ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > IMF คาดเศรษฐกิจไทยโต 2.7% ในปี 2566 แนะมาตรการการคลังแบบเจาะจงเป้าหมายได้ผลสูงกว่าแบบถ้วนหน้า

IMF คาดเศรษฐกิจไทยโต 2.7% ในปี 2566 แนะมาตรการการคลังแบบเจาะจงเป้าหมายได้ผลสูงกว่าแบบถ้วนหน้า

9 พฤศจิกายน 2023


IMF คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไว้ที่ 2.7% ในปี 2566 ซึ่งสูงขึ้นจาก 2.6% ในปี 2565 เล็กน้อย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของทางการ แนวโน้มยังคงมีความไม่แน่นอนสูงโดยมีความเสี่ยงด้านต่ำ(downside risks)อยู่

  • การปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้กลับสู่ภาวะปกติ(normalization of macroeconomic policies )อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันใกล้จะช่วยสร้างกันชนทางการคลังและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน การรัดเข็มขัดทางการคลัง(fiscal consolidation)ระยะกลางที่มีคุณภาพสูงแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นและประสิทธิภาพการใช้จ่ายที่ดีขึ้น จะช่วยให้มีพื้นที่สำหรับการลงทุนที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็รักษาหนี้สาธารณะให้อยู่ในแนวทางที่ลดลงอย่างยั่งยืน
  • การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ คือ โอกาสในการดำเนินการปฏิรูปที่เด็ดขาดและครอบคลุมเพื่อเพิ่มผลผลิตและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนและทั่วถึง
  • คณะทำงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( International Monetary Fund:IMF) นำโดย Corinne Deléchatได้จัดการประชุมหารือ( Article IV Consultation)กับประเทศไทยประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม ถึง 7 พฤศจิกายน 2566 เมื่อการประชุมเสร็จสิ้น Deléchat ได้ออกแถลงการณ์ดังต่อไปนี้

    “เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% ในปี 2565 และเติบโต 2.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2565 การปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติเร็วกว่าคาดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ความผันผวนทางการเงินทั่วโลก และการชะลอตัวในประเทศจีนได้ทำให้การฟื้นตัวชะลอตัวลง เพื่อรับมือถับสถานการณ์เหล่านี้ ทางการได้ค่อย ๆ เพิ่มความเข้มงวดด้านนโยบายการเงินและการคลัง ในขณะเดียวกันก็บรรเทาผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่สูงให้กับประชากร และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน”

    การฟื้นตัวคาดว่าจะค่อยเป็นค่อยไปในปี 2566 และเร่งตัวขึ้นในปี 2567 ท่ามกลางสภาพแวดล้อมโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ประเทศไทยคาดว่าจะเติบโต 2.7% ในปี 2566 สูงกว่าปี 2565 เล็กน้อย เนื่องจากการหดตัวของการลงทุนและการส่งออกสินค้าอันเนื่องมาจากอุปสงค์จากภายนอกที่ชะลอตัวลง คาดว่าจะกลบการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่งบางส่วน หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเติบโตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 0.4 จุด โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ภายนอกที่ดีขึ้นและการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3% ในปี 2566 เป็นผลจากมาตรการที่ต่อเนื่องเพื่อตรึงราคาพลังงานให้ต่ำและสถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ดีขึ้น ด้วยการเติบโตที่แข็งแกร่งในปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 1.6%

    การปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้กลับเป็นปกติอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาอันใกล้จะช่วยสร้างกันชนทางการคลังและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ความไม่แน่นอนทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มของภาวะทางการเงินทั่วโลกที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะยาว การเติบโตทั่วโลกที่อ่อนแอลง รวมถึงในประเทศจีน และความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่รุนแรงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ส่งผลให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคต้องรอบคอบเป็นอย่างมาก

    “เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ทางการคลังที่ลดลง การบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว และบริบททั่วโลกที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดความตื่นตระหนก การแทรกแซงของรัฐบาลต้องมีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุดในขณะที่ใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุดถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ แผนการคลังระยะปานกลาง (Medium-Term Fiscal Framework:MTFF) ยังคงเป็นกรอบแนวทางที่สำคัญ ดังนั้น

    คณะทำงาน IMF จึงเสนอแนะว่าควรเป็นมาตรการแบบเจาะจงเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างดี ภายในขอบเขตงบประมาณที่ MTFF กำหนด แก่กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่อาจไม่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐอาจจะได้ผลที่สูงขึ้น เนื่องจากตัวคูณการเติบโตของมาตรการที่เจาะจงเป้าหมายนั้นสูงกว่าการแจกเงินแบบถ้วนหน้ามาก

    การรัดเข็มขัดทางการคลังระยะกลางอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเอื้อต่อการเติบโต ซึ่งเป็นผลจากจากการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะสร้างพื้นที่สำหรับการลงทุนที่จำเป็นในโครงสร้างพื้นฐานและทักษะ ขณะเดียวกันก็ทำให้หนี้สาธารณะลดลงต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ชัดในปีงบประมาณ 2568(1 ตุลาคม 2567-30 กันยายน)

    “จุดยืนของนโยบายการเงินที่ Neutral หรือเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ในปัจจุบันมีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจากผลกระทบจากภายนอกหรือนโยบายในประเทศเกิดขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ควรพร้อมที่จะเข้มงวดทางการเงินต่อไป นอกจากนี้ ธปท. ควรติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพราะอาจเกิดความเปราะบางจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอย่างรุนแรง”

    “ทางการได้ค่อยๆ ลดมาตรการสนับสนุนภาคการเงินที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่อย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 และ 2566 ขณะเดียวกัน ทางการควรเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินต่อไป และเพิ่มความครอบคลุมของกรอบการกำกับดูแลระดับมหภาคให้สอดคล้องกับคำแนะนำในการประเมินภาคการเงิน(Financial Sector Assessment Program )ปี 2562 นอกจากนี้ คณะทำงานของ IMF ยังชื่นชมแผนของ ธปท. ที่จะออกมาตรการใหม่เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยให้ความสำคัญกับแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง คณะทำงานของ IMF ยังเสนอแนะให้มีการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการล้มละลาย(insolvency regime)เพื่อควบคุมหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้นในอนาคต

    “การใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและสีเขียวอย่างเต็มที่ ขณะที่บรรเทาผลกระทบเชิงลบจากการที่เศรษฐกิจโลกแตกแยกกระจายตัวออกเป็นส่วน ๆ (geonomic fragmentation และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างที่ครอบคลุม การเสริมสร้างการแข่งขันและการปรับปรุงกฎระเบียบ การเพิ่มทักษะด้านแรงงาน การเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับห่วงโซ่คุณค่า จะเป็นปัจจัยสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพในการเติบโตของประเทศ การกำหนดราคาคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

    คณะทำงาน IMF ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและแนวโน้มล่าสุดกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ธปท. สถาบันของรัฐอื่นๆ และตัวแทนภาคเอกชน