เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา แถลงต่อสื่อมวลชน และมอบหมายให้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและมติ ครม.
ก่อนการแถลงมติ ครม.ต่อสื่อมวลชน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “สวัสดีครับท่านสื่อมวลชนทุกท่าน วันนี้เพิ่งจบจากการประชุม ครม. นัดแรก ธรรมดาแล้วโฆษกรัฐบาลจะเป็นผู้แถลง แต่วันนี้เข้าใจว่าพี่น้องสื่อมวลชนอยากได้ยินอะไรดีๆ ที่ ครม. นัดแรกทำออกมา ผมก็จะแถลงโดยสังเขป แต่เดี๋ยวโฆษกจะมาลงรายละเอียดกับเรื่องทั้งหลายที่ได้พูดคุยวันนี้”
จัดงานเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า การประชุม ครม. วันนี้มีหลายเรื่อง โดยเรื่องแรกที่พูดคุยคือการจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติครบรอบ 6 รอบ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2567 เพื่อให้สมพระเกียรติฯ และขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม
มอบ “ภูมิธรรม” แต่งตั้ง คกก.จัดทำประชามติฯ – แก้ รธน.
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องทื่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้น จึงมีการสั่งการทันทีเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ คนที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ และใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน
เปิดฟรีวีซ่า ดึง “จีน-คาซัคสถาน” เที่ยวไทย
ถัดมาเป็นเรื่อง “วีซ่าฟรีชั่วคราว” (Visa Free) นายเศรษฐา อธิบายว่า “เพื่อไม่ให้มีการสับสน วีซ่าฟรีหมายความว่า การยกเลิกการขอเข้าเดินทางเข้ามาประเทศไทยของประเทศจีนและคาซัคสถาน ผมเชื่อว่าทุกท่านได้รับทราบกันดีอยู่แล้ว แต่วันนี้เป็นการ make it official จริงๆ ซึ่งแถมคาซัคสถานมาด้วย เป็นชาติในเขตยุโรป ซึ่งมีภาวะฤดูหนาวที่รุนแรง ดูจากสถิติแล้ว เป็นประเทศที่มีผู้อยากเดินทางมาไทยเยอะขึ้นเรื่อยๆ”
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า นโยบายวีซ่าฟรีชั่วคราวของทั้งสองประเทศจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้เป็นการยกเว้นชั่วคราวเพื่อดูผลกระทบ และยืนยันว่ามีการพูดคุยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคง ททท. หรือการท่าฯ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกภาคส่วนพร้อมรองรับ
ตั้ง คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ฯ – พักหนี้เกษตรกร 3 ปี
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติการจัดตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (soft power) สอดคล้องกับนโยบายที่ได้หาเสียงไป โดยเป็นเรื่องการดึงศักยภาพของประชาชนชาวไทยทุกคนออกมา เพื่อเสริมสร้างรายได้และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนทุกคน
อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงการพักหนี้เกษตกรว่า “มีการตกลงกันว่าจะมีการพักหนี้เกษตรกร และธุรกิจขนาดเล็กเป็นระยะเวลา 3 ปี”
แบ่งจ่ายเงินเดือน ขรก. 2 งวด เริ่ม 1 ม.ค.ปีหน้า
นอกจากนี้ นายเศรษฐา กล่าวถึงอีกเรื่องที่ตนไม่เคยพูดและไม่เคยแย้มมาก่อนว่า “เรื่องที่ 7 เป็นเรื่องที่เราไม่เคยพูดคุยกัน ผมไม่ได้มีการแย้มถึงเรื่องนี้เลย แต่ผมตระหนักดีว่ากระแสเงินสดของทุกคนในกระเป๋าเป็นเรื่องสำคัญ เราถึงมีดำริให้เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ โดยรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกที โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคมปีหน้า เป็นต้นไป”
“ต้องมีการแก้ไขระบบอะไรหลายๆ อย่างถึงทำเลยไม่ได้ เรื่องนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นเรื่องบรรเทาทุกข์ให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยได้เยอะพอสมควร ถ้ามีการจ่ายเงินเดือนสองรอบจะได้ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ไม่ต้องคอยให้ถึงสิ้นเดือนก็จะมีเงินแบ่งจ่ายออกมา” นายเศรษฐา กล่าว
ลดค่าไฟ 35 สตางค์ต่อหน่วย
นายเศรษฐา กล่าวถึงเรื่องการลดค่าไฟว่า ที่ประชุม ครม.มีมติลดค่าไฟฟ้าเป็น 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จากเดิม 4.45 บาท ส่วนการลดราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสูงสำหรับภาคขนส่ง ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เข้าใจว่าจะเริ่มต้นได้วันที่ 20 กันยายน 2566
“ผมเชื่อว่าเยอะกว่าที่พี่น้องคาดไว้ เริ่มได้รอบบิลเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป” นายเศรษฐา กล่าว
ก่อนจบการแถลงต่อสื่อมวลชน นายเศรษฐา ทิ้งท้ายว่า “ทั้งหมดนี้เป็นคร่าวๆ ที่ผมหยิบมาว่าเป็นไฮไลท์สำหรับการประชุม ครม. นัดนี้ ขอบคุณครับ”
จากนั้นนายเศรษฐาโค้งตัวไหว้ และเตรียมเดินออกจากโพเดียม แต่สื่อมวลชนรีบถามทันทีว่า “ส่วนเบนซินจะมีการพิจารณาหลังจากนี้ไหม” โดยนายเศรษฐา ตอบว่า “เรื่องเบนซินมีการพูดคุยกันและดูให้ดีถึงกลุ่มผู้เดือดร้อนจริงๆ เดี๋ยวคงจะมีมาตรการทยอยออกมา ขอบคุณครับ” จากนั้นนายเศรษฐาเดินออกจากโพเดียมทันที
มติ ครม. มีดังนี้
สั่งปลัดสำนักนายกฯ จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า วันนี้ถือเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในชีวิตการเมืองของคนหลังได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้จัดงานพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติครบรอบ 6 รอบ โดยนายกฯ มอบหมายให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการ
จัดทำประชามติ แก้ รธน. – ไม่แตะสถาบัน
นายชัย กล่าวถึงมติ ครม. เรื่องการจัดทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าที่ประชุม ครม. มีนโยบายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่แก้หมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
“ส่วนจะแก้ไขอย่างไรก็เป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่พรรคเพื่อไทยเคยยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านไป 2 วาระแล้วติดที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกให้กลับไปฟังเสียงประชาชน ดังนั้นรอบนี้มีการทำประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม แล้วประชามติจะถามอะไร ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม” นายชัย กล่าว
มอบ “จุลพันธ์” เร่งสรุปเงื่อนไข “เงินดิจิทัล” เสนอ ครม.
นายชัย กล่าวต่อว่า นายก ฯ มอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากาารกระทรวงการคลัง กำหนดเงื่อนไข แนวทางและรายละเอียดเรื่อง Digital Wallet 10,000 บาท และให้นำกลับมาเสนอโดยเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นการประชุม ครม.รอบหน้า
“ท่านนายกฯ ย้ำมากว่าเรื่องนี้ประชาชนคอยความชัดเจน และสืบเนื่องจากการอภิปราย 2 วันในรัฐสภา ก็มีคำแนะนำ และคำท้วงติง รัฐบาลก็น้อมรับ และนำกลับมาทบทวนว่าแนวทางเดิมที่เคยคิดไว้ มีหลายฝ่ายที่หวังดี ก็ท้วงติงรายละเอียด และวิธีการแหล่งที่มาของเงิน นายกฯ จึงเห็นว่าควรศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ เป็นการตอบสนองต่อคำท้วงติงของผู้แทนราษฎรและสมาชิกรัฐสภา” นายชัย รายงาน
ชู 8 มาตรการ ดึงดูดต่างชาติเที่ยวไทย 40 ล้านคน ในปี’67
นายชัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีเครื่องจักรทางเศรษฐกิจอย่าง ‘การท่องเที่ยว’ ที่สามารถเดินหน้า และพอเป็นความหวังสร้างรายได้ใหม่อย่างรวดเร็วให้ประเทศไทย ซึ่งไม่มีเครื่องจักรตัวไหนดีเท่าการท่องเที่ยว ดังนั้น นายกฯ จึงเห็นว่า การท่องเที่ยวจะเป็น Quick Win ให้กับประเทศไทย
นายชัย กล่าวต่อว่า รายได้ของประเทศเคยขึ้นพีคสุดเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 มีรายได้การท่องเที่ยวทะยานแตะ 3 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.93 ล้านล้าน และอีกประมาณ 1 ล้านล้านมาจากการท่องเที่ยวในประเทศ แต่หลังจากเจอโควิด-19 รายได้จากการท่องเที่ยวจึงตกลง กระทั่งปี 2565 รายได้เริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีรายได้โดยรวมเพียง 1 ล้านล้านบาทจากนัองเที่ยว 11 ล้านคน ส่วนช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย 15 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท
“โอกาสทองของเรายังเหลืออีก 3 เดือนกว่า ซึ่งกำลังเข้าสู่ high season ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ” นายชัย กล่าว
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ กำชับให้นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ ดูแลในภาพรวมเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ นายกฯ ได้ลงพื้นที่ไปภูเก็ตและเริ่มจับเข่าคุยกับทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และตั้งเป้าว่าปีนี้จะต้องทำตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ 28 ล้านคน รายได้เพิ่มจากเดิมรวมแล้ว 6 แสนกว่าล้าน และปี 2566 ต้องทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.4 ล้านล้านบาท และการท่องเที่ยวในประเทศ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น ปีนี้จะเห็นตัวเลขเริ่ม rebound กลับมาที่ 2.4 ล้านล้านของรายได้ กลับคืนมา 80% ของปี 2562 ที่เฟื่องที่สุด
“แต่เป้าหมายใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ปีนี้ เป้าหมายใหญ่อยู่ที่ปี 2567 เราตั้งใจว่าจะกลับไป break record ปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวต้องทะลุ 3 ล้านล้านบาท โดยเล็งไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน”
โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว ดังนี้
- วีซ่าฟรี สำหรับนักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศ 154 ล้านคน และคาดว่าจะแตะ 200 ล้านคนในอีกไม่กี่ปี ซึ่งประเทศไทยได้ให้วีซ่าฟรีแก่ 56 ประเทศ และได้เพิ่มจีนกับคาซัคสถานซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายการท่องเที่ยว
- ดูแลความปลอดภัยเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต้องกำหนดแผนและแนวทางการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ สร้างความมั่นใจในการเดินทางมาประเทศไทย โดยมีแผนทำภาพยนตร์โฆษณาสื่อสาร ด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ ดารา ศิลปิน นักร้อง กระทั่งตัวแทนส่วนราชการที่มีสถานะในรัฐบาลของจีน เป็นการสร้างความมั่นใจผ่านภาพยนตร์โฆษณา
- สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลคู่ความร่วมมือ
- กระตุ้นศักยภาพการเดินทางด้วยการเพิ่มเที่ยวบินและความถี่ โดยเฉพาะเที่ยวบินไปเมืองรองที่มีศักยภาพสูง หลายเมืองในจีนเป็นเมืองหลวงของมณฑลที่ไม่เคยมีสายการบินโดยตรง (direct flight) เพราะบางเมืองในประเทศจีนมีประชากร 30-50 ล้านคน ดังนั้นเมืองรองคือตลาดเป้าหมาย
- เร่งพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน โดยรัฐบาลได้คุยกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวว่า ‘มาตรฐานสินค้าบริการด้านการท่องเที่ยวต้องบริการทุกระดับประทับใจ’
- ส่งเสริม-จัดอีเวนต์ให้การท่องเที่ยวไทยมีจุดขายทั้ง 365 วัน เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ ฯลฯ โดยรัฐบาลจะทำให้เป็น world class อีเวนต์ ไม่ใช่ local
- รัฐบาลได้รับคำมั่นสัญญาจากผู้ประกอบการ ขานรับแนวทางนี้และพร้อมเสนอแพคเกจ-โปรโมชั่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว
มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็น entertainment hub กิจกรรมบันเทิงในเอเชีย - take action กับผลกระทบทางลบ โดยนายชัย อธิบายว่า ในอดีตเวลามีนักท่องเที่ยวจีนมาและเกิดเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดี ไม่ประทับใจ บล็อกเกอร์เอาไปเขียนนินทาประเทศไทย คนก็รู้สึกไม่ดี มันไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้ ต่อจากนี้เรัฐบาลจะตั้ง Online Crisis Management มีทีมมอนิเตอร์เวลาเรื่องไม่ดี และเข้าไปแก้ไขทันที
“นี่คือบัญญัติ 10 ประการที่จะ restart ครั้งใหญ่ ให้การท่องเที่ยวไทยเป็นเครื่องจักรนำรายได้ เป็น quick win new income เข้ามาสู่ประเทศ เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง”
ตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” นั่งรองประธาน คกก. Soft Power
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้บัญชาให้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วย soft power โดยชุดนี้จะกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยมีนายกฯ นั่งเป็นประธาน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน นายพันธุ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการ และนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ขับเคลื่อน
เล็งยุบเลิกคำสั่งแต่งตั้ง คกก.ตาม มติ ครม. -คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้สั่งการและแจ้งในที่ประชุมถึงเรื่องการเปลี่ยนบทบาทภาครัฐจาก regulator ผู้ดูแลกำกับ คุณพ่อรู้ดี ซึ่งทำให้การดำเนินชีวิตการทำมาหากิน และการทำธุรกิจเจออุปสรรคซ้ำซ้อน โดยให้ทุกกระทรวงไปทบทวนมติ ครม. ที่ประกาศตั้งคณะกรรมการ ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีระบุว่ามีคณะกรรมการทั้งหมด 178 ชุด
“นายกฯ บอกว่า ให้ไปไปดูภายในวันที่ 25 กันยายน 2566 มีคณะกรรมการไหนที่ยังคุ้มค่าอยู่ ควรมีต่อไป พร้อมด้วยเหตุผลทำไมต้องมีคณะกรรมการ ถ้าไม่มีเหตุผลที่ดี ให้ยกเลิกทั้งหมด ข้อสอง ให้กระทรวง ทบวง กรม ที่ในอดีตได้รับคำสั่ง คสช. และต้องปฏิบัติตามนั้นให้ทบทวนทั้งหมด ว่าบรรดาคำสั่ง มีอะไรจำเป็นต้องคงไว้ และต้องเสนอกลับมาภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ถ้าไม่เสนอถือเป็นอันยกเลิก” นายชัย กล่าว
“นักเศรษฐศาสตร์มือเซียนประเทศไทยอย่าง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ บอกว่าประเทศไทยจีดีพี ถ้าไม่มีกฎระเบียบที่กดทับ การทำมาหากิน การทำธุรกิจจะสะดวกกว่านี้ จีดีพีจะเด้งทันทีไม่น้อยกว่า 10 ถึง 15% ขอเพียงอย่ามีกฎระเบียบหยุมหยิมเยอะเกินไป เพียงแค่อย่าไปทำร้ายตัวเองด้วยการสร้างกฎระเบียบที่เกินความจำเป็น จะเป็นคุณูปการและเป็นมาตรการเชิงรุกทางเศรษฐกิจ โดยแทบไม่ใช้เงินแม้แต่บาทเดียว จะมีผลอย่างมีนัยสำคัญ” นายชัย กล่าว
“นายกฯ ใช้คำพูดว่า ต่อไปนี้ ประชาชนจะทำอะไร ถ้าไม่มีกฎหมายเขียนว่าห้ามทำ ให้ถือว่าทำได้ทุกอย่าง เราเปลี่ยนยุคแล้ว ยุคก่อนหน้านี้มักจะตีความว่า เวลาประชาชน ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ เวลามีความคิดสร้างสรรค์อยากริเริ่มอะไรมักจะเจออุปสรรคว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ กลายเป็นทำนองเวลาจะทำอะไรใหม่ๆ ต้องให้กฎหมายอนุญาต แต่รัฐบาลที่นำโดยนายกฯ เศรษฐา เปลี่ยนใหม่ ประชาชนเริ่มทำได้ทุกอย่างตราบใดที่ไม่มีกฎหมายห้าม”
ตั้ง คกก.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดทาง อปท.ใช้ทุนสำรอง รับมือ“เอลนีโญ”
นายชัย กล่าวถึงเรื่องเอลนีโญว่า เอลนีโญจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าไม่ได้มาปีเดียว แต่อาจมาสูงสุดถึง 3 ปี และมีการประเมินว่าถ้ามีแผนรับมือไม่ดี ความเสียหายจะตกขั้นต่ำ 6 แสนล้านใน 3 ปี สูงสุดอาจจะเกิน 2 แสนล้าน
ดังนั้นนายกฯ สั่งการว่า ต้องเร่งตั้งคณะกรรมการด่วนที่สุด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ
“เวลารู้ว่าจะแล้ง จะเตรียมแหล่งน้ำในท้องถิ่นในพื้นที่ที่เจอผลกระทบรุนแรงมาก ถ้ารอกระบวนการตั้งโครงการของบประมาณ กว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ทันการ แต่กลไกหนึ่งที่ทำได้คือทันทีที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมีเงินทุนสำรองอยู่ มากพอที่จะเปิดประตูทำโครงการที่ไม่ใหญ่นัก เช่น ฝายซอยซีเมนต์ในลำน้ำต่างๆ ธนาคารน้ำใต้ดิน ฯลฯ เป็นโปรเจคที่ไม่ใหญ่ ใช้งบฯไม่เยอะ ถ้ารัฐบาลกลางประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ท้องถิ่นลงมือได้เลย ถึงจะแก้ได้ทัน ส่วนโปรเจคส่วนกลางค่อยตามมาทีหลัง ถ้ารอแต่ส่วนกลางอย่างเดียว พี่น้องเดือดร้อนแน่ ไม่ทัน” นายชัย กล่าว
ตั้ง “ภูมิธรรม” นั่งประธานแก้ปัญหาประมง “ปลอดประสพ” เป็นกุนซือ
นาย ชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทะเลไทย เพื่อความยั่งยืนและแก้ปัญหาอุตสาหกรรมประมง โดยมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการ และให้ดร ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นที่ปรึกษาฯ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธุรกิจประมงไทย เคยเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ปัจจุบันประเทศไทยไม่ติดท็อป 10 เพราะเจอมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศ
ลดค่าไฟเหลือ 4.10 บาท – ตรึงดีเซลลิตรละ 30 บาท
นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้ลดค่าไฟ ตั้งแต่รอบกันยายน ลดจาก 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย โดยลดไป 35 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ ในหนึ่งวันประชาชนใช้ไฟ 540 ล้านหน่วย เท่ากับประหยัดเงิน 189 ล้านบาทต่อวัน
ส่วนน้ำมันดีเซล ที่ประชุม ครม. มีมติไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาท ซึ่งปัจจุบันราคาเกือบ 32 บาท ทั้งนี้ ในหนึ่งวันประชาชนประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซล 74 ล้านลิตร เท่ากับประหยัดเงิน 148 ล้านบาทต่อวัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566
ตั้ง “หมอชลน่าน” ยกระดับบัตรทอง นัดผ่านออนไลน์
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปหาหมอล่วงหน้า แต่สามารถนัดผ่านทางออนไลน์ได้
- สามารถขอใบรับยาผ่านทางออนไลน์และรับที่ร้านยาใกล้บ้าน
- การส่งต่อคนไข้ โดยจะใช้ฐานข้อมูลในคลาวน์
- ไม่ต้องมีโรงพยาบาลประจำ ถ้าอยากไปโรงพยาบาลไหนก็สามารถใช้บริการได้ เหมือนประกันเอกชน
พักหนี้เกษตรกร- SMEs ทั้งต้น-ดอก 3 ปี
นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้พักชำระหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยพักทั้งต้นและดอกเป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ นายกฯ มอบหมายให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินนโยบายพักหนี้ โดยให้กลับมาเสนอภายใน 14 วัน
แจงจ่ายเงินเดือน 2 งวด เพิ่มสภาพคล่องข้าราชการ
นายชัย กล่าวต่อว่า ยังกล่าวถึงมติที่ประชุม ครม. ที่เปลี่ยนจากการจ่ายเงินเดือนข้าราชการรอบเดียว เป็นการจ่าย 2 รอบ เพื่อให้ข้าราชการมีสภาพคล่องที่ดีกว่าเดิม
ตั้ง KPI ผู้ว่าฯ – ตำรวจ – กอ.รมน. กวาดล้างผู้มีอิทธิพล
นายชัย กล่าวต่อว่า นายกฯ มอบหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตั้งทีมงานกวาดล้างผู้มีอิทธิพล รวมถึงเรื่องการซื้อตำแหน่ง และยาเสพติด
“ทีเด็ดเรื่องนี้อยู่ที่ นายกฯ บอกว่าเป็น KPI ของผู้ว่าการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจ และกอ.รมน.จังหวัด ถ้าเอาไม่อยู่ 3 ท่านนี้ต้องรับผิดชอบ ถ้าอยากรักษาตำแหน่งต้องตอบสนองนโยบายนี้ให้ราบคาบและรวดเร็ว”
นอกจากนี้ นายชัย รายงานว่า นายกฯ เป็นห่วง มีข่าวว่าข้าราชการระดับสูงใช้เงินนอกงบประมาณพาไปทัวร์ เที่ยว ซึ่งไม่เหมาะสม ดังนั้น นายกฯ ให้กำกับดูแล มีแต่ต้องสมเหตุสมผล อย่าให้พร่ำเพรื่อแบบที่ผ่านมา และนายกฯ สั่งทีมงานว่าต่อจากนี้เวลาพื้นที่อย่ายกขบวนไปเยอะ ให้ลดให้น้อยที่สุด
รับฟังข้อเสนอ ilaw แก้ รธน.
ผู้สื่อข่าวถามถึงการทำประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ โดย นายชัย ตอบว่า นายกฯ มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย เชิญชวนประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าการทำประชามติให้เป็นฉันทามติและความเห็นร่วมกันของประชาชน ซึ่งการประชามติใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท จึงต้องออกแบบให้ชัดเจน ถามทีเดียวให้ได้เรื่อง แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการลงในรายละเอียด และไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญจากประชาชน ที่รวบรวมโดย ilaw โดย นายชัย ตอบว่า “ข้อเสนอจาก ilaw เราเอามารับฟังแน่นอน ไม่เพิกเฉย ถ้าพิจารณาแล้วไม่มีความเห็นได้ ก็จะพิจารณาแหล่งนี้เป็นหลัก แต่จริงๆ มีประชาชนกลุ่มอื่นที่ยังมีความเห็นแตกต่าง เราจะทำให้แน่ใจว่าประชาชนทุกกลุ่มจริงๆ ที่อยากแสดงความเห็นให้มีส่วนร่วมจริงๆ เราฟัง แต่เช็คให้แน่ใจว่าเราได้ถามรอบด้านหรือยัง”
“มันจะรอบด้านกว่าถ้าฟังทุกด้าน อย่าไปมองว่ารัฐบาลจะดึงเวลา เราตระหนักว่า ilaw เป็นองค์กรที่มีคุณภาพ เป็นองค์กรที่หวังดีกับประเทศชาติ แต่อย่าลืมว่าประเทศนี้มีความหลากหลาย คนอื่นที่เห็นต่างก็มี ขอเวลารัฐบาลทำความเข้าใจกับทุกกลุ่ม จะได้เรื่องออกมาแล้วไม่เถียงกันทีหลัง” นายชัย ตอบคำถาม
ตอบนักข่าว โฆษกฯ รายงานข้อเสนอ – เชื่อ ปชช. อยากทราบสาระสำคัญ
เมื่อถามต่อเรื่องการลดค่าไฟฟ้าและพลังงาน นายชัย กล่าวว่า ครม. ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้มีการเสนอให้ ครม. รับทราบ แต่ทั้งนี้เรียนว่า ครม.ไม่มีอำนาจลดค่าไฟฟ้า แต่คนมีอำนาจคือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
“ครม. รับฟังในรายละเอียด และตัดสินใจรวบยอด ส่วนรายละเอียดมีเยอะมาก เวลาผมพูดเรื่องอะไร ถ้าท่านสงสัย ท่านเอาคำพูดในมติ เวลาเจอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วไปเจาะเลย เช่น รมว.พลังงานจะอธิบายได้ละเอียดเพราะเป็นคนเสนอ แต่ที่ ครม. รับทราบคือบรรทัดสุดท้าย” นายชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวให้ข้อเสนอแนะว่า ในการแถลงข่าวควรระบุถึงกลไกและวิธีการด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ โดย นายชัย ตอบว่า “สาระสำคัญคือลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ส่วนการบริหารจัดการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เราจะบริหารจัดการโดยยึดถือวินัยการเงินการคลังที่เป็นกรอบ ณ ปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดเชิงวิเคราะห์ ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเพื่อให้ได้มาที่ค่าไฟฟ้าถูกลง เราน้อมรับฟัง คนเห็นด้วยก็ดี คนไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบที่รัฐบาลกระทรวงนั้นๆ เสนอมาก็มี แต่สาระสำคัญคือตกลงจะลดเท่าไร พี่น้องประชาชน คงไม่มาทำวิจัยวิชาการกับเรา เขาอยากรู้ bottom line”
เผยเป็น ‘รัฎฐาธิปัตย์’ มีอำนาจยกเลิก มติ ครม.ในอดีต
คำถามสุดท้ายคือเรื่องการยกเลิก มติ ครม. ที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ในอดีต โดย นายชัย ตอบว่า “มติ ครม. ก็ยกเลิกได้อยู่แล้ว ตอนนี้รัฐบาลนี้เป็นรัฎฐาธิปัตย์ ยกเลิกได้อยู่แล้ว ทุกอย่าง คำสั่งอะไรก็ตามของคสช. และครม. ภายในวันที่ 9 ตุลาคม ถ้าไม่มีเสนอมาใหม่ว่าจะขอใช้ต่อ ให้มีผลเป็นอันยกเลิกทันที ไม่ว่าจะศักดิ์เทียบเท่าหรือไม่ มัน effective เป็นกลไกที่ได้มีการออกคำสั่งมาเรียบร้อย”
“ขอย้ำว่า ข้อสั่งการมีผลเท่ามติ ครม.” นายชัย กล่าว
ต่อเวลาเก็บ VAT อัตรา่ 7% ถึงสิ้น ก.ย.ปี’67 ทิ้งรายได้ 3.8 แสนล้าน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฎษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาเป็นการล่วงหน้าและให้ดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปีต่อไปมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้จากข้อมูลการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 มีการขยายตัวร้อยละ 1.8 ซึ่งชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสแรกของปี2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับตัวลดลง อีกทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและราคาสินค้าและบริการ รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ล่าช้ากว่าปกติ
ดังนั้น เพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ บรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจ เห็นควรขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีก 1 ปี โดยให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้าการให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
กระทรวงการคลังได้พิจารณาประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้วพบว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐเพิ่มเติมและจะได้รับประโยชน์คุ้มค่าที่จะดำเนินการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ประมาณการการสูญเสียรายได้
-
1.1 การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี หากไม่มีการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจัดเก็บในอัตราตามประมวลรัษฎากรร้อยละ 11.11 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 380,000 ล้านบาทต่อปี
1.2 การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เนื่องจากได้ประมาณการรายได้โดยใช้อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน
2. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
-
2.1 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศและเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
2.2 ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
2.3 อัตราภาษีไม่ทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น
อนุมัติงบกลาง 988 ล้านบาท ดูแลเด็กแรกเกิดกว่า 2 ล้านคน
รวมทั้งที่ประชุม ครม.ได้มีมติอนุมัติการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในการจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 998,442,000 บาท เพื่อเป็นเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ที่จะได้รับเงินต่อเนื่องในเดือนกันยายน 2566 จำนวน 2,254,534 คน (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2566) โดยเบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
ปรับแผนการคลัง เพิ่มวงเงินงบฯ-กู้ชดเชยขาดดุล
อีกทั้งที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 – 2570) ฉบับทบทวน ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต่อไป โดยมีสาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯดังนี้
แผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
ในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.8 สำหรับปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 และขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในปี 2569 – 2570 ในส่วนของ GDP Deflator ในปี 2568 – 2570 อยู่ที่ร้อยละ 2.0
2. สถานะและการประมาณการการคลัง
-
2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 – 2570 เท่ากับ 2,787,000 2,899,000 2,985,000 และ 3,074,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 – 2570 เท่ากับ 3,480,000 3,591,000 3,706,000 และ 3,825,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2567 – 2570 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 693,000 692,000 721,000 และ 751,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.63 3.43 3.40 และ 3.36 ต่อ GDP ตามลำดับ
2.4 ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 -2570 เท่ากับร้อยละ 64.00 64.65 64.93 และ 64.81 ตามลำดับ
3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง
การดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลางยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีภูมิคุ้มกันของภาคการคลัง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยึดหลัก “Sound Strong Sustained” ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งในส่วนของการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถรองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล และคำนึงถึงการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง (Fiscal Discipline) เพื่อมุ่งสู่ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต
สำหรับเป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้จะมุ่งเน้นการควบคุมขนาดการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคลังที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ดังนี้
ทั้งนี้ ในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม
ตั้ง ‘ลวรณ แสงสนิท’ นั่งปลัดคลัง – ‘ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ’ ปลัดพลังงาน
นายชัย กล่าวต่อว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียด ดังนี้
1. แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่ไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
2. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้
-
1. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
2. นายธนรัช จงสุทธนามณี ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
3. นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
3. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2. นายวัลลภ รุจิรากร ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
5. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้
-
1. นายกองตรี พิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. นายปัญญา ชวนบุญ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์)
3. นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
4. นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ [รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์)]
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
6. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้
-
1. นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
2. นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
7. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงแรงงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการแต่งตั้ง นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
8. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ดังนี้
-
1. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
2. นาวาอากาศตรี พลเทพ สุนทโร ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
9. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้
-
1. นายสมคิด เชื้อคง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
2. นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
3. นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
4. นายชัย วัชรงค์ ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
10. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้
-
1. นายมานะศักดิ์ จันทร์ประสงค์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
2. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
3. นายณัฏฐ์พัฒน์ รัฐผไท ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
11. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง คือ นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
12. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
13. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอเลื่อน นายลวรณ แสงสนิท อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
14. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพลังงาน)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดี (ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง (ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
15. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
16. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงกลาโหม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอการแต่งตั้ง พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
17. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
2. นายกิตติ เชาวน์ดี ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 4 ราย ดังนี้
-
1. นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2. นายวิศรุต ปู่เพ็ง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
3. นายนพ ชีวานันท์ ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
4. นายพิษณุ พลธี ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
19. มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้
1. ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ดังนี้
-
1.1 นายภูมิธรรม เวชยชัย
1.2 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
1.3 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร
1.4 นายอนุทิน ชาญวีรกูล
1.5 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
1.6 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
2. ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 13 กันยายน 2566 เพิ่มเติม