ThaiPublica > สู่อาเซียน > เจรจาสันติภาพ… การ “แยกขั้ว” ทัพชาติพันธุ์ในเมียนมา

เจรจาสันติภาพ… การ “แยกขั้ว” ทัพชาติพันธุ์ในเมียนมา

31 พฤษภาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ตลอดกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) และผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่า ได้เริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพกับผู้นำหรือตัวแทนผู้นำ กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations — EAOs) 10 กลุ่ม ซึ่งได้ตอบรับคำเชิญ และเดินทางไปพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย แบบเผชิญหน้าเป็นรายกลุ่ม ที่กรุงเนปยีดอ

การเจรจาสันติภาพครั้งนี้ เปรียบไปแล้ว คือการแยกขั้ว จัดกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในเมียนมาให้ชัดเจนว่า มีกลุ่มใดบ้างที่พร้อมเดินร่วมทางไปกับ SAC และมีกลุ่มใดบ้างที่ยืนหยัดต่อต้าน SAC กับกองทัพพม่า

การพบปะเจรจาเริ่มครั้งแรกในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 ข้อมูลล่าสุด ณ วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 มีผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ 3 กลุ่มแล้ว ที่ได้พบและเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย

……

ก่อนลงรายละเอียด ขอเสนอข้อมูลคร่าวๆ ภาพรวมของกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในเมียนมา ดังนี้

ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมาแบ่งกว้างๆ เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • กลุ่มที่ได้เซ็นสัญญาหยุดหยุดทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมาไปแล้ว กลุ่มนี้ได้รวมตัวกันในนามคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (Peace Process Steering Team — PPST) มี 10 กองทัพ ประกอบด้วย
  • 1. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้
    2. สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งมีกองกำลังอยู่ในสังกัด 2 กองทัพ คือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO)
    3. องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)
    4. กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA)
    5. แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF)
    6. แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)
    7. พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP)
    8. สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)
    9. พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)
    10. สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

    8 กลุ่มแรก เซ็น NCA กับรัฐบาลของประธานาธิบดีเตงเส่ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ส่วน 2 กลุ่มหลัง คือ NMSP และ LDU เซ็น NCA กับรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561

  • กลุ่มที่ยังไม่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาล มีหลายกลุ่ม แต่มี 7 กองทัพที่รวมตัวกันในนาม Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee (FPNCC) โดยมีกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เป็นแกนนำ เพื่อให้เป็นตัวกลางเจรจากับรัฐบาลเมียนมาโดยไม่แยกเจรจาเป็นรายกลุ่ม ได้แก่
  • 1. กองทัพสหรัฐว้า (UWSA)
    2. กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA)
    3. กองทัพโกก้าง (MNDAA)
    4. พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ
    5. กองทัพตะอั้ง (TNLA)
    6. กองทัพเมืองลา (NDAA)
    7. กองทัพอาระกัน/สหสันนิบาติแห่งอาระกัน (AA/ULA)

    นอกจากนี้ บางชาติพันธุ์ซึ่งมีกองทัพติดอาวุธของตนเอง แต่ยังไม่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาล และไม่ได้เข้าไปรวมอยู่กับ FPNCC ส่วนใหญ่ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ของตน เคยมีการปะทะกับกองทัพพม่าอยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว เช่น

    – กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army — ARSA) ในรัฐยะไข่
    – แนวร่วมปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยงแดง (Karenni National People’s Liberation Front — KNPLF)ในรัฐกะยา
    – พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (Karenni National Progressive Party — KNPP)ในรัฐกะยา
    – กองทัพแห่งชาติไตแดง (Shanni Nationalities Army — SNA) ในภาคสะกาย
    ฯลฯ

    การรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ภาพกองกำลังติดอาวุธในเมียนมายิ่งซับซ้อนขึ้น โดยสมาชิกพรรค NLD ที่ถูกยึดอำนาจ ได้รวมตัวกันเป็นคณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา (CRPH) ตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ขึ้นเป็นรัฐบาลเงา ทำงานประกบกับ SAC

    รัฐบาลเงา (NUG) ได้ผลักดันให้ทุกภาค ทุกรัฐชาติพันธุ์ของเมียนมา จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองขึ้น เรียกเป็นกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force — PDF) และยังมีกองกำลังติดอาวุธที่ตั้งขึ้นในระดับท้องถิ่น (LDF) กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ

    วันที่ 16 เมษายน 2565 People’s Springเพจข่าวที่เสนอความเคลื่อนไหวด้านต่างๆ ของ PDF เปิดเผยข้อมูลว่า 1 ปีที่ผ่านมา NUG ได้วางกำลังติดอาวุธไว้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 50% ของทั้งประเทศ โดยกำลังหลักคือ PDF ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาแล้วมากกว่า 250 กลุ่ม และมี LDF ที่ตั้งขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ อีก 354 กลุ่ม

  • ชาติพันธุ์กับการรัฐประหารในเมียนมา
  • กองทัพชาติพันธุ์…ตัวแปรสำคัญในเมียนมา
  • เจาะลึกค่ายฝึกกองกำลังพิทักษ์ประชาชน: PDF เมียนมา
  • ……

    วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 หลังเพิ่งครบ 1 ปีของการยึดอำนาจ SAC ได้ส่งจดหมายเชิญไปยังกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม ทั้งที่เซ็น NCA แล้ว และยังไม่ได้เซ็น ให้ส่งตัวแทนมาร่วมเฉลิมฉลองวันสหภาพครบรอบ 75 ปี ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565

    นอกจากเข้าชมพิธีเฉลิมฉลองวันสหภาพแล้ว SAC ยังวางแผนจัดประชุมร่วมกับตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ที่มาร่วมงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูกระบวนการเจรจาสันติภาพขึ้นใหม่ หลังได้หยุดชะงักไปนานกว่า 1 ปี

    อย่างไรก็ตาม คำเชิญนี้ไม่รวมไปถึง คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา (CRPH) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่ง SAC ได้ขึ้นบัญชีไว้ว่าเป็น “กลุ่มก่อการร้าย”

    วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 ในพิธีเฉลิมฉลองวันสหภาพครบรอบ 75 ปี ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเนปยีดอ ต่อหน้า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำเหล่าทัพ และคณะรัฐมนตรีอีกหลายคนนั้น ในปะรำพิธีมีตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 11 กลุ่ม ร่วมนั่งรับชมอยู่ด้วย

    ใน 11 กลุ่ม เป็นตัวแทนกองกำลังที่ได้เซ็น NCA แล้ว 7 กลุ่ม คือ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU) สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) และ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)

    เป็นตัวแทนจากกองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็น NCA อีก 4 กลุ่ม คือ กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) กองทัพเมืองลา (NDAA) และกองทัพอาระกัน/สหสันนิบาติแห่งอาระกัน (AA/ULA)

    ในตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 11 กลุ่มที่มาร่วมชมพิธีเฉลิมฉลองวันสหภาพ กลุ่มที่น่าสนใจคือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เพราะก่อนหน้านั้นเพียงเดือนเศษ ในปลายเดือนธันวาคม 2564 กองทัพในสังกัด KNU ทั้ง KNLA และ KNDO ได้เปิดฉากสู้รบอย่างรุนแรงกับกองทัพพม่า เริ่มจากสมรภูมิที่บ้านเลเกก่อ ทางตอนใต้ของเมืองเมียวดี ตรงข้ามกับตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

    จากนั้นการสู้รบได้ขยายต่อเนื่องไปอีกหลายจุด ทั้งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ภาคพะโค และภาคตะนาวศรี…

    กลางเดือนเมษายน 2565 หลังเพิ่งผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ได้ไม่กี่วัน พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ส่งคำเชิญไปถึงผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่มทั่วประเทศ ด้วยวิธีกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ MRTV ที่เป็นสื่อของรัฐ ว่าเขาต้องการพบปะแบบเผชิญหน้าเป็นรายกลุ่มกับผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม เพื่อเจรจาสันติภาพกันอย่างเปิดเผย

    พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เชิญผู้นำกองกำลังทุกกลุ่ม ทั้งที่ได้เซ็น NCA แล้ว และยังไม่ได้เซ็น ไปพบหรือส่งตัวแทนไปพบกับเขาที่กรุงเนปยีดอ และกำหนดให้แต่ละกลุ่มต้องให้คำตอบอย่างเป็นทางการว่า จะตกลงไปเจรจาหรือไม่ ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เพื่อกำหนดวันนัดพบเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง

    เช่นเดิม… คำเชิญนี้ไม่รวมถึงคณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา (CRPH) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งได้ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

    9 พฤษภาคม 2565 วันสุดท้ายที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กำหนดให้กองกำลังชาติพันธุ์ต้องให้คำตอบว่าจะรับคำเชิญของเขาหรือไม่

    ในตอนแรก มีกองกำลังชาติพันธุ์ 9 กลุ่มตอบรับคำเชิญ เป็นกองกำลังที่ยังไม่เซ็น NCA 3 กลุ่ม คือ กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองทัพเมืองลา (NDAA) และกองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP)

    กองกำลังที่เซ็น NCA แล้ว 6 กลุ่ม คือ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)

    ส่วนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) และแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF) ได้ปฏิเสธ

    ต่อมาสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU) ซึ่งเซ็น NCA แล้ว ได้ตอบรับคำเชิญมาตามหลัง ทำให้กองกำลังชาติพันธุ์ที่จะมาพบและเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มีทั้งสิ้น 10 กลุ่ม

    พล.ต.ส่อมินทูน โฆษก SAC บอกว่า ใน 10 กลุ่ม มี 3 กลุ่ม คือ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) จะส่งผู้นำสูงสุดของกลุ่มเดินทางไปพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่กรุงเนปยีดอด้วยตัวเอง ส่วนอีก 7 กลุ่ม จะส่งตัวแทนระดับรองไปพบ

    หากแบ่งเป็นรายพื้นที่ กองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่มที่ตอบรับจะไปพลกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐฉานมากที่สุดถึง 5 กลุ่ม คือ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) หรือกองทัพรัฐฉานใต้ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองทัพเมืองลา (NDAA) และองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)

    เป็นกองกำลังของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 2 กลุ่ม คือ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) กับสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)

    อีก 3 กลุ่ม หนึ่งกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐมอญ คือ พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐยะไข่หนึ่งกลุ่ม คือ พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) และอีกหนึ่งกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐคะฉิ่น คือสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)……

    พล.อ. เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) เข้าเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นกลุ่มแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่มาภาพ: Popular News Journal
    คณะของ RCSS กับ SAC ที่มาภาพ: Popular News Journal

    วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 พล.อ. เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) พร้อมคณะ เป็นกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มแรกที่ได้เข้าพบและเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่กรุงเนปยีดอ

    ทีมงานของ พล.อ. เจ้ายอดศึก มี พ.อ. จายเงิน เลขาธิการ 1 กับ พ.อ. แสวหาญ กรรมการ RCSS ด้านคณะของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มี พล.อ. โซวิน รองประธาน SAC พล.อ.เมียะทุนอู กรรมการ SAC รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พล.ท. โมมิ่นทุน กรรมการ SAC เสนาธิการกองทัพบก และ พล.ท. หย่าปญิ ประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ (National Solidarity and Peace Negotiation Committee — NSPNC)

    ในการพบปะเจรจา ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่าการจะสร้างสันติภาพในเมียนมาให้เกิดขึ้นได้นั้น ต้องนำการปกครองระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตยมาใช้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นได้เสียก่อน คือทุกฝ่ายต้องมีความเชื่อมั่นและไว้ใจซึ่งกันและกัน

    นายอ่องมิน รองประธานพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) เข้าเจรจาเป็นกลุ่มที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่มาภาพ: Popular News Journal

    วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2565 นายอ่องมิน รองประธานพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และทีมงาน เป็นตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มที่ 2 ที่ได้เข้าพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เขาเป็นตัวแทนของนายหงสา ประธาน MNSP ที่ไม่ได้มาด้วยตนเอง

    ซอเทาะเล ประธานสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) เข้าเจรจาเป็นกลุ่มที่ 3 ในวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 ที่มาภาพ: Popular News Journal
    ซอ มูตู เซโพ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เขายึดมั่นต่อเนื้อหาใน NCA ที่เซ็นไว้กับรัฐบาลเมียนมาอย่างเหนียวแน่น แต่ระดับคุมกำลังของ KNU กลับไม่ค่อยเห็นด้วย ที่มาภาพ: เพจ NCA-S EAO

    วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 ซอเทาะเล ประธานสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) และคณะ เป็นกลุ่มที่ 3 ที่เข้าพบและเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย

    ทีมงานของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่ร่วมพบกับรองประธานพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และประธานสภากะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) ยังคงเป็น พล.อ. โซวิน รองประธาน SAC พล.อ. เมียะทุนอู พล.ท. โมมิ่นทุน กรรมการ SAC และ พล.ท. หย่าปญิ ประธาน NSPNC

    คณะของ KNU/KNLA-PC กับ SAC ที่มาภาพ: Popular News Journal

    ขั้นตอนการเจรจากับ 3 กองกำลังชาติพันธุ์ ที่ดำเนินไปตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีลักษณะคล้ายกัน เริ่มจากคณะของผู้นำแต่ละชาติพันธุ์ได้พบและเจรจาในหลักการกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กับคณะ จากนั้น แต่ละชาติพันธุ์จะประชุมต่อในรายละเอียดร่วมกับ พล.ท.หย่าปญิ และคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ (NSPNC) อีก 2 วัน และมีการลงนามในบันทึกการประชุมร่วมกันในวันสุดท้ายของการประชุม

    พล.ท. หย่าปญิ นายทหารที่มีบทบาทสำคัญ ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ (NSPNC) ที่มาภาพ: The Irrawaddy

    รายงานเบื้องต้นระบุว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นกับสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และสภากะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) ยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมชัดแจ้ง เพราะนอกจากต้องรอให้มีการพูดคุยกับกองกำลังชาติพันธุ์ที่ตอบรับมาที่เหลืออีก 7 กลุ่มแล้ว แต่ละกลุ่มยังมีรายละเอียดที่ต้องพูดคุยต่ออีกในหลายประเด็น

    คณะของ NMSP กับ SAC ที่มาภาพ: Popular News Journal

    ……

    การเจรจาสันติภาพที่ดำเนินมาตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นสัญญานด้านบวกหนึ่งที่เริ่มปรากฏขึ้นให้หลายคนได้เห็น หลังตลอดกว่า 1 ปี ข่าวคราว เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมียนมา ล้วนแต่เป็นด้านลบเสียส่วนใหญ่

    อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอีกต่อจากนี้ นั่นคือ ท่าทีของกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เนื่องจากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ชิดติดกับชายแดนประเทศไทยมากที่สุด

    ชายแดนไทย-เมียนมายาวกว่า 2,400 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ค้าขายและช่องทางเข้า-ออกที่สำคัญของสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างไทยกับเมียนมา พื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของชายแดนด้านนี้ นับตั้งแต่จังหวัดตากลงไป เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กระเหรี่ยง ซึ่งก็มีอยู่หลายกลุ่ม

    ที่สำคัญ กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ ท่าทีของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแต่ละกลุ่มไม่สอดคล้องกัน ยิ่งไปกว่านั้น ท่าทีของบางกลุ่มก็ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

    ชายแดนฝั่งตะวันตกของไทยที่ติดกับดินแดนของกะเหรี่ยงนั้น ประเด็นด้านเศรษฐกิจกับประเด็นด้านความมั่นคง เป็นสิ่งที่ต้องสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…

  • ค้าชายแดนด้านเมียวดี “ตัวแปร” ที่ไม่เหมือนเดิม
  • รวมชาติกะเหรี่ยง เผ่าพันธุ์ทรหดที่ไม่มีวันตาย…กับกระแสแฮชแท็กขอย้ายประเทศ…
  • ศึกสายเลือดภายใน KNU อุปสรรคขัดขวางหนทางรวมชาติ
  • ศึกภายในรัฐกะเหรี่ยง เมียนมากับการแทรกแซงของมือที่สาม