสอบตัวตนค่อนข้างมาก 2 ยื่นเสนอผ่านรัฐสภาใช้เวลามากเช่นกันและอาจตกได้ 3 ให้คณะรัฐมนตรีมีมติทำประชามติ ครม. ซึ่งถือเป็นการลัดขั้นตอน จึงตั้ง คกก. เพื่อจัดทำ โดยมีหลักการเดียวกัน แต่อาจแตกต่างในรายละเอียด

    ทั้งนี้ คณะกรรมการทั้งสิ้น 35 คน ด้วยความคิดที่ต้องการให้ครอบคลุมที่สุด โดยจะเริ่มจากไปคุยกับคนจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เช่น สภานักศึกษา กลุ่มนักธุรกิจ สมาคมต่างๆ สมาคมธนาคาร ประมง นักท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรกร นายกสมาคมนักข่าว ซึ่งล้วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ อยากให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมทั้งจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 256 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นแตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

    โดย 1. นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ 2. นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง 3. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง 4. นายนิกร จำนง เป็นกรรมการและโฆษกคณะ 5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 6. นายพิชิต ชื่นบาน เป็นตัวแทนที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 7. พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม 8. พล.ต.อ. สุเทพ เดชรักษา 9. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง 10. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 11. นายศุภชัย ใจสมุทร 12. นายวิรัตน์ วรศสิริน 13. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท 14. นายวิเชียร ชุบไธสง 15 นายวัฒนา เตียงกูล 16. นายยุทธพร อิสรชัย 17. นายไพบูลย์ นิติตะวัน 18. นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย 19. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 20. นายประวิช รัตนเพียร 21. นายนพดล ปัทมะ 22. นายธนกร วังบุญคงชนะ 23. นายธงชัย ไวยบุญญา 24. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ 25. นายเดชอิศม์ ขาวทอง 26. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ 27. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ 28. นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ 29. นางสิริพรรณ นกสวนสวัสดี 30. น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ 31. นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ 32. ผู้แทนพรรคก้าวไกล 33. ปลัดสำนักนายกฯ เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ 34. นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการกฤษฎีกา 33. นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

  • ครม. เคาะ 35 คกก.แก้รัฐธรรมนูญ ประชุมนัดแรก 10 ต.ค.นี้
  • ครม.ไฟเขียวส่วนราชการยื่นคำขอตั้งงบลงทุนปี’67 – งบผูกพันวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท
  • เว้นภาษีสิ่งปลูกสร้างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์) ตามที่กระทรวงการคลัง (กระทรวงการคลัง) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง เสนอ ดังนี้

    มาตรา 15 ของพระราชบัญญัติจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 กำหนดให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 843 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 11 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ในสังกัดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (วันที่ 20 มีนาคม 2566) พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์โดยให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามประมวลกกฎหมายที่ดินโดยไม่ต้องออกกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติม และให้ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและค่าอากรแสตมป์โดยให้ดำเนินการตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร โดยราคาประเมินของกรมที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 843 สำหรับใช้ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอยู่ที่ 159,024,500 บาท และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ได้ว่าจ้างผู้ประเมินราคาภายนอกประเมินมูลค่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 843 พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างอยู่ที่ 1,553,397,000 บาท การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปเป็นของมูลนิธิจุฬาภรณ์ ตามข้อ 1. มีภาระที่จะต้องชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังนี้

    ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรในอัตราร้อยละ 3.3 (รวมภาษีท้องถิ่น) ตามมาตรา 91รัฐมนตรีว่าการกระทรวง2 (6) ประกอบมาตรา 91รัฐมนตรีว่าการกระทรวง1 (4) มาตรา 91รัฐมนตรีว่าการกระทรวง5 (6) และมาตรา 91รัฐมนตรีว่าการกระทรวง6 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541

    มูลนิธิจุฬาภรณ์เป็นผู้ออกใบรับตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28 (ข) ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ในอัตรา 1 บาทของจำนวนเงินทุก 200 บาทหรือเศษของ 200 บาท เฉพาะกรณีจำนวนเงินตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป

    ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และมูลนิธิจุฬาภรณ์เป็นองค์การสาธารณกุศลตามข้อ 3 (80) ของประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การสถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และมูลนิธิจุฬาภรณ์จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

    กู้เสริมสภาพคล่อง รฟท. 1.8 หมื่นล้าน

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) โดยให้กระทรวงการคลัง (กระทรวงการคลัง) เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม โดย รฟท. จะดำเนินการ กู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว สำหรับการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับเงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 18,000 ล้านบาท

    ลดค่าธรรมเนียมแรงงานต่างด้าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ เรื่อง การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาเพื่อทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ดังนี้

    1. ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราและค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ในอัตรา 500 บาท โดยมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 4 ปี ซึ่ง มท.ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราและค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. …. ตามหลักการดังกล่าว

    2. ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว

    3. ให้ รง. โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยทั่วถึง เมื่อกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

    ขยายเวลาแรงงานต่างด้าว 4 ประเทศ ทำงานถึงสิ้น เม.ย.ปี’67

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง) เสนอ เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมสิทธิประโยชน์ของแรงงาน ดังนี้

    1. แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 และร่างประกาศเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวม 2 ฉบับ ได้แก่

      1.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …

      1.2 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการผ่อนผันให้คนต่างด้าวซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวไว้สามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรต่อไปได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2567 (เดิม 30 กันยายน 2566) และหากดำเนินการขออนุญาตทำงานแล้วเสร็จ จะสามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

    2. แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนด่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี และ ร่างประกาศเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวม 2 ฉบับ ได้แก่

      2.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ

      2.2 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ … ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 ธันวาคม 2566 สามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรต่อไปได้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567

    3. ให้ รง. โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวอย่างทั่วถึง

    เห็นชอบร่างแถลงการณ์ลดใช้สารเคมีการเกษตร

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ของรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ว่าด้วยการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายเพื่อประกันความปลอดภัยด้านอาหาร สาธารณสุขความปลอดภัยในการทำงาน และปกป้องสิ่งแวดล้อม (Statement of ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry to reduce the use of Harmful Agrochemicals to ensure Food Safety , Public Health, Occupational Safety and Environmental Protection)

    ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

    โดย สาระสำคัญ ดังนี้

      1. ระบุสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายสูงตามคำจำกัดความของหลักปฏิบัติสากลว่าด้วยการจัดการสารกำจัดศัตรูพืชของ FAOรัฐมนตรีว่าการกระทรวงMHO ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งสารกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความเป็นอันตรายเฉียบพลันหรือเรื้อรังต่อสุขภาพในระดับสูง ตามระบบการจำแนกประเภทที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือระบบการจำแนกประเภท และการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก หรือตามรายการในข้อตกลงหรือนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงหรือไม่สามารถรักษาให้หายได้โดยอิงจากการประเมินความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงโดยโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius) อาจได้รับการพิจารณาหรือจำแนกว่า เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

      2. สนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านการจัดทำรายชื่อสารกำจัดศัตรูพืชเป็นอันตรายสูง (HHP) ที่จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

      3. ทบทวนความต้องการการใช้ HHP เหล่านี้ หากเป็นไปได้ โดยวางมาตรการลดความเสี่ยงซี่งรวมถึงการจำกัดการใช้งาน (ประเภท และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือ พื้นที่การใช้งาน) เพื่อลดการใช้ HHP ดังนั้น จึงลดการสัมผัส HHP ของเกษตรกรและผู้บริโภคให้เหลือน้อยที่สุด

      4. ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เช่น การใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและลดความเสี่ยง

      5. เพิ่มขีดความสามารถในประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการศัตรูพืชอย่างยั่งยืน รวมถึงการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย การใช้ผลิตภัณฑ์หรือแนวทางทางเลือกแทนสารกำจัดศัตรูพืช เช่น สารชีวภัณฑ์ และการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน

    ทั้งนี้ ร่างแถลงการณ์ฯ เน้นความร่วมมือกันในการที่จะลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตรายสูงแก่ผู้บริโภคและเกษตรกร รวมถึงปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้การบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ร่างแถลงการณ์ดังกล่าวไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

    โยก ‘กุลยา’ นั่งอธิบดีสรรพากร ‘ธีรัชย์’ คุมกรมศุลฯ

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมประชุม ครม.มีมติอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงวัฒนธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาวพยุง วงษ์น้อย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (วิจัยและพัฒนาโบราณคดี) (นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (โบราณคดี และพิพิธภัณฑ์) (นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวภคนันท์ ศิลาอาสน์ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองงานนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านประสานกิจการภายในประเทศ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้ง นางพันพร โตวิริยะเวช ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง พลตำรวจโท อภิรัติ นิยมการ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายภุชงค์ วรศรี ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1) นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
      2) น.ส.ธนาพร จีนจะโปะ ให้ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายวิชัย ไชยมงคล ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    9. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    10. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    11. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ
      2. นางสาวรังสิมา รอดรัศมี

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    12. เรื่อง การแต่งตั้งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ดำรงตำแหน่งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ตามข้อ 3 (1) ของความตกลงว่าด้วยธรรมนูญการจัดตั้งองค์กรร่วมฯ พ.ศ. 2533 และกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย พ.ศ. 2533 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568

    อนึ่ง สำหรับสมาชิกอื่น (ฝ่ายไทย) อีกหกคน ในองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย ซึ่งเป็นข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรให้คงองค์ประกอบเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541

    13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    14. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเสนอแต่งตั้ง นายเอกชัย เกษมสุขธวัช ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เพื่อทดแทนดำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    15. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 8 ราย ดังนี้

      1. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม

      2. นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม

      3. นายเสกสรร สุขแสง ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม

      4. นางสาวรวิวรรณ จตุรพิธพร ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกร) (ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม

      5. นางจิรภา สินธุนาวา ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม

      6. นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

      7. นายเรืองศักดิ์ สุวารี ตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม

      8. นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    16. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อทดแทนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางวรรณภรณ์ เกตุทัต ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    17. เรื่อง การแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายชูฉัตร ประมูลผล ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. นายอรรถพล สังขวาสี ตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
      2. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
      3. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
      4. นายยศพล เวณุโกเศศ ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนข้าราชการและเพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
      2. นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    20. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียนในคราวเดียวกัน จำนวน 5 ราย ดังนี้

      1. แต่งตั้ง นายธนสุนทร สว่างสาลี ตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
      2. แต่งตั้ง นายอนันต์ ดนตรี ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
      3. แต่งตั้ง นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง ตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
      4. แต่งตั้ง นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
      5. แต่งตั้ง นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ ตำแหน่ง ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้โอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 13 ราย ดังนี้

      1. โอน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ตำแหน่งอธิบดี (ผู้บริหารสูง) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
      2. โอน นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
      3. โอน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
      4. โอน นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง
      5. ย้าย นายชาญวิทย์ นาคบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง
      6. โอน นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง
      7. โอน นายปิ่นสาย สุรัสวดี ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร) (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง
      8. โอน นายอัครุตม์ สนธยานนท์ ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง
      9. โอน นายธิบดี วัฒนกุล ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
      10. โอน นางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นักวิชาการคอมพิวเตอร์ทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง
      11. โอน นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง
      12. โอน นายธีรลักษ์ แสงสนิท ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง
      13. โอน นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    22. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 11 ราย ดังนี้

      1. นายธงชัย กีรติหัตถยากร ตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
      2. นางอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ตำเหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
      3. นายพงศ์เกษม ไข่มุกด์ ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูงกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
      4. นายยงยศ ธรรมวุฒิ ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
      5. นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูงสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
      6. นายณรงค์ อภิกุลวณิช ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
      7. นางอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
      8. นายภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
      9. นายกิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
      10. นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
      11. นายพงศธร พอกเพิ่มดี ตำแหน่งนายแพทย์ (ด้านสาธารณสุข) ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้

      1. นายนวนิตย์ พลเคน พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง (แทนตำแหน่งเกษียณ)
      2. นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง (แทนลำดับที่ 3)
      3. นายพีรพันธ์ คอทอง พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมส่งเสริมการเกษตร (แทนตำแหน่งเกษียณ)
      4. พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมหม่อนไหม (แทนตำแหน่งเกษียณ)
      5. นายชูชาติ รักจิตร พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมชลประทาน (แทนตำแหน่งเกษียณ)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เพิ่มเติม