ThaiPublica > สู่อาเซียน > ลดบทบาท “ดอลลาร์” ในการค้าขายชายแดนเมียนมา

ลดบทบาท “ดอลลาร์” ในการค้าขายชายแดนเมียนมา

7 มีนาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ธนาคารกลางเมียนมา ที่มาภาพ: The Global New Light of Myanmar

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2565 ธนาคารกลางเมียนมา (The Central of Myanmar — CBM) ประกาศคำสั่งฉบับที่ 5/2022 อ้างอำนาจตามมาตรา 17 และ 22 ของกฎหมายจัดการเงินตราต่างประเทศ อนุญาตให้ใช้เงินสกุลบาท/จัต ในการชำระค่าสินค้าได้โดยตรง สำหรับการค้าขายชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา

เหตุผลของคำสั่งนี้ CBM ระบุว่า เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าและการไหลเวียนของสินค้าระหว่าง 2 ประเทศ อำนวยความสะดวกต่อระบบชำระเงินและการเคลียริงข้ามพรมแดน รวมถึงส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นตามแนวทางบูรณาการระบบการเงินอาเซียน

CBM กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตเปิดบัญชีสกุลเงินบาท เพื่อให้ผู้ส่งออกหรือนำเข้าสินค้าที่อยู่ชายแดนไทย-เมียนมา สามารถใช้ชำระค่าสินค้าที่ซื้อขายกัน โดยต้องปฏิบัติตามแนวทางที่ CBM ระบุไว้

คำสั่ง CBM ฉบับที่ 5/2022

คำสั่งนี้ ให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ประกาศ (3 มีนาคม 2565) เป็นต้นไป…

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2564 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา ได้เป็นประธานการประชุมใหญ่ SAC ครั้งที่ 4/2021 โดยมีวาระหนึ่งที่ได้พิจารณากัน คือปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดเงินเมียนมา และการกระตุ้นปริมาณการค้าชายแดน ระหว่างเมียนมา-ไทย และเมียนมา-อินเดีย ให้เพิ่มสูงขึ้น

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน จึงได้มอบนโยบายที่จะให้นำเงินตราสกุลท้องถิ่น มาเป็นสื่อกลางสำหรับการซื้อขายสินค้ากันโดยตรงระหว่างคู่ค้าตามชายแดนของแต่ละประเทศ

โดยการค้าชายแดนระหว่างเมียนมา-ไทย สามารถใช้เงินบาทเพื่อชำระค่าสินค้าที่ซื้อขายกันได้โดยตรง เช่นเดียวกับเงินรูปีที่สามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าที่ซื้อขายกันได้ บริเวณชายแดนเมียนมา-อินเดีย

การประชุมใหญ่ SAC ครั้งที่ 4/2021 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม 2564 ซึ่งมี พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นประธาน ที่มาภาพ: เว็บไซต์กองบัญชาการกองทัพพม่า (https://cincds.gov.mm/)

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กล่าวว่า นโนบายนี้เป็นแนวทางเดียวกับที่ CBM ได้อนุญาตให้ใช้เงินหยวนเพื่อชำระค่าสินค้าได้โดยตรงสำหรับการค้าชายแดนเมียนมา-จีน ไปแล้วไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม SAC ครั้งที่ 4/2021 ยังไม่ได้กำหนดเวลาที่ชัดเจน ว่าจะเริ่มใช้เงินสกุลบาทและรูปีเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าที่ซื้อขายกันโดยตรง ตามชายแดนเมียนมากับไทยและอินเดียได้เมื่อใด คาดว่าต้องรอให้ CBM ประกาศเป็นคำสั่งออกมาอีกครั้งหนึ่งก่อน

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 CBM เพิ่งประกาศคำสั่ง ซึ่งมีเนื้อหาแบบเดียวกับคำสั่งฉบับที่ 5/2022 โดยอนุญาตให้ใช้เงินหยวนสำหรับซื้อขายสินค้าโดยตรงได้ในพื้นที่ชายแดนเมียนมา-จีน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ออกประกาศเป็นต้นไป

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 CBM ได้มีประกาศฉบับที่ 16/2021 อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีใบอนุญาตซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพิ่มเงินหยวนและเงินเยนเข้าไปในกระดานซื้อขายได้อีก 2 สกุล จากก่อนหน้านั้น การซื้อขายเงินตราต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์เมียนมาทำอยู่เพียง 5 สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร สิงคโปร์ดอลลาร์ บาทไทย และริงกิตมาเลเซีย

……

หลังการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ตลาดเงินเมียนมาต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการกว้านซื้อเงินดอลลาร์ออกไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้เงินจัตอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง

ในเดือนมกราคม 2564 ก่อนรัฐประหาร เงินจัตเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,327-1,345 จัต ต่อ 1 ดอลลาร์ หลังรัฐประหาร เงินจัตเริ่มอ่อนลงมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ดอลลาร์ละ 1,335-1,465 จัต ในเดือนกุมภาพันธ์

เดือนมีนาคม 2564 จัตยังคงอ่อนตัวอยู่ระหว่างดอลลาร์ละ 1,420-1,550 จัต และอ่อนลงมาอีกที่ 1,550-1,660 จัต และ 1,585-1,730 จัต ต่อ 1 ดอลลาร์ในเดือนเมษายนกับพฤษภาคม

เดือนมิถุนายน 2564 เงินจัตแข็งตัวขึ้นเล็กน้อยเคลื่อนไหวที่ดอลลาร์ละ 1,595-1,620 จัต แต่ได้กลับมาอ่อนลงอีกในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 1,626-1,670 จัตต่อ 1 ดอลลาร์ และดอลลาร์ละ 1,660-1,682 จัต ในเดือนสิงหาคม

เดือนกันยายน 2564 เงินจัตตกฮวบลงอย่างแรงจนสร้างสถิติต่ำสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ดอลลาร์ละ 1,696-3,200 จัต ก่อนจะกระเตื้องกลับมาอยู่ที่ 1,850-1,990 จัต และ 1,773-1,880 จัต ในเดือนตุลาคมกับพฤศจิกายน

ตลอดเวลาที่เงินดอลลาร์ถูกกว้านซื้อออกไปอย่างหนัก CBM เข้าแทรกแซงด้วยการขายเงินดอลลาร์เข้าไปในตลาดอย่างต่อเนื่องแทบทุกเดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มีเว้นเพียงเดือนมีนาคม 2564 เดือนเดียวที่ CBM ไม่ได้ขายดอลลาร์ออกมา

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนธันวาคม 2564 CMB ขายเงินดอลลาร์เข้าไปในตลาดคิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ และเมื่อเข้าสู่ปี 2565 CBM ก็ยังคงขายเงินดอลลาร์เข้าไปอีก 4 ครั้ง รวม 50 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคม และอีก 15 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565

  • อนาคตค่า “เงินจัต”
  • ธุรกรรมการเงินนอกระบบ ฟื้นกลับคืนในเมียนมา
  • ธนาคารกลางเมียนมา พลิกกลับมาคุมค่าเงินจัต

  • การที่ CBM อนุญาตให้การค้าตามแนวชายแดนหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่น จึงมีความมุ่งหมายที่ต้องการลด “บทบาท” เงินดอลลาร์ลงไปในระดับหนึ่ง

    ……

    จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านกินสัดส่วนประมาณเกือบ 1 ใน 3 ของยอดรวมมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา โดยมีสถิติดังนี้…

    ปีงบประมาณ 2561-2562 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของเมียน อยู่ที่ 35,147.01 ล้านดอลลาร์ ในนี้เป็นการค้าชายแดน 10,287.54 ล้านดอลลาร์ หรือ 29.27% เป็นการค้าโพ้นทะเล 24,859.47 ล้านดอลลาร์ หรือ 70.73%

    ปีงบประมาณ 2562-2563 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมอยู่ที่ 36,731.94 ล้านดอลลาร์ เป็นการค้าชายแดน 10,635.43 ล้านดอลลาร์ หรือ 28.95% เป็นการค้าโพ้นทะเล 26,096.51 ล้านดอลลาร์ หรือ 71.05%

    ปีงบประมาณ 2563-2564 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมอยู่ที่ 29,585.15 ล้านดอลลาร์ เป็นการค้าชายแดน 9,753.02 ล้านดอลลาร์ หรือ 32.97% เป็นการค้าโพ้นทะเล 19,832.13 ล้านดอลลาร์ หรือ 67.03%…

    เมียนมามีด่านชายแดนซึ่งใช้เป็นช่องทางหลักของการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน และเปิดให้มีการส่งออก-นำเข้าสินค้าเป็นประจำ 16 ด่าน ประกอบด้วย

    ด่านชายแดนเมียนมา-จีน 5 ด่าน อยู่ในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น ตรงข้ามกับมณฑลยูนนาน ได้แก่

    • ด่านหมู่เจ้ รัฐฉานเหนือ อยู่ตรงข้ามกับเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต เต๋อหง
    • ด่านชิงส่วยเหอ เขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง รัฐฉานเหนือ ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติว้าและไต กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง
    • ด่านหล่วยแจ่ รัฐคะฉิ่น ตรงข้ามกับเมืองหล่งชวน เขตปกครองตนเองชนชาติไต เต๋อหง
    • ด่านกันไป้ก์ตี รัฐคะฉิ่น ตรงข้ามกับนครเถิงชง จังหวัดเป่าซาน
    • ด่านเชียงตุง เขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา จังหวัดเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก ตรงข้ามกับเมืองฮาย เขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนาน
    ศูนย์ขนถ่ายสินค้า หลักไมล์ที่ 105 เมืองหมู่เจ้ ประตูการค้าระหว่างเมียนมา-จีน ที่มีมูลค่าการซื้อขายแต่ละปีสูงที่สุด ที่มาภาพ: เพจข่าวเมืองหมู่เจ้
    ศูนย์ขนถ่ายสินค้า หลักไมล์ที่ 105 เมืองหมู่เจ้ ประตูการค้าระหว่างเมียนมา-จีน ที่มีมูลค่าการซื้อขายแต่ละปีสูงที่สุด ที่มาภาพ: เพจข่าวเมืองหมู่เจ้
    ด่านหล่วยแจ่ รัฐคะฉิ่น และขบวนรถบรรทุกที่รอข้ามเข้าไปยังเมืองหล่งชวน เขตปกครองตนเองชนชาติไต เต๋อหง เพื่อส่งสินค้า ที่มาภาพ: Eternally Peace News Network

    ด่านชายแดนเมียนมา-ไทย 7 ด่าน ประกอบด้วย

    • ด่านทิกิ ภาคตะนาวศรี ตรงข้ามกับบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
    • ด่านเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
    • ด่านเกาะสอง ภาคตะนาวศรี ตรงข้ามกับอำเภอเมือง จังหวัดระนอง
    • ด่านท่าขี้เหล็ก รัฐฉานตะวันออก ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
    • ด่านมะริด ภาคตะนาวศรี ตรงข้ามกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
    • ด่านมอต่อง ภาคตะนาวศรี ตรงข้ามกับด่านสิงขร อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
    • ด่านแมแซะ รัฐกะยา ตรงข้ามกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน

    ด่านชายแดนเมียนมา-อินเดีย 2 ด่าน ได้แก่

    • ด่านตามู ภาคสะกาย ตรงข้ามกับเมืองโมเร รัฐมณีปุระ
    • ด่านริด เมืองตีเตง รัฐชิน ตรงข้ามกับรัฐมิโซรัม

    ด่านชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศ 2 ด่าน ได้แก่

    • ด่านซิตต่วย ด่านริมทะเลในเมืองซิตต่วย รัฐยะไข่
    • ด่านมองดอ ด่านริมแม่น้ำนาฟ ในเมืองมองดอ รัฐยะไข่

    สัดส่วนการค้าชายแดนของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการค้ากับจีนมากที่สุด รองลงมาคือไทย อินเดีย และบังกลาเทศ

    รถบรรทุกที่จอดอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 3 (หมู่เจ้-ล่าเสี้ยว-มัณฑะเลย์) รอข้ามด่านชายแดนหมู่เจ้ เพื่อนำสินค้าข้ามไปส่งยังฝั่งจีน

    ปีงบประมาณ 2561-2562 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 การค้าชายแดนระหว่างเมียนมา-จีน มีมูลค่ารวม 5,909.42 ล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นเมียนมา-ไทย มูลค่ารวม 4,153.66 ล้านดอลลาร์ อันดับ 3 เมียนมา-อินเดีย มูลค่ารวม 201.25 ล้านดอลลาร์ และเมียนมา-บังกลาเทศ มูลค่ารวม 23.19 ล้านดอลลาร์

    ปีงบประมาณ 2562-2563 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 การค้าชายแดนระหว่างเมียนมา-จีน มีมูลค่ารวม 5,864.93 ล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นเมียนมา-ไทย มูลค่ารวม 3,914.52 ล้านดอลลาร์ อันดับ 3 เมียนมา-อินเดีย มูลค่ารวม 93.06 ล้านดอลลาร์ และเมียนมา-บังกลาเทศ มูลค่ารวม 51.41 ล้านดอลลาร์

    ปีงบประมาณ 2563-2564 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 การค้าชายแดนระหว่างเมียนมา-จีน มีมูลค่ารวม 4,766.47 ล้านดอลลาร์ รองลงมาเป็นเมียนมา-ไทย มูลค่ารวม 4,250.73 ล้านดอลลาร์ อันดับ 3 เมียนมา-อินเดีย มูลค่ารวม 199.85 ล้านดอลลาร์ และเมียนมา-บังกลาเทศ มูลค่ารวม 35.41 ล้านดอลลาร์

    เฉพาะมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างเมียนมา-จีน กับเมียนมา-ไทย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของมูลค่าการค้าชายแดนโดยรวมของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด…

    แถวรถบรรทุกจากด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี ที่ข้ามเข้าไปส่งสินค้าในเมียนมา สินค้าของไทยจากด่านแห่งนี้ ถูกส่งกระจายขายไปทั่วประเทศเมียนมา ที่มาภาพ: Karen Information Center