ThaiPublica > สู่อาเซียน > วันกองทัพพม่า 27 มีนาคม 2564 : วันแห่งการสูญเสีย

วันกองทัพพม่า 27 มีนาคม 2564 : วันแห่งการสูญเสีย

28 มีนาคม 2021


รายงานโดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

พิธีสวนสนาม เนื่องในวันกองทัพพม่า 27 มีนาคม 2564 ที่มาภาพ : เว็บไซต์กองทัพพม่า http://cincds.gov.mm

27 มีนาคม 2564 เป็นวัน “กองทัพพม่า” ครบรอบ 76 ปี ของการขับไล่ “เผด็จการฟาสซิสต์” หรือกองทัพญี่ปุ่นออกจากดินแดนพม่าได้สำเร็จ เมื่อ พ.ศ.2488

ตามกำหนดการ ที่กรุงเนปิดอ มีการตรวจพลสวนสนาม ระดมกำลังทหารนับหมื่นนาย ทั้งบก เรือ อากาศ มาแสดงแสนยานุภาพครั้งใหญ่ มีการถ่ายทอดสดผ่านทาง MRTV สถานีโทรทัศน์ของรัฐ

นอกจากอเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รัสเซีย ยังมีตัวแทนจีน อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เวียดนาม ลาว และไทย เป็นแขกต่างประเทศ ที่ได้เดินทางไปร่วมชมพิธีสวนสนามในครั้งนี้

พิธีสวนสนาม เนื่องในวันกองทัพพม่า 27 มีนาคม 2564 ที่มาภาพ : เว็บไซต์กองทัพพม่า http://cincds.gov.mm

คืนวันที่ 26 มีนาคม 2564 สถานีโทรทัศน์ MRTV เผยแพร่ข้อความจากคณะรัฐประหาร ที่ออกมาปรามเชิงข่มขู่ประชาชนว่า ห้ามออกมาชุมนุมประท้วงในวันกองทัพ มิเช่นนั้น จะถูกจัดการอย่างเด็ดขาด!!!

บรรยากาศเงียบสงบในตอนเช้าที่ตลาดท่าขี้เหล็ก ประชาชนไม่ยอมออกจากบ้าน ร้านรวง ปิดสนิท ดูน่าจะเป็นวันที่เงียบสงบอีกวันหนึ่ง แต่.. ที่มาภาพ : Tachileik News Agency https://www.facebook.com/TachileikNewsAgency

เวลาประมาณ 09.30 น.(10.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย) ของวันที่ 27 มีนาคม Tachileik News Agency เผยแพร่ภาพบรรยากาศที่เงียบเหงาในเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เนื่องจากช่วงเช้าวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมออกจากบ้าน ร้านรวง แผงค้าในตลาด ตึกแถวริมถนน ล้วนปิดสนิท

จากภาพที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว Tachileik ดูเหมือนวันนี้ น่าเป็นวันที่เงียบสงบวันหนึ่ง…แต่???

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่า ผู้นำการรัฐประหาร รับการแสดงความเคารพจากกำลังพลที่เดินสวนสนาม ที่มาภาพ : เว็บไซต์กองทัพพม่า http://cincds.gov.mm

09.30 น.ใน MRTV เสียงกลอง เสียงเครื่องเป่าจากวงดุริยางค์ ดังเป็นจังหวะ พร้อมกับภาพแถวทหารที่กำลังเดินสวนสนามอย่างเป็นระเบียบ

ในปีปกติ วันกองทัพพม่า สื่อทุกสื่อ สังคมออนไลน์ทุกแห่ง ต้องพร้อมใจกันเผยแพร่แสนยานุภาพของกองทัพผ่านพิธีสวนสนาม

แต่สำหรับปีนี้ ไม่มีภาพจากในพิธีปรากฏออกมาจากสำนักข่าวใดๆ ในตอนเช้า สื่อทุกแห่งต่างให้ความสนใจไปยังปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วเมียนมา มากกว่า

เสียงขู่ของคณะรัฐประหารเมื่อคืนวันที่ 26 มีนาคม 2564 ไม่สามารถทำให้ประชาชนหวาดกลัว ตรงกันข้าม กลับเป็นการกระตุ้นพวกเขา ให้ต้องออกมาทำหน้าที่ ประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร เรียกร้องประชาธิปไตย

สำหรับคนเมียนมา วันที่ 27 มีนาคม 2564 ไม่ใช่วันกองทัพพม่าหรือวันขับไล่เผด็จการฟาสซิสต์ที่หมายถึงญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว

แต่วันนี้ เป็นวันขับไล่เผด็จการฟาสซิสต์ซึ่งหมายถึงทหารของกองทัพพม่าเอง ชาวเมียนมาทุกคน ทุกชาติพันธุ์ใด จากแทบทุกภาค ทุกรัฐ หลอมรวมตัว ออกมาแสดงพลังโดยพร้อมเพรียงกัน

บนถนนทุกสาย ไม่ว่าในเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ล้วนเต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาชุมนุม เดินขบวน เสียงตะโกนของประชาชน ดังกึกก้อง…

“โด๊ะ อะเย โด๊ะ อะเย”…เรื่องของเรา ภารกิจของเรา
“ซิดอาณาชิง อะโหล่มะชิ อะโหล่มะชิ”…ไม่ต้องการ เราไม่ต้องการ เผด็จการทหาร

การประท้วงในย่านอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง เริ่มตั้งแต่ตอนตี 2 ครึ่ง ตำรวจมาสลายการชุมนุมตอนตี 3 ครึ่ง ยังไม่มีการเสียชีวิต มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ที่มาภาพ : Insein News https://www.facebook.com/Insein-News-103013471887674

ความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารวันนี้ เริ่มตั้งแต่เช้ามืด ในเขตอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง ประชาชนเริ่มออกมารวมตัวกันตั้งแต่ตอนตี 2 ครึ่ง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ตำรวจ-ทหารก็มาถึง และเริ่มขั้นตอนสลายการชุมนุม มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 1 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

เพียง 1 ชั่วโมงเศษต่อมา ฟ้ายังไม่ทันสาง ในกรุงมัณฑะเลย์ บุคลากรการแพทย์หลายร้อยคน รวมตัวกันขี่มอเตอร์ไซค์เป็นขบวนพร้อมชูสัญลักษณ์ของการต่อต้านไปตามท้องถนน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเช่นกัน

การรวมตัวกันของบุคลากรการแพทย์ในกรุงมัณฑะเลย์ แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง และเป็นภาพการประท้วงที่สงบที่สุดของวันนี้ (27 มีนาคม 2564) ที่มาภาพ : The Irrawaddy – Burmese Edition https://www.facebook.com/theirrawaddyburmese

ภาพการประท้วงของบุคลากรการแพทย์ในมัณฑะเลย์ตอนเช้ามืด กับภาพตลาดท่าขี้เหล็กต้องรุ่งสาง อาจเป็นภาพที่ดูสงบที่สุดแล้วของวันนี้ เพราะหลังจากนี้ ภาพที่ปรากฏออกมาตามเพจของสำนักข่าวทุกแห่ง ล้วนเป็นภาพที่ดูแล้วต้องหดหู่ใจ

สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวในเมียนมา และติดตามเพจของสำนักข่าวในประเทศนี้ ซึ่งมีอยู่หลายสิบสำนักข่าว วันที่ 27 มีนาคม 2564 ควรต้องได้รับการบันทึกไว้เลยว่า เป็นวันที่บนหน้าฟีดของเพจสำนักข่าวทุก มีภาพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญเสีย ทั้งที่เป็นภาพนิ่งและคลิปภาพเคลื่อนไหว รวมถึงการถ่ายทอดสด ถูกโพสต์ขึ้นมากที่สุด เท่าที่เคยปรากฏมา!!!

การประท้วงในย่านจิมินไต่ง์ กรุงย่างกุ้ง ที่มาภาพ : DVB TV News https://www.facebook.com/DVBTVNews

โดยเฉพาะช่วงบ่าย หลังเลยเที่ยงวันไปจนถึงประมาณ 5 โมงเย็น เฉลี่ยทุกครึ่งชั่วโมง ต้องมีภาพผู้เสียชีวิตรายใหม่ๆปรากฏขึ้นบนหน้าเพจของสำนักข่าวใด สำนักหนึ่ง อย่างน้อย 1 ภาพ

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ขอเลี่ยงไม่เอาภาพเหล่านั้นมานำเสนอ แต่จะคัดเฉพาะภาพที่สามารถบอกเล่าถึงลำดับเรื่องราวที่ดำเนินไปตลอดทั้งวัน เพื่อให้ได้เห็นความต่อเนื่องของเหตุการณ์ในวันนั้น

การเสียชีวิตของผู้ประท้วงรายแรกจากเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉาน เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่มาภาพ : Kanbawza Tai News https://www.facebook.com/kanbawzatai

เวลาประมาณ 10.00 น. เริ่มมีรายงานผู้เสียชีวิตรายแรกจากเมืองล่าเสี้ยว ภาคเหนือของรัฐฉาน จากนั้นแต่ละพื้นที่ มีรายงานการเสียชีวิตทยอยปรากฏออกมาเรื่อยๆ

ตอนเที่ยง ภาพควันสีดำจากการเผายางรถยนต์ ลอยคละคลุ้ง ปกคลุมทั่วตัวเมือง ถูกเผยแพร่ออกมา ทั้งภาพจากกรุงย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ หรือแม้แต่ที่เมืองหมู่เจ้ ภาคเหนือของรัฐฉาน

ถัดจากนั้นจนถึงช่วงเย็น ล้วนเป็นภาพของการต่อสู้ ความเศร้าโศกเสียใจของผู้ที่สูญเสีย

การประท้วงในเมืองต้านซี ภาคสะกาย ที่มาภาพ : DVB TV News https://www.facebook.com/DVBTVNews
เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ที่มาภาพ : The Irrawaddy – Burmese Edition https://www.facebook.com/theirrawaddyburmese

ก่อนหน้านั้นเพียง 4 วัน DVB TV News ได้รวบรวมตัวเลขผู้เสียชีวิตระหว่างการต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา แต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์จนถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 24 มีนาคม เป็นเวลา 52 วัน มีผู้เสียชีวิตรวม 293 ราย

ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นหลังวันที่ 14 มีนาคม 2564 ซึ่งมีการจลาจลที่ย่านหล่ายต่าหย่า และฉ่วยปยีตา กรุงย่างกุ้ง จนสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) ต้องประกาศใช้กฏอัยการศึก

การต่อสู้ของประชาชนในย่านตาเกตะ กรุงย่างกุ้ง ที่มาภาพ : The Irrawaddy – Burmese Edition https://www.facebook.com/theirrawaddyburmese

ในรายงานของ DVB TV News จนถึงวันที่ 13 มีนาคม มีผู้เสียชีวิตในเมียนมามีเพียง 91 ราย แต่เฉพาะวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งเริ่มใช้กฏอัยการศึก เพียงวันเดียว มีผู้เสียชีวิตถึง 84 ราย ต่อจากนั้น 10 วัน ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นเป็น 293 ราย ในวันที่ 24 มีนาคม(ดูรายละเอียด “จำนวนผู้เสียชีวิตแยกเป็นรายวัน”)

ยอดผู้เสียชีวิต 84 รายในวันเดียว เมื่อ 14 มีนาคม อาจดูมาก แต่ยอดของวันที่ 27 มีนาคม กลับมีมากกว่า!!!

จำนวนผู้เสียชีวิตแยกเป็นรายวันจาก 1 กุมภาพันธ์-24 มีนาคม ที่มาภาพ : DVB TV News https://www.facebook.com/DVBTVNews
จำนวนผู้เสียชีวิตจากการต่อต้านรัฐประหารในวันกองทัพพม่า 27 มีนาคม 2564 เพียงวันเดียว แยกรายภาค ที่มาภาพ : Myanmar Now https://www.facebook.com/myanmarnownews/posts/2065318356949225

23.15 น.ของวันที่ 27 มีนาคม Myanmar Now รายงานตัวเลขล่าสุดที่เพิ่งสรุปได้เมื่อเวลา 21.30 น. ตามเวลาเมียนมา(22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) จำนวนผู้เสียชีวิตจากการต่อต้านรัฐประหารใน 44 เมืองทั่วเมียนมา ในวันกองทัพพม่า มีถึง 114 ราย

ผู้เสียชีวิตอยู่ในภาคมัณฑะเลย์มากที่สุด 40 คน รองลงมาเป็นภาคย่างกุ้ง 27 คน อันดับ 3 ภาคสะกาย 11 คน(รายละเอียดดูในตารางผู้เสียชีวิตจากการต่อต้านรัฐประหารในวันกองทัพพม่า 27 มีนาคม 2564 เพียงวันเดียว)

คืนวันที่ 27 มีนาคม 2564 ในเมียนมา เป็นคืนที่มีทั้งการจุดเทียนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากการต่อต้านการรัฐประหาร และการจุดเทียนประท้วงการรัฐประหาร ในหลายพื้นที่ ทั่วทั้งประเทศ…

การจุดเทียนต่อต้านรัฐประหารในภาคสะกาย คืนวันที่ 27 มีนาคม 2564 ที่มาภาพ : Mizzima – News in Burmese https://www.facebook.com/MizzimaDaily
การจุดไฟเผาสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันธ์กับกองทัพพม่า ในเมืองปางโหลง รัฐฉาน ที่มาภาพ : Shan News https://www.facebook.com/shannews
ที่รัฐคะฉิ่น ที่มาภาพ : Mizzima – News in Burmese https://www.facebook.com/MizzimaDaily

การไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเมืองพะสิม ภาคอิรวดี ที่มาภาพ : DVB TV News https://www.facebook.com/DVBTVNews