ThaiPublica > สู่อาเซียน > Timeline โควิด กับการเมืองในเมียนมา

Timeline โควิด กับการเมืองในเมียนมา

16 กุมภาพันธ์ 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

การประท้วงรัฐประหารในเมียนมา ที่มาภาพ : https://www.cbc.ca/news/world/myarnmar-coup-military-1.5914321

รัฐประหารในเมียนมาผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ ความเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ ยังคงเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง ขณะที่ฟากกองทัพก็ออกมาตรการมาใช้ควบคุมที่เข้มข้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ในเมียนมา ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร คือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 !!!

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 เมียนมามียอดผู้ป่วยสะสม 141,601 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 3,189 ราย รักษาหายแล้ว 130,331 คน และมีผู้ที่ยังป่วยและนอนรักษาตัวอยู่(Active Case) 8,081 คน(รายละเอียดดูได้จากกราฟผู้ป่วยสะสม 31 ก.ค.2563-14 ก.พ.2564)

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 สะสมตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2563-14 กุมพาพันธ์ 2564

นับแต่โควิด-19 เริ่มระบาดมาเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น 2,475,910 ราย จากประชากรทั้งหมดของเมียนมาที่มีกว่า 50 ล้านคน

เปรียบเทียบย้อนหลังไป 2 สัปดาห์ ในวันที่ 31 มกราคม 2564 ก่อนรัฐประหาร 1 วัน เมียนมามียอดผู้ป่วยสะสม 140,145 ราย เสียชีวิตรวม 3,131 ราย รักษาหายแล้ว 125,072 คน Active Case 11,942 คน

แม้ว่าทุกสาขาอาชีพต่างรณรงค์ให้ทุกคนออกมาใช้มาตรการอารยะขัดขืน(Civil Disobedience Movement : CDM) แต่แพทย์และพยาบาลที่รับผิดชอบเรื่องโควิด-19 ส่วนหนึ่ง ยังคงทำงาน มีการรายงานข้อมูลความคืบหน้าสถานการณ์โควิด-19 ผ่านเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา(MoHS) อย่างต่อเนื่อง

แน่นอน…ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ผลเชิงปริมาณที่ปรากฏออกมาในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ย่อมด้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนรัฐประหาร

ที่เห็นได้ชัดคือการตรวจคัดกรองกลุ่มตัวอย่างเพื่อหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นภารกิจที่ MoHS ทำมาตลอด

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว MoHS โหมตรวจเชิงรุก มีกลุ่มตัวอย่างได้รับการตรวจหาเชื้อ เฉลี่ยแต่ละวันประมาณ 20,000 ราย ที่สูงสุดคือวันที่ 18 ธันวาคม 2563 สามารถตรวจกลุ่มตัวอย่างวันเดียวได้ถึง 24,501 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1,116 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 4.60% ของผู้ที่ถูกตรวจในวันนั้นทั้งหมด

แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ทั่วประเทศเมียนมา สามารถตรวจกลุ่มตัวอย่างได้เพียง 702 ราย พบผู้ติดเชื้อ 16 คน หรือ 2.30% เท่านั้น(ดูรายละเอียดในกราฟยอดผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อต่อวัน)

ยอดผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในแต่ละวัน ตั้งแต่ 29 กันยายน 2563-14 กุมพาพันธ์ 2564

MoHS เริ่มเผยแพร่ข้อมูลจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการตรวจเชื้อเป็นรายวันตั้งแต่ 29 กันยายน 2563 ช่วงแรกจำนวนผู้ป่วยที่พบเทียบกับยอดผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อแต่ละวัน มีสัดส่วนค่อนข้างสูง คิดเปอร์เซ็นต์แล้วเป็นตัวเลข 2 หลัก

วันที่พบสูงสุด คือ 1 ตุลาคม 2563 วันนั้นมีการตรวจกลุ่มตัวอย่าง 5,352 คน พบผู้ติดเชื้อ 1,010 คน คิดเป็นสัดส่วนถึง 18.90%

แต่สัดส่วนการตรวจพบผู้ป่วยได้ลดลงมาเรื่อยๆตั้งแต่ 18 ธันวาคมปีที่แล้วจนถึงล่าสุด 14 กุมภาพันธ์ปีนี้ สัดส่วนผู้ป่วยที่พบทุกวันมีไม่ถึง 5%

อัตราส่วนผู้ป่วยที่ถูกตรวจพบจากการตรวจหาเชื้อแต่ละวัน ตั้งแต่ 29 กันยายน 2563-14 กุมพาพันธ์ 2564

วันที่พบน้อยที่สุด คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการใช้มาตรการ CDM วันนั้นทั่วเมียนมา ตรวจกลุ่มตัวอย่างได้ 1,987 คน พบผู้ป่วย 4 คน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.20% เท่านั้น(ดูรายละเอียดได้จากกราฟ % ผู้ป่วยที่พบจากการตรวจหาเชื้อแต่ละวัน)

อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงได้รับการรักษาตัว(Active Case) ยอด Active Case ของเมียนมา เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 19,859 คน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ช่วงที่กำลังมีการรณรงค์หาเสียงกันอย่างเข้มข้น ต่อมาตัวเลขค่อยๆลดลง และกลับขึ้นไปพีคใหม่ที่ 19,584 คน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการเฉลิมฉลองชัยชนะของพรรค NLD

จากนั้นยอด Active Case ได้ปรากฏแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนมาอยู่ที่หมื่นต้นๆ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงที่เพิ่งเริ่มต้นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งใหม่ๆ(รายละเอียดดูในกราฟผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังรักษาตัว)

จำนวนผู้ที่ยังป่วยและนอนรักษาตัวอยู่ สะสมตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2563-14 กุมพาพันธ์ 2564

ส่วนตัวเลข Active Case หลังรัฐประหาร ที่ลดลงมาต่ำกว่า 1 หมื่นคน เหตุผลสำคัญ คือมีการตรวจกลุ่มตัวอย่างน้อยลง จึงไม่พบผู้ป่วยใหม่มากนัก ขณะที่มีผู้หายป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน…

การระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 กับสถานการณ์การเมืองในเมียนมา เป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มพัฒนาขึ้นในจังหวะใกล้เคียงกัน ทั้ง 2 ปรากฏการณ์มีความผันแปรและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

หากมองว่ากระบวนการเลือกตั้งที่เริ่มตั้งแต่การรณรงค์หาเสียงในต้นเดือนกันยายน 2563 จนสิ้นสุดเมื่อมีการเฉลิมฉลองชัยชนะของพรรค NLD ในกลางเดือนธันวาคม 2563 เป็นตัวแปรหนึ่งต่อการแพร่ระบาดระลอก 2 ของเมียนมา

การรัฐประหาร ที่จนถึงขณะนี้สถานการณ์โดยรวมในเมียนมายังไม่นิ่ง ย่อมต้องมีผลต่อการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในเร็วๆนี้

Timeline ย้อนหลังที่ผสมผสาน 2 ปรากฏการณ์นี้เข้าด้วยกัน ในช่วงก่อนหน้านี้ อาจช่วยให้มองเห็นภาพความผันแปรซึ่งกันและกันของทั้ง 2 ปรากฏการณ์ได้ในระดับหนึ่ง

สัญลักษณ์การรณรงค์อารยะขัดขืน ในกลุ่มแพทย์และพยาบาลในเมียนมา ที่มาภาพ : เพจ MED INFO Myanmar

Timeline

การระบาดรอบแรก…

24 มีนาคม 2563
กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา(MoHS) รายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 ครั้งแรก 2 คน เป็นชาย อายุ 36 และ 26 ปี ที่เพิ่งเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

31 มีนาคม 2563
ผู้ป่วยโควิด-19 ในเมียนมา เสียชีวิตรายแรก เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 5 เพศชาย อายุ 69 ปี เดินทางกลับจากรักษาโรคมะเร็งที่ออสเตรเลีย และเพิ่งเข้ารับการรักษาโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเหว่บ่ากี ในย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม

1 กรกฎาคม 2563
ประกาศฉบับที่ 115/2563 ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมา(UEC) กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน

31 กรกฎาคม 2563
เมียนมา มียอดผู้ป่วยสะสมจากการระบาดของโควิด-19 รอบแรก 353 คน เสียชีวิต 6 คน รักษาหายแล้ว 296 คน มีผู้ที่ยังป่วยและยังคงรักษาตัวอยู่(Active Case) 51 คน

ก่อน 31 กรกฎาคม เมียนมาไม่พบผู้ป่วยในประเทศติดต่อกันเป็นเวลากว่า 2 เดือน ผู้ป่วยที่พบเพิ่มช่วงหลัง เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั้งหมด ในยอดผู้ป่วยสะสม 353 คน เป็นผู้ที่มาจากต่างประเทศ 192 คน(54%) และเป็นผู้ป่วยที่พบในประเทศ 161 คน(46%)

ณ วันที่ 29 กรกฏาคม มีรายงานกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากการระบาดรอบแรกรวม 113,498 คน

4 สิงหาคม 2563
UEC เปิดรับสมัครผู้ที่ประสงค์จะลงรับเลือกตั้ง ยอดผู้ป่วยสะสมในวันนั้นมี 355 ราย เสียชีวิต 6 ราย รักษาหายแล้ว 302 คน และ Active Case 47 คน

การระบาดรอบ 2…

16 สิงหาคม 2563
MoHS ตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 จากในประเทศรายแรกในรอบ 3 เดือน ในเมืองซิตต่วย รัฐยะไข่ เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 375 เพศหญิง อายุ 26 ปี เป็นพนักงานของธนาคาร CB Bank สาขาซิตต่วย ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศหรือได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมาก่อนหน้า

ผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 16 สิงหาคม มีรวม 375 ราย ผู้เสียชีวิตยังคงที่ 6 ราย รักษาหายแล้ว 329 คน Active Case 40 คน

31 สิงหาคม 2563
เริ่มสร้างสถิติใหม่ จากที่เคยพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มวันละไม่กี่คน วันนั้นพบผู้ป่วยเพิ่มวันเดียว 107 คน

ผู้ป่วยสะสม ณ สิ้นเดือนสิงหาคมมี 882 ราย เพิ่มกว่า 2 เท่าตัว หลังเริ่มการระบาดรอบใหม่เพียง 2 สัปดาห์ ผู้ที่หายป่วยแล้วขยับเล็กน้อยเพิ่มเป็น 354 คน ผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 6 ราย ส่วน Active Case มี 522 ราย เพิ่มมากกว่า 10 เท่า จากวันที่ 16 สิงหาคม

3 กันยายน 2563
ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุหลักพันเป็นวันแรก อยู่ที่ 1,111 ราย หลังตรวจพบผู้ป่วยใหม่ 116 คน มีผู้รักษาหายแล้ว 359 คน ผู้เสียชีวิตคงอยู่ที่ 6 ราย และ Active Case 746 คน

4 กันยายน 2563
มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นรายแรกในรอบเกือบ 2 เดือน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมเป็น 7 ราย ผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,171 ราย รักษาหายแล้วคงที่ 359 คน Active Case 805 คน

7 กันยายน 2563
Active Case ทะลุหลักพัน อยู่ที่ 1,026 คน พบผู้ป่วยใหม่ 166 คน ผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,419 ราย เสียชีวิต 8 ราย รักษาหาย 385 คน

8 กันยายน 2563
เริ่มต้นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งวันแรกตามประกาศของ UEC ฉบับที่ 173/2563 ที่ให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียง 60 วัน เริ่มตั้งแต่ 06.00 น. ของวันที่ 8 กันยายน จนถึง เที่ยงคืนของวันที่ 6 พฤศจิกายน

ยอดผู้ป่วยสะสมในวันนั้นอยู่ที่ 1,709 ราย เสียชีวิตรวม 10 ราย รักษาหายแล้ว 460 คน มี Active Case 1,239 คน

2 เดือนนับจากวันนั้น ทุกพรรคการเมืองต่างพยายามช่วงชิงพื้นที่สื่อและสังคมออนไลน์ ด้วยการงัดรูปแบบการหาเสียงต่างๆนาๆ มีทั้งการใช้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถอีแต๋น หัวรถคอนเทนเนอร์ เรือ รวมถึงสัตว์ประเภทต่าง มาเป็นพาหนะเพื่อขับเรียงแถวหาเสียงกันเป็นขบวน

มีการระดมมวลชนจำนวนมากลงมาเดินรณรงค์ตามท้องถนน ตลาดและชุมชนขนาดใหญ่ พรรคการเมืองขนาดใหญ่มีความได้เปรียบ เพราะสามารถระดมมวลชนได้ง่ายและมากกว่า

24 กันยายน 2563
พบผู้ป่วยใหม่ 1,052 คน เป็นยอดผู้ป่วยใหม่ที่พบเกินวันละ 1 พันคนเป็นวันแรก ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 8,344 ราย เสียชีวิตรวม 150 ราย รักษาหายแล้ว 2,381 คน Active Case 5,813 คน

เปรียบเทียบ 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ช่วงก่อนเริ่มรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ยอดในวันที่ 7 กันยายน พบผู้ป่วยใหม่ 166 คน มีผู้ป่วยสะสม 1,419 ราย เสียชีวิต 8 ราย Active Case 1,026 คน

27 กันยายน 2563
พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 743 คน ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุหลักหมื่นมาอยู่ 10,734 ราย เสียชีวิตรวม 226 ราย รักษาหายแล้ว 2,862 คน Active Case 7,646 คน

29 กันยายน 2563
จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่พบเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้ MoHS เปลี่ยนช่วงการเผยแพร่ข้อมูลโควิด-19 จากวันละ 2-3 รอบ เหลือเพียงวันละ 1 รอบ ในเวลา 20.00 น. ของทุกวัน และเริ่มเผยแพร่ตัวเลขกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการตรวจเชื้อแต่ละวัน กับยอดผู้ได้การตรวจเชื้อสะสมนับแต่เริ่มมีการระบาด

จำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อซึ่งมีการเผยแพร่ตัวเลขเป็นวันแรก 5,962 คน ยอดรวมผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อแล้วนับแต่เริ่มการระบาดมี 289,606 คน

2 ตุลาคม 2563
Active Case ทะลุหมื่นคน ขึ้นมาอยู่ที่ 10,794 คน หลังพบผู้ป่วยใหม่อีก 1,142 คน ผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 15,525 ราย รักษาหาย 4,378 คน ผู้ชีวิตเพิ่มเป็น 353 ราย มีผู้ได้รับการตรวจเชื้อ 6,895 คน ยอดรวมผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อนับแต่เริ่มระบาด 308,288 คน

23 ตุลาคม 2563
ยอดผู้เสียชีวิตทะลุเกินกว่า 1 พัน อยู่ที่ 1,005 ราย พบผู้ป่วยใหม่ 1,312 คน ผู้ป่วยสะสม 41,008 ราย รักษาหาย 21,144 คนActive Case18,859 คน

มีการตรวจกลุ่มตัวอย่าง 13,774 คน ยอดรวมผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อ 566,222 คน

29 ตุลาคม 2563
ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุ 5 หมื่น อยู่ที่ 50,403 ราย หลังพบผู้ป่วยใหม่ 1,331 คน รักษาหายแล้ว 30,007 คน ผู้เสียชีวิตรวม 1,199 ราย Active Case 19,197 คน

มีการตรวจกลุ่มตัวอย่าง 14,252 คน ยอดรวมผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อ 662,449 คน

7 พฤศจิกายน 2563
ในเวลา 2 เดือนที่ UEC เปิดให้พรรคการเมืองลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง จากยอดผู้ป่วยสะสม 1,709 ราย(8 ก.ย.) ได้เพิ่มเป็น 60,348 ราย ผู้เสียชีวิตจาก 10 ราย เพิ่มเป็น 1,396 ราย Active Case จาก 1,239 คน เพิ่มเป็น 14,286 คน

8 พฤศจิกายน 2563
วันเลือกตั้งทั่วไป MoHS เผยแพร่ข้อมูลในเวลา 20.00 น. ว่าพบผู้ป่วยใหม่ 929 คน ผู้ป่วยสะสม 61,277 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 1,420 ราย รักษาหายแล้ว 45,756 คน Active Case 14,101 คน

มีผู้ได้รับการตรวจเชื้อ 14,361 คน ยอดรวมผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อ 794,933 คน

15 พฤศจิกายน 2563
UEC ประกาศผลการเลือกตั้งที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ หลังผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว 1 สัปดาห์ ซึ่งพรรค NLD ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย เป็นจุดเริ่มต้นการเฉลิมฉลองของมวลหมู่สมาชิกพรรค NLD ที่ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม

วันเดียวกัน เป็นวันแรกที่ MoHS ได้เริ่มต้นรณรงค์ตามพื้นที่สำคัญ อาทิ ตลาด ศุนย์การค้า แหล่งชุมชนตามเมืองใหญ่ๆ ของทุกรัฐ ทุกภาค กระตุ้นให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างทางสังคม หลังยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ยอดผู้ป่วยสะสมขึ้นไปที่ 68,994 ราย เสียชีวิตรวม 1,577 ราย Active Case 15,066 คน

21 พฤศจิกายน 2563
มีผู้ได้รับการตรวจเชื้อหาเชื้อเกิน 1 ล้านคน อยู่ที่ 1,004,357 คน ยอดผู้ป่วยสะสม 77,848 ราย เสียชีวิตรวม 1,722 ราย Active Case 18,447 คน

26 พฤศจิกายน 2563
MoHS เริ่มเผยแพร่กิจกรรม “Photo of the Day” ผ่านเพจทางการของ MoHS

ช่วงแรก ภาพที่เผยแพร่เป็นกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้คนตามจุดต่างๆสวมหน้ากากอนามัย แต่ต่อมา เน้นภาพปฏิบัติการของของแพทย์และพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนักที่นอนอยู่บนเตียง ทุกภาพแสดงถึงความรุนแรงของอาการป่วยของโรคโควิด-19 หลังยังคงพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยอดสะสมขึ้นไปที่ 85,205 ราย เสียชีวิตรวม 1,846 ราย Active Case 18,714 คน

3 ธันวาคม 2563
ยอดผู้เสียชีวิตสะสมทะลุ 2 พัน ขึ้นไปที่ 2,028 ราย

5 ธันวาคม 2563
ยอด Active Case ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 19,584 คน

7 ธันวาคม 2563
ยอดผู้ป่วยสะสมพุ่งทะลุ 1 แสน อยู่ที่ 100,431 ราย

MoHS เริ่มเผยแพร่ข้อมูลเปอร์เซ็นต์การตรวจพบผู้ป่วยใหม่แต่ละวัน เทียบกับยอดรวมกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการตรวจในวันนั้น โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลย้อนหลังนับจากวันที่ 28 พฤศจิกายนเป็นต้นมา

11 ธันวาคม 2563
เมื่อการรณรงค์เรื่องการสวมหน้ากากอนามัยตามชุมชน ตลอดจนกิจกรรม“Photo of the Day” ไม่สามารถหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใหม่ที่ยังคงสูงขึ้นทุกวันได้ MoHS จำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรงขึ้น ที่ไม่แตกต่างจากการประจาน ด้วยการเผยแพร่ภาพชุดคนที่ไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัยซึ่งพบตามพื้นที่ต่างๆ พร้อมเขียนคำบรรยายว่าบุคคลเหล่านี้คือผู้ละเลยไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของ MoHS

18 ธันวาคม 2563
สามารถตรวจกลุ่มตัวอย่างได้สูงสุดถึง 24,501 คน ใน 1 วัน พบผู้ป่วยใหม่ 1,116 คน หรือ 4.60%

19 ธันวาคม 2563
ผลจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องของ MoHS ทำให้ยอดผู้ป่วยใหม่ที่พบเริ่มลดลงเหลือวันละไม่ถึง 1,000 คน และยังคงอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องจนถึงวันรัฐประหาร

25 ธันวาคม 2563
ยอดผู้ที่หายแล้ว ป่วยทะลุหลักแสน อยู่ที่ 100,940 คน

1 มกราคม 2564
อองซาน ซูจี กล่าวอวยพรปีใหม่ ระบุว่ารัฐบาลตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 จากประเทศอินเดีย และคาดว่าวัคซีนล๊อตแรกจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์

11 มกราคม 2564
มีผู้ได้รับการตรวจเชื้อหาเชื้อเกิน 2 ล้านคน อยู่ที่ 2,016,191 คน

21 มกราคม 2564
ยอดผู้เสียชีวิตรวมทะลุ 3 พัน ขึ้นมาอยู่ที่ 3,013 ราย

22 มกราคม 2564
COVISHIED วัคซีนโควิด-19 ซึ่งผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย(Serum Institute of India) จำนวน 1.5 ล้านโดส ถูกส่งมาถึงเมียนมา

27 มกราคม 2564
MoHS เริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกให้กับแพทย์ พยาบาล ที่เป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับโควิด-19 เป็นกลุ่มแรก และมีแผนฉีดให้แก่บุคคลกลุ่มอื่นตามที่กำหนดไว้ในแผนต่อไป

กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในทุกเมืองใหญ่ เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ที่มาภาพ : เพจ MED INFO Myanmar

1 กุมภาพันธ์ 2564
พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่า ทำรัฐประหาร

โควิด-19 ในเมียนมา ยังไม่ได้หายไปไหน…