เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 เวลา 10.00 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาคดี ระหว่างนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ฟ้องนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กับพวกรวม 18 ราย เป็นจำเลย ในข้อกล่าวหา ละเว้นปฏิบัติ ไม่เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ครบถ้วน ตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้รัฐเสียหาย 14,290 ล้านบาท โดยขอให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ลงโทษผู้กระทำความผิด และริบเงินทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษา ยกฟ้องคดี ระบุว่านายชาญชัยไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหมด 18 ราย ซึ่งประกอบด้วย นายประสงค์ พูนธเนศ เป็นจำเลยที่ 1, นายนิรันดร์ ธีรนาทสิน จำเลยที่ 2, น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ จำเลยที่ 3, นายราฆพ ศรีศุภอรรถ จำเลยที่ 4, นายนันทศักดิ์ พูลสุข จำเลยที่ 5, นาวาอากาศตรี ประจักษ์ สัจจโสภณ จำเลยที่ 6, พลอากาศโท จอม รุ่งสว่าง จำเลยที่ 7, นายวราห์ ทองประสินธุ์ จำเลยที่ 8, พลอากาศโท ประกิต ศกุณสิงห์ จำเลยที่ 9, นายมานิต นิธิประทีป จำเลยที่ 10, นายธานินทร์ ผะเอม จำเลยที่ 11, นายธวัชชัย อรัญญิก จำเลยที่ 12, นางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ จำเลยที่ 13, นายนิตินัย ศิริสมรรถการ จำเลยที่ 14, บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) จำเลยที่ 15, บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI) จำเลยที่ 16, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (KPDC) จำเลยที่ 17 และนายสมบัตร เดชาพานิชกุล เป็นจำเลยที่ 18
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการพิจารณาคดีนี้มี 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก กรณีนายชาญชัย กล่าวหา คณะกรรมการ ทอท. กับพวกรวม 18 ราย ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนให้ครบถ้วนตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งสัญญากำหนดให้จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน 15% ของรายได้จากยอดขายก่อนหักค่าใช้จ่าย แต่ ทอท. จัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากบริการส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) แค่ 3%
ประเด็นที่ 2 วินิจฉัยว่า นายชาญชัยเป็นผู้เสียหายหรือมีอำนาจในการฟ้องคดีนี้หรือไม่? ทั้งนี้ เนื่องจากฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องตามความผิดเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเอกชนไม่สามารถฟ้องเองได้ และถือหุ้นไม่ถึง 5% ตาม พ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 และไม่มีอำนาจฟ้อง ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และโจทก์ไม่เคยทำหนังสือถึงบอร์ด ทอท. เพื่อให้นำประเด็นที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ส่งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาก่อน ถือเป็นการข้ามขั้นตอน เป็นประเด็นที่ศาลต้องนำมาพิจารณาในวันนี้
บอร์ด ทอท. ตั้งกรรมการตรวจสัญญาเปิดจุดส่งมอบสินค้าปี 2555
โดยในประเด็นแรก ซึ่งเป็นการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น การไต่สวนได้ระบุว่า ทอท. ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 สำหรับการประมูลโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ ทาง ทอท.ได้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 (ทั้งนี้มีบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI)หรือจำเลยที่ 16 และบริษัทอื่นอีก 4 ราย เข้าร่วมประกวดราคา โดย KPI เป็นผู้ชนะการประมูล) จากนั้น KPI ได้ตั้งบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) (จำเลยที่ 15) เข้าทำสัญญา จนกระทั่ง KPS ได้รับอนุญาตจาก ทอท. ให้ทำสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ 10 ปี มีการต่อสัญญา 2 ครั้ง จะสิ้นสุดในปี 2563 โดยเงื่อนไขของ TOR (ข้อ 3.2) กำหนดให้ผู้ได้สัมปทานจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบ 15% ของรายได้ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษีเป็นรายเดือน
ต่อเรื่องดังกล่าวฝ่ายบริหารของ ทอท. ได้นำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสัญญากลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ทั้งโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ จากนั้นคณะกรรมการชุดนี้ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาสัญญาและข้อกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ในสนามบินสุวรรณภูมิ
ผู้สื่อข่าวรายงานคำพิพากษาระบุว่าคณะกรรมการศึกษาข้อสัญญาฯ มีความเห็นว่า ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจึงทำหนังสือแจ้งคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาฯ เพื่อสั่งให้ ทอท. ทำหนังสือแจ้ง KPS(จำเลยที่ 15) ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา เนื่องจาก KPS (จำเลยที่ 15) อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (KPDC)(จำเลยที่ 17) ทำการส่งมอบสินค้าปลอดอากรในพื้นที่บริหารจัดการเชิงพาณิชย์ โดยทาง ทอท. มีหนังสือแจ้งให้ KPS รับทราบ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555
วันที่ 7 กันยายน 2555 กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ได้ทำหนังสือถึง ทอท. เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งยกเลิกการอนุญาต ให้ KPDC (จำเลยที่ 17) ส่งมอบสินค้าปลอดอากร พร้อมเสนอ 2 ทางออก คือ
-
1. อนุญาตให้KPS(จำเลยที่ 15) และ KPDC (จำเลยที่ 17) ทำธุรกิจส่งมอบสินค้าได้ โดยที่ KPS (จำเลยที่ 15) ต้องให้รายอื่น เปิดจุดส่งมอบสินค้าได้ด้วย
2. เสนอให้ทอท.เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน 3% ของมูลค่าสินค้าที่ส่งมอบ เนื่องจากเป็นอัตราที่ KPDC เรียกเก็บกับKPI (จำเลยที่ 16) และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ทอท.เรียกเก็บในอดีต และเป็นอัตราที่ทอท.ใช้เรียกเก็บที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
วันที่ 27 กันยายน 2555 คณะกรรมการตรวจสอบฯ มีมติให้ขยายเวลาให้ KPS (จำเลยที่ 15) เพื่อให้ KPDC (จำเลยที่ 17) สามารถประกอบกิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากรได้เป็นการชั่วคราว โดยให้ KPS (จำเลยที่ 15) จ่ายค่าตอบแทน 3%
ระบุ KPS ไม่ผิดสัญญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากคำพิพากษาระบุต่อว่าวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 บอร์ด ทอท. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบสัญญากลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ที่มีความเห็นว่า ควรแก้ไขสัญญาการส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI) (จำเลยที่ 16) ในฐานะเจ้าของสินค้าปลอดอากร มาทำสัญญาโดยตรงกับ ทอท. ซึ่งจากเดิม KPDC (จำเลยที่ 17) ทำสัญญากับ KPS (จำเลยที่ 15) ภายใต้สัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน 3%
คำพากษาระบุว่าเรื่องนี้บอร์ด ทอท. ได้แต่งตั้งคณะพิจารณารายได้เพื่อพิจารณาว่าการประกอบกิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากรนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งร้านค้าปลอดอากรที่ KPS (จำเลยที่ 15) ไม่มีสิทธิในการบริหารจัดการตามเงื่อนไขสัญญาฯ (ข้อ 1.4) หรือไม่?
ในเดือนพฤศจิกายน ปี2557 คณะกรรมการพิจารณารายได้ มีความเห็นว่า KPS (จำเลยที่ 15) ไม่มีความผิด(ข้อ 1.4)รวมทั้งมีมติให้เรียกเก็บผลประโยชน์ KPS (จำเลยที่ 15) ในอัตรา 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบ และให้ใช้อัตรานี้กับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย
“ชาญชัย”ฟ้องในฐานะผู้ถือหุ้น
หลังจากที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมการวิสามัญสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 และนายชาญชัย ซื้อหุ้นบริษัท ทอท. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าเดือนมิถุนายน 2559 นายชาญชัยทำหนังสือถึงคณะกรรมการทอท. ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหาร ทอท. กรณีไม่เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจาก KPS (จำเลยที่ 15) ให้ถูกต้องครบถ้วน กรณีอนุญาตให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยขอให้บอร์ด ทอท. ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน
ขณะที่ทอท. แจ้งนายชาญชัยว่า ทอท. ได้ทำตามระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ และได้ชี้แจงการดำเนินงานให้หน่วยราชการที่มีหน้าที่ตรวจสอบทราบโดยตลอด และไม่ได้มีข้อทักท้วงแต่อย่างใด
ต่อประเด็นดังกล่าวทางผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความเห็นตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า กรณีที่ ทอท. ให้ KPS (จำเลยที่ 15) เปิดจุดส่งมอบสินค้ารายเดียว ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้KPS จึงแนะนำให้ ทอท. จัดหาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้
“ชาญชัย” เป็นผู้เสียหายหรือมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าเมื่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิจารณาประเด็นข้อเท็จจริงหรือประเด็นที่ 1 เสร็จเรียบร้อย ได้วินิจฉัยประเด็นที่ 2 วินิจฉัยนายชาญชัย เป็นผู้เสียหายหรือมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่
ประเด็นนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีความเห็นว่า การฟ้องคดีอาญามีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่มาตรา 188 วรรค 1 ระบุว่า การพิจารณาคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
ดังนั้น หากบอร์ด ทอท. กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาของนายชาญชัย ถือว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น และเป็นความผิดในฐานเป็นพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นที่เกิดขึ้น และเป็นความผิดสำเร็จลงแล้ว ผลของการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดทันที นับจากที่มีการพิจารณาและมีมติอนุมัติให้เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรดังกล่าวแล้ว และได้แจ้งให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS)จำเลยที่ 15 ทราบและทำตามเงื่อนไข
แจงยกฟ้อง-ชี้โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายขณะเกิดเหตุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการไต่สวนข้อเท้จจริง พบว่านายชาญชัยได้เข้ามาซื้อหุ้น ทอท. เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยได้ร่วมกระทำความผิด และตอนนั้นนายชาญชัยไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น การกระทำดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของนายชาญชัยแต่ประการใด จึงยังไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ถึงแม้ต่อมานายชาญชัยจะเป็นผู้ถือหุ้น ทอท. และ ทอท. ยังคงเสียประโยชน์ต่อการกระทำความผิด ก็ถือเป็นเพียงผลของการกระทำผิด ไม่ได้เกิดการกระทำความผิดขึ้นใหม่ และไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง จนถึงวันที่คณะกรรมการ ทอท. รับทราบมติของคณะกรรมการพิจารณารายได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
จากกรณีในคำฟ้องอ้างว่า ภายหลังจากที่นายชาญชัยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ได้มีหนังสือแจ้งบอร์ดในฐานะผู้ถือหุ้น และขอให้บอร์ด ทอท. ตรวจสอบและดำเนินการทางแพ่งและอาญา กับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว
ประเด็นนี้ ศาลอาญาคดีทุจริต วินิจฉัยว่า การใช้สิทธิของนายชาญชัย เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น ใช่บุคคลทั่วไปซึ่ง ทอท. ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว และเป็นบริษัทจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของบริษัทเป็นไปโดยเรียบร้อย และป้องกันไม่ให้การดำเนินการของผู้ถือหุ้นแต่ละรายส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายอื่นโดยไม่มีเหตุอันควร จึงจำกัดสิทธิของผู้ถือหุ้นเอาไว้ตามกฎหมาย
กรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใดจะดำเนินการใดเกี่ยวกับการบริหารกิจการบริษัท ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับดังกล่าว และสิทธิของผู้ถือหุ้นจะถูกกระทบหรือได้รับความเสียหายก็ต่อเมื่อผู้ถือหุ้นได้ดำเนินการตามข้อจำกัดสิทธินั้นครบถ้วนก่อน ตามมาตรา 85 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
ดังนั้น เมื่อนายชาญชัยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 85 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นข้อจำกัดสิทธิโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้น สิทธิของโจทก์จึงยังไม่ถูกกระทบ และยังไม่ได้รับความเสียหายตามกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง
ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้ศาลได้คำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลวินิจฉัยว่าตนไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะผู้ถือหุ้น เนื่องจากตนได้เข้ามาซื้อหุ้นหลังจากที่มีความเสียหายเกิดขึ้น ไม่มีผลกระทบโดยตรง ตนคงต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ตามความเข้าใจของตนเรื่องนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว และความเสียหายยังคงอยู่ในบริษัทและผู้ถือหุ้น หากมีนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น ก็ได้รับผลกระทบต่อราคาหุ้นและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นที่ควรจะได้รับด้วย หากคณะกรรมการชุดต่อไปเข้ามาดำเนินการให้ถูกต้อง ผลประกอบการบริษัทก็จะดีขึ้น ราคาหุ้น เงินปันผลก็ดีขึ้น ประเด็นนี้ตนต้องขออุทธรณ์ต่อศาลฯ
เตรียมยื่นอุทธรณ์ – ยื่นป.ป.ช. ดำเนินคดีต่อ
ส่วนกรณีที่ศาลพิพากษาว่าตนไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด หรือ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น นายชาญชัยกล่าวว่า ตนไม่ต้องการเข้าสร้างความวุ่นวายหรือเข้าตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหาร ทอท. ในฐานะผู้ถือหุ้น ประกอบกับคดีนี้ตนฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ ไม่ได้ฟ้องแพ่ง จึงไม่ได้นำประเด็นนี้มาต่อสู้ในชั้นศาล แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ตนจะนำประเด็นนี้มาฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต ทางทนายความได้ศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกามาหลายคดี นำมาเปรียบเทียบกับคดีนี้ พบว่าสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ยังไม่สิ้นสุด ความผิดยังคงอยู่ บุคคลที่เกี่ยวข้องยังดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันด้วย กรณีนี้ ไม่ได้ผิดเฉพาะในอดีต แต่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาตนได้แจ้งให้บอร์ด ทอท. แก้ไขแล้ว แต่ไม่ดำเนินการ ตนได้ส่งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายกรัฐมนตรี และ ป.ป.ช. ด้วย แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงเป็นเหตุให้ต้องมาฟ้องศาลอาญาคดีทุจริต ยืนยันว่าจะดำเนินคดีนี้ให้ถึงที่สุดจนถึงศาลฎีกา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน มิฉะนั้นกระบวนการแก้ปัญหาของชาติในเรื่องการปราบปรามทุจริตจะเป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการเท่านั้นที่จะมีอำนาจฟ้องได้ตามกฎหมาย
“หลังจากศาลพิพากษา ยกฟ้อง เนื่องจากผมไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว ผมก็คงจะต้องนำคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องต่อไป ซึ่งศาลได้ไต่สวนมาแล้วระดับหนึ่ง ถือว่าละเอียดพอสมควร หาก ป.ป.ช. จะไปเริ่มต้นใหม่หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ป.ป.ช. รวมทั้งยื่นอุทธรณ์ต่อศาลต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ไม่ว่าผู้เสียหายจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ต้องมีสิทธินำเรื่องส่งให้ศาลพิจารณาได้ ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่ความเสียหายเฉพาะผม แต่เป็นความเสียหายของสาธารณะ คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท หากประตูนี้เปิดไม่ได้ ต้องรอให้ส่วนราชการเป็นผู้ฟ้องเท่านั้น และถ้าส่วนราชการไม่ฟ้อง ผมก็ไม่รู้จะไปจัดการกับเรื่องพวกนี้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องเคารพในคำพิพากษาของศาล และขอขอบคุณที่ให้คำชี้แนะ ซึ่งผมจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป” นายชาญชัยกล่าว