ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สศค. เตรียมส่งหลักฐานยันศาลอาญาคดีทุจริตฯ – แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ไม่ต้องขออนุมัติ ครม.

สศค. เตรียมส่งหลักฐานยันศาลอาญาคดีทุจริตฯ – แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ไม่ต้องขออนุมัติ ครม.

18 ตุลาคม 2022


สศค. ชี้ ‘ประกาศคณะกรรมการวินัยการคลังฯ’ ฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ เตรียมส่งหลักฐานให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภายใน 30 พ.ย. นี้ – ยืนยันแก้สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีไม่ต้องขออนุมัติ ครม. พร้อมนัดไต่สวนพยานปากสุดท้ายอีกครั้ง 7 ธ.ค. นี้

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดสืบพยานปากสุดท้ายในคดีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายประสงค์ พูนธเนศ อดีตประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 14 คน ในข้อกล่าวหา ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภูมิภาค (เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต) และสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวม 5 ฉบับ โดยไม่นำเรื่องดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 ซึ่งการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. คิดเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาท ที่ต้องนำมาจ่ายเป็นเงินปันผล และนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินในอนาคต

โดยวันนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้เรียกนางสาวสุภัค ไชยวรรณ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะพยาน มาให้ปากคำ แต่กระบวนการพิจารณายังไม่เสร็จสิ้น พยานเบิกความว่าจะต้องค้นหาเอกสารมาแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เพื่อนำมาใช้ประกอบการเบิกความต่อศาล ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ เนื่องจากจะต้องไปค้นหาว่าเอกสารดังกล่าวจัดเก็บที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือที่โกดังจัดเก็บเอกสาร เมื่อคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายไม่คัดค้าน ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานอีกครั้ง (นางสาวสุภัค ไชยวรรณ) ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 9.00-16.00 น. ตามที่คู่ความมีวันว่างตรงกัน และให้เจ้าหน้าที่ศาลทำหนังสือถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อจัดส่งเอกสารตามที่พยานกล่าวอ้างดังกล่าวให้กับศาลภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการ และกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ว่าเหตุใดศาลจึงให้พยานกลับไปค้นหาเอกสารมายืนยันเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 นายชาญชัยกล่าวว่า ระหว่างที่ศาลสอบถามนางสาวสุภัค ไชยวรรณ ในฐานะพยาน ซึ่งเป็นตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานที่อยู่ความรับผิดชอบของ ทอท. ต้องขออนุมัติ ครม. ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่นั้น ได้รับคำยืนยันจากพยานว่าไม่ต้องขออนุมัติ ครม.

จากนั้นพยานเบิกความต่อว่า ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐฯ ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว ศาลจึงเกิดข้อสงสัยว่า ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังฯ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในปัจจุบันนั้น ไม่ตรงกับเจตนารมณ์อย่างไร เพราะถ้าดูจากเนื้อหาของกฎหมายลูกแล้ว เป็นการคัดลอกข้อความ ซึ่งล้อมาจากมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทุกถ้อยคำ ทั้งนี้ เพื่อนำมากำหนดเป็นรายละเอียดในทางปฏิบัติ โดยให้หน่วยงานของรัฐทำเรื่องหรือมาตรการเสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติ เช่น ชื่อกิจกรรม มาตรการ โครงการ รายละเอียด แผนการบริหารจัดการ ประมาณการรายจ่าย การสูญเสียรายได้ ประโยชน์ที่ได้รับ เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อให้ข้อเท็จจริงทุกอย่างปรากฏชัด ศาลจึงให้พยานกลับไปค้นหาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประกาศคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐตามที่พยานได้อ้างถึง ส่งให้ศาลพิจารณาภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 และนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 7 ธันวาคม 2565

สำหรับที่มาของปัญหาการตีความในประเด็นข้อกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้นนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในช่วงต้นปี 2564 กล่าวหาบอร์ด ทอท. ว่าแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. รวม 5 ฉบับ โดยไม่ได้เสนอ ครม. อนุมัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ปรากฏว่าในช่วงปลายปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หรือ “สำนักรัฐฯ” ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.”

โดย สำนักรัฐฯ มีความเห็นว่า “การแก้ไขสัญญาของ ทอท. เกี่ยวกับการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังด้วย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และในมาตรา 27 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการนั้น ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และผลประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติ”

รวมทั้งยังมีประกาศคณะกรรมการโยบายการเงินการคลังของรัฐฯ กำหนดให้การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่หน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินการระหว่างปีงบประมาณ ที่มีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีผลให้เกิดภาระต่องบประมาณไม่ว่าปีงบประมาณใด หรือก่อหนี้ผูกพันมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ เป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคตตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการคลังฯ

ดังนั้น หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติข้างต้น หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความในมาตราดังกล่าวด้วย สำนักรัฐฯ จึงขอความร่วมมือ ทอท. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และแจ้งผลการพิจารณาให้ สคร. ทราบด้วย

ต่อมา ทอท. ได้ทำหนังสือชี้แจงสำนักรัฐฯ ทำให้สำนักรัฐฯ ต้องทำหนังสือไปหารือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ขอให้พิจารณา กรณี ทอท. แก้ไขสัญญากับเอกชน ต้องดำเนินการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่ อย่างไร จากนั้น สศค. ได้ทำบันทึกข้อความไปถึงผู้อำนวยการสำนักรัฐฯ โดย สศค. มีความเห็นดังนี้

ประการแรก การดำเนินการแก้ไขสัญญากับเอกชนของ ทอท. โดยมีเหตุจากการนโยบายปิดนานฟ้าของภาครัฐ ประกอบกับเหตุสุดวิสัยจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์บทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่ง ทอท. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐแล้ว

ประการที่ 2 ปัจจุบัน ทอท. มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน การดำเนินการแก้ไขสัญญากับเอกชน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ ของ ทอท. จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ทอท. (บอร์ด ทอท.) ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่เข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตราดังกล่าวที่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ลงชื่อนางสาวสุภัค ไชยวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

  • “ชาญชัย” ฟ้องบอร์ด ทอท.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ “รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี”
  • สำนักรัฐฯ กลับลำแจ้ง AOT เยียวยาดิวตี้ฟรี-ไม่ต้องขอ ครม.
  • ปมแก้สัญญา “ดิวตี้ฟรี” คู่กรณี “ธีระชัย-นิตินัย” โต้กันไม่จบ
  • AOT ข้ามขั้นตอน! เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ก่อนคลังคลอด กม.ลูก – กำหนดกิจการที่เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่
  • มติบอร์ด PPP นัดแรก ตั้งอัยการสูงสุด ประธานวินิจฉัย ประมูล “สัมปทานดิวตี้ฟรี” ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่?
  • “ประภาศ คงเอียด” แจงกรอบการวินิจฉัย “ดิวตี้ฟรี” เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามพ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่หรือไม่?