นายกฯกลับลำ ‘ไม่กู้’ 5 แสนล้านบาทแล้ว! เคาะแหล่งเงินดิจิทัล วอลเล็ต มาจากการบริหารงบฯปี’67 ที่ล่าช้า 1.75 แสนล้าน – ตั้งงบฯปี’68 วงเงิน 1.53 แสนล้าน – ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน 1.72 แสนล้านบาท ยืนยันทำตามรัฐธรรมนูญปี’60 – กฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน – รักษากรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด เริ่มลงทะเบียนร้านค้า – ประชาชนไตรมาส 3/2567 โอนเงินดิจิทัล 10,000 บาท เข้าแอปฯเป๋าตังไตรมาส 4/2567 ด้าน ธปท.ขอ 3 เงื่อนไข ต้องมีงบฯหนุนหลังครบ ตาม พ.ร.บ.เงินตรา – กลุ่มเป้าหมายต้องเจาะจง – Open Loop มีเสถียร – ปราศจากภัยทางไซเบอร์
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 11.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง , นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง , นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง , นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เป็นนโยบายที่จะยกระดับเศรษฐกิจ ทั้งระดับประเทศ และประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ส่งมอบนโยบายที่จะพลิกชีวิตพี่น้องประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนได้ในไตรมาสที่ 3 และเงินจะส่งตรงถึงพี่น้องประชาชนในไตรมาส 4 ของปีนี้
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่านโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี อันจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯว่า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ตลอดจนยกระดับ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และยังก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย
นายเศรษฐา กล่าวว่าในส่วนของความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ จะเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ผ่าน Digital Wallet วงเงิน 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหน ดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 1.2 ถึงร้อยละ 1.6 จากกรณีฐาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ โดยรัฐบาลจะดำเนินโครงการ ฯ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยกระบวนการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การดำเนินโครงการฯ จะต้องเป็นไปโดยซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ และแหล่งเงินที่มา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดโครงการฯ และประเด็นเงื่อนไขข้อกำหนดและการพัฒนาระบบรายละเอียดของโครงการได้มอบให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจง
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับแหล่งเงินของโครงการฯ ตามที่กระทรวงการการคลัง สำนักงบประมาณได้รับมอบหมายให้ไปพิจารณาแหล่งเงินทางเลือก วงเงิน 500,000 ล้านบาท ว่าจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างไร ขณะนี้มีคำตอบให้คณะกรรมการนโยบายฯแล้วว่า วงเงิน 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ดังนี้
-
1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว
- 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1) : ซุกอะไรไว้ ตรงไหน?
2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568 และ
3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ กรณีวงเงินไม่เพียงพอ
รวมวงเงินส่วนที่ 1- 3 เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) , พ.ร.บ.งบประมาณ และ พ.ร.บ.เงินตรา โดย ณ วันที่เริ่มโครงการช่วงปลายปีจะมีเงิน 500,000 ล้านบาท อยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือ การใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ขอยืนยันเรื่องแหล่งเงินและความมั่นใจว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบในหลายประเด็น โดยเรื่องแรกคือเรื่องของสาเหตุ และความจำเป็นในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบ ดังนี้
(1) เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
(2) เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำหลังจากช่วงโควิด-19 , ปัญหาหนี้ครัวเรือน และภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งบั่นทอนด้านกำลังซื้อของประชาชน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลัง รวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีแนวทางการดำเนินโครงการฯ รายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยมีจะมีเกณฑ์ ได้แก่ ผู้มีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2. เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
-
กลุ่มแรก คือ การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
กลุ่มสอง คือ การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ซึ่งไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายในเชิงพื้นที่ และขนาดของร้านค้าระหว่างร้านค้ากับร้านค้าด้วยกัน
ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด) และตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
4. สำหรับการใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเองโดยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
5. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้
-
(1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ
(2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ
(3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
6. สำหรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 และ
7. เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตภายใต้โครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นอนุกรรมการ รวมทั้งที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน มีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดโครงการ และระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไข และเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
ตลอดจนการประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการฯ ในประเด็นต่าง ๆ ด้วย โดยวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มีมติเห็นชอบทุกประเด็นตามที่ได้ชี้แจงไป และมอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการและกรรมการ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายนนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการที่ออกในวันนี้ ความรู้สึกลึก ๆ ของนายกฯ ผิดกับความตั้งใจแรกในตอนหาเสียง หรือ ไม่ อย่างไร
นายเศรษฐา ตอบว่า ก็ระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นได้ แน่นอนรัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชน ที่คาดว่าที่แรกจะออกต้นปีนี้ แต่ก็เลยไปถึงปลายปี อย่างที่เรียนว่า ต้องฟังเสียงของทุกคน ที่ให้คำแนะนำ ให้เสนอแนะ และพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ มา ต้องมีการดูอย่างดี อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นโครงการที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกอยู่กับประชาชน
ถามว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐครั้งล่าสุดนี้ได้มีการขยายกรอบวงเงินในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการคลังฯ ไปแล้วหรือยัง ตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดเพดานการสูงสุดไว้ที่ 32% ของววงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรัฐบาลได้ใช้ไปแล้ว 31.79% เหลืออีกไม่มากนัก
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า เรื่องของมาตรา 28 ตอนนี้ยังไม่มีการขยายกรอบวงเงิน แต่เนื่องจากรัฐบาลได้มีการขยายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ขึ้นไป ทำให้กรอบวงเงินในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังขยายตัวตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่เพิ่มขึ้น และจากการประเมินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต โดยใช้แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 172,300 ล้านบาท คาดว่าสัดส่วนในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ตามมาตรา 28 อาจจะลดต่ำลงมาเหลือ 30% ของวงเงินงบประมาณราบจ่ายปี 2568 ดังนั้น จึงหมดความเรื่องของวินัยการเงินการคลัง
ถามต่อว่า การที่รัฐบาลให้ ธกส.สำรองจ่าย หรือ แจกเงินให้เกษตรกรไปก่อน จากนั้นจะมีการจัดงบประมาณมาจ่ายคืนให้ ธ.ก.ส.ในภายหลัง รัฐบาลได้มีการกำหนดระยะเวลาหรือไม่ จะใช้หนี้คืน ธ.ก.ส.เมื่อไหร่
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ตอบว่า “เป็นกระบวนการทางงบประมาณแต่ละปี ซึ่งต้องขอดูความจำเป็น และรายได้ที่ได้เข้ามา เราต้องใช้คืนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นระยะๆอยู่แล้ว แต่ตรงนี้ต้องดูความเหมาะสมของวงเงินงบประมาณในแต่ละปีด้วย
ผู้สื่อข่าวขอให้ชี้แจงแหล่งเงินส่วนที่ 3 ที่มาจากการบริหารงบประมาณรายจ่ายปี 2567 นำเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัลฯ 175,000 ล้านบาท มีรายละเอียดอย่างไร
นายลวรณ ตอบว่าการบริหารงบประมาณรายจ่ายปี 2567 คาดว่าจะได้เงินมาประมาณ 1.7 แสนล้านบาทนั้น สืบเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 พึ่งจะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ และกำลังจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีระยะเวลาเพียงพอที่จะบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายในส่วนนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าเราอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่ว่าต้องให้เวลารัฐบาลหน่อยครับ
คำถามสุดท้าย นายกรัฐมนตรีเคยแถลงว่าจะมีการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีก 100,000 ล้านบาท ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ตวงเงิน 500,000 ล้านบาท ยังคงดำเนินการต่อหรือไม่ จะใช้แหล่งเงินจากไหน?
ประเด็นนี้นายจุลพันธ์ ตอบว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการจัดงบปประมาณปี 2567 เติมเงินเข้าไปในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอยู่แล้วครับ และจะทยอยเติมเงินเข้าไปในกองทุนฯอีกในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพราะว่ากองทุนนี้เป็นหัวใจสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพื่อจะรองรับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจประเภทยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Se-mi Conductor ต่างๆเพื่อให้แข่งขันได้ โดยที่ผ่านมาเราได้เติมเงินไปแล้วในปี 2567 ในกองทุนต่างๆ และจะทยอยเพิ่มเติมในปีถัดไป
ส่วนนายเศรษฐา กล่าวเสริมว่า “ขอยืนยัน ไม่ได้นำเงินเพื่อไปลดทอนขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”
ด้านนายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าว ในการแถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 10 เมษายน 2567 ว่า แรงฉุดทางวัฏจักรที่สำคัญในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และไตรมาสแรกของปีนี้ คือ ภาคการคลัง หรือ จะเรียกว่า “หลุมอากาศทางการคลัง” ก็ได้ เพราะการที่งบประมาณล่าช้าทำให้เม็ดเงินปกติที่ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจลดลงไปมาก โดยจำนวนเงินที่ลดลงในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว กับไตรมาสแรกของปีนี้มารวมกัน และเปรียบเทียบเม็ดเงินในช่วงปกติ ปรากฎว่าหายไปประมาณ 0.8% ของ GDP หรือ 140,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามากพอสมควร
การลงทุนภาครัฐได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะว่าไม่มีงบประมาณใหม่เข้ามาเลย โดยงบลงทุนในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ลดลง 20% และในไตรมาส 1 ปีนี้ ลดลง 40% แต่คาดว่าในไตรมาส 2 จะมีการเร่งเบิกจ่ายเข้ามาพอสมควร หลังจากงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ได้รับความเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจใน 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้
คณะกรรมการ กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 3.0 ในปี 2567 และ 2568 เป็นการเติบโตที่ค่อนข้างสมดุล เพราะมีทั้งปัจจัยด้านลบ และด้านบวกที่ใกล้เคียงกัน ด้านบวก คือ อุปสงค์ในประเทศขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่อาจจะมีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เข้ามาเสริมด้วย ส่วนการท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มขาขึ้น ทั้งจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่าที่คาดไว้ ส่วนปัจจัยด้านลบ ได้แก่ การเบิกจ่ายภาครัฐหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ อาจเร่งได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เม็ดเงินไม่ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และผลดีจากการฟื้นตัวของการค้าโลกต่อภาคการส่งออก อาจน้อยกว่าคาดจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
สำหรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวานนี้ นายปิติกล่าวว่า คณะกรรมการได้นำไปมาวิเคราะห์ในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจด้วย โดยมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็มีแรงกระตุ้นบ้าง แต่ไม่มาก
“ส่วนดิจิทัล วอลเล็ตที่คาดว่าจะเข้ามาในไตรมาส 4 เนื่องจากว่าเป็นช่วงปลายปี จึงไม่มีผลต่อปีนี้มาก ส่วนใหญ่จะมีผลในปีหน้ามากกว่า แต่ในภาพรวมที่เราประเมินไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ลักษณะของโครงการที่มีการทอนจากการซื้อของข้างนอกประเทศ ซึ่งผลโดยรวมก็ไม่ได้เยอะต่อการออกนโยบาย” นายปิติ กล่าว
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงความห่วงใยในหลายประเด็น และนำเสนอไปแล้วในการประชุมวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา
“แหล่งที่มาของเงิน เป็นหนึ่งสิ่งที่ ธปท.มีความกังวล เพราะในฐานะธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องดูให้มีความมั่นใจว่า วงเงินที่ได้ หรือ เม็ดเงินที่ต้องใช้ ณ วันที่เริ่มจะต้องมีครบถ้วน จะต้อง Earmarked มิฉะนั้นจะไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินตรา เพราะฉะนั้นแหล่งเงินที่มาตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ส่วนหนึ่งที่ ธปท.มีความกังวลว่า ควรจะต้องผ่านกระบวนการหลักเกณฑ์ ที่ถูกต้องครบถ้วน และ ธปท.ยังพิจารณาถึง เสถียรภาพ สภาพคล่องด้วย” นางสาวชญาวดีกล่าว
นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มีการพูดคุยกันว่า คงจะเป็นเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และคงมีการหารือตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะหากสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ตาม พ.ร.บ.เงินตรา ก็จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ธปท.วางไว้
ข้อที่เหลือ ความกังวลที่ ธปท.ได้หยิบยกขึ้นมา คือ กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นท่าทีที่ชัดเจนจาก ธปท.มาตลอดว่า อยากจะเห็นการดำเนินโครงการแบบ Targeted หรือ “เจาะจง” ทำเฉพาะกลุ่ม ด้วยในเรื่องของความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้คุ้มค่ามีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพการคลังจนเกินไป โดยเฉพาะในระยะปานกลาง
อีกส่วนหนึ่งที่ ธปท.หยิบยกขึ้น คือ เสถียรภาพการเงินและการคลังโดยรวม และต้องการเห็นแนวทางว่า หากการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในระยะยะปานกลาง จะมีแนวทางในการปรับลงอย่างไร ซึ่งก็มีการพูดคุยกันในระดับหนึ่งไปแล้ว และเข้าใจว่าทางสำนักงบประมาณ ก็มีการพูดคุยในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่สำคัญ
นางสาวชญาวดี กล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับ ธปท. คือ เรื่องระบบ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของระบบการชำระเงิน ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นระบบใหม่ และเป็นแบบ Open loop ซึ่งค่อนข้างมีความซับซ้อน และอาจจะต้องใช้เวลาและใช้ทรัพยากรในการทำ ระบบต้องมีความเสถียร เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงิน รวมทั้งต้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัยจากภัยทางไซเบอร์ต่าง ๆ เพราะจะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน