ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ลุ้น! ศาลชี้มูลคดีแก้สัมปทานดิวตี้ฟรี 28 ก.พ.นี้

ลุ้น! ศาลชี้มูลคดีแก้สัมปทานดิวตี้ฟรี 28 ก.พ.นี้

13 มกราคม 2023


ศาลอาญาคดีทุจริตฯนัดฟังคำสั่ง – พิพากษา คดี “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ฟ้องบอร์ด ทอท. ปมแก้สัญญา “สัมปทานดิวตี้ฟรี – บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์” ไม่เสนอ ครม.อนุมัติ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ 28 ก.พ.นี้

2 ปี นับจากวันที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคำฟ้องคดีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายประสงค์ พูนธเนศ อดีตประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.หรือ AOT) กับพวกรวม 14 คน ในข้อกล่าวหาปฏิบัติ หรือ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีบอร์ด ทอท.มีมติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) โดยการแก้ไขสัญญาอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค (เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต) และสัญญาอนุญาตประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยอ้างถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ออกมาตรการมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ จนทำให้รายได้ของ ทอท.ลดลงเป็นจำนวนมาก กระทบไปถึงเงินปันผลที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ (70%) ลดลงตามไปด้วย ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ อาจเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดที่มีส่วนราชการถือหุ้นเกิน 50% ของทุนจดทะเบียน หากดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการใดแล้ว ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือ ภาระทางการคลังในอนาคต ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ รวมไปถึงประมาณการกรณีสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอที่ให้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติด้วย

ขณะที่ ทอท.เข้าใจว่าการพิจารณาอนุมัติการปรับเพิ่ม หรือ ลดค่าเช่าพื้นที่ และค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ประกอบการในท่าอากาศยานของ ทอท.นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจการพิจารณาของบอร์ด ทอท. ไม่มีกฎหมาย หรือ กฎระเบียบใด ให้ต้องทำเรื่องขออนุมัติจาก ครม. อีกทั้งการดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ และภาระทางการคลังในอนาคต เพราะไม่ใช่โครงการที่รัฐต้องเข้ามารับภาระชดเชยค่าใช้จ่าย หรือ ชดเชยการสูญเสียรายได้ จึงไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ล่าสุด สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สอบถามนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ถึงความคืบหน้าของคดีนี้ นายชาญชัย กล่าวว่า หลังจากที่ศาลไต่สวนนางสาวสุภัค ไชยวรรณ ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พยานปากสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำบันทึกข้อความถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ความเห็นว่า “ทอท.มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การแก้ไขสัญญากับเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ เป็นอำนาจของบอร์ด ทอท. กรณีนี้ไม่เข้าข่ายเป็นกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดให้ต้องทำเรื่องเสนอ ครม.ก่อนดำเนินการ” หลังจากศาลไต่สวนพยานปากสุดท้ายเสร็จเรียบร้อย จึงมีคำสั่งให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย (โจทก์และจำเลย) ส่งคำแถลงปิดคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องให้กับศาลภายใน 30 วัน รวมทั้งนัดฟังคำสั่ง หรือ คำพิพากษาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 9.30 น.ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

  • “ชาญชัย” ฟ้องบอร์ด ทอท.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ “รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี”
  • สศค. เตรียมส่งหลักฐานยันศาลอาญาคดีทุจริตฯ – แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ไม่ต้องขออนุมัติ ครม.
  • สำนักรัฐฯ กลับลำแจ้ง AOT เยียวยาดิวตี้ฟรี-ไม่ต้องขอ ครม.
  • นายชาญชัย กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ต้องมายื่นคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เนื่องจากตนในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายจากการที่บอร์ทของ ทอท.มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในท่าอากาศยานของ ทอท.หลายครั้ง โดยอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือ แก้ไขวิธีการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค และสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งหมด 5 ฉบับ (สัญญาสัมปทานฉบับเก่า และสัญญาสัมปทานฉบับใหม่) ทำให้ ทอท.สูญเสียรายได้เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบไปถึงเงินปันผลที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นรายได้แผ่นดินลดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ อาจเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ฯที่กำหนดให้ต้องนำเรื่องเสนอให้ ครม.อนุมัติก่อนดำเนินการ ซึ่งตนในฐานะผู้ถือหุ้น AOT จึงมาขอให้ศาลวินิจฉัยการดำเนินงานของบอร์ด ทอท.ในกรณีดังกล่าวนั้นถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

    นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ที่มาของคดีนี้เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิดฯ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมบอร์ด ทอท.ครั้งที่ 3/2563 ได้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 5 โดยมีมติให้เรียกเก็บค่าผลประโยซน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ และเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน หรือ รายปี ลดลงต่ำกว่าที่เคยตกลงไว้ในสัญญา โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 รวมเป็นระยะเวลา 26 เดือน

    ต่อมา ที่ประชุมบอร์ด ทอท.ครั้งที่ 5/2563 มีมติให้แก้ไขสัญญาฉบับที่ 5 ปรับลดรายได้ขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 โดยให้นำจำนวนผู้โดยสารของปี 2562 มาเป็นฐานในการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำคงที่

    จากนั้นที่ประชุมบอร์ด ทอท.ครั้งที่ 7/2563 ก็มีมติให้ขยายระยะเวลาปรับปรุงตบแต่งพื้นที่ให้กับผู้รับสัมปทานฯออกไปอีก 1 ปี ทำให้ ทอท.ไม่สามารถเรียกเก็บค่าเช่าได้ รวมทั้งยังมีมติให้ขยายอายุสัญญาสัมปทานฉบับที่ 3 , ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 5 จากสัญญาเดิมสิ้นสุดลงในปี 2574 เปลี่ยนเป็นสิ้นสุดในปี 2575

    และสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมบอร์ด ทอท.ครั้งที่ 8/2563 ได้มีมติให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานฉบับที่ 3, ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 5 แตกต่างไปจากเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โดยให้ทอท.พิจารณาจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head) และจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการประชุมบอร์ด ทอท.ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ ทอท.ได้จัดทำข้อมูล วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อดี – ข้อเสีย และประมาณการรายได้ ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามผลการศึกษาของเจ้าหน้าที่ที่นำเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด ทอท.ใช้ประกอบการพิจารณานั้นมีข้อดี คือ

      1. เป็นธรรมกับผู้ประกอบการในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเป็นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทอท.

      2. ทอท.ยังคงมีผู้ประกอบการ เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการของท่าอากาศยาน และ

      3. เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ทอท.จะสามารถรักษาระดับรายได้ค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากกิจกรรมจำหน่ายสินค้าปลอดอาการและบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์อย่างมั่นคง

    ส่วนข้อเสีย มีดังนี้

      1. ทอท.จะไม่ได้รับรายได้ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำเต็มตามจำนวนที่ได้รับข้อเสนอจากการประมูล จนกว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเท่ากับประมาณการที่บริษัทฯคำนวณตอนยื่นเสนอราคา

      2. เมื่อนักลงทุนและสาธารณชนทราบข่าว อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้นของ ทอท. ซึ่ง ทอท.จำเป็นต้องชี้แจงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    นายชาญชัย กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาของเจ้าหน้าที่ ทอท.ที่นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด ทอท.ครั้งที่ 8/2563 จะเห็นว่าการปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณเพื่อจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ แค่ปีแรกปีเดียว ก็ทำให้รายได้ของ ทอท.ลดลงไปเป็นจำนวนมาก แต่บอร์ด ทอท.ก็ยังมติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ทั้ง ๆที่รู้ว่า เมื่อทำไปแล้วจะทำให้รายได้ของตนเองลดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ อาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 27 , พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 มาตรา 97(1) , มาตรา 93 , พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 มาตรา 9 , มาตรา 12 ,พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 มาตรา 89/7 , มาตรา 281/2 ,มาตรา 311 , มาตรา 314 , มาตรา 315 และ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด 2535 มาตรา 215 เป็นเหตุให้ตนในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้น AOT ได้รับความเสียหาย จึงมายื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย

    “ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นโจทก์ ฟ้องบอร์ด ทอท. และกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นจำเลย ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ต่อสู้กันจนถึงชั้นศาลฎีกามีคำพิพากษา ว่า “ผมในฐานะโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ AOT อาจเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาเองได้ แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งหมด เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะเข้าถือหุ้น AOT ผมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืน” คือ ยกฟ้อง แต่หลังจากที่ผมเข้ามาถือหุ้น AOT ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2558 จนถึงวันที่ผมยื่นฟ้องคดีใหม่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ในช่วงปี 2563 บอร์ด ทอท.ได้มีมติเปลี่ยนแปลงแก้สัญญาสัมปทานฯ จนทำให้รายได้ของ ทอท.ลดลงเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการดำเนินงานที่อยู่ในช่วงเวลาที่ผมเป็นผู้ถือหุ้น AOT หากดูตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เข้าใจว่าผมเป็นผู้เสียหายโดยตรง มีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้” นายชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย

    อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ ทอท.ทำไว้กับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เนื่องจากอยู่ในช่วงของรอยต่อระหว่างสัญญาสัมปทานฉบับเก่าที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2563 และสัญญาสัมปทานฉบับใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2563 จึงมีสัญญาสัมปทานฯที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด 5 ฉบับ รายละเอียดมีดังนี้

    สัญญาฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 ทอท.ได้ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาค (เชียงใหม่ , หาดใหญ่ และภูเก็ต) มีอายุสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2548 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2558 มีการต่อขยายอายุสัญญาหลายครั้ง ทำให้สัญญามาสิ้นสุดในวันที่ 27 กันยายน 2563

    สัญญาฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ทอท.ได้ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีอายุสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 มีการต่อขยายอายุสัญญาหลายครั้ง ทำให้สัญญามาสิ้นสุดในวันที่ 27 กันยายน 2563

    ส่วนสัญญาใหม่มี 3 ฉบับ คือ สัญญาฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ทอท.ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574

    สัญญาฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ทอท.ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ มีอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574

    สัญญาฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ทอท.ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574

  • ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคดี “ชาญชัย” ฟ้อง “AOT – คิง เพาเวอร์” ทวง 1.4 หมื่นล้าน คืนแผ่นดิน
  • ศาลคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง “บอร์ดทอท.- คิง เพาเวอร์” ระบุ “ชาญชัย” ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เตรียมยื่นอุทธรณ์ – ป.ป.ช.สานต่อคดี
  • ศาลอุทธรณ์ “ยกฟ้อง” คดี “คิง เพาเวอร์” ฟ้อง “ชาญชัย” หมิ่นประมาท
  • ศาลฎีกายืน “ยกฟ้อง” ชี้ “ชาญชัย” ไม่มีอำนาจฟ้องบอร์ด ทอท. คดีทวงเงิน 1.4 หมื่นล้านคืนคลัง
  • ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับไต่สวนคดีฟ้องบอร์ด ทอท.ปมรื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี