ศรีนาคา เชียงแสน รายงาน
ในขณะที่กระแสการอยากย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่จำนวนมากของไทยกำลังมาแรง ถัดข้ามเส้นสมมติที่แบ่งความเป็นรัฐชาติออกไปไม่ไกลนัก เพื่อนบ้านเรากลุ่มหนึ่งกำลังพยายามและดิ้นรนอย่างหนักเพื่อจะหาทางรวมชาติของพวกเขาขึ้นมาใหม่ หลังจากต้องแตกสลายจากความเป็นชาติมานานกว่าหลายร้อยปี
ทุกอรุณรุ่งของวันใหม่ ทันทีที่นกเถื่อนร้องขับขานรับไออุ่นของแสงตะวัน คนกะเหรี่ยงในดินแดน “กอทูเล” (Kawthoolei) ทั้งชายหญิง เด็ก คนหนุ่มสาว และผู้เฒ่าผู้แก่ หยิบอาวุธของตนขึ้นมาแนบไว้ที่อกเพื่อสัมผัสถึงเลือดเนื้อและไออุ่นของเพื่อนคู่กาย ก่อนจะตรวจสอบ ทำความสะอาด และดูแลความพร้อมของมันราวกับเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชีวิตที่ขาดไม่ได้
สำหรับพวกเขา ปืนรุ่นเก่าคร่ำครึเหล่านี้อาจเป็นสมบัติมีค่าชิ้นเดียวที่สืบทอดผ่านจากบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่เป็นทั้งอาวุธในการต่อสู้กับศัตรู และเป็นเครื่องรางปกป้องชีวิต เพราะปืนเหล่านี้มีจิตวิญญาณของวีรชนนิรนามที่ล้มหายตายจากไปจากการต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดินสุดท้ายของบรรพบุรุษสิงสถิตอยู่ พร้อมที่จะปกป้องรักษาเผ่าพันธุ์และความเป็นมนุษย์ของนักรบกะเหรี่ยงเอาไว้ไม่ให้สูญสิ้นไป
คนกะเหรี่ยงในวันนี้ความฝันของพวกเขายังอีกยาวไกล ยังมิต้องกล่าวถึงประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีตามหลักสิทธิมนุษยชนใดๆ ขอแค่รอดตายจากสมรภูมิแดนเถื่อนมาได้แบบวันต่อวัน เพื่อประคับประคองความหวังของคนรุ่นลูกรุ่นหลานในการสร้างชาติของตนเองขึ้นมาใหม่ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
เผ่าพันธุ์ทรหดที่ไม่มีวันตาย
กะเหรี่ยง เป็นเผ่าพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีรายงานการศึกษายืนยันว่ากะเหรี่ยงอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน โดยอาศัยอยู่ระหว่างพรมแดนไทย-เมียนมามาประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว และยังมีหลักฐานมากมายยืนยันว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา ก่อนที่เมียนมาจะครอบครองดินแดนแถบนี้
สำหรับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (The Karen National Union) ก่อตั้งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงในเมียนมา ที่ทำการสู้รบกับรัฐบาลเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ในบริเวณอาณาเขตของพื้นที่ที่เรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า “กอทูเล” (พื้นที่จาก จ.แม่ฮ่องสอน-ตาก-กาญจนบุรี และเพชรบุรี)
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 หลังจากอังกฤษคืนเอกราชให้กับเมียนมาในสมัยนั้น ฝ่ายเคเอ็นยูได้สู้รบกับเมียนมามานานเกินกึ่งศตวรรษมาแล้ว โดยร่วมกับกองกำลังชื่อว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army — KNLA) เป็นกำลังหลัก
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการสู้รบเพื่อเอกราชของชาวกะเหรี่ยงนับเป็นการสู้รบเพื่ออิสรภาพที่ยาวนานที่สุดในโลก คือนานมากกว่า 60 ปี และจนถึงปัจจุบันก็ยังมองไม่เห็นชัยชนะและหนทางในการรวมชาติของตนเองที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก แม้ว่าในห้วงแรก KNLA จะเคยมีชัยชนะในภาคเหนือของเมียนมา และเข้ายึดครองมัณฑะเลย์ได้ แต่เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ ภายหลังยิ่งถูกล้อมปราบอย่างหนักจนปัจจุบันเหลือฐานที่มั่นที่ยังคงต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงต่อไปไม่มากนัก ส่วนใหญ่มีฐานที่มั่นอยู่ใกล้กับชายแดนไทยเท่านั้น โดยจัดตั้งกองกำลังเป็นหน่วยทหารกองโจรขนาดเล็กหลบซ่อนอยู่ตามแนวชายแดนไทย โดยใช้วิธีตั้งค่ายแบบชั่วคราวที่เคลื่อนย้ายหนีได้สะดวก มีการประทะกันประปรายโดยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
แม้กองทัพเมียนมาจะมีขีดความสามารถในทุกๆ ด้านที่จะกวาดล้างกองกำลังกะเหรี่ยงลงได้ แต่ก็จะสูญเสียกำลังพล ยุทธโปกรณ์ และงบประมาณไปมาก ซึ่งอาจทำให้กองทัพเมียนมาโดยรวมอ่อนแอลง ที่ผ่านๆ กองทัพเมียนมาจึงใช้การเจรจาทางการเมือง และสร้างสงครามตัวแทนในการจัดการกับ KNU เป็นหลัก
ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ผู้นำคนสำคัญของกะเหรี่ยงที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นที่รู้จักกันดีของนานาชาติ คือนายพลโบเมียะ โดยเขาขึ้นเป็นผู้นำ KNU ยาวนานกว่า 30 ปี และมีการประกาศตนเป็นประธานาธิบดีของชาติกะเหรี่ยง มีศูนย์บัญชาการหรือฐานที่มั่นอยู่ที่ค่ายมาเนอปลอ
ในห้วง พ.ศ. 2519-2543 อาจกล่าวได้ว่ามาเนอปลอเป็นเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง และมีความเข้มแข็งรุ่งเรื่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงสมัยใหม่ก็ว่าได้ เพราะเป็นที่รวมของสถาบันการบริหาร และหน่วยราชการต่างๆ ของรัฐกะเหรี่ยงในสมัยนั้น โดยทาง KNU ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทย (ตามนโยบายรัฐกันชน) และได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงยังสามารถเลี้ยงตนเองได้ ด้วยการอนุญาตเปิดให้มีการสัมปทานไม้ เหมืองแร่ และอัญมณีจำนวนมากในพื้นที่อิทธิพลของตน และยังควบคุมตลาดมืดและด่านค้าขายชายแดนไทย-เมียนมาได้เกือบหมด
KNU มีความเข้มแข็งมาก จนสามารถเป็นแกนนำดึงกลุ่มต่อต้านทหารเมียนมาในยุคนั้นเข้ามาร่วมลงนามใน “สัญญามาเนอปลอ” เมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 โดยมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อทำการรบกับรัฐบาลทหารเมียนมาและร่วมมือกันสร้างแนวทางสร้างระบอบประชาธิปไตย สร้างความเท่าเทียมในชาติ และร่วมกันสร้างสหพันธรัฐ ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น NCUB – National Council of the Union of Burma ที่ถือเป็นองค์กรร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดยุคนั้น นับจากได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นต้นมา ก่อนจะเกิดปัญหาความขัดแย้งภายใน และการแย่งชิงผลประโยชน์กับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ตามแนวชายแดน จนถึงขั้นเปิดศึกกันเอง ทำให้เกิดความอ่อนแอภายในกำลังชนกลุ่มน้อยที่เคยจับมือร่วมกันต่อต้านทหารเมียนมา
ย้อนไปก่อนความแตกแยกภายในไม่นาน ทหารเมียนมาทุ่มเทความพยายาทุกวิถีทางในการล้อมปราบ KNU ให้ได้ เริ่มตั้งแต่เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 ทหารเมียนมาระดมกำลังเปิดยุทธการดอยหมานอน (ถวิ่ พา วีโจ) ร่วมมือที่ก่อล้อมปราบ และโจมตีฐานที่มั่นสำคัญที่ค่ายมาเนอปลอ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนสุดท้าต้องพึ่งตำราพิชัยยุทธแต่โบราณด้วยการสร้างไส้ศึกนำผลประโยชน์เข้าไปล่อเพื่อให้เกิดความแตกแยกภายในกันเอง เช่น ส่งพระอุทุสะนะ (พระนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญที่มีบทบาทในการปลุกระดมคนออกมาต่อต้านชาวโรฮิญา) เข้าไปชักชวน หว่านล้อมผู้นำกะเหรี่ยงสายพุทธ (ทั้งสายพลเรือน และทหาร) ให้แยกตัวจาก KNU ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ จนมีการแยกตัวไปจัดตั้งกองกำลังใหม่ เป็นกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ หรือ Democratic Karen Buddhist Association — DKBA เมื่อ ธันวาคม พ.ศ. 2537 (ในระยะแรกมี พล.ท. พะโด่ มาน เย เส่ เป็นผู้นำรักษาการ )
กองกำลังกลุ่มนี้ได้รับมอบอาณาเขตพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ปกครองตนเองเป็นการแลกเปลี่ยนที่ยอมร่วมมือกับรัฐบาล กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธนี้เอง ที่มีส่วนสำคัญช่วยรัฐบาลทหารเมียนมายึดกองบัญชาการเคเอ็นยูที่ค่ายมาเนอพลอได้ เหตุผลที่กะเหรี่ยงกลุ่มนี้อ้างในการเข้ากับฝ่ายรัฐบาลคือการถูกเอาเปรียบ เหลื่อมล้ำและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกะเหรี่ยงฝ่ายเคเอ็นยูซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ และเข้าร่วมกับกองทัพเมียนมาเข้าโจมตีค่ายมาเนอปลอ จนสามารถยึดเมืองหลวง และฐานที่มันแห่งสำคัญนี้ได้เมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2538 KNU ถูกตีแตกพ่าย จนต้องย้ายศูนย์บัญชาการไปอยู่ที่ค่ายกอมูร่า ก่อนที่ทหารเมียนมา และ DKBA จะตามมาถล่มจนฐานที่มั่นแห่งนี้ต้องแตกลงอีกภายในเวลาประมาณไม่ถึงเดือนเท่านั้น (20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538)
ท่ามกลางความสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของทั้งสองฝ่าย หลังจากนั้น KNU ก็ต้องย้ายศูนย์บัญชาการมาที่พื้นที่ จ.ดูปล่าหย่า มีศูนย์บัญชาการกระจายในหลายพื้นที่ ตัวนายพลโบเมียะ ได้ลดบทบาทตัวเองลงมาเรื่อยๆ และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ในโรงพยาบาลในประเทศไทย
จนปัจจุบัน KNU มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่ค่ายเซเบทะ ตรงข้ามบ้านแม่สลิดน้อย ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และที่บ้านแม่ตะรอท่า อ.กอกาเร็ก จ.ดูปล่าหย่า (ที่ตั้งกองพลที่ 6 ) มี พล.อ. มูตู เซ พอ เป็นประธานสูงสุดของ KNU และมีนางซิปโปร่า เส่ง เป็นรองประธาน มีพลเอกจอนนิ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ตามทำเนียบกำลังรบ มีข้อมูลเบื้องต้นว่า มี 6 บก.ยุทธการ 17 กองพัน และ 2 กองพันรักษาความปลอดภัย โดยมีกองพันรบที่โดดเด่นและเป็นข่าวดังตามหน้าสื่อมาตลอดคือ กองพลน้อยที่ 5 ที่บ้านเดปุนุ เมือง มือตรอ (กองพลน้อยที่ 5 ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ) มี พล.อ. บอจ่อแฮ เป็นผู้บัญชาการ และด้วยอุดมการรักชาติและบุคลิกที่โด่ดเด่นทำให้เขากลายเป็นที่จับตาของประชาคมโลกในฐานะนายทหารกะเหรี่ยงผู้เข้มแข็ง (จบหลักสูตรคอมานโดจากประเทศอังกฤษ) ที่หาญกล้าเปิดยุทธการเข้าโจมตีช่วงชิงฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญริมน้ำสาละวินในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองกำลังย่อยอื่นๆ เช่น องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Defense Organization — KNDO) ปัจจุบันมี พล.ต. เนอดา โบ เมียะ (บุตรชายของ นายพล โบ เมียะ อดีตผู้นำสูงสุด KNU ) เป็นกองกำลังติดอาวุธอีกกลุ่มหนึ่งของกะเหรี่ยง KNU ควบคู่กับ KNLA ซึ่งเริ่มต่อสู้กับรัฐบาลตั้งแต่ปี 2490 ในฐานะกองกำลังติดอาวุธของกะเหรี่ยง KNU ก่อนที่จะมีการตั้ง KNLA เป็นกองกำลังติดอาวุธอย่างเป็นทางการที่เข้าร่วมสู้รบเคียงข้าง KNLA มาตลอดเช่นกัน
กะเหรี่ยงพุทธ-กะเหรี่ยงคริสต์ “แผลใจ”อุปสรรคของการรวมชาติ
กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ (DKBA) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ 2538 โดยกองทัพเมียนมาโน้มน้าวให้พระภิกษุอุทูสะนะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงสายพุทธให้เข้ามาเจรจาทางลับ หว่านล้อมให้ผู้นำพลเรือน และฝ่ายกุมกำลังของชาวกะเหรี่ยงสายที่นับถือศาสนาพุทธ เพื่อให้แยกตัวออกมาจากกะเหรี่ยง KNU
เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนาโดยมองว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบ เหลื่อมล้ำ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากชาวกะเหรี่ยง KNU ที่นับถือศาสนาคริสต์ ผ่านไปสิบห้าปี DKBA ก็ถูกแปลงรูปร่างไปเป็นกองกำลังป้องกันชายแดน BGF ปี พ.ศ. 2554 มีการจัดการรูปแบบของทหารชัดเจนขึ้น โดยตั้ง กองพัน ขึ้น 12 กองพัน เริ่มแต่ 1011-1022 มี 4 กรม ทำหน้าที่เป็นกองกำลังพิทักษ์ถิ่น ขึ้นการบังคับบัญชากับกองทัพเมียนมา
แต่ปัจจุบันมีกรม BGF ที่มีอิทธิพลค่อนข้างมากในพื้นที่ตลอดแนวชายแดนไทยด้านตรงข้าม จ.ตาก คือ BGF กรม 2 ที่มี พ.ต. โม้โต่ง เป็น ผบ.กรม และ BGF กรม 3 โดยมี พ.อ. ซอชิดตู่ เป็น ผบ.กรม 3 (คนไทยเรียก หม่องชิดตู) พ.ต. โม้โต่ง เป็น ผบ.กรม 2 โดยมีการแบ่งพื้นที่แบบง่ายๆ ด้านเหนือเมียวดี กรม 3 เป็นผู้ควบคุม ส่วนด้านใต้เมียวดี ให้กรม 2 เป็นผู้ควบคุม โดยได้รับเอกสิทธิ์ในการทำมาหากินในพื้นที่ตามแนวชายแดนมาตลอด 25 ปี จนทำให้ชื่อชิดตู่กับโม้โต่ง เป็นที่รู้จักของนักธุรกิจทุกรูปแบบ
ต่อมาทั้งสองคนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลและมากบารมี เนื่องมาจากควบคุมธุรกิจสีเทาตามแนวชายแดนด้านตรงข้าม จ.ตาก ตั้งแต่พื้นที่ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.พบพระ โดยเฉพาะฝั่งเมียวดี ตั้งแต่ท่าข้ามขนส่งสินค้ากว่ายี่สิบแห่ง บ่อนคาสิโนนับสิบๆ แห่ง หรือการดูแลโครงการหมื่นล้านในการสร้างเมืองใหม่ของจีน ที่ส่วยก๊กโก่ (ซึ่งตามแผนงานจะมีสนามบินแห่งใหม่เป็นของตัวเอง และมีคอมเพล็กซ์ย่อยๆ ภายในจำนวนมาก โดยมีกลุ่มทุนใหญ่จากจีน Yatai มาเป็นโต้โผ้ใหญ่ในการระดมทุนและดำเนินการ ก่อนหน้านี้เมื่อได้อำนาจจากทหารเมียนมาใหม่ๆ ก็เริ่มต้นจากควบคุมธุรกิจไม้ พัฒนามาเป็นม้า และจากม้าก็ยกระดับมาเป็นบ่อน เป็นคอมเพล็กซ์ ไม่ต้องนับธุรกิจเถื่อนๆ เทาๆ เช่น สินค้าหนีภาษี (โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ เบียร์ ไวน์) และแม้กระทั่งรถยนต์มือสองจากญี่ปุ่น ที่ผ่านออกทางช่องทางนี้นับแสนคัน
ยี่สิบกว่าปีของผู้นำ BGF ทำให้พวกเขาแปรสภาพไปเป็น “กองทัพธุรกิจ” โดยปริยาย แน่นอนว่าผลจากการเลิกทำสงครามสู้รบทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่เขตอิทธิพลของ BGF สะดวกสบาย มีชีวิตที่สงบสุข อิ่มปากอิ่มท้องมากกว่าชาวบ้านมวลชนกะเหรี่ยง KNU ตามที่เราพบเห็นในพื้นที่ชายขอบ แต่ทั้งหมดนี้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการรวมชาติตามความฝันของบรรพชนกะเหรี่ยงก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน
เมื่อรัฐบาลซูจีเข้ามาบริหารประเทศห้าปีที่ผ่านมา ต้องใช้เงินพัฒนาประเทศ แต่การเก็บภาษีจากนำเข้าส่งออกชายแดนนั้นได้น้อยมาก เพราะพื้นที่เป็นเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อย ดังนั้นนับจากต้นปี 2563 เป็นต้นมา ทางการเมียนมาพยายามจะเข้ามาจัดการระบบการค้าชายแดนเสียใหม่ ให้เข้าสู่ระบบที่ทางการสามารถควบคุมได้มากกว่าที่เป็นมา แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่คุมพื้นที่ด้านนี้ถูกบีบให้หาทางปลดสองนายพล BGF ออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางจัดระบบระเบียบชายแดนใหม่
โดยเมื่อ 6 มกราคม 2564 กองทัพได้กดดันให้ บุคคลสำคัญผู้ทรงอิทธิพล 2 คน (พ.อ. หม่องชิตตู่ และ พ.ต. โมโต่ง) ของ BGF ลาออกจากการเป็นทหาร โดยเมื่อระหว่างวันที่ 14-15 มกราคม 2564 พ.อ. หม่องชิตตู่ ได้เข้าเจรจากับผู้แทนกองทัพเมียนมาโดยได้ยื่นใบลาออกพร้อมกับนายทหารหลักของ BGF จำนวน 90 นาย และจะกลับไปเข้ากับกลุ่ม DKBA ดังเดิม ส่งผลให้กองทัพเมียนมาสั่งระงับการลาออกของกลุ่มนายทหาร BGF และให้ดำรงตำแหน่งตามเดิม ส่วน พ.ต. โมโต่ง ที่มีการยื่นใบลาออกไปก่อนหน้านี้ เมื่อ 9 มกราคม 2564
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทางกองทัพเมียนมาไม่อยากให้ BGF กลับเข้าไปร่วมกับ DKBA เพราะหากกลับเข้าไปแล้วอาจมีการไปจับมือกับทาง KNU อีกก็จะไม่ส่งผลดีกับกองทัพเมียนมา โดยผู้นำ BGF เองก็เล่นเกมอำนาจได้เหนือชั้นเพราะไม่อยากเสียธุรกิจและทรัพย์สินที่มีมูลค่ากว่าห้าร้อยล้านบาทไปง่ายๆ
ระหว่างที่เรื่องราวกระชับพื้นที่ชายแดนดำเนินไปในทิศในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่ทันสำเร็จก็เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้งเสียก่อน จนนำมาสู่เหตุการณ์เปิดศึกสู้รบระหว่าง KNU กับทหารเมียนมา ตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นมา และแนวโน้มที่เห็นคือฝ่ายทหารเมียนมาตกอยู่ในวงล้อมและเป็นฝ่ายเสียเปรียบ KNU ที่ชำนาญการรบแบบกองโจรมากกว่า
จนเกิดเหตุการณ์ KNU สามารถเข้ายึดฐานที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของฝ่ายเมียนมาได้ ทำให้เกิดการสูญเสียมากมายต่อฝ่ายเมียนมา ในที่สุดกองทัพเมียนมาก็หันมาใช้บริการกองกำลัง BGF คือให้กะเหรี่ยงรบกันเอง ฆ่ากันเอง เหมือนเดิม แล้วอย่างนี้จะรวมชาติได้อย่างไรกันหรือ
ชาติกับผลประโยชน์จะเลือกอะไร
ก่อนหน้านี้ พ.อ. เกลอ โด่ โฆษกกองพลที่ 5 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ให้สัมภาษณ์แก่ศูนย์ข้อมูลกะเหรี่ยง KIC ว่า “ทุกครั้งที่กองทัพเมียนมาเกิดความสูญเสีย พวกเขาจะไปกระทำลงกับประชาชน เพราะทหารเมียนมาไม่สามารถที่จะเอาคืนกับกองกำลัง KNU-KNLA ได้ เป็นวิธีการที่กองทัพเผด็จการเมียนมาใช้เพื่อให้ประชาชนกะเหรี่ยงหันกลับมากดดันทหารกะเหรี่ยงไม่ให้ทำการโจมตีกองทัพเมียนมาอีก ตอนนี้กองทัพเมียนมามีกำลังไม่เพียงพอ จึงขอกำลังสนับสนุนจากกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF เพราะกองทัพเมียนมาต้องการส่งเสบียง กำลังบำรุง จากพื้นที่เมืองกะมาหม่อง มายังเมืองผาปูน รวมถึงส่งเสบียงบำรุงมายังค่ายทหารเมียนมาต่างๆ ในเขตพื้นที่ชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน BGF รับเงินเดือนจากกองทัพเมียนมา เมื่อมีคำสั่งก็ต้องทำตาม”
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า BGF ส่งกำลังเข้ามาเพิ่มรวมทั้งหมด 550 นาย ซึ่งภารกิจของ BGF คือส่งเสบียงให้ทหารเมียนมา ขณะนี้ BGF บางส่วนได้เข้าไปร่วมปฏิบัติการกับกองทัพเมียนมาในพื้นที่กองพลที่ 1 ของ KNU ที่ผ่านมาการปฏิบัติการของ BGF แทบไม่ต่างจากกองทัพเมียนมา คือแทบไม่สนใจความเป็น “คนกะเหรี่ยง” อีกต่อไป พวกเขาเข้าไปปล้นสะดม แย่งชิงเอาอาหารของชาวบ้าน ยิงปืนในชุมชน และสถานการณ์ล่าสุดคือ กองทัพเมียนมาตัดสินใจออกคำสั่งใช้กองกำลัง BGF เข้ายึดคืนค่ายและฐานทหารเมียนมาทั้งหมดที่ถูก KNLA โจมตีและยึดไปให้กลับคืนมาทั้งหมด
ศึกในรอบนี้คือ คนกะเหรี่ยงต้องหันอาวุธเข้าประหัดประหารกันเอง โดยมีข้ออ้างดั้งเดิมของบรรดาแกนนำว่าเกิดจากความเป็นพุทธ ความเป็นคริสต์ แต่แท้จริงแล้วมันคือกิเลสที่มีผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวล่อใจ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ไม่มีวันที่ความฝันในการรวมชาติกะเหรี่ยงจะบรรลุได้
พล.อ. บอจ่อแฮ ผบ.พลน้อยที่ 5 กล่าวเรียกร้องไปถึง BGF ว่า “อยากจะถามว่า กองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ที่จะเข้ามาเปิดศึกในพื้นที่กองพลที่ 5 เหล่านี้ เคยคิดและรู้สึกหรือไม่ว่าพวกเขาคือคนกะเหรี่ยง เคยรู้สึกหรือไม่ว่านี้คือ รัฐกะเหรี่ยง แผ่นดินของคนกะเหรี่ยง แน่นอนว่าอาจมีบ้างที่ชนชาติพันธ์ุอื่นอยู่ร่วมในกองกำลัง รวมถึงทหารเมียนมาด้วย แต่พวกเราเข้าใจว่ากองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงได้รับการจัดตั้งและรวบรวมโดยคนกะเหรี่ยง ผมอยากจะบอกว่า พวกเราคนกะเหรี่ยงด้วยกันต้องมาเผชิญหน้ากัน รบฆ่าฟันกันเองด้วยความรุนแรง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่เมื่อพวกเขารับคำสั่งจากเผด็จการทหารเมียนมา มาทำร้ายประชาชนของเรา ลุกล้ำแผ่นดินของเรา เราคงอยู่เฉยไม่ได้ ในฐานะที่เรามีกำลังพล เรามีอาวุธอยู่ในมือ ผมอยากจะบอกเพียงว่า หากพวกเขารับคำสั่งและทำตามเผด็จการทหารเมียนมา ทำร้ายประชาชน เราทุกคนรู้ดีว่าต้องทำอย่างไร”
แล้วบทบาทของไทยอยู่ที่ไหน
เชื่อว่าในระยะเวลาต่อจากนี้การสู้รบระหว่าง KNU กับทหารเมียนมายังต้องดำเนินต่อไปอีกนาน เนื่องจากทาง KNU ตั้งเป้าหมายจะกวาดล้างกองกำลังทหารเมียนมาที่เข้ามาตั้งฐานในพื้นที่อิทธิพลของตนออกไปให้หมด (จากข้อมูลปัจจุบัน ทราบว่ามีกองกำลังทหารเมียนมาเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ในพื้นที่อิทธิพลของ KNU จำนวนมากถึง 82 ฐาน ซึ่งแน่นอนว่าทางกองทัพเมียนมาไม่มีวันยอมเสียฐานที่มั่นของตนแม้แต่แห่งเดียว
ตามยุทวิธีการรบแล้ว ทางกองทัพเมียนมาเลือกที่จะตอบโต้การเข้าโจมตีของ KNU อย่างทันควัน ด้วยการใช้พลานุภาพของกองกำลังทางอากาศที่เหนือกว่า และ KNU ไม่สามารถจะตอบโต้ได้เลย เพราะทหารส่วนใหญ่มีเพียงอาวุธประจำกาย ทำได้เพียงการรบแบบกองโจรเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การระดมโจมตีและทิ้งระเบิดของกองทัพเมียนมาก็ไม่สามารถเข้ายึดครองพื้นที่ยุทธศาสตร์จริงๆ คืนมาได้ ต้องใช้กำลังทหารราบ คือทหารเมียนมาและ BGF เข้ากวาดล้างอีกทีหนึ่ง
บทบาทของฝ่ายไทยในห้วงเดือนเศษๆ ที่ผ่านมา ทำได้เพียงการระมัดระวังชายแดน ไม่ให้มีการล่วงล้ำเข้ามา และอำนวยความสะดวกในการอพยพพลเรือนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบไปยังพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งพยายามจัดระบบ อำนวยความสะดวก (แบบจำกัด) ให้กับกลุ่มชาวบ้านที่อพยพหนีภัยเข้ามา (ทางราชการเรียกพวกเขาว่า “กลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.)”
ทั้งนี้มีนโยบายที่ชัดเจน จากระดับสูงของไทยว่า ในดำเนินการนำผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา พักรอในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว (พื้นที่แรกรับ) ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของทางทหาร บริเวณชายแดน โดยมีการคัดกรองโควิด-19 และแยกพื้นที่กรณีมีผู้ติดเชื้อตามมาตรการสาธารณสุขต่อไป และในส่วนกระบวนการทางสาธารณสุขอื่นๆ ได้มีมาตรการในการเตรียมความพร้อมรองรับไว้ครบถ้วนแล้วตามหลักมนุษยธรรม
หากเกิดกรณีการสู้รบมีความรุนแรงและยืดเยื้อมีแผนดำเนินการเคลื่อนย้ายผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา เข้าไปพักรอในพื้นที่พักรอที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งห่างจากชายแดน ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยจะดูแลตามหลักมนุษยธรรม (อาหาร, น้ำ, ยารักษาโรค) โดยมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรการกุศลเอกชนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนช่วยเหลือ และยังไม่มีประกาศรับบริจาคแต่อย่างใด
การช่วยเหลือราษฎรไทยที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้นอยู่ในความดูแลช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ หากเกินขีดความสามารถจะได้ประกาศขอรับบริจาคต่อไปและหากมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาหลบหนีข้ามฝั่งมายังฝั่งไทย ในเบื้องต้นจะกำกับดูแลโดยฝ่ายทหาร หากเกินขีดความสามารถจะประสานจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อประกาศขอรับบริจาคช่วยเหลือต่อไป
สำคัญที่สุดคือแนวนโยบายแห่งรัฐต่อสถานการณ์ครั้งนี้ ประเทศไทยไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มุ่งเน้นให้ประชาชนชาวไทย ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ ที่เกิดเหตุการณ์ได้รับความปลอดภัยสูงสุดและทั้งนี้จะดูแลช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย อย่างเท่าเทียมกัน เหล่านี้….ดูช่างเป็นคำตอบที่โลกสวยเหลือเกินสำหรับพี่ไทยเรา
ขณะที่กำลังเขียนรายงานฉบับนี้ ในพื้นที่กำลังมีฝนตกลงมาอย่างหนัก และทราบว่ากำลังมีชาวบ้าน ผู้หญิง เด็ก คนชรา รวมไปถึงเด็กทารกจำนวนมาก เลือกจะอพยพหลบซ่อนภัยสงครามอยู่ตามป่าเขา อาศัยเพิงพักที่สร้างขึ้นแบบง่ายๆ พอมีที่ซุกหัวนอนหลบแดดหลบฝน พวกเขากำลังต้องเผชิญกับความอดอยาก หิวโหย และความหนาวเหน็บ พวกเขายังไม่ไม่อยากหนีข้ามมาฝั่งประเทศไทย เพราะหลายครั้งที่ผ่านมาพวกเขาพบว่ามิตรที่แสนดีเปลี่ยนไป ยังไม่ทันได้ตั้งหม้อก่อไฟหุงข้าว พวกเขาก็ถูกพลักดันให้กลับออกไปจากชายแดนไทยเสียแล้ว
…ภาพของเพื่อนมนุษย์ชาวกะเหรี่ยงลอยอยู่ในมโนสำนึกของผม ในขณะที่ทวิตเตอร์ในมือถือของผม มีแต่ข่าวคนหนุ่มสาวไทยรุ่นใหม่ กำลังตั้งแฮชแท็กขอย้ายประเทศ….