ThaiPublica > เกาะกระแส > กพช.ดึงเงิน ปตท. 6,000 ล้านบาท ตรึงค่าไฟฟ้า 4 เดือน เริ่ม ม.ค. – เม.ย.ปีหน้า

กพช.ดึงเงิน ปตท. 6,000 ล้านบาท ตรึงค่าไฟฟ้า 4 เดือน เริ่ม ม.ค. – เม.ย.ปีหน้า

25 พฤศจิกายน 2022


เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 8/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

กพช.สั่งรื้อโครงสร้างบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ 3 แนวทาง ตรึงค่าไฟฟ้าช่วยรายย่อยที่ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน โดยดึงเงิน ปตท. 1,500 ล้านบาท 4 เดือน รวม 6,000 ล้านบาท ช่วย กฟผ. ลดต้นทุนค่าก๊าซฯ พร้อมให้ส่วนลดโรงแยกก๊าซ ฯใช้คำนวณต้นทุนแก๊สหุงต้ม เริ่ม ม.ค. – เม.ย.ปีหน้า โดยมอบหมายให้ กกพ.กำหนดอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟเกิน 500 หน่วย/เดือน

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 8/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียกับประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกมีความผันผวน และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะราคา LNG ที่ตลาดญี่ปุ่น – เกาหลีใต้ ((Japan-Korea Marker : JKM) ปรับเพิ่มขึ้น จากต้นปี 2564 อยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้าน BTU เพิ่มเป็น 30 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้าน BTU ในเดือนตุลาคม 2565 เปรียบเทียบกับประมาณการณ์แนวโน้มราคา LNG ในปี 2566 – 2567 อยู่ที่ 25 – 33 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้าน BTU ขณะที่กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยลดลง จึงจำเป็นต้องนำเข้า Spot LNG ซึ่งมีราคาสูงเข้ามาทดแทนเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานดังกล่าว วันนี้ที่ประชุม กพช. จึงได้มีการพิจารณาแนวทางเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน โดยมุ่งเน้นในส่วนของการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งที่ประชุม กพช.มีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนเมษายน 2566) ดังนี้

1.การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และมอบหมายให้ กกพ. เร่งศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน

2. กพช.ได้ขอความร่วมมือจาก ปตท.ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนเมษายน 2566) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งการจัดสรรดังนี้

  • ส่วนที่ 1 เป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป
  • ส่วนที่ 2 เป็นส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติ สำหรับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง

3. กพช. มีมติเห็นชอบให้ ปตท. ร่วมกับ กฟผ. บริหารจัดการผลกระทบของราคาก๊าซธรรมชาติต่อค่าไฟฟ้า โดยให้ ปตท. คิดราคาก๊าซธรรมชาติ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. , IPP และ SPP ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช. มีมติเป็นต้นไป

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบการดำเนินการตามมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยกำหนดให้ผลตอบแทนจากการดำเนินมาตรการ Demand Response เป็นส่วนหนึ่งของค่า Ft และมอบหมายให้ กกพ. เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมต่อไป อีกทั้งที่ประชุม กพช.ได้มติมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาดำเนินการ และกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานต่อไป

  • กฟผ.แบกค่าเชื้อเพลิงเกือบ1 แสนล้าน วอนรัฐช่วย แจงกำไรสะสมไม่ใช่เงินสดพยุงค่าไฟฟ้าไม่ได้
  • หมดยุคค่าไฟถูก (ตอนที่ 1) : ก๊าซอ่าวไทยกำลังจะหมด
  • บอร์ด ปตท. อนุมัติด่วน 3,000 ล้านเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเฉพาะกิจ ช่วยรัฐอุดหนุนแล้วกว่า 14,800 ล้าน
  • ปตท. ร่วมแบ่งเบาต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชน ยืดชำระหนี้ให้กฟผ.กว่า 13,000 ล้านไม่มีดบ.
  • กลุ่ม ปตท.กำไรครึ่งปีแรกกว่า 6 หมื่นล้าน – ช่วยรัฐอุ้ม ‘ก๊าซ – น้ำมัน’ 17,800 ล้าน