ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเรียกทูตพาณิชย์กลับไทย ติวเข้มเปิดตลาดเชิงรุก – มติ ครม.โยก ‘บิ๊กหลวง’ นั่งเลขาธิการ ปปส.

นายกฯเรียกทูตพาณิชย์กลับไทย ติวเข้มเปิดตลาดเชิงรุก – มติ ครม.โยก ‘บิ๊กหลวง’ นั่งเลขาธิการ ปปส.

24 ตุลาคม 2023


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯเรียกทูตพาณิชย์กลับไทย ติวเข้มเปิดตลาดเชิงรุก – ดึงต่างชาติลงทุน
  • จี้ทุกพรรคร่วมเร่งออกนโยบาย ‘quick win’ ภายใน 3 เดือน
  • กำชับปลัดกระทรวงตั้งซี 8-9 เลือกคนดีมีฝีมือ – ไม่เอาเส้นสาย
  • ถอนงบฯ สปสช.กว่า 2 แสนล้าน ออกจาก ครม.หลังถูกหั่น 6,000 ล้าน
  • จี้ยึดทรัพย์ขบวนการลักลอบนำเข้า ‘หมูเถื่อน’
  • มติ ครม.เคาะหยุดปีใหม่ 4 วัน เริ่ม 29 ธ.ค.2566 – 1 ม.ค. 2567
  • ค้ำประกัน ขสมก.กู้เสริมสภาพคล่อง 8,268 ล้าน
  • ตั้ง ‘อุ๊งอิ๊ง’ ประธานขับเคลื่อน “30 บาท พลัส”
  • ทุ่ม 1,500 ล้านบาท เดินหน้า ‘1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ พลัส’
  • โยก ‘บิ๊กหลวง’ นั่งเลขาธิการ ปปส.
  • เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และมติ ครม.

    ห่วงแรงงานไทยในอิสราเอล เร่งพากลับวันละ 600-800 คน

    โดยนายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายการท่องเที่ยว และอีกหลายนโยบาย แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ เรื่องอิสราเอล

    “ปัญหาที่เราเผชิญอยู่นั้นเป็นเรื่องแรงงานไทยที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก และเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวเร็วที่สุดเพื่อซ่อมแซมและสร้างอนาคตให้กับประชาชน โดยมีแรงงาน 20,000 – 30,000 คน ที่เสี่ยงชีวิตอยู่ต่างแดน เพื่อเงินหลักหมื่น หลักแสน” นายเศรษฐา กล่าว

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า “ถ้าเกิดเขาถามกลับว่านายกรัฐมนตรีไม่เข้าใจหรอกการที่มีคนนำเงินมาให้ห้าหมื่นหรือหนึ่งแสนบาท เพื่ออยู่ต่อมันมีความสำคัญกับเขาขนาดไหน เรื่องนี้ตนเองตระหนักดี เพราะฉะนั้น เรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจถึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ประชาชนนับหมื่นคนที่เสี่ยงชีวิตอยู่เพื่อนำเงินกลับมาช่วยเหลือครอบครัวเป็นหลักแสนหรือหลักล้านที่ต้องพึ่งพาการดูแลของเขา”

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า นโยบายการเงินการคลังที่ดีต้องไม่ใช่แค่รักษาวินัยการเงินอย่างเดียว สิ่งสำคัญต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ประชาชนให้ดี ไม่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง เพื่อที่จะได้เงินมา

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ เพราะแรงงานที่เดินทางกลับมาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพจำเป็นต้องดูเรื่องผลตอบแทนให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องของรายงานตัวเลขตัวประกัน ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ตัวเลขยังคงเดิม โดยการที่เรานำคนกลับมาได้วันละ 600 – 800 คน ยังสามารถดำเนินการได้และยังมีผู้ที่แสดงเจตจำนงที่จะเดินทางกลับประเทศไทยก็มีมากขึ้น และขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยกันนำเสนอข่าวให้กับประชาชนเห็นว่าการอยู่ต่อนั้นอันตรายไม่คุ้มกับการที่จะต้องนำชีวิตไปเสี่ยง

    ยัน ‘ทักษิณ’ รักษาตัวนอกเรือนจำเป็นไปตามกฎหมาย

    นายเศรษฐา ยังให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของรัฐบาลหลังมีการออกมาต่อต้านสำหรับการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า “ท่านเพิ่งผ่าตัดไปเมื่อวาน ไม่แน่ใจว่าวันนี้ออกจากห้องไอซียูแล้วหรือยัง”

    เมื่อถามต่อว่าในอนาคตนายทักษิณ สามารถยื่นขอพักโทษต่อได้หรือไม่ นายเศรษฐา ระบุว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย

    ถามต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยเรื่องนายทักษิณกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณบ้างหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า เมื่อสักครู่ได้มีการถามกับ น.ส.แพทองธาร ซึ่งได้บอกว่ามีการเจาะบริเวณหัวไหล่ประมาณ 4 รู แต่ตนไม่ทราบอาการว่าเป็นอย่างไร

    ถามต่อว่า น.ส.แพทองธาร มีบทบาทมากในรัฐบาล เพราะเป็นรองประธานถึง 2 คณะ นายเศรษฐาระบุว่า “เป็นนโยบายใหญ่ของเรา”

    นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
    www.thaigov.go.th

    จี้ทุกพรรคร่วมเร่งออกนโยบาย ‘quick win’ ภายใน 3 เดือน

    ด้านนายภูมิธรรม เวชนชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า นายกฯ ต้องการให้ ครม. ดูแลเรื่องการผลักดันนโยบายที่ได้แถลงต่อสภา ส่วนที่รับผิดชอบของกระทรวงใดก็ให้กระทรวงนั้นดูแลและผลักดัน

    นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า นายกฯ อยากเห็น quick win ที่กำหนดว่า 3 เดือนจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง อยากให้รวบรวมและนำมาคุย แม้วันนี้ยังไม่ได้คุยในรายละเอียด แต่ทุกพรรคก็รับนโยบายไป เพื่อหารือกันอีกที เพื่อให้ quick win สำเร็จชัดเจนเป็นรูปธรรม

    นายภูมิธรรม เสริมว่า ในช่วงเวลาที่เข้ามาเป็นรัฐบาล 1 เดือน นายกฯ มีภารกิจค่อนข้างมาก ดังนั้น นายกฯ เลยถือโอกาสเจอกับ ส.ส. พรรคเพื่อไทยในการประชุมพรรค และเรียกร้องให้รัฐมนตรีเข้าพรรค เพื่อประสานงานกับ ส.ส. ในพื้นที่ เพื่อร่วมประชุมและรับฟังปัญหาด้วย

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุม ส.ส. พรรคเพื่อไทย มี Quick Win อะไรบ้าง โดย นายภูมิธรรม ตอบว่า หลายเรื่องทำมาได้สำเร็จแล้ว เช่น ลดราคาน้ำมัน ลดค่าแก๊ส หรือกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการจับหมูเถื่อน และแต่ละกระทรวงก็มีหลายเรื่องที่ดำเนินการอยู่

    “กระทรวงท่องเที่ยวฯ ท่านชมว่าทำหลายเรื่องดีอยู่แล้ว ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ ท่านค่อนข้างให้กำลังใจว่ารับงานหนัก ร่วมกับกระทรวงแรงงานและหลายกระทรวงในการดูแลเรื่องแรงงาน และถ้าใครสามารถช่วยดูแรงงานต่างๆ ที่กลับมา ก็ให้ช่วยไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงแพคเกจให้มันดีขึ้นก็ให้ทำ เป็นการสั่งงานและกำชับมากขึ้น” นายภูมิธรรม กล่าว

    ขยายพื้นที่ใช้ ‘เงินดิจิทัล’ มากกว่า 4 กม.

    เมื่อถามถึงข้อกังวลในการบริหารงานต่างๆ นายภูมิธรรม ตอบว่า “ไม่มีอะไรน่ากังวล ทุกอย่างเดินหน้าทั้งหมด ไม่ใช่คิดขึ้นมาลอยๆ ทุกอย่างมีการคิดมาแล้ว เพียงแต่การรับฟังความเห็นจะเป็นประโยชน์ในการสอดรับ-สอดคล้องมากขึ้น เพราะเราคิดในกรอบนโยบายที่เป็นแพคเกจใหญ่ เช่น ดิจิทัลวอลเลต 4 กิโลเมตร บางพื้นที่อาจไม่เหมาะสม อาจกำหนดให้กฎหมายขยายความได้มากขึ้น”

    ถามต่อเรื่องแหล่งงบประมาณของนโยบายดิจิทัลวอลเลต นายภูมิธรรม ตอบว่า “ต้องรอให้อนุกรรมการฯ ที่จัดตั้งขึ้น ได้มีการหารือกัน และคิดทบทวน เปลี่ยนแปลง ปรับตามความเหมาะสมที่กฎหมายอนุญาตให้ และตามวัตถุประสงค์”

    นายภูมิธรรม น้ำว่า “ยืนยันว่าทุกนโยบาย เราจะพยายามทำให้สำเร็จได้ทุกเรื่อง”

    ยันทำงานกับพรรคร่วมฯ ไม่มี‘เกาเหลา’

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดิจิทัลวอลเลต โดย นายภูมิธรรม กล่าวว่า “ผมคิดว่า ครม. รับผิดชอบร่วมกันอยู่แล้ว ไม่ต้องมีอะไรน้อยใจ ทุกคนช่วยกันผลักดันอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้เป็นบทบาทหลักของ พรรคเพื่อไทย เป็นคนที่คิดและวางมาทั้งหมด ต้องมองรายละเอียดให้ออกมาชัดเจนขึ้น ผมเชื่อว่า ครม. รับเป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว เป็นมติ ครม. แล้ว ทุกอย่างจะผลักดันด้วยกัน ไม่มีอะไรน่าน้อยใจ”

    ผู้สื่อข่าว ขอให้นายภูมิธรรมให้คะแนนภาพรวมการบริหารประเทศ นายภูมิธรรม ตอบว่า “ยังไม่ได้ให้คะแนนตัวเราเองครับ คิดเพียงว่าทำให้ดีที่สุด และให้ดีมากขึ้น วันนี้ทุกคนพยายามจะดูและให้คำแนะนำกันว่ามีเรื่องอะไรที่จะดำเนินการ หรือเรื่องอะไรที่ต้องชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบ และกำลังคิดว่ามีหนทางใดที่จะสื่อสารถึงประชาชนผ่านสื่อมวลชนให้ได้มากที่สุด”

    “ไม่ใช่เฉพาะ ครม. ของพรรคเพื่อไทย ท่าน (นายกฯ) ได้พูดกับ ครม. โดยรวมทั้งหมดว่าอยากให้มีรูปธรรมผลงานที่มีตัวชี้วัดได้ กำหนดให้ชัดเจนว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไรอย่างไร ก็เป็นภารกิจร่วมกันที่ต้องดำเนินการ” นายภูมิธรรม กล่าว

    นายภูมิธรรม ย้ำว่า นายกฯ พูดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถทำงานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นที่พึงพอใจของประชาชนที่เลือกเราเข้ามาทำงาน และการทำงานกับพรรคร่วมก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะต้องการให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

    ‘ภูมิธรรม’ ยกผลงานในอดีตแจง ‘ดิจิทัล วอลเลต’ มั่นใจทำสำเร็จแน่

    ผู้สื่อข่าวยังถามรายละเอียดของนโยบายดิจิทัลวอลเลต แต่นายภูมิธรรม ตอบเพียงว่า เรื่องนี้ต้องรอให้คณะทำงานสรุป และรอให้ทุกอย่างชัดเจน จึงจะแถลงครั้งเดียว

    “ถามความมั่นใจ ก็ตอบว่ามั่นใจ ดิจิทัลวอลเลจเป็นประเด็นเงื่อนไขสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หัวใจครั้งนี้คือกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในประเทศให้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ไม่มีปัญหาอะไรทั้งหมด… ผมคิดว่าโครงการนี้น่าจะเดินได้ แต่วิธีการในการจัดการเป็นเรื่องรายละเอียด เราต้องใช้ความเข้าใจในการมองและวิธีการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้โครงการนี้เกิดขึ้น…เพียงแต่ข้อห่วงใย-ข้อท้วงติง อันไหนสามารถรับฟังเป็นประโยชน์เราก็เอามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง” นายภูมิธรรม กล่าว

    “บางการวิจารณ์ อาจจะไม่ได้เข้าใจสิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้คิดและดำเนินการ เรื่องนี้ได้คิดและดำเนินการก่อนหน้าเป็นปี เพียงแต่เรากำลังคิดเรื่องใหม่ที่ออกนอกกรอบที่เป็นอยู่ การคิดออกนอกกรอบ มันต้องอาศัยการดูรายละเอียดต่างๆ ให้ครบถ้วนมากขึ้น”

    นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยเคยคิดหลายโครงการที่เป็นปัญหา เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ตลอดจนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แต่ก็ได้ทดลองทำและพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้ ทั้งที่มีเสียงต่อต้าน

    “เราคิดจากข้างบน จากการมอง จากการตั้งโมเดลการทำงาน แต่รายละเอียดต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการคิดมากขึ้น จะเห็นว่าส่วนใหญ่เราเริ่มจาก Pilot project ทดลองทำ เห็นปัญหาก็ปรับ ทุกอย่างมันต้องเอาความเป็นจริงมาตรวจสอบกับความคิด ถ้ามันสามารถประสานและตกลงกันได้แล้วเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ มันก็สามารถแก้ได้” นายภูมิธรรม กล่าว

    “ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์แบบนี้ เรากล้าคิดอะไรออกนอกกรอบ เพื่อหวังว่าเป็นจุดสำคัญในการเปลี่ยนผ่านปัญหาที่มีอยู่ เราก็ยินดีรับฟัง เพียงแต่บางทีการวิพากษ์วิจารณ์อาจคิดอยู่ในกรอบเดิม หรือไม่เข้าใจวัตถุประสงค์โครงการ อย่างไรก็ตาม เราถือว่าเป็นความคิดเห็นที่ติติงเรา เราก็ให้ความสำคัญ รับฟัง และพยายามปรับ” นายภูมิธรรม กล่าว

    สั่งทุกกระทรวงหางาน รองรับแรงงานไทยในอิสราเอล

    นายชัย รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ มีข้อสั่งการว่า ให้ทุกกระทรวงเตรียมแผนจัดหางานให้คนงานทักษะสูงที่กลับจากประเทศอิสราเอล เพราะแรงงานไทยล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานมีฝีมือเกษตรรุ่นใหม่ (smart farmer) ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตร ดังนั้น ขอให้กระทรวงต่างๆ ช่วยคิดแผนงานว่าจะสร้างสรรค์ตำแหน่งงานเพื่อรองรับแรงงานไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอล

    “อยากให้กระทรวงแรงงานสื่อสารไปยังแรงงานที่อยู่ที่อิสราเอลว่า ถ้านายจ้างเอาค่าแรงมาชักชวนว่าอย่ากลับเลย นายกฯ ขอให้เร่งสื่อสารว่า ช่วงนี้ขอให้แรงงานไทยกลับมาตัดสินใจตั้งหลักที่ไทยก่อน อย่าเสี่ยงอยู่ที่เดิม ให้ช่วยกันสื่อสาร อยากให้แรงงานไทยกลับมา อย่าเปลี่ยนใจ อย่าเพิ่งใจอ่อน กลับมาตั้งหลักก่อน เอาความปลอดภัยเป็นตัวตั้งอันดับหนึ่ง” นายชัย กล่าว

    อย่างไรก็ตาม นายชัย กล่าวว่า นายกฯ ได้ชื่นชม ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯได้เตรียมแผนจัดหางานให้คนงานทักษะสูงที่กลับจากประเทศอิสราเอล จึงทำให้นายกฯ มองเป็นต้นแบบและสั่งการไปยังกระทรวงอื่นๆ

    กำชับปลัดกระทรวงตั้งซี 8-9 เลือกคนดีมีฝีมือ – ไม่เอาเส้นสาย

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้พูดถึงการแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรม โดยที่ผ่านมาข้าราชการระดับปลัดกระทรวง (ซี 11) หรือระดับอธิบดี (ซี 10) ส่วนใหญ่แต่งตั้งไปเรียบร้อยเกืิอบหมดแล้ว แต่จากนี้ไปจะมีตั้งแต่ระดับรองอธิบดี และผู้อำนวยการ (ซี 9 และซี 8 ตามลำดับ) โดยนายกฯ แจ้งกับรัฐมนตรีทุกคนว่า

    “ขอให้กำชับกับปลัดกระทรวง เพราะตำแหน่งตั้งแต่ซี 9 มา ปลัดกระทรวงเป็นคนเสนอ กำชับว่า ขอให้เลือกผู้บริหารที่มีฝีมือ เลือกคนเก่งๆ ขออย่าให้มีเส้นสาย อย่าให้มีการวิ่งเต้น เน้นเอาคนมีฝีมือเข้ามาทำงาน ให้กำชับปลัดกระทรวง และดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้องทุกประการ” นายชัย รายงาน

    เรียกทูตพาณิชย์กลับไทย ติวเข้มเปิดตลาดเชิงรุก – ดึงต่างชาติลงทุน

    สืบเนื่องจากที่นายกฯ และคณะเดินทางไปประเทศจีนและซาอุดิอาระเบีย นายชัย ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่นายกฯ ไปเยือนทั้งสองประเทศข้างต้นและได้พบกับทูตพาณิชย์ไทย จึงเห็นว่า มีช่องทางที่ประเทศไทยจะทำการตลาดเชิงรุกในแต่ละประเทศ และเชื้อเชิญให้มีการเพิ่มการค้าและการลงทุน

    “นายกฯ จึงได้กำชับ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ว่า ขอให้เร็วๆ นี้ โดยโอกาสที่เร็วที่สุด ให้เชิญทูตพาณิชย์จากทั่วโลกที่ประจำประเทศต่างๆ ให้กลับมาเวิร์กช็อปกันด่วน เพราะท่านต้องการให้รัฐบาลนี้เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มการค้าการลงทุน การส่งออกให้เร็วที่สุด โดยเล่นเกมรุกด้วยการเชิญมาประชุมที่ไทยในเร็วๆ นี้ บางประเทศที่มีทูตพาณิชย์น้อย กำลังพลไม่พอ ท่านบอกใส่เต็มที่ เดินหน้าเข้าเกียร์ 5” นายชัย กล่าว

    คาดกลาโหมคืนที่ราชพัสดุ 23,300 ไร่ สิ้นปี’66

    ผู้สื่อข่าวถามรายละเอียดมติ ครม. เรื่องกระทรวงกลาโหมจะเปิดให้ประชาชนใช้พื้นที่ได้ โดย นายชัย ตอบว่า เบื้องต้นกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า ที่จังหวัดอุดรธานีเตรียมจัดสรรแล้วกว่า 20,000 ไร่ จังหวัดกาญจนบุรี 3,000 ไร่ และป้อมพระจุลฯอีกกว่า 300 ไร่

    นายชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงกลาโหมแจ้งในที่ประชุม ครม. ว่า กระทรวงฯ จะสนองนโยบายนี้ของรัฐบาลด้วยการเพิ่มจำนวนให้มากกว่าตัวเลขข้างต้น และแจกจ่ายที่ดินทำสัญญาเช่า โดยคาดว่าจะเริ่มต้นปลายปี 2566 หรือ อย่างช้าที่สุดเดือนมกราคม 2567

    อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวยังถามถึงตัวเลขที่ราชพัสดุทั่วประเทศ ทั้งนี้ นายชัย ชี้แจงว่า เอกสารไม่ได้ลงรายละเอียด แต่คาดว่าเป็นหลักล้านไร่

    ถอนงบฯสปสช.กว่า 2 แสนล้าน ออกจาก ครม.หลังถูกหั่น 6,000 ล้าน

    เมื่อถามถึงมติ ครม.เรื่องการถอนงบ สปสช. 2 แสนล้านออกจาก ครม. เนื่องจากสำนักงบประมาณตัดงบที่เสนอขอมาดังกล่าวลง 5,000-6,000 ล้านบาท นายชัย ตอบว่า “ทางสำนักงบประมาณฯ ไม่ได้ให้เหตุผลอะไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคนชี้แจงว่า ขอเพิ่มมาแค่ 8% กับบริการที่เพิ่มเยอะมาก ขอเพิ่มแค่หมื่นกว่าล้านเมื่อเทียบกับปี 2565 ไปถูกตัดตั้ง 6,000 ล้านมันบิ๊กดีล เลยขอที่ประชุมว่า เดี๋ยวขอไปหารือกับสำนักงบประมาณฯ เหตุผลไม่มีแจ้งในที่ประชุมว่าไปตัดเขา 5,000 – 6,000 ล้านบาท เพราะอะไร”

    เผยปี’67 ขสมก.จัดหา EV แทนรถเมล์ร้อนกว่า 2,000 คัน

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องเงินกู้ ขสมก. เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดย นายชัย ตอบว่า การกู้ครั้งนี้เพื่อเป็นรายจ่ายที่ขสมก. ยังไม่มีงบไปจ่าย เช่น ค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมแซม รวมถึงค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการ รวมกว่า 8,000 ล้านบาท

    “กู้มาต่อเนื่อง ปีที่แล้ว 7,000 กว่าล้าน รัฐบาลก็ตั้งงบชดเชยจ่ายให้…ท่านมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม แจ้งในที่ประชุมว่าในปี 2567 รถเมล์ร้อนจะแปลงเป็นรถเย็น (EV) เพิ่มจากที่มีอยู่ไม่กี่ร้อยเป็น 2,000 กว่าคัน พอเพิ่มแบบนี้ รายได้ก็เพิ่ม ค่าใช้จ่ายต้นทุนพลังงานก็ต่ำลง ดังนั้น อัตราการติดลบจะเริ่มดีขึ้น” นายชัย กล่าว

    อย่างไรก็ตาม นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ เสริมว่า “ในการแก้ปัญหาขสมก. รมช.คมนาคม เสนอให้ใช้รถอีวีเพิ่มขึ้น แต่ท่านนายกฯ มีดำริว่า นั่นคือส่วนหนึ่งของการลดการขาดทุน แต่ควรจะต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดทุนให้ชัดเจนโดยเร็ว”

    ปลื้มทริปเยือนจีนคุ้ม มั่นใจธุรกิจจีนขนเงินลงทุนไทยแน่

    ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประเทศจีน ถามความคิดเห็นของคณะโฆษกฯ เรื่องการไปเยือนประเทศจีนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อจีนอย่างมาก เมื่อถามจบ นายชัยกล่าวขอบคุณ และพูดต่อว่า “โอ้โห เนื่องจากผมร่วมคณะท่านนายกฯ ไปด้วย ต้องขอเรียนว่าทริปนี้คุ้มค่ามากๆ”

    “นายกฯ ได้พบกับผู้นำจีน มีการเจรจาการประชับความร่วมมือกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างๆ เรียกว่ามิตรไมตรีที่แสดงออกต่อกัน เห็นแล้วอุ่นใจมากๆ บวกกับการพบกับบริษัทชั้นนำท็อปเท็นของจีน การตอบสนองในการเจรจามีบริษัทชั้นแนวหน้าพร้อมจะมาลงทุนในประเทศไทย ผมขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ แต่เร็วๆ นี้ต้องเป็นข่าวแน่ คุ้มมากๆ มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยแน่ๆ” นายชัย กล่าว

    จี้ยึดทรัพย์ขบวนการลักลอบนำเข้า ‘หมูเถื่อน’

    นายชัย กล่าวถึงคดีลักลอบหมู่เถื่อนว่า เมื่อวานเป็นวันหยุด (23 ต.ค.) แต่นายกฯ ไปตั้งกองบัญชาการที่กระทรวงการต่างประเทศ มีการเชิญทั้งกระทรวงเกษตรฯ กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และกระทรวงการคลัง และนายกฯ บอกว่าเริ่มจับได้มากขึ้นเรื่อยๆ และอย่าให้ทำผิดอย่าให้หลุดรอดเด็ดขาด ต้องเอาตัวมาลงโทษให้ได้ ลงโทษให้หนัก และขยายผลไปถึง สตง. ให้ยึดทรัพย์

    “แค่กฎหมายของ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ หรือ พ.ร.บ.ศุลกากร เป็นโทษที่ไม่ค่อยหนัก ท่านต้องการให้ขยายผลให้หนักถึงขั้นยึดทรัพย์ และท่านจี้ว่า รู้อยู่แล้วว่าใครทำผิด บริษัทนำเข้ามีตัวตนแน่นอน ต้องเร่งจับตัวมาให้เร็วที่สุด ห้ารายที่มีข่าวออกมาจาก 11 รายไม่พอ เอามาให้หมด ต้องเร็วด้วย” นายชัย กล่าว

    “ถ้าใครช้า ไม่สนองนโยบาย ท่านจะจัดการแน่นอน เรียกว่าถ้าไม่สนองเรื่องนี้ ดูท่าทีแล้วพอท่านนายกฯ จี้เป็นครั้งที่ 2 ทุกฝ่ายเต็มที่ คนที่อยากจะทำงาน อยากแก้ปัญหานี้ มั่นใจว่ามีหลังพิงที่มั่นคงแล้ว เขาเดินหน้าอย่างเต็มที่ บรรยากาศการแก้ปัญหารวดเร็ว มีประสิทธิภาพ” นายชัย กล่าว

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายชัย วัชรงค์ โฆษกฯ และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (เริ่มจากซ้ายมาขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ค้ำประกัน ขสมก.กู้เสริมสภาพคล่อง 8,268 ล้าน

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่าย) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมจำนวน 8,268.469 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงิน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

    กระทรวงคมนาคม รายงานว่า ขสมก. ได้เสนอขออนุมัติการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบฯ พ.ศ. 2567 ซึ่งคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีมติเห็นชอบแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 18/2565 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 สาระสำคัญดังนี้

    ขสมก. ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุน และไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ ขสมก. ยังมีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 136,602.529 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)

    ขสมก. ได้จัดทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ในปีงบฯ พ.ศ. 2567 คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือ จำนวน 23,635.409 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน และสามารถทำให้องค์กรบริหารจัดการต่อไปได้ ขสมก. จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 23,635.409 ล้านบาทดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ และไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้ จำนวน 15,366.940 ล้านบาท ซึ่ง ขสมก. ได้นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อบรรจุเข้าแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบฯ พ.ศ. 2567 แล้ว จึงคงเหลือเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานของ ขสมก. ในปีงบฯ พ.ศ. 2567 (เดือน ต.ค. 2566- ก.ย. 2567) จำนวน 8,268.469 ล้านบาท

    ขสมก. พิจารณาแล้วเห็นว่า หาก ขสมก. กู้เงินมาชำระหนี้ (แทนการผิดนัดชำระหนี้) จะจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณร้อยละ 1.188 (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564- 30 ก.ย. 2565) หรือปีละ 51.273 ล้านบาท ซึ่งทำให้ ขสมก. สามารถประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระลงได้ปีละ 221.124 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 81.177 ต่อปี

    ตั้ง ‘สุริยะ’ ประธาน คกก. ลุยแก้ปัญหาการบินไทย

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 285/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) รับไปดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมา จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 393/2563 สั่ง ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2563 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และให้รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ ๆ นั้น

    ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับกฎหมาย และกฎระเบียบของราชการ อันต้องอาศัยการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ และการประสานงานกับหน่วยงานรัฐ และรัฐยังจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐนตรี ที่ 393/2563 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 และมีคำสั่งดังต่อไปนี้

    ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย

      (1) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธาน
      (2) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ
      (3) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
      (4) ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
      (5) ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการ
      (6) ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ
      (7) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการ
      (8) นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการ
      (9) นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ กรรมการ
      (10) นายโชติชัย เจริญงาม กรรมการ
      (11) นายพิชิต ชื่นบาน กรรมการ
      (12) พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ กรรมการ
      (13) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรรมการและเลขานุการ

    ข้อ 2 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

      (1) เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาล และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง
      (2) ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของภาครัฐโดยไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาของศาล
      (3) กลั่นกรอง ตรวจสอบ และประสานงานผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการพื้นฟูกิจการ และการดำเนินกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่มีการร้องขอ และไม่ขัดต่อกฎหมาย
      (4) เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้แทนหน่วยงานเอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ
      (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
      (6) รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ

    ข้อ 3 คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือ คณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะเรื่องได้ ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานได้รับเบี้ยประชุม หรือค่าใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

    ตั้ง ‘อุ๊งอิ๊ง’ ประธานขับเคลื่อน “30 บาท พลัส”

    นายชัย กล่าวต่อว่า วันนี้เวลา 13.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนจากทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการฯ กล่าวว่า การยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การได้รับบริการสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดการเจ็บป่วย การวินิจฉัยโรค เพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และการฟื้นฟูสุขภาพภายหลังการรักษาโรคเพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน โดยนโยบายดังกล่าวจะครอบคลุมการมีหลักประกันสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มคุณภาพบริการ และลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2531 -2560 หลังจากการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีจำนวนลดลง เห็นได้ชัดตั้งแต่ 250,000 ครัวเรือน ในปี 2531 เหลือเพียง 52,000 ครัวเรือน ในปี 2562 ความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2545 -2565 อยู่ที่ร้อยละ 99.6 จากการที่ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชาชนมากกว่าประเทศ OECD ร้อยละ 98 ดังนั้น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเราต้องไม่หยุดพัฒนา เพื่อร่วมกันสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด สำหรับคนไทย พร้อมทั้ง ยกระดับนโยบายดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายนี้มีความครอบคลุมระบบโครงสร้างระบบสาธารณสุขของไทยประชาชนสามารถเข้าถึงในทุก ๆ มิติ

    ด้าน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีภารกิจดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศให้แข็งแรง เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศ โดยจะปรับระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต่อยอดเศรษฐกิจไทย เติมเต็มบริการสุขภาพเพื่อประชาชน ยกระดับการดูแลสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ ปัญญา สังคม เชื่อมกันทุกมิติ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุม รักษา และฟื้นฟู ด้วยนโยบาย 30 บาท เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับการบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบบัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ แบ่งเป็น 4 ระบบ ดังนี้ 1) การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล 2) การพัฒนาระบบยืนยันตัวตน 3) การพัฒนาระบบ MOPH Data Hub 4) การพัฒนาระบบเชื่อมต่อประชาชนทางแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ สำหรับโครงการนี้จะนำร่องนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จะเปิดให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนใบเดียว เข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลทุกเครือข่าย และทุกสังกัด ไม่จำกัดเฉพาะสังกัด สธ. ขณะนี้ได้คัดเลือก 4 จังหวัดที่จะนำร่อง ประกอบด้วย 1. จ.แพร่ (เขตสุขภาพที่ 1) 2. จ.เพชรบุรี (เขตสุขภาพที่ 5) 3. จ.ร้อยเอ็ด (เขตสุขภาพที่ 7) และ 4. จ.นราธิวาส (เขตสุขภาพที่ 12) ที่สามารถเข้ารับบริการได้ทุกเครือข่าย ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา และแล็บที่สนใจเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบประมาณ และจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการได้เร็วขึ้น โดยจะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวล่วงหน้า กรณีผู้ป่วยนอกจะจ่ายชดเชยใน 3 วัน และผู้ป่วยในจ่ายชดเชยทุก 7-14 วัน รวมถึงจะมีการเพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยนัดหมายบริการ ยืนยันตัวตน การไปรับยาใกล้บ้าน เป็นต้น โดยเพิ่มอาสาสมัคร เช่น พยาบาลเกษียณ หรือคนพิการ เข้าร่วมบริการประชาชน พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ปี 2567

    จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการรับฟังจากทุกภาคส่วนว่า การขับเคลื่อนทั้ง 5 นโยบายเร่งด่วนนี้ และนโยบายอื่น ๆ ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน เห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนติดตาม และกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานฯ และให้มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาวของประเทศ ให้คนไทยแข็งแรงประเทศชาติมั่นคงนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ข้อเสนอแนะ ในนามของรัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนการสาธารณสุขของประเทศไทยยกระดับการบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างระบบสาธารณสุขให้เหมาะสมกับประชาชนคนไทยทุกคนให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

    ทุ่ม 1,500 ล้านบาท เดินหน้า ‘1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ พลัส’

    นายชัย กล่าวว่า ในเวลา 14.40 น.ของวันเดียวกันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการสนับสนุนสมาคมกีฬาจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

    นายชัย กล่าวต่อว่านายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมประชุมในวันนี้ เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาด้านกีฬา ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Soft Power สำคัญของประเทศในการพัฒนาอย่างมีระบบ ซึ่งกีฬานอกจากช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนแล้วยังสามารถพัฒนาเป็นอาชีพทั้งในบทบาทที่เป็นนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และผู้มีวิชาชีพด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่เป็นที่นิยมในระดับสากล ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการสนับสนุนสมาคมกีฬาจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ จะเป็นการเสริมต่อการสนับสนุนกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติและของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่จะมาช่วยผลักดันให้การกีฬาของประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

    สำหรับคณะกรรมการฯ โครงการนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ชื่อโครงการ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้ปรับเปลี่ยนการสนับสนุนให้กว้างขึ้น ให้รวมถึงทุกสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย พร้อมกับดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับวงการกีฬาไทยภายใต้โครงการ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ พลัส สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยต่าง ๆ จะได้งบสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 4 ปี ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนพัฒนาระยะยาวได้ และงบประมาณในส่วนนี้สมาคมกีฬาฯ สามารถใช้จ่ายได้โดยไม่ติดระเบียบราชการ

    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการสนับสนุนโดยพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญ คือ 1. ความเป็นสากลของกีฬา 2. ความนิยมและความสนใจของประชาชนต่อกีฬา 3. ผลงานของสมาคมกีฬาที่ผ่านมา 4. แผนงานในการพัฒนาของสมาคมกีฬา 5. ความโปร่งใสในการบริหารจัดการของสมาคมกีฬา 6. การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของสมาคมกีฬา

    โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้

      1) การดำเนินงานในขั้นต่อไป คณะกรรมการฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือ 1) คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ และกลั่นกรองการสนับสนุนสมาคมกีฬา โดยมีองค์ประกอบดังนี้ (1) นายกองเอก ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ประธานอนุกรรมการ (2) ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย รองประธานอนุกรรมการ โดยคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย (3) พลเรือเอก อธินาถ ปะจายะกฤตย์ (4) นายธนฑิตย์ รักตะบุตร (5) นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์ (6) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และ (7) ผู้แทนการกีฬาแห่งประเทศไทย อนุกรรมการและเลขานุการ
      2) คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดการสนับสนุนสมาคมกีฬาจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน โดยมีองค์ประกอบดังนี้ (1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ประธานอนุกรรมการ (2) นายศุภนิจ จัยวัฒน์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รองประธานอนุกรรมการ (3) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ รองประธานอนุกรรมการ โดยอนุกรรมการ ประกอบด้วย(4) ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (5) ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (6) นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา (7) นายต้น ณ ระนอง และ (8) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ อนุกรรมการและเลขานุการ

    ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองแผนงานของสมาคมกีฬาต่าง ๆ และประสานกับรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน เพื่อของบประมาณตามความเหมาะสม โดยโครงการ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ พลัสนี้ จะเริ่มงานในทันที และมีเป้าหมายว่าภายใน 2 เดือน จะเริ่มทยอย “จับคู่” ได้ โดยมีเป้างบประมาณอยู่ที่ 1,300 – 1,500 ล้านบาทต่อ 4 ปี ที่จะหามาสนับสนุนสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยภายใต้โครงการนี้

    เลื่อนจัดกีฬา ‘เอเชียนอินดอร์-มาเชี่ยลอาร์ทเกมส์’ เป็น 24 ก.พ. – 6 มี.ค.ปีหน้า

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการเลื่อนจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) จากเดิมระหว่างวันที่ 17-26 พ.ย. 2566 เลื่อนเป็น วันที่ 24 ก.พ. – 6 มี.ค. 2567 และเห็นชอบในหลักการกรอบวงเงินงบฯ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) วงเงินทั้งสิ้น 1,745 ล้านบาท โดยให้ กก. (กกท.) พิจารณานำรายได้จากการบริหารสิทธิประโยชน์ต่างๆ มาสมทบเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินการจัดการแข่งขันอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการแข่งขันกีฬาดังกล่าวเพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสในการรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม ตามความเห็นของ สงป. และ สศช.

    โดยจากกรอบ 1,745 ล้านบาทที่เห็นชอบนั้น ขอให้ใช้จากงบ กกท. งบกองทุนพัฒนากีฬา และรายได้ ให้เต็มที่ก่อน แล้วค่อยของบกลางไปเติมเต็ม

    ตามที่ ครม. มีมติ (17 มีนาคม 2563) เห็นชอบในหลักการให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (Olympic Council Of Asia: OCA) ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาที่กรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 24 ก.พ. – 6 มี.ค. 2567

    เคาะหยุดปีใหม่ 4 วัน เริ่ม 29 ธ.ค.2566 – 1 ม.ค. 2567

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้เลื่อนวันหยุดชดเชยวันสิ้นปี ประจำปี 2566 จากวันอังคารที่ 2 มกราคม 2567 เป็นวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2566 และยังเห็นชอบการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2567 จำนวน 1 วัน คือ วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2567 และรับทราบภาพรวมวันหยุดราชการ ประจำปี 2567 จำนวน 20 วัน ในกรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจในการให้บริการประชาชน หรือมีความจำเป็นหรือราชการสำคัญในวันหยุดดังกล่าว ที่ได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและกระทบต่อการให้บริการประชาชน และในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงานพิจารณาความจำเป็นเหมาะสมของการกำหนดให้วันดังกล่าวข้างต้น เป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีต่อไป

    “การเลื่อนวันหยุดชดเชยวันสิ้นปี จากวันอังคารที่ 2 มกราคม 2567 เป็นวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2566 เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของการเดินทางเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ และการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษประจำปี 2567 เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางและเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ อีกทั้งการที่ ครม.มีมติเลื่อนวันหยุดชดเชยและกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษล่วงหน้าจะช่วยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้งภาคเอกชนสามารถวางแผนการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสมต่อไป” นายชัย กล่าว

    รับข้อเสนอ กสม.แก้ PM 2.5 ภาคเหนือตอนบน

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหารือแนวทางในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับปัญหาภาวะทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และพะเยา โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5

    คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ “กสม.” เห็นว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง และยังคงมีข้อจำกัดและอุปสรรคที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนี้

      1. ให้ศึกษาปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสถานการณ์ไปยัง อปท. และดำเนินการขจัดอุปสรรคต่างๆ
      2. ทบทวนนโยบายห้ามเผาเด็ดขาด คำนึงถึงบริบทเชิงพื้นที่และความจำเป็นของประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
      3. พิจารณาจัดทำตัวชี้วัดที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศ

    โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ อาทิ กค. , อว. , กษ. , มท. , สธ. สงป. , ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว โดยให้ ทม. สรุปผลพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป

    โดยที่ประชุม ครม. ยังรับทราบผลการประชุม รมต. อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค. 2566 ณ สปป.ลาว โดยปลัด ทส. ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ โดยจะร่วมต่อสู้กับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยที่ประชุมได้มีการรับรองและรับทราบ เช่น รับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียนของไทย จำนวน 2 แห่ง (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ในจังหวัดเลย) รับรองร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรับทราบผลสรุปความสำเร็จความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    จี้ ‘กลาโหม’ เร่งคืนที่ราชพัสดุให้ ปชช.ใช้ประโยชน์

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม (กห.) เห็นชอบให้กระทรวงกลาโหมประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด กระทรวงกลาโหม เพื่อตรวจสอบพื้นที่ของรัฐในความครอบครองของแต่ละหน่วยงาน (ในสังกัด กระทรวงกลาโหม) ให้ถูกต้อง ชัดเจน และพิจารณากำหนดแนวทางการอนุญาตให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ เพื่อทำกินในที่ดินดังกล่าวในส่วนที่มิได้ใช้ประโยชน์ แล้วรายงานความคืบหน้าต่อ ครม. ภายใน 2 สัปดาห์ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ

    กระทรวงกลาโหม จึงได้เสนอรายงานความคืบหน้าการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐในความครอบครองของ กระทรวงกลาโหม โดยกระทรวงกลาโหม ได้ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลจากแผนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดินในความครอบครองของ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2566-2580 ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 3 ส่วนหลัก ได้แก่

      1. ประเภทที่ดิน
      2. รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน และ
      3. แผนการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน และกำหนดแนวทางการอนุญาตให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ เพื่อทำกินในที่ดินในความครอบครองของ กระทรวงกลาโหม โดยจะใช้ที่ดินประเภทที่ราชพัสดุซึ่งมีประชาชนอยู่อาศัยถาวร ชุมชนหนาแน่นหรือหมดความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ราชการทหาร มาดำเนินการ โดยมีการจัดลำดับความเร่งด่วนของพื้นที่

    ทั้งนี้ การอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อทำกิน จะต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายและระเบียบว่าด้วยที่ราชพัสดุที่เกี่ยวข้อง โดย กระทรวงกลาโหม จะประสานกับกรมธนารักษ์เพื่อหารือแนวทางในการจัดสรรที่ดินดังกล่าวให้กับประชาชนที่มีความเดือดร้อนในพื้นที่ทำกิน รวมถึงร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

    ขยายเวลาจัดทำอนุ กม.ปราบปรามค้ามนุษย์

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และพ.ศ.2562 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่ได้ออกไปแล้วให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่บทดังกล่าวอีก 6 ฉบับ ดังนี้

      1. ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการจัดให้บุคคลซึ่งอาจจะเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อยู่ในความคุ้มครองเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2552
      2. ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการเก็บรักษา และการใช้ประโยชน์เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ได้มาในการสืบสวนและใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีความผิดฐานค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
      3. ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการให้คว่ามช่วยเหลือแก่บุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ พ.ศ.2552
      4. ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการจัดตั้งสถานคุ้มครองเอกชนเพื่อการช่วยเหลือและคุ้มคระงผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2560
      5. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการคำมนุษย์ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
      6. ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสั่งปิดสถานประกอบธุรกิจหรือโรงงาน การห้ามใช้ยานพาหนะเป็นการชั่วคราว หรือดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการกระทำผิดขึ้นอีก ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

    นายคารม กล่าวว่า การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองดังข้างต้น พม. เห็นว่า พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ประกอบมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 แต่โดยที่การแก้ไขกฎหมายลำดับรองดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์หลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ต้องมีการสอบถามข้อเสนอแนะและปัญหาอุปสรรค เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ก่อให้เกิดภาระและส่งผลกระทบต่อผู้เสียห่ายจากการถูกบังคับใช้แรงงานหรือบริการและประชาชนโดยตรง รวมทั้งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายลำดับรองดังกล่าวโดยตรง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาหารือร่วมกันเพื่อให้ได้หลักเกณฑ์กลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ พม. จึงมีความจำเป็นต้องเสนอ ครม.เพื่อขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

    ยกเว้นยื่นแบบ ตม.6 ผ่าน ‘ด่านสะเดา’ ดึงมาเลย์เที่ยวไทย

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาใน หรือ ออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม.6) ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราว (ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566- 30 เมษายน 2567) ซึ่งตรงกับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่จะเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง

    นายคารม กล่าวว่า จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ใช้ระยะเวลาในการผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองมากกว่า 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 พบว่า ในเดือนมกราคม-กันยายน 2566 นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย (จำนวนประมาณ 3.1 ล้านคน) และมีประมาณการรายได้สะสมอยู่ที่ประมาณ 52,755 ล้านบาท (ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อคน/ทริป เท่ากับ 16,588 บาท) ประกอบกับตามข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวรายด่านจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา จำนวนเฉลี่ย 1 แสนคนต่อเดือน ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวมาเลเซียมีความประสงค์จะขอเดินทางเข้ามายังประเทศโดยจำนวนมากและเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ รวมทั้งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทั่วประเทศซึ่งเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย

    “การยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาใน หรือ ออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม.6) ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราว ทำให้การดำเนินขั้นตอนในบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ลดความแออัดบริเวณหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวตลาดหลักที่มีศักยภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างซาติมากยิ่งขึ้น เกิดการกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ที่มีการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคต่าง ๆ ต่อเนื่องไป รวมทั้งช่วยให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ” นายคารม กล่าว

    โยก ‘บิ๊กหลวง’ นั่งเลขาธิการ ปปส.

    นายคารม กล่าวว่าที่ ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งนางรุ่งรัตนา บุญ-หลง ผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งนางสาวจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    3. แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ให้โอนข้าราชการตำรวจรายพลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) กระทรวงยุติธรรม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เพิ่มเติม