ThaiPublica > เกาะกระแส > นายก ฯประกาศลดยาเสพติดให้เป็นรูปธรรมใน 1 ปี – มติ ครม.ลดภาษีแก๊สโซฮอล์ 91-95 ลิตรละ 1 บาท เริ่ม 7 พ.ย.นี้

นายก ฯประกาศลดยาเสพติดให้เป็นรูปธรรมใน 1 ปี – มติ ครม.ลดภาษีแก๊สโซฮอล์ 91-95 ลิตรละ 1 บาท เริ่ม 7 พ.ย.นี้

31 ตุลาคม 2023


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯประกาศลดยาเสพติดให้เป็นรูปธรรมใน 1 ปี
  • แจง ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ สะเด็ดน้ำเมื่อไหร่ แถลงเองครั้งเดียวจบ
  • มติ ครม.ลดภาษีแก๊สโซฮอล์ 91-95 ลิตรละ 1 บาท เริ่ม 7 พ.ย.นี้
  • ไฟเขียว ‘ออมสิน-ธ.ก.ส.’ ปล่อยกู้แรงงานไทยจากอิสราเอล 1.5 แสนบาท/ราย
  • เคาะฟรีวีซ่า ดึง‘อินเดีย-ไต้หวัน’เที่ยวไทย 30 วัน
  • เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และมติ ครม.

    แจง ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ สะเด็ดน้ำเมื่อไหร่ แถลงเองครั้งเดียวจบ

    นายเศรษฐา กล่าวว่า การประชุม ครม.วันนี้ มีเรื่องพิจารณา 4 เรื่อง เป็นเพื่อทราบไม่มีข้อทักท้วง 19 เรื่อง , เพื่อทราบ 3 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีแจ้งลาประชุม 3 คน ได้แก่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

    ผู้สื่อข่าวถามถึงการขยายเวลาเริ่มจ่ายเงินในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท จากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นเดือนกันยายน 2567 โดยอ้างอิงจากคำพูดของนายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ นายเศรษฐา ตอบว่า ปัจจุบันมีการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่กระจัดกระจายจากหลาย ๆ คน

    “ขอความกรุณาให้อดใจรอกันนิดนึง ข้อมูลทั้งหมดจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวน เรื่องของคนรวยจะได้หรือไม่ได้ เรื่องของระยะทาง ระยะเวลา และงบประมาณจะเอามาจากที่ไหนอย่างไร เดี๋ยวจะมีการชี้แจงในครั้งเดียว จะได้ไม่มีข้อสงสัย” นายเศรษฐา กล่าว

    เมื่อถามว่าจะมีการกำชับคณะทำงานหรือตั้งใครมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ข้อมูลดิจิทัล วอลเล็ตหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีการให้ข้อมูลไปกันคนละทิศละทาง โดยนายเศรษฐา นายกฯ กล่าวว่า “เป็นคำเสนอแนะที่ดี เดี๋ยวจะมีการพูดคุยกัน เพราะคิดอยู่เหมือนกัน เดี๋ยวคงต้องทำ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน”

    เมื่อถามว่า การจ่ายเงินดิจิทัลจะยังคงเป็นไทม์ไลน์เดิมหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “บอกไปแล้วว่าเรื่องดังกล่าวจะพูดอีกครั้ง โดยจะพูดทั้งหมด ทั้งแพคเกจ”

    เมื่อถามว่า การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่จะเริ่มเมื่อไร นายเศรษฐา ตอบว่า “เดี๋ยวจะมีการชี้แจง ตามที่ผมบอกไป เมื่อทุกอย่างสะเด็ดน้ำแล้ว ตนจะเป็นคนนั่งหัวโต๊ะแถลงเองพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

    ‘ภูมิธรรม’ เชื่อเปลี่ยนเงื่อนไขแจกเงินดิิทัล ปชช.รับได้

    นอกจากนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังให้สัมภาษณ์กรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุว่าอาจใช้แอปพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ แทนแอปฯใหม่ รวมถึงการเริ่มจ่ายเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ตออกไปหลังเมษายน 2567 ว่า “ไม่ได้เป็นการโยนหินถามทาง คิดว่าขณะนี้เรื่องดิจิทัล วอลเล็ตเป็นเรื่องที่คนสนใจมาก เมื่อมีความสนใจมากผู้คนจึงมีการแสดงความเห็น แต่หน้าที่เราไม่ใช่รีบไปเชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หน้าที่เรายึดวัตถุประสงค์ที่เราคิดตั้งแต่ต้น แต่ความไม่สบายใจทั้งหมด ก็จะรับทั้งหมดมาดู และทบทวนอีกครั้ง”

    “ขณะนี้ไม่มีความคิดไหนที่จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง 100% ทั้งหมด สิ่งที่จะเกิดขึ้น รอนายก ฯ และผู้เกี่ยวข้องแถลงอย่างชัดเจน” นายภูมิธรรม กล่าว

    นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงกรณีที่ลดจำนวนคนที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการว่า “ไม่มีอะไรต้องกังวล ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องอธิบายประชาชนได้”

    นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า หัวใจหลักตัดสินใจอยู่ที่วัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเป็นโครงการระยะสั้น 6 เดือน และโครงการนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่สถานการณ์ตลาดโลก และภาวะสงคราม เป็นภาวะที่ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ยาก

    “ผมยอมรับอย่างหนึ่งว่าไม่มีอะไรที่คิดได้สมบูรณ์ทั้งหมด มีสิ่งที่บวก มีสิ่งที่ลบ การรับฟังสิ่งที่ลบ กับ สิ่งที่เราคิด กับ สิ่งที่บวก แล้วมาชั่งน้ำหนัก ถ้าจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องมีเหตุผลในการอธิบาย” นายภูมิธรรม กล่าว

    จี้ ยธ.ชงร่าง กม.‘สมรสเท่าเทียม-อากาศสะอาด’ เสนอ ครม.ใน 15 วัน

    นอกจากนี้ นายชัย กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อสั่งการ โดยขอให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เร่งรัดการนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม ไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้วนำให้ ครม.พิจารณา เพื่อส่งต่อให้สภาภายใน 15 วัน พร้อมกันนั้นนายกฯ ยังมอบหมายให้นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบเข้าไปร่วมประมูลแข่งขันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2028

    นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้สั่งการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งนำร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้า ครม.ภายใน 15 วัน เพื่อจะรีบส่งต่อไปยังสภา เนื่องจากนายกฯ เป็นห่วงเรื่องมลภาวะ PM2.5 ที่จะเริ่มเป็นปัญหาประมาณปลายเดือนมกราคม ซึ่งนายกฯ อยากจะเร่งจัดการหาแนวทางป้องกันปัญหานี้

    ประกาศลดยาเสพติดให้เป็นรูปธรรมใน 1 ปี

    ภายหลังจากการประชุม ครม.เสร็จสิ้น ในเวลา 13.30 น.นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ครั้งที่ 3/2566 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ถือเป็นการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ส. เป็นกลไกทางนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศ เพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดให้ได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป็นนโยบายที่จะลดปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าจะลดความเดือดร้อนของประชาชนได้มากขึ้น
    นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการทำงาน เพื่อบรรลุผลสำเร็จ ทั้งสิ้น 12 ข้อ ดังนี้

      1. การยึดเป้าหมายร่วมกัน ผนึกกำลังร่วมกันยึดเป้าหมายสูงสุดนั่นคือ ลดความเดือดร้อนของประชาชน
      2. การแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านจิตเวช ยาเสพติดเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากที่สุดปัญหาหนึ่ง รัฐบาลนี้ถือเป็นรัฐบาลแรก ที่จัดการเป็นนโยบายให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีความท้าทายอย่างยิ่ง
      3. การสร้างความเข้าใจ ปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ในระยะเร่งด่วน 1 ปี ได้กำหนด เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการทำงาน จึงควรมีการทำความเข้าใจในการปฏิบัติ ให้กับหน่วยงานทั้งส่วนกลางและพื้นที่เป็นหลักประกันของความสำเร็จตั้งแต่เริ่มแรกก่อนการลงมือปฏิบัติ
      4. งบประมาณ ให้ทุกหน่วยที่ได้รับงบประมาณด้านยาเสพติดประจำปีอยู่แล้ว ขอให้ปรับและจัดสรรงบประมาณให้กับปฏิบัติการเร่งด่วนนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพราะเป็นนโยบายสำคัญ
      5. จังหวัดเป็น CEO จัดการแก้ไขปัญหาตัวเอง ขอให้แต่ละจังหวัดดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง วัดผลได้ เป็นรูปธรรม
      6. การขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของชุมชน ขอให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปหาแนวทางในการ ขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากกว่านี้
      7. ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้มากขึ้น เพราะเป็นกฎหมายที่ปรับฐานคิด ของการแก้ไขปัญหายาเสพติดใหม่ ยึดผู้เสพเป็นผู้ป่วย ผู้ค้าต้องถูกลงโทษและยึดทรัพย์ ผู้ป่วย ต้องช่วยเขาให้ตลอดไปถึงการพัฒนา ช่วยเหลืออาชีพ ให้เห็นเป็นตัวอย่าง อย่าไปมุ่งจับกุมผู้เสพ เป็นหลัก ส่วนผู้ค้าต้องมุ่งทำลายเครือข่าย ยึดทรัพย์สินอย่างเต็มที่ตามหลักนิติธรรม โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ยึดหลักการนี้อย่างจริงจัง
      8. วางระบบรายงาน ติดตาม เชิงรุก สามารถมองเห็นความคืบหน้า การขับเคลื่อนงาน ปัญหาอุปสรรค และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เป็นเรื่องสำคัญของการบริหาร จัดการแนวใหม่ ซึ่งจะต้องมีศูนย์บัญชาการ (war room) ในระดับต่าง ๆ โดยในส่วนกลางให้สำนักงาน ป.ป.ส. รับผิดชอบเรื่องนี้และเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการฐานข้อมูลยาเสพติดแห่งชาติ มีข้อมูลจากทุกหน่วยงาน
      9. การสรุปองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เป็น best practice เชื่อว่าการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดฯ จะสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
      10. การจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการออกอนุบัญญัติที่ยังคงค้างอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
      11. ความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ขอให้เร่งรัดดำเนินงานและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง และ
      12. การสนับสนุนค่าตอบแทนเงินสินบนรางวัลคดียาเสพติด ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดประชุมทุกเดือน พิจารณาค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน

    ทั้งนี้ ในการประชุมฯ ได้พิจารณาร่วมกันถึง (ร่าง) แผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะเวลา 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล การกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5(10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด การลดผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดการลดผลกระทบจากผู้ป่วยจิตเวช การขยายผลหัวโทนโมเดล ซึ่งประสบความสำเร็จจนได้รับการจัดให้เป็นโมเดลต้นแบบการแก้ปัญหาผู้ป่วยในชุมชนจิตเวชในชุมชนก่อเหตุรุนแรง และ(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดจำนวน 2 ฉบับ

    ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้รับรองมติการประชุมเพื่อไปดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ 9 ข้อ ดังนี้

      1. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติดและให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดการจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติดให้แล้วเสร็จ
      2. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566
      3. รับทราบรายงานผลของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
      4. รับทราบรายงานผลการทำลายยาเสพติดของกลางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ครั้งที่ 56
      5. เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2567 และปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ในระยะเวลา 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
      6. เห็นชอบในหลักการกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด
      7. เห็นชอบแนวทางการดูแลส่งต่อผู้ป่วยยาเสพติด
      8. เห็นชอบในการนำรูปแบบหัวโทนโมเดลไปประยุกต์ใช้และขยายผลในพื้นที่อื่น
      9. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จำนวน 2 ฉบับ

    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีห่วงใยปัญหานี้ต้องการให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด โดยขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน และหากติดขัดมีปัญหาในส่วนไหนขอให้ดำเนินการแก้ไข และห่วงใยผู้ที่ติดยาเสพติดได้รับการดูแลและคืนสู่สังคมอย่างปลอดภัยแล้ว ว่าต้องหางาน หาอาชีพให้ผู้นั้นเพื่อกลับเข้าสู่สังคม ครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ ไม่กลับไปหาสิ่งเสพติดอีก

    มติ ครม.มีดังนี้

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายชัย วัชรงค์ โฆษกฯ และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ไฟเขียว ‘ออมสิน-ธ.ก.ส.’ ปล่อยกู้แรงงานไทยจากอิสราเอล 1.5 แสนบาท/ราย

    อย่างไรก็คณะรัฐมนตรีได้ได้มีมติ ในหลายประเด็น โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทยจากอิสราเอล โดย ครม.อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยกันดูแล ธนาคารละ 1,000 ล้านบาท ปล่อยกู้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลรายละ 150,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี โดยรัฐบาลจะเข้ามารับภาระดอกเบี้ยแทน 2% และผู้กู้จ่ายค่าดอกเบี้ยเอง 1%

    “โครงการนี้จะเปิดให้แรงงานไทยผ่อนชำระหนี้ 20 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยแค่ 1% คำนวณออกมาแล้ว ผ่อนเดือนละ 689.84 บาท โดยให้มายื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 – 30 มิถุนายน 2567 ถือเป็นมาตรการที่จะดูแลแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในอิสราเอล” นายชัย กล่าว

    ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เสนอในที่ประชุมเป็นกรณีพิเศษว่า เงินเยียวยาที่รัฐบาลดูแลแรงงานที่กลับมาแล้วคนละ 150,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอ จึงอยากขออนุมัติงบกลางจ่ายให้เพิ่มอีกคนละ
    50,000 บาท ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับปากในที่ประชุมว่าให้

    และให้มีผลย้อนหลังให้กับแรงงานที่กลับมาก่อนแล้ว 5,000 – 6,000 คน ซึ่งต้องได้ทุกคน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณสูงสุดไว้ 1,500 ล้านบาท ครอบคลุมแรงงานไทยที่อิสราเอลทั้ง 30,000 คน ขณะที่เลขาธิการ ครม.ระบุว่า เพื่อให้กระบวนการถูกต้อง ครม.ครั้งหน้าให้กระทรวงแรงงานเสนอเรื่องเข้ามาที่ ครม. จะได้อนุมัติอย่างเป็นทางการ

    นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ ยังเสนออีกว่า จะขอให้มีการพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยแก่แรงงานไทยที่เป็นหนี้สถาบันการเงินอยู่ วงเงิน 150,000 บาท โดยทั้งสองเรื่องจะเข้า ครม.รอบหน้าเช่นกัน

    ขณะที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานอยู่ในประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน โดยแรงงานไทยบางส่วนทยอยเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง

    ในขณะที่บางส่วนยังไม่ตัดสินใจเดินทางกลับ เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาระหนี้สินที่เกิดจากการเดินทางไปทำงานยังประเทศอิสราเอล รวมถึงการเริ่มต้นประกอบอาชีพภายหลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เห็นชอบโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) โดยมีสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้

    โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลชำระหนี้ที่กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลและ/หรือเพื่อลงทุนประกอบอาชีพภายหลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทย

    โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท (แห่งละ 1,000 ล้านบาท) ให้แก่แรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลที่ประกอบอาชีพเดิมคือค้าขายหรืออาชีพอิสระ (ขอสินเชื่อผ่านธนาคารออมสิน) หรือเป็นเกษตรกรหรือบุคคลในครัวเรือนเกษตรกร (ขอสินเชื่อผ่าน ธ.ก.ส.) วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 150,000 บาท คิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอกในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี (Effective Rate) ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 งวดแรก ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 20 ปี ทั้งนี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567

    กระทรวงการคลังคาดว่า โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) จะสามารถช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอลผ่านแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพหรือแบ่งเบาภาระหนี้สิน เพื่อบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

    เคาะฟรีวีซ่า ดึง‘อินเดีย-ไต้หวัน’เที่ยวไทย 30 วัน

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการ ในการกำหนดให้ “สาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน” เป็นรายชื่อประเทศ/ดินแดนในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 – 10 พฤษภาคม 2567 (ระยะเวลา 6 เดือน) ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวของชาวอินเดียและไต้หวัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมิติเศรษฐกิจและการต่างประเทศในภาพรวม

    นอกจากนี้ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงให้กำกับ ติดตาม และประเมินผลกระทบจากการออกประกาศ มท. ฉบับดังกล่าว ภายหลังครบระยะเวลา 6 เดือน ที่ประกาศไว้

    ทั้งนี้ จากการพิจารณาข้อมูลนักท่องเที่ยวจากอินเดียและไต้หวัน พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกันยายน 2566 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทยจำนวน 1,162,251 คน และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2566 จะเดินทางเข้าไทยอีกประมาณ 1.55 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวอินเดียใช้จ่ายประมาณ 41,000 บาท/การมาท่องเที่ยว 1 ครั้ง ขณะที่ไต้หวัน ใช้จ่ายประมาณ 43,000 บาท/การมาท่องเที่ยว 1 ครั้ง คาดว่าภายในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยประมาณ 700,000 คน

    ลดภาษีแก๊สโซฮอล์ 91-95 ลิตรละ 1 บาท เริ่ม 7 พ.ย.นี้

    นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 1 บาท ตามสัดส่วนของเนื้อน้ำมันที่ผสมอยู่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานเคยเสนอแนวทางการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลงลิตรละ 2.50 บาท ต่อที่ประชุม ครม. แต่ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่าไม่สามารถปรับลดภาษีสรรพสามิตเฉพาะน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 2.50 บาทได้ เนื่องจากกรมสรรพสามิตไม่ได้แบ่งแยกการจัดเก็บภาษีระหว่างน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 จึงปรับลดภาษีน้ำมันเบนซินทุกประเภทลลงเป็นการทั่วไปลิตรละ 1 บาท นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังได้มอบหมายกระทรวงพลังงานใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อปรับราคาขายปลีกให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรีในการลดราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ต่อไป

    เห็นชอบ MOU กองทุนแม่โขง – ล้านช้าง

    นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีไฟเขียว MOU กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง  โดยนางรัดเกล้า อินวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบและอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 2 ฉบับ คือ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

    กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก (ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีน) ในสาขาหลักของกรอบความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ 1) ความเชื่อมโยง 2) ศักยภาพในการผลิต 3) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน 4) ทรัพยากรน้ำ และ 5) การเกษตรและการขจัดความยากจน ซึ่งที่ผ่านมามีหน่วยงานของไทยหลายหน่วยงานได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ

    กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับการอนุมัติ “โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจริย” ซึ่งประกอบด้วย ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัย

    โดยกระทรางอุตสาหกรรมรับอนุมัติจากฝ่ายจีน ได้รับกองทุนภายในวงเงินงบประมาณ 203,507 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 1.41 ล้านหยวน หรือประมาณ 7.86 ล้านบาท)  ในขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ได้เคยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2561 และ 2563 รวมวงเงินทั้งสิ้น 2,154,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 78.60 ล้านบาท) ในครั้งนี้

    “โครงการส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคแม่โขง – ล้านช้าง” ของกระทรวงพาณิชย์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 454,427 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 3.14 ล้านหยวน หรือ​ ประมาณ 15.86 ล้านบาท)

    โดยทั้ง 2 MOU มีรายเอียดเหมือนกันว่า อนุมัติให้ปลัดกระทรวง​ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย​ เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจทั้ง 2 ฉบับ และ ฝ่ายจีนจะจ่ายเงินงบประมาณเต็มจำนวนให้กับฝ่ายไทยภายใน 20 วันทำการ

    หลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ และฝ่ายไทย โดย อก. (สถาบันยานยนต์) จะแจ้งการได้รับการจ่ายเงินอย่างเป็นทางการผ่านหนังสือทางการทูตหรือในรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 10 วันทำการ หลังจากได้รับการจ่ายเงิน ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายต่อทั้งสองฝ่ายและไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

    โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นเวลาอีก 5 ปี ส่วนการสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฯ จะไม่กระทบต่อการดำเนินกิจกรรม/โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ

    “การดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยฯ  จะเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตในอนุภูมิภาค และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงอีกด้วย”นางรัดเกล้า กล่าว

    เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ด้านการเกษตร

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) โดย อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2566 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และเสนอร่างเอกสารร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 26 ในวันที่ 6 กันยายน 2566 เพื่อให้ที่ประชุมรับรอง ซึ่งร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 แล้ว โดยในส่วนของประเทศไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ไม่มีข้อขัดข้องต่อร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว และประเทศไทยจะให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ภายหลังได้รับความเห็นชอบจาก ครม.

    ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีน ในเรื่องความร่วมมือด้านการเกษตร ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสังคม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ เพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต

    ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของ กม. ระหว่างประเทศ ประกอบกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว ดังนั้น ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตาม กม. ระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม ม. 198 ของ รธน.

    ภายหลังจากที่ ครม. พิจารณาเห็นชอบเอกสารร่างแถลงการณ์ร่วมฯ แล้ว กต. จะมีหนังสือแจ้งการรับรองดังกล่าวอย่างเป็นทางการให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป

    ตั้ง ‘อดิทัต’ ขึ้นอธิบดี กพร. ‘วิฤทธิ์’ เลขาฯสอน.

    นางสาวเกณิกา กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายสรพงค์ ศรียานงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ แต่งตั้งนายโกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายเอกรัฐ พลซื่อ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งว่าง จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
      4. นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)

  • เตรียมชง ครม.เด้งอธิบดีกรมโรงงานอุตฯนั่งรองปลัดฯ อังคารนี้
  • 6. การแต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (กระทรวงยุติธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอให้ พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม อีกตำแหน่งหนึ่ง แทนตำแหน่งที่ว่าง

    7. การบรรจุและแต่งตั้งผู้ออกจากราชการกลับเข้ารับราชการประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้บรรจุและแต่งตั้ง นายวิทยา ยาม่วง กลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ที่ว่างอยู่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    8. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ย้าย นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมเจ้าท่า ที่ว่างอยู่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เพิ่มเติม