ThaiPublica > สู่อาเซียน > ศึกสายเลือดภายใน KNU อุปสรรคขัดขวางหนทางรวมชาติ

ศึกสายเลือดภายใน KNU อุปสรรคขัดขวางหนทางรวมชาติ

15 กรกฎาคม 2021


ศรีนาคา รายงาน

ธงชาติกะเหรี่ยง

ท่ามกลางความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศในฤดูมรสุม อยู่ๆ ฟ้าก็ผ่าลงกลางใจคนเชื้อสายกะเหรี่ยง ทั้งชาวกะเหรี่ยงในถิ่นกำเนิดชายแดนด้านตะวันตกของไทย ซึ่งปกติชีวิตของพวกเขาก็ต้องต่อสู้ ดิ้นรน และยากลำยากแสนสาหัสอยู่แล้ว รวมถึงชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นที่กระจายทำมาหากินอยู่ทั่วโลก

ในช่วงเย็นวันที่ 8 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ฝ่ายนำในองค์กรกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) โดยพันโท ซอรอจ่าขิ่น (โรเจอร์) หัวหน้าสำนักฝ่ายป้องกัน (กลาโหม) KNU ได้ลงนามในคำสั่งให้พลจัตวา (พล.จ.) เนอดาเมียะ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันชาติกะเหรี่ยง (KNDO) หน่วยขึ้นตรงกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และร้อยเอก ซอบ่าวา นายทหารคนสนิทของ พล.จ. เนอดาเมียะ พ้นจากตำแหน่ง ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในทันที

ชื่อชั้นของ พล.จ. เนอดาเมียะ ไม่ใช่ธรรมดา เพราะเขาคือนายทหารหนุ่มเลือดใหม่ที่รักชาติ รักเผ่าพันธุ์ เป็นลูกชายคนรองของนายพลโบเมียะ อดีตประธาน KNU ผู้ล่วงลับ เป็นผู้รวบรวมกำลังพลและก่อตั้งกองกำลังป้องกันชาติกะเหรี่ยง (KNDO) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกองกำลังที่มีขีดความสามารถในการรบมากเป็นพิเศษหน่วยหนึ่ง (เทียบชั้นคือ หน่วยรบพิเศษของประเทศต่างๆ) อีกทั้งจากผลการปฏิบัติงานและการใช้ชีวิตของเขาในฐานะผู้นำกองกำลังเลือดใหม่ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากกลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงด้วยกันเอง และจากประชาชนเชื้อสายกะเหรี่ยง จนยกย่องให้เป็น “มังกรแห่งลุ่มน้ำสาละวิน” เขาคือตัวแทนนายทหารรุ่นใหม่ที่แบกภาระและความหวังในการรวมชาติกะเหรี่ยงไว้บนบ่าไม่น้อยไปกว่าผู้อาวุโส และนักรบของเผ่าพันธุ์คนใดใน KNU

พลจัตวา เนอดาเมียะ

ฝันร้ายในควันสงคราม

ในทุกสมรภูมิย่อมมีการสูญเสีย ย้อนเหตุการณ์ไปห้วง 11 พ.ค. 2564 ร.อ. ซอบ่าวา นายทหารคนสนิทของเนอดาเมียะ ได้นำกำลัง KNDO 30 นาย จากฐานอุฮูคี อ.วาเลย์ใหม่ จ.เมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ สมม. (ด้านตรงข้าม อ.พบพระ จ.ตาก) ออกไปปฏิบัติภารกิจ และมีการเข้าจับกุมตัวคนงานก่อสร้างที่แคมป์คนงานซึ่งเข้ามาก่อสร้างสะพานข้ามลำห้วยอุฮุโกร บนเส้นทางสายกะแนเร–มอคี พื้นที่ อ.เมียวดี สมม. (พื้นที่ตรงข้าม บ้านทหารผ่านศึก ม.14 ต.รวมไทยพัฒนา อ.พบพระ จ.ตาก โดยจับกุมคนงานก่อสร้างและครอบครัวมาทั้งหมด 47 คน ประกอบด้วย ชาย 31 คน หญิง 6 คน เด็กเล็ก 10 คน เพื่อทำการสอบสวน

เนื่องจากพบว่าในกลุ่มคนงานก่อสร้างเหล่านี้มีสายลับของทหารเมียนมาแฝงตัวเข้ามาทำภารกิจสืบสภาพเส้นทางและจุดยุทธศาสตร์ของฐานที่ตั้ง KNDO ที่ฐานอุฮูคีด้วย โดยตรวจพบว่ามีการใช้โดรนบินถ่ายภาพ และการทำแผนที่กำหนดจุดพิกัด และเส้นทางยุทธศาสตร์ต่างๆ จนนำไปสู่การสังหารหมู่แรงงานพร้อมกันถึง 25 รายในเวลาต่อมา ส่วนผู้หญิงและเด็กอีก 22 คน มีการส่งตัวคืนผ่านทางผู้ใหญ่บ้านมอคีร์ อ.วาเล่ย์ใหม่ จ.เมียวดี เพื่อนำตัวส่งให้ทหารเมียนมาที่ฐานคะแนเร อ.วาเล่ย์ใหม่ จ.เมียวดี

เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับทหารเมียนมาเป็นอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 ผู้บัญชาการทหารบกภาคตะวันออกของทหารเมียนมา ได้ส่งหนังสือประท้วงถึง KNU กล่าวหาว่า KNDO ทำการละเมิดสัญญาลงนามหยุดยิง (NCA) ในหมวดที่ 3 บทที่ 9 วรรค (B) โดยมีการสังหารพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบใดๆ และต่อมาเมื่อ 31 พ.ค. 2564 ทางสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ได้ออกแถลงพร้อมหลักฐานภาพถ่ายตอกย้ำและประณามการสังหารหมู่แรงงาน 25 คนดังกล่าวซ้ำอีก โดยเน้นย้ำว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักมนุษยธรรมและหลักสากลที่ยากจะให้อภัยได้

สังหารหมู่แรงงานพร้อมกัน 25 ราย

ต่อมาฝ่าย KNU ได้ออกมาแถลงยืนยันว่า KNU ยึดมั่นในหลักสากล และปฏิบัติตามกรอบการดำเนินงานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมาแล้ว (Nationwide Ceasefire Agreement — NCA) และประกาศแจ้งว่าจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว และจะแจ้งผลให้ทางการเมียนมาทราบอีกครั้ง

ระหว่างที่มีการสืบสวนข้อเท็จจริง พล.อ. จอหนี่ ผบ.สส. KNU ได้มีคำสั่งให้ KNDO ย้ายฐานปฏิบัติการออกจากฐานอุฮูคี อ.วาเล่ย์ใหม่ ไปประจำการที่ ค่ายมะเอปู่ อ.ซานหยั่วติ๊ด จ.ผาอัน รัฐกะเหรี่ยง (ด้านตรงข้าม บ้านกลมมาแนะ ม.9 ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก) แทน แต่ระหว่างที่กองบัญชาการ KNU กำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ทันแล้วเสร็จนั้น อยู่ๆ ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าให้ปลดผู้บังคับบัญชาระดับนำของหน่วย KNDO ทั้งสองคนให้ออกจากตำแหน่ง

เกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว ฝ่าย KNDO ออกมาตอบโต้ว่า พวกเขาเหล่านั้นได้แฝงตัวเป็นคนงานทำงานก่อสร้างสะพาน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นพวกทหารทำหน้าที่เฝ้าติดตามหาข่าวโดยมีการใช้โดรนขึ้นบินเพื่อสืบสภาพสถานที่ตั้งและจุดยุทธศาสตร์ของค่ายพัก KNDO และยืนยันว่าการกระทำของ ร.อ. ซอบ่าวา เป็นการปกป้องดินแดนกะเหรี่ยงจากการรุกรานของกองทัพเมียนมาซึ่งเป็นศัตรู

“เรากำลังอยู่ในสงคราม ถ้าเราถูกพักงานแล้วเราจะสู้กับศัตรูของเราอย่างไร เราเห็นว่าเขา (ฝ่ายกลาโหมของ KNU) กำลังทำงานให้ศัตรู เราไม่ยอมรับคำสั่งนี้” พล.จ. เนอดาเมียะ กล่าว

ศึกสายเลือด คนกะเหรี่ยงแย่งอำนาจกันเอง

หากมองย้อนกลับไป จะเห็นได้ว่าได้เกิดความขัดแย้งทางแนวความคิดในองค์กรระดับนำของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) มานานพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะในองค์กรระดับนำ หรือคณะกรรมการบริหารกลาง (CEC) ซึ่งปัจจุบันมี พล.อ. มูตู เซโพ เป็นประธาน KNU และมีคนสนิท คือ พล.อ. จอหนี่ ผบ.สส. KNU ซึ่งปัจจุบันทั้งสองคนนี้เป็นฝ่ายกุมอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารไว้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ตลอดห้วงเวลาที่มูตู เซโพ กุมอำนาจนำ แนวทางการปฏิบัติของเขาและทีมงานบริหารชุดนี้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า มีความพยายามจะเจรจาและปรองดองทางการเมืองการทหารกับสหภาพเมียนมาโดยตลอด โดยประกาศยึดมั่นตามกรอบการดำเนินงานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมาอย่างชัดเจน และพยายามลดภาพความขัดแย้งทางด้านการทหารกับทหารเมียนมาเพื่อให้เกิดความสงบในพื้นที่

แม้ว่าในอีกด้านหนึ่งจะเกิดเสียงนินทา วิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูว่า ผู้นำ KNU ชุดนี้ได้รับผลประโยชน์จากสิทธิพิเศษด้านสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และค่าคุ้มครองต่างๆ จำนวนมาก อิ่มหมีพีมันจนยอมขายจิตวิญญาณ และละทิ้งการต่อสู้เพื่อรวมชาติกะเหรี่ยง เพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

พล.อ. มูตู เซโพ ประธาน KNU คนปัจจุบัน

คู่ปรับอีกฝั่งหนึ่ง นำโดยนางซิโพร่า เส่ง หญิงแกร่ง อดีตรองประธาน KNU/อดีตสมาชิกสภาคองเกรส ชุดที่ 15 ที่มีแนวความคิดคัดค้านกรอบการดำเนินงานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมาอย่างชัดเจน เพราะมองว่าที่ผ่านๆ มาฝ่ายรัฐบาลเมียนมาและกองทัพไม่ได้มีความจริงใจต่อการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยแต่อย่างใด และมองว่าการลงนามหยุดยิง/การเจรจาสันติภาพที่ผ่านมานั้น เป็นการดำเนินการโดยรัฐบาลเมียนมาที่ต้องการให้ประชาคมโลกมองว่าสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมาเป็นไปตามหลักสากลเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเมียนมายังคงละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เช่นเดิม

ปัจจุบัน ฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดของนางซิโพร่า เส่ง คนสำคัญคือ พล.ท. บอจ่อแฮ รองผบ.ทสส.กกล. KNLA กองพลน้อยที่ 5 และ พล.จ. เนอดาเมียะ ผบ.กกล. KNDO ที่โดนปลดนั่นเอง

สาเหตุสำคัญของการเร่งออกคำสั่งปลด พล.จ. เนอดาเมียะ ในครั้งนี้ อาจจะเกิดจากปัจจุบันคณะกรรมการบริหารกลางชุดนี้ที่ พล.อ. มูตู เซโพ เป็นอยู่นี้ ได้หมดวาระลงแล้ว (ครบวาระมาตั้งแต่ช่วง เดือน เม.ย. 2564) และขณะนี้ใกล้ถึงเวลาที่จะมีการเลือกตั้งประธาน KNU คนใหม่ แต่ยังเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบหลายประการ และหนึ่งในนั้นคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

แต่สาเหตุลึกๆ จริงๆ แล้ว เกิดจากความขัดแย้งและยังไม่สามารถเจรจาต่อรองการขึ้นสู่อำนาจของคณะผู้บริหารชุดใหม่ ที่ยังไม่ลงตัวนั่นเอง

พล.อ. มูตู เซโพ ยังอยากเป็นผู้นำ KNU อยู่ต่อไป ขณะที่ฝ่ายนางซิโพร่า เส่ง ก็ต้องการเข้าแข่งขันชิงตำแหน่งเพื่อแย่งชิงการนำครั้งนี้ด้วย มีการเจรจาต่อรองกันภายในมายาวนานระยะหนึ่งแล้ว ด้วยการเสนอทางออกเป็นสูตรความปรองดองมากมาย เช่น จะขยับ พล.อ. จอหนี่ ผบ.สส. ของ KNU ซึ่งเป็นคนสนิทของมูตู เซโพ ขึ้นเป็นผู้นำแทน แล้วให้นางซิโพร่า เส่ง เป็นรองฯ แต่สูตรนี้ยังไม่ลงตัว ฝ่ายผู้นำของคณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันจึงต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะลดบทบาทและบารมีของฝ่ายที่สนับสนุนนางซิโพร่า เส่ง ลงให้มากที่สุด ด้วยการขีดกรอบให้ พล.ท. บอจ่อแฮ รอง ผบ.ทสส.กกล. KNLA กองพลน้อยที่ 5 ลดบทบาททางการทหารลง แล้วสั่งปลด พล.จ. เนอดาเมียะ ผบ.กกล. KNDO ในครั้งนี้

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

คำสั่งฟ้าผ่าสั่งปลด พล.จ. เนอดาเมียะ ผบ.กกล. KNDO ในครั้งนี้ ไม่ได้เกินจากการคาดการณ์ของบรรดาผู้สังเกตการณ์ที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมามากนัก เพราะเชื่อกันแต่แรกแล้วว่าจะต้องออกในรูปแบบนี้แน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้กุมอำนาจในองค์กรนำของ KNU หรือคณะกรรมการบริหารกลาง (CEC) คาดคิดไม่ถึงก็คือ การสั่งปลด พล.จ. เนอดาเมียะ ครั้งนี้ กระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก และการสนับสนุนของประชาชนชาติพันธุ์เหรี่ยงที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลกเป็นอย่างมาก กลุ่มชาติพันธุ์ “กะเหรี่ยง” จากหลายองค์กรทั้งในอเมริกา แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย พร้อมใจส่งหนังสือกดดัน KNU ให้ทบทวนคำสั่งพักงาน พล.จ. ซอ เนอดา โบเมียะ

ล่าสุด เมื่อ 12 ก.ค. 2564 องค์กรที่ใช้ชื่อว่าสภาสหชนชาติ (United Nationalities Council — UNC) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนและยืนอยู่เคียงข้างการต่อสู้ของชาติพันธุ์อิสระในพม่า ทั้งกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง คะฉิ่น ชิน มอญ ยะไข่ และไทใหญ่ ได้ออกจดหมายเปิดผนึก มีเนื้อหาคัดค้านคำสั่งที่ออกโดยคณะกรรมการกลางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งลงนามโดย พันโท ซอ โรเจอร์ ขิ่น ประธานฝ่ายกลาโหมของ KNU ที่ให้ พล.จ. ซอ เนอดา โบเมียะ ผู้บัญชาการกองทัพองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Defence Organisation — KNDO) หยุดปฏิบัติหน้าที่ และเรียกร้องให้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าวใหม่ทันที โดยให้เหตุผลว่า พล.จ. ซอ เนอดา โบเมียะ เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของชาวกะเหรี่ยงในการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์จากการกระทำอันโหดร้ายของเผด็จการทหารพม่า

แถลงการณ์ของ UNC

ในเย็นวันเดียวกัน กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า Rebuilt Kaw Thoo Lei (RKTLG) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และประเทศไทย ได้ทำจดหมายส่งถึงคณะกรรมการกลาง KNU และสำเนาส่งถึงพันโท ซอ โรเจอร์ ขิ่น ประธานฝ่ายกลาโหมของ KNU เนื้อหาของจดหมายคัดค้านคำสั่งที่ออกโดยฝ่ายกลาโหม KNU ที่สั่งพักงาน พล.จ. ซอ เนอดา โบเมียะ และ ร.อ. ซอ บ่าวา และยืนยันให้ฝ่ายกลาโหม KNU ทบทวนคำสั่งฉบับนี้เสียใหม่

เมื่อ 13 ก.ค. 2564 นายลอยพอ สุริยะบุปผา แกนนำ KTG ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU องค์กร NGO ต่างๆ ของชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม และได้ให้สัมภาษณ์สื่อสำนักข่าว KKLE ของกะเหรี่ยง KNU เผยแพร่ออกสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก ถึงรายละเอียดหนังสือและการให้สัมภาษณ์กล่าววิจารณ์คำสั่งปลดผู้นำกองกำลัง KNDO ว่าเป็นการไม่สมควร เป็นการลงโทษที่รุนแรง และนำไปสู่ความแตกแยกของกลุ่มกะเหรี่ยงเอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้เปลี่ยนท่าทีโดยทันที

แต่ไม่ว่าฝ่ายนำใน KNU ชุดปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนท่าทีตามแรงกดดันที่สั่นสะเทือนมามากน้อยแค่ไหน มาถึงวันนี้รอยร้าวแตกลึกจนเกิดเป็นศึกภายในสายเลือดเดียวกันของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ยากแก่การสมานแผล คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือทหารเมียนมา ส่วนคนที่เจ็บปวดมากที่สุดก็คือคนสายเลือดกะเหรี่ยง ที่นับคืนวันเฝ้ารอความฝันที่จะเห็นการรวมชาติของพวกเขาเกิดขึ้นซะที มาถึงวันนี้ก็ยิ่งดูเหมือนจะลางเลือนและยากขึ้นไปอีก ทั้งที่ช่วงเวลาและสถานการณ์เวลานี้ ช่างเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

นอกจากนี้ พล.ท. บอจ่อแฮ รอง ผบ.สส.กกล.กะเหรี่ยง KNU/KNLA กองพลน้อยที่ 5 (ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการทหารที่ได้รับการยอมรับสูงสุดจากชาวกะเหรี่ยง) ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ช่วงเวลาดังนี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ควรที่จะยืนหยัดที่ดำเนินการตามแนวทางของผู้นำที่ได้วางไว้ ไม่ควรที่จะยึดติดกับข้อตกลง NCA หรือข้อเรียกร้องของทหารเมียนมาที่พยายามสร้างความแตกแยกในกลุ่มกะเหรี่ยงด้วยกัน ปัจจุบันทหารเมียนมากำลังเผชิญกับศึกที่ถูกประชาชนของตนเองและกลุ่มชาติพันธ์กำลังต่อต้านอย่างหนัก จึงเป็นช่วงเวลาสมควรอย่างยิ่งที่จะต่อสู้ไปด้วยกัน เพื่ออนาคตของประชาชนชาวกะเหรี่ยงที่จะได้รับความเป็นเอกภาพ และเพื่อให้เกิดสันติสุขที่แท้จริง

แนวรบด้านตะวันตกและผลกระทบต่อไทย

กองกำลังองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) เป็นกองกำลังติดอาวุธหนึ่งในสองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ควบคู่กับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) นำโดยพล.จ. เนอดาเมียะ (บุตรชายนายพลโบเมียะ อดีตประธานาธิบดีรัฐกะเหรี่ยง KNU) เขาได้รับการยอมรับและถือเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับและได้รับความนับถือจากประชาชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจากทั่วทุกมุมโลก การสั่งปลดพล.จ. เนอดาเมียะ และคนสนิทครั้งนี้ จึงก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อผู้สนับสนุนชาวกะเหรี่ยงจากทั่วทุกมุมโลก แม้ว่าต่อมาระดับนำใน KNU จะออกมาอ้างภายหลังว่า เป็นเพียงคำสั่งปลดชั่วคราวเพื่อรอการสอบสวนเท่านั้น และอาจมีการคืนตำแหน่งให้ในภายหลัง

การที่ระดับนำของ KNU อ้างเหตุผลในการสั่งปลดมาจากเรื่องการสังหารหมู่แรงงาน 25 คนนั้น จากการวิเคราะห์แล้วไม่น่าจะใช่ประเด็นที่เป็นเหตุผลหลัก เนื่องจากการสังหารสายลับในสภาวะสงครามถือเป็นเรื่องปกติ เพราะสายลับอาจนำความเสียรุนแรงได้ เช่น การบอกพิกัดที่ตั้งในการทิ้งระเบิด หรือยิงปืนใหญ่เข้าทำลาย เป็นต้น โดย KNDO ก็ได้มีการละเว้น ผู้หญิง และเด็ก และพวกเขามองเข้าข้างตัวเองว่านี่ไม่ถือเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญในการออกคำสั่งปลดครั้งนี้จึงถูกโยงและให้น้ำหนักไปที่ การกระชับอำนาจในการเตรียมการเลือกตั้งประธาน และสมาชิกสภาคองเกรสกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งครบวาระมาตั้งแต่ช่วง เดือน เม.ย. 2564 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้ถูกเลื่อนออกไป โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้มีข่าวสารว่า พล.จ. เนอดาเมียะ ให้การสนับสนุนนางซิโพร่า เส่ง อดีตรองประธาน KNU อย่างเต็มที่ และเขาก็สะสมบารมีจนอาจเรียกเสียงสนับสนุนได้มากพอที่จะทำให้นางซิโพร่า เส่ง ซึ่งเป็นรองอยู่กลับมาชนะคู่แข่งอย่าง พล.อ. มูตู เซโพ ที่เป็นประธาน KNU ติดต่อกันมา 2 สมัยแล้ว และเป็นฝ่ายกุมอำนาจและความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ ทั้งหมดในเวลานี้

การปลด พล.จ. เนอดาเมียะ จากการเป็นผู้นำของ KNDO แม้ว่าในระยะสั้นจะยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อฝ่ายไทย แต่อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงกับทหารเมียนมา ด้านตรงข้ามชายแดนจังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีความซับซ้อนและอยู่ในสถานการณ์ที่ยุ่งยากเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เพื่อนบ้านอย่างไทยต้องแบกรับปัญหาจากการสู้รบและปัญหาผู้หลบหนีภัยการสู้รบ ที่ยากจะสิ้นสุดลงง่ายๆ ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงชายแดนและเสถียรภาพตามแนวชายแดนไทยไปอีกนาน

ดูเหมือนว่าดินแดนต้องคำสาปแห่งนี้จะยังคงนองเลือดไปอีกนานแสนนาน