ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘เผ่าภูมิ’ ย้ำ ‘ซอฟต์โลน 1 แสนล้าน’ ไม่เข้าข่ายโครงการตาม ม.28 – ออมสินจัดเอง

‘เผ่าภูมิ’ ย้ำ ‘ซอฟต์โลน 1 แสนล้าน’ ไม่เข้าข่ายโครงการตาม ม.28 – ออมสินจัดเอง

11 มิถุนายน 2024


ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

‘เผ่าภูมิ’ ย้ำ ‘ซอฟต์โลน 1 แสนล้าน’ ไม่เข้าข่ายโครงการตาม ม.28 – เป็นการบริหารสภาพคล่องออมสินเอง พร้อมแจงความคืบหน้าโครงการ Digital Wallet เตรียมหารือกฤษฎีกาให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 10,000 บาทให้เกษตรกรได้หรือไม่ ยันแหล่งเงิน “งบกลาง – งบฯเพิ่มเติมปี’67” มีเพียงพอ ย้ำไตรมาส 4 ปีนี้ เริ่มแจกแน่!

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจ้งโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ “Soft Loan” ของธนาคารออมสินวงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ต่อแก่ SMEs รายใหม่ในอัตราดอกเบี้ยต่อว่า ประเด็นนี้อาจเป็นการเข้าใจผิด รัฐบาลไม่ได้ไปใช้เงินธนาคารออมสิน 1 แสนล้านบาท แต่เป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคารออมสินเอง เพื่อให้ได้แหล่งเงินที่มีต้นทุนต่ำ 0.1% ส่งไปให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ นำไปปล่อยสินเชื่อราคาที่ถูกลง เสมือนโครงการสินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงโควิดฯ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ในครั้งนี้จะออกโดยออมสิน ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนง่ายแก่การเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า เพื่อที่จะให้เกิดผลได้โดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนี้เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 และ มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 หรือไม่?

ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับธนาคารออมสินแล้ว โครงการนี้ธนาคารออมสินจะไม่ขอเงินชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจากรัฐบาล โดยธนาคารออมสินจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง ซึ่งโครงการนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อช่วยเหลือสังคมของธนาคารออมสิน โดยธนาคารออมสินยอมเฉือนเนื้อตัวเองในการปล่อยสินเชื่อ หรือ ปล่อยสภาพคล่องราคาถูกในอัตราดอกเบี้ย 0.1% เข้าสู่ตลาดวงเงิน 1 แสนล้านบาท

“จริง ๆเรื่องนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กระทรวงการคลังปรับบทบาทของธนาคารออมสิน และวิธีการประเมินผลงานของธนาคารใหม่ จากเดิมจะพิจารณาจากผลกำไรของธนาคาร เพื่อนำไปคำนวณเป็นโบนัสให้กับพนักงาน เราปรับวิธีการประเมินใหม่ โดยจัดธนาคารออมสินเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ 6 ซึ่งมีภารกิจในการช่วยเหลือสังคม และประชาชน กำหนดเป็น KPI ประเมินผลงานของธนาคาร หากธนาคารออมสินช่วยเหลือประชาชนมากแค่ไหน พนักงานของธนาคารก็จะได้รับโบนัสเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่า สรุปโครงการสินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารออมสิน 1 แสนล้านบาทนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบวงเงิน ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ใช่หรือไม่?

ดร.เผ่าภูมิ ตอบว่า “ไม่มีครับ เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ หรือใช้วงเงินงบฯ ตามมาตรา 28 ไม่ได้ใช้อะไรที่เกี่ยวกับรัฐบาลเลยครับ เป็นการจัดการภายในของธนาคารออมสิน”

  • ควักเงินออมสิน 1 แสนล้าน จัด ‘ซอฟต์โลน’ ผ่านแบงก์พาณิชย์ – ลุยปล่อยกู้ SMEs ดัน GDP ปี’67 โต 3%
  • ส่วนความคืบหน้าของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่สำนักงบประมาณออกมาตั้งข้อสังเกตว่าต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และงบฯกลางปี 2567 ให้เสร็จจสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 แต่โครงการนี้จะเริ่มจ่ายเงิน 10,000 บาท ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป) จะสามารถเบิกจ่ายเงินดิจิทัลได้หรือไม่

    ดร.เผ่าภูมิ ชี้แจงว่า “การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมี 2 เงื่อนไข คือ 1. เบิกจ่ายงบฯปีปัจจุบัน กับ 2. การเบิกจ่ายงบฯผูกพัน ซึ่งการที่เป็นงบฯผูกพัน หมายความว่า มีข้อผูกพันที่ทำให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายงบฯต่าง ๆ โดยการลงทะเบียนของประชาชน หรือ ร้านค้า นี่คือสาเหตุที่ทำให้กระทรวงการคลังต้องเร่งลงทะเบียนประชาชนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นการผูกพันการใช้จ่ายงบประมาณในปีถัดไป ไม่ได้จำเป็นต้องเบิกจ่ายงบฯในช่วงเวลานั้นก็ได้”

    ถามว่า จำเป็นต้องกำหนดช่วงเวลาในการใช้จ่ายเงินเอาไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปี 2567 หรือไม่

    นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า จริงๆ มันเป็น Definition ของสำนักงบประมาณอยู่แล้ว ส่วนราชการต้องเบิกจ่ายงบฯภายในวันที่ 30 กันยายนของทุกปี แต่การเบิกจ่ายจริงไม่จำเป็นต้องเบิกจ่ายในช่วงเวลานั้น หากเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องจ่าย สามารถทำเป็นงบผูกพันได้

    ถามว่าหากเป็น Definition อยู่แล้ว ทำไมสำนักงบประมาณจึงตั้งขอสังเกต

    ดร.เผ่าภูมิ ตอบว่า เป็นคำมาตรฐานอยู่แล้วครับว่าต้องใช้จ่ายงบประมาณประจำปีภายใน 30 กันยายนของทุกปี แต่ Definition ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ หมายถึง การเบิกจ่าย และภาระผูกพัน

    ถามว่า รัฐบาลใช้วิธีการกันเงินงบประมาณเอาไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีใช่หรือไม่
    ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า “เป็นภาระผูกพัน ซึ่งใช้คำนี้น่าจะอธิบายได้ดีกว่า”

    ถามว่ากระทรวงการคลังต้องเร่งจัดทำข้อมูล Digital Wallet เสนอที่ประชุม ครม.อีกครั้ง หรือไม่

    ดร.เผ่าภูมิ ระบุว่า ความคืบหน้าเป็นเรื่องกระบวนการของงบประมาณมากกว่า หากงบฯกลางปี 2567 และงบฯปี 2568 ที่มีการขยายกรอบวงเงินขึ้นไป ก็จะเป็นใน 2 ส่วนนี้ที่จะมีการพิจารณา ส่วนความคืบหน้าต่างๆ ปัจจุบันเรามีการประชุมคณะกรรมการกำกับฯ เกือบทุกสัปดาห์ ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณา 3 – 4 ชั่วโมงทุกครั้ง เพราะมีรายละเอียดมากมาย เช่น การตรวจสอบอายุของที่ได้รับสิทธิ , ตรวจสอบความเป็นเกษตรกร , ตรวจสอบอาชีพ , ตรวจสอบเงินฝากในบัญชี ที่ฝากไว้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์เอกชนด้วยมีการหารือในประเด็นอื่นๆอีกหลายประเด็น เราทำงานกันอย่างต่อเนื่อง

    ถามว่าการพัฒนาแอปฯหลังบ้านดำเนินการโดยหน่วยงานใด

    ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า พัฒนาโดย DGA หรือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทุกอย่างอยู่ในกำหนดการ ซึ่งตามไทม์ไลน์จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนในภาคประชาชนในไตรมาสที่ 3 และสามารถโอนเงิน หรือ เริ่มโครงการได้ในไตรมาส 4 ยืนยัน

    ถามว่ากรณีที่รัฐบาลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่เกษตรกรและครอบครัว กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือไปสอบถามความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วหรือยัง

    ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า “ยังไม่ได้ถาม แต่ก็ต้องถามไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้มีความมั่นใจทางด้านกฎหมาย แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้ถาม”

    ถามต่อว่า แล้วจะหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาประเด็นไหน

    ดร. เผ่าภูมิ ตอบว่า “คงต้องถามไปในลักษณะของโครงการ เช่น หาก ธ.ก.ส.ต้องดำเนินโครงการในตามที่กล่าวข้างต้นนี้สามารถทำได้หรือไม่ ตรงตามวัตถุประสงค์ หรือ ตามพันธกิจต่างๆของ ธ.ก.ส. หรือไม่ แต่ที่สำคัญ ธ.ก.ส.ต้องทำเรื่องเสนอขึ้นมา ก่อนที่จะส่งเรื่องไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ปัจจุบันยังไม่มีโครงการที่ส่งมาจาก ธ.ก.ส. มันเป็นเพียงกรอบการใช้เงินของโครงการดิจิทัล วอลเล็ตเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดจะอยู่ในกรอบเวลา ซึ่งจะมีการทำเรื่องสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาในเวลาที่เหมาะสม”

    ถามว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567 ที่ตั้งวงเงินเอาไว้ที่ 1.22 แสนล้านบาท ยังไม่พอที่จะนำไปใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ต้องใช้เงินจากงบกลางของปี 2567 หรือไม่ และวงเงินงบกลางเหลืออยู่เท่าไหร่

    ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า อย่างที่ให้สัมภาษณ์ไปบ้างว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะใช้งบประมาณในปี 2567 ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ 1. งบกลาง 2. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567 และ 3. คือการโอนเงินงบประมาณปี 2567 ซึ่งการโยกงบประมาณไม่ได้ใช้แล้ว เปลี่ยนมาใช้งบกลาง กับ งบฯกลางปี 2567 แทน ยืนยันว่างบกลางของปี 2567 มีวงเงินเหลือเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต

  • ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ 8 เดือน กลับลำ “แหล่งเงิน” หลายตลบ ทำงบเบิกจ่ายปี’67 ค้างท่อกว่า 5 แสนล้าน
  • ครม.กลับลำจัดงบกลางปี’67 ทำ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ แทนโยกงบ กู้ชดเชยขาดดุลได้ 815,000 ล้าน-เคาะวงเงิน 28 พ.ค.นี้
  • สภาพัฒน์ฯหั่น GDP ปี’67 เหลือ 2.5% หลังเศรษฐกิจไทย Q1 โตแค่ 1.5%
  • การบริหารเศรษฐกิจ แบบเพี้ยนๆของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’
  • กลเกมหาแหล่งเงินรัฐบาลเศรษฐา! 10 เม.ย.นี้ เคาะ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ มาจากไหน?
  • รัฐบาล“เศรษฐา” กลับลำสั่งคลัง-สำนักงบฯ หา 5 แสนล้าน ลุย ‘Digital Wallet’- คาดใช้ 3 แนวทาง
  • ‘เพื่อไทย’ แจ้ง กกต. 70 นโยบาย ใช้เงินจากไหน ?
  • ครม.เร่งล้างท่องบฯปี’67 จี้ทำสัญญา พค.นี้ – ปรับบำนาญ ขรก.เป็น 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้