ThaiPublica > สู่อาเซียน > ชาติพันธุ์กับการรัฐประหารในเมียนมา

ชาติพันธุ์กับการรัฐประหารในเมียนมา

22 กุมภาพันธ์ 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ที่มาภาพ : https://www.npr.org/2021/02/13/967714349/myanmar-protests-continue-in-wake-of-military-takeover

ข่าวซึ่งปรากฏในเมียนมาตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังเป็นความเคลื่อนไหวภาคประชาชน ที่ได้ออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า

แต่มีอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งซึ่งได้เริ่มปรากฏออกมา และต้องจับตาต่อไปอย่างใกล้ชิดนับแต่นี้ นั่นคือท่าทีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ…

ในจำนวนประชากรรวมกว่า 50 ล้านคน เมียนมาเป็นประเทศที่ประกอบด้วยคนชาติพันธุ์ต่างๆถึง 135 ชาติพันธุ์ หลายกลุ่มชาติพันธุ์มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเอง

เคยมีการเปรียบเปรยไว้ว่า ถ้าจะประเมินทิศทางความเป็นไปของเมียนมา ต้องดูบทบาทของ 3 เสาหลัก ได้แก่ กองทัพพม่า กลุ่มชาติพันธุ์ และภาคการเมือง โดยมีประชาชนเป็นฐาน

การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นการจัดการสมดุลระหว่าง 2 เสาหลัก คือกองทัพพม่ากับภาคการเมือง ขณะที่บทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ เพิ่งเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน ในฐานะรักษาการประธาน PPST จัดประชุมวาระพิเศษในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2564

ระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2564 คณะทำงานกระบวนการสันติภาพ(Peace Process Steering Team : PPST) ที่ประกอบด้วยผู้นำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ได้จัดประชุมวาระพิเศษผ่านระบบ Video Conference โดยมี พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน ในฐานะรักษาการประธาน PPST เป็นผู้นำการประชุม

การประชุมผ่านระบบ Video Conference ของผู้นำกองกำลัง 10 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนาม PPST
การประชุมผ่านระบบ Video Conference ของผู้นำกองกำลัง 10 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนาม PPST

การประชุมสิ้นสุดลงเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 โดย PPST มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะยืนอยู่ข้างประชาชน และได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ มีรายละเอียดดังนี้

1.PPST สนับสนุนความเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ได้ออกมาประท้วงอย่างสันติในการต่อต้านระบอบเผด็จการ และการเข้ามายึดอำนาจของกองทัพพม่า โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวตามแนวทางอารยะขัดขืน(Civil Disobedence Movement : CDM)

2.เรียกร้องให้กองทัพพม่า ต้องปล่อยตัวผู้นำและผู้ประท้วงทุกคนที่ถูกจับกุมตัวไปตั้งแต่เริ่มเข้ามายึดอำนาจโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข

3.ขอประณามการใช้ความรุนแรงในทุกวิถีทาง เพื่อจัดการกับผู้ที่ชุมนุมต่อต้านอย่างสันติ

4.PPST ขอยุติการเจรจาทางการเมืองกับตัวแทนกองทัพพม่าไปก่อน

5.PPST จะให้ความร่วมมือกับทุกประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร และหนทางแก้ไขสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

แถลงการณ์ของ PPST ที่ประกาศเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ยืนยันอยู่ข้างประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพพม่า

PPST เป็นองค์กรของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลไปแล้ว และรวมตัวเป็นองค์กรตัวแทนเพื่อเดินหน้ากระบวนการสันติภาพในเมียนมา

สมาชิกของ PPST ประกอบด้วย 1.สภากอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA)2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU)3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)4.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย(DKBA)5.แนวร่วมแห่งชาติชิน(CNF)6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF)7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน(ALP)8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC)9.พรรครัฐมอญใหม่(NMSP) 10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)

8 กลุ่มแรก ได้เซ็น NCA กับรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ในสมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง ส่วน 2 กลุ่มหลังคือ NMSP และ LDU เซ็น NCA กับรัฐบาลที่มีพรรค NLD ของอองซาน ซูจี เป็นแกนนำ

อย่างไรก็ตาม ในเมียนมา นอกจาก PPST แล้ว ยังมีองค์กรของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญอีกองค์กรหนึ่ง ได้แก่ Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FPNCC สมาชิกขององค์กรนี้ เป็นกองกำลังติดอาวุธ 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.กองทัพสหรัฐว้า(UWSA)2.กองทัพคะฉิ่น(KIA)3.กองทัพโกก้าง(MNDAA)4.พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(SSPP/SSA)5.กองทัพตะอั้ง(TNLA)6.กองทัพเมืองลา(NDAA)7.กองทัพอาระกัน(AA)

เปาโหย่วเสียง ประธานเขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า

พื้นที่ในการปกครองและเคลื่อนไหวของ 7 กลุ่มนี้ นอกจากกองทัพอาระกันที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคเหนือของรัฐยะไข่ขึ้นไปถึงตอนใต้ของรัฐชิน และกองทัพคะฉิ่น ที่เคลื่อนไหวอยู่ในรัฐคะฉิ่นแล้ว ที่เหลืออีก 5 กลุ่ม ล้วนมีพื้นที่อยู่ในรัฐฉานทั้งสิ้น

ทั้ง 7 กลุ่ม เป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาล มีบางกลุ่มที่ได้เซ็นสัญญาในลักษณะหยุดยิง 2 ฝ่ายไปตั้งแต่ก่อนเดือนตุลาคม 2538 เช่น กองทัพว้า กองทัพเมืองลา พรรคก้าวหน้ารัฐฉานฯลฯ

กองทัพสหรัฐว้า ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดในเมียนมา

FPNCC ตั้งขึ้นเพื่อใช้ให้เป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐบาล โดยในหมู่สมาชิก มีพันธะระหว่างกันว่า จะไม่มีการแยกเจรจากับรัฐบาลเป็นรายกลุ่ม

กองทัพว้าเป็นแกนนำผลักดันให้มีการจัดตั้ง FPNCC โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน มีประมาณ 4 เหตุผลที่จีนต้องเข้ามามีบทบาทเรื่องนี้ คือ

1.พื้นที่ในการปกครองและเคลื่อนไหวของ FPNCC ส่วนใหญ่เป็นชายแดนเมียนมา-จีน จึงเป็นเหมือนรัฐกันชนของ 2 ประเทศ ได้แก่

  • รัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ KIA อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติลีซอ นู่เจียง และเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน
  • เขตปกครองตนเองโกก้าง รัฐฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ MNDAA อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินซาง มณฑลยูนนาน
  • เขตพิเศษหมายเลข 2 สหรัฐว้า ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ UWSA อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน จังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน
  • เขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ NDAA อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน

2.ชายแดนเมียนมา-จีน มีช่องทางเข้า-ออกของสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่าง 2 ประเทศ อยู่หลายจุด จุดสำคัญที่สุด คือช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่ ในจังหวัดหมู่เจ้ของรัฐฉาน ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการค้าขายกันระหว่างจีนและเมียนมา มูลค่าสินค้าที่ซื้อขายกันผ่านช่องทางนี้ ตกปีละกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หมู่เจ้ เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองกำลังหลายกลุ่ม และเฉกเช่นพื้นที่ชายแดนทั่วไป ธุรกิจในหมู่เจ้ส่วนหนึ่งเป็นธุรกิจสีเทา เกี่ยวพันธ์กับผลประโยชน์ของกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม

นอกจากหมู่เจ้แล้ว ยังมีช่องทางค้าขายของเมียนมา-จีนที่มีความสำคัญรองลงมา ได้แก่ ช่องทางชิงส่วยเหอ ในเขตปกครองตนเองโกก้าง กับอีกหลายๆช่องทางในรัฐคะฉิ่น

เขตปกครองตนเองซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองทัพโกก้าง กองทัพว้า และกองทัพเมืองลา

3.ใน 7 กองกำลังที่เป็นสมาชิก FPNCC มี 5 กองกำลัง ได้แก่ กองทัพคะฉิ่น กองทัพว้า กองทัพโกก้าง กองทัพเมืองลา และพรรคก้าาวหน้ารัฐฉาน ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า(CPB) ซึ่งได้รับการจัดตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่เมื่อครั้งทำสงครามเผยแพร่อุดมการณ์

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์พม่าสลายตัวลงในปี 2532 กองทหารเคยอยู่ร่วมด้วยเหล่านี้ จึงได้แยกตัวออกมาเป็นกองกำลังเอกเทศ

4.จากชายแดนเมียนมา-จีน ที่รัฐฉาน ยาวลงไปตามทิศตะวันตกเฉียงใต้ถึงชายทะเลรัฐยะไข่ เป็นแนวท่อแก๊สธรรมชาติและน้ำมัน ที่จีนได้ลงทุนวางไว้เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงพลังงานจากอ่าวเบงกอลเข้าไปในจีน โดยไม่ต้องแล่นเรืออ้อมช่องแคบมะละกา

ยะไข่ยังเป็นรัฐที่จีนมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อยู่ในนั้น ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมที่เมืองเจ้าก์ผิ่ว จึงเป็นแหล่งผลประโยชน์สำคัญของจีน

แนวท่อแก๊ส-น้ำมัน ที่จีนวางจากชายทะเล รัฐยะไข่ ขึ้นไปจนถึงชายแดนรัฐฉาน ก่อนเข้าสู่จีนที่เมืองรุ่ยลี่ ตลอดแนวท่อนี้ เป็นพื้นที่ผลประโยชน์จำนวนมหาศาล และมีความเคลื่อนไหวชองกองกำลังต่างๆหลายกลุ่ม

FPNCC จึงเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งมีพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวท่อแก๊ส ท่อน้ำมัน ตั้งแต่รัฐฉานลงไปถึงรัฐยะไข่ ที่ล้วนเป็นแนวผลประโยชน์ของจีนทั้งสิ้น

หลังพรรค NLD ชนะเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2559 สถานการณ์สู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์ดูคล้ายสงบลง หากเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

แต่จริงๆแล้ว ไม่สงบ!!!

การปะทะกันระหว่างกองทัพกับกองกำลังกลุ่มต่างๆ ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา ในหลายๆจุด

  • ในรัฐยะไข่ มีกรณีที่กองทัพพม่าใช้กำลังกดดัน จนทำให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพหนีภัยสงครามเข้าไปอยู่ในบังคลาเทศกว่า 7 แสนคน
  • พื้นที่ตั้งแต่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ขึ้นไปถึงตอนใต้ของรัฐชิน เป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพอาระกัน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2561 จนเพิ่งมาสงบลงในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนต้นพฤศจิกายน 2563
  • ใน FPNCC เอง ก็ยังมีการรวมตัวกันกลุ่มย่อยในนามพันธมิตรภาคเหนือ ประกอบด้วย กองทัพคะฉิ่น กองทัพอาระกัน กองทัพโกก้าง และกองทัพตะอั้ง กลุ่มนี้มีการสู้รบกับกองทัพพม่าอย่างรุนแรง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 ในหลายพื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือสุดของรัฐฉาน ลงมาถึงรอยต่อระหว่างรัฐฉานกับภาคมัณฑะเลย์
พื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพอาระกันในรัฐยะไข่และรัฐชิน

การสู้รบที่รุนแรงและถูกเผยแพร่เป็นข่าวออกไปอย่างกว้างขวาง เริ่มเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2562 เมื่อพันธมิตรภาคเหนือได้ใช้อาวุธหนักโจมตีโรงเรียนนายร้อยเทคนิค ของกองทัพพม่า ในเมืองปินอูลวิน ภาคมัณฑะเลย์ และวางระเบิดสะพานก๊กตวิน ในหุบเขาก๊กเทค เมืองหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม รัฐฉาน

จากนั้นได้เกิดการสู้รบต่อเนื่อง และขยายพื้นที่ขึ้นไปถึงเมืองแสนหวี จังหวัดล่าเสี้ยว เมืองก๊ตขาย จังหวัดหมู่เจ้ มีการวางระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำสาลวินที่เมืองกุ๋นโหลง ซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองแสนหวีกับด่านชายแดนชิงส่วยเหอ เขตปกครองตนเองโกก้าง

การสู้รบครั้งนั้น กระทบต่อการค้าขายระหว่างจีนและเมียนมาโดยตรง เพราะเส้นทางขนส่งสินค้าหลักที่ซื้อขายกันผ่านด่านชายแดนหมู่เจ้และชิงส่วยเหอถูกตัดขาดลงอย่างสิ้นเชิง

ทำให้จีนต้องออกมาแสดงบทบาทเป็นตัวกลางให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลเมียนมากับผู้นำพันธมิตรภาคเหนือ

ศูนย์สันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ(NRPC) ซึ่งมีอองซาน ซูจี เป็นประธาน เป็นตัวแทนรัฐบาลจัดประชุมอย่างเป็นทางการกับตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือ 3 ครั้ง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และหาหนทางนำไปสู่สันติภาพที่ถาวร

การเจรจาครั้งที่ 2 ระหว่าง NRPC กับตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือ เมื่อปลายเดือนกันยายน 2562 ที่โรงแรมอเมซิง เชียงตุง เมืองเชียงตุง ที่มาภาพ : สำนักข่าว DMG

การประชุม 2 ครั้งแรก จัดในปลายเดือนสิงหาคมและปลายเดือนกันยายน 2562 ที่โรงแรมอเมซิ่ง เชียงตุง เมืองเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก การประชุมครั้งที่ 3 จัดในเดือนพฤศจิกายน ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน

จากนั้น เกิดการระบาดของโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่นและแพร่ออกไปยังอีกหลายเมืองของจีน ทำให้การเจรจาระหว่าง NRPC กับตัวแทนพันธมิตรภาคเหนือหยุดชะงักมาจนถึงปัจจุบัน…

ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพอาระกันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่า จึงได้หยุดสู้รบกันตั้งแต่ช่วงที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในต้นเดือนพฤศจิกายน

ส่วนพันธมิตรภาคเหนือ กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานว่าจะกลับมานั่งโต๊ะเจรจากับ NRPC อีกครั้งในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กำหนดสถานที่ไว้แล้วในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน แต่เกิดการยึดอำนาจขึ้นมาเสียก่อน

พื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองพลที่ 3 และ 5 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA 3 และ 5) ตั้งแต่เมืองเจ้าก์จี ภาคพะโค มาถึงจังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง

นอกจากการสู้รบหนักๆที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีการรบกันระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังเป็นรายกลุ่ม และระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ด้วยกันเอง เป็นจุดๆ ในหลายพื้นที่

  • กองทัพพม่ามีการปะทะกับกองทัพตะอั้งอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ในภาคเหนือของรัฐฉาน
  • กองทัพพม่า มีการสู้รบกับกองทัพคะฉิ่นในเมืองหมู่เจ้และน้ำคำ ภาคเหนือของรัฐฉาน
  • กองทัพพม่าสู้รบกับกองพลที่ 3 และ 5 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA 3 และ 5) ในพื้นที่เมืองเจ้าก์จี จังหวัดตองอู ภาคพะโค ข้ามมาถึงเมืองหญ่องเลปิน และจังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • กองทัพสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน(RCSS) สู้รบกับกองทัพพม่า กองทัพตะอั้ง และกองทัพของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน ในจังหวัดจ๊อกแม ภาคเหนือของรัฐฉาน

พื้นที่ซึ่งได้กล่าวถึงข้างต้น ทุกวันนี้ อุณหภูมิยังคุกรุ่นอยู่

ทั้งสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉานและกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง เป็นสมาชิกของ PPST ซึ่งแสดงท่าทีชัดเจนออกมาแล้ว จากแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ส่วนกองทัพอาระกัน กองทัพตะอั้ง กองทัพคะฉิ่น พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน เป็น 1 ใน 7 สมาชิก FPNCC

ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงขณะนี้ FPNCC ยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนใดๆออกมา!!!

ต้องจับตาว่าท่าทีของกลุ่มนี้ นับจากนี้ จะเป็นเช่นไร…