ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐบาล“เศรษฐา” กลับลำสั่งคลัง-สำนักงบฯ หา 5 แสนล้าน ลุย ‘Digital Wallet’- คาดใช้ 3 แนวทาง

รัฐบาล“เศรษฐา” กลับลำสั่งคลัง-สำนักงบฯ หา 5 แสนล้าน ลุย ‘Digital Wallet’- คาดใช้ 3 แนวทาง

30 มีนาคม 2024


เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 11.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

รัฐบาล“เศรษฐา” กลับลำสั่งคลัง-สำนักงบฯ หาเงิน 5 แสนล้าน เดินหน้า ‘Digital Wallet’ ประชุมนัดแรกคาดใช้ 3 แนวทาง “เล็งจัดงบฯกลางปี 2567 – โอนงบฯค้างท่อ – ตั้งงบฯปี’68 เสนอบอร์ดิจิทัลฯชุดใหญ่เคาะกู้ – ไม่กู้” 10 เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 หลังจากที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รวบรวมความเห็นของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 หรือที่เรียกว่า “บอร์ดดิจิทัลฯชุดใหญ่” มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาอย่างเป็นทางการ พร้อมสั่งการกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ศึกษาหาแหล่งเงินมาทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท นำมาเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลฯชุดใหญ่เคาะว่าจะกู้ หรือ ไม่กู้ในวันที่ 10 เมษายน 2567 และเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการดังกล่าวภายในเดือนเมษายน 2567 และเริ่มโอนเงิน 10,000 บาท เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลของประชาชนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

  • นายกฯ สั่ง ‘คลัง – สำนักงบฯ’ หาเงิน 5 แสนล้าน ชงบอร์ดดิจิทัลฯเคาะ 10 เม.ย.นี้
  • หลังจากที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลฯชุดใหญ่ได้พิจารณาข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. อย่างละเอียดแล้ว พบว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต อาจมีความเสี่ยงต่อการทุจริตในเชิงนโยบายหลายประเด็น ที่สำคัญ ๆ อาทิ เรื่องการดำเนินนโยบายดังกล่าวมีรายละเอียดเงื่อนไข ไม่ตรงกับที่เคยหาเสียงไว้ หรือ “ไม่ตรงปก” โดยเฉพาะนโยบายกาเสียงที่พรรคเพื่อไทยแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นลายลักษณ์อักษร ระบุว่า แหล่งเงินที่ใช้ในโครงการนี้ใช้วิธีการบริหารงบประมาณ ไม่ได้มาจากการกู้เงิน แต่อย่างใด

    แต่หลังจากได้เป็นรัฐบาลแล้ว ปรากฎว่านโยบายเปลี่ยนไป จากเดิมระบุใช้แหล่งเงินจากการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปี เปลี่ยนมาเป็นการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทแทน โดยอ้างเหตุวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติกู้เงิน จนเป็นประเด็นการถกเถียงว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติ หรือ ไม่วิกฤติ ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 มาตรา 53 ได้กำหนดเงื่อนไข การกู้เงินนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติ และไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

    จึงมีคำถามตามมาว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ต เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน จริงหรือไม่ อย่างไร

    จากการที่ ป.ป.ช.รวบรวมความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และอาจารย์มหาวิทยาลัย นำมาประมวลได้ข้อสรุปว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายวิกฤติเศรษฐกิจ และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ แต่มีการเจริญเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง หรือ ต่ำกว่าศักยภาพ และเมื่อนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ก็พบว่า ยังไม่เข้าข่ายภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ตามนิยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก แต่อย่างใด

    หากพิจารณาข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พบว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มีผลทำให้ GDP ปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% นั่นหมายความว่า รัฐบาลใช้จ่ายเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท แต่มีผลทำให้ Nominal GDP ปี 2567 เพิ่มสูงขึ้น 152,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นมูลค่าที่แท้จริง (Real GDP) แค่ประมาณ 64,000 ล้านบาท ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการใช้เงินกู้ด้วย เพราะถ้าดำเนินการไปแล้วไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพียงพอ อาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่อาจมีวัตถุประสงค์เพียงแค่การแจกเงินให้กับประชาชน เป็นหลัก ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้เท่านั้น ซึ่งนโยบายหาเสียงดังกล่าวนี้ อาจเข้าลักษณะ “สัญญาว่าจะให้” และอาจขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 73 (1) หรือ มาตรา 136 วรรคหนึ่ง และมีความเสี่ยงที่จะผิดเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 53 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจถึงขั้นที่จะต้องตรากฎหมายพิเศษออกมากู้เงินแต่ประการใด และไม่อยู่ในข่ายกรณีจำเป็นเร่งด่วน แต่เป็นการจ่ายเงินครั้งเดียวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ต่อเนื่อง ตามบทบัญญัติของกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็นเหตุให้ที่ประชุมบอร์ดดิจิทัล ฯ ชุดใหญ่ เริ่มหันกลับมามองที่วิธีการบริหารงบประมาณตามที่เคยแจ้งไว้กับ กกต.ในช่วงหาเสียง น่าจะเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่ยังไม่แน่ว่าจะหาเงินได้มากถึง 5 แสนล้านบาท หรือไม่

    3 แนวทางกวาดเงิน 5 แสนล้าน

    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ให้กลับมาศึกษาหาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ได้จัดประชุมนัดแรกในวันที่ 30 มีนาคม 2567 เพื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียด ซึ่งการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต หลัก ๆจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ 1.มาตรการด้านภาษีหรือการจัดเก็บรายได้, 2.มาตรการบริหารงบประมาณรายจ่าย และ 3.มาตรการก่อหนี้สาธารณะ

  • มาตรการด้านภาษี หรือ การจัดเก็บรายได้
  • ในส่วนของการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567) รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 981,902 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 25,144 ล้านบาท หรือ ต่ำกว่าเป้าประมาณ 2.5% ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซินมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ประกอบกับภาษีรถยนต์ก็จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังคาดว่าปีนี้จะสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าประมาณการเล็กน้อย คงจะไม่มีรายได้พิเศษไหลเข้ามา

    แต่ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าหมาย 174,719 ล้านบาท ซึ่งเงินรายได้ส่วนที่เกินมานี้อาจนำใช้ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ “งบกลางปี” ผสมกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2567 ส่วนที่ยังไม่ได้ใช้หรือมีกรอบวงเงินกู้เหลืออยู่ 97,656 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2567 ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะฯ กำหนดวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้สูงสุด 790,656 ล้านบาท แต่รัฐบาลตั้งวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท) นำมาใช้เป็นแหล่งเงินในการยกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตได้ ซึ่งในอดีตก็เคยทำงบกลางปีมาแล้วหลายครั้ง

    ยกตัวอย่าง ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 2 ครั้ง คือ ในปีงบประมาณ 2560 มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมวงเงิน 190,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่ใช้มาจากรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการ นำสภาพคล่องส่วนเกิน และกำไรสะสม นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเพิ่ม 27,078.30 ล้านบาท ผสมกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณส่วนที่เหลืออีก 162,921.70 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2561 มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมวงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่ใช้มาจากรายได้ประมูลในอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในปี 2558 และภาษีอื่นๆนำส่งคลัง 49,641.90 ล้านบาท ร่วมกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณส่วนที่เหลืออีก 100,358.10 ล้านบาท ตราขึ้นเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 150,000 ล้านบาท เป็นต้น

  • มาตรการบริหารงบประมาณรายจ่าย
  • เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เกิดความล่าช้ากว่าปกติ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งปกติจะต้องนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ฯเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายงบประมาณรายจ่ายมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 กว่าทุกอย่างจะลงตัวจนกระทั่งได้รัฐบาลนายเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ ก็ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2566 ปรากฎว่ารัฐบาลเศรษฐามีการแก้ไขปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายปี 2567 กันใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยที่ประชุม ครม.วันที่ 18 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ขึ้นอีก 130,000 ล้านบาท จากวงเงิน 3,350,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,480,000 ล้านบาท มาจัดทำงบประมาณกันใหม่ ทำให้กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ถูกลากยาวออกไปถึง 7 เดือน ระหว่างที่งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ สำนักงบประมาณก็ได้ออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินงบประมาณปี 2567 โดยให้ใช้กรอบของกฎหมายงบประมาณปี 2566 เบิกจ่ายไปพลางก่อน ส่งผลทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการใหม่ ๆซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเบิกจ่ายได้น้อยมาก กว่างบประมาณรายจ่ายปี 2567 ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา 3 วาระ เหลือเวลาในการเบิกจ่ายงบลงทุนแค่ 5 เดือน

    จากรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ของกรมบัญชี ณ วันที่ 22 มีนาคม 2567 พบว่า งบลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลงรายการมีวงเงินรวม 663,296.71 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ 155,494.30 ล้านบาท กรมบัญชีกลางอนุมัติจ่ายไปแล้ว 87,373.76 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.17% ของวงเงินงบลงทุน ในจำนวนนี้มีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และสำรองเงินกรณีมีผูกพัน เพื่อกันเงินไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีแล้ว 113,550.28 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.12% ของวงเงินงบลงทุนทั้งหมด คงเหลืองบลงทุนค้างท่อ ยังไม่ได้เบิกจ่าย 575,922.95 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 86.83% ของวงเงินงบลงทุนทั้งหมด 663,296.71 ล้านบาท ซึ่งงบฯค้างท่อเหล่านี้ หากยังไม่ได้ดำเนินการออกประกาศจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ลงนามในสัญญา หรือ เป็นโครงการที่สามารถชะลอออกไปได้ โดยที่ไม่ทำให้ทางราชการเสียหาย หรือ เป็นรายการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีงบประมาณ 2567 อาจจะถูกพับ และโอนมาใช้ในโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ตได้

    จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือเหตุที่งบประมาณปี2567 จึงถูกลากยาวมานานมากกว่าจะเบิกจ่ายได้จริง!!

    ถ้ายังเงินยังไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต อาจจะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2568 เข้าไปช่วยเสริม

  • มาตรการก่อหนี้สาธารณะ
  • อย่างไรก็ตามหากมาตรการที่ 1 และ 2 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้การดำเนินนโยบาย สามารถใช้มาตการที่ 3 คือมาตรการก่อหนี้เพื่อนำเงินไปชดเชยการขาดดุลการคลัง

    ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการบริหารงบประมาณ เพื่อหาแหล่งเงินทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ กำลังเร่งพิจารณาในรายละเอียด เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านโครงการ Digital Wallet ในวันที่ 10 เมษายน 2567 แต่จะได้ถึง 5 แสนล้านบาท หรือไม่ ต้องเจาะลึกกันต่อไป…..

  • นายกฯปัดตอบ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ใช้เงินจากไหน – มติ ครม.ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม – ค่าบริการสนามบิน
  • “จุลพันธ์” แจกแน่! ดิจิทัลหมื่นบาท ไตรมาส 4 ปีนี้ – เงินมาจากไหน ยังไม่ตอบ
  • นายกฯตั้ง คกก.-ผู้ว่าแบงก์ชาติ ศึกษาข้อเสนอ ‘กฤษฎีกา-ป.ป.ช.’ 30 วัน ก่อนชงบอร์ดดิจิทัลเคาะ ‘กู้-ไม่กู้’
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้