ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯจี้เหมืองโพแทสฯ ชี้ทำไม่ได้ – หาผู้รับสัมปทานใหม่ – มติ ครม.ไฟเขียว ขรก.เลือกรับเงินเดือน 2 รอบ

นายกฯจี้เหมืองโพแทสฯ ชี้ทำไม่ได้ – หาผู้รับสัมปทานใหม่ – มติ ครม.ไฟเขียว ขรก.เลือกรับเงินเดือน 2 รอบ

7 พฤศจิกายน 2023


เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และมติ ครม.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯจี้เหมืองโพแทสฯ ชี้ทำไม่ได้ – หาผู้รับสัมปทานใหม่
  • สั่ง คค.เร่งผู้รับเหมาสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ตามสัญญา
  • สั่ง ‘ดีอี-มท.’ ทำแผนสกัดแฮกข้อมูล ปชช.ชง ครม.สัปดาห์หน้า
  • รับทราบปมถูกคนขู่ฆ่า ชี้ทุกอย่างเป็นไปตาม กม.
  • มติ ครม.ไฟเขียว ขรก.เลือกรับเงินเดือน 2 รอบ เริ่ม 1 ม.ค.ปีหน้า
  • เห็นชอบแทรกแซงราคาข้าวเปลือกปี 2566/67 วงเงิน 55,038 ล้านบาท
  • อนุมัติงบกลาง-สินเชื่อ ธ.ก.ส. 370 ล้านบาท พยุงราคามันสำปะหลัง
  • จัดงบกลาง-สินเชื่อ ธ.ก.ส.ตรึงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 65 ล้านบาท
  • เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และมติ ครม.

    สั่ง รมว.แรงงาน ดูแลค่าชดเชยแรงงานไทยจากอิสราเอล

    นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวเรื่องการจ่ายค่าชดเชยให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล และการเบิกค่าเครื่องบินว่ากรณีที่ปรากฎเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ และมีเสียงบ่นมาบ้าง ตนจึงได้สั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปกำกับดูแลให้ดี และให้แน่ใจว่าคนที่ควรจะต้องได้ ก็ต้องได้ และควรได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพราะว่าไม่อยากให้มีปัญหาไปพูดกันต่อที่อิสราเอลว่า กลับมาแล้ว ไม่ได้เงินเลย อาจไม่ยอมกลับขึ้นมาอีก ซึ่งเรื่องนี้ตนรับทราบและจะได้ไปแก้ไขต่อไป

    ชง กม.สมรสเท่าเทียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียม ตนได้เร่งรัดให้ไปจัดการดำเนินการเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้ในสัปดาห์หน้า

    สั่ง คค.เร่งผู้รับเหมาสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ตามสัญญา

    นอกจากนี้นายเศรษฐา ยังได้กล่าวถึงการลงพื้นที่อีอีซีเมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีปัญหาเรื่องความล่าช้าอย่างมาก จึงได้กำชับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไปกำกับดูแล อย่าให้ล่าช้า และให้เป็นไปตามที่สัญญาว่า มีการทำได้ตามกำหนดหรือไม่ รวมทั้งได้ให้ข้อคิดแก่คณะรัฐมนตรี หากโครงการลงทุนเกิดปัญหาความล่าช้าให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลติดตามงานอย่างใกล้ชิด โดยให้ไปตรวจสอบผู้รับเหมา อย่าให้เกิดความล่าช้า และอย่าไปเข้าใจเขามากเกินไป เราเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ซึ่งความล่าช้าของงานส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงให้ดูแลตรงนี้ให้ดี ๆ

    ตั้ง ‘พัชรวาท’ นั่งประธาน คกก.แก้ PM 2.5

    นอกจากนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด โดยคณะกรรมการชุดแรก ดูแลเรื่อง PM 2.5 เพราะฤดูฝุ่นเริ่ม PM 2.5 ขึ้นแล้วให้ท่าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และ มีการแต่งตจั้งคณะกรรมการย่อยของอีอีซี เพื่อเร่งรัดโครงการต่างๆในพื้นที่อีอีซี โดยมีท่านสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ เป็นประธานและ ท่านเลขาธิการบีโอไอเป็นเลขาธิการ

    จี้เหมืองโพแทสฯ ชี้ทำไม่ได้ – หาผู้รับสัมปทานใหม่

    นายเศรษฐา ได้กล่าวถึงกรณีเหมืองโพแทสเซียม ซึ่งถือว่าเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญของการทำปุ๋ยเคมี และประเทศไทยมีโพแทสเซียมเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศแคนาดา สารชนิดนี้ถ้าขุดเจาะ และนำไปขายในต่างประเทศจะให้ราคาได้ดี และมีความต้องการสูงในประเทศจีน ปัจจุบันมีผู้ได้รับสัมปทานแล้ว 3 ราย แต่ไม่มีการดำเนินงานเลย ดังนั้น ตนจึงให้ไปเร่งรัดเรื่องนี้ว่ามีการดำเนินงานหรือไม่ หากทำไม่ได้ ก็หาผู้รับประมูลไปทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง

    ยกระดับหน่วยงานสังกัด อก.ขึ้นเป็นกรมส่งเสริมอาหารฮาลาล

    นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า มีหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ทำหน้าที่ส่งเสริมอาหารฮาลาล ซึ่งรัฐบาลนี้ตระหนักดีถึงความสำคัญของอาหารฮาลาล เป็นอาหารเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ไปยังพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งตะวันออกกลาง หรือ แอฟริกา จึงอยากจะยกระดับความสำคัญของงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม ก็มีการสั่งการไป และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ดูเรื่องการยกระดับของหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม ซึ่งจะได้พัฒนาต่อไปได้

    สั่ง ‘ดีอี-มท.’ ทำแผนสกัดแฮกข้อมูล ปชช.ชง ครม.สัปดาห์หน้า

    นายเศรษฐา กล่าวว่า กรณีการแฮกบัญชีนำข้อมูลของประชาชน 15 ล้านราย ออกไปเผยแพร่ ตรงนี้ได้กำชับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยกำกับดูแล และอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า ท่านจะมาเสนอแผนงาน

    รับทราบปมถูกคนขู่ฆ่า ชี้ทุกอย่างเป็นไปตาม กม.

    ถามว่ากรณีที่ตำรวจไซเบอร์ได้เข้าตรวจค้นบ้าน และจับกุมหนุ่มโพสต์ข้อความขู่ฆ่านายกรัฐมนตรี และเจ้าตัวสารภาพว่ากระทำไป เพราะอารมณ์ชั่ววูบ และผิดหวังกับคำสัญญาของพรรคการเมือง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รายงานเรื่องนี้หรือยัง โดยนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า “ได้รับทราบข่าวแล้ว ทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย”

    ถามต่อว่ากรณีผู้ต้องหาระบุว่าผิดหวังเรื่องการเมือง และการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้จะกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่

    นายเศรษฐา กล่าวว่า “ผมว่าเราเป็นรัฐบาล เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีคนไม่พอใจ ไม่สบายใจ หรือ มีคนแนะนำ เราก็ต้องฟัง แต่ขอให้ติชมอย่างสร้างสรรค์มากกว่าที่จะเป็นการคุกคาม ซึ่งเรื่องนี้ต้องว่าไปตามกฎหมาย”

    ถามว่าจะมีการกำชับ หรือ สั่งการอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องรักษาความปลอดภัยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ยังไม่มีการสั่งการอะไร เพราะเชื่อว่าทีมรักษาความปลอดภัยทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่หากจะมีการเพิ่ม เขาก็จะเพิ่มกันเอง”

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายชัย วัชรงค์ โฆษกฯ และนางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ไฟเขียว ขรก.เลือกรับเงินเดือน 2 รอบ เริ่ม 1 ม.ค.ปีหน้า

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนมุติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เงินเดือน” และปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการโดยสามารถแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ รวมทั้งเป็นการเพิ่มอัตราเงินหมุนเวียนซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งเพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเดือนของข้าราชการมีความคล่องตัว รวดเร็ว และสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

    ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เงินเดือน” หมายความว่า เงินเดือนและเงินอื่นที่มีกำหนดจ่ายเป็นเดือน หรือที่กำหนดจ่ายตามรอบระยะเวลาอื่นภายในแต่ละเดือนตามที่ ครม. กำหนด โดยจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประเภทงบบุคลากรที่จ่ายลักษณะเงินเดือน (เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566) และปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการโดยสามารถแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยเป็นการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ประกอบกับกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดในการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการโดยแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำที่อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำของกรมบัญชีกลาง (e-Payroll) จำนวน 230 หน่วยงาน (ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการในพระองค์ ข้าราชการรัฐสภา ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) ไม่รวมข้าราชการบำนาญ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร และข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีวิธีการตามความสมัครใจ โดยข้าราชการหรือลูกจ้างประจำสามารถเลือกการรับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำเป็นแบบจ่ายเดือนละ 1 รอบ หรือแบบจ่ายเดือนละ 2 รอบ ได้ ด้วยวิธีการยื่นแบบต่อส่วนราชการในกรณีที่เป็นข้าราชการสามารถยื่นแบบได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธันวาคม 2566 และมีผลในเดือนมกราคม 2567 และลูกจ้างประจำสามารถยื่นแบบได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2566 และมีผลในเดือนมีนาคม 2567

    อนุมัติ สปสช.ตั้งงบฯปี’67 วงเงิน 2.17 แสนล้านบาท

    นายชัย กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้

    1. อนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายในวงเงิน 217,628,959,600 บาท ประกอบด้วย

      1.1 ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 47,671,000 คน วงเงิน 165,525,153,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,922,585,500 บาท คิดเป็นร้อยละ 2.43 คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,472.24 บาทต่อผู้มีสิทธิซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร
      1.2 ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ประกอบด้วย ค่าบริการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,413,391,000 บาท และค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี วงเงิน 603,704,700 บาท รวมวงเงิน 4,017,095,700 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 38,617,200 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.97
      1.3 ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงิน 12,807,298,600 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,855,123,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.69
      1.4 ค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (DM/HT และจิตเวชเรื้อรังในชุมชน) ประกอบด้วย งบบริการควบคุมความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง วงเงิน 1,123,989,700 บาท และงบบริการผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน วงเงิน 73,626,000 บาท รวมวงเงิน 1,197,615,700 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 126,140,900 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.77
      1.5 ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 1,490,288,000 บาท
      1.6 ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ประกอบด้วย (1) บริการด้วยทีมแพทย์ประจำครอบครัว วงเงิน 237,445,700 บาท (2) บริการที่ร้านยา วงเงิน 199,810,000 บาท (3) บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล วงเงิน 722,870,300 บาท (4) บริการสาธารณสุขระบบทางไกล วงเงิน 865,776,200 บาท (5) บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน วงเงิน 32,945,500 บาท และ (6) บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ วงเงิน 3,940,200 บาท รวมวงเงิน 2,062,787,900 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 1,873,933,600 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 992.26
      1.7 ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย

        1.7.1) ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 2,550,601,000 บาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จํานวน 221,399,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.99
        1.7.2) ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน วงเงิน 2,760,554,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 1,494,908,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 118.11
        1.7.3) ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด วงเงิน 530,712,000 บาท
        1.8 เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ วงเงิน 642,808,300 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 205,472,300 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.98

      1.9 ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ จำนวน 66,339,000 คน วงเงิน 24,044,045,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,662,938,300 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.45 ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร

    2. สำหรับงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2,086,558,800 บาท นั้น คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัดและสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    3. มอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการ และบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ในด้านบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน บริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว ตามมาตรา 18 (14) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และควบคุมดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นไปตามการมอบหมายดังกล่าวด้วย

    ทั้งนี้ สำนักงบประมาณมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เนื่องจากปริมาณการใช้บริการและอัตราค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน และค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป จึงเห็นสมควรที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วน และพิจารณาให้ความสำคัญกับความพร้อมและศักยภาพของผู้ให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และมีการติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์การให้บริการสาธารณสุข เพื่อให้มีความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ รวมถึงเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับประชาชนในท้องถิ่น และเห็นควรที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะพิจารณาให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบริหารจัดการและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณค่ารักษาพยาบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หากมีงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินงานหรือมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสม ก็เห็นสมควรให้นำเงินดังกล่าวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาสมทบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2527 เป็นลำดับแรก ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามนัยมาตรา 6 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

    เห็นชอบแทรกแซงราคาข้าวเปลือกปี 2566/67 วงเงิน 55,038 ล้านบาท

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวนทั้งสิ้น 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 55,038.96 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 44,437 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 10,601 ล้านบาท ดังนี้

    เรื่องแรกเกี่ยวกับเกษตรกรชาวนา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบว่าด้วยการรักษาสถานภาพข้าวเปลือกปีการผลิต 2566/67 โดยโครงการนี้ 3 รัฐมนตรีประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือถึงมาตรการที่จะช่วยเหลือชาวนาเพราะว่าช่วงนี้ถ้าเป็นราคาข้าวเปลือกเจ้าชนิดอื่นๆ ราคาตลาดค่อนข้างจะดี ยกเว้นข้าวหอมมะลิ

    โดยราคาข้าวเปลือกที่มีปัญหามากที่สุดคือข้าวเปลือกหอมมะลิที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในภาคอีสานและภาคเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่กำลังจะทยอยออกมาประมาณ 9.5 ล้านตัน ขณะนี้เวลานี้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 15% อยู่ที่ประมาณ 14,800-15,000 บาท/ตัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกหอมมะลิและขายที่ความชื้นประมาณ 25% ซึ่งในความชื้นในระดับดังกล่าวนี้ หากคำนวณตามราคายุติธรรมที่ความชื่น 15% ราคาควรจะอยู่ที่ตันละ 12,300 บาท

    แต่ราคาตลาดรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 25% ขณะนี้มีราคาอยู่ที่ 11,000 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าราคาที่เป็นธรรมประมาณ 1,300 บาท ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เห็นถึงปัญหาจึงได้ตกลงหารือกันและเห็นว่าต้องแทรกแซง โดยออกมาตรการ 2 โครงการ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    โครงการแรก คือ โครงการชะลอสินเชื่อการขายข้าวเปลือกนาปี การชะลอ คือ อย่าพึ่งรีบขาย โดยให้สถาบันทางการเกษตร หรือ เกษตรกรที่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 25% ไว้ก่อน 5 เดือน หากราคายังไม่ดี อย่าพึ่งขายให้เกษตรกรเก็บข้าวเปลือกที่ความชื้น 25 % เอาไว้ก่อน โดยรัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิที่มีความชื้น 25 % ในวงเงิน 12,000 บาทต่อตัน รวมทั้งจ่ายค่าเก็บรักษา หรือ ค่าฝากข้าวในยุ้งฉางอีกตันละ 1,500 บาท

    “หากชาวนาเก็บข้าวด้วยตัวเองก็จะได้ 12,000 บาท บวกกับ 1,500 บาท เป็น 13,500 บาท ซึ่งถ้าไม่มีโครงการแทรกแซงราคาข้าว และชาวนาต้องขายข้าวในช่วงนี้จะได้ราคาเพียง 11,000 บาทต่อตันเท่านั้น ต่างกันถึง 2,500 บาทต่อตัน”นายชัย กล่าว

    นายชัยกล่าวอีกว่า หากชาวนาไม่มีที่เก็บ หรือ ไม่มียุ้งฉาง ต้องไปฝากข้าวให้สถาบันการเกษตร เช่น สหกรณ์ หรือสหกรณ์การเกษตร กรณีนี้ รัฐบาลจ่ายให้สหกรณ์ 1,000 บาทต่อตัน ส่วนชาวนาได้ค่าฝากข้าว 500 บาทต่อตัน ดังนั้น โครงการชะลอการขายจะทำให้ชาวนาจะได้รับเงินจากการขายข้าวในครั้งนี้ตันละ 12,000 บาท บวกกับค่าเก็บข้าวอีก 500 – 1500 บาทต่อตัน ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรจะเก็บที่ไหน จึงถือว่าเกษตรกรขายข้าวได้ราคาดีกว่าที่จะปล่อยให้ขายข้าวออกไปในช่วงนี้ โดยโครงการนี้มีเป้าหมายในการับข้าวเปลือกทั้งหมด 3 ล้านตัน

    โครงการที่ 2 คือ โครงการให้สินเชื่อเพื่อแก่สถาบันการเกษตรเข้าแทรกแซงตลาด โดยจะเข้าซื้อข้าวในราคานำร่องแข่งกับพ่อค้าในตลาดที่รับซื้อข้าวในราคา 11,000 บาทต่อตัน กำหนดรับซื้อข้าวเหลือกหอมมะลิที่ความชื้น 25 % ในราคาตันละ 12,200 บาท และเมื่อเวลาที่ขายได้แล้วมีกำไรให้นำเงินมาแบ่งชาวนาได้อีก 300 บาทต่อตัน ทำให้ชาวนาได้รับเงินจากการขายข้าวรวมเป็น 12,500 บาท เพิ่มขึ้น 1,500 บาทต่อตัน ดีกว่าจะปล่อยให้ถูกพ่อค้ากดราคารับซื้อที่ 11,000 บาทต่อตัน โดยโครงการที่ 2 นี้มีเป้าหมายรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่ 1 ล้านตัน

    โดยทั้ง 2 โครงการตามที่กล่าวข้างต้นนี้จะใช้เงินจากงบประมาณ 10,600 ล้านบาท และสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 44,437 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยภาระดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.

    นายชัย กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแค่ 2 โครงการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังมีอีก 1 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าวให้กับเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ,กระทวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ได้หารือกันแล้ว แต่ติดเงื่อนไขว่าชาวนาที่แจ้งได้รับการชดเชยจากน้ำท่วมไปแล้วจะพิจารณาอย่างไร เนื่องจากพึ่งได้รับสิทธิไปได้ไม่นาน หากมารับเงินสนับสนุนจากโครงการจัดการพัฒนาคุณภาพข้าวอีกจะติดปัญหาอะไรหรือไม่

    “ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าวจะช่วยชาวนาที่ปลูกข้าวทุกประเภ รายละ 1000 บาท/ไร่ โดยให้การสนับสนุนรายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือ ไม่เกิน 20,000 บาท ขณะนี้มีชาวนาจำนวน 468,000 ครัวเรือน คาดว่าต้องใช้เงินประมาณ 56,000 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา รอเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช.พิจารณา ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป” นายชัย กล่าว

  • ครม.ทุ่ม 1 แสนล้านบาท แก้ข้าวราคาตก
  • เพิ่มอำนาจ ปปท.ออกหมายจับ – ไต่สวน – ชี้มูลความผิด

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอดังนี้

    1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจและหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) ในส่วนที่เกี่ยวกับการคดีทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มอบหมาย และส่วนการประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจโดยตรงของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อให้เป็นไปตามการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

    2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1.

    นายคารม กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังไม่ได้ให้ความเห็นชอบและตกไป เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 โดยปรับปรุงอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ในส่วนที่เกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ที่ต้องดำเนินการแทนตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมอบหมาย และในส่วนการประพฤติมิชอบที่เป็นหน้าที่และอำนาจโดยตรงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เช่น การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ การขอหมายจับและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดความผิดและโทษกรณีการเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 234 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการไต่สวนและการปฏิบัติต่าง ๆ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

    รับทราบการแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานการจัดสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2566 ดังนี้ 1. รับทราบผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (กฎหมายการค้าสหรัฐฯ) มาตรา 301พิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2566 2. มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการส่งเสริมการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ

    นายคารม กล่าวว่า พัฒนาการและความคืบหน้าการดำเนินการของไทยที่สหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อนโยบายและผลการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่สำคัญ มีดังนี้

    1. การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถแจ้งไปยังผู้ให้บริการให้นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออก หรือ ระงับการเข้าถึงตามกระบวนการแจ้งเตือนและนำออกและการขยายอายุความคุ้มครองภาพถ่าย” ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนำไปสู่การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา ว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: CT)* (สนธิสัญญา WCT) และเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี (Technological Protection Measures: TPM) เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล

    2.การจัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร (Thai Customs IPR Recordation System: TCIRS) เพื่อให้เจ้าของสิทธิสามารถยื่นคำขอแจ้งข้อมูลเครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์และเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการยืนยันสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์

    3. การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้กลไกการทำงานของคณะอนุกรรมการปราบปร่ามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน (ในขณะนั้น) มีการบูรณาการ ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ และ

    4. การจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตและการร่วมมือกับสมาคมด้านการโฆษณาเพื่อไม่ให้การสนับสนุนเว็บไซต์ที่มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

    ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียน

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานกรณีที่หน่วนงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่อง มาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน

    นายคารม กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อคว่ามปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคพบว่า ในปี 2565 มีอุบัติเหตุทางถนนและความไม่ปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียนมากถึง 30 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 274 ราย เสียชีวิต 2 ราย และมีปัญหาการลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับ-ส่งนักเรียน ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพตัวรถที่ชำรุดทรุดโทรม ขาดการตรวจสภาพรถอย่างต่อเนื่อง และรถรับ-ส่งนักเรียนจำนวนมากไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นรถรับ-ส่งนักเรียนกับกรมการขนส่งทางบกเนื่องจากรถรับ-ส่งนักเรียนจะต้องได้รับการรับรองจากโรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกภาคการศึกษา ซึ่งเป็นเงื่อนไขการจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก

    ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่า มีรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นรถรับ-ส่งนักเรียนทั่วประเทศเพียง 3,342 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566) ทำให้ไม่สามารถจัดทำฐานข้อมูลที่แท้จริงได้ และไม่มีระบบการบริหารจัดการและขาดการติดตามกำกับที่มีประสิทธิภาพ

    นายคารม กล่าวต่อไปว่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดแนวทาง เรื่อง มาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

    กระทรวงมหาดไทย กำหนดให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน เป็นอีกประเด็นหนึ่งของนโยบายระดับชาติ และจัดตั้งคณะทำงานภายใต้กลไกคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนของแต่ละจังหวัดเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนความปลอดภัย และแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาระบบจัดการรถรับ-ส่งนักเรียน ให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน กำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียนในทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ กำกับดูแล และให้คำแนะนำการจัดทำมาตรการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน และความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถรับ-ส่งนักเรียน เฝ้าระวังความเสี่ยง เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุ สนับสนุนการออกมาตรการนโยบายระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของเครือข่าย โดยกำหนดให้มีโครงสร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อบูรณาการการจัดทำแผนความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียนในทุกจังหวัด สนับสนุนการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียน รวมถึงด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้การสนับสนุนในการดำเนินโครงการให้คำปรึกษาเชิงวิชาการ กำหนดให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จังหวัดมีคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับ-ส่งนักเรียนในทุกจังหวัดและมีการกำหนดว่ระการรายงานต่อเนื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ และผู้ประกอบการ

    กระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้โรงเรียนมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลรถรับ-ส่งนักเรียน กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานเรื่องความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียนโดยเฉพาะรถรับ-ส่งนักเรียน และจัดทำทะเบียนข้อมูลรถรับ-ส่งนักเรียนแต่ละคัน เช่น ประวัติผู้ขับรถรับ-ส่งนักเรียนเลขทะเบียนรถ เส้นทางการเดินรถ รายชื่อนักเรียนประจำรถ และชื่อผู้ควบคุมรถเพื่อเป็นระบบฐานข้อมูลรถรับ-ส่งนักเรียนที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างขนส่งจังหวัด โรงเรียน และผู้ประกอบการรถรับ-ส่งนักเรียน การกำหนด รูปแบบรถรับ-ส่งนักเรียนที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ กำหนดตัวชี้วัดและการประเมินโรงเรียนเกี่ยวกับการเดินทางไปกลับโรงเรียนที่ปลอดภัย และจัดทำคู่มือหรือแผนการดำเนินงานด้านการจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนพร้อมทั้งทบทวนและแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดให้โรงเรียน มีหน้าที่ดูแล และกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการระบบรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัย และบรรจุแผนงานจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของโรงเรียนหรือสถานศึกษา การประเมินและติดตามผลเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ด้านนโยบายเพิ่มมาตรการกำกับกรณีโรงเรียนหรือสถานศึกษาละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง

    รวมถึงกำหนดมาตรการให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการควบคุม ตรวจสอบ และกำกับดูแลมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน การออกหนังสือรับรองการเป็นรถรับ-ส่งนักเรียน และการจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียนตลอดภาคการศึกษา และกำหนดให้โรงเรียนสร้างเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียนหรือด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม 3 ภาคีระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชมรมผู้ประกอบการรถรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่ พัฒนาหลักสูตรชุดความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการระบบรถรับ-ส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับบุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษาครู อาจารย์ นักเรียน ผู้ขับรถรับ-ส่งนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครองและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีองค์ความรู้และหลักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการรับผิดชอบดูแลการจัดการความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนด้วยรถรับ-ส่งนักเรียน

    โดยขอรับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นค่าเดินทาง (รถรับ-ส่งนักเรียน) ให้กับนักเรียนยากไร้ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับนักเรียนทุกคนให้มีมาตรฐานและคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเห็นควรให้โรงเรียนในสังกัด ศธ. อปท. กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและกรุงเทพมหานครสามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงเรียนสำหรับเด็กยากไร้ได้จากสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา

    กำหนดให้ความปลอดภัยของนักเรียนในการเดินทางด้วยรถรับ-ส่งนักเรียนเป็นวาระของ ศธ. และของทุกโรงเรียน โดยให้ผู้บริหารโรงเรียนเป็นจุดจัดการเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียนและแต่งตั้งครูงานกิจการนักเรียนทำหน้าที่เป็นครูที่ดูแลรถรับ-ส่งนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่า 1 คน และกำหนดให้รูปแบบเครือข่ายรถรับ-ส่งนักเรียนเป็นภารกิจหนึ่งของงานกิจการนักเรียน

    กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมมือกับ ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในด้านความปลอดภัยเชิงป้องกันในการเดินทางโดยรถรับ-ส่งนักเรียนและสนับสนุนให้เกิดระบบบริหารจัดการรถรับ-ส่งนักเรียนอัจฉริยะต้นแบบ ที่เหมาะสมตามบริบท์ของโรงเรียน ผู้ปกครอง พร้อมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการเชื่อมต่อการบูรณาการของการรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่ที่สำคัญตามโครงการ “รถโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัย (Smart School Bus)” b ทั้งนี้ หากระบบ Smart School Bus มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนจะทำให้เกิดระบบ Big Data Platfom และ Smart School Bus Intelligent Operation Center ในแต่ละพื้นที่ โดยให้กำกับ, ติดตาม ประเมินผลการดำเนินโครงการ Smart School Bus และขับเคลื่อนโครงการให้สัมฤทธิ์ผสเพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการพัฒนาสามารถนำมาใช้เป็นมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียนได้มีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถได้

    อนุมัติงบกลาง-สินเชื่อ ธ.ก.ส. 370 ล้านบาท พยุงราคามันสำปะหลัง

    น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อมันสำปะหลังโดยไม่เร่งระบายผลผลิต รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและสร้างศักยภาพการแปรรูปของเกษตรกร ในการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนี้

    1. รับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดมันสำปะหลัง ปี 2566/67

    2. อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 ของกรมการค้าภายใน จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 310,000,000 บาท ดังนี้

      2.1 โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 วงเงิน 300,000,000 บาท จากงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยจะขอรับจัดสรรงบประมาณตามระเบียบ ขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว สนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอลที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถรับซื้อมันสำปะหลังและ แปรรูปเก็บสต็อกโดยไม่ต้องเร่งระบายผลผลิต โดยผู้ประกอบการเก็บสต็อกในรูปแบบมันเส้นหรือแป้งมัน เป็นระยะเวลา 60 – 120 วัน เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด เป้าหมาย 6 ล้านตันหัวมันสด โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อก และมีระยะเวลารับซื้อ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลาเก็บสต็อก ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2567 ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 – 31 ตุลาคม 2568
      2.2 โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมันฯ) วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,000,000 บาท ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว สนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์สำหรับตากมันเส้น เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท เป้าหมาย เครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็ก 650 เครื่อง ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ (7 พ.ย.2566) – 30 กันยายน 2567

    3. อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 60,650,000 บาท ดังนี้

      3.1 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 โดยใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 (รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.85 สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 วงเงินงบประมาณ 19,250,000 บาท ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้นจากเกษตรกร และ/หรือสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินกิจการโดยมีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมาย วงเงินกู้ 500 ล้านบาท ผลผลิตประมาณ 200,000 ตัน ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 31 กรกฎาคม 2568
      3.2 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 โดยใช้อัตราดอกเบี้ยตามโครงการฯ ในอัตรา MRR (ปัจจุบัน 6.975%) โดยคงอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลรับภาระร้อยละ 3 และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ รับภาระในอัตรา MRR – 3% วงเงินงบประมาณ 41,400,000 บาท ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมาย เกษตรกรจำนวน 3,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 690.00 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม.มีมติ (7 พ.ย.2566) – 31 ตุลาคม 2569

    จัดงบกลาง-สินเชื่อ ธ.ก.ส.ตรึงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 65 ล้านบาท

    น.ส. เกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตกร โดยไม่เร่งระบายผลผลิต รวมถึงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนี้

    1. รับทราบสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67
    2. อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 65,170,000 บาท ดังนี้

      2.1 โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 26,670,000 บาท จากงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยจะขอรับจัดสรรงบประมาณตามระเบียบขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว สนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ/หรือใช้วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์/ธนาคารของรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรโดยไม่ต้องเร่งระบายผลผลิต และเก็บสต็อกในรูปแบบชนิดเมล็ด เป็นระยะเวลา 60-120 วัน เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกมากโดยไม่แทรกแซงกลไกตลาด เป้าหมาย 200,000 ตัน โดยจะชดเชยดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อก และมีระยะเวลารับซื้อ พฤศจิกายน 2566 – มกราคม 2567 ระยะเวลาเก็บสต็อก พฤศจิกายน 2566 – พฤษภาคม 2567 ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ครม. มีมติอนุมัติ (7 พ.ย.66) – มิถุนายน 2568
      2.2 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 วงเงิน 38,500,000 บาท ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ/หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการรวบรวมหรือรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2566/67 กับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อจำหน่ายต่อ แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมาก โดยมีเป้าหมายวงเงินกู้ 1,000 ล้านบาท ผลผลิตประมาณ 100,000 ตัน อัตราดอกเบี้ยและการสนับสนุน ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 4.85 ต่อปี สถาบันเกษตรกรรับภาระในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3.85 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อ 1 ตุลาคม 2566 – 31 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2568

    ตั้ง ‘อินทพร จั่นเอี่ยม’ ขึ้น ผอ.สำนักพุทธฯ

    น.ส.เกณิกา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายอุเมสนัส ปานเดย์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายจำนงค์ ไชยมงคล เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยมีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อ (นักวิชาการคอมพิวเตอร์ทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. นายมงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหารต้น) สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
      2. นางสาววนิดา พันธ์สอาด รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมพลศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงกระทาวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

    5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสนอแต่งตั้ง นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    6. การโอนข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ ให้รับโอน นายกฤษฎา คงคะจันทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา (นักบริหารระดับสูง) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเติม