ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 9): จรรยาบรรณและคุณธรรมสถาบันการเงิน

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 9): จรรยาบรรณและคุณธรรมสถาบันการเงิน

20 เมษายน 2019


นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่

ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุว่าได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย แจงข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ “เอิร์ธ”
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 1): การค้นหาความจริงว่าความเสียหายเกิดจากอะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” ยื่นลาพักชั่วคราว “บทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” 2 เดือนครึ่ง
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 2): ความจริงปิดกันไม่ได้…
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 3): เปรียบเทียบการให้สินเชื่อกับการขายหุ้นกู้
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 4): ระเบียบ…มีไว้เพื่ออะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 5): หมื่นสองพันล้านเกิดขึ้นอย่างไร…?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 6): ตัวละครลับ กับมาตรฐานที่แตกต่างกัน?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 7): คำถามในมุมมองผู้ถือหุ้นกู้…
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 8): คำถาม…ที่ยังไม่มีคำตอบ
  • เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Kittiphun Anutarasoti ต่อเป็นตอนที่ 9 ว่า “ผมไม่ได้เขียนมาซักพักใหญ่ๆ เนื่องจากใช้เวลากับทีมที่ปรึกษาทางกฎหมายของผมในการเตรียมตัวเรื่องอุทธรณ์และเตรียมตัวเพื่อต่อสู้ในกระบวนการต่อไปที่ ป.ป.ช. ตามที่ผมได้เขียนไปก่อนหน้านี้ ผมได้ทราบข่าวว่าทางธนาคารกรุงไทยได้ยื่นเรื่องไปที่สำนักงาน ป.ป.ช.แล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ถึงแม้กระบวนการอุทธรณ์จะยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ มีพี่ๆ น้องๆ หลายๆ ท่านก็ถามมาด้วยความห่วงใยว่ามีความคืบหน้าอะไรหรือไม่ วันนี้ผมเลยขอถือโอกาส update ทุกๆ ท่านผ่านบทความใน Facebook”

    ก่อนอื่นขอแชร์ให้ทุกท่านทราบว่า หลังจากที่ได้ปรึกษากับทีมที่ปรึกษาทางกฎหมายในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ผมได้ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ไปที่ธนาคารกรุงไทยวันนี้(19 เมษายน 2562) โดยเหตุผลหลักๆ ที่ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ ถึงแม้ว่าเป็นการทำอุทธรณ์แบบการเดาข้อกล่าวหาเพราะจนถึงปัจจุบัน ผมก็ยังไม่เคยได้รับทราบข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน รวมถึงเอกสารต่างๆที่ใช้ในการกล่าวหา ถึงแม้ผมจะได้ทำการขอไปหลายครั้ง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับคำตอบจากทางธนาคารกรุงไทย คือส่งไปแล้วเงียบหายไป นอกจากการปฏิเสธการให้เอกสารข้อมูลที่ใช้เป็นหลักฐานถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดย 2 ครั้งเป็นการปฏิเสธมาที่ผมโดยตรง และอีก 1 ครั้งผ่านศูนย์ข้อมูลข่าวสารฯ

    ในขณะนี้ ผมจะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารฯ แต่ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ที่ธนาคารกรุงไทยจะสิ้นสุดในวันที่ 26 เมษายนที่จะถึง และผมจะได้ทำหนังสือขอยืดระยะเวลาการอุทธรณ์ต่อออกไปตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากธนาคารกรุงไทย ผมเลยตัดสินใจยื่นเรื่องอุทธรณ์ไป เพราะไม่ต้องการรอจนนาทีสุดท้ายและหากไม่ได้รับการอนุญาต อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการส่งเรื่องอุทธรณ์ดังกล่าว และจากที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มเรื่องนี้ คงพูดได้ว่า ไม่รู้จะคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือเพิ่มเติมจากเหตุใด เพราะผมไม่แน่ใจว่าธนาคารกรุงไทยมีความต้องการให้ผมชี้แจงข้อเท็จจริงหรือไม่

    ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากที่ผมได้ส่งหนังสือไปหลายฉบับในช่วงกว่า 14 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้รับคำตอบมาเป็นครั้งแรก เพื่อแจ้งให้ผมทราบว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้ธนาคารกรุงไทยพิจารณาให้ผมได้รับทราบข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอ ตลอดจนเข้าถึงข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้สามารถใช้ประกอบการอุทธรณ์ และขอให้ทางธนาคารกรุงไทยได้พิจารณาคำชี้แจงต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะหมายถึงประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องสิทธิ์ของธนาคารกรุงไทยในการดำเนินการทางวินัย การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษที่อาจไม่เป็นไปตามระเบียบของธนาคาร และประเด็นอื่นๆที่ผมได้เคยถามไป ทั้งผ่าน Facebook และหนังสือที่ทำถึงคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย อย่างครบถ้วน

    “ผมทราบว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ติดตามบทความที่ผมเขียนใน Facebook จนบัดนี้ ผมไม่ทราบว่าทางธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วหรือยัง และในฐานะผู้กำกับดูแล ทางธนาคารแห่งประเทศไทย จะดำเนินการสอบสวนหรือตรวจสอบหากมีการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเพิ่มเติมหรือไม่”

    นอกจากนั้น หากพิจารณาถึงหนังสือดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงไม่ได้เห็นด้วยกับกระบวนการตรวจสอบที่มีความไม่เป็นธรรม หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับรายละเอียดข้อกล่าวหา และการเข้าถึงเอกสารและข้อมูลทีใช้ในการกล่าวหา

    จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎนั้น อย่างที่เล่า จนถึงปัจจุบัน ผมยังไม่เคยได้รับอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดข้อกล่าวหา หรือ เอกสารและข้อมูลที่ทางธนาคารกรุงไทยอ้างว่าเป็นหลักฐาน หากเป็นเช่นนี้ ผลจากกระบวนการดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังนำมาใช้ในการตัดสินคุณสมบัติของผมได้หรือไม่ และในบทบาทของผู้กำกับดูแลที่เน้นย้ำเรื่องจริยธรรม และธรรมาภิบาลที่ดี จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือไม่ ผมเชื่อว่าคงมีคนติดตามดูอีกมากมายครับ

    “ในช่วงระหว่างที่ผมเตรียมเรื่องอุทธรณ์นั้น มีคำถามมากมายจากทีมที่ปรึกษาทางกฎหมาย และผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ที่ติดตามอ่านบทความใน Facebook หลายคำถาม เป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียวครับ สิ่งที่หลายๆ ท่านถามผมคือ ทำไมการกล่าวหาถึงหยุดที่ระดับผมซึ่งไม่มีอำนาจใดๆ ในการอนุมัติสินเชื่อ แล้วคนอนุมัติ ไม่มีใครได้รับการกล่าวหาเลยหรือ ผมเชื่อว่านักกฎหมายหลายๆ ท่านก็มองเห็นถึงประเด็นเดียวกัน”

    นอกจากนั้นยังมีหลายท่านที่เข้าใจถึงระบบการทำงานของธนาคาร มีการตั้งคำถามว่า โดยปรกติธนาคารมีระบบการทำงานที่มีผู้เกี่ยวข้องมากมายในบทบาทที่คานอำนาจกันหรือที่เรียกกันติดปากว่า check and balance เช่น ทีมงานที่ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองความเสี่ยงสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้กับคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ ทีมงานปฏิบัติการซึ่งทำหน้าที่ในการทำธุรกรรมให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการอนุมัติ หน่วยงานตรวจสอบภายใน ที่ทำหน้าที่สุ่มตรวจความผิดปรกติของธุรกรรมและการปฏิบัติตามระเบียบของธนาคาร หรือแม้กระทั่งหน่วยงานตรวจสอบจากภายนอกเช่น ทีมงานตรวจสอบของของธนาคารแห่งประเทศไทย หลายคนสงสัยว่า ผู้เกี่ยวข้องต่างๆเหล่านี้รวมถึงผู้บริหารในระดับผู้บริหารสายงานเหมือนผม ถูกตรวจสอบด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ผมคิดว่าจากหลายประเด็น หลายคำถามที่ทุกคนตั้ง ผมคงพูดได้ว่า อาจจะมีหลายคนเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจสอบ และความโปร่งใส ไม่ต่างไปจากผมครับ

    จนถึงปัจจุบัน มีคำถามมากมาย แต่ก็ยังไม่มีคำตอบให้กับสังคมและผู้เสียหาย ผมคงได้แต่ตั้งคำถามทิ้งไว้ครับ ว่าจรรยาบรรณและคุณธรรมของสถาบันการเงินแปลว่าอะไร

    คณะกรรมการธนาคารกรุงไทย ที่ได้รับรู้ความจริงอีกด้านหนึ่ง มีผู้เสียหายจำนวนมากรวมถึงลูกค้ารายย่อยธนาคารเองที่ซื้อหุ้นกู้จากธนาคารนับพันๆราย คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยจะยังคงนิ่งเฉยต่อไปหรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแล รับรู้ถึงเรื่องที่ไม่ปรกติในกระบวนการตรวจสอบ จะยังคงนิ่งเฉยหรือ แล้วจะมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับสังคมและผู้เสียหายหรือไม่ ว่าตกลงความเสียหายเกิดจากอะไรกันแน่ แล้วธนาคารจะป้องกันความเสียหายอย่างเดียวกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร และผู้เสียหายรายย่อยนับพันราย จะสามารถเรียกร้องความเสียหายได้ จากใคร และอย่างไร

    ผมได้ยินมาว่า ทางธนาคารกรุงไทย ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายเพิ่มเติมอีกหลายราย ผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะความกดดันจากเรื่องนี้หรือเปล่า เนื่องจากจนปัจจุบัน ทางธนาคารยังไม่ได้ให้ความกระจ่างแก่ผู้เสียหาย ผมก็หวังครับ ว่าที่ปรึกษาทางกฎหมายต่างๆ อาจจะจุดประกายเกี่ยวกับความถูกต้องให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนัก ผมจำได้ว่ามีการพูดถึงเรื่องการใช้เอกสารเท็จ เอกสารปลอมในการเบิกจ่ายเงินกู้ มีการแจ้งความร้องทุกข์ ไปที่ DSI ตั้งแต่กันยายน 2560 ผมก็อยากทราบว่ามีข้อสรุปแล้วหรือไม่ หากยังไม่มี ผมว่าคำถามหลักคำถามหนึ่ง ที่คาใจผมและหลายๆคนเป็นอย่างมากคือ ผมอยากทราบว่าการไม่ประคองสถานการณ์ที่มีผลมาจากสภาพคล่องในวันนั้น ตัดสินใจจากข้อเท็จจริง หรือการคาดเดาครับ หากไม่รู้ว่าต้นตอปัญหาคืออะไร จะแก้ปัญหาถูกต้องได้อย่างไร น่าคิดนะครับ ว่าความเสียหายเกิดจากใครกันแน่…

    # จรรยาบรรณและคุณธรรมสถาบันการเงิน เรื่องจริงหรือแค่พูดให้ดูดี
    # บทพิสูจน์ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน