ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 10) : 3 คำถามที่ขอคำตอบจากแบงก์กรุงไทยและผู้กำกับดูแล

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 10) : 3 คำถามที่ขอคำตอบจากแบงก์กรุงไทยและผู้กำกับดูแล

29 เมษายน 2019


นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ

ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุว่าได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

ที่ผ่านมาได้โพสต์ข้อเขียนในเฟซบุ๊กมาอย่างต่อเนื่องเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านและตั้งคำถามในหลายประเด็น ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Kittiphun Anutarasoti ว่า “เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาส update ทุกท่านในตอนที่ 9 ว่าผมตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ไป เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ ในการให้รายละเอียดข้อกล่าวหา รวมถึงการยืนยันไม่ให้เอกสารที่มีการอ้างอิงว่าเป็นหลักฐาน ทั้งที่เป็นสิทธิ์ซึ่งผมพึงได้รับตามกฎหมาย”

นายกิตติพันธ์เขียนว่า “เมื่อวันพุธที่ 24 เมษายน 2562 ได้รับจดหมายฉบับลงวันที่ 12 เมษายน 2562 จากธนาคารกรุงไทย ที่ตอบจดหมายของผมฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผมขอรายละเอียดข้อกล่าวหาเพื่อผมจะได้ชี้แจงได้ โดยวันที่ลงในจดหมายของธนาคารกรุงไทยได้ลงวันที่ก่อนผมยื่นอุทธรณ์ และใช้เวลาเดินทางถึง 12 วัน ทั้งที่ปรกติแค่วันเดียวก็ถึงแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ถึงจะได้รับจดหมายนี้ก่อนหน้านี้ ก็คงไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไร เพราะไม่ได้มีการให้รายละเอียดหรือข้อมูลใดๆ นอกจากการยืนยันว่าข้อกล่าวหาที่ส่งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 นั้นชัดเจนอยู่แล้ว”

“จากระยะเวลาที่ใช้กว่า 2 เดือนในการตอบคำถาม คาดว่าน่าจะเป็นการตอบตามคำขอหรือคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผมทราบมาว่า มีการเรียกประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย และกรรมการอีกหลายท่านไปพบ เรื่องการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาทุกๆ คน”

ทั้งนี้ได้ลงรูปเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ดู เริ่มตั้งแต่จดหมายที่กล่าวหาวันที่ 25 ธันวาคม 2561 และจดหมายที่ได้ขอรายละเอียดข้อกล่าวหาครั้งสุดท้ายฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ตลอดจนจดหมายจากธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2562 รวมทั้งจดหมายที่ธนาคารกรุงไทยตอบมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2562

“ผมเลยถือโอกาสนี้ update ให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และทุกๆ ท่านได้เห็นคำตอบของทางธนาคารกรุงไทย ว่าถึงแม้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย จะได้แจ้งให้ธนาคารกรุงไทย พิจารณาให้ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนได้รับทราบข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอ ตลอดจนเข้าถึงข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ทางธนาคารกรุงไทยได้มีการยืนยันว่า ข้อกล่าวหาฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2561 นั้นชัดเจนอยู่แล้ว”

นายกิตติพันธ์ตั้งคำถามพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า”จากจดหมายที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยส่งให้ผม โดยคาดว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยคงเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้รับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาอย่างเพียงพอ และไม่ได้รับรายละเอียดที่อ้างว่ามีการกระทำความผิด รวมถึงการไม่ได้เข้าถึงข้อมูลและเอกสารที่ถูกอ้างว่าเป็นหลักฐานนั้น ธนาคารกรุงไทยทำไม่ได้เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้หากธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า ธนาคารกรุงไทยดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบและกล่าวหาอย่างถูกต้องแล้ว คงไม่มีคำสั่งให้ธนาคารกรุงไทยดำเนินการเช่นนั้น”

ทั้งนี้ได้ตั้งคำถามต่อว่าจากเอกสารทั้งหมด ท่านคิดว่าทางธนาคารกรุงไทย ได้ทำตามคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร พร้อมสรุปเป็นคำถามใน 3 หัวข้อหลักๆดังนี้

1. ข้อกล่าวหาและเอกสารพยานหลักฐาน ใครที่ผิด ใครที่อาจปกปิดข้อเท็จจริง

“ผมก็แปลกใจและไม่เข้าใจ ว่าธนาคารกรุงไทยกล่าวหาผมว่ากระทำความผิด แต่ทำไมธนาคารกรุงไทยถึงให้รายละเอียดและแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดไม่ได้ หากจะบอกว่าผมทำอะไรผิด ก็บอกมาให้ชัดได้ว่า ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ถึงแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้ธนาคารกรุงไทยได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ชัดเจน และให้ผมเข้าถึงพยานหลักฐานต่างๆได้ตามกฎหมาย แต่ธนาคารกรุงไทยก็ยังยืนยันว่าข้อกล่าวหาที่ส่งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 นั้นชัดเจนอยู่แล้ว”

พร้อมตั้งคำถามว่า “สถานการณ์แบบนี้ชวนให้ผมคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ธนาคารกรุงไทยไม่มีพยานหลักฐานในการกล่าวหาผม เมื่อถูกทุกฝ่ายตั้งคำถามจึงใช้วิธีเงียบอย่างเดียว ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมใช้เวลาไปกับทีมกฎหมาย เพื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะผมเห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดทุกคนต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย”

ผมขอยกตัวอย่างข้อกล่าวหาสัก 2 ข้อ เป็นตัวอย่างครับ ว่าหากผมได้รับทราบข้อกล่าวหาที่ชัดเจน และได้รับการเข้าถึงเอกสาร ผมมั่นใจว่าสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้อย่างชัดแจ้งแน่นอน

1) ข้อกล่าวหาที่ว่า ผมไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อและคณะกรรมการบริหารกำหนดนั้น ผมก็อยากทราบว่าคณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขอะไร และทางทีมงานได้ปฏิบัติอย่างไรที่ไม่เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด จาก work flow ของธนาคารกรุงไทย ผมต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

2) ข้อกล่าวหาที่ว่า ผมไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้ในสิ้นปีที่ 5 กำหนดให้ลูกหนี้จะต้องนำเงินมาชำระหนี้ให้ธนาคาร จากการ refinance หนี้ที่เหลืออยู่ (41% ของวงเงิน) และมีการนำเสนอให้ระงับการใช้วงเงินความเสี่ยงต่ำเป็นความเสี่ยงสูง เรื่องนี้ผมถามหน่อยเถอะครับ ใครอนุมัติครับ ผมไม่ใช่คนอนุมัติ คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อมีกี่ท่าน มีใครบ้าง และในคณะกรรมการบริหารมีใครบ้าง มติคณะกรรมการทั้งสองชุดบันทึกว่าอะไร หากดูจากข้อกล่าวหาของธนาคารกรุงไทย ผมสงสัยว่าคณะกรรมการลืมไปหรือไม่ว่าคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อท่านอื่นๆ และคณะกรรมการบริหารนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งของแต่ละเรื่อง เข้าใจทุกประเด็นได้อย่างดี และก่อนอนุมัติได้สอบถามข้อสงสัยทุกเรื่องอย่างละเอียด ถ้ามีอะไรไม่ถูกต้องคงไม่มีอนุมัติ

“นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่ผมเชื่อว่า หากได้รับทราบข้อกล่าวหาที่ชัดเจน และได้รับการเข้าถึงเอกสารที่อ้างว่าเป็นหลักฐานต่างๆ ผมเชื่อว่าผมสามารถชี้แจงได้อย่างชัดเจนทุกๆ ข้อแน่นอน เพียงแต่ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องนี้จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 2 ปี ผมยังคงไม่ได้รับสิทธิ์ที่ผมพึงมีตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ผมจึงต้องการให้ทุกท่านได้รับรู้ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่เคยมีใครบอก แล้วท่านจะทราบว่าความจริงที่เกิดขึ้นคืออะไร”

พร้อมถามย้ำว่า “ใครกันแน่ที่เป็นคนผิด และใครกันแน่ที่อาจจะปกปิดข้อเท็จจริง”

2. สินเชื่อ vs หุ้นกู้ มาตรฐานการกล่าวหาที่แตกต่าง

นอกจากเรื่องการไม่ให้รายละเอียดข้อกล่าวหา และการเข้าถึงเอกสารแล้ว หากพิจารณาจากจดหมายกล่าวหาของกรุงไทย ผมยังเห็นว่า มีประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ดูเหมือนไม่ได้มีการพิจารณาถึงทุกบทบาทของธนาคารกรุงไทย เพราะมีความไม่สอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัดในการกล่าวหาเรื่องสินเชื่อ โดยเฉพาะหากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหุ้นกู้

อย่างที่ผมเคยเขียนไปในตอนที่ 3 ธนาคารกรุงไทยมีหลายบทบาท ตั้งแต่ให้สินเชื่อ รวมไปถึงการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ผมขอยกตัวอย่าง ข้อกล่าวหาที่ว่าผมไม่ยับยั้งการเบิกเงินกู้ในเดือนสิงหาคม 2558 จากงบการเงินที่อ่อนตัวลงในไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งประกาศในวันที่ 14 สิงหาคม 2558 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคาร

โดยนายกิตติพันธ์ตั้งคำถามว่า “แต่ธนาคารกรุงไทยลืมไปแล้วหรือว่า หลังจากเดือนสิงหาคม 2558 นำหุ้นกู้ไปขายอีก 2 ชุด จำนวนรวม 5,500 ล้านบาท”

ครั้งที่ 1 จำนวน 1,500 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2558 ด้วยข้อมูลทางการเงินไตรมาส 3 ปี 2558 ผลประกอบการไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปี 2558 แทบไม่มีความแตกต่างกัน

ครั้งที่ 2 จำนวนเงิน 4,000 ล้านบาท ในเดือนตุลาคม 2559 ผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2559 ที่ใช้ประกอบการออกหุ้นกู้ชุดนี้ หากเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 มีการอ่อนตัวลงกว่าเดิมพอสมควร

พร้อมย้ำว่า “ขอลงรูปผลประกอบการในช่วงเวลาต่างๆ ข้างต้น เทียบให้ดูอีกครั้ง และขอเรียนคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย ว่าธนาคารกรุงไทยเป็นแกนนำในการขายหุ้นกู้ทั้งสองชุด”

ยิ่งไปกว่านั้น ผมว่าคำถามต่อว่า ธนาคารกรุงไทยโดยคณะกรรมการบริหาร มีความคิดเห็นอย่างไรกับผลประกอบการและงบดุลของกลุ่มลูกหนี้ก่อนออกหุ้นกู้ชุดที่ 2 เรื่องนี้ธนาคารมีการบันทึกไว้ชัดเจน แล้วการขายหุ้นกู้นั้น สอดคล้องหรือไม่กับมุมมองด้านความเสี่ยงโดยคณะกรรมการบริหาร หากการไม่ยับยั้งการเบิกเงินกู้ในเดือนสิงหาคม 2558 เป็นเหตุให้ธนาคารเสียหาย ผมตั้งถามง่ายๆ ว่า ธนาคารกรุงไทยโดยบุคคลที่รับผิดชอบเรื่องการขายหุ้นกู้คือผู้ที่ทำความเสียหายให้กับลูกค้าที่ซื้อหุ้นกู้จากธนาคารกรุงไทยหรือไม่ นี่คือคำถามที่ผมและหลายคนอยากได้คำตอบ

“ถ้าคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย มีความจริงใจกับลูกค้ารายย่อย ผมคิดว่า คณะกรรมการธนาคาร ควรชี้แจงให้ลูกค้าที่เสียหายได้ทราบว่า คณะกรรมการมีความคิดเห็นอย่างไรกับผู้บริหารที่รับผิดชอบในการขายหุ้นกู้ที่ทำหน้าที่ในขณะนั้น (ทั้งนี้ไปตรวจสอบชื่อได้) หากการขายหุ้นกู้นั้นไม่สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการบริหารในขณะนั้น คณะกรรมการธนาคารจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ลูกค้าธนาคารมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม ผมคิดว่าการแก้ปัญหาแบบนี้ มีแต่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าธนาคารกรุงไทยโปร่งใส ในทางกลับกัน ถ้าคณะกรรมการธนาคารเพิกเฉย ไม่ทำอะไร ประชาชนก็ยังมีคำถามอยู่ไม่จบ”

3. ข้อความฝากถึงธนาคารประเทศไทยและประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย

นายกิตติพันธ์ได้ตั้งคำถามข้อที่ 3 ว่า “ถ้าธนาคารกรุงไทยยังเงียบอยู่แบบนี้ ประชาชนจะมีคำถามว่า ธนาคารกรุงไทยกำลังทำอะไร แล้วจะถามต่อไปว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารกรุงไทยกำลังทำอะไร ทำไมถึงเงียบกันหมด ในขณะที่ประชาชนได้รับความเสียหายและความไม่เป็นธรรม ผมเองได้ร้องเรียนไปทางธนาคารแห่งประเทศไทยหลายครั้งแล้ว จนบัดนี้ผมยังไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า เรื่องนี้ได้ถูกจัดการอย่างไร ผมยังคอยคำตอบอยู่ครับ”

“ผมขอพูดถึงบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารกรุงไทยว่า ผมมีโอกาสไปดูประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมเห็นว่าในเรื่องดังกล่าว มีการพูดถึงบทบาทและความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคม ในวันนี้ ผมเป็นผู้เสียหายและได้ร้องเรียนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ผมก็หวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำตามประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณพนักงาน ที่มีการเน้นย้ำเรื่อง มีความเป็นกลาง เที่ยงธรรม ว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าธนาคารที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวของธนาคารกรุงไทยไม่มีความเป็นธรรมมากพอกับผู้ถูกกล่าวหา”

นายกิตติพันธ์ฝากคำถามถึงประธานคณะกรรมการกรุงไทย ดร.เอกนิติ (นิติทัณฑ์ประภาศ) ว่าการกระทำของฝ่ายจัดการที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ เป็นไปตามที่ท่านเห็นสมควรหรือไม่ หลังจากมีคำสั่งจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ทางธนาคารกรุงไทยส่งรายละเอียดให้ผู้ถูกกล่าวหา แต่ทางฝ่ายจัดการยืนยันว่า สิ่งที่ทำไป ชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งที่มีคำสั่งของท่านและธนาคารแห่งประเทศไทย ผมจึงมีคำถามต่อไปว่า ธนาคารกรุงไทยทำแบบนี้ได้หรือไม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารกรุงไทยมีบทลงโทษอะไรหรือไม่ หรือว่า ทุกคดีต้องมุ่งไปที่ศาลยุติธรรมอย่างเดียว ถ้าเช่นนั้นผมขอถามต่อไปครับว่า ตามกฎหมายแล้ว ถ้าพนักงานของรัฐจงใจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจนทำให้ผมได้รับความเสียหายแล้ว ต้องรับผิดทางอาญาไหม”

พร้อมตั้งคำถามในตอนท้ายว่า “ผมขอตั้งคำถาม ว่าจรรยาบรรณสถาบันการเงิน และคุณธรรม แปลว่า อะไรแน่ และมีจริงหรือไม่…”

  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย แจงข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ “เอิร์ธ”
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 1): การค้นหาความจริงว่าความเสียหายเกิดจากอะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” ยื่นลาพักชั่วคราว “บทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” 2 เดือนครึ่ง
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 2): ความจริงปิดกันไม่ได้…
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 3): เปรียบเทียบการให้สินเชื่อกับการขายหุ้นกู้
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 4): ระเบียบ…มีไว้เพื่ออะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 5): หมื่นสองพันล้านเกิดขึ้นอย่างไร…?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 6): ตัวละครลับ กับมาตรฐานที่แตกต่างกัน?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 7): คำถามในมุมมองผู้ถือหุ้นกู้…
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 8): คำถาม…ที่ยังไม่มีคำตอบ
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 9): จรรยาบรรณและคุณธรรมสถาบันการเงิน
  • หมายเหตุ : ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Kittiphun Anutarasoti