ThaiPublica > สู่อาเซียน > ศึกภายในรัฐกะเหรี่ยง เมียนมากับการแทรกแซงของมือที่สาม

ศึกภายในรัฐกะเหรี่ยง เมียนมากับการแทรกแซงของมือที่สาม

23 มกราคม 2022


ศรีนาคา เชียงแสน รายงาน

ทหารเมียนมาใช้เฮลิคอปเตอร์โจมตีเพื่อวางระเบิดรัฐกะเหรี่ยง ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/FreeBurmaRangers

นับตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา เกิดเหตุการณ์สู้รบกันในพื้นที่บ้านเลเก่ก่อ และบ้านแม่ทอดตะเล จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (สมม.) ด้านตรงข้ามพื้นที่ ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก จนทําให้ชาวบ้านในพื้นที่สู้รบต้องอพยพหนีภัยสงครามข้ามมายังฝั่งไทยเป็นจํานวนมาก

สาเหตุการสู้รบดังกล่าว สืบเนื่องจากทหารเมียนมาและกองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์ชายแดน (BGF) ที่ขึ้นตรงกับทหารเมียนมา ได้ระดมกำลังเข้าตรวจค้นบ้านเลเก่ก่อ จ.เมียวดี เพื่อติดตามกวาดล้างกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) รวมทั้งกลุ่มเห็นต่าง เช่น ส.ส.พรรค NLD และตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งเข้ามาหลบซ่อนและเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่อิทธิพลของกองพลน้อยที่ 6 กองกำลัง KNLA/KNU จึงทําให้ฝ่าย KNLA/KNU สนธิกําลังกับกองกำลัง PDF ทําการซุ่มโจมตีตอบโต้กลับฝ่ายทหารเมียนมา จนเกิดการปะทะกันรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ฝ่ายทหารเมียนมาเปิดศึกเพื่อกวาดล้างกลุ่มเห็นต่าง

ก่อนหน้าจะเกิดการสู้รบมีข่าวสารว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมา ได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับ พล.อ. มูตู ผู้นำของกลุ่ม KNU โดยอ้างว่าทหารเมียนมามีความจำเป็นต้องส่งกำลังเข้าไปในพื้นที่อิทธิพลของ KNU เพื่อจับกุมกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล (CDM) และกองกำลัง PDF ที่อยู่ในพื้นที่ บ.เลเก่ก่อ อ.เมือง จ.เมียวดี เท่านั้น เนื่องจากฝ่ายทหารเมียนมามองว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มก่อการร้าย และไม่ต้องการสู้รบกับฝ่าย KNU หรือกองกำลัง KNLA แต่อย่างใด และยังย้ำกับ พล.อ. มูตู อีกว่า ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้ยังอยู่ในพื้นที่ก็จะสร้างปัญหาให้กับฝ่ายเมียนมาและกลุ่ม KNU เอง รวมทั้งแจ้งว่าหากกลุ่ม KNU ไม่ให้กลุ่ม CDM และ กกล. PDF อยู่ในพื้นที่แล้วเหตุการณ์ก็น่าจะไม่มีปัญหาต่อไป พร้อมทั้งเสนอว่าให้ทาง KNU ส่งกลุ่มเห็นต่างเหล่านี้ให้ UN รับตัวไปทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ทางพล.อ.มูตู เซโพ เป็นประธาน KNU ผู้นำสูงสุดของ KNU ก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ถึงแม้ว่า พล.อ. มูตู จะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทางทหารเมียนมามาตลอด แต่เขาไม่ได้มีบารมีและอำนาจในการควบคุมกองกำลังในร่มธงของ KNU ได้ทั้งหมด เช่น กองกำลังของกองพลน้อยที่ 5 และกองพลน้อยที่ 6 รวมทั้งกองกำลังของ KNDO ทำให้ พล.อ. มูตู ไม่สามารถสั่งการใดๆ ได้มากนัก

ขณะที่ ปะโด้ กวยทู รองประธาน KNU และปะโด้ ตะโด้มู เลขาธิการ KNU มีความคิดเห็นว่าสาเหตุการเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของทหารเมียนมา ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง และมีการทำอารยะขัดขืนของกลุ่ม CDM ฝ่ายเมียนมามีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม ทำให้กลุ่ม CDM และ กลุ่ม PDF หลบหนีเข้ามาขออาศัยอยู่กับกลุ่ม KNU ซึ่งกลุ่ม KNU จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF)

การเจรจาสงบศึกล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น

แม้ว่าทั้งพล.อ.มูตู และนายทหารระดับสูงของ KNU หลายคน จะมีความเห็นตรงกันว่าการสู้รบกับทหารเมียนมามีแต่จะสร้างหายนะให้กับ KNU และประชาชนชาวกะเหรี่ยง ยิ่งหากมีการสู้รบที่ยืดเยื้อ ก็จะยิ่งทำให้กลุ่ม KNU เป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากขาดแคลนอาวุธยุทธภัณฑ์ และต้องสูญเสียกำลังพลโดยไม่จำเป็น อีกทั้งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่สู้รบต้องได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถทำมาหากินและใช้ชีวิตตามปกติได้ จึงมีความพยายามนำเสนอต่อฝ่ายทหารเมียนมาเพื่อเปิดให้มีการเจรจาสงบศึกครั้งนี้ก่อน โดยเบื้องต้นมีการกำหนดว่าจะมีการส่งตัวแทนฝ่าย KNU กับฝ่ายผู้แทนทหารเมียนมา เข้ามาเจรจาสงบศึกในวันที่ 2 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย

จากการตรวจสอบปรากฏข่าวสารว่า ปัจจุบันภายในกลุ่ม KNU มีความคิดเห็นแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย คือ 1. ฝ่ายของ พล.อ. มูตู และ 2. ฝ่ายของปะโด้ กวยทู รองประธานกลุ่ม KNU และปะโด้ ตะโด้มู เลขาฯ เดิมทีฝ่ายกองทัพเมียนมายื่นข้อเสนอและต้องการให้ พล.อ. มูตู ในฐานะประธาน KNU เป็นผู้ไปร่วมการประชุมเจรจาสงบศึก แต่ พล.อ. มูตู ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุม โดยให้เหตุผลว่าถึงแม้ตนเองเข้าร่วมประชุมก็ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ เนื่องจากปัจจุบันอำนาจการตัดสินใจต่างๆ ขึ้นอยู่กับปะโด้ กวยทู รองประธาน KNU และปะโด้ ตะโด้มู เลขา KNU ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าร่วมประชุม PPST มาโดยตลอด โดยทั้งสองคนแจ้งว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาของ กลุ่ม KNU ทางกลุ่ม KNU ก็จะแก้ไขปัญหากันเอง สุดท้ายการเจาจาก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากเหตุผลภายในของ KNU ดังกล่าวข้างต้น

ตอกย้ำกับข่าวสารภายในเมียนมา ที่พบว่าเมื่อ 31 ธ.ค. 2564 นาย Aung Nang Htwe เจ้าของเพจโกแส่เล ได้มีการเผยแพร่ข้อความเป็นภาษาเมียนมาว่าได้รับข่าวสารยืนยันจาก Mr.Yee Mon (นายยี มน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ว่าในห้วงปีใหม่นี้ SAC จะมีการพบปะกันกับรัฐบาล NUG ที่ จ.เชียงใหม่ จากการเผยแพร่ข่าวสารดังกล่าวได้ตรวจสอบกับ Mr.Yee Mon ซึ่งได้รับการยืนยันว่าข่าวสารดังกล่าวไม่เป็นความจริง

  • ศึกสายเลือดภายใน KNU อุปสรรคขัดขวางหนทางรวมชาติ
  • แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง: ข้อเท็จจริงจากชายแดน ภาคเหนือ
  • ชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นหลบหนีการโจมตีของทหารเมียนมา เข้ามาในถ้ำ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/FreeBurmaRangers

    ศึกนี้ยังยืดเยื้ออีกนาน

    จนถึงปัจจุบันกลุ่ม KNU ยังไม่มีการเจรจากับฝ่ายทหารเมียนมาแต่อย่างใด แม้ว่าการสู้รบในพื้นที่ด้านนี้จะลดความรุนแรงลงบ้าง รวมทั้งมีการหยุดพักรบในห้วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาด้วย แต่หลังจากวันที่ 4 มกราคม 2565 การสู้รบและการปะทะกันของกองกำลังทั้งสองฝ่ายก็กลับมาเป็นเช่นเดิม ฝ่ายทหารเมียนมายังคงเสริมกำลังพลและอาวุธหนักเข้ามาใช้ในการทำศึกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายกองกำลัง KNLA และ กกล. PDF ก็ยังใช้ยุทธวิธีสงครามกองโจร คือใช้การซุ่มโจมตี ตัดกำลัง และล่าถอยกลับเข้าไปในพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง หากมองในทางศักยภาพและขีดความสามารถของกองกำลัง แน่นอนว่าฝ่ายทหารเมียนมามีความได้เปรียบในทุกด้าน แต่ฝ่าย KNLA ก็ผ่านศึกสงครามและการสู้รบกับทหารเมียนมามานาน และมีความเชี่ยวชาญการทำสงครามแบบกองโจรในสภาวะที่ด้อยกว่าในด้านกำลังพลและอาวุธ ดังนั้นจึงยังสามารถต่อกรกับฝ่ายทหารเมียนมาได้อีกนาน

    บทบาท FBR กับสงครามตัวแทนย่อยๆ

    ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สถานการณ์ชายแดนด้านรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม จ.ตาก ในวันนี้พัฒนาไปไกลว่าศึกภายในประเทศเมียนมาเองเท่านั้น แต่มาถึงวันนี้สถานการณ์ได้พัฒนาไปกลายเป็นสงครามตัวแทนย่อยๆแล้ว

    สาเหตุสำคัญเกิดจากการที่รัฐบาลทหารเมียนมามีความสัมพันธ์ที่แนบชิดกับจีนและรัสเซียเป็นอย่างมาก ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่สบายใจ และอยากจะเข้ามามีบทบาทในพื้นที่นี้อีกครั้ง อย่างน้อยๆ ก็เพื่อจะขัดขวางบทบาทหรือลดอิทธิพลของจีนและรัสเซียในเมียนมาได้บ้าง

    หนึ่งในองค์กรที่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้านรัฐกะเหรี่ยง ที่โดดเด่นที่สุดในห้วงนี้ คือองค์กรที่ชื่อว่า “ขบวนการปลดปล่อยอิสรภาพพม่า” หรือ Free Burma Rangers(FBR)

    ขบวนการปลดปล่อยอิสรภาพพม่า ที่มาภาพ : เฟชบุ๊ก Free Burma Rangers

    ที่จริงกลุ่ม Free Burma Ranger เคยเข้ามาจัดตั้งและมีบทบาทในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงนานมากแล้ว แต่แต่ปี 2540 โดยมี พันตรี เดวิด ยูแบงก์ (David Eubank) อดีตทหารจากหน่วยรบพิเศษของอเมริกา เป็นผู้ประสานงาน โดยมีเป้าหมายหลักที่การเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มกะเหรี่ยงเพื่อให้สามารถต่อสู้กับกองทัพเมียนมา โดยความเข้มข้นในการเข้ามาปฏิบัติการหรือให้ความช่วยเหลือ ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในบางห้วงเวลาที่นโยบายของอเมริกามีความสนใจปัญหาในเมียนมาและในภูมิภาคนี้ ก็จะมีปฏิบัติการและความเคลื่อนไหวเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการที่กองทัพเมียนมาเข้ามาปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564

    ที่ผ่านมา ก็เริ่มปรากฏข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Free Burma Ranger ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา และพื้นที่ตอนกลางของรัฐกะเหรี่ยง เพิ่มความถี่มากยิ่งขึ้นตามลำดับแม้ว่าภาพที่ปรากฏออกมาภายนอกดูเหมือนว่าทาง FBR จะเน้นให้ความช่วยเหลือภาคพลเรือนและชาวบ้านชาวกะเหรี่ยง แต่ระยะหลังๆ เริ่มมีข่าวสารเรื่องการปรากฏตัวของกลุ่มครูฝึกชาวต่างชาติ ที่เข้าไปฝึกอาวุธและยุทธวิธีการรบแบบกองโจรให้กับกองกำลัง KNU โดยเฉพาะในเขตกองพลน้อยที่ 5 ที่นำโดย พล.อ. จ่อ บ่อ แฮ และกองกำลังป้องกันชาติกะเหรี่ยง KNDO นำโดย พล.จ. เนอดาเมียะ ผู้บัญชาการ (KNDO) ในเขตพื้นที่ชายแดนไทย-เมียมา ด้านตรงข้าม จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน

    การดำเนินการของ FBR ในระยะแรก เป็นการเข้าไปประสานงานและร่วมมือกับองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้ KNU ในการที่จะเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในรัฐกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม โดยมีทหารหนุ่มกะเหรี่ยงจาก KNU เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมทำงานกับ FBR ซึ่งมีรัฐกะเหรี่ยงเป็นพื้นที่แรกที่กลุ่มได้ปฏิบัติภารกิจลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน จนในเวลาต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้น FBR ได้ขยายการทำงานไปสู่เขตสู้รบในรัฐอื่นๆ โดยร่วมมือและได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังทหารชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ปัจจุบัน FBR มีสมาชิกประมาณ 300–500 คน ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 10 ชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในพม่า ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นหมอทหาร โดยทีม FBR เหล่านี้กระจายอยู่ใน 7 รัฐ ซึ่งรัฐกะเหรี่ยงมีทีม FBR มากที่สุด

    ตามข่าวสารทราบว่าปัจจุบัน FBR มีชุดครูฝึกชาวอเมริกาจำนวน 6 คน มีหัวหน้าชุดที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า ทา อู วา อะ พา (Tha U Wah A Pah) ทำการฝึกชุดคอมมานโดให้กับกองกำลัง KNU บริเวณบ้านดิปุนุ รัฐกะเหรี่ยง (ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน) โดยมีการคัดเลือกชายฉกรรจ์อายุไม่เกิน 25 ปี ฝึกคราวละประมาณ 20–30 คน ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าหน้าที่ FBR จะต้องผ่านการอบรมเป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยในระหว่างการอบรมจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีสื่อสาร ทั้งการถ่ายรูปและถ่ายภาพวีดีโอ การใช้วิทยุสื่อสาร ได้รับการอบรมในด้านการรักษาพยาบาล การอ่านแผนที่และการเก็บกู้ระเบิด และการฝึกการรบแบบกองโจร เป็นต้น

    งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการทั้งหมดผ่านมาทางองค์กรพัฒนาเอกชนในรูปแบบต่างๆ โดยเชื่อกันว่ามี CIA อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทั้งหมด ส่วนความเข้มข้นในการปฏิบัติขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์และนโยบายของอเมริกา ว่าในห้วงเวลาไหนจะให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในเมียนมามากน้อยแค่ไหน ขณะที่ข่าวสารระบุว่า ตัวพันตรี เดวิด ยูแบงก์ อดีตทหารจากหน่วยรบพิเศษของอเมริกา หัวหน้าองค์กรนี้ เดินทางผ่านเข้าออกไทย-เมียนมาผ่านทางชายแดนจากฝั่งไทย ภายใต้ชื่อและสถานะอำพรางที่หลากหลาย รวมทั้งเอกสิทธิ์ทางการทูต ซึ่งทางการไทยไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ถนัดนัก

    สงครามตัวแทนของมหาอำนาจโลก

    หากข้อมูลและข่าวสารข้างต้นเป็นจริง เราก็สามารถทำนายได้เลยว่า สงครามภายในเมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ตางข้ามชายแดนด้าน จ.ตาก และแม่ฮ่องสอน จะยังคงยืดเยื้อไปอีกนาน ที่สำคัญคือเหตุการณ์ได้พัฒนาไปจนกลายเป็นศึกและสงครามตัวแทนย่อยๆ ของประเทศมหาอำนาจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเข้ามามีบทบาทในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าหากพิจารราตามยุทธศาสตร์ชาติของสหรัฐอเมริกา เมียนมาอาจจะยังไม่ใช่เป้าหมายหลักของสหรัฐฯ เนื่องจากไม่มีผลประโยชน์ของอเมริกาในเมียนมามากนัก แต่หากมองในเชิงสงครามตัวแทน ต้องยอมรับว่าเมียนมามีความใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียมากกว่าฝ่ายโลกตะวันตก การจะปล่อยให้จีนและรัสเซียเข้ามามีบทบาทในพื้นที่มากเกินไปโดยให้มหาอำนาจที่คิดว่าข้าคือเจ้าโลกยืนดูเฉยๆ คงเป็นเรื่องยาก การเข้ามามีบทบาทผ่านทางองค์กร NGO จึงเป็นการเดินเกมแรกๆ ง่ายๆ ที่สามารถทำได้เลย

    แหล่งข่าวด้านความมั่นคงให้ข้อสังเกตไว้ว่า ห้วงนี้ฝ่าย KNU ยังไม่สามารถสู้กับทหารเมียนมาได้ และสิ่งที่กองกำลัง KNLA กลัวมากที่สุดคือ พลานุภาพทางอากาศของกองทัพเมียนมาที่มีสูงมาก ซึ่งสามารถส่งเครื่องบินรบรุ่นใหม่ที่ปล่อยอาวุธด้วยนำวิถีมีความแม่นยำสูง มีเพดานการบินสูง และสามารถเข้าโจมตีในเวลากลางคือ เกินกว่าขีดความสามารถของอาวุธประจำกายที่ทหารกะเหรี่ยงมีอยู่จะตอบโต้ได้ ดังนั้น หลายฝ่ายกำลังจับตาอยู่ว่าในห้วงเวลาต่อไปนี้ จะมีของเล่นจากซานตาคลอสมือที่สาม เช่น ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานชนิดประทับบ่า แอบส่งข้ามชายแดนเพื่อไปสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่อต้านทหารเมียนมา เพื่อพิสูจน์ความจริงใจจากมือที่สามตามที่ร้องขอกันเอาไว้จริงหรือไม่ หากมีอาวุธหนักถูกลักลอบส่งเข้ามาในพื้นที่สู้รบได้จริง ความรุนแรงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน เพราะถึงเวลานั้นคงไม่มีใครยอมใครอีกแล้ว ผู้คนก็ต้องบาดเจ็บล้มตาย คลื่นผู้อพยพหลบหนีภัยสงครามก็จะทะลักเข้ามาในประเทศไทยเราอย่างแน่นอน

    แต่ไม่ว่าจะเป็นสงครามตัวจริง หรือสงครามตัวแทน ล้วนแต่ไม่เป็นผลดีกับใคร ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน จะเป็นคนพม่าแท้ หรือคนกะเหรี่ยง หรือใครก็ตาม ย่อมไม่อยากตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ต้องอพยพหลบหนีภัยจากสงครามที่ฝ่ายกุมอำนาจพยายามยัดเยียดให้พวกเขา เมื่อไหร่ที่ผู้กุมอำนาจเหล่านี้จะฉลาดขึ้น หรือมีสติปัญญามากขึ้น ที่จะใช้แนวทางสันติมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้เสียที หรือต้องรอเวลาให้บาดเจ็บ ล้มตาย หรือสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินกันเสียก่อนถึงจะคิดได้

      ชี้แจงข้อสงสัยของหน่วยงานความมั่นคงไทย

      ครอบครัวพันตรีเดวิด ยูแบงก์ นายทหารนอกราชการ กองทัพสหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/FreeBurmaRangers

      เมื่อ 10 ม.ค. 2565 นาย เดวิด ยูแบงก์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการองค์กร Free Burma Rangers หรือ FBR ได้มีเอกสารออกมาชี้แจงข้อสงสัยของหน่วยงานความมั่นคงไทยโดยมีข้อความและสาระสำคัญ ดังนี้

      คณะทำงาน FBR ได้ให้ความช่วยเหลือบริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ และไม่ต้องหนีข้ามฝั่งมายังไทย ดำเนินการผ่านคณะทำงานชาวอเมริกันจากฝั่งเมียนมาและไทย บริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก ในการส่งมอบสิ่งของ เช่น อาหาร ยารักษาโรค และผ้าห่ม โดยมีกลุ่มสหภาพชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union – KNU) คอยอำนวยความสะดวกในฝั่งเมียนมา ล่าสุด ปรากฏความเคลื่อนไหวจาก กลุ่มกะเหรี่ยงพิทักษ์ประชาธิปไตย (Democratic Karen Benevolent Army – DKBA) และ กกล.พิทักษ์ชายแดน (Border Guard Forces — BGF) เดินทางเข้าพบ กลุ่มสหภาพชาติกะเหรี่ยง (KNU) โดยมีเงื่อนไขห้ามบันทึกภาพ (แต่มีบางคนแอบบันทึกภาพไว้ได้) เพื่อเจรจาหาข้อยุติการสู้รบ พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์สู้รบและความสูญที่เกิดขึ้น รวมถึงไม่ต้องการให้เกิดปัญหากระทบไปยังฝั่งไทยโดยเฉพาะประเด็นด้านมนุษยธรรม

      สำหรับนายไอแซก ฮิวจ์ (Isaac Hughes) และนายเควิน จอห์นสัน (Kevin Johnson) เป็นอาสาสมัครด้านมนุษยธรรม และไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มกะเหรี่ยงพิทักษ์ประชาธิปไตย (Democratic Karen Benevolent Army – DKBA) และ กกล.พิทักษ์ชายแดน (Border Guard Forces — BGF)

      ขอบคุณและพระเจ้าอวยพรคุณ
      นายเดวิด ยูแบงก์