ThaiPublica > คนในข่าว > “ทนง พิทยะ” มองอีก 4 ปี หมดยุค ‘อำนาจเงิน-ทหาร’ เป็นยุคของประชาชน ชี้จุดยืนไทยในโลกใหม่ “ต้องสร้าง proactive policy”

“ทนง พิทยะ” มองอีก 4 ปี หมดยุค ‘อำนาจเงิน-ทหาร’ เป็นยุคของประชาชน ชี้จุดยืนไทยในโลกใหม่ “ต้องสร้าง proactive policy”

6 พฤศจิกายน 2023


ดร.ทนง พิทยะ มองการเมืองไทยอีก 4 ปี หมดยุค ‘อำนาจเงิน-ทหาร’ เป็นยุคของประชาชน อำนาจเป็นของประชาชน วิพากษณ์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แบบแจกครั้งเดียวหมุนรอบเดียว จ่ายแล้วหมดไม่เกิดประโยชน์ แนะกลยุทธ์แก้จน การเมืองและเศรษฐกิจ ต้อง synchronize ในทุกเรื่อง เร่งรัฐบาลต้องเปลี่ยนผ่านนโยบายเศรษฐกิจรับกระแสโลกใหม่ วิถีใหม่

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้มีบทบาทในยุคการลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยุครัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ดร.ทนง ยังเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย และเป็นอดีตคณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และล่าสุดเป็นประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)และเป็นกรรมการในอีกหลายบริษัท

ด้วยประสบการณ์ทั้งด้านการเมืองและการบริหารภาครัฐและภาคเอกชน “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” จึงชวนดร.ทนง พูดคุยในมุมมองมิติประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ถึงการเปลี่ยนผ่านที่ผ่านมาจนมาถึงการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา และมีรัฐบาลข้ามขั้ว  11 พรรค โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

อาจารย์มองการเมืองไทยหลังรัฐบาลชุดใหม่อย่างไร

“ผมว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่ทุกคนให้ความหวังค่อนข้างจะมากด้วย เป็นครั้งแรกที่ผมประมาณเอาจากคนที่เลือกตั้งประมาณ 38 ล้านคน คนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แล้วไม่ได้รับเงินเลยจะมีประมาณ 20 ล้านคน จากก้าวไกลประมาณ 15 ล้านคน พรรคเพื่อไทยประมาณ 5 ล้านคน คือเกินครึ่ง ที่หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจของประชาชน

แต่ว่าไม่มีใครคิดว่าการออกแบบของทหาร อำนาจของรัฐบาลเผด็จการ เขาออกแบบตั้งแต่โน้นมา เพื่อให้อยู่ต่อเนื่องได้ถึง 2 สมัย นั่นคือเหตุผลทำไมวุฒิสมาชิกมีอายุ 5 ปี  ในการมีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

“การออกแบบ แบบนี้ ประชาชนไม่คาดคิดว่าเสียงส่วนมากเลือกด้วยประชาชน แล้วก็ควรจะได้นายกฯที่ประชาชนเป็นคนเลือกโดยตรง โดยไม่ได้ใช้เงิน ส่วนที่เหลือคือการใช้เงินและการใช้อำนาจ อิทธิพลต่างๆ หรืออำนาจทางทหารก็แล้วแต่ บวกกับบ้านใหญ่ทั้งหลาย  เพราะฉะนั้นเมื่อมีการฟอร์มรัฐบาลแบบนี้ ก็สร้างความผิดหวังแก่ประชาชน”

“สำหรับผม ผมกลับไม่แปลกใจ เพราะว่ารัฐธรรมนูญออกแบบมาแบบนั้น แล้วทำไมถึงออกแบบมาอย่างนั้น  มันเป็นการออกแบบที่จะให้เวลากับการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตย  ถ้าดูดีๆมันเหมือนกลับไปตอน 24 มิถุนายน 2475  รัฐบาลประชาธิปไตยตอนนั้นเกิดขึ้นมา ก็มีการต่อสู้ระหว่างอำนาจของรัฐ ในหลายๆฝ่าย ฝ่ายวังกับฝ่ายทหาร ตรงนั้นคือจุดที่เกิดขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลง ต่อสู้กันมาโดยตลอด  ได้เห็นว่า แม้แต่ฝ่ายนักวิชาการที่มาอยู่กับฝ่ายทหาร แม้แต่ท่านปรีดี พนมยงค์ ท่านเองเคยถูกขับออกไป แต่ท่านก็กลับมาต่อสู้และก็แพ้อย่างนี้เป็นต้น”

การเปลี่ยนแปลงทางการปกครองประชาธิปไตย มันเป็นแบบไทย ๆ อย่างแท้จริง นับตั้งแต่นั้นมาอีก 80 กว่าปี ก็มีการปฏิวัติซ้อนกับการเลือกตั้งถึง 13 ครั้ง ผมก็เลยมองว่าอันนี้คือวิธีการเปลี่ยนแปลง  คือถนนสู่ประชาธิปไตยของไทย  คนญี่ปุ่นเคยถามผมว่าทำไมประเทศไทย ถึงต้องมีปฏิวัติระหว่างการสร้างประชาธิปไตยถึง 13 ครั้ง

อาจารย์มองการสร้างประชาธิปไตย แบบไทย ๆ ต้องใช้เวลา?

การเปลี่ยนแปลงจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ต้องเข้าใจว่าประชาชนตอนนั้นคือชาวนา เป็นไพร่ เป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจอะไรเลย เพราะฉะนั้นผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยในตอนนั้นก็คือนักวิชาการ กับทหารกลุ่มหนึ่ง  ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของมันถึงจะเขียนรัฐธรรมนูญแบบไหนก็ตาม การต่อสู้ระหว่างสองอำนาจคืออำนาจในวังและอำนาจนอกวัง มันก็ต่อสู้กันมา กลายเป็นอำนาจทหารกับอำนาจของนักวิชาการ

มาจนกระทั่งคุณทักษิณ รัฐบาลไทยรักไทย เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็น อำนาจเงิน ผมเรียกว่าอำนาจเงิน บวกกับการสร้างความเชื่อถือจากประชาชน เป็นการใช้อำนาจเงินเพื่อต่อสู้กับอำนาจทหาร  และอำนาจเงินชนะ ทั้งสองฝ่ายพยายามเรียกเสียงประชาชนในการเลือกตั้งแต่ผมมองว่าอำนาจเงินชนะ

แล้วคุณทักษิณ ก็รวบรวมพรรคต่างๆ เข้าร่วมกันอยู่ในพรรคไทยรักไทย และสามารถบริหารได้ ด้วยความเก่งกาจของการตลาดของคุณทักษิณ ก็สามารถจะทำให้ประชาชนยอมรับในนโยบายต่างๆ ซึ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เขาลืมตาอ้าปากได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค โอทอป สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่ลืมเขา นี่คือสิ่งที่คุณทักษิณ ชนะอย่างเด็ดขาด ด้วยอำนาจเงิน ในการสร้างให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้ง

พอสมัยที่สองก็ชนะเด็ดขาดเป็น majority  ตรงนั้นก็คือจุดซึ่งประชาชนเริ่มมอง ทุกคนเริ่มมองคุณทักษิณ  คือ ฮีโร่ของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่มันก็ยังแฝงด้วยอำนาจเงิน 

ในที่สุดแล้วอำนาจเงินมันก็สร้างระบบคอร์รัปชันที่ฝังลึก หนีไม่พ้นมันมีตลอดแต่มันยังฝังอยู่ แม้จะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่คนข้างล่างเริ่มสนับสนุนแล้ว แต่คอร์รัปชันก็ยังมี ในที่สุดเป็นจุดอ่อนให้อำนาจทหาร สามารถใช้เสียงเรียกร้องจากประชาชน ปฏิวัติได้อีก แล้วเราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งแล้วก็มาปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง

ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ผมมองว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจทหารกับอำนาจเงิน แต่ครั้งสุดท้ายอำนาจประชาชนเป็นใหญ่ เพียงแต่ว่าอำนาจรัฐธรรมนูญยังไม่เอื้อให้ประชาชนมีสิทธิเลือกรัฐบาลของตัวเองอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงนั้นก็คือ  majority ของระบบ ประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาชนะ ตามรัฐธรรมนูญได้

ก็เป็นที่น่าสนใจที่กระบวนการคราวนี้มันแสดงให้เห็นว่า แม้แต่อำนาจเงินและอำนาจทหารก็ไม่เพียงพอแล้ว  สำหรับการเดินทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในอนาคต

“ทุกคนรู้ ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยเองก็รู้ว่าต่อไปนี้คงไม่ใช่พรรคที่เป็น  majority อีกแล้ว โอกาสยากมากที่จะเอาชนะอำนาจของประชาชนได้  ทหารเองก็รู้ แต่เพื่อความอยู่รอดครั้งนี้  เขาถึงต้องรวมตัวกัน  ผมว่าอันนี้คือข้อสรุปเลยว่า เขาต้องรวมตัวกันเพื่อความอยู่รอดตามอำนาจที่กำหนดด้วยรัฐธรรมนูญ”

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

การเมืองไทยเปลี่ยนในอีก 4 ปีข้างหน้าเดินสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น?

ขณะนี้ผมคิดว่าต่างคน ต่างมีความคิดว่า ทำอย่างไรเขาจะสามารถยึดครองอำนาจได้อีกสมัย ระหว่างนี้การบ้านของเขา หรือฝ่ายที่มีอำนาจในปัจจุบัน คือว่าถ้ายึดการปกครองได้อีกสมัย จะเอาประชาชนเข้ามาอยู่ฝ่ายเขาอีกได้อย่างไร ซึ่งไม่ง่าย ดังนั้นเขาต้องทำให้พรรคก้าวไกล ไม่เป็น  majority ในการเลือกตั้งคราวหน้า

ถ้าจะทำได้ต้องสร้างพรรคใหม่ เพื่อทานอำนาจพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งคราวหน้า  คือถ้าถามผมว่าพรรคก้าวไกลเก่งแค่ไหน ผมว่าเขาเก่งในแง่ของการสร้างฐานข้อมูลจากระบบ ซอฟต์แวร์ที่เขาพัฒนาขึ้นมา วิธีการทำแคมเปญของเขา ซึ่งไม่เหมือนแต่ก่อนเลย

ผิดแปลกไปจากนักพูดสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง  วิธีการพูด วิธีการอภิปราย คล้ายๆที่อังกฤษ อยู่ในสวน ไฮปาร์คบนถัง ประชาชนมาฟัง

ต่างจากสมัยก่อนที่ใช้อำนาจเงิน การหาเสียง ต้องจัดเวที ค่าใช้จ่ายมหาศาล ต้องมีรถบัสเอาประชาชนเข้ามา…มันเริ่มล้าสมัย  เพราะฉะนั้นวิธีการหาเสียงแบบใหม่ของพรรคก้าวไกล เป็นวิธีการใกล้เคียงกับที่อังกฤษใช้ ที่ในยุโรปใช้ คือไม่ได้ใช้เงินในการหาเสียง จะพยายามชักจูงยังไงให้ประชาชนเชื่อว่าเขาต้องทำหน้าที่ให้ประชาชน

ดังนั้นใครจะเข้ามาสร้างสมดุลกับพรรคก้าวไกลในอนาคต ต้องเริ่มต้นพรรคใหม่  ต้องเป็นกลุ่มใหม่ ผมเชื่อว่ามี เพราะว่าถ้าดูว่า นโยบาย พรรคก้าวไกลเหนือกว่าพรรคอื่น หรือไม่แค่ไหน ผมคิดว่ามันก็ไม่จำเป็นจะต้องเด่นกว่า เพราะที่ผ่านมาประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลเพราะว่า 9 ปี เขาอยู่กับอำนาจทหาร เขาต้องการเปลี่ยน

ก่อนหน้านั้นก็อยู่กับอำนาจเงิน  เขาต้องการสิ่งใหม่ๆ เขาต้องการคนที่เขาเลือกโดยไม่ต้องรับเงินจากใคร  ไม่มีอิทธิพลจากใครมาบังคับเขา คนไม่รู้จักพรรคก้าวไกลยังเลือกเลย

ประชาชนเริ่มดูนโยบายพรรค ดูวิธีการหาเสียงของ แต่เป็นพรรคที่ทำให้ประชาชนเชื่อว่า เข้ามาช่วยเขาอย่างแท้จริง ตรงนี้คือเทคนิคการหาเสียงที่ใช้ในยุโรป อเมริกา พรรคเพื่อไทยใช้เทคนิคแบบโบราณเลยเริ่มสู้ไม่ได้  ผมเชื่อว่าคุณทักษิณเองก็รู้ และพูดตลอดว่าพรรคเพื่อไทยวิธีการหาเสียงมันไม่ทันเขาแล้ว

มีความหวังอีก 4 ปีข้างหน้า ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน?

ถามว่าอีก 4 ปีเราคงจะเข้าสู่ถนนประชาธิปไตย ได้อย่างแท้จริง แต่ไม่จำเป็นว่าพรรคก้าวไกลจะชนะ คนละเรื่องกัน อยู่ที่ประชาธิปไตย ประชาชนจะเชื่อความสามารถ ของใคร พรรคแบบไหน ที่ตั้งขึ้นมาแล้วจะบาลานส์ พรรคก้าวไกลได้

การทำงานพรรคการเมืองแบบเดิมเริ่มไม่เวิร์ค ทั้งพรรคการเมืองแบบพลังประชารัฐ  พรรคเพื่อไทย  พรรคภูมิใจไทย คงจะหาย และกลายเป็นพรรคเล็ก แต่ในอนาคตก็ต้องมีพรรคใหม่ขึ้นมาอีกแต่อาจจะเป็นพรรคซึ่งมีนักวิชาการ  นักบริหาร ที่เก่งๆ มาเป็นทางเลือกมากขึ้นหรือไม่ เพราะเราเห็นว่า พรรคก้าวไกลมีแต่เด็กๆ อาจจะมีคนที่เห็นว่า เขาเองมีองค์ความรู้มากกว่าออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่

เพราะเริ่มเห็นว่าการเมืองไม่ได้มีแค่อำนาจเงินกับ อำนาจทหารแล้ว  เนื่องจากถ้าหากการเมืองไทยมีแค่อำนาจเงิน กับอำนาจทหารไม่มีใครอยากเข้ามาเล่นการเมือง  แต่ถ้าการเมืองเป็นการเลือกตั้งที่มาจากประชาชน และต้องการเห็นการเมืองแบบใหม่ๆ  ผมคิดว่าคราวหน้า น่าจะเป็นเวทีของการเลือกตั้งที่น่าสนใจมากๆอีก 4 ปีข้างหน้า

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

อาจารย์มองการเมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไร

คือสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้  ถามว่าการเมืองทำไมมันเป็นแบบเก่า ดูตัวรัฐมนตรีเกิดมาตั้งแต่พรรคเพื่อไทยมา มาจนตอนนี้มันคือชุดเดิมเลย คนที่ใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาเกือบจะไม่มีความหมาย คนที่สำคัญคือชุดเดิมเลยทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลในคราวที่แล้ว กลายเป็นรัฐมนตรีที่หลอมรวมมาเป็นชุดเดียวกันมาตลอด

นั่นคือสิ่งที่เราเริ่มวิจารณ์ได้ว่าการเมืองไม่ได้กาวหน้าเลย พรรคก้าวไกลเลยกลายเป็นเป็นสิ่งที่ประชาชนเลือกเพราะมันมีความก้าวหน้า ในแนวความคิด ในแนววิถีที่จะสร้างระบบการเมืองใหม่ให้กับประชาชน  ตรงนั้นต่างหากที่ผมมองว่ามันมีความหวัง และต้องมีพรรคใหม่ขึ้นมาแน่นอน  ผมมองว่าต้องมีพรรคใหม่คล้ายๆก้าวไกล เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ทำยากแล้ว ถ้าเป็นการเมืองเพื่อประชาชน  มันเริ่มจะมีผู้นำที่อยากจะทำงานให้ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ผมยังคิดว่าแม้แต่คุณทักษิณเอง ไม่ได้อยู่ในวงการเมืองอีกต่อไปแล้ว อาจจะเข้าใจว่าทำอย่างไรจะทำให้เกิดการตั้งพรรคมาสู้กับก้าวไกลได้  หากเชื่อในระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ผมเชื่อว่าคุณทักษิณมีสมองที่ช่วยได้  และเชื่อว่าเรามีนักธุรกิจเก่งๆนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เข้าใจ ดิจิทัลเทคโนโลยี แล้วเขาก็เข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีการเมืองแบบใหม่ ที่ประชาชนไม่ต้องมีการซื้อเสียงอีกต่อไป

ตรงนั้นจึงเป็นจุดที่เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ดี  ผมยังมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้าสู่ถนนประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้แล้ว แล้วก็ใช้เวลา 90 กว่าปี ถามว่ายาวไหม มันก็ไม่ได้ยาวหรอก ผมก็ 76 แล้ว ฉะนั้นยังมีโอกาสได้เห็นประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็น majority แน่นอน ตรงนั้นก็คือจุดที่ผมเชื่อว่าเป็นไปได้

อาจารย์เชื่อว่าไม่มีกการสกัดอำนาจประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า เช่น แก้รธน.

เป็นไปได้ แต่ว่าผมว่าจะไม่ได้ง่ายที่จะทำ เพราะว่าผมเชื่อประชาชนเริ่มเข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตยที่เราต้องการจริงๆ คืออะไร คือระบอบซึ่งประชาชนมีสิทธิเลือก…

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบยังไงก็ตาม ถ้าประชาชนมีอำนาจและมีสิทธิที่จะเลือก มันก็ไม่มีปัญหาหรอก

แม้แต่การแก้เป็นบัตรใบเดียวหรือบัตรสองใบ  ถ้าบัตรใบเดียวเสียอีกที่ก้าวไกลจะชนะ แต่การเลือกตั้ง2566 ที่ผ่านมา การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกวุฒิสภากับสภาล่าง เพราะว่าเป็นเรื่องของการคานอำนาจกัน  แต่ผมเชื่อว่าอีกสี่ปี สส.สภาล่าง มันจะเป็นคนรุ่นหนุ่มๆ สาวๆ มากขึ้น จะมีองค์ความรู้ มีเรื่องของวิธีการที่จะติดต่อสื่อสารกับโลก เข้าใจภาษาต่างประเทศ เข้าใจระบบอินเทอร์เน็ต เข้าใจระบบดิจิทัล จะมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงกฎหมายและก็เปลี่ยนแปลงระบอบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ได้

นักการเมืองรุ่นเก่าจะถอยใช่ไหมในอนาคตอีกสี่ปี

มันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แม้แต่ สส.รุ่นใหม่ก็ต้องเริ่มรู้ สมัยผมเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก ผมจำได้ ทั้ง ครม. 30 กว่าคน คนที่ทำอินเทอร์เน็ตเป็นมีอยู่แค่ 2-3 คน นอกนั้นไม่รู้เรื่องเลย อีเมลก็ไม่มี ตอนนี้ผมเชื่อว่า สส.เริ่มเล่นไลน์เป็น ใช้อีเมลเป็น เริ่มใช้ระบบออนไลน์เป็นบ้าง แต่ว่าถามว่ามีความรู้เรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีแค่ไหน อาจจะยังน้อยมาก แต่ สส.รุ่นใหม่ เขาเก่ง เขาเริ่มเรียนรู้ เขาเกิดมากับเทคโนโลยีใหม่ๆ

ดังนั้นผมก็มองภาพว่า การเปลี่ยนแปลงตัวนี้จะทำให้การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมได้ดีขึ้น มันหนีไม่พ้น ตอนนี้การเมืองมันด้อยพัฒนาอยู่ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ธุรกิจมันไปเร็วมากๆ

จากการที่ผมสอนหนังสือตั้งแต่ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ความรู้แรกๆ ที่สอน นักศึกษาทำอะไรไม่เป็นเลย คือจบก็มาเรียนต่อไปเรื่อยๆ ทำงานก็กิ๊กก๊อกไปเรื่อยๆ ตอนนี้นักศึกษาเกือบครึ่งทำมาหากินเอง นักศึกษาบริหารธุรกิจปริญญาโท มีอาชีพตัวเอง และอยู่ในบริษัทฝรั่ง ส่วนใหญ่อยู่ในบริษัทต่างประเทศ ก็จะได้เรียนรู้มหาศาลอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาทำขึ้นมา เขามีองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีดีกว่าผมเสียอีก ตรงนั้นก็คือสิ่งที่ผมมองว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ที่อายุสามสิบบวกลบที่กำลังใช้สิ่งใหม่ๆ

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

ส่วนธุรกิจประเทศไทยเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก ยิ่งช่วงโควิดเราปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลเทคโนโลยี โดยประชาชนเองก็เริ่มเรียนรู้ เริ่มมีการสั่งของออนไลน์ เริ่มมี Shoppee, Kerry ความสะดวกของเราเริ่มเกิดขึ้น ตลาดมันเปลี่ยนแล้ว SME ประเทศไทยก็เริ่มใช้ออนไลน์เป็นการค้าขาย เพราะฉะนั้นถามสิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดอะไรขึ้น ธุรกิจมันก้าวหน้าเร็วมาก การเมืองพัฒนาไม่ทัน

สังคมก็พัฒนาไปบางส่วน แต่ส่วนที่อยู่ในชนบทก็ยังพัฒนาขึ้นมาไม่ทัน วิธีการตรงนี้ เราเริ่มเข้าสู่ความคิดว่าแนวความคิดทางเศรษฐกิจแบบเดิมเหมือนแบบที่ไทยรักไทยทำอยู่ ตอนนี้ใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน ?  ผมคิดว่ามันเริ่มตันแล้วนะ มันเริ่มมีความรู้สึกว่ามันก็แค่นั้นแหละ มันมีข้อจำกัดเยอะ เพราะตอนที่ทำอย่างกองทุนหมู่บ้าน เพราะต้องการให้แต่ละหมู่บ้านมีเงินทุนหมู่บ้านละล้านบาท ความประสงค์ก็คือทำอย่างไรเขาจะเรียนรู้การบริหารเงิน

“เราถึงบอกไม่ให้เป็นเงินให้เปล่า แต่ให้เป็นกองทุนที่คุณต้องใช้กันเอง บริหารกันเอง ร่วมกันตั้งกรรมการขึ้นมาดูแลการใช้เงินของประชาชนทุกคนในหมู่บ้านที่มีความต้องการใช้ แล้วคิดดอกเบี้ยซึ่งไม่แพง ดอกเบี้ยร้อยละ 1”

แต่ปรัชญาที่เราคิดก็คือว่า กองทุนหมู่บ้านสมัยนั้น เราเริ่มมีระบบอินเทอร์เน็ตขึ้นมาแล้ว เราเริ่มคิดว่า ทำอย่างไรให้กองทุนหมู่บ้านเป็นตัวอย่างหนึ่งให้คนรู้จักหมุนเงิน แล้วตั้งคล้ายๆ กับธนาคารในหมู่บ้านตัวเองและชุมชน ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไปลิงค์กับธนาคารชุมชนหมู่บ้านอื่นในตำบลจนเข้าสู่อำเภอ เข้าสู่จังหวัด มันก็เป็นโหนดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราสามารถกำกับดูแลระบบการเงินของทั้งประเทศผ่านทุกหมู่บ้าน นี่คือจุดแรก

เราเข้าใจว่าแต่ละหมู่บ้าน มีทั้งหมู่บ้านมีปัญหา และไม่มีปัญหา มันไม่มีใครที่สำเร็จได้ทุกหมู่บ้าน บางหมู่บ้านเจอภัยแล้ง บางหมู่บ้านเจอน้ำท่วมก็ต้องเสียหายอยู่ปีสองปี แต่โดยรวมแล้ว เราจะมีผลประโยชน์เพียงพอจากดอกเบี้ยของหมู่บ้านที่สำเร็จ เพื่อดูแลหมู่บ้านที่เสียหาย เพราะฉะนั้นเงินมันไม่หาย

“เดี๋ยวนี้เงินกองทุนหมู่บ้านก็ยังไม่หายนะครับ มันก็เลยกลายเป็นหลอดเลือดเล็กๆ ที่ช่วยอยู่ แต่มันไม่ได้เพียงพอ มันเป็นเพียงแค่ทดลองว่าเงิน 7 หมื่นล้านที่ให้ไป ทำอย่างไร เขาจะดูแลเป็น และเขาจะใช้ประโยชน์จากมันได้ แต่ว่ามันไม่พอหรอก”

กองทุนหมู่บ้านแค่จุดเริ่มต้นให้มีปุ๋ย ให้มีเครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ แต่หลังจากนี้ ผมให้ความหวังกับอะไร ผมให้ความหวังกับดิจิทัลวอลเล็ต ถ้าใช้มันเป็น ดิจิทัลวอลเล็ต ห้าแสนกว่าล้าน เราใช้กองทุนหมู่บ้านอยู่กว่าเจ็ดหมื่นล้าน แล้วเงินมันก็ไม่ไปไหน ถ้าดิจิทัลวอลเล็ตห้าแสนล้าน แล้วแจกแล้วหมดมันก็ไม่มีประโยชน์

ผมถึงไม่เชื่อในการแจกเงิน ผมเชื่อว่าเอาเงินเข้าสู่ระบบ ให้คนจนบริหารเอง แล้วดูแลกันเอง แล้วสร้างผลผลิต นึกภาพกองทุนหมู่บ้าน ถ้ามีเงิน แทนที่จะแค่หมู่บ้านละล้าน เจ็ดหมื่นหมู่บ้าน ตอนนี้ก็มีเพิ่มอีกห้าแสนล้าน ได้อีกมหาศาล แต่ละหมู่บ้านได้อีกหลายล้าน เฉลี่ยแล้วประมาณหกล้านบาทต่อหมู่บ้าน เพิ่มขึ้น

หากได้อีกหกล้านบาทคิดว่าแต่ละหมู่บ้าน จะทำอะไรได้บ้าง นึกภาพดีๆ ผลผลิตก็จะเพิ่มได้แค่ไหน จุดที่สองก็คือไม่ควรจะเพิ่มแต่ละหมู่บ้านหกล้านบาทโดยเฉลี่ยไป หมู่บ้านไหนที่สร้างผลผลิตได้เยอะ ก็อัดฉีดเงินได้เยอะ ก็อาจจะต้องการเครื่องมือต้องการอะไรก็แล้วแต่ ต้องคำนึงถึงถึงสิ่งเหล่านี้

ถ้าไปแค่ซื้อของ มันก็ไม่ช่วย แต่เรามีสิทธิ์ดีไซน์ว่าครึ่งหนึ่งเพื่อใช้ซื้อ ครึ่งหนึ่งเพื่อใช้การผลิต เอาเงินไปเพิ่มในกองทุนหมู่บ้านสองแสนห้าหมื่นล้าน ให้อยู่ในวอลเล็ต แต่ไม่ได้ให้ฟรี อีกครึ่งหนึ่ง ให้ประชาชนไปจับจ่ายใช้สอย แต่ก็ไม่ได้ให้ฟรี อาจจะเป็นดอกเบี้ยหนึ่งเปอร์เซนต์หรือศูนย์เปอร์เซนต์ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ให้ฟรี เพื่อให้เขาสร้างรายได้ เพิ่มขึ้นมาด้วย ไม่อย่างนั้นผลผลิตไม่เพิ่ม นั่นคือการแก้ไขความยากจนพื้นฐานเลย

ดิจิทัลวอลเล็ตช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

วิธีการใช้วอลเล็ต ผมฟังจากเพื่อไทยยังไม่เห็นนโยบายชัดเจน ดิจิทัลวอลเล็ตที่จะให้ใช้คนละหมื่นเพื่อให้เข้าไปใช้ในระบบที่จะไปซื้อผลผลิตในหมู่บ้าน แต่มันก็จะหมดไป multiplier effect ผลทวีคูณมันก็จะได้ประมาณสักเท่าสองเท่า ผมไม่รู้นะ มันอยู่ที่เรารักษาให้อยู่ในระบบวอลเล็ตได้กี่ปีกี่เดือน ไม่งั้นมันก็ใช้หมดแล้วก็หายไป

“ผมถึงมองว่าทำไมถึงไปให้หมด ให้ฟรี ถ้าจะใช้ระบบบล็อกเชนขึ้นมาแล้วเอาเงินใส่เข้าไปในระบบบล็อกเชน ก็คือแต่ละหมู่บ้านก็ส่วนหนึ่งของบล็อกเชนแล้วซื้อขายกันให้ได้ในนั้นโดยที่บล็อกเชนสร้างธนาคารขึ้นมาให้เขากู้ยืมได้โดยไม่มีดอกเบี้ยก็ได้ แต่ต้องเอามาคืนนะ เงินไม่ไปไหนนะ และสร้างผลผลิตต่อเนื่องไปเรื่อยๆ”

ส่วนหนึ่งไปขายข้างนอกและซื้อขายกันเองเพื่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจของตัวเอง แต่มันมีเหลือที่จะไปขายของนอก เหลือที่ไปขายข้างนอกก็เป็นรายได้เพิ่มเติม ตรงนั้นต่างหาก ทำอย่างไรบล็อกเชนมันอยู่ได้นานที่สุด ระบบที่หล่อเลี้ยงธนาคารระหว่างหมู่บ้านด้วยกัน ในแต่ละคนที่ใช้ในบล็อกเชน มันเป็นธนาคารไม่ได้อยู่แค่แจกเงิน

ก็เหมือนกองทุนหมู่บ้าน คือให้เขาดูแลกันเองให้ได้ วิธีการที่บล็อกเชนก็คือ พยายามให้เขาเอาเงินเข้ามาซื้อคนอื่นซึ่งอยู่ในระบบหมู่บ้านอื่นแล้วเอาหมู่บ้านอื่นมาซื้อเขามันก็เคลียร์กันไปเคลียร์กันมา เงินมันช่วยในฐานะเป็นแค่สื่อกลางก็การแลกเปลี่ยน

แต่ถ้าเราบอกว่าให้ไปเลย ทีเดียวมันหายไปเลย การเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนก็หายไปอีก มันไปใช้อย่างอื่นแทน ที่นี้คนจนปัญหาเยอะ หนี้เยอะ ตอนนี้หนี้ครัวเรือน 16 ล้านๆบาท 90 เปอร์เซนต์ของจีดีพี แล้วคุณจะเอาเงินห้าแสนล้านไปแจกมันช่วยได้ไหม

คราวนี้หนี้ครัวเรือนเหล่านี้มันเพิ่มขึ้น ก่อนโควิดมันอยู่ที่ประมาณ 13-14 ล้านล้านบาท อยู่ดีๆ มันเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท หนี้มันมหาศาลแล้วเขาจะปลดหนี้ได้เมื่อไหร่ คำถามอยู่ตรงนั้น เราจะพักหนี้ พักหนี้ตรงไหนแน่ พักหนี้เกษตรกรผมเข้าใจ ธกส.ทำได้เพราะมีทะเบียนเกษตรกร แต่หนี้สิบหกล้านล้าน เป็นหนี้เกษตรเท่าไหร่ ไม่ได้เยอะ ส่วนมากเป็นหนี้ที่น่ากลัวก็คือหนี้ที่ไปผ่อนส่ง ผ่อนส่งบ้าน บัตรเครดิต ผ่อนส่งต่างๆ หนี้ตอนโควิดมันเกิดขึ้นเนื่องจากคนตกงานเป็นเวลาสองปี  นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น สองปี กว่าๆ หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านล้าน ทั้งๆ ที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปเกือบหนึ่งล้านล้านเพื่อไปแจก หนี้รัฐบาลก็เพิ่มขึ้น หนี้ประชาชนก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ดีๆ ไม่ให้เขาทำงานเพราะว่าโควิด ผิดหรือถูก ผมไม่รู้ แต่ว่ามันไปโทษประชาชนไม่ได้เลยหนี้ส่วนนี้แล้วรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนไปให้

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

อาจารย์คิดว่าจะแก้ปัญหาความยากจนอย่างไร

วิธีการแก้ปัญหาความยากจนแบบพื้นฐานเลย มันคือการปรับโครงสร้างของประชากรที่จำเป็นต้องทำ คำถามง่ายๆ ที่เราถามอยู่ก็คือว่า ประชากรในภาคการเกษตรของประเทศไทยมี ประมาณ 40 % ของแรงงานที่มีอยู่ แล้วเราเปรียบเทียบกับประเทศอื่น  อย่างอเมริกาหรือญี่ปุ่น มีประชากรภาคการเกษตรอยู่ที่ประมาณ 5 %

ดังนั้นญี่ปุ่นใช้ประชากร 5 % เลี้ยงดูประชากร 130 ล้านคน หรือเขาให้คนประมาณ 6 ล้านคน เลี้ยงดูประชากรเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยใช้คน 20 ล้านคน เลี้ยงดูคนอีก 50 ล้านคน เกือบจะเป็นคนหนึ่งดูแลคนได้แค่2 คนซึ่งดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้

คำถาม คือถ้าประเทศญี่ปุ่นจะสามารถทำได้ ใช้แค่ 5 %   แล้วเรามีโอกาสลดประชากรภาคการเกษตรลงมาได้หรือไม่ สมมติเราลดลงมาครึ่งหนึ่งเหลือ 20 % อีก 20 % ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ คำถาม ผลผลิตจะลดลงไหม ไม่ลดลงหรอก เครื่องมือมันช่วยได้เยอะ

คิดง่ายๆ ถ้าภาคการเกษตรตอนนี้ รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 6 หมื่นบาท ถ้าเราลดประชากรภาคการเกษตรลดลงครึ่งหนึ่ง รายได้ต่อหัวเพิ่มเป็นแสนสองหมื่น อีก 20% ที่เหลือ ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ เขาก็ได้อีกประมาณแสนกว่าบาทหรือประมาณ 2 แสนบาท ด้วยซ้ำ แสนกว่าบาทต่อหัวต่อปี รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นสี่เท่าตัว

สิ่งเหล่านี้จะต้องมีแผนระยะยาวที่จะปรับโครงสร้างการเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและการบริการ แล้วไม่ให้ผลผลิตลดลงด้วย ไม่ใช่เพิ่มขึ้นยังได้เลย เพราะ 20 % ยังมากกว่าญี่ปุ่นและอเมริกาสี่เท่าตัว แต่ผลผลิตยังน้อยกว่าเขาสี่เท่าตัวเลย

กำลังจะบอกว่าทำได้ไหม ง่ายมาก แต่มันต้องมีแผนพัฒนาที่ชัดเจนว่า เราจะใช้เวลาอีกกี่ปีที่จะลดประชากรภาคเกษตรลงหนึ่งเท่าตัวจาก 40 % เหลือ 20 % ถ้าเราวางแผนปรับโครงสร้างประชากรภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการได้ปีละ 2 % เศรษฐกิจจะอีกโตมหาศาล

ส่วนภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากว่า 60 ปี แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมเรามันมาจากการลงทุนจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ สินค้าออกที่จะส่งไปมหาศาล 60 % ของผลผลิตไทย

ฉะนั้นถ้าส่งออกประมาณ 11 ล้านล้านต่อปี แต่ในจำนวนนั้นเป็นของต่างชาติประมาณ 80 % ของคนไทยส่งออกอยู่แค่ประมาณแค่ 20 % ตรงนั้นก็คือหัวใจว่าอุตสาหกรรมเราจะโตได้ มันต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมหาศาล

หัวใจที่อุตสาหกรรมจะโตก็เป็นเรื่องที่ทำยากหน่อย ชักจูงต่างประเทศมา แต่ภาคบริการมันโตได้ ภาคบริการไม่ใช่เฉพาะแค่นักท่องเที่ยว 40 ล้านคน แต่การบริการคนที่มีฐานะดีขึ้น คนไทยกันเอง มันคือหัวใจ การบริการต่างๆ ที่จุดบริการทุกอย่าง จากร้านอาหารมาสถานพยาบาลมาโรงแรม มาที่พัก ที่เที่ยว ทุกอย่างมันเป็นรายได้ที่ดีทั้งนั้น ถามว่าดีกว่าทำนาไหม ดีกว่าเยอะมากเลย

นี่คือสิ่งที่เราต้องเริ่มคิด ประเทศเรายังไปได้อีกมหาศาลภาคบริการ ไปได้อีกถึง 80 % นั่นคือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่า การวางแผนเพื่อเพิ่มผลผลิต ถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเมื่อไหร่ มันไม่เกิด มันเป็นเรื่องนโยบาย ต้องสร้างมันให้ได้

ส่วนในเรื่องนโยบายต้องดูแลทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความยากจน ดูแลทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งต้องมาคิดใหม่ว่าต้องทำอย่างไร หากเป็น ระบบเศรษฐศาสตร์มันก็บอกชัดเจนว่าผลผลิตจะเพิ่มได้ มันต้องมาจาก 1.ทรัพยากรธรรมชาติ 2.ทรัพยากรมนุษย์ 3.ทรัพยากรทุน 4.เทคโนโลยี

ขณะที่เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เรามีกระทรวงที่จะพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน เรามีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ไม่ใช่ สำหรับโลกใหม่ เพราะตอนนี้โลกเปลี่ยนแล้ว ทรัพยากรธรรมชาติมันกลายเป็นเรื่องใหม่ ที่ดูแลทั้งสิ่งแวดล้อม ทั้งการพัฒนา ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ประโยชน์ กระทรวงเกษตรอย่างเดียว ทำไม่ได้

อาจารย์คิดว่าต้องเป็นกระทรวงเกษตรแบบไหน?

ควรเป็นกระทรวงพัฒนาเกษตรกรธรรมชาติ แต่ชื่ออะไรก็แล้วแต่ มันต้องมีภารกิจซึ่งดูแลการใช้พื้นที่และพื้นดินและสิ่งที่อยู่บนดินโดยรวมทั้งหมด โซนนิ่งทุกอย่าง ทำทุกอย่างให้ได้ไม่ใช่แค่จะปลูกข้าวก็ปลูกข้าว

แต่โซนนิ่งของภาคเกษตรภาคอุตสาหกรรมทุกอย่าง เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มันต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย ตอนนี้เราแบ่งกันทำ พอแบ่งกันทำปุ๊บ บางทีก็แยก เปลี่ยนสีไปเปลี่ยนสีมา นึกอยากจะเปลี่ยนสี ก็แล้วแต่ครม.ผมว่ามันไม่ใช่แบบเดิมๆ

มันต้องเปลี่ยนใหม่เป็นการวางแผนสมัยใหม่เทคโนโลยีมันทำให้เราทำแพลตฟอร์มการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติได้แล้ว ต้องมองไปที่ทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการต้องฝึกอบรม แต่ปัญหาคือว่าเราก็ไม่เคยมีระบบการศึกษาและการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงเลย Skill ของคนที่ต้องการเพื่อการพัฒนา ทั้งเกษตร ทั้งอุตสาหกรรม ภาคบริการ เพราะโลกใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆดิจิทัลเทคโนโลยีมันไม่ใช่แค่ไอคิวกับอีคิว  แต่ใช้คำว่าเอคิวซึ่งมันมีอยู่แล้ว เขาเรียกว่า Adversity Quotient คือทำอย่างไรคุณจะมีความถนัดและเปลี่ยนแปลงความสามารถ สำหรับปัญหาทุกด้านที่คุณเจอ

นี่คือคนที่อยู่ในโลกใหม่ เปลี่ยนงานได้ตลอดเวลา เรียนรู้ได้ตลอดเวลา ความสามารถของมันคือการสร้างปัญญาแล้วปัญญามาจากไหน ปัญญามาจากการใช้องค์ความรู้เป็น องค์ความรู้ที่แต่ก่อนก็คือห้องสมุด แต่ตอนนี้ห้องสมุดไม่มีใครไปแล้วมันอยู่ใน Google

ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

อยากให้อาจารย์พูดถึง 4 ข้อที่ทำให้สามารถก้าวข้ามความยากจน และทำให้ เศรษฐกิจโตขึ้นได้

ใช่ ผมมั่นใจเลย ก็คือถ้าเราพัฒนาทั้ง 4 ตัวนี้ได้ นะครับ ส่วนเรื่อง Capital ไม่ได้ยากหรอก เพราะว่ามีเงินก็ซื้อได้ หรือซื้อไม่ไหวก็เอาต่างชาติมาลงทุนได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีทรัพยากรมนุษย์ที่ดี เขาก็อยากมาอยู่แล้ว เงินเดือนเขาไม่ใช่ปัญหา ทำไมถึงไม่ใช่ปัญหา ประเทศญี่ปุ่นเงินเดือนมากกว่าเรา 6 เท่า อยู่ได้ยังไง ไต้หวันมากกว่าเรา 3 เท่า อยู่ได้ยังไง

แล้วประเทศเหล่านั้นเจริญกว่าเราได้อย่างไร เพราะเทคโนโลยี ถ้าคุณมี skill level มากพอ เครื่องมือที่ดี มันทำให้คุณมีความสามารถแข่งกับคนอื่นได้ทันที ไม่อย่างนั้นไต้หวันจะแข่งกับคนอื่นได้อย่างไรญี่ปุ่นจะแข่งได้อย่างไร สิงคโปร์แข่งได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเงินเดือนมากกว่าเรา 12 เท่า แต่เราไปบอกค่าแรงเราแพง เพราะเราไปเปรียบเทียบกับเวียดนาม

เราชอบเปรียบเทียบกับคนที่จนกว่า แล้วทำอย่างไรจะชนะคนที่จนกว่าเรา มันไม่ฉลาดเท่าไหร่ที่คิดอย่างนั้น  ทำไมไม่คิดว่าทำอย่างไรจะไล่ตามคนที่รวยกว่าเรา

ตรงนั้นคือแนวความคิดที่เราพลาด เรากลัวเวียดนามจะทันเรา เขาทันเราแน่เลยถ้าเรายังทำตัวอย่างนี้อยู่ แต่ว่าถ้าเราทำเป็น เขาจะทันเราน้อยลง ช้าลง อาจจะทันเราเพราะประชากรเขามากกว่า แต่ว่าในแง่ของรายได้ต่อหัวมีโอกาสที่จะไม่ทันเราเลย แต่ตอนนี้กลายเป็นการศึกษาเวียดนามพัฒนาความรู้ทางปัญญาได้ดีกว่าเรา ใช้งบก็น้อยกว่าเราครึ่งหนึง

สรุปว่าถ้าการเมืองยังไม่นิ่ง ยังไม่ดี ก็ยังไม่สามารถจะก้าวข้ามได้

ยากมาก เพราะว่าถ้าดูจากคณะรัฐมนตรีตอนนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีซึ่งเกิดขึ้นมาจากการประนีประนอมระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งลึก ๆในใจ มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเวลาทำงานมันก็ต่างคนต่างทำ และให้เกียรติกันและกัน ไม่ก้าวก่ายกัน

แต่ปัญหาของการเมือง และเศรษฐกิจมันต้อง synchronize เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องแรงงานมนุษย์ เรื่องทรัพยากรมนุษย์ เรื่องของการลงทุน เรื่องของเทคโนโลยีมันต้องรวมกันเป็นระบบการผลิต แต่ละระบบการผลิต ต้องมีทั้ง 4 ตัว กระทรวงคุณแยกกันอยู่กระทรวงแรงงานคุณก็ดูแต่แรงงาน ไม่ได้ดูทรัพยากรมนุษย์ด้วยซ้ำ มันก็เลยไม่ได้รวม มันไม่สามารถประสานงานกันได้ มันแยกกันอยู่ นโยบายเขียนขึ้นมา พยายามประติดประต่อทุกฝ่ายเข้ามารวมเป็นนโยบายของรัฐบาล

สมัยก่อนจะเห็นว่าเรามีนายกฯ มีรองนายกฝ่ายความมั่นคง มีรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ ตอนนี้มีนายก กี่คนแบ่งกันดูคนละกระบอก แต่ละพรรคมีของตัวเอง รองนายกของตัวเอง นึกภาพสิ แล้วมันคุยกันยังไง เอารองนายกมาคุยกัน คุยกันรู้เรื่องไหม ในการประสานงาน ในแง่ของการประสานทางนโยบายเศรษฐกิจ องค์ความรู้มันเท่ากันไหม แล้วนายก ฯ จะเชื่อใคร จะฟังใคร ตอนนี้นายกฯ ก็ต้องคอยให้เกียรติทุกคน เพราะกลัว นึกภาพสิไม่ได้คุมอะไรเลยไม่ได้เป็นสส. ไม่เคยเป็นอะไรเลย ใช่ไหม จะเอาชนะทุกคนได้ ยากมาก เอาชนะทุกคนในครม. เอาชนะข้าราชการ ผมเชื่อว่าท่านพยายามนะเอาชนะประชาชน พยายามมากเลย

แล้วฝ่ายความมั่นคง (ทหาร)จะเข้ามายุ่งกับการเมืองหรือไม่?

ทหารไม่ได้ทำสงครามกับใครอยู่แล้ว เขาก็อยากฝึกเอาไว้เผื่อบ้าง แต่ว่ายังไม่มีประเด็นสำคัญ ตราบใดมันไม่มีสงคราม มันแค่เตรียมพร้อม ฉะนั้นการเตรียมพร้อมก็อยู่ที่วิธีการเรา แต่ละเหล่าทัพก็มีไอเดียของตัวเอง กลับไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม

เรื่องใหญ่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ และระยะสั้นจะทำอะไรบ้าง เห็นไหม… ระยะสั้นการอัดฉีดงบประมาณทำอย่างไรให้ได้ผลที่สุดคือเรื่องใหญ่ ต้องใช้เป็นล้านๆ ดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะ 5 แสนล้านบาท อย่างอื่นอีกเยอะแยะ อาจจะ 1.5 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ

ตราบใดใส่เข้าไปแล้วเศรษฐกิจมันโตขึ้นจริง ไม่น่ากลัว ถ้ามันเปลี่ยนจาก 3 % เป็น 4.5 % ได้ มันดันขึ้นไปถึง 4.5 – 5 %ในปีถัดๆ ไปได้ แล้วถ้ามันอยู่ 3 % ไม่มีใครอัดฉีด มันก็จะโตแค่ 3.2 – 3.5 % ไปเรื่อยๆ มันไม่โต มันจะล้าหลัง ในขณะที่ประเทศอื่นโต 5-6 % ในอาเซียนด้วยกัน เราก็จะเสียเปรียบ ผมว่าตรงนั้นก็คือแนวความคิดที่ต้องคอยคิดตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ครม.ผมไม่ได้บอกว่ารัฐบาลทำไม่เป็นนะ ผมไม่อยากให้ใช้แค่ปัญญาชาวบ้าน ทำอย่างไรจะใช้ปัญญาที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ

ตอนนี้จะปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่อย่างไร

การ transformation ของประเทศไทย มันต้องอิงกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตรงนั้นคือหัวใจ ทีนี้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มันยากสำหรับเราก็คือว่าอย่างเราเห็นสหรัฐฯ กับจีนทะเลาะกันแล้วก็มีปัญหากัน

คำถามคือทั้งสองฝ่ายก็อยากให้เราเป็นพันธมิตรเขา นโยบายต่างประเทศจะเป็นอย่างไร นี้คือสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา ตรงนั้นก็คือ มันจะกำหนดการเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากๆ ถ้าเราไปอิงกับใครคนใดคนหนึ่ง ไปรวมกับใครคนใดคนหนึ่ง

การ balance ทำยังไง ส่วนใหญ่ในประเทศเล็กๆ จะ rebalance สร้างสมดุลกับคนที่ทะเลาะกันได้ก็คือ ต้องรวมกลุ่มกัน อย่างที่เราใช้อาเซียนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นนโยบายอาเซียนต้องเป็นกลาง ก็ต้องยึดว่าเราเป็นสมาชิกอาเซียน จะไปทำสนธิสัญญากับใครโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้

“ผมว่าหัวใจสำคัญก็คือว่า เรายังไม่เห็นนโยบายเศรษฐกิจสำหรับโลกใหม่ อันนี้ถ้าผมกลับไปเป็นประธานสภาพัฒน์ ผมก็ไปสั่งคิดใหม่เลย ถ้าประเทศไทยจะแข่งกับโลก คุณจะทำอุตสาหกรรมไหน”

นโยบายเศรษฐกิจใหม่มันเป็นเรื่องของการใช้การพัฒนาอุตสาหกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ไม่งั้นทรานส์ฟอร์มการเติบโตของประเทศไทย หนีคนอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นนโยบายเหล่านี้ รัฐบาลต้องเอาใจใส่ เข้าไปทำ

ในโลกใหม่เราต้องสร้าง proactive policy นโยบายซึ่งเอาไปกระตุ้นให้นักธุรกิจและสนับสนุนให้เขาต่อสู้กับโลกทางใดทางหนึ่ง หรือเพิ่มภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ซึ่งวิธีการเหล่านี้ มันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา สภาพัฒน์ฯ อาจจะต้องวางแผนเพื่อสนองการเปลี่ยนแปลง ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกกับความต้องการของโลกที่มีต่อประเทศไทย ต้องอย่าลืมว่าเราส่งออก 60 % ของผลผลิตเรา เพราะฉะนั้นโลกใหม่ก็ต้องการนโยบายเศรษฐกิจใหม่ แล้วก็ต้องอิงกับนโยบายต่างประเทศอีก

การทรานส์ฟอร์มเหล่านี้ก็จะออกมาเป็นนโยบายหลักทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ สินค้าบริการระหว่างประเทศก็จะเป็นนโยบายหลัก ลงมาสู่การปฏิบัติของกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลาย เพราะไม่อย่างนั้น ระบบงบประมาณเราก็จะโบราณเหมือนเดิม ก็คือว่า แต่ละปี ฉันใช้งบอยู่สองล้านนี้ก็เพิ่มอีก 5 % เพิ่มอีก 10 %แล้วแต่ มันก็ไม่ได้ช่วย มันไม่ได้เปลี่ยนงาน ไม่ได้เพิ่มผลผลิต ไม่ได้เปลี่ยนวิธีการคิด

เพราะฉะนั้น การทรานส์ฟอร์มนี่คือหนึ่งเปลี่ยนแนววิธีคิดของคน เปลี่ยน process ของการทำงานด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เปลี่ยนนโยบายแล้วก็ดูแลลูกค้า มันเป็นเรื่องของการ rebalance ใหม่หมดเลย ด้วยการเปลี่ยนแปลงไม่อย่างนั้นทรานส์ฟอร์มไม่ได้นะครับ

ซีรี่ส์นี้สนับสนุนโดยบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)