ThaiPublica > สู่อาเซียน > เจาะลึก ค่ายฝึกกองกำลังพิทักษ์ประชาชน: PDF เมียนมา

เจาะลึก ค่ายฝึกกองกำลังพิทักษ์ประชาชน: PDF เมียนมา

11 มิถุนายน 2021


ศรีนาคา เชียงแสน

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ The People’s Defense Froce — PDF ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/voathai/posts/5743915918982028

ยิ้มกลางสายฝน

สายฝนพรั่งพรูตลอดแนวเขาชายแดนไทยเมียนมา ไม้ใหญ่เริงร่า ทุ่งหญ้าขจี ลำธารหลากร้อยสายที่เคยแห้งขอดหลับใหลกลับมามีชีวิตอีกครั้ง พร้อมๆ กับช่วยเติมเติมพลังให้กับสรรพชีวิต ท่ามกลางสภาพป่าดิบชื้นที่แสนโรแมนติก แต่แท้จริงแล้วชีวิตที่นี่ไม่ได้ง่ายนัก วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า พวกเขาถูกปลุกด้วยเสียงนกหวีด เพื่อเข้าสู่สนามฝึก ท่ามกลางแสงแดดร้อนระอุสลับกับสายฝนกระหน่ำของฤดูมรสสุม เพื่อสร้างความพร้อมทางกายและความเข้มแข็งในจิตใจ “เหนื่อยในสนามฝึก ดีกว่าถูกฆ่าตายในสนามรบ” พวกเขาเลือกแล้วที่จะทิ้งชีวิตในเมืองอันสุขสบาย หันมาจับอาวุธเพื่อสู่กับเผด็จการทหารเมียนมา

นี่คือคนหนุ่มสาวแห่งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ The People’s Defense Froce (PDF)

กองกำลังน้องใหม่ของโลก ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลเงาของเมียนมา หรือรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (The National Unity Governmemt — NUG) โดยมีการประกาศจัดตั้งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ก่อนจะประกาศตัวอย่างเป็นทางการด้วยการเผยแพร่ภาพการสวนสนามของกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เข้ารับการฝึกทหารเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

จากการติดตามข่าวสารการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชนกลุ่มนี้ พบว่าเริ่มมีความเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรมชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2564 เริ่มแรกมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกองกำลังเอกภาพ หรือ Unit Defence Force (UDF) แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาตัวตนชัดเจนขึ้นกลายมาเป็น PDF ในเวลานี้

สัญลักษณ์ของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF

กำลังพลเหล่านี้ส่วนใหญ่คือคนหนุ่มสาว ทั้งชายหญิงชาวเมียนมาที่ออกมาเคลื่อนไหวแบบสงบ สันติ ตามแนวอารยขัดขืน หรือ CDM ในห้วงแรกๆ หลังการรัฐประหารใหม่ๆ จากการสั่งให้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดรุนแรงจนผู้ประท้วงบาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ต้องเปลี่ยนความคิด เพราะสันติอหิงสาอย่างเดียวคงไม่สามารถเอาชนะระเบิดและกระสุนปืนของฝ่ายทหารได้ จึงเกิดขบวนการใต้ดินชักชวนกันเข้าไปฝึกเป็นทหารกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ ตั้งแต่กองทัพเอกราชคะฉิ่น และกองทัพสหภาพกะเหรี่ยง รวมทั้งเข้าฝึกกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่อยากแสดงตัวเพราะไม่อยากเสียบทบาททางการเมือง

คนหนุ่มสาวเหล่านี้ อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 18 ถึง 40 ปี เรียกว่ามีตั้งแต่คนหนุ่มถึงคนวัยฉกรรจ์ พวกเขาทั้งหญิงชายมาจากหลากหลายสถานะ ต่างชนชั้นในสังคม ตั้งแต่นักเรียน นิสิต นักศึกษา อดีตครู หมอ พยาบาล ดารา นางแบบ คนดังในสังคม ยันไปถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานพลเรือนของรัฐบางส่วน

พวกเขาทยอยหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านการจัดตั้งและประสานงานของเครือข่ายใต้ดินที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อนำพาเขาสู่สนามฝึกในพื้นที่ป่าเขา เขตอิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อย โดยมีเป้าหมายเดียวคือ การต่อสู้เพื่อประชาชนและโค่นล้มเผด็จการทหาร

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ The People’s Defense Froce — PDF ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/pdf.army.news.page/

เจาะลึกค่ายฝึกในพื้นที่ป่าเขา

จากการตรวจสอบข่าวสารเบื้องต้น ทราบว่าฐานหรือค่ายฝึกที่รับตัวเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้เข้าไปฝึกมีหลายที่มาก ส่วนใหญ่จะกระจายตัวเป็นชุดๆ ชุดละ 30-50 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (The Karen National Union) กลุ่มกองทัพอิสระภาพคะฉิ่น (Kachin Independent Army — KIA) และ กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army — SSA) หนึ่งในค่ายฝึกหลายๆ ที่แน่ชัดแล้ว คือ ฐานอุฮูคี พิกัด (MU….ขอสงวน) ในเขตพื้นที่ อ.วาเลย์ใหม่ จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามพื้นที่ อ.พบพระ จ.ตาก ของไทย

ฐานอุฮูคีแห่งนี้ เป็นฐานที่มั่นสำคัญของหน่วย องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Defense Organization — KNDO) ปัจจุบันมี พล.ต. เนอดา โบ เมียะ (บุตรชายของ นายพล โบ เมียะ อดีตผู้นำสูงสุด KNU ) ที่สังกัดกองกำลังกองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (The Karen National Union)

ด้วยฐานที่มั่นแห่งนี้มีทำเลที่มั่นตั้งอยู่ติดชายแดนไทย มีช่องทางผ่านเข้าออกบริเวณช่องทางธรรมชาติน้ำดั้น พื้นที่บ้านรวมไทยพัฒนา ม.14 ต.รวมไทยพัฒนา อ.พบพระ จ.ตาก จะมีความสะดวกและมีความพร้อมในด้านปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ดีกว่าฐานที่มั่นอื่นๆ โดยเฉพาะเป็นฐานเบื้องต้นในการรับเครื่องอุปโภค บริโภค ยุทธปัจจัย รวมถึงอาวุธ ที่ถูกลักลอบลำเลียงผ่านจากไทยเข้าไป และกระจายผ่านต่อไปยังกองกำลังในเครือข่ายของตน

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pdf.army.news.page/

หลักสูตรการฝึกกองกำลังรุ่นใหม่

ค่ายฝึกกองกำลังใหม่เหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการทหาร เริ่มจากการคัดเลือกบุคคลที่ผ่านการคัดกรอง โดยฝ่ายจัดตั้งในเมืองมาแล้วระดับหนึ่ง (เพื่อคัดกรองสายลับของรัฐบาลแทรกซึมเข้ามา) หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการปลูกฝังอุดมการ์สหพันธรัฐ และต่อต้านเผด็จการทหาร พร้อมๆ กับการปรับพื้นฐานด้านร่างกาย เพื่อเตรียมความพร้อมในการฝึกยุทธวิธีทางการทหาร

หลังจากนั้นถึงจะเริ่มเข้าสู่การฝึกท่ามือเปล่า ท่าบุคคลประกอบอาวุธ การซุ่มโจมตี การหลบหลีกหนี การเอาตัวรอดในสถานการณ์พิเศษ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ยุทธวิธีโจมตีแบบกองโจรในเมืองและในป่า การทำงานมวลชน และการรวบรวมข่าวสารทางลับ เป็นต้น

ในแต่ละหลักสูตรจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน หรือประมาณ 2 เดือน ผู้เข้ารับการฝึก 30-50 คน ต่อชุดต่อรุ่น ปัจจุบันฝึกไปแล้วประมาณ 4 รุ่น (ในแต่ละรุ่นเข้าฝึกในเวลาไล่เลี่ยกัน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา) โดยแต่ละรุ่นแต่ละชุดที่เข้ารับการฝึกจะมีชุดครูฝึกประจำชุด ทำหน้าที่ประเมินผลการฝึก และคัดเลือกบุคคลที่มีความชำนาญ หรือความถนัดพิเศษ เพื่อเลือกไปทำหน้าที่เฉพาะด้านนั้นๆ เช่น ทำหน้าที่ด้านการประสานงาน ทำหน้าที่ด้านการก่อวินาศกรรม หรือทำหน้าที่ด้านการรวบรวมข่าวสารฝ่ายรัฐบาลทหาร เพื่อไปเสริมกองกำลัง PDF ที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งวางเครือข่ายไว้ในแต่ละพื้นที่ไว้แล้ว

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/pdf.army.news.page/

ในระยะแรกๆ กองกำลังฝึกใหม่เหล่านี้อาจยังไม่มีศักยภาพและขีดความสามารถในการต่อกรกับกองกำลังทหาร ตำรวจ ของทางการเมียนมาได้ แต่ในระยะยาวหากพวกเขายังยึดมั่นต่อสู้ตามอุดมการณ์ที่ต้องการต่อต้านเผด็จการทหารและนำมาซึ่งประชาธิปไตย ก็เป็นไปได้ว่าจะสร้างความปั่นป่วนและบั่นทอนศักยภาพของทหารเมียนมาได้เช่นกัน

แหล่งที่มาของอาวุธ

ที่มาของอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ของกองกำลังจัดตั้งใหม่ ยังต้องอาศัยศักยภาพในการจัดหาและสนับสนุนผ่านทางกองกำลังชนกลุ่มน้อยไปก่อน การดำรงอยู่ของกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียมา มายาวนาน แสดงว่าองค์กรของพวกเขาไม่ได้ไร้เดียงสา หรือเป็นอิสระเกิดขึ้นลอยๆ ตามโชคชะตาพาไป ตรงข้าม องค์กรของพวกเขาเต็มไปด้วยเครือข่าย และการจัดตั้งที่ซับซ้อน ทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อทำหน้าที่หล่อเลี้ยง สนับสนุนกองกำลังเหล่านี้

ในฉากหน้าเรามักจะได้ยินว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อยเหล่านี้อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากคนงานที่เข้ามาขายแรงงานในไทย แต่นั่นก็แค่ภาพลวงตา เพราะลำพังเงินบริจาคจากบรรดาแรงงานไม่น่าจะเพียงพอ กว่าจะรวมเงินสั่งซื้ออาวุธได้สักกระบอกคงล่มสลายกันพอดี แต่ข้อเท็จจริงมีความซับซ้อนมากกว่านั้นหลายเท่า เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บภาษีจากพื้นที่เขตอิทธิพลของ โดยเฉพาะจากธุรกิจสีเทาทั้งหลาย รวมทั้งการแอบสนับสนุนจากประเทศที่สาม

จากการติดตามข่าวสารมานาน พบว่าอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ส่งผ่านโดยอาศัยเครือข่ายเดิมของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารอยู่แล้ว โดยเชื่อว่าอาวุธบางส่วนมาจากการจัดหาผ่านบรรดาพ่อค้าอาวุธในไทย ทั้งที่สั่งผ่านจากชายแดนด้านกัมพูชา และบางส่วนผ่านจากประเทศที่สามผ่านเข้าไทยโดยตรง ตามเส้นทางใต้ดินที่รับรู้กันดีของกลุ่มพ่อค้าที่ธุรกิจชายแดนสีเทาๆ อาวุธที่นิยมสั่งกันมากในปัจจุบันคือ ปืน M16 และปืนพกสั้น Glock มีการสั่งกันครั้งละนับ 100 กระบอก การโอนเงินผ่านบัญชีธุรกิจที่เปิดไว้บังหน้า และมีการจ่ายมัดจำบางส่วน และจ่ายเต็มเมื่ออาวุธเดินทางถึงมือผู้สั่ง

หนึ่งในหลายๆ เครือข่ายคือ เครือข่ายอาวุธของ แม่เลี้ยง “บ ป” ซึ่งเป็นนายหน้าค้าอาวุธที่พำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ ล่าสุดมีการสั่งซื้ออาวุธผ่านผู้ประสานงานของ KNU ที่ชื่อ “ล บ” มีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย ในนามบริษัทนิติบุคคลแห่งหนึ่งที่ชื่อ “บจก. ล ต” โอนเข้าบัญชีของ แม่เลี้ยง “บ ป” ทราบว่าเป็นเงินมัดจำประมาณ 1.2 ล้านบาท เพื่อสั่งซื้ออาวุธ M16 100 กระบอก และปืนพก Glock อีกประมาณ 50 กระบอก จากราคารวมของอาวุธลอตนี้ที่ตกลงไว้ประมาณ 4 ล้านบาท

ในระยะหลังเริ่มปรากฏข่าวสารทั้งข้อมูลและภาพเคลื่อนไหวว่ามีกองกำลังพิเศษจากต่างชาติโพ้นทะเล พร้อมอาวุธและเครื่องมือที่ทันสมัย เข้าไปทำหน้าที่ฝึกให้กับกองกำลังของ KNLA แม้ว่าจะยังไม่สามารถพิสูจน์วัน เวลา สถานที่ได้ แต่พิจารณาจากสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบต่างๆ เชื่อได้ว่าเป็นเหตุการณ์ใหม่ที่พึ่งเกิดไม่นานนัก

เปิดตัวด้วยเสียงระเบิดกึกก้องเมือง

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เกิดเสียงระเบิดแสวงเครื่องตามเมืองหลักๆ และตามย่านเศรษฐกิจสำคัญๆ เพื่อประกาศตัวตนของกลุ่มทหารประชาชนรุ่นแรกๆ ที่ผ่านการฝึกออกมา การลอบวางระเบิดอาจส่งผลต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่พวกเขาเลือกวิธีเปิดตัวด้วยการวางระเบิด เพื่อตอกย้ำว่ารัฐบาลทหารจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้อีกต่อไป

เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของทหารที่ต้องเอาชีวิตตัวเองและผู้บริสุทธิ์เป็นเดิมพัน

ตามมาติดๆ ด้วยการสนธิกำลังเข้าร่วมกับกองกำลังหลักของกลุ่มติดอาวุธ เข้าทำการโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมา จนนำไปสู่ความสูญเสียของฝ่ายทางการจำนวนมาก เช่น เมื่อ 22 พ.ค. 2564 PDF เข้าโจมตีด่านตรวจตำรวจในเมือง DEmawso รัฐคะยา, 23 พ.ค. 2564 PDF ร่วมกับ KAI เข้ายึดสถานีตำรวจ Moebye รัฐฉาน, 31 พ.ค. 2564 PDF ได้บุกโจมตีฐานที่มั่นทหารเมียนมาที่บ้านดอหง่าคา เมืองดีมอโซว์ รัฐคะยา การสู้รบติดพันจนทหารเมียนมา ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ MI 35 จำนวน 2 ลำเข้าปฏิบัติการ ตามด้วยเมื่อ 2 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา PDF ร่วมกับกองกำลังกระเหรี่ยงพุทธ DKBA กลุ่มของ พล.ต. จ่อแซด เปิดศึกปะทะกับกองกำลังทหารเมียนมา และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ที่บ้านปะลูโพ จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง จนนำสู่คลื่นผู้อพยพหนี้ภัยการสู้รบกลุ่มใหญ่

ทาร์ เท็ต เท็ต อดีตตัวแทนนางงามเมียนมา วัย 32 ปี

สู้เพื่อความหวัง

ผู้เขียนประทับใจการให้สัมภาษณ์ของ ทาร์ เท็ต เท็ต อดีตตัวแทนนางงามเมียนมา วัย 32 ปี (เข้าประกวดเวทีมิสแกรนด์อินเตอร์เนชันแนล 2013) ซึ่งให้สัมภาณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 พร้อมโพสต์ภาพถ่ายของเธอสวมชุดทหารสีดำพร้อมกับปืนไรเฟิลจู่โจมลงในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ พร้อมกับข้อความประกอบว่า

“ถึงเวลาต้องสู้แล้ว ไม่ว่าคุณจะถืออาวุธ, ปากกา, คีย์บอร์ด หรือบริจาคเงินให้กับขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตย ทุกคนต้องทำในส่วนของตนเพื่อให้การปฏิวัติสำเร็จ”

ทาร์ เท็ต เท็ต อาจจะไม่ต้องออกมาเป็นนักรบ จับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐเมียนมาด้วยตนเองก็ได้ แค่เธอออกมาทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ก็สามารถสร้างและกระตุ้นให้คนเมียนมารุ่นใหม่จำนวนมากหันมาสนับสนุน และเข้าร่วมเป็นกองกำลัง PDF จับอาวุธเข้าต่อต้านทหารเมียนมาได้แล้ว

แน่นอนการต่อสู้ครั้งนี้คงยาวนาน และไม่ว่าฝ่ายไหนจะแพ้หรือชนะ มันก็คือการสูญเสียเลือดเนื้อของชาวเมียนมาเพื่อนร่วมชาติด้วยกันทั้งสิ้น ทำอย่างไรจะหันหน้าเข้าสู่กระบวนการเจรจาโดยสันติ หันหน้าเข้าหากัน ยอมรับความเป็นจริงของโลกและสังคม แล้วถอยคนละก้าวเพื่อให้ประเทศชาติก้าวเดินต่อไปได้

สงครามกลางเมืองของจริง

ชีวิตในเมียนมาวันนี้ยากลำบากในแทบทุกด้าน แต่เราก็ต้องอยู่ด้วยความหวัง ผู้เขียนได้แต่แอบหวังว่ากลไกของนานาชาติ โดยเฉพาะอาเซียน จะสามารถกล่อมให้กลุ่มนายพลที่กุมอำนาจเมียนมาใจอ่อนลง หันมายอมรับกลไกเจรจาที่จะนำไปสู่สันติสุขในบ้านเมืองเมียนมาได้บ้าง จากการติดตามผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาในเมียนมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ยังไม่มีคำตอบอะไรที่ชวนให้เห็นทางออกของสถานการณ์มากนัก

ขบวนการอารยะขัดขืน (CDM) ของประชาชนชาวเมียนมา นัดหมายเวลาเคาะหม้อ เคาะไห เคาะกระทะ ที่มาภาพ :https://www.scmp.com/week-asia/people/article/3120776/amid-myanmars-civildisobedience-movement-thunder-pots-and-pans

ถึงเวลานี้ดินแดนแห่งลุ่มน้ำอิรวดีไม่สงบเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว การต่อสู้ของประชาชนเพื่อต่อต้านทหารไม่ได้มีแค่การชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เคาะหม้อ เคาะไห หรือถือป้ายประท้วง จุดเทียน ร้องเพลงเรียกร้องสันติภาพและประชาธิปไตย หรือแม้แต่การประท้วงบนคีย์บอร์ดเหมือนในบางประเทศ แต่สถานการณ์วันนี้ได้ลุกลามกระจายตัวกลายเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยอาวุธ ด้วยระเบิด และด้วยกระสุน กระจายไปทั่วผืนแผ่นดินนี้แล้ว

แน่นอนว่าด้วยการฝึกหลักสูตรระยะสั้นๆ ของกองทัพคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะทำให้คนพวกนี้ยังไม่ใช่ขุมกำลังที่มีศักยภาพมากพอจะต่อกรกับกำลังทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่รูปธรรมจากปฏิบัติการลอบวางระเบิด การซุ่มโจมตีขบวนยานพาหนะ และการเข้าตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมา ที่ผ่านๆ มา ก็น่าจะเพียงพอเกินจะบรรยายได้แล้วว่าพวกเขาเป็นของจริง

พวกเขามีตัวตนจริงๆ สู้จริง ตายจริง แม้ว่าเวลานี้ฝ่ายทหารเมียนมาได้ประกาศให้ PDF และ NUG กลายเป็นกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธไปแล้ว แต่เชื่อได้ว่าพวกเขายังสู้ได้อีกนาน อย่างน้อยก็ทำให้ทหารเมียนมาปวดตับได้อีกระยะหนึ่ง

ที่สำคัญคือ แนวโน้มสถานการณ์บ่งชี้ไปว่าจะเกิดการลอบวางระเบิด ก่อวินาศกรรม จับตัวบุคคลสำคัญของฝ่ายทางการ และการลอบโจมตีต่อเป้าหมายต่างๆ ที่เป็นของทางการเมียนมา เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสถานการณ์ของ “สงครามกลางเมือง” ย่อยๆ ที่นับวันจะขยายตัวกว้างมากขึ้น ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทำลายความชอบธรรม ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลทหาร แต่ผลลัพธ์ย่อมหนีไม่พ้นที่จะกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่ย่อยยับอยู่แล้ว ให้ยิ่งพังเร็วขึ้นเช่นกัน

ไทยทำการบ้านดีแล้วหรือยัง?

เวลานี้ไทยเราทำการบ้านดีแล้วหรือยัง? ผู้เขียนขอเปิดคำถามกว้างๆ ไปถึงคนไทยทุกๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง พ่อค้า นักธุรกิจทั้งที่มีกิจการอยู่ในเมียนมา หรือกลุ่มที่ทำธุรกิจค้าขายชายแดน หรือมีความเกี่ยวข้องกับเมียนมา รวมถึงคนไทยที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยทั่วๆ ไป เพราะมาถึงจุดนี้เราไม่อาจนั่งมองสถานการณ์ในเมียนมาแล้วนิ่งเฉย หรือมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับตัวเองได้อีกต่อไป เวลานี้ไฟกำลังไหม้บ้านเพื่อนบ้านอยู่ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่หาทางช่วยดับ อีกไม่นานไฟกองนั้นอาจจะลามมาไหม้บ้านของเราด้วย

จึงขอนำเสนอภาพกว้างๆ เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาว่าจะต้องทำอะไรต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ประการแรก ด้านการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา และตามแนวชายแดนไทย–เมียนมาในปัจจุบัน กำลังกลายมาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองในไทยมากขึ้น ประเด็นใหญ่ๆ มีตั้งแต่กลุ่มที่เห็นว่าไทยเข้าข้างทหารเมียนมา เพราะเป็นทหารคิดแบบพวกเผด็จการด้วยกัน รวมทั้งโจมตีเรื่องที่ไทยไม่ยอมเปิดทางให้ผู้อพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามาพักพิงในพื้นที่ ไม่มีการจัดค่ายพักอย่างเป็นทางการ หรือไม่ยอมเปิดทางให้องค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเข้าไปทำหน้าที่ได้ แถมยังแอบผลักดันผู้อพยพกลับออกไปทันทีที่ทำได้ รวมไปถึงประเด็นโจมตีว่าอ่อนหัดตกเป็นเครื่องมือของเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศ เป็นต้น

ในส่วนนี้นับว่าน่าเห็นใจฝ่ายราชการไทยที่ต้องเล่นบทบาทหลายหน้า และเข้าใจได้ว่าบางเรื่องที่ทำไปไม่อาจเอาออกมานำเสนอผ่านสื่อได้ เรื่องราวหลายๆ เรื่องที่ทำไปจึงยังไม่อาจอธิบายต่อสังคมได้ในเวลานี้ ถ้าไม่มองโลกอย่างไร้เดียงสาเกินไปก็ต้องยอมรับว่า เราจะนำคำว่า “ต้องโปรงใส ตรวจสอบได้” มาใช้กับเรื่องผลประโยชน์ของชาติและการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทางเลือกคือหลายๆ เรื่องที่พูดไม่ได้ ก็ต้องยอมถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป

ประการที่สอง เรื่องเศรษฐกิจ นับตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงอารยะขัดขืนโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ พ่อค้า ประชาชน ข้าราชการ พนักงานของรัฐ เรื่อยมาจนนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จนนำไปสู่การประกาศตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชนออกมาสู้กัน เศรษฐกิจของเมียนมาได้รับผลกระทบเต็มๆ ความเสียหายกระจายไปทั่วทุกย่อมหญ้า นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุน การค้าการลงทุนหยุดชะงัก ระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศต้องสะดุด ระบบการเงิน การธนาคารล้มเหลว คนต้องไปต่อคิวยาวเพื่อรอถอนเงิน ภาคเอกชนไม่สามารถใช้ช่องทางการโอนเงินผ่านระบบได้เหมือนปกติ เกิดปัญหาขาดแคลนเงินสด จนต้องอาศัยระบบส่งเงินนอกระบบ (โพยก๊วน) ค่าเงินจัตตกต่ำต่อเนื่อง ประเด็นนี้สำคัญ นักธุรกิจไทยที่ทำมาค้าขายหรือเกี่ยวข้องกับเมียนมาโดยตรง รวมถึงพ่อค้าตามแนวชายแดน ได้คิดเตรียมช่องทางกันไว้แล้วหรือยัง และในส่วนของทางการไทย ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาไว้แล้วมากน้อยแค่ไหน

การประท้วงรัฐประหารเมียนมา ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/zalen.info/posts/3071249826429201

ประการที่สาม คือ ภาพรวมๆ ด้านสังคม–จิตวิทยา ที่เกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นปัจจัยนำไปสู่ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลต่อสภาพสังคม–จิตวิทยาตามมา เพื่อนบ้านเรากำลังตกงาน ขาดรายได้ ไม่ได้รับความปลอดภัยจากสถานการณ์วินาศกรรม และการปราบปรามของฝ่ายรัฐ สถานศึกษายังถูกสั่งปิด ระบบสาธารณสุขทำงานได้ไม่เติมประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมากในเวลาที่การแพร่ระบาดโรคร้ายโควิด-19 ยังรุนแรงอยู่ ชาวบ้านเกิดความเครียด หดหู่ในชีวิต เพราะเห็นแล้วว่าสถานการณ์ในบ้านเมืองคงยังไม่จบหรือยุติลงในเร็ววันแน่ๆ บางส่วนเลือกจะไปตายเอาดาบหน้า แสวงหาชีวิตและโอกาสใหม่ๆ ที่ดีกว่า ตัดสินใจจ่ายเงินให้พวกนายหน้า ขบวนการนำพาเพื่อหลบหนีหวังว่าจะมาหางานทำ และมีโอกาสชีวิตที่ดีกว่าในบ้านเรา

หลายคนลักลอบเข้ามาได้สำเร็จ อาจจะมาพร้อมเชื้อโควิด-19 หรือไม่อยากมองโลกหรือมองเพื่อนมนุษย์ในแง่ร้ายมากเกินไป แต่เราคนไทยทำการบ้านหรือเตรียมการกันแล้วยัง… คนตัวเล็กตัวน้อยอยู่บ้านเฉยๆ ก็มิอาจนิ่งดูดาย เพราะดึกดื่นค่ำคืนเพื่อนบ้านของเราที่สิ้นหนทาง พวกเขาอาจจะมารายล้อมอยู่รอบๆ บ้านของท่าน

ขณะที่มุมมองผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่แนวชายแดน จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการรับรู้และด้านอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดนอย่างมาก โดยเฉพาะก่อให้เกิดความหวาดวิตกว่าสถานการณ์จะทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ชายแดนตกอยู่ในสภาวะยากลำบากมากยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมมากขึ้น จนเกิดเป็นความเครียด ความวิตกกังวล สภาวะดังกล่าวนำไปสู่ความทุกข์ใจ ไม่สุขสงบในชีวิต และนำไปสู่ความไม่พอใจทางการเมืองภายในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จากกระสุนปืนที่อาจตกข้ามมาฝั่งไทยและการรุกล้ำอธิปไตยกลุ่มกองกำลัง อาจทำให้เกิดความเครียดรุนแรงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบความจำ ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย เช่น ตื่นเต้น ใจสั่น ชา เกร็ง กลัว รวมทั้งเกิดภาวะร่วม ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า จากการสูญเสียญาติพี่น้อง เป็นต้น

ประการสุดท้ายคือผลกระทบด้านความมั่นคง อย่างที่เคยกล่าวไว้ในงานชิ้นก่อนหน้าว่า ความวุ่นวายในเมียนมา เปิดทางให้กลุ่มขบวนการยาเสพติดอาศัยช่องว่างที่ทางการเมียนมาต้องทุ่มเทกำลังไปจัดการปัญหาการเมืองและปัญหากองกำลังชนกลุ่มน้อย ทำให้ประสิทธิภาพในด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดลดลง ส่งผลให้ยาเสพติดทะลักผ่านเข้าไทยเป็นจำนวนมาก

ยังมีปัญหาเรื่องการรุกล้ำอธิปไตยทั้งโดยเจตนาและจากความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนอีก ข่าวช่วงแรกๆ มีประเด็นเรื่องอากาศยานที่บินล้ำเข้ามาฝั่งไทย ตามมาด้วยการลักลอบส่งกองกำลัง อ้อมเข้ามาเพื่อหวังจะตีโอบฝ่ายตรงข้ามของตนเอง สองเรื่องนี้ดูเหมือนทางการไทยจะอธิบายข้อเท็จจริงด้วยพยานหลักฐานได้หมดแล้ว แต่ล่าสุดคือการยิงกระสุนปืน ค. 81 ที่บ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 จนเป็นเหตุให้ต้องอพยพราษฎรสองหมู่บ้าน ที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้กลับบ้านกันเลย เป็นต้น

สุดท้ายต้องถามย้ำอีกที ไทยเราทำการบ้านเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียมาดีแล้วหรือยัง?