ThaiPublica > สู่อาเซียน > กองทัพชาติพันธุ์…ตัวแปรสำคัญในเมียนมา

กองทัพชาติพันธุ์…ตัวแปรสำคัญในเมียนมา

18 มีนาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ทหาร KNLA พร้อมอาวุธครบมือ ออกมาป้องกันการชุมนุมประท้วงของประชาชนในหลายพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยง ที่มาภาพ : เพจ Thoolei News – KNU – Department Of Information

หลังมีการเผาทำลายโรงงานของนักลงทุนจีนในย่านหล่ายต่าหย่า กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม 2564 และมีการขู่ทำลายท่อแก๊สที่จีนได้ลงทุนวางจากชายทะเลรัฐยะไข่ พาดขวางประเทศ ส่งเข้าไปในจีนทางชายแดนรัฐฉาน

ภาพสถานการณ์ในเมียนมาในสัปดาห์ที่ 7 หลังการรัฐประหาร เริ่มปรากฏภาพชัดเจนขึ้น

จุดที่ต้องโฟกัสต่อไป คือท่าทีของกลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ว่าจะเคลื่อนไปในทิศทางใด เพราะเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้

ตอนนี้ กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่ม แสดงท่าทีชัดเจนออกมาแล้วว่า ไม่เอาด้วยกับคณะรัฐประหารที่นำโดยกองทัพพม่า นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ค่อนข้างเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง!!!

ก่อนลงรายละเอียดความเคลื่อนไหวของแต่ละชาติพันธุ์ ขอทบทวนเรื่องราวที่เคยเรียบเรียงไว้ เพื่อให้เห็นข้อมูลที่เป็นระบบ…

กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐประหารได้ตั้งคณะบุคคลที่เรียกว่า“สภาบริหารแห่งรัฐ” หรือ SAC : State Administration Council ชื่อย่อตามตัวอักษรพม่าว่า“นะ ซะ ก๊ะ” มี พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่า เป็นประธาน มีกรรมการประมาณ 15 คน ซึ่งเป็นนายทหารและตัวแทนชาติพันธุ์บางกลุ่ม

SAC เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุดในการออกกฏ ระเบียบ ปลด โยกย้าย และแต่งตั้ง บุคคลากรทุกระดับ แบบเดียวกับสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ(State Law and Order Restoration Council : SLORC) หรือสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ(State Peace and Development Council : SPDC) องค์กรปกครองสูงสุดของคณะเผด็จการทหารในอดีต

ฝั่งผู้ถูกรัฐประหาร สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) จำนวน 380 คน ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2563 ได้รวมตัวกันสถาปนา “คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา” หรือ CRPH : Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw ขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลและรัฐสภา ในการติดต่อสัมพันธ์กับประชาคมโลก แทนที่ SAC ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร

CRPH ทำหน้าที่รัฐบาลคู่ขนาน มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีมารับผิดชอบงานด้านต่างๆ มี ดร.ส่าส่า ที่ CRPH แต่งตั้งให้เป็นทูตพิเศษประจำสหประชาชาติ ทำหน้าที่ติดต่อ ประสานงาน บอกเล่าข่าวสารความเคลื่อนไหวว่า CRPH ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

ดร.ส่าส่า เป็นแพทย์ชาวรัฐชิน รัฐทางฝั่งตะวันตกของเมียนมาที่มีชายแดนติดกับประเทศอินเดีย ดร.ส่าส่าเป็นสมาชิกพรรค NLD ทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งของพรรค NLD เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563

ทั้ง SAC และ CRPH ต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นองค์กรผิดกฏหมาย SAC ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ประกาศจะดำเนินการทางกฏหมายกับ CRPH รวมถึงทุกองค์กรและทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับ CRPH…

ตลอด 6 สัปดาห์หลังการรัฐประหาร สถานการณ์ในเมียนมาเต็มไปด้วยการประท้วงของประชาชน โดยมี CRPH ให้การสนับสนุน มีการชุมนุมที่กระจายไปตามเมืองใหญ่น้อย ในทุกรัฐ ทุกภาค

ขณะที่ SAC สั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดการกับผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงและเด็ดขาด มีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกือบ 200 คน และมีคนที่ถูกจับกุมไปมากกว่า 2,000 คน

ช่วงแรก กำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งนำมาใช้จัดการกับผู้ชุมนุม มีตำรวจเป็นหลัก ทหารเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุน แต่หลังเกิดการเผาโรงงานของนักธุรกิจจีนในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม 2564 SAC ได้ประกาศกฏอัยการศึกในหลายพื้นที่ กำลังทหารจำนวนมากถูกส่งมาประจำการ ทั้งในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ และเป็นกำลังหลักในการจัดการกับผู้ชุมนุม

พื้นที่ของ 3 กองทัพชาติพันธุ์ ที่กำลังสู้รบกับกองทัพพม่า

หลังการรัฐประหารผ่านไป 1 เดือน กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มเริ่มเคลื่อนไหว แสดงท่าทีของตนเองออกมา

ก่อนรัฐประหาร ภาพโดยรวมของกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ประกอบด้วย

กลุ่มที่รวมตัวกันในนามคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ(PPST : Peace Process Steering Team) เป็นกองกำลังที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลเมียนมาไปแล้ว ประกอบด้วยกองกำลังของ 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่

1.สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA)
2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU)
3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)
4.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย(DKBA)
5.แนวร่วมแห่งชาติชิน(CNF)
6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF)
7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน(ALP)
8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC)
9.พรรครัฐมอญใหม่(NMSP)
10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)

8 กลุ่มแรก ได้เซ็น NCA กับรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2558 สมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง ส่วน 2 กลุ่มหลังคือ NMSP และ LDU เซ็น NCA กับรัฐบาลที่มีพรรค NLD ของอองซาน ซูจี เป็นแกนนำ

ปัจจุบัน พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS) ทำหน้าที่รักษาการณ์ประธาน PPST

อีกกลุ่มหนึ่งเป็น 7 กองกำลังชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาล รวมตัวกันในนาม FPNCC : Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee ประกอบด้วย

1.กองทัพสหรัฐว้า(UWSA)
2.กองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA)
3.กองทัพโกก้าง(MNDAA)
4.พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(SSPP/SSA)
5.กองทัพตะอั้ง(TNLA)
6.กองทัพเมืองลา(NDAA)
7.กองทัพอาระกัน(AA)

กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) เป็นแกนนำในการจัดตั้งและมีบทบาทเป็นผู้นำ FPNCC ภายใต้ความพยายามผลักดันของจีน เนื่องจากกองกำลังกลุ่มนี้มีความใกล้ชิดกับจีนในหลายด้าน

นอกจาก 17 กลุ่มข้างต้นแล้ว ยังมีบางชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังของตนเอง พวกนี้ยังไม่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาลและไม่ได้เข้าไปรวมอยู่กับกลุ่ม FPNCC ส่วนใหญ่ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ของตน เคยมีการปะทะกับกองทัพพม่า แต่ไม่ได้ปรากฏออกมาเป็นข่าว กองกำลังเหล่านี้ เช่น

-กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน(Arakan Rohingya Salvation Army : ARSA) ในรัฐยะไข่
-แนวร่วมปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยงแดง(Karenni National People’s Liberation Front : KNPLF) ในรัฐคะยา
-กองกำลังติดอาวุธของชาวไตแดง ในภาคสะกาย
ฯลฯ

พล.อ.เจ้ายอดศึก เป็นประธานการประชุม PPST ครั้งที่ 2 และมีมติว่าจะร่วมเคลื่อนไหวกับ CRPH

18.00 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังเพิ่งรัฐประหารได้ไม่ถึงวัน สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS) ที่มีพล.อ.เจ้ายอดศึกเป็นประธาน เป็นกลุ่มแรกที่ออกมาคัดค้านการรัฐประหาร โดยออกแถลงการณ์ 4 ข้อ 3 ภาษา(ไทใหญ่ พม่า และอังกฤษ) มีเนื้อความสรุปได้ดังนี้

1.การที่กองทัพพม่าทำรัฐประหารด้วยการยึดอำนาจากรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนนั้น มีผลกระทบกับกระบวนการสันติภาพและสวนทางกับแนวทางพัฒนาระบอบการเมืองของประเทศให้ก้าวสู่การเป็นสหพันธรัฐที่แท้จริง ดังนั้น RCSS จึงคัดค้านการยึดอำนาจครั้งนี้

2.ความตั้งใจที่จะนำพาประเทศ ไปสู่การเป็นสหพันธรัฐในระบอบประชาธิปไตย RCSS ขอยืนอยู่เคียงข้างพ่อแม่ พี่น้อง ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

3.การทำรัฐประหารของกองทัพย่อมเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ และการลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) ซึ่งรัฐบาล กองทัพ พรรคการเมือง และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ลงนาม ต่างได้เห็นพ้องต้องกันไว้แล้ว

4.อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากเช่นในขณะนี้ หลังยึดอำนาจได้เรียบร้อยแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้มาพบปะพูดคุยเพื่อหาหนทางสร้างความสงบสุขขึ้นในประเทศร่วมกัน

ฐานบัญชาการใหญ่ของ RCSS อยู่บนดอยไตแลง อำเภอเมืองปั่น จังหวัดลางเคอ ซึ่งเป็นแนวตะเข็บชายแดนตรงข้ามกับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

จังหวัดลางเคออยู่ในภาคใต้ของรัฐฉาน กองทัพของ RCSS จึงมักถูกเรียกให้เป็นกองทัพรัฐฉานใต้

หลังเซ็น NCA กับรัฐบาลเมื่อปี 2558 RCSS ได้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการขึ้นไปทางภาคเหนือ เพื่อทำภารกิจปราบปรามสิ่งผิดกฏหมาย และการค้ายาเสพติด และได้ตั้งฐานปฏิบัติการย่อยอยู่หลายจุดในพื้นที่จังหวัดจ๊อกแม

ฐานในภาคเหนือของ RCSS จึงไปขวางเส้นทางผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในบริเวณนี้

9 กุมภาพันธ์ 2564 สัปดาห์เศษหลังรัฐประหาร กองทัพพม่าส่งกำลังพลมากกว่า 400 นายเข้าโจมตีที่มั่นของ RCSS ในตำบลเมืองตุ๋ง อำเภอสีป้อ จังหวัดจ๊อกแม การรบยืดเยื้อนานนับสัปดาห์ มีทหารหลายนายเสียชีวิต

คำกล่าวปิดประชุม PPST ของ พล.อ.เจ้ายอดศึกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564

วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2564 PPST ประชุมเป็นครั้งแรกหลังรัฐประหาร และได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ รายละเอียดดังนี้

1.PPST สนับสนุนความเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ได้ออกมาประท้วงต่อต้านระบอบเผด็จการ และการยึดอำนาจของกองทัพพม่าอย่างสันติ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวตามแนวทางอารยะขัดขืน(Civil Disobedence Movement : CDM)

2.เรียกร้องให้กองทัพพม่า ต้องปล่อยตัวผู้นำและผู้ประท้วงทุกคนที่ถูกจับกุมตัวไปตั้งแต่เริ่มเข้ามายึดอำนาจโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข

3.ขอประณามการใช้ความรุนแรงในทุกวิถีทาง เพื่อจัดการกับผู้ที่ชุมนุมต่อต้านอย่างสันติ

4.PPST ขอยุติการเจรจาทางการเมืองกับตัวแทนกองทัพพม่าไปก่อน

5.PPST จะให้ความร่วมมือกับทุกประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร และหนทางแก้ไขสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

22 กุมภาพันธ์ 2564 RCSS ได้ออกแถลงการณ์อีกฉบับ เผยแพร่ 4 ภาษา(ไทใหญ่ พม่า อังกฤษ และไทย) เนื้อหาระบุว่า การที่ฐานของ RCSS ในจังหวัดจ๊อกแมถูกโจมตีจากกองทัพพม่า เป็นเพราะ RCSS ได้แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และขอยืนอยู่ฝั่งเดียวกับประชาชนในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ จนกว่าจะได้มาซึ่งสหพันธรัฐประชาธิปไตยที่สมบูรณ์


ทหาร KNLA พร้อมอาวุธครบมือ ออกมาป้องกันการชุมนุมประท้วงของประชาชนในหลายพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยง ที่มาภาพ : เพจ Thoolei News – KNU – Department Of Information

การประท้วงต่อต้านรัฐประหารเริ่มตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกหลังกองทัพเข้ายึดอำนาจ ความรุนแรงในการปราบปรามเริ่มขึ้นหลังเกิดการประท้วงได้เพียง 1-2 วัน จากนั้นทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ยอมรามือให้แก่กัน การประท้วงในเมืองใหญ่เริ่มรุนแรงและมีผู้เสียชีวิต

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 การชุมนุมประท้วงในรัฐกะเหรี่ยง และบางพื้นที่ของรัฐมอญ กับภาคตะนาวศรี เริ่มมีทหารจากกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) พร้อมอาวุธครบมือ ออกมายืนอารักขา ป้องกันไม่ให้ตำรวจหรือทหารพม่า ใช้กำลังทำร้ายประชาชนเหมือนที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่

KNLA เป็นทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ซึ่งเป็นสมาชิก PPST จัดเป็นกองกำลังขนาดใหญ่มีทหารถึง 7 กองพล รับผิดชอบพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่รัฐกะเหรี่ยง ข้ามไปในบางส่วนของภาคพะโค และตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกของไทย ในรัฐมอญลงไปถึงภาคตะนาวศรี

แม้เป็นกลุ่มที่เซ็น NCA ไปแล้ว แต่ KNLA ก็มีการสู้รบกับทหารพม่ามาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ในพื้นที่อำเภอเจ้าก์จี จังหวัดตองอู ภาคพะโค จนถึงจังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เหตุผลที่ 2 ฝ่ายรบกัน เพราะกองทัพพม่ามีแผนสร้างถนนล้ำเข้ามาในเขตรับผิดชอบของ KNLA จึงเสริมกำลังทหารจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ของ KNLA จนเกิดการปะทะกัน

การประชุมทางออนไลน์ของ ดร.ส่าส่า(มุมขวาบน) ตัวแทน CRPH กับทีมงานของรองประธาน KNU

ค่ำวันที่ 5 มีนาคม 2564 ดร.ส่าส่า ทูตพิเศษ CRPH ประจำสหประชาชาติ โพสต์ภาพบนเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่าเป็นการประชุมออนไลน์ ระหว่างเขา กับปะโด ส่อ กวย ถู่ วิน รองประธาน KNU และปะโด ส่อ ทา โด มู ผู้ช่วยของรองประธาน KNU

9 มีนาคม 2564 RCSS ได้ประชุมออนไลน์ CRPH ตัวแทนฝั่ง RCSS เป็น พ.อ.จายเงิน เลขาธิการ 2 และทีมงาน ได้แก่ พ.ท.จายหาญ และจายแหลง ส่วนตัวแทน CRPH นำโดย อู อ่อง จี ญูน ผู้บริหารพรรค NLD อู ติน ทุต อู , อู ลวิน โก่ ลัต นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง(Cartoonist) , อู แย มูน , ดอ สิ่น หม่า อ่อง และ ซอ หย่า ผ่อง อั่ว

พ.อ.จายเงิน คือผู้ที่เป็นหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพเมียนมา ทั้งในนาม RCSS และ PPST มักทำหน้าที่ตัวแทน PPST ในการเจรจากับ“ศูนย์สันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ” หรือ NRPC ซึ่งถูกตั้งขึ้นโดยอองซาน ซูจี ที่รับเป็นประธาน NRPC ด้วยตนเอง

รายละเอียดเนื้อหาในการประชุมออนไลน์ ทั้งระหว่าง CRPH กับ KNU และระหว่าง CRPH กับ RCSS ไม่เป็นที่เปิดเผย ข่าวที่ปรากฏตามสื่อบอกเพียงว่าเป็นการพูดคุยกันถึงสถานการณ์บ้านเมือง

การประชุมทางออนไลน์ระหว่างทีมงานของ RCSS กับตัวแทน CRPH

CRPH ประชุมออนไลน์กับ RCSS ตอนบ่ายของวันที่ 9 มีนาคม 2564

เช้าวันที่ 9 มีนาคม ในพื้นที่จังหวัดสะเทิม ตอนบนของรัฐมอญ และจังหวัดพะอัน ด้านตะวันตกของรัฐกะเหรี่ยง ได้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารพม่ากับ KNLA ถึง 4 จุด การสู้รบดำเนินต่อเนื่องจนถึงช่วงบ่าย มีการยิงอาวุธหนักเข้าใส่กัน มีรายงานว่าทหารพม่าจำนวนหนึ่งถูกจับเป็นเชลย และ KNLA สามารถยึดอาวุธของทหารพม่าได้เป็นจำนวนมาก

16.00 น. วันเดียวกัน(9 มี.ค.) ทหารพม่าจำนวนมากเข้าโจมตีทหารของ RCSS ที่ประจำอยู่ทางตอนเหนือของบ้านหัวตาด ตำบลหนองเอ๋ เมืองหนอง อำเภอเกซี จังหวัดดอยแหลม ชาวบ้านใกล้เคียงได้ยินเสียงปืนดังต่อเนื่องประมาณ 1 ชั่วโมงเศษจึงค่อยสงบ ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตถูกเผยแพร่ออกมาในวันนั้น

ก่อนการรบที่จังหวัดดอยแหลม สมรภูมิการสู้รบกันระหว่างทหารพม่า กับ RCSS ได้ขยายลงมาถึงในเขตอำเภอเมืองปั่น จังหวัดลางเคอแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม

RCSS และ KNU เป็นสมาชิก PPST แม้ทั้ง 2 กองทัพได้เซ็น NCA ไปแล้ว แต่มักมีการกระทบกระทั่งจนถึงสู้รบกันกับกองทัพพม่าอยู่เป็นประจำ ก่อนเกิดการรัฐประหาร

หลังรัฐประหารแล้ว ทั้งคู่ เป็น 2 กองทัพแรกๆ ที่เปิดฉากสู้รบอย่างจริงจังกับกองทัพพม่า พื้นที่สู้รบของทั้ง 2 กองทัพ อยู่ในพื้นที่รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง กับอีกบางจุดของรัฐมอญและภาคพะโค

วันที่ 11-12 มีนาคม 2564 PPST จัดประชุมทางออนไลน์เป็นครั้งที่ 2 ภาพที่เผยแพร่ผ่านเพจ NCA-S EAO เห็นผู้ร่วมประชุมครั้งนี้ มีประมาณ 60 คน

ไม่มีการออกแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุม แต่มีการเผยแพร่คำกล่าวปิดประชุมของ พล.อ.เจ้ายอดศึก เนื้อหาโดยสรุประบุว่า PPST จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับ CRPH เพื่อพยายามยุติสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมา

นอกจากนี้ PPST ยังได้ตั้งคณะกรรมการธิการต่างประเทศของตนเองขึ้นมา เพื่อทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศในประชาคมโลก เพื่อร่วมแก้ไขวิกฤติ

ผู้เข้าประชุมทุกคนเห็นชอบกับแผนปฏิบัติของ PPST กองกำลังทุกชาติพันธุ์ที่เป็นสมาชิก จะร่วมทำงานกับประชาชนของตน เพื่อหยุดยั้งการปกครองโดยระบอบเผด็จการ และร่วมกันสร้างการปกครองระบอบ“สหพันธรัฐ”ที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นในเมียนมา ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม

สมาชิก PPST พร้อมทีมงานรวมประมาณ 60 คน ประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2564

ด้านกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่รวมตัวในนาม FPNCC ยังไม่แสดงท่าทีในนามกลุ่มออกมา แต่สมาชิกของกลุ่มแต่ละกองทัพ ต่างมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

-กองทัพอาระกัน(AA) ได้หยุดยิงกับกองทัพพม่าตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้ง ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 เพราะอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาสันติภาพ

กลางปี 2563 รัฐบาลของอองซาน ซูจี ประกาศให้ AA เป็นกลุ่มก่อการร้าย ทำให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกองทัพพม่าไม่สามารถเจรจาหรือทำข้อตกลงใดๆกับ AA ได้ เพราะถือเป็นกองกำลังนอกกฏหมาย

หลังรัฐประหาร SAC ได้ถอนชื่อ AA ออกจากบัญชีรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย เปิดช่องให้สามารถเจรจากันได้โดยสะดวก

7 สัปดาห์หลังรัฐประหาร สถานการณ์ในรัฐยะไข่ สงบเงียบ แตกต่างจากรัฐและภาคอื่นๆ

-กองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(SSPP/SSA) กับกองทัพตะอั้ง(TNLA) ได้ผนึกกำลังเปิดฉากสู้รบกับ RCSS ในหลายพื้นที่ของรัฐฉานภาคเหนือ

การรบที่สร้างความหดหู่มากที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ทหาร SSPP 300 นาย ได้บุกล้อมโจมตีฐานของ RCSS ที่บ้านเกร็ดฝน ตำบลนาหมากขอ อำเภอสีป้อ จังหวัดจ๊อกแม มีกำลังพลอยู่ในฐานแห่งนี้เพียง 18 นาย

ตามรายงานของสำนักข่าว Tai Freedom ระบุว่า เมื่อสู้กันไปได้ระยะหนึ่ง ทหาร RCSS เห็นจำนวนคนน้อยกว่า จึงยกมือยอมแพ้ แต่เมื่อทหาร SSPP เข้ายึดฐานแห่งนี้ได้แล้ว แทนที่จะคุมตัวทหาร RCSS ที่ยอมจำนนนแล้วไปกักขังไว้ กลับยิงทหารเหล่านั้นทิ้งจนเสียชีวิตทั้งหมด

ในที่เกิดเหตุปะทะ มีผู้พบศพของทหาร RCSS ในเครื่องแบบลายพราง 5-6 นาย เสียชีวิตในสภาพนอนคว่ำหน้าเรียงกัน มือถูกมัดไพล่หลัง และมีรอยกระสุนอยู่กลางหลัง!!!

ทุกวันนี้ หลายพื้นที่ในรัฐฉานภาคเหนือ ยังคงมีการปะทะกันระหว่าง RCSS กับ SSPP ซึ่งต่างเป็นกองทัพของชาติพันธุ์ไทใหญ่ทั้งคู่ และระหว่าง RCSS กับ TNLA อยู่เป็นระยะ

-กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) กองทัพโกก้าง(MNDAA) และกองทัพเมืองลา(NDAA) ยังสงบนิ่ง ไม่ท่าทีใดๆที่ถูกแสดงออกมาจากทั้ง 3 กองทัพ ซึ่งดูแลพื้นที่เขตปกครองตนเองบริเวณชายแดนที่ติดกับจีน

เวลาตี 3 ของวันที่ 11 มีนาคม 2564 ทหารกองพันที่ 26 สังกัดกองพล 9 กองทัพคะฉิ่นอิสระ(KIA) ได้บุกโจมตีค่ายทหารพม่า กองพันที่ 119 สังกัดกองพลทหารราบที่ 33 ในพื้นที่บ้านแซซิน ทางทิศตะวันตกของอำเภอผากั้น จังหวัดโมญิน ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างรัฐคะฉิ่นกับภาคสะกาย

กองพลทหารราบที่ 33 กองทัพพม่า เป็นกองพลที่ส่งกำลังส่วนหนึ่งไปช่วยในภารกิจปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในเมืองมัณฑะเลย์

ชาวบ้านบอกกับสำนักข่าว Kachin News Group ว่า ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นตั้งแต่ตี 3 จากนั้นมีเสียงสู้รบต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง ประมาณตี 5 เสียงปืนจึงสงบลง ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้เดินไปดูยังค่ายแห่งนี้ตอนฟ้าสาง พบว่าค่ายถูกเผาจนราบเรียบ พบรอยเลือด และไม่มีทหารพม่าเหลืออยู่แม้แต่คนเดียว

พ.อ.หน่อบู โฆษก KIA บอกเหตุผลที่บุกโจมตีค่ายทหารพม่าว่า เพื่อตอบโต้ที่ตำรวจพม่ายิงชาวคะฉิ่นเสียชีวิต ขณะร่วมประท้วงในเมืองมิตจีนาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564

การประท้วงในวันนั้น มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 คน ภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกเป็นภาพของแม่ชีแอน โรส นู ตอง กำลังคุกเข่าเรียกร้องให้ตำรวจพม่าอย่าทำร้ายเด็กๆ โดยมีตำรวจ 2 นาย คุกเข่า ยกมือไหว้ พูดคุยอยู่กับแม่ชี

Kachin News Group ระบุว่าคลิปวิดีโอซึ่งถูกเผยแพร่ภายหลัง เห็นว่าขณะที่แม่ชีกำลังเจรจากับตำรวจ 2 นายอยู่นั้น ตำรวจที่อยู่ด้านหลัง กำลังยิงปืนใส่ผู้ประท้วง

พ.อ.หน่อบู บอกว่า KIA ต้องการเตือนกองทัพพม่าว่าอย่าใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายผู้ประท้วง และต้องการส่งกำลังใจให้ผู้ประท้วงเคลื่อนไหวต่อไปจนบรรลุเป้าหมาย โดยไม่ต้องเกรงกลัวทหาร

ก่อนรัฐประหาร KIA กับกองทัพพม่ามีการสู้รบกันเป็นระยะอยู่แล้วในพื้นที่รัฐคะฉิ่น และบางส่วนในภาคเหนือของรัฐฉาน เมื่อเกิดรัฐประหาร โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 11 มีนาคม 2564 มีการสู้รบระหว่าง KIA กับกองทัพพม่าเกิดขึ้นแทบทุกวัน

ล่าสุด เย็นวันที่จันทร์ที่ 15 มีนาคม 2564 กองทัพพม่าและ KIA ได้รบกันบริเวณใกล้หมู่บ้านกวยถ่อ อำเภออินจานยาน จังหวัดมิตจีนา บนเส้นทางระหว่างเขตมิตโส่งกับหมู่บ้านตานพะแย ตอนเหนือของเขตมิตโส่งที่อยู่ห่างจากเมืองมิตจีนาขึ้นไปประมาณ 28 ไมล์

เขตมิตโส่ง เป็นต้นแม่น้ำอิรวดี และเป็นพื้นที่ซึ่งมีโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ามิตโส่ง ขนาด 6,000 เมกะวัตต์ เป็นการลงทุนของ Chinese Power Investment Corporation(CPI) จากจีนที่มีมูลค่าสูงถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถูกประธานาธิบดีเตงเส่งสั่งระงับการก่อสร้างไปตั้งแต่ปี 2554 เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่จีนพยายามผลักดันตลอดเวลาให้มีการก่อสร้างต่อ

โดยสรุป 7 สัปดาห์หลังการรัฐประหาร กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์เริ่มมีความเคลื่อนไหวออกมาแล้ว

10 กองกำลังที่เซ็น NCA ไปแล้วและรวมตัวกันในนาม PPST ตกลงร่วมเคลื่อนไหวกับ CRPH ขณะที่อีก 7 กองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็น NCA ยังไม่ประกาศท่าทีในนามกลุ่มออกมา

มี 3 กองกำลังที่เปิดศึกสู้รบกับกองทัพพม่าแล้ว คือสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) และกองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) พื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหว ยังอยู่ในรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง

กองกำลังที่ได้สู้รบกับกองทัพพม่า ยังคงมุ่งเป้าหมายเพื่อยุติการปกครองโดยระบอบเผด็จการ ร่วมสร้างระบอบการปกครองโดยสหพันธรัฐ และปกป้องประชาชนของตน

แต่หากสถานการณ์พัฒนาและเริ่มซับซ้อนไปมากกว่านี้ คงต้องดูต่อว่าเป้าหมายของแต่ละชาติพันธุ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด