ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเดินหน้าเงินดิจิทัล อ้างผลโพลชี้ 76% ต้องการ – มติ ครม.ตีกลับงบ กสศ. 7,094 ล้าน อ้างซ้ำซ้อน ศธ.

นายกฯเดินหน้าเงินดิจิทัล อ้างผลโพลชี้ 76% ต้องการ – มติ ครม.ตีกลับงบ กสศ. 7,094 ล้าน อ้างซ้ำซ้อน ศธ.

10 ตุลาคม 2023


เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯเดินหน้าเงินดิจิทัล อ้างหอการค้าโพลชี้ 76% ต้องการ
  • เตรียมอพยพคนไทยในอิสราเอล
  • เข็น 5 มาตรการ คุมเข้มอาวุธปืน-กระสุน
  • มติ ครม.ตีกลับ กสศ.ขอตั้งงบฯ 7,094 ล้าน อ้างซ้ำซ้อน ศธ.
  • เห็นชอบ มท.-สภากาชาดไทย ตั้งงบฯปี’67 แค่ 1,885 ล้าน
  • ตั้ง ‘ยุทธพงศ์’ กุนซือนายกฯ – ‘นฤมล’ ผู้แทนการค้าไทย
  • ‘พลังงาน’ ยังไม่ชงเรื่องตั้ง “เทพรัตน์” เป็นผู้ว่า กฟผ.
  • เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล แทนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศบรูไนดารุสซาลาม ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายภูมิธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและมติ ครม.

    ‘ภูมิธรรม’ ยันแก้ รธน.เสร็จใน 4 ปี

    นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วม หน้าที่ และประเด็นที่ต้องพิจารณา ตลอดจนเรื่องสำคัญอย่างการศึกษาการทำประชามติ ตามที่ศาลรัฐะรรมนูญได้วินิจฉัย โดยสำรวจความเห็นที่แตกต่างกันในรัฐธรรมนูญ หลังจากคุยกันแล้ว ก็มาดูว่าจะต้องมีคณะอนุกรรมการอะไรหรือไม่ แต่จะพยายามทำให้เสร็จภายใน 4 ปี

    นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จภายในระยะเวลาที่รัฐบาลมีวาระอยู่ 4 ปี และตั้งเป้าโดยหลักการต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สามารถทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อยู่บนฐานของความเป็นจริง ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

    ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อย่างไร นายภูมิธรรม ตอบว่า “จะเป็นรัฐธรรมนูญที่สอดรับกับสถานการณ์ปกติ และมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เราจะสำรวจความคิดเห็นและสาธารณชนปรารถนา”

    เมิน‘ก้าวไกล’ ไม่ร่วมแก้ รธน. – ชี้ความน่าเชื่อถืออยู่ที่ผู้ทรงคุณวุฒิ

    ผู้สื่อข่าวถามถึงรายชื่อ “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ แก้ไขความเห็นต่างรัฐธรรมนูญ 2560” ทั้ง 35 คน โดยนายภูมิธรรม กล่าวว่า มี 34 – 35 คน แต่กรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ส่งชื่อมา ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะรัฐบาลพยายามจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด

    “ถึงแม้จะไม่เข้ามาร่วม ก็เสียดาย แต่ถึงเวลาเราก็ฟังความเห็นอยู่ดี มีอีกหลายวิธี สมมติ ถ้าไม่ได้รับฟังความเห็น ก็สามารถส่งข้อมูลความคิดเห็นมาได้ที่สำนักงานเลขาธิการฯ เรายังต้องคุยกัน อาจจะต้องสื่อสารกับสื่อมวลชนที่เป็นช่องทางรับฟังความเห็น” นายภูมิธรรม กล่าว

    เมื่อถามว่า เมื่อไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วม จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทางการเมืองอย่างไร นายภูมิธรรมตอบว่า “พรรคก้าวไกลยังไม่ได้เป็นพรรคเดียวที่เป็นหลักประกันความน่าเชื่อถือทางการเมือง เพราะวันนี้เราได้พยายามเชิญทุกฝ่ายจากพรรคการเมืองต่างๆ มากที่สุดอยู่แล้ว”

    นอกจากนี้ นายภูมิธรรม ย้ำว่า คณะกรรมการฯ ได้มีพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วม เช่น พรรคไทยสร้างไทย และพรรคประชาธิปัตย์ และอีกหลายส่วน

    “ผมคิดว่าความน่าเชื่อถือไม่ได้อยู่ที่พรรคไหนเข้า พรรคไหนไม่เข้า ความน่าเชื่อถืออยู่ที่บุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด จะเห็นว่ามีบุคลากรที่ได้รับการยอมรับในสังคมที่หลากหลาย ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยจากหลายส่วน ซึ่งมีบทบาทในการต่อสู้ซึ่งรัฐธรรมนูญ และมีอดีตคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน ทั้ง กกต. สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานอัยการ ทหาร รายชื่อที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมีส่วนช่วย และเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน”

    ถามต่อว่า คิดอย่างไรกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วม เพื่อตั้งแง่ทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดย นายภูมิธรรม ตอบว่า “ไม่อยากคิดอย่างนั้น จริง ๆ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายปรารถนา เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกัน และเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการ ก็เคารพในสิทธิแต่ละฝ่ายว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ อย่างไร แต่รัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการดึงทุกฝ่ายให้เข้ามาร่วมกันจริง ๆ และไม่สามารถมีใครไป dominate ใครได้”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า พรรคก้าวไกลมีเงื่อนไขที่ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำให้นายภูมิธรรม ตอบว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้เราได้ยืนยันหลักการชัดเจนว่า เราไม่แตะหมวด 1 และ 2 ไม่แตะพระราชอำนาจ น่าจะเชื่อใจได้ว่าเป็นความปรารถนาส่วนใหญ่ของคนในสังคม ผมก็ไม่คิดว่าจะมีส่วนไหนของสังคมที่มีปัญหากับหลักการนี้ เพราะฉะนั้น นอกเหนือจากสองข้อนี้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมไทยที่คนไทยเคารพนับถือ ความเป็นประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นทำได้หมด”

    เดินหน้าเงินดิจิทัล อ้างหอการค้าโพลชี้ ปชช. 76% ต้องการ

    นายชัย รายงานว่า นายกรัฐมนตรี ยืนยันเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสให้กับภาคประชาชนและครัวเรือน เป็นการกระตุกกำลังทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และรัฐบาลจะนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาพิจารณาเพื่อเปิดโอกาสให้ได้ปรับปรุงแนวทางในการดำเนินนโยบายให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ทั้งนี้ นายชัย กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 1,280 คนจากทั่วประเทศถึงทัศนะต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พบว่ามีสัดส่วนถึง 76.4% ที่จะใช้เงินดิจิทัล โดยอยากใช้ซื้อสินค้าในครัวเรือนมากที่สุด 24.5% รองลงมาคือ ใช้ซื้ออาหาร 21.0% ในขณะเดียวกัน มีกลุ่มตัวอย่าง 48.3% เชื่อว่าเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้มาก และ 35.6% เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ปานกลาง ซึ่งทางคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล จะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาพิจารณาในการประชุมวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นี้ จากนั้นจะนำผลสรุปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 24 ตุลาคม 2566

    “รัฐบาลตั้งใจให้การดำเนินนโยบาย Digital Wallet ให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโต 5% เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดการจ้างงาน และการลงทุน รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ เพิ่มขึ้น และสุดท้ายสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ จะมาจากหลายแหล่ง ทั้งการนำเงินงบประมาณส่วนเกินจากของหน่วยงานราชการ การใช้เงินตามมาตรา 28 ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และอื่นๆ โดยจะมีการดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด” นายชัย กล่าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า“รัฐบาลขอบคุณแนวความคิดเห็น ข้อชี้แนะที่ทุกภาคส่วนเสนอเข้ามา โดยพร้อมนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุงให้เกิดความสมดุล อาทิ เงื่อนไข ข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้เป็นนโยบายที่ได้ประโยชน์กับพี่น้องคนไทยมากที่สุด เกิดประโยชน์ในวงกว้าง เป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้พี่น้องคนไทยที่มีรายได้น้อยลืมตาอ้าปากได้”

  • ‘เงินดิจิทัล’ ไม่ถอย โต้นักวิชาการทุกประเด็น ยันใช้งบฯปี’67 เป็นหลัก
  • เตรียมอพยพคนไทยในอิสราเอล

    นายชัย รายงานว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมช่วยเหลือพี่น้องคนไทยในอิสราเอลจากสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง โดยมีการรายงานความคืบหน้าแต่ละกรณี ดังนี้

    กรณีการอพยพคนไทย ขณะนี้ (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2566) มีผู้แจ้งความประสงค์ที่จะเดินทางกลับไทยรวม 3,226 คน โดยกลุ่มแรกจะเดินทางวันที่ 11 ตุลาคม 2566 สายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ (El Al Israel Airlines) เที่ยวบินที่ LY 083 และคาดว่าเที่ยวบินที่สอง คือวันที่ 18 ตุลาคม 2566 โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล รายงานความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือว่า ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้ขอจัดลำดับความเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสูงสุดก่อน เนื่องจากมีแรงงานไทยประสงค์ขอเดินทางกลับจำนวนมาก จึงต้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเดินทางกลับก่อน พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามทุกวิถีทางในการระดมสรรพากรกำลังติดตาม และติดต่อกับแรงงานไทยในอิสราเอลทุกคน โดยประสานกับทางการอิสราเอลเป็นระยะ ๆ เมื่อทราบว่า มีคนไทยติดอยู่ในพื้นที่ใด ก็ขอให้ช่วยอพยพออกนอกพื้นที่ ซึ่งอิสราเอลพยายามให้ความช่วยเหลือตามโซนพื้นที่ จึงขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจข้อจำกัด

    กรณีการขนย้ายร่างผู้เสียชีวิต ทางการอิสราเอลได้เร่งช่วยเหลือผู้ที่มีชีวิตและติดในพื้นที่เสี่ยงภัยก่อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทางการอิสราเอลส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร การพิสูจน์ยืนยันผู้เสียชีวิต จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วนัก โดยต้องใช้เวลาในการยืนยันตัวตน และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกตัวตนเสียชีวิต เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือชดเชย ซึ่งมีหลายขั้นตอน ไม่ให้เกิดความผิดพลาด

    เข็น 5 มาตรการ คุมเข้มอาวุธปืน-กระสุน

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีมีบัญชี โดยขอให้กระทรวงมหาดไทย ทบทวนมาตรการการควบคุมอาวุธปืนและกระสุน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยรับลูกและมาเสนอรายงานว่า มท. ได้มีคำสั่งให้ดำเนินมาตรการ ดังนี้

    • เข้มงวดอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกใบอนุญาตการควบคุม อาวุธปืน กระสุนปืน วัตถุระเบิด และดอกไม้ไฟ หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน รายละเอียด ให้นายทะเบียนที่มีอำนาจในการอนุมัติในการสั่ง นำเข้า หรือค้าสิ่งเทียมอาวุธปืน ให้งดทั้งหมด ระหว่างนี้ถ้ายังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงให้งด ไม่อนุญาต
    • สั่งแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งกับนายทะเบียนในท้องที่ ให้มาแจ้งสถานะการครอบครองในภูมิลำเนา
    • การจะขอมีหรือใช้อาวุธปืนหรือซื้อ สั่ง นำเข้าของสมาคมกีฬายิงปืน ต่อไปนี้การออกใบอนุญาต ให้อนุญาตได้เฉพาะสมาคมกีฬาฯ ยิ่งกว่านั้นกระสุนปืนที่จะสั่งเข้ามา ต้องตรงกับที่มีครอบครองอยู่
    • มีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัล ให้ร่วมมือกันในการปราบปรามการซื้อขายอาวุธปืน สิ่งเทียมอาวธปืน และเครื่องกระสุนปืนทางออนไลน์ ถ้ามีการค้าต้องดำเนินทางออนไลน์ ให้กรมศุลกากรตรวจสอบว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนที่นำเข้ามาก่อนคำสั่งนี้ประกาศ ให้ตรวจเช็คว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนมีการดัดแปลงเป็นอาวุธหรือไม่
    • เข้มงวดสนามกีฬายิงปืน ให้ตรวจอายุผู้ใช้บริการทุกคน และอาวุธปืนที่ใช้ต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น

    มติ ครม. ดังนี้

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษก ฯร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เห็นชอบ มท.-สภากาชาดไทย ตั้งงบฯปี’67 แค่ 1,885 ล้าน

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการพิจารณาการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่จะเสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ของกระทรวงมหาดไทยและสภากาชาดไทย รวม 3 รายการ เป็นงบฯปี 2567 จำนวน 1,885.64 ล้านบาท เป็นงบฯผูกพัน 302.4 ล้านบาท รวมทั้งหมด 3 รายการ 5,588.05 ล้านบาท

    นายชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยขอมารายการเดียว โครงการสร้างสถานีสูบน้ำดิบ พร้อมระบบท่อส่งน้ำ เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จังหวัดปัตตานี จำนวน 1,030.96 ล้าน โดยแบ่งเป็นงบฯปี 2567 วงเงิน 498.58 ล้าน เป็นงบฯผูกพัน 532.38 ล้าน รวม 1,030.96 ล้านบาท

    ขณะที่ สภากาชาดไทย ขอมา 2 รายการ คือ (1) โครงการศูนย์นวัตกรรมและการผลิตชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อ (วัคซีน) จำนวน 676.06 ล้านบาท งบฯผูกพันข้ามปี 1,577.49 ล้านบาท รวมแล้ว 2,253,55 ล้านบาท และ (2) โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตยาชีววัตถุและยาปราศจากเชื้อ จำนวน 711 ล้านบาท งบฯผูกพันข้ามปี 1,505.9 ล้าน รวม 2,216.9 ล้านบาท ทั้งนี้ สภากาชาดไทยได้ของบฯทั้งหมด 4,470 ล้านบาท

    ตีกลับคำขอตั้งงบฯ กสศ. 7,094 ล้าน อ้างซ้ำซ้อน ศธ.

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้กองทุนเพื่อความเสนอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กลับไปทบทวนข้อเสนอการของบประมาณประจำปี 2567 วงเงิน 7,094.97 ล้านบาทใหม่ เนื่องจากมองว่าภารกิจอาจซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษาธิการ

    ทั้งนี้ แผนการใช้เงินมีทั้งสิ้น 9 แผนงาน วงเงินรวม 7,094.97 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 เป็นจำนวนเงิน 1,021 ล้านบาท

    นายชัย กล่าวต่อว่า “การเสนอครั้งนี้ ที่ประชุมถกเถียงว่า แผนงานทั้ง 9 แผน มีอยู่ 2 แผนที่ที่ประชุม ครม. ตั้งข้อสังเกต ได้แก่ แผนที่ 2 ว่าด้วยการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับปฐมวัยและภาคบังคับ โดยจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ขอมา 4,448.96 ล้านบาท แผนงานที่ 6 พัฒนาแผนการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ สนับสนุนเยาวชนที่ขาดแคลนคุณทรัพย์และด้อยโอกาส ให้ได้รับโอกาสการศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่เสมอภาคกับเยาวชน ขอมา 1,025.09 ล้าน

    “ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นห่วงมาก กสศ. เสนอมามันจะไปซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดการศึกษาทั้งภาคบังคับ ภาคปฐมวัยทุกระดับ ใช้งบหลายแสนล้านอยู่แล้ว ดังนั้นที่ประชุมขอให้เอาข้อสังเกต ต้องอธิบายว่ามันซ้ำซ้อนกับงบกระทรวงศึกษาฯ หรือไม่ ที่ประชุมฯ จึงให้นำข้อเสนอกลับไปแล้วนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง”

    ผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดของมติ ครม.ดังกล่าวนี้ โดย นายชัย ตอบว่า “เรื่องนี้ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว มีรัฐมนตรีท่านหนึ่งอธิบายว่า คราวที่แล้วในที่ประชุม ครม. ก็ท้วงติงไปครั้งหนึ่งแล้ว เพราะสงสัยว่าจะซ้ำซ้อน แต่รอบนี้ไม่มีคำอธิบาย และไม่มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เสนอเรื่องเข้ามาชี้แจง เลยจำเป็นต้องกลับไปทบทวน”

    “วัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้เพื่อการเรียนการสอน ในที่ประชุมเสนอว่า กระทรวงศึกษาฯ จัดการศึกษาฟรีทุกระดับอยู่แล้ว งบประมาณหลายแสนล้านา วัตถุประสงค์เดียวกันคือสนับสนุนเพื่อการศึกษาของเด็กกว่า 2.6 ล้านคน แต่ยังไม่ได้ยกเลิก ให้กลับไปทบทวน” นายชัย ตอบ

    เห็นชอบพิธีสารฯ หนุนส่งออกเครื่องในเป็ดไปจีน

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการลงนามความตกลงเพื่อแก้ไขพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตร และสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน

    นายชัย กล่าวต่อว่า กรมปศุสัตว์ ได้ขอขยายขอบข่ายพิธีสารฯ โดยเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนจากสัตว์ปีกเพื่อการบริโภค (รวมถึงอวัยวะภายใน) ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน จำนวน 18 รายการ (เพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้เป็ดแช่แข็งเพื่อการบริโภค) ได้แก่ (1) ตีนเป็ด (2) ข้อปีกเป็ด (3) ปีกกลางเป็ด (4) ปลายปีกเป็ด (5) ปีกบนเป็ด (6) ตับเป็ด (7) คอเป็ด (8) กึ๋นเป็ด หัวใจเป็ด (10) ไตเป็ด (11) ลิ้นเป็ด (12) หัวเป็ด (13) ปากเป็ด (14) กระดูกเป็ด (15) กระดูกอ่อนเป็ด (16) เอ็นเป็ด (17) ไขมันเป็ด และ (18) หนังเป็ด ซึ่งสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นชอบต่อการขอเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว

    ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้จัดทำความตกลงฯ เพื่อแก้ไขพิธีสารฯ ฉบับปี 2561 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดภาคผนวก 2 ของพิธีสารฯ ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้แทนภาคผนวก 2 เดิม แต่ยังคงรายการผลิตภัณฑ์ไก่แช่แข็งไว้เช่นเดิม

    “การจัดทำความตกลงฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยทำให้สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง และชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการขยายตลาด และสร้างโอกาสการลงทุนทางการค้าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยขยายตัวเพิ่มมากขึ้น” นายชัย กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดเพิ่มเติม นายชัย ตอบว่า “ผมอยู่ในวงการนี้ด้วย จำนวนเป็ดที่เลี้ยงมันน้อยกว่าไก่เยอะ ถ้าตลาดจีนไปได้ ก็จะเกิดการขยายการเลี้ยง ปีแรกพันล้าน ส่วนตลาดส่งออกชิ้นส่วนไก่ปี 2565 13,000 ล้าน”

    “ส่งเสริมในที่นี้คือไม่ตั้งเงื่อนไขที่เกินความจำเป็นว่าการผลิตเป็ด ไก่ ภาคเอกชนผลิตได้อยู่แล้ว ขอเพียงแต่ราชการช่วยส่งเสริมเปิดตลาด แค่นี้เขาก็แฮปปี้แล้ว ตอนนี้เขาอยากได้ตลาด” นายชัย กล่าว

    นายชัย กล่าวต่อว่า “ในโลกนี้บราซิลผลิตสัตว์ปีกเยอะมาก สหรัฐฯ ก็ผลิตเยอะ แต่ไทยผลิตเป็นรองเขา ศักยภาพเอกชนเราที่ผลิต เราพร้อมสนองถ้าตลาดจีนเพิ่ม ขณะเดียวกันบราซิลผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดเอง วัตถุดิบในการเลี้ยงสัตว์ปีกต้นทุนต่ำมาก เรียกว่าเขาได้เปรียบเรื่องต้นทุน ของไทยได้เปรียบเรื่องคุณภาพสินค้าพรีเมียม เรื่องนี้ราชการไทยจะไม่แทรกแซงเพราะเอกชนเก่งอยู่แล้ว เราจะอำนวยเรื่องการตลาดเป็นหลัก”

    หนุนส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งไปจีน

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหารด้านการสัตวแพทย์ และการปกป้องพืช เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน (ร่างพิธีสารฯ) รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในพิธีสารฯ

    ทั้งนี้ หากมีการปรับแก้ไขถ้อยคำในร่างพิธีสารฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญขอให้มอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

    นายชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ (กปศ.) ได้รับแจ้งจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ. ปักกิ่ง) ว่า สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้จัดทำร่างพิธีสารฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ การกักกันความปลอดภัยอาหาร และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้งจากฝ่ายไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (ฝ่ายจีน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จากผึ้ง (น้ำผึ้ง นมผึ้ง และเกสรผึ้ง) ที่ส่งออกจากฝ่ายไทยไปยังฝ่ายจีน ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามพิธีสารดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2566

    มอบเกษตรลงนามพิธีสารฯ ส่ง “เสาวรส-ต้นสนใบพาย” บุกตลาดจีน

    นายชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเห็นชอบร่างพิธีสาร จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ 1 ร่างพิธีสารว่าด้วยกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดจากราชอาณาจักรไทย (ไทย) ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ระหว่าง กษ. และสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน [General Administration of Customs of People’s Republic of China (GACC)] (ร่างพิธีสารผลเสาวรสสดฯ) 2. ร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกต้นสนใบพายจากไทยไปยังจีนระหว่าง กษ. และ GACC (ร่างพิธีสารต้นสนใบพายฯ)

    นายชัย กล่าวต่อว่า หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในร่างพิธีสารผลเสาวรสสดฯ และร่างพิธีสารต้นสนใบพายฯ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายสำหรับลงนามในร่างพิธีสารผลเสาวรสสดฯ และร่างพิธีสารต้นสนใบพายฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในร่างพิธีสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ในระหว่างการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566 นี้

    “การจัดทำร่างพิธีสารทั้ง 2 ฉบับ เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดและต้นสน ใบพายไปยังจีนเพื่อให้เกษตรกรและผู้ส่งออกมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินการและถือเป็นการสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าไทยในตลาดจีน อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยอีกด้วย…ที่ผ่านมามีเพียงชมพู่เท่านั้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558” นายชัย กล่าว

    รับ 10 ข้อเรียกร้อง ‘พีมูฟ’ ตั้ง รมว.เกษตร เป็นประธานฯแก้ปัญหา

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ‘พีมูฟ’ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่องตามอำนาจและหน้าที่

    นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้สรุปผลการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตามที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและร่วมประชุมหารือกับตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่เดินทางมาปักหลักชุมนุมเรียกร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหา สรุป 10 ข้อ ดังนี้

    1. ด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย
    2. ด้านการกระจายอำนาจ
    3. ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
    4. ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
    5. นโยบายการจัดการทรัพยากร
    6. ด้านนโยบายป้องกันภัยพิบัติ
    7. ด้านนโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์
    8. ด้านนโยบายสิทธิและสถานะบุคคล
    9. ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ
    10. ด้านที่อยู่อาศัย

    นางรัดเกล้า กล่าวต่อไปว่า ครม.รับทราบให้ใช้กลไกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกองตรี ธนกฤตจิตรอารีย์รัตน์) ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายชลธิศ สุรัสวดี) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธนสาร ธรรมสอน) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่ได้รับมอบหมาย อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเป็นกรรมการ รวมทั้ง รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณ ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม อำนวยการ เร่งรัดการดำเนินการและตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา

    “ประเด็นปัญหาส่วนใหญ่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลอยู่ระหว่างการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเพื่อมาพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าว ประกอบกับมีหลายกรณีเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาดำเนินการในระดับนโยบาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาให้ความเห็นประกอบการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจ โดยละเอียดรอบคอบและเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงในการแก้ปัญหา” นางรัดเกล้า กล่าว

    นางรัดเกล้า กล่าวต่อว่า ยังมีอีกหลายกรณีปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในดำรงชีวิต หากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องจนได้ข้อยุติ อาจเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และทำให้กลุ่มประชาชนผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินมีจำนวนที่สูงขึ้น และนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วยความเรียบร้อย

    ตั้ง ‘ยุทธพงศ์’ กุนซือนายกฯ – ‘นฤมล’ ผู้แทนการค้าไทย

    นายชัย กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

    1. นายธานินทร์ ริรัตนพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) สำนักก่อสร้างทางที่ 2 กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและวางโครงการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566
    2. นายสมบูรณ์ แก้วลมัย ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านบำรุงรักษาทาง) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) สำนักงานทางหลวงที่ 6 กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านบำรุงรักษา) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566
    3. นายชวเลิศ เลิศชวนะกุล ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางโครงการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566
    4. นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2566
    5. นายสำราญ สวัสดิ์พูน ผู้อำนวยการสำนัก [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิศวกรรมโยธา) ระดับสูง] สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 3 กรมทางหลวงชนบท ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านบำรุงรักษาทางและสะพาน) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวงชนบท ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2566
    6. นายดนัย เรืองสอน ผู้อำนวยการสำนัก [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิศวกรรมโยธา) ระดับสูง] สำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ กรมทางหลวง ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านอำนวยความปลอดภัย) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2566

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย

    คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 255/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
    2. นายสยาม บางกุลธรรม ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

    ‘พลังงาน’ ยังไม่ชงเรื่องตั้ง “เทพรัตน์” เป็นผู้ว่า กฟผ.

    จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายชัยว่าวันนี้กระทรวงพลังงาน เสนอเรื่องแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 16 ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาหรือไม่ ทำไมล่าช้า นายชัยตอบว่า “ไม่มี ถ้ามีแล้วจะบอก”

  • วัดใจรัฐบาลเศรษฐา ตั้ง-ไม่ตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่า กฟผ. ผ่านสรรหาโดยชอบธรรมมาแล้ว 7 เดือน
  • อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เพิ่มเติม