ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เดินหน้า “คนละครึ่ง” เฟส 4 เริ่ม มี.ค. นี้ — มติ ครม. ตั้งงบฯ ปี ’66 กว่า 3.18 ล้านล้าน-ห้ามนำเข้าของก็อปฯ

นายกฯ เดินหน้า “คนละครึ่ง” เฟส 4 เริ่ม มี.ค. นี้ — มติ ครม. ตั้งงบฯ ปี ’66 กว่า 3.18 ล้านล้าน-ห้ามนำเข้าของก็อปฯ

4 มกราคม 2022


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นายกฯ สั่งเดินหน้าเยียวยา ปชช. – “คนละครึ่ง-4” เริ่ม มี.ค. นี้ – ปัดติดโควิดฯ – มติ ครม. ตั้งงบฯ ปี ’66 กว่า 3.18 ล้านล้าน กู้ 6.95 แสนล้านบาท – ห้ามนำเข้า-ส่งออกสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ – กู้เสริมสภาพคล่อง “กองทุนน้ำมัน” 2 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของปี 2565 ผ่านระบบ video conference ที่บ้านพัก ซึ่งอยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต ภายหลังการประชุม ครม. มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีแทน

สั่งเดินหน้าเยียวยา ปชช.-“คนละครึ่ง” เฟส 4 เริ่ม มี.ค.นี้

โดย ดร.ธนกร กล่าวว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาล และส่วนส่วนราชการทุกหน่วยงาน ที่ได้ช่วยกันทำงานในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ทั้งข้าราชการในฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติการทุกระดับในการปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองที่ช่วยดูแลแนวชายแดน ดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงหน่วยงาน และกระทรวงต่างๆ ที่ร่วมกันมอบของขวัญปีใหม่ ผ่านโครงการและความช่วยเหลือประชาชน เช่น การลดค่าไฟ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ทัวร์เที่ยวไทย ช่วยขับเคลื่อน ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม 2565 นี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกส่วนราชการ เดินหน้ากิจการหรือแผนงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่องในปี 2565 ต่อไป

อุบัติเหตุปีใหม่ 5 วัน 2,221 ครั้ง เสียชีวิต 263 ราย

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทหาร ตำรวจ ตำรวจจราจร และอาสาสมัครจราจร ที่ทุ่มเททำงานป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา โดยอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถึง 2 มกราคม 2565 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,221 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,198 ราย และผู้เสียชีวิต 263 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่กรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรียังฝากถึงพี่น้องประชาชน ขอให้ร่วมกันเรียนรู้ ปรับตัว ช่วยกันเตือนให้มีสติ ในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ร่วมกันลดอุบัติเหตุและความสูญเสียในอนาคตด้วย

สั่งพาณิชย์เร่งแก้ปม “หมูแพง”

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวให้กำลังใจพรรคร่วมรัฐบาล ขอให้เริ่มการทำงานในปี 2565 ทันที โดยขอให้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ เร่งสร้างผลสำเร็จให้มากที่สุด พร้อมกล่าวขอบคุณหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ที่ร่วมกันแก้ปัญหามากว่า 2 ปี และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ที่สำคัญ คือ รัฐบาลต้องแก้ทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศ รายได้ประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมมาตรการรองรับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรียังเป็นห่วงถึงสถานการณ์ราคาหมูแพง ซึ่งได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งดูแล แก้ไขทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้เลี้ยงหมูถึงการจัดจำหน่ายแล้ว

นายกรัฐมนตรียังได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ผ่านมา มีการปรับตัวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศมามากขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐดีขึ้น ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น ดุลการค้าเกินดุล ขณะเดียวกันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์น้ำท่วม โรคติดต่อ ราคาพลังงานโลกปรับตัวสูง และการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังรุนแรง รัฐบาลจึงต้องกลับมาดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด และพยายามลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งเตรียมความพร้อมทั้งสถานพยาบาล และการรักษาพยาบาล โดยขอความร่วมมือประชาชน หมั่นตรวจคัดกรองตนเองด้วย ATK ด้วย

ปัดติดโควิดฯ

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังห่วงใยการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 จากโซเซียลมีเดีย ขอให้ประชาชนติดตามและรับฟังข้อมูลจาก ศบค., กระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ ชี้แจงเป็นหลัก และขอให้กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอสถานการณ์ต่างประเทศ ซึ่งยกตัวอย่างบางประเทศที่มียอดการระบาดสูงเป็นแสนรายต่อวัน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันศึกษา ทำความเข้าใจ เรียนรู้หลักการในการวิเคราะห์ เพื่อสร้างการรับรู้ ลดความสับสนอีกด้วย

“ส่วนกรณีที่มีสื่อโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่ข่าว นายกรัฐมนตรีติด โควิด-19 นั้น เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง นายกรัฐมนตรีไม่ได้ติดเชื้อโควิดฯ สุขภาพร่างกายแข็งแรง พร้อมที่จะทำงานให้กับพี่น้องประชาชนเต็มที่ต่อไป” ดร.ธนกร กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ตั้งงบฯ ปี’66 กว่า 3.18 ล้านล้าน กู้ 6.95 แสนล้านบาท

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท และ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1) กรอบวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 ประกอบด้วยประมาณการรายจ่ายดังต่อไปนี้

    1.1)รายจ่ายประจำ จำนวน 2,390,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 16,990.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.72 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.04 ของวงเงินงบประมาณ
    1.2) รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 83,066.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.57 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.82 ของวงเงินงบประมาณ
    1.3) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 100,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.14ของวงเงินงบประมาณ

2) ประมาณการรายได้สุทธิวงเงิน 2,490,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 90,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.75
3) กู้เพื่อชดเชยการขาดดุล วงเงิน 695,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 5,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.71 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.89 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,185,000 ล้านบาท ดังกล่าว เท่ากับกรอบวงเงิน ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566 – 2569) ที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ครม. ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1) ให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย ในการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการที่ต้องดำเนินการการบริหารความเสี่ยง ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางสำหรับในแต่ละกรณีเป็นการล่วงหน้า

2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งติดตามการขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาลในประเด็นต่อไปนี้ เช่น การเร่งสร้างรายได้ใหม่ตามมาตรการของรัฐบาล เช่น มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย (LTR), มาตรการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และอุตสาหกรรมอนาคต (New S – curve), มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านเทคโนโลยีและธุรกิจเกิดใหม่ (Startup), การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วย BCG Mode, การติดตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐ, การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ โดยหน่วยรับงบประมาณต้องมีการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงาน และต้นทุนโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ การดำเนินมาตรการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้านแรงงาน รวมทั้งการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

กู้เสริมสภาพคล่อง “กองทุนน้ำมัน” 2 หมื่นล้าน

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 1 ซึ่ง เสนอโดย คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนี้

1.ปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับพิ่ม 20,700 ล้านบาท เดิมจากตามมติ ครม. 28 ก.ย. 64 วงเงิน 1,344,783.84 เป็น 1,365,483.84 ล้านบาท ปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม เปลี่ยนแปลง 31,588.34 ล้านบาท จากวงเงินเดิมตามมติ ครม. 28 กันยายน 2564 จำนวน 1,505,369.64 ล้านบาท เป็น 1,536,957.98 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 22,941.85 ล้านบาท เป็น 362,233.72 ล้านบาท จากวงเงินเดิมตามมติ ครม. 28 กกันยายน 2564 อยู่ที่ 339,291.87 ล้านบาท โดยมีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 75,230.19 ล้านบาท ซึ่งมอบหมายให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบฯ 65 ปรับปรุงครั้งที่ 1 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ แผนการก่อหนี้ใหม่ 20,700 ล้านบาท จะประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 700 ล้านบาท คือ แผนเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนาของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) จำนวน 200 ล้านบาท และ แผนเงินกู้เพื่ดำเนินโครงการ หรือ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในารดำเนินกิจการทั่วไปของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) จำนวน 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาท เป็นแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ หรือ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) โดยปรับเพิ่มเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบ credit line เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำไปชดเชยราคาน้ำมันขายปลีกน่ำมันเชื้อเพลิง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลไม่มีแผนการก่อหนี้ใหม่

2.แผนการบริหารหนี้เดิม ที่ปรับเพิ่มขึ้น 31,588.34 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วยแผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล ปรับเพิ่มขึ้น 52,793 ล้านบาท และ แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ ปรับลดลงสุทธิ 21,204.66 ล้านบาท โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับเพิ่มวงเงินกู้ออมสิน จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 956 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปรับลดวงเงินกู้ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำนวน 5,222.30 ล้านบาท ธพส. ปรับเพิ่มสัญญาเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 2,400 ล้านบาท และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับลดวงเงินกู้โครงการจำนำผลิตผลทางการเกษตร (ปีการผลิต 2551/2552/2555/2556 2556/2557) จากที่ได้ชำระคืนก่อนครบกำหนด วงเงิน 19,338.36 ล้านบาท

ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนฯ เป็นการปรับเพิ่มวงเงินปปรับโครสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2566-2569 ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยออกพันธบัตร รัฐบาลจำนวน 60,000 ล้านบาท รวมทั้งการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนา และเพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

“นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเรื่องความเหมาะสมและความสอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเงินกู้ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ครม. ได้ให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงินวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น โดย หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ” ดร.ธนกร กล่าว

รับทราบผลประเมิน ITA ปี’64 โยนปลัดกระทรวงร่วมรับผิดปมทุจริต

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยการประเมิน ITA เป็นแนวนโยบายสำคัญในการป้องกันการทุตริตที่บังคับใช้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ และเป็นกลไกป้องกันการทุจริตเชิงรุกได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้ถูกกำหนดเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแผนงานระดับประเทศ โดยกำหนดค่าเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐในปี 2565 มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 8,300 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมการประเมิน ITA ผ่านระบบ ITAS ที่เว็บไซต์ http://itas.nacc.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม 2564 ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ ซึ่งมีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ จำนวน 1,331,588 คน พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมของประเทศเท่ากับ 81.25 คะแนน สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 13.35 คะแนน และมีจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมิน ITA ผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบฯ 4,146 หน่วยงาน หรือร้อยละ 49.95 สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 36.76 ซึ่งในปีนี้หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ได้เข้าสู่องค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสตามหลักเกณฑ์การประเมิน ITA ในระดับค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ระดับ A ถึงร้อยละ 26.22 โดยมีข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมความโปร่งใสของภาครัฐสู่มาตรฐาน ในระดับ A และ AA ในระดับนโยบาย โดยมุ่งเน้นการรักษาแนวปฏิบัติที่ดีไว้และต่อยอด ขยายผลการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ รวม 5 ข้อ ดังนี้

    1. เร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และทักษะ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การป้องกันการทุจริต และการให้บริการสาธารณะ ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการประเมินที่กำหนด

    2. ส่งเสริมสนับสนุนและให้คำแนะนำในด้านกระบวนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานแก่ อปท. ทั้งนี้ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท. แต่ละประเภท

    3. ขับเคลื่อนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉ. ..) พ.ศ. …. ให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (รธน.) เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นหน้าที่หลักที่ต้องปฏิบัติ

    4. ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการกำกับติดตามการประเมิน ITA และผลักดันให้หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการประเมิน ITA

    5. ให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมิน ITA ในปีงบฯ 2565-2570 โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA แนวทางการประเมิน ITA และเครื่องมือการประเมิน ITA ให้เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด

ทั้งนี้ การประเมิน ITA สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการตื่นตัวต่อประเด็นการต่อต้านการทุจริตมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการภาครัฐเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้หน่วยงานหาแนวทางปิดจุดอ่อนกระบวนการทุจริตที่ผ่านมามีกระบวนการ “สมยอม” ทั้งผู้รับและผู้ให้ โดยปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด ต้องร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งสมาคมภาคเอกชน, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต้องร่วมมือกัน ส่งเสริมการให้ข้อมูลที่โปร่งใสด้วย นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า การปราบปรามการทุจริต สร้างโปร่งใส เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงคดีทุจริตที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะมีการทำผิดมากขึ้น แต่เป็นผลจากความเอาจริงเอาจังของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน มีคดีทุจริตทั้งนักการเมือง ส.ส. และข้าราชการ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถูกตัดสินจำคุก ที่สำคัญ คือ พยายามแก้วัฒนธรรม “ต่างตอบแทน” ในสังคมไทยให้ได้ เพราะนายกรัฐมนตรียืนยัน ไม่ว่าคนรวยคนจน หากทำผิดต้องติดคุก

ผ่านร่าง กม. กำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไร

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการยกร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ของคณะกรรมการกฤษฎีกา และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับร่าง พ.ร.บ. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป โดยมุ่งเน้นส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินกิจการที่ให้เป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งมีการกำหนดกลไกการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น ไม่ให้เป็นภาระแก่องค์กรไม่แสวงหากำไร ขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อบและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมขององค์กรฯ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญด้วย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โปร่งใส และเป็นประโยชน์ ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยข้อกำหนดต่างๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ป้องกันการสนับสนุนด้านการเงินในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งหลายประเทศก็มีกลไก และกฎกติกาเช่นนี้ และในระหว่างขณะที่รอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้กฏหมายที่มีอยู่ พร้อมขอสนับสนุนจากวิปในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวฯ ให้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

สาระสำคัญ “ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….” เช่น กำหนดบทนิยาม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” หมายความว่า คณะบุคคลภาคเอกชน ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใดๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงาน เพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจกรรม เป็นการเฉพาะคราว หรือ ดำเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้ ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ ต้องอยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร” ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กร ไม่แสวงหากำไร เช่น เสนอแนะต่อ ครม. เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุน กำหนดสิทธิประโยชน์ขององค์กรไม่แสวงหากำไรโดยให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนและให้องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุนองค์กรไม่แสวงหากำไร อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ขณะเดียวกัน กำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไร ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น ชื่อ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการดำเนินการ แหล่งที่มาของเงินทุน และรายชื่อผู้รับผิดชอบ และห้ามไม่ให้ดำเนินงานที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การดำเนินงานที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม หากได้รับเงินจากต่างประเทศต้องแจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคาร ที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงิน ไปใช้จ่าย ต่อนายทะเบียน ต้อง รับเงินผ่านบัญชีของ ธนาคาร ที่แจ้งไว้ ต่อนายทะเบียน ต้องใช้เงินเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อ นายทะเบียน และต้องไม่ใช้เงินเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละรอบปีปฏิทิน และเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าว โดยต้องเก็บรักษา บัญชีรายรับรายจ่ายนั้นไว้ให้สามารถตรวจสอบได้เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งยังกำหนดมาตรการบังคับและโทษ โดย กำหนดให้ในกรณีที่องค์กรไม่แสวงหากำไรไม่ดำเนินการ หากฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว อาจถูกสั่งให้หยุด การดำเนินกิจกรรมหรือยุติการดำเนินงานได้ และกำหนดโทษปรับทางอาญาสำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไร และผู้รับผิดชอบ หากไม่หยุดการดำเนินกิจกรรมหรือยุติ การดำเนินงานหลังจากได้รับคำสั่งด้วย

ห้ามนำเข้า-ส่งออกสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อเท็จจริง และพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญ เช่น

    1. กำหนดให้สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นสินค้าต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักร ยกเว้นกรณีของติดตัวในปริมาณที่ไม่มากเกินสมควร โดยไม่มีลักษณะในเชิงพาณิชย์

    2. กำหนดให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งข้อมูลเครื่องหมายการค้าหรือลิขสิทธิ์ต่อพนักงานศุลกากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมศุลกากรกำหนด เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบสินค้าที่มีเหตุสงสัยว่าจะมีการละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือ การละเมิดลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงพาณิชย์จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อนุมัติงบฯ จัดงานพืชสวนโลก 6.78 พันล้าน

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติกรอบวงเงินจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 วงเงิน 2,500 ล้านบาท และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 วงเงินงบ 4,281 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,781 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย 2)กระตุ้นเศรษฐกิจด้านธุรกิจการนำเข้า-ส่งออกผลผลิตการเกษตรและธุรกิจท่องเที่ยว 3)ส่งเสริมการต่อยอดการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตร ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกำหนดยื่นประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ในวันที่ 7 มกราคม 2565 และจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 สำหรับรายละเอียดการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด มีดังนี้

    1. งานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 (ระดับ B) วงเงิน 2,500 ล้านบาท กำหนดสถานที่จัดงานเป็นบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี รวม 1,030 ไร่ ตั้งเป้าหมายมีผู้เข้าชมงาน 3.6 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติร้อยละ 30 ตลอดระยะเวลาจัดงาน 134 วัน (ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2569 – 14 มี.ค. 2570) และมีประเทศเข้าร่วมงาน 20 ประเทศ สำหรับประเภทงานระดับ B หรือ International Horticultural Exhibition จะต้องใช้พื้นที่จัดแสดง 250,000 ตารางเมตร มีระยะเวลาจัดงาน 3-6 เดือน มีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ
    2. งานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2572 (ระดับ A1) วงเงินงบ 4,281 ล้านบาท กำหนดสถานที่จัดงานเป็นบริเวณพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา รวม 678 ไร่ ตั้งเป้าหมายมีผู้เข้าชมงาน 2.6 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติร้อยละ 15 ตลอดระยะเวลาจัดงาน 110 วัน (ระหว่างวันที่ 10 พ.ย. 2572 – 28 ก.พ. 2573) และมีประเทศเข้าร่วมงาน 30 ประเทศ สำหรับประเภทงานระดับ A1 หรือ World Horticultural Exposition จะต้องใช้พื้นที่จัดแสดง 500,000 ตารางเมตร มีระยะเวลาจัดงาน 3-6 เดือน มีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า งานมหกรรมพืชสวนโลก เป็นงานมหกรรมจัดแสดงพืชสวนกลางแจ้ง โดยมีสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Producers: AIPH) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และมีภาคีสมาชิกรวม 65 ประเทศ ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2549 (ระดับ A1) และปี พ.ศ. 2554 (ระดับ B) ที่จังหวัดเชียงใหม่

ขยายเวลาออมสินปล่อยซอฟต์โลน ช่วย SMEs ถึง 30 ก.ย. นี้

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ของธนาคารออมสิน หรือ โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท (ปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 แสนบาท ดอกเบี้ย ร้อยละ 3.99 ต่อปี ไม่ต้องมีหลักประกัน) โดยขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการให้ครอบคลุมธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ผู้ผลิตรายย่อย ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก เพื่อให้ SMEs ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มเป้าหมาย SMEs ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ Supply Chain เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2564 โดยที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อโครงการไปแล้ว จำนวน 4,137 ราย รวมเงินทั้งสิ้น 1,746 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีกจำนวน 3,254 ล้านบาท จากวงเงินรวมทั้งโครงการ 5,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 (กลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร) จากเดิมที่มีกำหนดระยะเวลารับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ซึ่งธนาคารออมสินได้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อตามมาตรการฯ ไปแล้ว จำนวน 820,380 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 8,204 ล้านบาท และยังมีวงเงิน คงเหลืออีกจำนวน 1,796 ล้านบาท วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์อนุมัติสินเชื่อตามมาตรการฯ ไปแล้ว จำนวน 28,911 ราย จำนวนเงินทั้งสิ้น 288 ล้านบาท และยังมีวงเงินคงเหลืออีก จำนวน 9,712 ล้านบาท จากวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท

ดร.รัชดา กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเริ่มกลับมาดำเนินกิจการ/กิจกรรมตามปกติ ดังนั้น การขยายระยะเวลาคำขอรับสินเชื่อจะช่วยเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

จัดงบฯ ปี ’66 ให้ อว.ยกระดับการศึกษา 1.43 แสนล้าน

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินประจำปีงบประมาณ 2566 รวมทั้งสิ้น 143,734 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) งบประมาณด้านการอุดมศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมวงเงิน 114,634 ล้านบาท และ 2) งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศวงเงิน 29,100 ล้านบาท ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเสนอ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและความเร่งด่วนของประเทศ เช่น การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG การสร้างความพร้อมในการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นต้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 114,634 ล้านบาท ประกอบด้วย

    1) งบบุคลากร 70,409 ล้านบาท
    2) งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น 36,755 ล้านบาท และ
    3) งบประมาณการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ 7,469 ล้านบาท ซึ่งกรอบวงเงินนี้มีเป้าหมายผลผลิต คือ

      1) การผลิตบัณฑิตในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ปีการศึกษา 2565 จำนวน 1,367,864 คน โดยมีเป้าหมายการพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และอุตสากรรมเป้าหมาย จำนวน 410,360 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนบัณฑิตทั้งหมด
      2) การผลิตกำลังแรงงานในหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree Program) ทั้งการพัฒนาความรู้ในทักษะเดิม (Re-Skill) ยกระดับทักษะเดิม (Up-Skill) เพิ่มพูนทักษะใหม่ (New Skill) จำนวนไม่น้อยกว่า 130,000 คน
      3) การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา
      4) บุคลากรสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 195,989 คน
      5) โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงและพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์และความเชี่ยวชาญ ผ่านกลไกการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยใน 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาแสวงหาบุคลากร ความเป็นนานาชาติ การบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และการสร้งแพลตฟอร์มความร่วมมือ

2. กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 29,100 ล้านบาท ประกอบด้วย

    1) งบสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ 17,460 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนทุนการวิจัยที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
    2) งบสนับสนุนงานพื้นฐาน 11,640 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนงานมูลฐานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสร้างความเข้มแข็งตามพันธกิจหน่วยงาน โดยมีแนวทางการจัดสรรงบประมาณเป็นแบบเงินก้อน (block grant) และจัดสรรงบประมาณแบบต่อเนื่องหลายปี (multi-year budgeting) เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาเกิดความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น และสามารถดำเนินการแผนงานต่อเนื่องและแผนงานใหม่ได้ เช่น แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย แผนงานการแก้ปัญหาความยากจนโจทย์ท้าทายสังคมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ส่วนแผนงานใหม่ เช่น การวิจัยวัคซีน การพัฒนาอุตสาหกรรมยายนต์ การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต เทคโนโลยีเพื่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมสู่อนาคต เป็นต้น

ขยายเวลานำส่งเงินสมทบ สปส.ผ่าน e-Payment

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ และการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดเวลายื่นแบบฯ ออกไปอีก 7 วันทำการ นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้

ทั้งนี้ ร่างประกาศกระทรวงแรงงานฯ ฉบับนี้ จะมาทดแทนประกาศฉบับเดิมที่เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2562 และสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งประกาศฉบับเดิมนั้นได้กำหนดให้นายจ้างจะต้องหักค่าจ้างของผู้ประกันตนและให้ถือว่าผู้ประกันตนทุกครั้งที่มีการจายค่าจ้างตามจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบและให้นายจ้างนำเงินสมทบทั้งส่วนของลูกจ้างและนายจ้างส่งแก่สำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้พร้อมยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ได้เห็นว่าเพื่อส่งเสริมและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของนายจ้าง และเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ได้รับความคุ้มครอง และสนับสนุนให้นายจ้างทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ออกไปอีก 7 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ และนำเสนอต่อ ครม. และประกาศมีผลบังคับสำหรับค่าจ้างตั้งแต่เดือนที่ประกาศมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 24 เดือนต่อไป

อนุมัติงบฯ 4,180 ล้าน จัดงาน “EXPO 2028 – Phuket”

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 4,180 ล้านบาท ให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo ณ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่องาน “EXPO 2028 – Phuket” โดย ครม. เคยมีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติในหลักการให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน EXPO 2028 – Phuket, Thailand และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ทางองค์การนิทรรศการนานาชาติ (Bureau of International Expositions: BIE) มีข้อกำหนดว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบกรอบงบประมาณก่อนการยื่นเสนอตัวอย่างเป็นทางการ โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ในฐานะผู้ประสานงานหลัก ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานขอให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส เป็นผู้แทนไทยในการยื่นหนังสือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานอย่างเป็นทางการ และมีกำหนดจะยื่นหนังสือดังกล่าวต่อผู้แทนระดับสูงของ BIE ในวันที่ 7 มกราคม 2565 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จึงจำเป็นต้องเสนอ ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในการจัดงานครั้งนี้ก่อน

ผ่านร่าง MOU ขนส่งทางอากาศไทย-แคนาดา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบบันทึกข้อตกลงระหว่างไทย-แคนาดา และให้ความเห็นชอบร่างความตกลงฉบับใหม่ระหว่างรัฐบาลแคนาดาและรัฐบาลไทยว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ โดยร่างความตกลงฯ ฉบับใหม่ มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศแนะนำและสอดคล้องกับร่างความตกลงฯ ฉบับมาตรฐานไทย โดยมีการปรับปรุง เช่น ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของทั้งสองฝ่าย ในการตรวจสอบอากาศยานและเอกสารต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรักษาระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน คู่ภาคีจะรับรองว่ามีการบังคับใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยของอากาศยานที่เพียงพอและจะให้ความช่วยเหลือทั้งหมดที่จำเป็นต่อกันเพื่อป้องกันการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายและการคุกคามอื่นใดต่อการรักษาความปลอดภัยของการบินพลเรือน รวมถึงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของแต่ละฝ่ายสามารถประเมินมาตรการรักษาความปลอดภัยต่อผู้ให้บริการอากาศยานของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ส่วนเรื่องราคา และข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปของการขนส่งนั้น สายการบินที่กำหนดสามารถกำหนดราคาค่าขนส่งตามบริการที่ได้ตกลงกันซึ่งจะเป็นไปตามกลไกตลาด โดยไม่ต้องยื่นราคาค่าขนส่งต่อเจ้าหน้าที่การเดินอากาศ เว้นแต่มีการร้องขอให้เปิดเผยการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับราคาค่าขนส่งแก่เจ้าหน้าที่การเดินอากาศ

สำหรับการใช้ท่าอากาศยานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบินและบริการ ให้สายการบินของภาคีอีกฝ่ายใช้ท่าอากาศยาน เส้นทางบิน การควบคุมจราจรทางอากาศ และการบริการเดินอากาศ การรักษาความปลอดภัยด้านการบิน และสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนการมีผลบังคับใช้ของความตกลงฯ ฉบับใหม่ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ของหนังสือทางการทูตฉบับสุดท้าย ซึ่งคู่ภาคีได้แจ้งระหว่างกันไว้ว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อให้ความตกลงฯ ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว และจะมีผลให้ความตกลงฯ ฉบับเดิมสิ้นสุดลง

ขณะที่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับปรุงข้อบท และสิทธิการบินต่างๆตามความตกลงฯ ฉบับใหม่และบันทึกข้อตกลงฯ เป็นการเปิดโอกาสให้สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายสามารถขยายบริการและเครือข่ายการบินเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสายการบินในการวางแผนการให้บริการ เป็นการส่งเสริมการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้า และบริการระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศต่อไป

อนุมัติกฎกระทรวง ช่วยผู้ประกันตนรับบำเหน็จเพิ่ม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ ทั้งนี้เพื่อกำหนดอัตราการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2564 โดยกำหนดให้การจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้ประกันตน ซึ่งออกเงินสมทบเข้ากองทุนในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2564 ให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.45 ของค่าจ้าง และกำหนดให้การจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพให้แก่ผู้ประกันตน ซึ่งออกเงินสมทบเข้ากองทุนในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2564 ให้คำนวณจากอัตราเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.3 ของค่าจ้าง

สำหรับการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพดังกล่าว มีผลทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น 347 บาทต่อคนต่อสามงวด สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น 146 บาทต่อคนต่อสามงวด โดยในภาพรวมผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 1,906 ล้านบาท จำแนกเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 1,783 ล้านบาท และ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 123 ล้านบาท โดยไม่ได้ทำให้ค่าใช้จ่ายของกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น จึงไม่มีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม และเพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินบำเหน็จชราภาพที่เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายเพื่อยังชีพในยามชรา เป็นการบรรเทาปัญหาทางการเงินของผู้ประกันตนได้บางส่วน

ไฟเขียวไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุม คกก.มรดกโลก

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียด แผนงานและกิจกรรม และประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก โดยคณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 19-30 มิถุนายน 2565 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย

สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ดังนี้ จะช่วยส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำในการดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม และข้อริเริ่มใหม่ๆ เช่น การจัดอบรมให้กับผู้จัดการแหล่งมรดกโลกหรือการอบรมให้ความรู้ในการดำเนินงานในด้านการอนุรักษ์

นอกจากนี้ยังมีผลต่อด้านเศรษฐกิจ โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ จะเป็นการสร้างและขยายโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจากข้อมูลสถิติในการจัดการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ครั้งที่ 40-43 มีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,300 คน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนจากการใช้จ่ายในด้านต่างๆ เช่น การเดินทาง ที่พัก การท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายทั่วไป

จัดงบฯ 2,125 ล้าน ซ่อมถนน 17 จว.ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,125.56 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยจำนวน 17 จังหวัด แบ่งเป็นในส่วนของกรมทางหลวงจำนวน 1,649.12 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 476.44 ล้านบาท

โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-12 ตุลาคม 2564 ได้เกิดอุทกภัยจากมรสุมที่พาดผ่านทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทำให้ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทได้รับความเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งทางกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและซ่อมแซมเส้นทางเพื่อให้การจราจรผ่านได้ในระยะเร่งด่วนแล้วจำนวน 663 รายการ ครอบคลุมพื้นที่ 31 จังหวัด วงเงินรวม 7,987.83 ล้านบาท

สำหรับงานบูรณะทางหลวงแผ่นดินและโครงสร้างพื้นฐานของกรมทางหลวงภายใต้งบกลางฯ ที่เสนอครั้งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ เชียงราย, เชียงใหม่ และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัดคือ ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครราชสีมา และกาฬสินธุ์ ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร, นครสวรรค์, พระนครศรีอยุธยา,เพชรบูรณ์,ลพบุรี และสุโขทัย และภาคตะวันตก 2 จังหวัดคือ กาญจนบุรีและตาก เป็นงานซ่อมแซมบูรณะ เช่น งานก่อสร้างและซ่อมสะพาน งานแก้ไขและป้องกันดินสไลด์ งานฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ รวม 69 รายการ วงเงิน 1,649.12 ล้านบาท

ส่วนงานบูรณะทางหลวงชนบทและโครงสร้างพื้นฐานของกรมทางหลวงชนบทที่เสนอครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัดคือ ชัยภูมิ ภาคกลาง 3 จังหวัด คือ นครสวรรค์, กำแพงเพชร และสุโขทัย และภาคใต้ 1 จังหวัดคือ ระนอง มีงานซ่อมฟื้นฟูสภาพทาง งานซ่อมฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ งานป้องกันการกัดเซาะโครงสร้างทางรวม 31 รายการ วงเงิน 476.44 ล้านบาท

เด้ง “พิเชษฐ์” นั่งผู้ตรวจฯ โยก “ระพีภัทร์” คุมกรมวิชาการเกษตร

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีรายละเอียดดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นายวรณัฐ คงเมือง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 3 ราย ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

    1. นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    3. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นายศักดิ์สีห์ พรหมโยธี เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล
    2. นางสาวบุศรา กาญจนาลัย อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน เนการาบรูไนดารุสซาลาม
    3. นายสุภาค โปร่งธุระ อัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 3 ราย ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

4. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

5. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 2 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการฯ ที่พ้นจากตำแหน่ง ดังนี้

    1. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ เป็นประธานกรรมการ
    2. นางสาวธิดารัธ ธนภรรคภวิน เป็นกรรมการ (บุคคลในบัญชีรายชื่อฯ และผู้ทรงคุณวุฒิในภาคธุรกิจ)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน (วันที่ 27 ตุลาคม 2566)

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 5 มกราคม 2565 เพิ่มเติม

ป้ายคำ :