ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.แจงจุดยืนไม่ขัดรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “ดิจิทัล วอลเล็ต” แนะแจกแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย

ธปท.แจงจุดยืนไม่ขัดรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “ดิจิทัล วอลเล็ต” แนะแจกแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย

24 เมษายน 2024


นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน

วันที่ 24 เมษายน 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัด Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2024 นำเสนอและการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็น ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อล่าสุดของ ธปท. และประเด็นสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน และนางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ในช่วงของการตอบคำถาม ได้มีคำุถามจากผู้เข้าร่วมว่า ธปท.ในฐานะที่กำกับดูแล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ซึ่งรัฐบาลต้องการใช้เงินธกส.ประมาณ 1.7 แสนล้านบาทไปในใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ธปท.จะพิจารณาอย่างไร

นายปิติตอบว่า แบงก์ชาติกำกับดูแลธ.ก.ส.ในด้าน prudential ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินว่าจะทำหรือไม่ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และมีขั้นตอน ตอนแรกก็ต้องส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ในการให้ตีความให้ชัดเจนก่อนว่า จะใช้มาตรการ 28(ของพระราชบัญญัติวินัยการคลัง)กับโครงการนี้ได้หรือไม่ และขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของธ.ก.ส.ที่จะดำเนินการ”แบงก์ชาติดูในแง่การกำกับดูแลฐานะทางการเงินทั่วไป”

“ในภาพรวม แบงก์ชาติไม่ได้ขัดข้องกับการที่รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของรูปแบบ อยากจะให้มีการเจาะจง(targeted)ถ้าเป็นไปได้ เพราะจะได้ช่วยกลุ่มที่มีความยากลำบากจริงๆ คุ้มค่ากับเม็ดเงิน โดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ถ้ากระตุ้นกับคนที่ขาดก็จะมีแรงส่งต่อเนื่องสูงกว่าด้วย ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบที่คุยกันว่าถ้าเป็นไปได้ targeted น่าจะดีและประหยัดงบประมาณ ในแง่รูปแบบการ financing ก็อยากจะ make sure ว่า ทำให้มีความยั่งยืนและตามกรอบเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ในแง่นโยบายใหญ่เอง เราไม่ได้มีมุมมองที่ว่าไม่ควรจะทำ แต่มองในรายละเอียด รูปแบบมากกว่า” นายปิติกล่าว

“สำหรับธ.ก.ส.เอง เป็นเรื่องที่จะให้กฤษฏีกาตีความ แบงก์ชาติไม่ได้มี recommendation อะไร ตรงนี้เลย”

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 ว่า แหล่งเงินของโครงการฯ จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ดังนี้

1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว
2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568 และ
3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ กรณีวงเงินไม่เพียงพอ

  • สร.ธกส.จี้คลังส่ง ‘กฤษฎีกา’ ตีความปมสำรองจ่าย 1.7 แสนล้าน ผิด กม.?
  • นายกฯ กลับลำ ‘ไม่กู้’ แล้ว! เคาะแหล่งเงินดิจิทัลใช้เงิน ธ.ก.ส.- งบฯปกติ รวม 5 แสนล้านบาท