ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำนักรัฐฯ กลับลำแจ้ง AOT เยียวยาดิวตี้ฟรี-ไม่ต้องขอ ครม.

สำนักรัฐฯ กลับลำแจ้ง AOT เยียวยาดิวตี้ฟรี-ไม่ต้องขอ ครม.

17 มกราคม 2022


สำนักรัฐฯ กลับลำแจ้ง AOT แก้สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี-บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เยียวยาเอกชนที่ได้รับผลกระทบโควิดฯ ไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 27 — ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ภายหลัง สศค. มีความเห็น “ทอท. มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด” การแก้ไขสัญญากับเอกชน-ไม่ต้องขออนุมัติ ครม.

ต่อจากตอนที่แล้ว กรณีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หรือ “สำนักรัฐฯ” ทำหนังสือฉบับที่ 3 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” โดย สำนักรัฐฯ มีความเห็นว่า “การแก้ไขสัญญาของ ทอท.เกี่ยวกับการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังด้วย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และในมาตรา 27 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการนั้น ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และผลประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติ

รวมทั้งยังมีประกาศคณะกรรมการโยบายการเงินการคลังของรัฐฯ กำหนดให้การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่หน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินการระหว่างปีงบประมาณ ที่มีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีผลให้เกิดภาระต่องบประมาณไม่ว่าปีงบประมาณใด หรือก่อหนี้ผูกพันมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ เป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคตตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการคลังฯ

ดังนั้น หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติข้างต้น หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความในมาตราดังกล่าวด้วย สำนักรัฐฯ จึงขอความร่วมมือ ทอท. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และแจ้งผลการพิจารณาให้ สคร. ทราบด้วย

ปรากฏเรื่องยังไม่จบแค่นี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากที่สำนักรัฐฯ ทำหนังสือฉบับที่ 3 แจ้งกรรมการผู้อำนวยการ ทอท. เพื่อขอความร่วมมือ ทอท. ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯตามที่กล่าวข้างต้น ต่อมาในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 ทอท. ก็ทำหนังสือ มาชี้แจงต่อสำนักรัฐฯ ทำให้สำนักรัฐฯ ต้องทำหนังสือไปหารือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ขอให้พิจารณา กรณี ทอท. แก้ไขสัญญากับเอกชน ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่ อย่างไร ซึ่งต่อมาในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 สศค. ได้ทำบันทึกข้อความไปถึงผู้อำนวยการสำนักรัฐฯ ว่า สศค. มีความเห็นดังนี้

ประการแรก การดำเนินการแก้ไขสัญญากับเอกชนของ ทอท. โดยมีเหตุจากการนโยบายปิดนานฟ้าของภาครัฐ ประกอบกับเหตุสุดวิสัยจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์บทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่ง ทอท. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพนละความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐแล้ว

ประการที่ 2 ปัจจุบัน ทอท. มีสถานะเป็นบริษัทมหาขนจำกัด การดำเนินการแก้ไขสัญญากับเอกชน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ ของ ทอท. จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ทอท. (บอร์ด ทอท.) ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตราดังกล่าวที่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

ทางสำนักรัฐฯ จึงทำหนังสือลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นำความเห็นของ สศค. แจ้งให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. รับทราบ

สำหรับความเป็นมาของเรื่องนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ที่ประชุม บอร์ด ทอท. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบินที่ได้รับผลกะทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ และให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอนแทนเป็นเปอร์เซ็นต์หรือร้อยละของรายได้จากการประกอบกิจการ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 จากนั้น บอร์ด ทอท. ทยอยออกมติเยียวยามาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง จนนำไปสู่การแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี-บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานของ ทอท. โดยขยายเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2574 ขยายเวลาออกไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2575 รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนดในสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ โดยให้ใช้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (sharing per head) ตามที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เคยยื่นข้อเสนอไว้ในช่วงที่ประมูลงาน มาคำนวณร่วมกับจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นๆ และล่าสุดก่อนที่มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ประชุม บอร์ด ทอท. ครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติให้ขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นการจัดเก็บ minimum guarantee อีกครั้ง โดยให้ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2566 รวมทั้งขยายอายุสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ออกไปอีก 1 ปี

  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (1): กับคำถามต้องขออนุมัติ ครม.หรือไม่
  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (2): จากเหตุการณ์ปิดสนามบินถึงโควิด-19 ขออนุมัติ ครม.หรือไม่
  • “ทัวร์ลง AOT” บอร์ดฯ ปรับลดรายได้ขั้นต่ำ – เลื่อนนับอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี
  • AOT เลื่อนนับสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ “กลุ่มคิง เพาเวอร์” เริ่ม เม.ย. 65
  • หลังจากที่ ทอท. ได้ดำเนินการไปแล้ว ปรากฏว่านายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเห็นว่า กรณีที่ ทอท. แก้ไขสัญญาการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานของ ทอท. ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมานั้น ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และทำให้รัฐเสียหายหรือไม่? จึงทำหนังสือร้องเรียน ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ไปถึงนายปรีดี ดาวฉาย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทำสำเนาหนังสือดังกล่าวส่งถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยขอให้ตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวของ ทอท.

    ต่อมานายธีระชัยได้รับหนังสือจาก ทอท. ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 ชี้แจงว่า “การแก้ไขสัญญาในเรื่องให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ ทอท. นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ทอท. ตามข้อบังคับของบริษัทท่าอากาศยานไทยภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561” ซึ่งนายธีระชัยเห็นว่าคำชี้แจงดังกล่าวนี้ยังมีประเด็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จึงทำหนังสือพร้อมคำชี้แจงของ ทอท. ส่งไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 โดย “ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาคำชี้แจงของ ทอท. ดังกล่าวอย่างรอบคอบว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงส่งเรื่องนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจโดยตรง เป็นผู้พิจารณา

    ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 สำนักรัฐฯ ได้ทำหนังสือฉบับที่ 3 ถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. โดยสำนักรัฐฯ มีความเห็นว่า “การดำเนินงานแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวนี้ อาจก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของเรื่องต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 7 และในมาตรา 27 ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการนั้น ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย รวมทั้งแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และผลประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการด้วย

    นอกจากนี้ ยังมีประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 กำหนดให้การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่หน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินการระหว่างปีงบประมาณที่มีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีผลให้เกิดภาระต่องบประมาณไม่ว่าในปีงบประมาณใด หรือก่อหนี้ผูกพันมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ เป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

    ดังนั้น หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติในข้างต้น หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความในมาตราดังกล่าวด้วย (มาตรา 27 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ) ทาง สคร. จึงขอให้ ทอท. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และแจ้งผลการพิจารณาให้ สคร. ทราบด้วย

    และหลังจากที่สำนักรัฐฯ ทำหนังสือขอความร่วมมือให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ดำเนินการตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯไปแล้ว ต่อมา ทอท. ได้ทำหนังสือชี้แจ้งข้อเท็จจริงต่อสำนักรัฐฯ ทางสำนักรัฐจึงทำหนังสือไปหารือ สศค. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐว่าการแก้ไขสัญญาที่ ทอท. ทำไว้กับเอกชนต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่ อย่างไร ซึ่งต่อมา สศค. ได้ทำหนังสือแจ้งความเห็นต่อสำนักรัฐฯ มีใจความสำคัญว่า “ทอท. มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด การแก้ไขสัญญากับเอกชนเนื่องจากผลกระทบโควิดฯ จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ทอท. กรณีนี้ไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดให้ต้องทำเรื่องขออนุมัติจาก ครม.”ตามที่กล่าวข้างต้น ทางสำนักรัฐฯ จึงนำความเห็นของ สศค. แจ้งให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

    ทั้งหมดเป็นลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก ทอท. ดำเนินการแก้ไขสัญญากับเอกชนไปแล้ว นอกจากนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ทำหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว ยังมีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 กล่าวหานายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะอดีตประธานบอร์ด ทอท. กับพวก รวม 14 คน ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานที่อยู่ในควารับผิดชอบของ ทอท. อาจทำให้รัฐและผู้ถือหุ้นเสียหาย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท โดยศาลได้นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ปากแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ครั้งต่อไปในวันที่ 4 เมษายน 2565 และวันที่ 7 เมษายน 2565

    คำถาม เมื่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังทั้ง 2 หน่วยงาน มีความเห็นแตกต่างกันตามที่กล่าวข้างต้นนั้น ประเด็นนี้จะมีน้ำหนักและผลต่อรูปคดีที่กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลมากน้อยแค่ไหน คดีจะพลิกหรือไม่ อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป…

  • สำนักรัฐฯ จี้ AOT เสนอ ครม. เยียวยา “ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์”
  • “ธีระชัย” ชง คตง. ตรวจ AOT ปมเยียวยาดิวตี้ฟรี-เลี่ยง กม.วินัยการคลัง?
  • “ชาญชัย” ฟ้องบอร์ด ทอท. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ “รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี”