ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประวิตร” ปลื้มราคาปาล์มพุ่ง เซฟงบฯ ประกันรายได้ — มติ ครม. ให้ กฟผ. กู้ 8.5 หมื่นล้าน แบกค่าไฟแทน ปชช.

“ประวิตร” ปลื้มราคาปาล์มพุ่ง เซฟงบฯ ประกันรายได้ — มติ ครม. ให้ กฟผ. กู้ 8.5 หมื่นล้าน แบกค่าไฟแทน ปชช.

6 กันยายน 2022


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

“ประวิตร” สั่งทุกหน่วยเตรียมรับมือมวลน้ำช่วง ก.ย.-ต.ค. นี้-ปลื้มราคาปาล์มพุ่ง เซฟงบฯ ประกันรายได้-มติ ครม. ไฟเขียว กฟผ.กู้ 8.5 หมื่นล้าน แบกค่าไฟแทน ปชช.-ผ่าน กม.จราจร โยนศาลสั่งลงโทษ-จ่ายค่าปรับ

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการต่อสื่อมวลชนแทนรองนายกรัฐมนตรี

สั่งทุกหน่วยเตรียมรับมือมวลน้ำช่วง ก.ย.-ต.ค.นี้

นายอนุชา กล่าวถึงข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เรื่องการประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วมว่า เนื่องจากเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2565 ในพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีฝนตกหนัก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสน้ำท่วมขัง จึงขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมขังอย่างทันท่วงที และสั่งการให้มีการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อเตรียมความพร้อมบริหารจัดการมวลน้ำที่มีจำนวนมาก

เปิดศูนย์บริหารน้ำส่วนหน้า จ.อุบลฯ 8 ก.ย.นี้

นอกจากนี้ พลเอกประวิตร ยังสั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติพิจารณาจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า” ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยคาดว่าจะดำเนินการวันที่ 8 กันยายน 2565 และให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.เป็นเจ้าภาพบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชน

“ที่สำคัญที่สุด ท่านขอให้ทุกหน่วยงานมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประชาชนและประเทศชาติอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนไม่เดือดร้อน หรือเดือดร้อนน้อยที่สุด” นายอนุชากล่าว

ปลื้มราคาปาล์มพุ่ง เซฟงบฯประกันรายได้

นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอกประวิตร พูดในที่ประชุม ครม. เรื่องราคาน้ำมันปาล์ม และราคาปาล์มทะลาย โดยปี 2562 ราคาปาล์มทะลายเฉลี่ยทั้งปีที่ 3.11 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2563 เพิ่มเป็น 4.80 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2564 เพิ่มเป็น 6.66 บาทต่อกิโลกรัม และปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 7.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาดังกล่าวสูงกว่าราคาประกันที่กิโลกรัมละ 4 บาท ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณที่ตั้งเอาไว้เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน มูลค่าปาล์มทะลายจากสวนก็มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปี 2562 มีมูลค่า 50,000 ล้านบาท แต่ปี 2563 เป็น 70,000 ล้านบาท และปี 2564 สูงถึง 120,000 ล้านบาท และปี 2565 คาดว่าจะทะลุ 150,000 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวถึงมูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในช่วงปี 2562-2565 ว่า ในช่วง 4 ปีนี้ คาดว่าจะมียอดปริมาณการส่งออกมากถึง 1.5 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 60,000 – 70,000 ล้านบาท และปี 2566 คาดว่าปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจต้นแบบของไทยที่สร้างราคาให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

มติ ครม. มีดังนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล , ดร.รัชดา ธนาดิเรก และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ไฟเขียว กฟผ.กู้ 8.5 หมื่นล้าน แบกค่าไฟแทน ปชช.

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท โดยให้ กฟผ.สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพคล่องและสภาวะตลาดเงินในขณะนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภาระหนี้ โอกาสนี้ คณะรัฐมนตรียังรับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของ กฟผ. ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/ 2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565

นายอนุชา กล่าวถึงสถานการณ์ราคาพลังงานปัจจุบัน ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ กฟผ. ยังคงต้องรับภาระอัตราค่า (Ft) ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงงวดตั้งแต่เดือนกันยายน- ธันวาคม 65 (งวดปัจจุบัน) จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ผลักภาระเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลอัตราค่าบริการพลังงานไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐได้มอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระอัตราค่า (Ft) ที่เพิ่มขึ้น ชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่งวดเดือนกันยายน- ธันวาคม 64 จนถึงงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท (ค่าประมาณการ ณ มีนาคม 2565) ที่จะเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ เลื่อนออกไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ. ต้องรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. ว่า จะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 จำนวนเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมจะปีงบประมาณ 2566 เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 84,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม(Call Loan) ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินของภาครัฐ

ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 4 / 2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของ กฟผ. ซึ่งจะช่วยรับภาระค่า Ftที่เพิ่มขึ้นชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้น มาเรียกเก็บกับประชาชนระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และ 29 มีนาคม 2565 ด้วย

จัดงบกลาง 912 ล้าน บริหารน้ำเพิ่มอีก 576 โครงการ

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลางกรอบวงเงิน 911.7120 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/66 เพิ่มเติม จำนวน 576 โครงการ โดยจะเป็นการดำเนินการภายใต้ 3 กระทรวง 7 หน่วยงาน ดังนี้

  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 192.0700 ล้านบาท
  • กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 519 โครงการ วงเงินรวม 619.7137 ล้านบาท โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 496 โครงการ วงเงิน 376.4279 ล้านบาท และกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 23 โครงการ วงเงิน 243.2858 ล้านบาท
  • กระทรวงมหาดไทย จำนวนทั้งสิ้น 53 โครงการ วงเงินรวม 99.9283 ล้านบาท ประกอบด้วย จังหวัด จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 4.5790 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 40 โครงการ วงเงิน 62.1180 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 11 โครงการ วงเงิน 31.6313 ล้านบาท และเทศบาลตำบล จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 1.6000 ล้านบาท
  • นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อโครงการต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จนั้นจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 3,542 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 542 ครัวเรือน ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 3.32 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถกำจัดผักตบ/วัชพืชน้ำได้ถึง 97,988 ตัน รวมถึงจะมีการซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์อีก 9 แห่งด้วย

    อนุมัติงบฯ 664 ล้าน ให้กรมชลฯ ซื้อเครื่องสูบน้ำ 203 เครื่อง

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลางวงเงิน 664 ล้านบาทให้กรมชลประทาน จัดหาเครื่องจักรกลสูบน้ำ 203 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

    ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการจัดหาเครื่องจักรกลสูบน้ำ ที่มีสมรรถนะสูงและมีคุณลักษณะเฉพาะตรงกับความจำเป็นใช้งานเพียงพอพร้อมสนับสนุนภารกิจของกรมชลประทานเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพปฏิบัติงานป้องกันความเสียหายและบรรเทาภัยที่เกิดจากน้ำให้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการทดแทนเครื่องสูบน้ำที่มีอายุการใช้งานมากและมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำ ซ่อมแซมไม่คุ้มค่า รวมทั้งยังเป็นการปรับแผนวิธีการหรือแนวทางการประเชิญเหตุอุทกภัยและภัยแล้งเพิ่มประสิทธิภาพการปฎิบัติงานป้องกันความเสียหายและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ ช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่รวดเร็ว

    โครงการจัดหาเครื่องจักรกลสูบน้ำเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวม 3 รายการ รวมทั้งสิ้น 203 เครื่อง วงเงินรวมทั้งสิ้น 663,879,300 ล้านบาท โดยเป็นเครื่องสูบน้ำชนิดหอยโข่งขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาดท่อต่างๆ ดังนี้

  • ขนาดท่อส่งไม่น้อยกว่า 8 นิ้ว จำนวน 27 เครื่อง งบประมาณ 67,130,100 ล้านบาท
  • ขนาดท่อส่งไม่น้อยกว่า 10 นิ้ว จำนวน 34 เครื่อง งบประมาณ 99,749,200 ล้านบาท
  • ขนาดท่อส่งไม่น้อยกว่า 14 นิ้ว จำนวน 142 เครื่อง งบประมาณ 497 ล้านบาท
  • ผ่าน กม.จราจร โยนศาลสั่งลงโทษ-จ่ายค่าปรับ

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีจราจรในแต่ละปีมีจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่ขาดความรู้ความเข้าใจและวินัยในการใช้รถใช้ถนน ไม่เคารพปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษของกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรและผลกระทบถึงความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายและจิตใจของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลทั่วไป อีกทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ผู้กระทำผิดชำระค่าปรับตามกฎหมายน้อยมาก เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบสั่งต่อผู้กระทำผิดกฎจราจรเพื่อลงโทษปรับตามกฎหมาย แต่ไม่ได้กำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรในกรณีผู้รับใบสั่งได้โต้แย้งข้อกล่าวหา หรือ เพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง จึงต้องใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) หรือ กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ทำให้มีหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลานาน

    ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ครม. จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีจราจรและจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นโดยเฉพาะต่างหากจากคดีอาญาทั่วไป โดยกำหนดประเภทคดีที่เป็นคดีจราจรซึ่งจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดขั้นตอนดำเนินงานเป็นการเฉพาะสำหรับคดีจราจร โดยให้พนักงานสอบสวนออกใบนัดให้ผู้กระทำความผิดคดีจราจรไปศาล และกำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดคดีจราจรนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ซึ่งประเภทคดีจราจรและขั้นตอนการดำเนินการพิจารณาคดีจราจร แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

    กลุ่มที่ 1 ความผิดจราจรบางฐานที่กำหนดไว้เฉพาะ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ขับรถในระหว่างใบขับขี่ถูกพักใช้ เพิกถอน หรือหมดอายุ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด เป็นต้น ร่างพ.ร.บ.นี้ กำหนดห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับหรือออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ให้ผู้นั้นไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

    กลุ่มที่ 2 ความผิดอื่นที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกฎหมายว่าด้วย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยไม่รวมถึงกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากผู้กระทำผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับ หรือ ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

    กลุ่มที่ 3 ความผิดนอกจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่มีความร้ายแรง เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ เป็นต้น กำหนดให้สอบสวนและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตาม ป.วิ.อ. หรือ กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงแล้วแต่กรณี โดยศาลอาจกำหนดมาตรการลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้เพิ่มเติม แก่ผู้กระทำความผิดได้

    ทั้งนี้ คดีจราจรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับใบนัดให้ศาลภายใน 3 วันนับแต่วันที่ออกใบนัด แต่หากผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับ ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในวันที่มาศาล หากจำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ แต่ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ หรือ ให้การปฏิเสธ ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอให้ศาลพิพากษาคดีทันที ถ้าไม่เพียงพอให้นัดสืบพยานต่อไป และศาลมีอำนาจใช้มาตรการลงโทษแก่จำเลยซึ่งมีความผิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ได้ เช่น ยึด พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ให้เข้ารับการศึกษาอบรมด้านการจราจร เป็นต้น

    ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชบัญญัติให้สำนักงานคณะกรรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

    เห็นชอบแถลงการณ์ที่ประชุม รมต.เอเปค ด้านสตรี-เศรษฐกิจ

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจประจำปี พ.ศ.2565 (Ministerial APEC Women and Economy Forum (WEF) Statement 2022) และร่างแถลงการณ์ประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี พ.ศ. 2565 (WEF Chair’s Statement 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในรูปแบบ Hybrid วันที่ 7 กันยายน 2565 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

    ร่างแถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับนี้ มีสาระสำคัญในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ 1.ผลักดันความเสมอภาคระหว่างเพศ การเสริมพลังสตรี และระบบเศรษฐกิจที่มีความครอบคลุม ยั่งยืน 2.ผลักดันการฟื้นฟูอย่างครอบคลุมสมดุล และเท่าเทียมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 3.เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการเร่งดำเนินการตามแผนลาเซเรนาเพื่อสตรี และการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม 4.ให้ความสำคัญกับปัญหาอุปสรรคที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมของสตรีในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 5.มุ่งมั่นในการป้องกันและขจัดความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ 6.เสริมพลังทางเศรษฐกิจของสตรีผ่านระบบเศรษฐกิจ BCG และ 7.ให้ความสำคัญกับมาตรการ ในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น

    พร้อมกันนี้ ครม. เห็นชอบรับรองเอกสารชุดเครื่องมือการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสตรีวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ในระดับชาติ (Strengthening Women’s Entrepreneurship in National MSME Policies and Action Plans Toolkit for Policymakers) ซึ่งจะมีการรับรองเอกสารดังกล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ระหว่างวันที่ 5 – 11 กันยายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต เอกสารชุดเครื่องมือนี้ ประกอบด้วยชุดเครื่องมือการประเมินตนเอง (Self-assessment Tool) เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้ประเมินก่อนการดำเนินงานว่าปัจจัยด้านความเท่าเทียมทางเพศได้ถูกรวบรวมไว้ในนโยบายหลักของการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ MSME หรือไม่ เพื่อนำไปใช้กำหนดนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยมีเนื้อหารวม 5 บท ได้แก่

    บทที่ 1 เกี่ยวกับกรอบดำเนินงานของชุดเครื่องมือกำหนดนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มพลังทางเศรษฐกิจของสตรี

    บทที่ 2 กล่าวถึงการวางบริบทผู้ประกอบการสตรีในภูมิภาคอาเซียน โดยเน้นจุดยืนของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Member States – AMS) เป็นพิเศษ ซึ่งครอบคลุมมิติทางกฎหมาย เศรษฐกิจ และความท้าทายที่สตรีต้องเผชิญ

    บทที่ 3 กล่าวถึงภาพรวมโดยสังเขป เกี่ยวกับนโยบายและโครงสร้าง MSME ในแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเชียน ซึ่งวิเคราะห์นโยบายและกฎหมาย ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้ประกอบการสตรี และความท้าทายที่ผู้ประกอบการสตรีต้องเผชิญ

    บทที่ 4 นำเสนอองค์ประกอบที่สำคัญของนโยบายที่ริเริ่มการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสตรี เป็นการยกตัวอย่างและกรณีศึกษาที่สะท้อนประสบการณ์ด้านนโยบายระดับโลกและระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการของสตรี

    บทที่ 5 นำเสนอกรอบการประเมินตนเอง และเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อ ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ MSME เข้าใจระบบนิเวศของผู้ประกอบการสตรีในประเทศของตนเองได้ดีขึ้น โดยมีการจัดทำบัตรคะแนน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพื้นฐาน และมีกลไกในการติดตามความคืบหน้าในอนาคต

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้ เป็นการยืนยันว่าประเทศสมาชิกเอเปคตั้งเป้าส่งเสริมสตรีให้มีบทบาททางเศรษกิจฐมากขึ้น โดยร่วมกันกำหนดแนวทางที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

    ไฟเขียวโรงเลื่อยรับซื้อไม้ชาวสวนนำมาแปรรูปได้

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. ทบทวนมติเดิมเมื่อ 25 มกราคม 2537 ที่กำหนดให้โรงงานแปรรูปไม้ (โรงเลื่อย) เพื่อผลิตไม้แปรรูป หรือ ชิ้นไม้สับ รับแปรรูปเฉพาะไม้ที่ปลูกขึ้น 13 ชนิด ซึ่งเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ คือ ยูคาลิปตัส สะเดาเทียม สนทะเล สนประดิพัทธ์ กระถินณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ มะพร้าว มะขาม มะไฟบ้าน มะปรางบ้าน จามจุรี และไม้ตาล ซึ่งมติ ครม. ในครั้งนี้ เห็นชอบให้เพิ่มไม้ผลทุกชนิดเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานแปรรูปไม้ได้ ซึ่งไม้ผลเหล่านี้ต้องปลูกในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรอง การทำประโยชน์ แบบแจ้ง การครอบครองที่ดิน เป็นต้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เงื่อนไขในการอนุญาตและมาตรการตรวจสอบควบคุม ต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้กำหนด

    ความจำเป็นที่เพิ่มไม้ผลเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานแปรรูปไม้ในครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรไทยทำสวนผลไม้เพิ่มมากขึ้น โดยในแต่ละปีจะต้องมีการตัดแต่งกิ่ง หรือ ตัดต้นไม้ที่มีอายุมากเป็นประจำ ซึ่งต้นไม้และเศษไม้เหล่านี้ สามารถนำมาผลิตเป็นไม้แปรรูป หรือ ชิ้นไม้สับได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากขายไม้อีกด้วย

    จ่ายค่าทำศพผู้สูงอายุ 9.3 หมื่นคน 279 ล้าน

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลางปี 2565 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 279.38 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสนับสนุนค่าจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณีรายละ 3,000 บาท ที่ค้างจ่ายในงบประมาณปี 2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – พฤษภาคม 2565 จำนวนทั้งสิ้น 93,127 ราย ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    สำหรับคุณสมบัติผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิเงินค่าจัดการศพตามประเพณี รายละ 3,000 บาท มีดังนี้ 1)ผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจะต้องมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สัญชาติไทย 2)ผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือผู้สูงอายุมีคุณสมบัติตามเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ยังไม่มีบัตรสวัสดิการฯ หรือยังไม่ได้ลงทะเบียน ต้องให้ผู้อำนายการเขต หรือนายอำเภอ หรือกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือนายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนตาบล หรือนายกเมืองพัทยา หรือประธานชุมชน เป็นผู้ออกหนังสือรับรองตามแบบที่อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุกำหนด 3) ผู้สูงอายุที่อยู่ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สถานสงเคราะห์ สถานดูแล สถานคุ้มครอง หรือสถานใดๆ ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการลักษณะเดียวกัน ซึ่งจัดการศพตามประเพณี โดยมูลนิธิ สมาคม วัด มัสยิด โบสถ์

    ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า ขั้นตอนการยื่นคำขอรับเงินค่าจัดการศพผู้สูงอายุที่เข้าเกณฑ์ สามารถยื่นคำขอในท้องที่ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือภูมิลำเนาที่เสียชีวิต หากเป็นพื้นที่ กทม. ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานเขต ส่วนจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตาบล หรือศาลาว่าการเมืองพัทยา โดยต้องยื่นคำขอภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกใบมรณบัตรพร้อมเอกสารประกอบการยื่นคำขอเงินค่าจัดการศพ ดังนี้ 1) ใบมรณบัตรของผู้สูงอายุ 2) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้สูงอายุ 3) บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ กรณีการจัดการศพตามประเพณีโดยมูลนิธิ สมาคม วัด มัสยิด โบสถ์ ให้แนบหนังสือแสดงการจดทะเบียนหรืออนุญาตให้สร้าง จัดตั้ง หรือดำเนินงานมูลนิธิ สมาคม วัด มัสยิด โบสถ์ด้วย 4) สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ยื่นคำขอ 5) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ Krungthai Corporate Online 6)แบบคำขอรับเงินสงเคราะห์ และรับรองผู้รับผิดชอบในการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี (ศผส.01) หรือ (ศผส.02) แล้วแต่กรณี

    ปลดล็อกพื้นที่ป่าชายเลน 13 จว.สร้างบ้านชุมชนได้

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอขอให้ยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน เพื่อนำที่ดินไปจัดเพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลนตามนโยบายของรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในพื้นที่ 13 จังหวัดชายฝั่งทะเล ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จันทบุรี ชลบุรี ชุมพร ตราด นครศรีธรรมราช ประจวบศิรีขันธ์ พังงา ภูเก็ต ระนอง ระยอง สตูล และสุราษฎร์ธานี จำนวน 64 พื้นที่ เนื้อที่รวม 573,378 ไร่ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมีมติรับทราบแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายในการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลนทดแทน ไม่น้อยกว่า 20 เท่า ของพื้นที่ป่าชายเลนที่ใช้ประโยชน์ กระทรวงทรัพยากรฯ จะดำเนินการตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อม กรณีการดำเนินการโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนต่อไป

    ทั้งนี้ ในการพิจารณาพื้นที่ป่าชายเลนได้ดำเนินการสำรวจเป็นรายแปลง จำแนกพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพป่าชายเลนในปัจจุบัน เช่น พื้นที่ป่าชายเลนที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมแก่การอนุรักษ์ และพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมสามารถนำไปจัดที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ได้ มีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศตามธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการกำหนดมาตรการในการควบคุมดูแลไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มเติมอีก

    ทุ่ม 60 ล้าน พัฒนาเมืองเก่าสงขลา

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรมเมืองเก่าสงขลา (Culture Smart City: Songkhla Old Town) ในนามรัฐบาล วงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2570 จำนวน 60 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีนโยบายที่จะผลักดันและส่งเสริมงานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม (Culture Smart City) เนื่องจากบริเวณเมืองเก่าและบริบทโดยรวมของเมืองสงขลา มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน ทั้งสถาปัตยกรรม ถนน อาคารบ้านเรือนทางประวัติศาสตร์ และคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ยังคงมีกลิ่นอายของชุมชนที่ยังเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ย่านการค้าสมัยโบราณที่มีอายุมากกว่า 200 ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสินทรัพย์ทางกายภาพและเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ นับเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาเมืองสงขลาให้เป็นเมืองต้นแบบด้านวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเมืองและชุมชนในอนาคตได้

    ซึ่งที่ผ่านมากรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ จ.สงขลา จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การเปิดตลาดนัดศิลปวัฒนธรรม การจัดงานศิลป์สุวรรณภูมิ เป็นต้นและส่งผลให้จังหวัดสงขลามีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ จ.สงขลาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นการให้งบประมาณเพื่อผลักดันเมืองต้นแบบนี้ จึงคุ้มค่าและต่อยอดได้อีกหลายมิติ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ จะมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น ตามรอยประวัติศาสตร์ศิลป์สุวรรณภูมิสงขลาเมืองเก่า สู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม, การจัดงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ เชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่น New Gen Connected Art and Culture Festival ,กิจกรรมส่งเสริม Soft Power ในระดับนานาชาติ ณ Songkhla Pavilion นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ,การพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ Treasure Thailand รูปแบบของการให้บริการออนไลน์สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศด้วย

    โดยมีความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นของการบูรณาการ่วมมือการผลักดันประเด็น Soft Power และการติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ

    นางสาวทิพานัน กล่าวอีกว่า ครม. ได้เสนอแนะให้กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำขั้นตอนกระบวนการในการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการที่ชัดเจน รวมถึงแนวทางในการพัฒนาและต่อยอดไปสู่จังหวัดอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนประกอบกับในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่มีพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพและสามารถพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบได้ดังนั้น จึงเห็นควรให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลที่สำคัญและมีความโดดเด่นของแต่ละจังหวัดทั้งในมิติเชิงวัฒนธรรมเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงบริบทแวดล้อมที่สำคัญอื่น เพื่อนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลและหาแนวทางในการส่งเสริมและผลักดันพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพให้เป็นเมืองต้นแบบของแต่ละภาคต่อไป

    และเห็นควรให้กระทรวงวัฒนธรรม หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ,สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันเดิมของกระทรวงวัฒนธรรม หรือแอปพลิเคชันของหน่วยงานอื่นที่มีการให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เช่น TAGTHAI (ทักทาย) และ แอปฯเที่ยวเท่ๆ เสน่ห์เมืองไทย เพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้งานครอบคลุมในทุกมิติและลดภาระงบประมาณในการจัดทำแอปพลิเคชันใหม่ต่อไป

    เพิ่ม “นกชนหิน” เป็นสัตว์สงวนลำดับ 20

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่นกชนหิน (Rhinoplex Vigil) โดยจะเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เนื่องจากนกชนหินเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด ปัจจุบันมีนกชนหินในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมาก ประมาณไม่เกิน 100 ตัว และมีปัจจัยคุกคามสูง เนื่องจากนกชนหินมีโหนกที่ตันและสวยงามเหมือนลักษณะของงาช้าง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่า ส่งผลให้เกิดการลักลอบล่านกชนหินอย่างมาก จนกระทั่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 410 แล้วก็ตาม จึงต้องยกระดับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าสงวน

    ทั้งนี้ นอกจากเป็นการยกระดับการคุ้มครองทางกฎหมายที่เข้มงวดแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในระดับนานาชาติ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(CITES) ซึ่งมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กำหนดให้ประเทศสมาชิก ต้องมีมาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างเหมาะสม โดยนกชนหิน เป็นนกเงือก 1ใน 13 ชนิดของไทย มีการกระจายเฉพาะตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงจังหวัดนราธิวาส พบเป็นกลุ่มขนาดเล็กในป่าดิบชื้นระดับต่ำ โดยมีกลุ่มประชากรหลักอยู่ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้บัญญัติให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หากเห็นว่าสัตว์ป่าชนิดใดสมควรกำหนดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในท้ายพระราชบัญญัติ สามารถตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ ซึ่งสัตว์ป่าสงวนท้ายพระราชบัญญัตินี้ ปัจจุบันมี 4 จำพวก 19 ชนิด ดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ กระซู่ กวางผา กูปรีหรือโคไพร เก้งหม้อ ควายป่า พะยูนหรือหมูน้ำ แมวลายหินอ่อน แรด ละองหรือละมั่ง เลียงผา วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ สมเสร็จ และสมัน สัตว์ป่าจำพวกนก ได้แก่ นกกระเรียน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกแต้วแล้วท้องดำ สัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่เต่ามะเฟือง และสัตว์ป่าจำพวกปลา ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ

    จัดงบฯ 5 ล้านเหรียญ อุดหนุน “องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย”

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบงบประมาณจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแผนการดำเนินงานประจำปี 2566 ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย โดยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เกิดขึ้นจากบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วม เพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของทั้งสองประเทศในอ่าวไทย โดยเฉพาะปิโตรเลียมในพื้นที่ดินใต้ทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนล่างที่ไทยและมาเลเซียอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งเรียกว่า พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีผลใช้บังคับระหว่างกันเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2522

    สำหรับงบประมาณปี 2566 ที่องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย เสนอขอครั้งนี้จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการจัดทำรายละเอียดคำขอขึ้นตามพื้นฐานกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรร่วมฯ ในสถานการณ์ปกติ ซึ่งสูงกว่างบประมาณปี 2565 ที่ได้รับอนุมัติภายใต้สภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ร้อยละ 22 ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 4,836,100 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน 163,900 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่มาของงบประมาณนั้น องค์กรร่วมฯ ได้เสนอขอใช้เงินที่ได้รับจากการขายปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 จำนวน 4,271,916 ดอลลาร์สหรัฐ และงบประมาณเหลือจ่ายของปี 2564 จำนวน 728,084 ดอลลาร์สหรัฐ และได้ประมาณการรายได้รวมขององค์กรร่วมฯในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่จำนวน 667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยค่าภาคหลวง 181 ล้านดอลลาร์สหรัฐและปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรจำนวน 486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ค่าใช้จ่ายบุคลากร ประกอบด้วย เงินเดือนพนักงาน ค่าเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2, ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะกรรมการองค์กรร่วมฯและเจ้าหน้าที่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50, ค่าเช่า เช่น พื้นที่สำนักงาน อุปกรณ์สำนักงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 , ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5, ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.2 และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,539 ส่วนค่าใช้จ่ายที่ลดลง คือ ค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซม เช่น ค่าบำรุงรักษาสำนักงาน ยานพาหนะ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสำนักงานลดลงร้อยละ 12

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า แผนการดำเนินงานขององค์กรร่วมฯในปี 2566 ที่สำคัญเช่น เจาะหลุมประเมินผลจำนวน 1 หลุมในแหล่ง Senja , เจาะหลุมปิโตรเลียมในแหล่ง Bumi Deep Phrase 1 and 2 จำนวน 7 หลุม,รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุด(CDC) ในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุต และประสานงานกับบริษัท ทรานส์ไทย –มาเลเซีย(TTM) เพื่อให้การผลิตก๊าซเป็นไปตามสัญญา เป็นต้น

    ปูนบำเหน็จ จนท.ปราบยาเสพติด 12,309 อัตรา

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ 2565 ในอัตราไม่เกิน 12,309 อัตรา ซึ่งจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนเงินเดือนปกติในแต่ละครึ่งปีอัตราร้อยละ 1 ของฐานในการคำนวณ แต่เมื่อรวมกับการเลื่อนเงินเดือนปกติจะต้องเกินร้อยละ 6 ของฐานการคำนวณ โดยแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ดังนี้คือ ให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ 2565 ระดับดีเด่น แบ่งเป็น ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง 343,968 อัตรา ปรับเพิ่มไม่เกินร้อยละ 2.5 หรือจะมีจำนวนผู้ที่ได้รับบำเหน็จความชอบไม่เกิน 8,599 อัตรา และผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีจำนวน 247,327 อัตรา ปรับเพิ่มไม่เกินร้อยละ 1.5 หรือไม่เกิน 3,710 อัตรา

    สำหรับงบประมาณที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายครั้งนี้ ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการต้นสังกัดเป็นลำดับแรกก่อน หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการเป็นลำดับต่อไป โดยได้มีการประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดสรรบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษดังกล่าว ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 80.87 ล้านบาท หรือประมาณรายละ 6,570 บาทต่อปี

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ได้มีการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหายาเสพติดในสังคม เช่น มาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับประเทศสมาชิกภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ โดยสามารถจับกุมคดียาเสพติดได้ทั้งสิ้น 957 คดี จำนวนผู้ต้องหา 1,617 คน , มาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย โดยปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดเพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าสู่ตอนในของไทยหรือใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งสามารถสกัดกั้นยาบ้าได้ทั้งสิ้น 43.85 ล้านเม็ด ไอซ์ 2,013.69 กิโลกรัม รวมทั้งดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินคดียาเสพติดได้ทั้งสิ้น 9,215 ล้านบาท

    เห็นชอบ กกท.เช่าที่ รฟม.สร้างสนามกีฬาเด็ก-เยาวชน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อนุญาตให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เช่าพื้นที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงห้วยขวางของ รฟม. เพื่อก่อสร้างอาคารและสนามฝึกซ้อมกีฬาสำหรับเด็กและเยาวชน

    ทั้งนี้ การขอเช่าพื้นที่ของ รฟม. ในครั้งนี้ เนื่องมาจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย กกท. ได้รับอนุมัติงบประมาณปี 2565 ให้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารและสนามกีฬาฝึกซ้อมกีฬาสำหรับเด็กและเยาวชนวงเงิน 33.5 ล้านบาท จึงได้ขอเช่าพื้นที่ของ รฟม.เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้ง รฟม. และ กกท. ได้หารือร่วมกันได้ข้อตกลงที่จะให้เช่าพื้นที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงห้วยขวาง ของ รฟม. บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1951 เลขที่ 41 ตำบลห้วยขวาง อำเภอห้วยขวาง กรุงเทพฯ ขนาดเนื้อที่ 1,867.29 ตร.ม. หรือ 466.82 ตารางวา ค่าตอบแทนการใช้พื้นที่เป็นจำนวนเงิน 124,290.83 บาทต่อเดือน(ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยให้ กกท. รับผิดชอบในการชำระค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และ ให้ รฟม. เตรียมแผนการกำกับดูแลการใช้พื้นที่เพื่อไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยของเขตระบบไฟฟ้าของ รฟม.

    ทั้งนี้ การให้เช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการฯ ข้างต้นไม่มีกำหนดระยะเวลาการให้เช่า แต่ รฟม. มีข้อสงวนว่าในกรณีที่ รฟม. ต้องการใช้พื้นที่เพื่อขยายระบบการให้บริการของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อันเป็นวัตถุประสงค์หลักในการเวนคืนของ รฟม. แล้ว กกท. ต้องยินยอมคืนพื้นที่ให้แก่ รฟม. ภายในระยะเวลาที่กำหนด

    ตั้ง “อารัญ บุญชัย” ขึ้นปลัดท่องเที่ยว

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานของรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านออกแบบทาง) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและออกแบบ) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวงชนบท ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2565

      2. นายอภิชัย ธีระรังสิกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิศวกรรมโยธา) ระดับสูง] สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 13 กรมทางหลวงชนบท ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวงชนบท ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2565

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง นางสมศรี หอกันยา ผู้อำนวยการศูนย์ [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการคอมพิวเตอร์) ระดับสูง] ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กลุ่มที่ปรึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้ง นายอารัญ บุญชัย รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    4. การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอรับโอน นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งเกษียณอายุราชการ โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอนแล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายวรณัฐ คงเมือง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    6. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง จำนวน 5 ราย ดังนี้

      1. นายทศพล เพ็งส้ม
      2. นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา
      3. นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ
      4. นายอภิวัฒน์ ขันทอง
      5. นายชื่นชอบ คงอุดม

    7. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้

      1. ศาสตราจารย์ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ประธานกรรมการ
      2. นายสุริยะ วงศ์คงคาเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ)
      3. รองศาสตราจารย์ชยันต์ ตันติวัสดาการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการเงิน)
      4. รองศาสตราจารย์ชโยดม สรรพศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการเงิน)
      5. รองศาสตราจารย์พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการประเมินผล)
      6. รองศาสตราจารย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการประเมินผล)
      7. นางสาวสุพัตรา ศรีวณิชชากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ)

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

    8. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช จำนวน 12 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ดังนี้

      1. นายคงรัฐ ก้อนทอง ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคเหนือ
      2. นายณรงค์ศักดิ์ กิจบำรุง ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคกลาง
      3. นายบุญถม วงศรีเทพ ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
      4. นายไพริน นพกัณฑ์ ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคตะวันออก
      5. นายณรงค์ มาลัยทอง ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคตะวันตก
      6. นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ผู้แทนเกษตรกรภูมิภาคใต้
      7. นางสาวจรีรัตน์ ฉันทวุฒิพร ผู้แทนนักวิชาการด้านปรับปรุงพันธุ์พืช
      8. นางสาววิมล พรหมทา ผู้แทนนักวิชาการด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
      9. นางกนกพร ดิษฐกระจันทร์ ผู้แทนองค์การพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตร
      10. นายกฤษฎา บุญชัย ผู้แทนองค์การพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
      11. รองศาสตราจารย์สุรวิช วรรณไกรโรจน์ ผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช
      12. นางฐะปานี อาตมางกูร ผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พืช

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

    9. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว โดยแต่งตั้งบุคคล จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. พลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ ปิงเมือง
      2. นายวรวิทย์ สุขบุญ
      3. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์
      4. นายจตุพร บุรุษพัฒน์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 6 กันยายน 2565 เพิ่มเติม