ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.กลับลำจัดงบกลางปี’67 ทำ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ แทนโยกงบ กู้ชดเชยขาดดุลได้ 815,000 ล้าน-เคาะวงเงิน 28 พ.ค.นี้

ครม.กลับลำจัดงบกลางปี’67 ทำ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ แทนโยกงบ กู้ชดเชยขาดดุลได้ 815,000 ล้าน-เคาะวงเงิน 28 พ.ค.นี้

21 พฤษภาคม 2024


ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ครม.กลับลำจัดงบฯกลางปี’67 แจก 10,000 บาท ผ่าน ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ แทนโยกงบฯ หวั่นกระทบเบิกจ่ายงบประมาณหยุดชะงัก 2 เดือน ระหว่างผ่านร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ เตรียมเสนอ คกก.วินัยการเงินการคลังของรัฐ – ครม.เคาะวงเงิน 28 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 21 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำประมาณ และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 (งบฯกลางปี) จากกรอบวงเงินเดิม 3,480,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ

ภายหลังการประชุม ครม.ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดทำประมาณ และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 หรือ “งบฯกลางปี” เพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่สำนักงบประมาณนำเสนอ พร้อมกับ “ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567” โดยกำหนดกรอบระยะเวลาในการจัดทำงบประมาณ ยกร่าง พ.ร.บ.งบฯกลางปี และขั้นตอนต่าง ๆ แต่ยังไม่ได้มีการหารือตัวเลขกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีฯ ซึ่งสำนักงบประมาณจะนำเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567 ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติอีกครั้งในวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567

ดร.เผ่าภูมิ ได้อธิบายเหตุผลที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567 ว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วงเงิน 500,0000 ล้านบาท ตามที่ ครม.เคยมีมติเห็นชอบไปแล้วนั้น จะใช้เงินงบประมาณจาก 3 แหล่ง คือ (1)งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 (2) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 และ (3) แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส.ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

ดร.เผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับแหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะนำมาใช้ในโครงการ Digital Wallet นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1. ใช้งบกลาง 2. จัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ไม่สามารถทำสัญญาผูกพันได้ทันในปีงบประมาณ และ 3. จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีงบประมาณ 2567 ซึ่งในวันนี้ที่ประชุม ครม.ได้ตัดแนวทางที่ 2 ออกไป เนื่องจากในระหว่างที่ยกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายนั้น จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณ หรือ งบลงทุน หยุดชะงัก หรือ ถูก Freeze ไป 2 เดือนจนกว่ากฎหมายโอนงบฯจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งไม่เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้น ที่ประชุม ครม.จึงมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567

ผู้สื่อข่าวถามว่า แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567 ใช้แหล่งเงินจากไหน? นายเผ่าภูมิ ตอบว่า “การจัดทำงบฯดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กรอบวงเงินกู้เพิ่มชดเชยการขาดดุลตามกฎหมายงบประมาณ และกฎหมายหนี้สาธารณะ หลังจากรวมวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปีแล้วสามารถขยายวงเงินกู้เพิ่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไปได้สูงสุดไม่เกิน 815,000 ล้านบาท”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567 จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ดร.เผ่าภูมิ ตอบว่า “เรียนตามตรง กระทบหนี้สาธารณะ แต่นิดหน่อย ซึ่งผมพูดเสมอว่า การมองหนี้สาธารณะ อย่ามองแค่ตัวเลขว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเท่าไร โดยที่ไม่มองว่าหนี้ก้อนนี้จะเอาไปทำอะไร และเราจะได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ต้องมองให้ครบถ้วนด้วย หากทำแล้ว GDP เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลง อย่ามองแค่ผิวเผิน ต้องมองว่าหนี้เพิ่มแล้วจะก่อให้เกิดอะไร”

  • 20 ปี หนี้สาธารณะบานแค่ไหน – ใช้หนี้ไปเท่าไหร่
  • นายกฯ กลับลำ ‘ไม่กู้’ แล้ว! เคาะแหล่งเงินดิจิทัลใช้เงิน ธ.ก.ส.- งบฯปกติ รวม 5 แสนล้านบาท
  • ‘คลังถังแตก’ เงินไม่พอใช้หนี้ ควัก ‘เงินคงคลัง’ จ่ายดอก 2 ปีซ้อน ส่อผิด กม.วินัยการคลังฯ
  • กลเกมหาแหล่งเงินรัฐบาลเศรษฐา! 10 เม.ย.นี้ เคาะ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ มาจากไหน?
  • รัฐบาล“เศรษฐา” กลับลำสั่งคลัง-สำนักงบฯ หา 5 แสนล้าน ลุย ‘Digital Wallet’- คาดใช้ 3 แนวทาง
  • ‘เพื่อไทย’ แจ้ง กกต. 70 นโยบาย ใช้เงินจากไหน ?
  • ครม.เร่งล้างท่องบฯปี’67 จี้ทำสัญญา พค.นี้ – ปรับบำนาญ ขรก.เป็น 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้