ThaiPublica > สู่อาเซียน > สร้างคืน “หอหลวงเชียงตุง” การ “ซื้อใจ”
ของมินอ่องหล่าย

สร้างคืน “หอหลวงเชียงตุง” การ “ซื้อใจ”
ของมินอ่องหล่าย

26 กุมภาพันธ์ 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นประธานในพิธีวางอิฐเงิน อิฐคำ สร้างหอหลวงเชียงตุงขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มาภาพ : เพจ Kengtung City

08.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรี เมียนมา ได้เป็นประธานในพิธีฝังอิฐเงิน อิฐคำ เปรียบได้กับพิธีวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างหอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ บริเวณริมหนองตุง ฝั่งตะวันตก ตรงข้ามที่ตั้งหอหลวงหลังเดิมซึ่งถูกกองทัพพม่าระเบิดทิ้งไปเมื่อ 31 ปีก่อน

SAC อนุมัติให้สร้างหอหลวงเชียงตุงขึ้นใหม่ตามคำเรียกร้องของชาวเชียงตุง เพื่อให้เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเชียงตุง โดยใช้ที่ดินซึ่งเคยเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าฟ้าเชียงตุงเป็นสถานที่ก่อสร้าง และยึดรูปแบบตามสถาปัตยกรรมของหอหลวงเชียงตุงหลังเดิม

ที่ดินซึ่งจะใช้สร้างหอหลวงหลังใหม่ กว้าง 300 ฟุต ยาว 200 ฟุต รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 60,000 ตารางฟุต ใช้งบประมาณในก่อสร้าง 4,000 ล้านจั๊ต หรือประมาณ 80 ล้านบาท

หลังเสร็จสิ้นพิธีวางอิฐเงินอิฐคำ SAC จะคัดเลือกบริษัทเพื่อมารับผิดชอบการก่อสร้างหอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ อย่างไรก็ตาม กำหนดการก่อสร้างจะเริ่มต้นเมื่อใด และต้องใช้เวลาก่อสร้างนานเท่าใด ยังไม่เป็นที่เปิดเผย

จายสามติ๊บเสือ กรรมการฟื้นฟูประวัติศาสตร์และมรดกรัฐฉานภาคตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ให้สัมภาษณ์ว่า หอหลวงหลังใหม่จะถูกทำเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมของเมืองเชียงตุงให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ โดยผู้บริหารเมืองเชียงตุง และชาวเมืองเชียงตุง จะช่วยกันดูแลรักษาหอหลวงหลังนี้สืบต่อต่อไป

……

หอหลวงเชียงตุง อาคารที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองเชียงตุง ซึ่งถูกกองทัพพม่าระเบิดทิ้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2534

บนผืนดินซึ่งเป็นรัฐฉานในปัจจุบัน เป็นถิ่นที่อยู่ของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นชาว “ไต” มีทั้งชาวไตโหลงหรือไทใหญ่, ไตมาว, ไตเหนือ, ไตลื้อ, ไตขืน, ไตยอง, ไตยวนหรือไตโยน นอกจากนี้ ยังมีชาวลัวะ (ละว้าหรือว้า), ชาวจีน, ชาวปะหล่อง (ตะอั้ง), ชาวลาหู่ (มูเซอ), ชาวอาข่า (อีก้อ), ชาวธนุ, ชาวปะโอ, ชาวม้งฯลฯ

ตั้งแต่อดีต ก่อนที่อังกฤษจะแผ่อิทธิพลเข้ามาบริเวณนี้ รัฐฉานประกอบด้วยเมืองต่างๆ 33 เมือง แต่ละเมืองเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นต่อกัน ทุกเมืองมีเจ้าฟ้าปกครองเปรียบดังกษัตริย์ของแต่ละเมือง และทุกเมืองต่างมีหอหลวงที่เป็นดั่งพระราชวัง ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่พำนักและที่ทำงานของเจ้าฟ้า

เชียงตุงเป็นเมืองของชาว “ไตขืน” หรือที่คนไทยคุ้นชินในชื่อ “ไทเขิน” เจ้าฟ้าเชียงตุงทุกพระองค์สืบเชื้อสายจากราชวงศ์มังราย

พงศาวดารเมืองเชียงตุงระบุว่า จุลศักราช 791 หรือ พ.ศ. 1772 พระยามังรายเสด็จประพาสป่ามาถึงสถานที่ซึ่งเป็นเมืองเชียงตุงปัจจุบัน เกิดพึงพอใจภูมิประเทศและทำเลที่ตั้ง จึงส่งกองทัพมายึดดินแดนจากชาวลัวะเจ้าของพื้นที่เดิม จากนั้นใน พ.ศ. 1786 พระยามังรายได้ส่งเจ้าน้ำท่วม ซึ่งเป็นราชบุตรขึ้นมาปกครองเมืองเชียงตุง

เมืองเชียงตุงจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะเชียงใหม่ต่อเนื่องมานานหลายร้อยปี จนต่อมา คนรุ่นหลังพยายามสร้างความเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของราชวงศ์มังรายที่กระจายออกไปยัง 5 เมืองสำคัญใน 4 ประเทศว่า “5 เชียง” อันหมายถึง เชียงใหม่, เชียงราย, เชียงตุง (รัฐฉาน-เมียนมา), เชียงรุ่ง (สิบสองปันนา-จีน) และเชียงทอง (หลวงพระบาง-ลาว)…

เจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงลำดับที่ 40 (พ.ศ. 2439-2478) ผู้ซึ่งสร้างความเจริญและความทันสมัยหลายประการให้แก่เชียงตุง เป็นผู้ดำริให้สร้างหอหลวงเชียงตุงขึ้นในปี 2449 บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ทดแทนหอหลวงหลังเดิมที่สร้างขึ้นจากไม้

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง ได้แรงบันดาลใจในการสร้างหอหลวงหลังนี้ จากการเดินทางไปประชุมที่อินเดีย

หอหลวงที่เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงดำริให้สร้างเป็นอาคารปูนซีเมนต์สูง 2 ชั้น เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างรูปแบบอาคารของอังกฤษและอินเดีย ถือเป็นอาคารที่สวยงามที่สุดหลังหนึ่งของเชียงตุงในยุคนั้น และเป็นอาคารที่สร้างขึ้นจากปูนซีเมนต์หลังแรกของเชียงตุง

หอหลวงเชียงตุงเริ่มสร้างในวันที่ 12 กรกฎาคม 2449 มีนายช่างชาวอินเดียที่เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงพามาด้วยจากอินเดีย เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ใช้เวลาสร้างเพียง 1 ปี ก็แล้วเสร็จ

หอหลวงเชียงตุงที่สร้างใหม่ นอกจากถูกใช้เป็นสถานที่ประทับของเจ้าฟ้าและเชื้อพระวงศ์แล้ว ยังถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับว่าราชการ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงใช้จัดงานราชพิธีต่างๆ ถือเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญานสำคัญของชาวเชียงตุง รวมถึงประชาชนในอีกหลายเมืองของรัฐฉาน…

เมื่อนายพลเนวินปฏิวัติยึดอำนาจในปี 2505 สหภาพพม่าและทุกหัวเมืองในรัฐฉานต่างถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ โดยรัฐบาลทหาร

หอหลวงเชียงตุงซึ่งเคยเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าฟ้าเชียงตุง ได้ถูกยึดไปเป็นสมบัติของกองทัพพม่า

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 ในยุคที่นายพลตานฉ่วยเป็นผู้นำสหภาพพม่า ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวเชียงตุงที่ดังออกมาจากทั่วทุกหัวระแหง กองทัพพม่าได้ระเบิดหอหลวงเชียงตุงทิ้ง และมอบที่ดินซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของหอหลวงให้บริษัทเอกชนเช่า สร้างเป็นโรงแรม ใช้ชื่อว่าโรงแรมนิวเชียงตุง และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมอะเมซซิง เชียงตุง ในภายหลัง

โรงแรมอะเมซซิง เชียงตุง ถูกสร้างขึ้นใหม่บนที่ดินซึ่งเคยเป็นหอหลวงเชียงตุง ในยุครัฐบาลเผด็จการทหารพม่า

การกระทำของกองทัพพม่าครั้งนั้น สร้างความสะทือนใจ และเจ็บช้ำน้ำใจอย่างแสนสาหัสแก่ชาวเชียงตุงทุกคน ชาวไตทุกกลุ่ม รวมถึงชนทุกชาติพันธุ์ในรัฐฉาน…

เมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ได้เสียงท่วมท้นจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวขึ้นบริหารประเทศ แทนที่รัฐบาลซึ่งมาจากทหาร

วันที่ 3 สิงหาคม 2562 เหล่าทายาทของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอิน แถลงร่วมกับชาวเชียงตุงอีกกว่า 150 คน จัดประชุมกันภายในวิหารวัดป่าแดง หัวข้อการประชุมวันนั้น ได้แก่ “การฟื้นหอหลวงเชียงตุงขึ้นมาใหม่”

ทายาทของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงที่เข้าร่วมประชุม เช่น เจ้าหญิงน้อย มังราย หรือ ดร.หยิ่น หยิ่น หน่วย ลูกสาวเจ้าสายเมือง มังราย (โอรสของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง), เจ้าศิริแก้วเมือง มังราย ลูกชายเจ้าแก้วเมือง, เจ้าแดง มังรายฯลฯ

ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 ชุด มีเจ้าแดด มังราย ลูกชายเจ้าสายเมือง มังราย เป็นประธาน ร่วมกับกรรมการอีกประมาณ 10 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้อาวุโสของเมืองเชียงตุง เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องการฟื้นหอหลวงเชียงตุงขึ้นมาโดยเฉพาะ

คณะกรรมการได้รวบรวมรายชื่อชาวเมืองเชียงตุงจำนวนมาก ทำเป็นหนังสือส่งถึงประธานาธิบดีวินมิ่น (ประธานาธิบดีเมียนมาที่มาจากพรรค NLD ในขณะนั้น) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมถึง ดร.ลิน ทุต มุขมนตรีรัฐฉาน ซึ่งเป็นคนของพรรค NLD

เนื้อความในหนังสือ ได้ขอให้รัฐบาลเมียนมา “คืน” ที่ดินซึ่งเคยเป็นที่ตั้งหอหลวงหลังเดิม กลับมาให้เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชน

กองทัพพม่า ระเบิดหอหลวงเชียงตุงเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 ที่มาภาพ : เพจ Kengtung City

หากรัฐบาลยินยอมคืนที่ดินผืนนี้ ชาวเชียงตุงจะร่วมกันสร้างหอหลวงหลังใหม่ขึ้นที่นี่ โดยยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมก่อนถูกระเบิดทิ้งในยุครัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เมื่อปี 2534

จายสามติ๊บเสือซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Shan News หลังเสร็จสิ้นการประชุมครั้งนั้นว่า ข้อเรียกร้องเพื่อฟื้นหอหลวงเชียงตุงขึ้นใหม่ ไม่ใช่ความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นฉันทามติร่วมของชาวเชียงตุงทุกคน ที่ต้องการเรียกศักดิ์ศรีความเป็น “ไต” ของตนกลับคืนมา…

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมสภาชาติพันธุ์ (Amyotha Hluttaw) หรือสภาสูงเมียนมา ดร.จายไส่แก้วสาม สมาชิกสภาสูงจากเขตเชียงตุง ตั้งกระทู้ถามถึงข้อเรียกร้องของชาวเชียงตุงที่ต้องการฟื้นหอหลวงเชียงตุงขึ้นใหม่ โดยขั้นแรกได้ขอให้รัฐบาลเมียนมามอบที่ดินซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงแรมอะเมซซิง เชียงตุง กลับคืนให้แก่ประชาชน

อู ติน รองรัฐมนตรีกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นผู้ตอบกระทู้นี้ โดยอธิบายว่า ที่ดินแปลงนี้รัฐบาลเมียนมาได้ให้นักธุรกิจ 2 รายเช่าเพื่อสร้างเป็นโรงแรมไปแล้ว โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา (MIC) สัญญาเช่ามีอายุ 70 ปี ดังนั้นจึงไม่สามารถคืนที่ดินให้ได้ ตามข้อเรียกร้องของประชาชน

อู ติน บอกว่า การจะคืนที่ดินตามข้อเรียกร้องที่ชาวเชียงตุงต้องการนั้น รัฐบาลจะนำมาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่ออายุการเช่าตามที่ระบุไว้ในสัญญาสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น

……

ความเคลื่อนไหวเรียกร้องขอคืนหอหลวงเชียงตุง ได้เงียบหายไป กระทั่งได้มีพิธีพิธีฝังอิฐเงิน อิฐคำ ในตอนเช้าวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เคยเป็นผู้บัญชาการทหาร ภาคสามเหลี่ยม ซึ่งมีกองบัญชาการอยู่ในจังหวัดเชียงตุง จึงมีความคุ้นเคยกับพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐฉาน โดยเฉพาะเมืองเชียงตุงเป็นพิเศษ

15 กุมภาพันธ์ 2565 ก่อนจะมีพิธีฝังอิฐเงิน อิฐคำ สร้างหอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ 2 วัน พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เป็นประธานในพิธียกยอดฉัตรวิหารของวัดมหาเมียตมุนี หรือวัดพระเจ้าหลวง กลางเมืองเชียงตุง และร่วมพิธีทำบุญในวาระครบรอบ 100 ปี ของวัดแห่งนี้

พิธีวางอิฐเงิน อิฐคำ สร้างหอหลวงเชียงตุง ซึ่งจัดขึ้นริมหนองตุงฝั่งตะวันตก ที่มาภาพ : เพจ TPM TV News

หลัง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพรรค NLD เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้ลงนามแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาประธาน SAC โดย 1 ในรายชื่อคณะที่ปรึกษาชุดนี้ มีชื่อ ดร.หยิ่น หยิ่น หน่วย หรือเจ้าหญิงน้อย มังราย หลานสาวของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง และเป็นผู้ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ฟื้นหอหลวงเชียงตุงขึ้นมาใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 รวมอยู่ด้วย

จายสามติ๊บเสือให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าไม่ทราบถึงสาเหตุ หรือเบื้องหน้าเบื้องหลังของการที่ SAC ได้อนุญาตให้สร้างหอหลวงเชียงตุงกลับคืนมาใหม่ในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม จายสามติ๊บเสือบอกว่า หอหลวงเปรียบเหมือนหัวใจของชาวเชียงตุง ที่ชาวเชียงตุงทุกคนต่างเรียกร้องขอคืนมานานหลายปี กระทั่งมาถึงวันนี้ แม้ว่าหอหลวงที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ ไม่ได้อยู่ในจุดเดิม แต่ก็ถูกสร้างบนที่ดินของเจ้าฟ้าเชียงตุง และอยู่ไม่ห่างจากที่ซึ่งเคยเป็นหอหลวงหลังเก่า ดังนั้นถือว่า ได้สร้างความพอใจให้แก่ชาวเชียงตุงแล้วในระดับหนึ่ง

ภาพต้นแบบเพื่อใช้เขียนแบบสำหรับสร้างหอหลวงหลังใหม่ ที่มาภาพ : เพจ Tai TV Online

……

2 เดือน หลังทายาทเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ฟื้นหอหลวงเชียงตุง ในวันที่ 12 กันยายน 2562 เจ้าเห่หม่า แต๊ก ธิดาของเจ้าส่วยแต็ก เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเมืองหยองห้วย และประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่าหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลรัฐฉาน ขอให้ “คืน” สิทธิ์ครอบครองหอเจ้าฟ้าเมืองหยองห้วยกลับมาให้เธอ ในฐานะทายาทโดยชอบธรรมของเจ้าส่วยแต๊ก

เจ้าเห่หม่า แต๊ก ทำหนังสือทวงคืนหอเจ้าฟ้าหยองห้วยครั้งนี้ เป็นรอบที่ 5 โดยเธอได้ยื่นเรื่องทวงคืนครั้งแรกตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง เมื่อปี 2556 ต่อมาได้ยื่นอีกในปี 2557, 2558 และ 2560 แต่เธอก็ไม่เคยได้รับคำตอบจากรัฐบาลของประธานาธิบดีเตงเส่งแต่อย่างใด

การประชุมของทายาทเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงและชาวเมืองเชียงตุง เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องขอคืนหอหลวงเชียงตุง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562 ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News

หลังนายพลเนวินปฏิวัติในปี 2505 ได้จับเจ้าส่วยแต๊กไปคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนหอเจ้าฟ้าเมืองหยองห้วยได้ถูกยึดเป็นสมบัติของกองทัพพม่าในปี 2507 และถูกปล่อยทิ้งร้างจนทรุดโทรม

หอเจ้าฟ้าเมืองหยองห้วยตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบอินเล จังหวัดตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบมัณฑเลย์ในสมัยเจ้าส่วยแต๊ก

หอเจ้าฟ้าแห่งนี้เคยมีพื้นที่ 28 ไร่ แต่ต่อมาถูกตัดทอนที่ดินออกไปจนเหลือเพียง 19 ไร่

ปี 2556 รัฐบาลเมียนมาได้มอบกรรมสิทธิ์ให้รัฐบาลรัฐฉานเป็นผู้รับผิดชอบหอเจ้าฟ้าหยองห้วย

รัฐบาลรัฐฉานได้เปิดหอเจ้าฟ้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงรูปภาพ 91 รูป ข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าฟ้า 338 ชิ้น รวมถึงเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของเจ้าฟ้า 138 ชุด โดยให้เจ้าเห่หม่า แต๊ก กับผู้ช่วยอีก 6 คน คอยดูแล และเป็นผู้อธิบายเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทใหญ่ แก่ผู้ที่มาเยือน

เจ้าเห่หม่า แต๊ก บอกกับสำนักข่าว Shan News หลังส่งหนังสือทวงคืนหอเจ้าฟ้าหยองห้วยเป็นรอบที่ 5 ว่า หากเธอได้สิทธิ์ครอบครองหอเจ้าฟ้าหยองห้วยกลับคืนมา เธอจะตั้งมูลนิธิขึ้นดูแล และจะพัฒนาพิพิธภัณฑ์หอเจ้าฟ้า ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน

8 เดือนต่อมา วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 เจ้าเห่หม่า แต๊ก ได้รับจดหมายตอบกลับจากทำเนียบประธานาธิบดีวินมิ่น

คำตอบที่ได้รับสร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่เจ้าเห่หม่า แต๊ก!!!

เนื้อความในจดหมายเขียนว่า ถ้ารัฐบาลคืนกรรมสิทธิ์หอเจ้าฟ้าเมืองหยองห้วยให้แก่ทายาทเจ้าส่วยแต๊กแล้ว เกรงว่าเหล่าทายาทจะแบ่งทรัพย์สินในหอเจ้าฟ้า แล้วนำออกไปขาย ดังนั้น รัฐบาลจึงขอยืนยันให้กรรมสิทธิ์หอเจ้าฟ้าเมืองหยองห้วย ยังคงเป็นของรัฐบาลรัฐฉานต่อไป

หลังพรรค NLD ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาลเมียนมา เจ้าเห่หม่า แต๊ก เคยหยิบยกเรื่องการขอคืนสิทธิ์ครอบครองหอเจ้าฟ้าเมืองหยองห้วยไปคุยกับอองซานซูจี ผู้นำพรรค NLD มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด อองซานซูจีบอกให้เธอไปคุยกันต่อที่กรุงเนปยีดอ

แต่ปรากฏว่าทำเนียบประธานาธิบดีวินมิ่น ได้ส่งจดหมายตอบกลับเรื่องนี้มาถึงเธอเสียก่อน

“ไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงอยากได้บ้านของคนอื่นนัก” เจ้าเห่หม่า แต๊ก ตั้งข้อสงสัยกับสำนักข่าว Shan News หลังเห็นเนื้อความในจดหมายตอบกลับ

การตั้งกระทู้ถามความคืบหน้าในการเรียกร้องขอคืนหอหลวงเชียงตุงในสภาสูงเมียนมา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 โดย ดร.จายไส่แก้วสาม(ขวา) และการตอบกระทู้โดย อู ติน(ซ้าย) รองรัฐมนตรีกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยว ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News

……

  • วิถีใหม่ใน“เชียงตุง”
  • เมื่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ตัดสินใจให้สร้างหอหลวงเมืองเชียงตุงกลับคืนมาใหม่แล้ว

    น่าติดตามดูว่า กรรมสิทธิ์ในการครอบครองหอเจ้าฟ้าเมืองหยองห้วย ที่เคยถูกเรียกร้องให้คืนแก่ทายาทมาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร…

    หอเจ้าฟ้าเมืองหยองห้วย ที่มาภาพ : สำนักข่าว Shan News