ThaiPublica > สู่อาเซียน > สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา “SAC” ตั้งจังหวัดเพิ่ม 46 แห่ง เตรียมรับเลือกตั้งใหญ่

สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา “SAC” ตั้งจังหวัดเพิ่ม 46 แห่ง เตรียมรับเลือกตั้งใหญ่

6 พฤษภาคม 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ประธาน SAC และนายกรัฐมนตรีเมียนมา
ที่มาภาพ : https://www.myanmar-now.org/en/news/criminal-charges-of-torture-filed-against-myanmar-junta-leaders-in-turkey

วันที่ 30 เมษายน 2565 สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้ปรับโครงสร้างพื้นที่การปกครองภายในใหม่ จากเดิมที่มีเขตการปกครองระดับจังหวัด หรือที่ในภาษาพม่าเรียกว่า“ขะไหย่” ทั่วประเทศรวม 75 จังหวัด ได้เพิ่มจำนวนจังหวัดขึ้นอีก 46 จังหวัด โดยยกระดับเขตการปกครองซึ่งเดิมเคยอยู่ในระดับอำเภอ หรือที่เรียกว่า “มิ่วแหน่” ขึ้นเป็น“ขะไหย่”ใหม่ 46 แห่ง

การปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นไปตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ให้เหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความราบรื่นในการบริหารงานภายใน ทั้งด้านการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้พื้นที่การปกครองระดับ “ขะไหย่” หรือจังหวัดในเมียนมา นับจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 121 จังหวัด

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ในการประชุมใหญ่ สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ครั้งที่ 1/2022 ที่กรุงเนปิดอ ซึ่งมี พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ประธาน SAC และนายกรัฐมนตรีเมียนมา เป็นประธาน มีหลายวาระถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครั้งนี้

แต่มีวาระหนึ่งที่เว็บไซต์ของฝ่ายสารสนเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด เมียนมาได้มีการรายงานข้อมูลออกมาเพียงสั้นๆว่า พล.ท.โซ ทุต รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอแผนเพิ่มจังหวัดใหม่ทั่วประเทศ แต่ไม่ได้ลงในรายละเอียด

ในวันเดียวกัน People Media – Myanmar Political เพจข่าวซึ่งสนับสนุน SAC ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมตามมาว่า กระทรวงมหาดไทยเตรียมยกระดับเขตการปกครองระดับอำเภอประมาณ 42 แห่งทั่วประเทศ ขึ้นเป็นจังหวัดใหม่ เพื่อเตรียมรับกับการเลือกตั้งใหญ่ ที่ SAC มีแผนจะจัดขึ้นในอนาคต โดยแผนการนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมา(UEC) ได้มีการหารือกับพรรคการเมืองทุกแห่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเฟซบุ๊กได้ปิดบัญชีเพจ People Media – Myanmar Political และเพจ People Media ไปแล้วโดยไม่ให้เหตุผล ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565

การประชุม SAC ครั้งที่ 1/2022 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเนปิดอ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่มาภาพ : ฝ่ายสารสนเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด เมียนมา

……

ตามรัฐธรรมนูญปี 2551 โครงสร้างการปกครองในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 7 ภาค ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า กับอีก 7 รัฐชาติพันธุ์ ที่ประชากรส่วนใหญ่ในแต่ละรัฐ เป็นคนชาติพันธุ์นั้นๆ กับกรุงเนปิดอ ซึ่งเป็นพื้นที่ปกครองเฉพาะในฐานะเมืองหลวงของประเทศ

ใน 7 ภาค 7 รัฐชาติพันธุ์ และกรุงเนปิดอ ยังแบ่งโครงสร้างภายในออกเป็น 75 จังหวัด 330 อำเภอ กับอีก 469 เมือง(เทียบเท่าตำบล)

นอกจากนี้ ยังมีเขตปกครองตนเอง(Self Administered Zone : SAZ) 5 แห่ง และพื้นที่ปกครองตนเอง(Self Administered Division : SAD) อีก 1 แห่ง โดยทั้ง SAZ และ SAD มีฐานะเทียบเท่าจังหวัด ประกอบด้วย

1.เขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง มีชื่อเรียกเป็นเขตพิเศษหมายเลข 1
2.เขตปกครองตนเองชนชาติปะหล่อง
3.เขตปกครองตนเองชนชาติปะโอ
4.เขตปกครองตนเองชนชาติธนุ
5.เขตปกครองตนเองชนชาตินากา

SAZ 4 แห่งแรก อยู่ในรัฐฉาน ส่วน SAZ ที่ 5 เขตปกครองตนเองชนชาตินากา อยู่ในภาคสะกาย บริเวณชายแดนติดกับรัฐนากาแลนด์ของอินเดีย

ส่วน SAD 1 แห่ง คือพื้นปกครองตนเองชนชาติว้า มีชื่อเรียกว่าเขตพิเศษหมายเลข 2 มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งในภาคเหนือของรัฐฉาน ติดชายแดนจีน และภาคตะวันออกของรัฐฉาน ติดชายแดนไทย

ในภาคตะวันออกของรัฐฉานยังมีเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ที่แม้เป็นเขตปกครองตนเองของชนเผ่าลื้อ อยู่ติดกับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ของจีน แต่ตามโครงสร้างการปกครองแล้ว เมืองลามีศักดิ์เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง

แต่ในการประกาศจัดตั้งจังหวัดใหม่ 46 แห่ง เขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นอีกจังหวัดหนึ่งของรัฐฉานตะวันออก แยกออกมาจากจังหวัดเชียงตุง

แผนที่เมียนมา แยกตามภาคและรัฐชาติพันธุ์ ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย

……

การประกาศตั้งจังหวัดใหม่อีก 46 แห่ง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 กระทรวงมหาดไทย เมียนมา ใช้วิธีออกเป็นประกาศจำนวน 15 ฉบับ ได้แก่ประกาศฉบับที่ 319/2022 ถึงประกาศฉบับที่ 333/2022

โดยรายละเอียดของจังหวัดที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ เรียงชื่อตามลำดับในตัวอักษรพม่า(ยกเว้นกรุงเนปิดอ) ประกอบด้วย

รายชื่อจังหวัดทั้งเก่าและใหม่ รวม 121 จังหวัด แยกรายพื้นที่ภาคและรัฐ ซึ่งถูกเผยแพร่ในสื่อของรัฐ The Mirror Daily(ภาษาพม่า) และ The Global New Light of Myanmar(ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2565
……

การจัดโครงสร้างโดยเพิ่มจังหวัดใหม่ SAC มองเป้าหมายถึงผลการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดทั้งหมด 121 แห่ง ยังไม่มีการแจกแจงรายละเอียดออกมาว่า แต่ละจังหวัด ประกอบด้วยอำเภอใดบ้าง กี่อำเภอ ซึ่งประเด็นนี้มีผลต่อการเลือกตั้งโดยตรง

ตามข้อกำหนดในรัฐนูญเมียนมาฉบับปี 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โครงสร้างรัฐสภาเมียนมา(Pyidaungsu Hluttaw) ประกอบด้วย

1.สภาชาติพันธุ์(Amyotha Hluttaw) หรือสภาสูง ประกอบด้วยสมาชิก 224 คน ในนี้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 168 คน ที่เหลือ 56 คน เป็นโควต้าของกองทัพ

2.สภาผู้แทนราษฎร(Pyithu Hluttaw) หรือสภาล่าง ประกอบด้วยสมาชิก 440 คน ในนี้ 110 คน เป็นโควต้าของกองทัพ

ส่วนอีก 330 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่แบ่งเขตเลือกตั้งเป็นรายอำเภอ ซึ่งหมายความว่า สมาชิก Pyithu Hluttaw 330 คน เป็นตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนทั่วประเทศ อำเภอละ 1 คน

ดังนั้น อีกไม่นานนี้ ต้องมีการจัดสรรพื้นที่ระดับอำเภอ 330 อำเภอ ลงไปในจังหวัดที่มีอยู่ทั้งหมด 121 จังหวัด กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ยกเว้น SAC อยากจะแก้รัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มจำนวนอำเภอ หรือจำนวนสมาชิก Pyithu Hluttaw…