ThaiPublica > เกาะกระแส > กลเกมหาแหล่งเงินรัฐบาลเศรษฐา! 10 เม.ย.นี้ เคาะ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ มาจากไหน?

กลเกมหาแหล่งเงินรัฐบาลเศรษฐา! 10 เม.ย.นี้ เคาะ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ มาจากไหน?

6 เมษายน 2024


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

10 เม.ย.นี้ เคาะแหล่งเงิน “คลัง – สำนักงบฯ” เร่งกวาดหาเงิน 5 แสนล้านตอบโจทย์รัฐบาล ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ล่าสุดเพิ่มวงเงินงบฯปี’68 กว่า 1.5 แสนล้านบาท เข็นมาตรการล้างท่องบประมาณปี’67 ขีดเส้นตายหน่วยงานรัฐเร่งทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันภายใน พ.ค.นี้ หากทำไม่ทันให้แจ้งสำนักงบฯ ป้องกันงบฯถูกพับ

ครบรอบ 1 ปี กับสัญญาว่าจะให้ นับจากวันที่พรรคเพื่อไทยนำรายละเอียดนโยบายหาเสียงส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง 2560 ระบุแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จำนวน 560,000 ล้านบาท ว่ามาจากการบริหารงบประมาณ หลัก ๆ จะมาจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 1.ประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปี 2567 ที่เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท 2.ภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท จากการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ เกิดผลคูณทางเศรษฐกิจ (Multipliers) 3.การบริหารจัดการงบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพ 110,000 ล้านบาท และ4.บริหารจัดการงบประมาณที่ซ้ำซ้อนอีก 90,000 ล้านบาท เป็นต้น ไม่ได้ระบุว่ามีการกู้เงิน แต่อย่างใด

แต่หลังจากได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ วันที่ 11 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ต่อที่ประชุมรัฐสภา และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา แถลงรายละเอียดของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ว่าเงื่อนไขและรายละเอียดของโครงการดังกล่าว เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยหาเสียง และที่แจ้งต่อ กกต. โดยรัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท หากมีรายได้เกิน 70,000 บาท แต่มีเงินฝากไม่ถึง 500,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว หรือ มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท แต่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท ก็ไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน คาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน

ส่วนแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ระบุว่าจะใช้เงินจากการบริหารเงินประมาณ เปลี่ยนมาเป็นการกู้เงิน 500,000 ล้านบาท แทน โดยอ้างเหตุวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 53 กำหนดการกู้เงินนอกเหนือจากกฎหมายหนี้สาธารณะนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยอำนาจของกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และจะต้องมีควาจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

เสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มทันทีว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติ หรือ ไม่วิกฤติ ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไปรวบรวมความเห็นของหน่วยงานที่มีหน้าที่ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ อาทิ แบงก์ชาติ, สภาพัฒน์ฯ, กระทรวงการคลัง, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นักเศรษฐศาสตร์ และคณาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ นำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เสนอคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ได้ข้อสรุปว่า “เศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายวิกฤติ และไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดวิกฤติ…ตามนิยามของธนาคารโลก และ IMF … เพียงแต่มีอัตราการเจริญเติบในอัตราที่ชะลอตัว หรือ ต่ำกว่าศักยภาพ” หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท มาทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ต่อไป ในข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ระบุว่า อาจมีความเสี่ยงผิดเงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 53 และ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศยังไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ถึงขั้นที่จะต้องตรากฎหมายพิเศษมากู้เงินแต่อย่างใด และโครงการนี้ไม่อยู่ในข่ายกรณีจำเป็นเร่งด่วน ตั้งงบประมาณไม่ทัน แต่เป็นการจ่ายเงินครั้งเดียวในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่อง

สุดท้าย ป.ป.ช.จึงแนะนำรัฐบาลว่า “หากมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน ควรช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีฐานะยากจนที่เปราะบาง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณปกติที่ใช่เงินกู้ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เมาะสม … จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ขัดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ 2561 และขัด พ.ร.บ.เงินตรา 2501 และที่สำคัญ ไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว”

ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานบอร์ดดิจิทัลฯชุดใหญ่ ได้พิจารณาข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เสร็จเรียบร้อย กลับลำสั่งให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณไปศึกษาหาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และให้นำกลับมาเสนอที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลฯชุดใหญ่เคาะว่า กู้ หรือ ไม่กู้ ในวันที่ 10 เมษายน 2567

การหาแหล่งเงินจากงบประมาณ เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทนั้น สามารถดำเนินการได้โดยผ่าน 3 มาตรการหลัก คือ

  • 1. มาตรการจัดเก็บรายได้ อาทิ การปรับขึ้นภาษี หรือ ลดภาษี หรือ ลดหย่อนภาษีจูงใจให้มีการทำกิจกรรมบางอย่างตามที่รัฐบาลกำหนด
  • 2.มาตรการด้านรายจ่าย ผ่านการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ
  • 3. มาตรการก่อหนี้สาธารณะ ผ่านการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ กรณีที่รัฐบาลมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ หรือ ตรากฎหมายพิเศษขึ้นมากู้เงินเป็นการเฉพาะ รวมไปถึงมาตรการกึ่งการคลังที่ให้แบงก์ของรัฐสำรองจ่ายเงินไปก่อน หรือ รัฐบาลไปกู้ยืมเงินจากแบงก์ของรัฐมาดำเนินโครงการต่างๆตามนโยบายรัฐ โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชดเชย หรือ ใช้หนี้ให้ภายหลัง
  • ส่วนเงินหรืองบประมาณที่ได้จากการดำเนินนโยบายการคลังดังกล่าวนี้ ถือเป็น “เงินแผ่นดิน” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 กำหนดให้การใช้จ่ายเงินต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย 5 ฉบับ คือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี, งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม, พ.ร.บ.โอนงบประมาณ, พ.ร.บ.เงินคงคลัง และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถสำรองจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องตั้งงบประมาณมาชดใช้ใน พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณถัดไป

    “การหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ซึ่งสามารถนำมาผสมผสานกันได้ หรือที่เรียกว่า “Hybrid Option” ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่าเคยมีการดำเนินนโยบายการคลังภายใต้หลักการดังกล่าวหลายครั้ง”

    ยกตัวอย่าง

  • การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ ในรอบ 35 ปีที่ผ่านมา จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไป 5 ครั้ง อาทิ ในปีงบประมาณ 2560 มีการใช้แหล่งเงินที่ใช้มาจากรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการ นำสภาพคล่องส่วนเกิน และกำไรสะสม นำส่งคลังเพิ่ม 27,078.30 ล้านบาท เงินจำนวนนี้นำมาผสมกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณส่วนที่เหลืออีก 162,921.70 ล้านบาท นำมาจัดทำเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท
  • จากนั้นในปีงบประมาณ 2561 มีการใช้แหล่งเงินจากประมูลในอนุญาตโทรคมนาคมเมื่อปี 2558 นำส่งคลังในปีงบประมาณ 2559 พร้อมกับภาษีอื่น ๆรวม 49,641.90 ล้านบาท นำมาผสมกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณส่วนที่เหลืออีก 100,358.10 ล้านบาท ตราขึ้นเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 150,000 ล้านบาท เป็นต้น
  • ในปีงบประมาณ 2567 ไม่มีรายได้พิเศษไหลเข้ามา แต่อาจไปนำรายได้ส่วนเก็บได้เกินจากประมาณการในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 174,719 ล้านบาท มาผสมกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของปีงบประมาณ 2567 ที่ยังมีวงเหลืออยู่อีก 97,656 ล้านบาท ยกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 270,000 ล้านบาท ใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ก็ได้
  • และผลจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ ในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ส่งผลทำให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถูกลากยาวมาถึง 7 เดือน ในระหว่างที่งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ สำนักงบประมาณออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2567 โดยให้ใช้กรอบของกฎหมายงบประมาณปี 2566 เบิกจ่ายไปพลางก่อน ส่งผลทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการใหม่ ๆ เบิกไม่ออก เหลือค้างท่อเป็นจำนวนมาก กว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เหลือเวลาในการเบิกจ่ายงบลงทุนแค่ 5 เดือน ซึ่งงบฯค้างท่อเหล่านี้ หากยังไม่ได้ออกประกาศจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ลงนามในสัญญา หรือ เป็นโครงการที่สามารถชะลอออกไปได้ โดยที่ไม่ทำให้ราชการเสียหาย หรือ เป็นรายการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีงบประมาณ 2567 อาจจะถูกพับ และยกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณส่วนนี้มาใช้ในโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต เหมือนกับในช่วงปีงบประมาณ 2563 โครงการลงทุนต่างๆหยุดชะงัก เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิดฯ รัฐบาลในขณะนั้นก็มีตรา พ.ร.บ.โอนงบประจำและงบลงทุน ข้ามรายการมาใส่ไว้ในงบกลาง เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดฯ เป็นต้น และยังไม่เพียงพออาจตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2568 เข้ามาเสริม ตามที่ไทยพับลิก้าเคยนำเสนอตอนที่แล้ว
  • รัฐบาล“เศรษฐา” กลับลำสั่งคลัง-สำนักงบฯ หา 5 แสนล้าน ลุย ‘Digital Wallet’- คาดใช้ 3 แนวทาง
  • ต่อมา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็บชอบปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลางในปีงบประมาณ 2568 – 2571 โดยมีการปรับเพิ่ม หรือ ขยายวงเงินงบประมาณรายจ่าย และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เฉพาะปีงบประมาณ 2568 ขึ้นไปอีก 152,700 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2569 -2571 ไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาทั้ง 3 วาระ ยังไม่ทันได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ที่ประขุม ครม.วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ก็มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ดังนี้

      1. ให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ เร่งส่งเงินที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับวันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรรงบฯ

      2. รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง ราคากลาง และรายละเอียดประกอบที่เกี่ยวข้องให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของราคา ควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเมื่อได้ผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว หากไม่เกินวงเงินที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบ ให้แจ้งสำนักงบประมาณทราบ และดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันต่อไปได้

      3. ให้หน่วยรับงบประมาณ พิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายน 2567 โดยเฉพาะรายการปีเดียวสำหรับรายการผูกพันใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ หากคาดว่ามีรายการงบประมาณที่จะไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันภายในปีงบประมาณ 2567 ให้หน่วยรับงบประมาณแจ้งสำนักงบประมาณ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเป็นรายกรณีในโอกาสแรก เพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันมิให้เงินพับตกไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ

    เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 14.00 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง
    ที่มาภาพ : www.mof.go.th/

    ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 14.00 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง ภายหลังการประชุมผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคืนหน้าในการหาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท นายจุลพันธ์ ตอบสั้นๆว่า “ขอให้รอสรุปในวันที่ 10 เมษายน 2567”

    เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 15.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง , สภาพัฒน์ , สำนักงบประมาณ และแบงก์ชาติ ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    เวลา 15.00 น. ของวันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง , สภาพัฒน์ , สำนักงบประมาณ และแบงก์ชาติ ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยในวันนี้ที่ประชุมร่วม 4 หน่วยงาน มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 วงเงิน 3,572,000 ล้านบาท เพิ่มจากกรอบวงเงินเดิม 3,600,000 ล้านบาท ส่วนประมาณการรายได้ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 865,700 ล้านบาท จากเดิมกำหนดกรอบไว้ที่ 713,000 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจะนำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 เสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 9 เมษายน 2567

    ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยสำนักงบประมาณ ว่ากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอีก 152,700 ล้านบาท จะนำไปใช้ในโครงการใด นายเฉลิมพล ตอบว่า “ยังไม่ทราบ ขอนำไปหารือกับส่วนราชการอื่นๆก่อน”

  • ‘เพื่อไทย’ แจ้ง กกต. 70 นโยบาย ใช้เงินจากไหน ?
  • ครม.เร่งล้างท่องบฯปี’67 จี้ทำสัญญา พค.นี้ – ปรับบำนาญ ขรก.เป็น 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้
  • นี่คือกลเกมของรัฐบาลต่อการหาแหล่งเงินที่จะมาใช้ในโครงการ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ แล้วเม็ดเงินลงทุนของรัฐที่จะสร้างการเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอยู่ที่ไหน?