ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.เร่งล้างท่องบฯปี’67 จี้ทำสัญญา พค.นี้ – ปรับบำนาญ ขรก.เป็น 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้

ครม.เร่งล้างท่องบฯปี’67 จี้ทำสัญญา พค.นี้ – ปรับบำนาญ ขรก.เป็น 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้

2 เมษายน 2024


เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ บริเวณโถงกลางตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯปัดข่าวลือปรับ ครม. ดึง ปชป.ร่วม ชี้ 314 เสียง แข็งแกร่งพอ
  • จี้ ‘คลัง-สำนักงบฯ’ เร่งจ่ายงบลงทุนปี’67
  • ไม่ทราบผลเจรจายกเลิกซื้อเรือดำน้ำจีน เปลี่ยนเป็น “เรือฟริเกต”
  • มติ ครม.ปรับแผนการคลังฯ ตั้งงบฯ ปี’68 – กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน
  • ผ่านแผนล้างท่องบฯปี’67 จี้ทุกหน่วยเร่งทำสัญญาใน พ.ค.นี้
  • ปรับฐานเงินบำนาญ ขรก.เป็น 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้
  • ขยายเวลาต่างด้าวยื่นขอทำงานบนเรือประมงได้ตลอดทั้งปี
  • ขึ้นทางด่วนหมายเลข 7 – 9 ฟรี 11 -17 เม.ย.นี้
  • เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

    จี้ ‘คลัง-สำนักงบฯ’ เร่งจ่ายงบลงทุนปี’67

    นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เร่งส่งงบประมาณไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะงบลงทุน เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ

    เร่งจัดทำแผนพัฒนา ‘ท่าเรือคลองเตย’

    นายเศรษฐา กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือคลองเตยว่า ขอให้เร่งรัดการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ และสั่งการให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมถึงภาคแรงงานด้วย

    “หากพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้คนกรุงเทพได้ หรือ พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนให้ได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคต เพราะว่าปัญหาผลของการที่เรามีท่าเรืออยู่ในเมือง ก็มีเรื่องของการขนส่งมีเรื่องของการรถบรรทุกน้ำมัน รถบรรทุกต่าง อาจทำให้เกิด PM 2.5…เคยมีการเสนอคุยกับ ผู้ว่า กทม. ไปแล้ว ควรจะต้องมีการพิจารณาศึกษา เรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน” นายเศรษฐา กล่าว

    มอบ ‘จุลพันธ์’ เก็บ VAT สินค้าออนไลน์มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท

    ถามถึงเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้าออนไลน์จากแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดย นายเศรษฐา อธิบายว่า ตนได้มอบนโยบายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการได้เปรียบ – เสียเปรียบ โดยให้เก็บทุกคนเสมอภาค พร้อมย้ำว่าขอให้ดูให้ละเอียด เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

    ผ่านร่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯฉบับใหม่

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ มีมติอนุมัติในหลักการ ร่างพ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติ และการให้บริการแก่ประชาชน ตามที่ กพร.เสนอ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลคือ “Ease of Doing Business” เพื่อแก้ปัญหาใช้บังคับกฎหมาย จากผลอันไม่เป็นที่พี่งประสงค์ ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่พนักงาน อันนำไปสู่การลดการทุจริตตลอดจนมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ ประชาชนในการขออนุญาตและรับบริการจากหน่วยงานของภาครัฐ เช่น จัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วน หรือ Fast Track โดยหน่วยงานของรัฐบาลอาจเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการใช้บริการช่องดังกล่าว

    ปัดตอบ ต่อมาตรการอุ้มคนใช้ “ดีเซล” หรือไม่?

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่จะปรับราคาขึ้นหรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุม เพื่อหาในเรื่องมาตรการที่จะออกมารองรับ”

    ถามต่อว่า จะมีการนำงบกลางในการเข้าไปอุ้มราคาน้ำมันดีเซลหรือไม่ นายเศรษฐา ย้ำว่า “รอประชุมบ่ายนี้ก่อน เดี๋ยวมีหลาย ๆ มาตรการออกมา ที่จะต้องใช้เป็นมาตรการร่วมหลาย ๆ อย่าง เดี๋ยวขอให้เขาประชุมก่อนแล้วกัน เดี๋ยวจะแจ้งให้ทราบอีกที่”

    เคาะแหล่งเงิน ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ 10 เม.ย.นี้

    เมื่อถามว่า จะมีการปรับงบประมาณปี 2568 เพื่อดำเนินการโครงการดิจิตอลวอลเลต หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ยังไม่มีการคุยกัน รอประชุมวันที่ 10 เมษายน 2567 ดีกว่า จะได้ไม่มีการสับสน”

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะมีการขยายกรอบวงเงินขาดดุลหรือไม่ แต่ นายเศรษฐา บอกว่า “ไม่มีการพูดเรื่องนี้”

    สั่ง “ดีอี-ตำรวจไซเบอร์” ลุยจับเว็บพนันภายใน 30 วัน

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องกาสิโน ถูกฎหมาย แต่นายเศรษฐา ยังคงตอบว่า “ไม่มีการพูดเรื่องนี้”

    นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงเรื่องการพนันออนไลน์ว่า เป็นข้อสุดท้ายในการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีข้อสั่งการต่อคณะทำงานของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)ให้ทำงานใกล้ชิดกับ ตำรวจไซเบอร์ เพื่อให้ทำงานอย่างบูรณาการ และให้มีผลที่วัดได้ และจับให้ได้ในระยะเวลา 30 วัน

    ไม่ทราบผลเจรา ยกเลิกซื้อเรือดำน้ำจีน เปลี่ยนเป็น “เรือฟริเกต”

    ถามว่า วันนี้มีรายงานผลการหารือกับประเทศจีนในประเด็น ยกเลิกการซื้อเรือดำน้ำเปลี่ยนเป็นซื้อเรือฟริเกตแทนหรือไม่ นายเศรษฐา ยังคงย้ำว่า “ไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้”

    เมื่อถามว่าจะเลื่อนเสนอ เข้าครม.เป็นสัปดาห์หน้าใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ทราบ ไม่มีเรื่องนี้เข้า ผมยังไม่ทราบว่าจะเลื่อนไปเป็นสัปดาห์หน้าหรือเปล่า”

    ย้ำกัญชาใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

    นายเศรษฐา ตอบคำถามประเด็นกัญชาว่า “ผมย้ำอย่างชัดเจนเรื่องการนำกัญชามาใช้เรื่องการแพทย์ ส่วนจะนำไปดำเนินการอย่างอื่นให้เป็นไปตามแนวทางเฉพาะในการควบคุมเพื่อใช้ทางการแพทย์เท่านั้น”

    ปัดข่าวลือปรับ ครม. ดึง ปชป.ร่วม ชี้ 314 เสียง แข็งแกร่งพอ

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวลือเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ยิ้มก่อนจะบอกว่า “ข่าวลือ ท่านพูดถูกว่าข่าวลือ มันก็จบที่ข่าวลือ”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวถึงขั้นว่าจะดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่เคยมีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ผมเรียนแล้วว่า 314 เสียง ก็แข็งแกร่งพอแล้วตรงนี้ เรามีความสามัคคี พูดจากันรู้เรื่องอยู่แล้ว และเรื่องร่วมกันทำงานอยู่แล้ว อีกทั้งงบประมาณยังไม่ออกเลย วันนี้ในที่ประชุม ครม. ก็มีการพูดคุยกันถึงการใช้งบประมาณขับเคลื่อนประเทศโดยการใช้งบประมาณ ซึ่งวันนี้ได้มีการสั่งการไปแล้ว ที่ผ่านมาก็มีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เรียบร้อยแล้ว ไปแล้วก็ต้องมีการทำงานอย่างจริงจัง”

    “วันนี้เราจะมีการเน้นย้ำและโฟกัสการใช้งบประมาณขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด” นายเศรษฐา กล่าว

    เมื่อถามว่าสมมติว่า ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐยังเหลือโควตาอีก 1 ที่ อาจจะต้องมีการปรับหรือไม่ ทำให้นายเศรษฐา ย้อนกลับว่า “สมมติ สมมติ ก็คือสมมติ เพราะท่านบอกว่าสมมติ วันนี้เราอยู่กับความเป็นจริงดีกว่า”

    ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ยังคงสัดส่วนโควตารัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลไว้เช่นเดิมหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ใช่ครับ เป็นข้อตกลงที่ชัดเจนอยู่แล้ว ตรงนี้”

    “เป็นคนโควตาเดิมที่อยู่มานานแล้ว (พรรคพลังประชารัฐ) เช่นเดียวกับโควตาของพรรคเพื่อไทย ก็เป็นโควตาเดิมที่มีมานานแล้ว”

    ผู้สื่อข่าวถามเมื่อวานนี้ (1 เม.ย.2567) ที่มีการเรียกรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนต รีเข้าพบบนตึกไทยคู่ฟ้าได้มีการพูดคุยเรื่องการปรับ ครม.หรือไม่ โดย นายเศรษฐา ตอบว่า เมื่อวานนี้ผมมีหลายเรื่อง แล้วผมเรียกท่านไหนเข้า อ้อเป็นการพูดคุยเรื่อง FTA มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายปานปรีย์ พหิธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการพูดคุยถึง FTA และ IUU”

    เมื่อถามย้ำว่า ไม่มีการคุยเรื่องของการปรับ ครม. นายเศรษฐา ตอบว่า ไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรีเลย ยืนยันได้ หรือไม่แม้แต่เฉี่ยวแม้แต่นิดเดียว

    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิเคราะห์หรือไม่ทำไมกระแสถึงเกิดในช่วงนี้ เป็นการปล่อยข่าวเพื่อหยั่งเชิงหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ไม่ทราบ และไม่ได้ให้ความสำคัญด้วย เพราะอยากให้รัฐมนตรีทุกคนตั้งใจทำงาน ดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด และมันเป็นเรื่องของใจเขาใจเรา หากมีกระแสไป แล้วท่านรู้ว่าท่านจะต้องถูกปรับออกไป ก็อาจจะมีความกังวล แล้วจุดโฟกัสก็จะเปลี่ยนไป เชื่อว่าเรื่องนี้เราควรเอาพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง และควรทำงานให้เต็มที่”

    ถามต่อว่า หลักเกณฑ์ของนายกรัฐมนตรี หากปรับ ครม.มีอะไรบ้าง นายเศรษฐา ตอบว่า “ถ้าเกิดว่าทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไม่ได้ก็ต้องมีการพิจารณาตรงนี้”

    สุดท้าย ผู้สื่อถามว่าตอนนี้ยังได้อยู่ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ก็ยังทำกันอยู่ครับ”

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ปรับแผนการคลังฯ ตั้งงบฯ ปี’68 – กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณ รายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้การจัดทำงบฯ และการก่อหนี้ของหน่วยงานรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 ต่อไป

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนฯ ปีงบฯ 68-71 ครม. ได้มีมติเห็นชอบไว้แล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ดี เพื่อให้ทิศทางการดำเนินนโยบายการคลังมีความสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน คกก. นโยบายการเงินการคลังฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 จึงได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน โดย แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ประกอบด้วย 3 ส่วน มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ

    ในปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.8 – 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.6 สำหรับในปี 2569 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8 – 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และในปี 2570 และ 2571 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.7 – 3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 – 2570 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3 – 2.3 และในปี 2571 – 2572 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5

    2. สถานะและประมาณการการคลัง

      2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับ 2,887,000 3,040,000 3,204,000 และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ

      2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับ 3,752,700 3,743,000 3,897,000 และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ

      2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 – 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 865,700 703,000 693,000 และ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.42 3.42 3.21 และ 3.01 ต่อ GDP ตามลำดับ

      2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.44 ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับร้อยละ 66.93 67.53 67.57 และ 67.05 ตามลำดับ

    3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง

    ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

    สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

    ผ่านร่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯฉบับใหม่

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. … ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนและความไม่สะดวกต่างๆ ของการอนุมัติ อนุญาต โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บังคับใช้มากว่า 8 ปีแล้ว และถึงแม้จะมีผลสัมฤทธิ์ในเชิงปฏิบัติ แต่ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านต่างๆ ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัว ก.พ.ร. จึงได้ปรับปรุงเพื่อแก้ไขปัญหาในการบังคับกฎหมาย ขจัดผลไม่พึงประสงค์ ตลอดทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขออนุญาตและขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ

    โดยมีประเด็นสำคัญที่ได้ปรับปรุงจาก พ.ร.บ เดิม อาทิ

    • แก้ไขชื่อร่าง พ.ร.บ. เป็น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. … เพื่อขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ไปถึงการให้บริการต่างๆ แก่ประชาชน รวมทั้งเพิ่มบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ”
    • กำหนดให้มีการทบทวนกฎหมายที่ให้อำนาจในการอนุญาตทุก 5 ปี โดย ก.พ.ร. หรือ คกก. พัฒนากฎหมายอาจเสนอให้หน่วยงานของรัฐแก้ไขกฎหมายก่อนกำหนดระยะเวลาดังกล่าวก็ได้ รวมทั้งให้มีการทบทวนคู่มือสำหรับประชาชนทุก 2 ปี
    • กำหนดให้ผู้อนุญาตอาจจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วน (Fast Track) โดยหน่วยงานของรัฐอาจเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการใช้บริการช่องทางดังกล่าวก็ได้
    • กำหนดเพิ่มหลักการอนุญาตโดยปริยาย (Auto Approve)
    • กำหนดให้มีระบบอนุญาตหลัก (Super License) โดย ครม. อาจกำหนดเรื่องที่หากประชาชนได้รับใบอนุญาตที่เป็นใบอนุญาตหลักของเรื่องนั้นแล้ว ถือว่าได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย และ
    • กำหนดให้มีศูนย์รับคำขอกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

    ทั้งนี้ ก.พ.ร. ได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว รวม 7 ฉบับ โดยออก พ.ร.ฎ. 4 ฉบับ และออกเป็นกฎกระทรวง 3 ฉบับ

    ผ่านแผนล้างท่องบฯปี’67 จี้ทุกหน่วยเร่งทำสัญญาใน พ.ค.นี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ และสามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้ทันที เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้บังคับตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ โดยกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในภาพรวมของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 2567) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในภาพรวมของประเทศ ดังนี้

    ทั้งนี้ เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แล้ว สงป. จะแจ้งแนวทางการจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 และการอนุมัติเงินจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณถือปฏิบัติต่อไป โดยให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้

      1. งบประมาณรายจ่ายที่ต้องดำเนินการ หรือ เบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคให้หน่วยรับงบประมาณ เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร

      2. รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง ราคากลาง และรายละเอียดประกอบที่เกี่ยวข้องให้ สงป. พิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเมื่อได้ผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว หากไม่เกินวงเงินที่สำนักงบประมาณ (สงป.) ให้ความเห็นชอบ ให้แจ้ง สงป. ทราบ และดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันต่อไปได้ และ

      3. ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายน 2567 โดยเฉพาะรายการปีเดียวสำหรับรายการผูกพันใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567

    ทั้งนี้ หากคาดว่ามีรายการงบประมาณที่จะไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้หน่วยรับงบประมาณแจ้ง สงป. เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเป็นรายกรณีในโอกาสแรก เพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันมิให้เงินพับตกไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ

    ไฟเขียว กฟภ.ลงทุน 6 แผนงาน 38,900 ล้านบาท

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กู้เงินในประเทศ เพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ของ กฟน. จำนวน 6 แผนงาน ภายในกรอบวงเงินรวม 38,900 ล้านบาท โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นรายปีจนกว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จ ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้

      1. แผนงานขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปี 2565 – 2566 : เป็นการขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า เช่น สายป้อนระดับแรงดัน หม้อแปลงจำหน่าย เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และคาปาซิเตอร์ พร้อมอุปกรณ์ประกอบ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเขตให้บริการ ของ กฟน. และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า วงเงินเต็มแผนงาน 8,866.37 ล้านบาท แหล่งเงินทุนเงินกู้ในประเทศ 6,500.00 ล้านบาท เงินรายได้ 2,366.37 ล้านบาท

      2. แผนปฏิบัติการดิจิทัล ปี 2566 – 2570: ประกอบด้วย 3 แผนงาน ดังนี้ (1) แผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการผู้ใช้ไฟฟ้าและการบริหารองค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าให้ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว(2) แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับระบบงานต่าง ๆ ให้สามารถทำงานตอบสนองระบบงานที่เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีความทันสมัย และมีเสถียรภาพ (3) แผนพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบสื่อสาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในระบบสารสนเทศและระบบสื่อสารขององค์กร วงเงินเต็มแผนงาน 6,652.52 ล้านบาท แหล่งเงินทุน เงินกู้ในประเทศ 5,300.00 ล้านบาท เงินรายได้ 1,352.52 ล้านบาท

      3. แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าตามแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ระยะที่ 1 : เป็นการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมทั้งเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าในอนาคตได้ ประกอบด้วย 2 โครงการ ดังนี้ (1) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ถนนสีหบุรานุกิจ และถนนร่มเกล้า ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร (2) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถนนศรีนครินทร์ (ถนนรามคำแหง – ถนนเทพารักษ์) ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร วงเงินเต็มแผนงาน 8,353.70 ล้านบาท แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ 6,300.00 ล้านบาท เงินรายได้ 2,053.70 ล้านบาท

      4. แผนงานประสานสาธารณูปโภคทั่วไป ปี 2566 – 2570 : เป็นการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมทั้งเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยดำเนินการไปพร้อมกับโครงการสาธารณูปโภคของหน่วยงานภายนอก จำนวน 5 โครงการ ดังนี้ (1) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร (2) โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนประชาชื่นจากการประปานครหลวงถึงถนนแจ้งวัฒนะ (ถนนหมายเลข 11) ของ กทม. ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร (3) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง (ทล.) ระยะทาง 2 กิโลเมตร (4) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 สาย บ้านบางปูใหม่ – บ้านบางปู ของ ทล. ระยะทาง 10 กิโลเมตร วงเงินเต็มแผน 2,797.87 ล้านบาท แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ 2,000.00 ล้านบาท เงินรายได้ 797.87 ล้านบาท

      5. แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าตามแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ระยะที่ 2: เป็นการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมทั้งเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าในอนาคตได้ ประกอบด้วย ๗ โครงการ ดังนี้ (1) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง ถนนสมเด็จเจ้าพระยา และถนนเจริญนคร ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร (2) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถนนเพชรเกษม (ถนนรัชดาภิเษก – ถนนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร (3) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถนนพระราม 4 (ถนนพญาไท – คลองผดุงกรุงเกษม) ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร (4) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ถนนพหลโยธิน (ถนนงามวงศ์วาน – ซอยพหลโยธิน54/2) ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร (5) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถนนรามคำแหง และถนนสุวินทวงศ์ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร และ (6) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถนนพระราม 9 (พระราม 9 ซอย 13 – ถนนรามคำแหง) ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร และ (7) เส้นทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีเขียว (ถนนเทพารักษ์ – ถนนสุขุมวิท) ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร วงเงินเต็มแผน 9,972.90 ล้านบาท แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ 7,500.00 ล้านบาท เงินรายได้ 2,472.90 ล้านบาท

      6. แผนขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปี 2566 – 2570 : เป็นการขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า เช่น สายป้อนระดับแรงดัน หม้อแปลงจำหน่าย เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และคาปาซิเตอร์ พร้อมอุปกรณ์ประกอบ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนที่มีแน้วโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเขตให้บริการของ กฟน. และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า วงเงินเต็มแผน 18,012.40 ล้านบาท แหล่งเงินกู้ เงินกู้ในประเทศ 13,600.00 ล้านบาท เงินรายได้ 4,412.40 ล้านบาท

    ขึ้นทางด่วนหมายเลข 7 – 9 ฟรี เริ่ม 11 -17 เม.ย.นี้

    นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันพุธที่ 17 เมษายน 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางบนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลดังกล่าว

    ทั้งนี้ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ค่าผ่านทาง จำนวน 190,493,826 บาท โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรช่วงการดำเนินมาตรการดังกล่าวประมาณ 5,110,485 คัน อย่างไรก็ตาม การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่า จำนวน 285,786,300 บาท ซึ่งประเมินจากมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถและมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง

    ปรับฐานเงินบำนาญ ขรก.เป็น 11,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการล่วงหน้า และให้ดำเนินการต่อไปได้

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เรื่องการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ รวมทั้งเพื่อให้ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน กค. โดยกรมบัญชีกลาง จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นจนครบ เดือนละ 11,000 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยงบประมาณที่ต้องใช้ในการปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 2.33 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 27.96 ล้านบาทต่อปี โดยใช้งบกลาง รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ มี 5 ประเภท ได้แก่ ผู้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม ผู้รับบำนาญปกติ ผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษ และบำนาญตกทอดในฐานทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ

    ขยายเวลาต่างด้าวยื่นขอทำงานบนเรือประมงได้ตลอดทั้งปี

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. …. และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กษ. (กรมประมง) พิจารณาแล้ว เพื่อให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคประมง ได้รับการจ้างงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ยกร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยขึ้น โดยแก้ไขปรับปรุงให้แรงงานต่างด้าวสามารถยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือ กรณีพิเศษ (Seabook เล่มสีเหลือง) ได้ตลอดทั้งปี และให้แรงงานสัญชาติอื่น (นอกเหนือจากสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สามารถมาทำงานในภาคประมงทะเลได้ในอนาคต

    ทั้งนี้ กษ. (กรมประมง) ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับแล้ว ตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 แล้ว รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางระบบกลางทางกฎหมาย ให้ประชาชนได้รับทราบด้วยแล้ว

    ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. …. สรุปสาระสำคัญ อาทิ

      1.1 .ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565

      1.2 กำหนดนิยามคำว่า “คนต่างด้าว” หมายความว่าบุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ได้แก่ 1) สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา หรือเวียดนาม 2) ได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เช่น คนพื้นที่สูง คนไทยพลัดถิ่น 3) ไม่มีสถานะทางทะเบียนและได้รับบัตรประจำตัวตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร 4) สัญชาติอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด (เพิ่ม สัญชาติอื่น เพื่อรองรับการเปิดให้แรงงานสัญชาติอื่นสามารถมาทำงานในภาคประมงทะเลได้ในอนาคต)

      1.3 กำหนดนิยามคำว่า “ใบอนุญาตทำงาน” หมายความว่าใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และให้หมายความรวมถึงการอนุญาตทำงานเอกสารอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวด้วย (เพิ่ม หลักฐานเอกสารอื่นที่แสดงการอนุญาตการทำงานตามกฎหมายเพื่อรองรับในกรณีกระทรวงแรงงานกำหนดให้ใช้เอกสารหลักฐานอื่นใดในการอนุญาตทำงาน)

      1.4 แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของคนต่างด้าวและช่วงเวลาการเปิดให้ยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือ กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จากเดิมกำหนดไว้ 2 ช่วง คือ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน และช่วง 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน เปลี่ยนแปลงเป็นยื่นคำขอได้ตลอดทั้งปี

      1.5 แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพิจารณาเอกสารประกอบการขอรับหนังสือคนประจำเรือ กรณีไม่มีใบอนุญาตทำงาน

  • ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่…. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้คนต่างด้าวแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษเพื่อขอรับหนังสือคนประจำเรือ (Seabook เล่มสีเหลือง)
  • โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป พร้อมย้ำให้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวประมงอย่างยั่งยืนต่อไป

    ตั้ง “เสรี นนทสูติ” คุมบอร์ดสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย

    นายชัย กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ หรือ เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางจิติธาดา ธนะโสภณ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ภาษีสรรพสามิต (นักวิชาการสรรพสามิตทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นวันที่ตำแหน่งว่างลงเนื่องจากผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายสุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงาน [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) สูง] สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา กรมควบคุมโรค ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายเกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) สูง] ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี กรมอนามัย ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านอนามัยผู้สูงอายุ) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1. นายอรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านสาธารณสุข) กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

      2. นายสืบสาย คงแสงดาว นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรศาสตร์ ภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

      3. นางสาวจินตาหรา ติณหภัทร นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลหนองคาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) โรงพยาบาลหนองคาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นวันที่ตำแหน่งว่างลงเนื่องจากผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมเกษียณอายุราชการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นางภาวิณา อัศวมณีกุล ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    6. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ แต่งตั้ง นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    7. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

      2. ร้อยตรี จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    8. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง พันตำรวจเอก บุญส่ง จันทรีศรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย) ในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล แทน นางสาวพัดชา พงศ์กีรติยุต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตนได้รับแต่งตั้งแทน

    9. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตร และสหกรณ์เสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย จำนวน 4 คน เพื่อแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้

      1. นายเกรียงไกร เจริญผล

      2. นายวีรวัฒน์ ยมจินดา

      3. นางสุภาวดี สุวรรณประทีป

      4. นายสำเริง แสงภู่วงค์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

    10. แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 8 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน และผู้แทนเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 4 คน เนื่องจากกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้

    ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน

      1. นายเชิดชัย พรหมแก้ว

      2. นายวิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย

      3. นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์

      4. นายนำชัย พรหมมีชัย

    ผู้แทนเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 4 คน

      1. นายศตวรรษ จันทร์ทอง

      2. นางเคียงเดือน สงวนชื่อ

      3. นายบรรจง นิสภวาณิชย์

      4. นายสำราย นิลกิ่ง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

    11. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบัน สงเสริมศิลปหัตถกรรมไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย รวม 4 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เนื่องจากลาออก ดังนี้

      1. นายเสรี นนทสูติ ประธานกรรมการ

      2. นายกฤษณ์ กระแสเวส กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

      3. นางสาวนพรัตน์ มุณีรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

      4. ศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

    ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 2 เมษายน 2567 เพิ่มเติม