ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เล็งเปลี่ยน ‘เรือดำน้ำจีน’ เป็น ‘เรือเหนือน้ำ’-มติ ครม.สร้างรถไฟทางคู่ ‘ขอนแก่น-หนองคาย’ 29,748 ล้าน

นายกฯ เล็งเปลี่ยน ‘เรือดำน้ำจีน’ เป็น ‘เรือเหนือน้ำ’-มติ ครม.สร้างรถไฟทางคู่ ‘ขอนแก่น-หนองคาย’ 29,748 ล้าน

16 ตุลาคม 2023


เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ เล็งเปลี่ยน ‘เรือดำน้ำจีน’ เป็น ‘เรือเหนือน้ำ’
  • ขยายฟรีวีซ่ารัสเซียเป็น 90 วัน
  • รอข้อมูล ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ครบ แถลงครั้งเดียวจบ
  • สั่งส่วนราชการซื้อรถ EV ทดแทนรถยนต์เก่าหมดอายุ
  • มติ ครม.อนุมัติ รฟท.สร้างรถไฟทางคู่ ‘ขอนแก่น – หนองคาย’ 29,748 ล้าน ใน 5 ปี
  • สั่งพลังงานลดราคาเบนซินช่วยคนทุกกลุ่ม
  • ‘พีระพันธ์’ แจง กกต.จี้ตั้งผู้ว่า กฟผ.ชง ครม.เห็นชอบ
  • เร่งศึกษา‘แลนด์บริดจ์’ ให้เสร็จใน เม.ย.ปี’67
  • เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายภูมิธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและมติ ครม.

    มอบ ‘สุริยะ’ แจงรถไฟฟ้า 20 บาททุกเส้นทาง

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่รัฐบาลทำได้เร็วกว่าที่คาดคิดไว้ โดยนายเศรษฐา ตอบว่า ทำได้เร็วหรือไม่ แล้วแต่คนมอง แต่ถ้ามองว่าเร็ว ตนก็ดีใจ ถึงแม้จะทำไม่ได้ทุกสาย 20 บาท แต่สายที่ทำได้ ก็จะทำก่อน เพราะประชาชนได้ประโยชน์

    บางคนอาจคาดหวังว่า ต้องทำทั้งหมดทุกอย่างในเวลาเดียวกัน วันนี้ทำได้แค่นี้ก็ทำก่อน ประกาศก่อน พี่น้องได้ใช้ก่อนในอัตราที่เหมาะสม” นายเศรษฐา กล่าว

    เมื่อถามถึงแผน 20 บาทตลอดสายของสายอื่นๆ นอกจากสายสีแดงและสายสีม่วง นายเศรษฐา บอกว่า “กำลังดูอยู่ครับ เดี๋ยวให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นคนแถลง”

    รอข้อมูล ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ครบ แถลงครั้งเดียวจบ

    เมื่อถามเรื่องเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมานายกฯ บอกให้ประชาชนสนับสนุนส่งเสียง ขณะเดียวกันบางฝ่ายก็มองว่าแบ่งแยกประชาชน แต่ยังไม่ทันจะถามจบ นายเศรษฐา พูดทันทีว่า “ไม่ได้เป็นการแบ่งแยก เป็นการขอให้รับฟังเสียง ผมก็อยากรับฟังเสียงเหมือนกัน บางคนบอกว่าระยะทาง 4 กิโลเมตร อย่าว่าแต่ 4 เลย 5 กิโลเมตร มองไปก็แทบจะไม่มีร้านค้า ผมก็อยากให้แสดงความคิดเห็นด้วยเหมือนกัน ใช้เงินดิจิทัลข้ามพื้นที่ได้ไหม หรือ ในเวลา 6 เดือน ผมก็อยากได้ยินจริงๆ”

    ถามต่อว่า มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่ามีงบประมาณของรัฐบาล 4.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมาใช้ในโครงการนี้ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ใช่ 4.8 ล้านล้าน ผมขอแถลงหนเดียวดีกว่า และอธิบายครั้งเดียวให้จบ”

    ถามต่อว่า ฝ่ายค้านท้วงติงประเด็นเงิน 10,000 บาท นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็ฟังครับ ฟังตลอดทุกเรื่องครับ ทุกขั้นตอน มีคณะทำงาน คณะอนุกรรมการอยู่ ก็ไม่อยากจะพูดอะไรถ้ายังไม่เรียบร้อย”

    เผยเจรจาผู้นำต่างประเทศต้องใช้คอนเนคชั่น

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการไปเยือนประเทศจีนและซาอุดิอาระเบียของนายกรัฐมนตรี โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “มีผู้นำหลายท่านไป ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว อย่างที่ทราบว่ามันอาศัยการทูต ทั้งทางการและไม่เป็นทางการ ได้พบกับผู้นำหลายประเทศ ก็จะมีการพูดคุยในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศทุกคนให้ความสำคัญ และเป็นห่วงเป็นใยจริง ๆ อยากให้ทุกอย่างจบได้ด้วยดี นอกจากนี้เป็นเรื่องการค้าอะไรหลายอย่าง ตารางแน่นเอียด”

    สั่งทบทวนมาตรการอุ้มเบนซิน คาดสัปดาห์หน้าสรุป

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุม ครม. กระทรวงพลังงานได้รายงานการแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ. ที่ล่าช้าอย่างไร โดยนายเศรษฐา ตอบว่า วันนี้กระทรวงพลังงานไม่ได้เสนอแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ. แต่มีการรายงานเรื่องน้ำมันเบนซิน

    “ผมสั่งการไปว่าให้ รมว. ไปดูเรื่องการเยียวยา หรือ ช่วยเหลือภาคส่วนที่เปราะบาง โดยกระทรวงเสนอมา 2 แนวทาง ยังไม่ค่อยโดนเท่าไร เลยให้เสนอแนวทางที่ 3 มา ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์กับประชาชนจริงๆ คาดว่าอาทิตย์หน้าจะได้ข้อสรุป” นายเศรษฐา กล่าว

    ขยายฟรีวีซ่ารัสเซียเป็น 90 วัน

    เมื่อถามเรื่องวีซ่ารัสเซีย นายเศรษฐา กล่าวว่า “เป็นโครงการที่เราจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เพิ่มจาก 30 วัน เป็น 90 วัน ที่รัสเซียเราทราบกันดีว่าระยะเวลาของหน้าหนาวยาวนานมาก แต่เข้ามาประเทศไทยได้แค่เดือนเดียว เราก็อยากให้เขาอยู่นานๆ เป็นเรื่องที่ดี และผมนำไปพูดคุยกับท่านปูตินฯ (วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย) เป็นการแสดงท่าทีที่เป็นมิตรระหว่างประเทศ จะได้ไปเจรจาหลายเรื่องได้ดีขึ้น”

    เตรียมเจรจาอิสราเอลช่วยเหลือคนไทย

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอิสราเอล โดยยกตัวอย่างประเทศเกาหลีที่บินตรงได้ แต่ไทยบินตรงไม่ได้ ทำให้นายเศรษฐา ตอบสั้นๆ ว่า “คิดว่าควรต้องคุย คงเจรจากันหลายเรื่อง”

    นอกจากนี้ นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าเข้ามา

    เล็งเปลี่ยน ‘เรือดำน้ำจีน’ เป็น ‘เรือเหนือน้ำ’

    เมื่อถามประเด็นเรือดำน้ำจากจีน นายเศรษฐา ตอบว่า “จะหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นปัญหาคาราคาซังมานาน อยากให้ซื้อมาแล้วใช้ได้ หรือ ถ้าไม่เป็นเรือดำน้ำ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทนหรือเปล่า เป็นเรือเหนือน้ำ หรือเปล่า แต่ต้องตอบโจทย์กองทัพเรือด้วย ต้องเสริมศักยภาพทางด้านการทะเลของกองทัพเรือด้วย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องพูดคุยกัน หวังว่าจะหาข้อสรุปได้”

    ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูงจากจีน นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่แน่ใจว่าจะมีการประกาศได้หรือเปล่า แต่จะมีการพูดคุยในรายละเอียด โลจิสติกส์เป็นเรื่องสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ เมื่อกี้ผมได้เกริ่นเรื่องแลนบริดจ์ เพราะรถไฟความเร็วสูงไม่ใช่ทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของทางออก เราต้องมีทางออกเรื่องโลจิสติกส์ทั้งหมด”

    สั่ง สตช.-ดีอีเอส ลุยปราบโกงออนไลน์

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า ปัจจุบันมีคดีออนไลน์ที่ตำรวจรับแจ้งความ 330,000 คดี มูลค่าความเสียหายราว 4.5 หมื่นล้านบาท และมีการจับกุมผู้กระทำผิดได้น้อย ดังนั้น นายกฯ จึงสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลฯ เร่งดำเนินการเชิงรุกจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ และหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง

    เร่งปราบยาบ้า ครอบครองเกิน 10 เม็ด ถือเป็นผู้ค้า

    นายคารม กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนและนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะยาบ้า ได้กำหนดจำนวนและปริมาณที่ถือเป็นผู้เสพคือจำนวนไม่เกิน 10 เม็ด ถ้าเกินกว่านั้นเป็นผู้ค้า แต่ถ้ามี 10 เม็ด แต่มีการค้าด้วย นับเป็นการค้าไม่ใช่ผู้ป่วย

    “นายกฯ ให้เร่งใช้วิธีชุมชนบำบัด และมีการดำเนินการโดยกำหนด KPI ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้ ปปส. เป็นเจ้าภาพในการวางแผนและประสาน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยนายกฯ ให้พลตำรวจเอกชินภัทร สารสิน ที่ปรึกษานายกฯ มาช่วยดูแลในภาพรวม” นายคารม กล่าว

    ชู ‘หน่วยงานรัฐ’ เป็นต้นแบบจัดการขยะ

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องการจัดการขยะ โดยนายกฯ มองว่า ปัญหาขยะเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่วันนี้ให้เกิดความยั่งยืน โดยหน่วยงานรัฐต้องเป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการขยะ และต้องทำพร้อมกันทั้งระบบ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

    นางรัดเกล้า อธิบายว่า ต้นทางคือทุกหน่วยงานต้องลดปริมาณขยะให้ได้มากที่สุด (reduce) และเน้นการนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) และใช้ซ้ำ (recycle) ส่วนกลางทางคือ ทุกหน่วยงานส่งเสริมให้เกิดการแยกขยะ เพื่อให้ง่ายต่อการกำจัด และปลายทาง หน่วยงานท้องถิ่นจัดหาพื้นที่กำจัดขยะตามหลักวิชาการ และเร่งกำจัดขยะตกค้าง

    สั่งส่วนราชการซื้อรถ EV ทดแทนรถยนต์เก่าหมดอายุ

    นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้พูดถึงมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการใช้ และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องให้ได้ 30% ภายในปี 2030 โดยสั่งการเพิ่มเติม ขอให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่หมดอายุ รวมถึงการจัดซื้อหรือเช่ารถเมล์อีวี

    นางรัดเกล้า รายงานว่า นายกฯ สั่งการให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงการคลัง กำหนดมาตรการส่งเสริมรถยนต์สาธารณะทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่หรือสามล้อ ให้เปลี่ยนเป็นรถอีวี รวมถึงส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ การสร้างโครงข่ายสถานีชาร์จต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

    “ในครม. มีข้อสังเกตเรื่องผลกระทบของมาตรการผลักดันที่อาจกระทบกลุ่มตลาดรถมือสอง ครม. รับทราบและมีแนวทางพิจารณา” นางรัดเกล้า กล่าว

    ตั้ง‘พัชรวาท’ ประธาน คกก.แก้ PM 2.5

    นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้สั่งการแต่งตั้งคณะกรรมการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน และมอบหมายให้พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะกรรมการ และให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกฯ เป็นรองประธานคณะกรรมการ เพื่อดำเนินนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาเผาป่าและเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 และให้การแก้ปัญหาเกิดความมือกับทุกฝ่ายทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เคาะรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำร่อง ‘สีแดง-ม่วง’ มีผลวันนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีอนุมัติ มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต) ของการไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อแนะนำว่า ให้กระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาตั๋วร่วมให้เกิดผลกับประชาชนให้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบส่งสาธารณะ

    นอกจากนี้ยังให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทาง และการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

    ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท (นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย) ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงกับพี่น้องประชาชน ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานให้ทำงานอย่างเร็วที่สุดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

    ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม จึงประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือ ปรับลดจากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน เริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลืออัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเฉพาะของแต่ละสาย ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ (16 ตุลาคม 2566) เป็นต้นไป โดยมี 2 โครงการนำร่อง คือ 1.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 16 สถานี และ 2.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายธานีรัถยา) ระยะทาง 26 กม. จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายนครวิถี) ระยะทาง 15 กม. จำนวน 4 สถานี

    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทดลองใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงราคา 20 บาท ตลอดสาย

    “วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของรัฐบาล ซึ่งตนและผู้บริหารกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เดินทางมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสถานีต้นสายของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่จะเริ่มประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเฉพาะของแต่ละสายก่อนในวันนี้ จากเดิมเคยประกาศไว้ว่าจะเริ่มใช้นโยบายในช่วงปลายปี 2566 เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน ซึ่งมีภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และมีผลโดยตรงต่อผู้ใช้รถยนต์” นายสุริยะ กล่าว

    ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และเริ่มประกาศใช้ในวันนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้โดยสาร รวมถึงประหยัดเวลา และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางมากขึ้น ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย ตามนโยบาย “Transport Future for All: คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน”

    นายสุริยะ กล่าวต่อว่าในส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง กับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงนั้น กำหนดอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และในเบื้องต้นจะต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน หรือ บัตร EMV Contactless เท่านั้น โดยในระยะแรก หากข้ามระบบยังคงต้องชำระอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายก่อน เนื่องจากในขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบ หรือ ซอฟต์แวร์ คาดว่าจะเปิดให้บริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 ต่อไป

    ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ให้ครอบคลุมโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในทุกเส้นทาง ตามเป้าหมายภายใน 2 ปีนับจากนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานี อาทิ ลิฟท์ บันไดเลื่อน ให้มีความปลอดภัย

  • ครม.เคาะรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำร่อง ‘สีแดง-ม่วง’ มีผลวันนี้
  • เร่งศึกษา‘แลนด์บริดจ์’ ให้เสร็จใน เม.ย.ปี’67

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเป็นวาระจร โดยนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม สั่งให้เดินหน้าศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) โดยเร็วเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกระทรวงคมนาคมจะขอเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2567

    ส่วนข้อห่วงใย พบว่าที่ผ่านมาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเคยท้วงติงปัญหาการก่อสร้างที่ผลจะกระทบกับป่าธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบอีกครั้ง

    สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ คือ โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model)

    โดยใช้งบลงทุนพัฒนาได้ตามเป้าหมายจะเป็นอภิมหาเมกะโปรเจกต์ของประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากจะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้แนวคิด” One Port Two Side” และการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์

    โดยในวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์)ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

      1. รับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์)
      2. ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP)

    สรุปรายละเอียดของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มีสาระสำคัญและข้อเท็จจริงดังนี้

    1.เหตุผลความจำเป็น ด้วยประเทศไทยตั้งอยู่บนศูนย์กลางของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีชายฝั่งทะเลติดกับมหาสมุทร 2 ด้าน คือ ฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ฝั่งอันดามันด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรอินเดีย ประเทศไทยจึงมีความได้เปรียบทางที่ตั้งและภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะทางกายภาพสามารถเปิดสู่ทะเลทั้งสองด้าน และมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ

      1.1) ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาครวมถึงประเทศจีนตอนใต้ และเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก
      1.2) ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากตำแหน่งที่ตั้งโครงการแลนด์บริดจ์ โดยจะช่วยลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกาในอนาคต มีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น
      1.3) ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์จากการขนส่งสินค้าและน้ำมันในภูมิภาค โดยปัจจุบันการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกา คิดเป็นร้อยละ 16 ของการขนส่งสินค้าของโลก และปริมาณการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกาคิดเป็นร้อยละ 15 – 18 ของการขนส่งน้ำมันทั้งโลก ด้วยปริมาณสินค้าและน้ำมันที่ส่งผ่านช่องแคบมะละกาเป็นจำนวนมากทำให้เป็นโอกาสในการพัฒนาโครงการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและน้ำมันในอนาคต

    จึงเป็นโอกาสที่จะใช้ความได้เปรียบดังกล่าวข้างต้น เพื่อพัฒนาโครงการที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน นอกเหนือจากการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน อันเป็นการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังรองรับและส่งเสริมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญของประเทศ

    ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีท่าเรือระนองที่เป็นประตูการค้าหลักฝั่งอันดามันของประเทศแล้วก็ตาม ยังพบว่าท่าเรือระนองนั้นประสบปัญหาในการดำเนินการ เนื่องจากมีความลึกร่องน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ และตำแหน่งของท่าเรืออยู่บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี มีตะกอนสะสมมาก ทำให้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาร่องน้ำเป็นประจำทุกปี

    ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์การเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ากับมหาสมุทรอินเดียดังกล่าว เพื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการคมนาคมขนส่งของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกลุ่มประเทศทั้งด้านมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ และโครงการแลนด์บริดจ์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ได้กำหนดไว้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิดปรับปัจจุบันเพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) หมุดหมายที่ 5 เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาคในเป้าหมายที่ 1 เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนในภูมิภาค และเป้าหมายที่ 3 เพื่อให้ไทยเป็นประตูและทางเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

    ไฟเขียว อว.เซ็น MOU ด้านการศึกษา วิจัย นวัตกรรม ‘ไทย-ฝรั่งเศส’

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดังนี้

      1. เห็นชอบร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงระหว่าง อว. แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ หรือ ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ อว.หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญา และกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
      2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในร่างแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฯ ระหว่างวันที่ 20 – 22 ตุลาคม 2566 ในช่วงการเยือนประเทศไทยของศาสตราจารย์ซิลวี เรอไตโย รัฐมนตีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

    นายคารม กล่าว่า ร่างแถลงการณ์ ฯดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานของทั้งสองประเทศบนพื้นฐานของความเสมอภาคและประโยชน์ร่วมกัน มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้ ครอบคลุมความร่วมมือ 15 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) เทคโนโลยีชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพ (2) พลังงานหมุนเวียน (3) วิทยาศาสตร์สุขภาพ (4) เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (5) เครื่องสำอางนวัตกรรม (6) การวิจัยแสงชินโครตรอนการประยุกต์ใช้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง (7) เทคโนโลยีอวกาศ การสำรวจระยะไกล ระบบภูมิสารสนเทศและการสอบเทียบ (8) การเกษตร-อาหาร (9) การประเมินวัฏจักรชีวิต (10) นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (11) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (12) พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (13) มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (เช่น โบราณคดี มานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และวรรณคดีทางศาสนา) (14) การนำวิทยาศาสตร์สู่ชุมชนและการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และ (15) สาขาความร่วมมืออื่น ๆ ซึ่งอาจเห็นพ้องในการดำเนินความร่วมมือร่วมกัน และครอบคลุม 5 กิจกรรม ได้แก่ (1) โครงการวิจัยและพัฒนาร่วม (2) การแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย (3) การจัดงานและการเข้าร่วมในกิจกรรมความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือ ด้านวิชาการ การจัดประชุมการฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดแสดงนิทรรศการ และอื่น ๆ (4) การแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศและเอกสารด้านการอุดมศึกษาาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (5) รูปแบบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งอาจเห็นพ้องร่วมกันในขอบข่ายของแถลงการณ์แสดงเจตจำนงฉบับนี้

    สั่งพลังงานลดราคาเบนซินช่วยคนทุกกลุ่ม

    ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้เสนอ 2 แนวทางจัดทำแผนช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน คือ มาตรการช่วยเหลือกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ลดภาระค่าใช้จ่าย และมาตรการที่ 2 คือการขยายจากกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการขนาดเล็กอื่นๆ แต่เห็นว่ายังไม่ใช่มาตรการที่ต้องการ จึงเสนอเพิ่มเป็นแนวทางที่ 3 คือการลดราคาน้ำมันเบนซินทั้งระบบเช่นเดียวกันลดค่าน้ำมันดีเซล

    โดยข้อเสนอดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และที่ประชุม ครม.เห็นด้วยให้ลดน้ำมันเบนซินในภาพรวมทุกระบบ เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ส่วนเป้าหมายจะต้องลดไม่น้อยกว่าดีเซล แต่ก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลังว่า จะสามารถรับภาระได้เท่าไหร่

    เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นจะต้องใช้การลดภาษีสรรพสามิตหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ต้องศึกษาให้ละเอียด หาเป้าหมายนโยบายหลักให้ไปทำงาน ส่วนนโยบายเป็นเรื่องของผู้เกี่ยวข้องจะต้องได้คำตอบภายใน 2 สัปดาห์

    นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    “เรื่องราคาน้ำมันเบนซินมีปัญหาเรื่องโครงสร้างน้ำมัน ผมยังไม่เข้าใจหลังจากที่มาทำงานได้เดือนกว่า คนที่ทำงานมาเป็นปี ยังไม่สามารถให้คำตอบผมได้ แปลกประหลาด ผมต้องศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง หากปรับลดตรงไหน ก็จะดำเนินการ เราพูดบนพื้นฐานบนโครงสร้างน้ำมันที่ใช้มาแล้วเป็นสิบๆปี ต้องหาแนวทางปรับลดราคามากกว่าและยั่งยืนกว่า ถ้าติดขัดเรื่องกฎหมาย ก็ต้องแก้ ไม่ใช่เรื่องยาก” นายพีระพันธุ์ กล่าว

    ส่วนปัญหาเรื่องการลดค่าการตลาด นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการทำการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลที่นำเสนอมาผู้ประกอบการอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า จึงต้องตั้งคณะกรรมการศึกษาจริงจัง นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้คำตอบที่ชัดเจน

    สำหรับ โครงสร้างราคาน้ำมัน ที่มีตั้งแต่ราคาหน้าโรงกลั่น นายพีระพันธ์ กล่าวว่า ที่จริงแล้วค่าการกลั่นคือกำไรเบื้องต้นไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการกลั่นซึ่งอยู่ในงบดำเนินงาน ตนได้บอกกับเจ้าหน้าที่กระทรวงให้เปลี่ยนคำเพราะใช้คำว่าค่าการกลั่นคนทั่วไปก็นึกว่าเป็นค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ มันคือกำไรของโรงกลั่น โดยได้ให้เวลาทำงาน 30-60 วัน เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

    ‘พีระพันธ์’ แจง กกต.จี้ตั้งผู้ว่า กฟผ.ชง ครม.เห็นชอบ

    ส่วนเรื่องสำนักงาน กกต.ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้นำเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เสนอที่ประชุม ครม.ชุดใหม่นั้น นายพีระพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงพลังงาน เอกสารเพิ่งจะมาถึงวันที่ 27 กันยายน 2566 อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีหน้าที่แค่เสนอชื่อเข้าที่ประชุม ครม. ตัดสินว่าจะเอาหรือไม่เอาใคร แต่เมื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบ ก้ต้องส่งเรื่องไปให้ กกต. ให้ความเห็นชอบก่อน แปลว่ามติรัฐมนตรียังมีเงื่อนไข ดังนั้น ต้องส่งเรื่องไปที่ กฟผ. หากยืนยันแล้ว ก็นำเข้า ครม.อีกครั้ง โดยทุกอย่างเป็นไปทำตามขั้นตอน

    อนุมัติ รฟท.สร้างรถไฟทางคู่ ‘ขอนแก่น – หนองคาย’ 29,748 ล้าน คาดเปิดบริการปี’70

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ในวงเงิน 29,748 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดย
    สำนักงบประมาณมีความเห็นดังนี้

    1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ในกรอบวงเงิน 29,748 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2567 – 2571) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – bidding) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถปรับปรุงรายละเอียดด้านงบประมาณค่าก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษา และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภายในกรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรายงานให้คณะรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย

    2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยมีแหล่งเงินในการดำเนินการ ดังนี้

      2.1 สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงินรวม 385 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 369 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดิน จำนวน 9 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการประกวดราคา จำนวน 7 ล้านบาท
      2.2 ให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อจากกระทรวงการคลัง และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม วงเงินรวม 29,363 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าก่อสร้าง จำนวน 28,759 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 604 ล้านบาท ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้การรถไฟแห่งประเทศไทย
      2.3 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอน้ำพอง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น อำเภอโนนสะอาด อำเภอกุมภวาปี อำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย พ.ศ. ….

    โดยโครงการนี้จะเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนาดทาง 1.00 เมตร เพิ่มขึ้นจำนวน 1 ทาง ขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 14 สถานี (ก่อสร้างสถานีใหม่ 6 สถานี ปรับปรุงสถานีเดิม 8 สถานี) โดยได้มีการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ จำนวน 31 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ จำนวน 53 แห่ง พร้อมก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ คาดว่าจะเปิดให้บริการประชาชนในปี 2570 จึงต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ในปี 2566 และเริ่มการก่อสร้างในปี 2567 และคาดว่าปริมาณผู้โดยสารมีจำนวนประมาณ 3,500 คนต่อวัน ในปี 2569 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 5,800 คนต่อวัน ในปี 2599 และมีปริมาณการขนส่งสินค้าโดยใช้เส้นทางรถไฟช่วงนี้จำนวนประมาณ 3.50 ล้านตันต่อปี ในปี 2569 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4.20 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2599

    ‘ภูมิธรรม-ประเสริฐ’รายงานผลการเดินทางเยือนจีน

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน มีรายละเอียดดังนี้

    1. นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เพื่อเข้าร่วมและกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานแสดงสินค้า CAEXPO ครั้งที่ 20 ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2566 และได้เยี่ยมชมงาน CAEXPO ซึ่งมีผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าจำนวน 76 บริษัท สร้างมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมคูหานิทรรศการเมืองพี่เมืองน้อง (Sister City) ศูนย์รวบรวมสินค้าดีเด่นจีน-อาเซียน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ยังได้พบหารือกับประธานเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง พร้อมนำเสนอเรื่องการเปิดกว้างของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคของจีน ซึ่งเป็นแนวคิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ มาพิจารณาในชั้นต่อไป

    2. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เข้าร่วมการประชุม National ICT Roundtable ภายใต้งาน Huawei Connect 2023 ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2566 ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยไทยได้ร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูล ภายใต้หัวข้อ Digital Transformation in Government: Insights from Thailand โดยนโยบายสำคัญที่กำลังผลักดัน คือ นโยบาย Go Cloud First มุ่งเน้นการบูรณาการเทคโนโลยีคลาวด์กับการดำเนินงานของภาครัฐ นอกจากนี้ยังได้หารือกับผู้บริหาร บจก. หัวเว่ย เทคโนโลยี โดยไทยเน้นย้ำการผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล และได้ประกาศนโยบาย Go Cloud First ที่เน้นสร้างระบบคลาวด์ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูล ทั้งนี้ รมว.ดศ. ยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน Huawei Connect 2023 เช่น การเปลี่ยนแปลงเมืองสู่ดิจิทัล การให้บริการภาครัฐแบบ One-Stop และอุตสาหกรรมรถยนต์

    อนุมัติพื้นที่ ‘ทุ่งหนองแด’จัดมหกรรมพืชสวนโลกฯ

    นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เกี่ยวกับเรื่อง มาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ สำหรับพื้นที่ที่ดินสาธารณประโยชน์ แปลง “ทุ่งหนองแด” ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้แก่สมาคมพืชสวนโลกระหว่างประเทศ (The International Association of Horticultural Produces: AIPH) ซึ่งมีกำหนดการต้องส่งมอบพื้นที่ 6 เดือน ก่อนพิธีเปิดงานในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 (ต้องส่งมอบพื้นที่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2569)

    งานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 จัดขึ้นที่ “ทุ่งหนองแด” ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่จัดงาน 1,030 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น 1,009 ไร่ 25 ตารางวา ซึ่งต้องขอยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ก่อนการดำเนินการเข้าเตรียมพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569

    และเพื่อให้การดำเนินการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดเห็นควรให้ กษ. มท. และสสปน. ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการจัดงานร่วมกันพิจารณากำหนดแผนบรารจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากสิ่งลูกสร้างและพืชพรรณนานาชนิดภายหลังสิ้นสุดมหกรรมพืชสวนโลกให้มีความเหมาะสมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยอาจพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในรูปแบบสวนพฤกษศาสตร์ (botanic gardens) ประจำจังหวัดในอนาคต

    นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ กรมทรัพยากรน้ำ กษ. พิจารณาดำเนินการร่วมกับ กษ. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสำรวจ ตรวจสอบสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ และปรับปรุงทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่นในภาพรวมให้เป็นปัจจุบันด้วย

    โยก ขรก.พลังงาน 6 ตำแหน่ง ดัน ‘วรากร’ คุมกรมเชื้อเพลิง

    นายคารม กล่าวว่าสำหรับเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอแต่งตั้ง นายนฤชา ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นายชวรัชต์ อุรัสยะนันทน์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายจักรพงษ์ แสงมณี)] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. นายพงศกร อรรณนพพร
      2. นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา
      3. นายนิยม เติมศรีสุข

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 5 ราย ดังนี้

      1. นายชัยเกษม นิติสิริ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
      2. นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
      3. พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
      4. พันตำรวจเอก เกียรติพงษ์ ทองเพียร ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
      5. นายอรัญ พันธุมจินดา ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
      2. นายพิชัย นริพทะพันธุ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

    6. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
      2. นายมติชน ชูทับทิม ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

      7. การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้ง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ

    8. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. ให้ นายสมชาย มรกตศรีวรรณ พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

      2. ให้ นางโสภา เกียรตินิรชา พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    9. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 6 ราย ดังนี้

      1. นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายวรากร พรหโมบล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
      4. นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
      5. นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
      6. นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    10. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 5 ราย ดังนี้

      1. นายวัชรพล โตมรศักดิ์
      2. นางลีลาวรรณ กาญจนจารี
      3. นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ
      4. ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร
      5. นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เพิ่มเติม