ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลอุทธรณ์ “ยกฟ้อง” คดี “คิง เพาเวอร์” ฟ้อง “ชาญชัย” หมิ่นประมาท

ศาลอุทธรณ์ “ยกฟ้อง” คดี “คิง เพาเวอร์” ฟ้อง “ชาญชัย” หมิ่นประมาท

19 มกราคม 2022


ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ “ยกฟ้อง” คดี “คิง เพาเวอร์” ฟ้อง “ชาญชัย” ไม่หมิ่นประมาท โดยศาลวินิจฉัย กรณีนายชาญชัยแถลงข่าว พร้อมแจกสำเนาคำพิพากษาคดีศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตัดสิน “ยกฟ้อง” ให้สื่อมวลชน ถือเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ-หน้าที่พลเมืองดี-แสดงความเห็นโดยสุจริต-ชอบธรรม

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ 3143/2561 , คดีหมายเลขแดงที่ อ 2727/2563 ระหว่างบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด , บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย มีความผิดฐานหมิ่นประมาท กรณีนายชาญชัยให้สัมภาษณ์พร้อมแจกสำเนาคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางให้แก่สื่อมวลชน

ภายหลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริต พิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีที่นายชาญชัย เป็นโจทก์ ฟ้องคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 18 คน เป็นจำเลย ในข้อกล่าวหา ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ครบถ้วนตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศสุวรรณภูมิ โดยคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ วินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่ว่านายชาญชัยไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยไปถึงประเด็นที่ว่ามีการกระทำผิดตามคำฟ้องของนายชาญชัยหรือไม่

ดังนั้น กรณีที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนั้น ทำให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ทางกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จึงไปฟ้องต่อศาลอาญา ขอให้ลงโทษนายชาญชัยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่านายชาญชัย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ตัดสินจำคุก 8 เดือน กับให้นายชาญชัยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มในหนังสือพิมพ์ มติชน ข่าวสด เนชั่น และสยามรัฐ เป็นเวลา 7 วัน รวมทั้งให้นับโทษจำคุกนายชาญชัยต่อจากคดีอาญาอื่นๆที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นโจทก์ ฟ้องนายชาญชัย ซึ่งต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยในคดีนี้ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล

  • “ชาญชัย” แจงเหตุถวายฎีกา แก้ทุจริต เตือน ทอท. ประมูล “ดิวตี้ฟรี” รอบใหม่ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
  • ศาลอุทธรณ์ ยืน “ยกฟ้อง” ชี้ “ชาญชัย” ไม่มีอำนาจฟ้องบอร์ด ทอท. คดีทวงเงิน 1.4 หมื่นล้าน คืนคลัง – เตรียมยื่นฎีกาต่อ
  • จนกระทั่งล่าสุด ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ยกฟ้องคดีที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นโจทก์ ฟ้องนายชาญชัย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่กล่าวข้างต้น โดยศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัย กรณีที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตว่า “การที่นายชาญชัยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนนั้น เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯที่นายชาญชัย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องในคดีนี้”

    ส่วนการที่นายชาญชัยแจกสำเนาคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯให้แก่สื่อมวลชน ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยว่า “เป็นการเผยแพร่คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษา “ยกฟ้อง” เนื่องจากนายชาญชัยไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งศาลก็ยังไม่ได้วินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้อง ถึงแม้โจทก์ทั้งสาม (กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์) จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำสัญญากับบริษัท ท่าอากาศยานไทย และการกระทำที่มิชอบของพนักงานบริษัท ท่าอากาศยานไทยด้วยก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ศาลกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ได้ความเท่านั้น ยังไม่ได้วินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯที่นายชาญชัยทำสำเนาแจกให้แก่สื่อมวลชน ไม่ปรากฎว่ามีการเสกสรรปั้นแต่งข้อความอื่นนอกเหนือ หรือ ผิดไปจากข้อความในคำพิพากษา อันส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของนายชาญชัย

    ดังนั้น การที่นายชาญชัยแถลงข่าว จึงเป็นการรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่นายชาญชัยไปฟ้องโจทก์ทั้งสามและศาลยกฟ้อง ถือว่าเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการโดยเปิดเผยในศาล โดยสุจริต จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (4)

    ส่วนกรณีที่นายชาญชัยไปดำเนินการยื่นอุทธรณ์ หรือ ทำเรื่องทูลเกล้าถวายฎีกา หรือ ส่งเรื่องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ , นายกรัฐมนตรี , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ตรวจสอบต่อไปนั้น ก็เป็นเรื่องที่นายชาญชัยแจ้งให้สื่อมวลชนทราบว่าจะดำเนินการต่อไปเท่านั้น มิใช่หมิ่นประมาท

    และข้อกล่าวหาที่ว่านายชาญชัยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลายครั้งถึงการกระทำที่มีเจตนาทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหายนั้น ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า “จำเลยเป็นรองประธานอนุกรรมการคนที่ 2 ของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ นายชาญชัยได้เข้าไปร่วมตรวจสอบ หรือเข้าร่วมประชุม โดยมีพยานหลักฐานแน่ชัดมีเหตุผลน่าเชื่อถือ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานของนายชาญชัยทั้งสิ้น ไม่ว่าเรื่องที่นายชาญชัยแถลงต่อสื่อมวลชนจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานทำให้นายชาญชัยมีเหตุผลอันควรเชื่อเช่นนั้นโดยสุจริตว่า คำแถลงของตนเป็นความจริง โดยเฉพาะเรื่องที่นายชาญชัยแถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสาธารณะ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อส่วนรวม ในฐานะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ ต่อมาได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเท่ากับหน่วยงานของรัฐ หรือ ประเทศชาติก็ได้รับความเสียหายไปด้วย”

    การร่วมกันรักษาปกป้องประโยชน์ส่วนร่วมของประเทศ ย่อมเป็นหน้าที่พลเมืองดีด้วย การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของนายชาญชัยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ทั้งเป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของนายชาญชัยฟังขึ้น สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของนายชาญชัย รวมทั้งอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามที่ขอให้ลงโทษนายชาญชัย และนับโทษต่อ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไป พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม