ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 5) : หมื่นสองพันล้านเกิดขึ้นอย่างไร…?

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 5) : หมื่นสองพันล้านเกิดขึ้นอย่างไร…?

4 กุมภาพันธ์ 2019


นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่

ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย แจงข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ “เอิร์ธ”
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่1) : การค้นหาความจริงว่าความเสียหายเกิดจากอะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ”ยื่นลาพักชั่วคราว “บทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” 2เดือนครึ่ง
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่2) : ความจริงปิดกันไม่ได้…
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่3) : เปรียบเทียบการให้สินเชื่อกับการขายหุ้นกู้
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 4) : ระเบียบ…มีไว้เพื่ออะไร?
  • เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ได้โพสต์ เฟซบุ๊กKittiphun Anutarasoti เกี่ยวกับผลสอบสวนและข้อกล่าวหาว่า สำหรับตอนที่ 5 นี้ ผมขอออกตัวก่อนว่า ช่วงที่เกิดปัญหา NPL นั้น ผมไม่ได้ทำงานอยู่ธนาคารกรุงไทยแล้ว เพราะฉะนั้นข้อความต่อไปนี้ ผมเขียนจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ผมเพียงแต่ตั้งคำถามจากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะนายธนาคารที่คลุกคลีด้านต่างๆ โดยเฉพาะสินเชื่อมามากกว่า 25 ปี

    การเกิด NPL – ลูกค้าที่ปล่อยไป เริ่มมีปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก บริษัทลูกหนี้อยู่ในสถานการณ์คับขัน ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยได้ตรงเวลา ก็จะเข้ามาขอผ่อนผันการจ่ายหนี้ ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะการทำธุรกิจโดยทั่วไป บางครั้งดี บางครั้งก็มีปัญหา ทั้งๆ ที่เรามั่นใจว่าคิดและตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้ว แต่หน้าที่หลักของธนาคารอีกอย่างหนึ่งคือ จะทำอย่างไรไม่ให้ปัญหาเล็กกลายเป็นปัญหาใหญ่

    คำถามสำคัญ คือ เมื่อเกิดปัญหา ธนาคารทำอย่างไรต่อจากนั้น ตามหลักการแล้ว เราต้องวิเคราะห์สถานการณ์ก่อนว่า ต้นตอของปัญหาคืออะไร เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมโดยรวม หรือเรื่องการแข่งขันธุรกิจ หรือเป็นการลงทุนที่เกินตัว หรือสาเหตุอื่นๆ และที่สำคัญที่สุดจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคารน้อยที่สุด และเนื่องจากบทบาทธนาคารนั้นซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ผู้รับผิดชอบของธนาคารในขณะนั้นจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดด้วย

    ตามประสบการณ์ของผม ในเกือบทุกกรณี เมื่อลูกหนี้ประสบปัญหาที่อาจจะทำให้ไม่สามารถชำระคืนได้ตรงเวลา และเต็มจำนวน ลูกหนี้มักจะขอผ่อนผัน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อบรรเทาปัญหา และมีเวลาในการแก้ปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารเองก็มักจะยอม เพราะอย่างน้อยจะเป็นการประคองสถานการณ์ไปก่อน จะได้มีเวลาทำความเข้าใจถึงปัญหา เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

    เมื่อธนาคารเข้าใจต้นตอของปัญหาแล้ว จึงจะสามารถพิจารณาหาวิธีที่จะได้หนี้คืนเต็มจำนวนหรือทำให้ความเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ กระบวนการนี้ปรกติแล้วใช้เวลาหลายเดือน ในลูกหนี้รายใหญ่มากๆ ที่มีผู้เกี่ยวข้องมากๆ อาจใช้เวลาเป็นปี คำถามหลักๆ คือทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไป และธนาคารเองก็จะได้เงินที่ปล่อยกู้ไปคืนมา จริงๆ ตรงนี้เป็น common sense ด้วยซ้ำไปว่า ไม่มีเจ้าหนี้รายไหน อยากให้ลูกหนี้เจ๊งหรือตาย เพราะนั่นหมายถึงเงินที่เราปล่อยกู้ไปก็สูญไปด้วย

    “เรื่องการเตรียมพร้อมของธนาคารในการรองรับ NPL โดยการตั้งสำรองนั้นเป็นคนละเรื่องกับการจัดชั้นลูกหนี้ให้เป็น NPL ธนาคารสามารถทยอยตั้งสำรองเพิ่มก่อนที่จะมีการจัดชั้นได้ตามปรกติ การเตรียมพร้อมจึงไม่ใช่เหตุผลของการที่ธนาคารต้องจัดชั้นลูกหนี้ให้เป็น NPL
    อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า ช่วงที่เกิดปัญหา NPL ของเอิร์ธ ผมไม่ได้ทำงานอยู่กรุงไทยแล้ว ดังนั้นไม่อาจรู้เรื่องตื้นลึกหนาบางได้ และไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงอะไรได้ เพียงแต่ขอตั้งคำถามให้ทุกท่านช่วยกันคิดดังต่อไปนี้”

    1.กรุงไทยได้ใช้ธรรมเนียมปฏิบัติปรกติของธนาคารในการบริหารปัญหาของบริษัทลูกหนี้ที่อยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกันหรือไม่อย่างไร มีการผ่อนผันการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้มีโอกาสแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหรือไม่เพียงใด

    2.ทำไมกรุงไทยถึงตัดสินใจให้หนี้ทั้งจำนวน 12,000 ล้าน หากรวมถึงหุ้นกู้ที่ธนาคารเป็นแกนนำในการจำหน่ายอีก 5,500 ล้าน กลายเป็น NPL อย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่สัปดาห์ (ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรกติให้เวลาเยียวยาได้ถึง 90 วัน) การผิดนัดงวดแรกหลักร้อยล้านบาทนั้นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของ 17,500 ล้าน ยังไม่รวมหนี้ที่ธนาคารอื่นๆอีก เราต้องคิดไหมว่าหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารอื่นเป็นหนี้ปรกติอยู่หรือไม่ หากยังเป็นปรกติอยู่ ถ้าหนี้ที่กรุงไทยหลักร้อยล้านเป็น NPL จะสร้างปัญหาให้หนี้หมื่นล้านหรือไม่ มีการตระหนักถึงผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ว่า หากลากทั้งหมดลงมาปัญหาจะใหญ่ขนาดไหน ใครจะได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง มีความพยายามจะประคองสถานการณ์ลดความเสียหายบ้างหรือไม่ เพียงใด มีการเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นหรือไม่ ไม่มีทางออกที่เสียหายน้อยกว่านี้จริงหรือ คงต้องตั้งคำถามว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้ดูแลแก้ปัญหากันอย่างไร ได้คำนึงถึงหนี้ก้อนอื่นๆที่ยังไม่ได้รับผลกระทบของธนาคารเอง หุ้นกู้ และหนี้ที่ธนาคารอื่น ธนาคารกรุงไทยได้พยายามควบคุมปัญหาให้จบลงหรือไม่เพียงใด

    3.ทำไมมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพิเศษอย่างรวดเร็ว หลังจากผิดนัดชำระหนี้ เพียงแค่ประมาณสองสามสัปดาห์ จริงหรือไม่ที่ว่าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษไม่เป็นไปตามระเบียบธนาคารในขณะนั้น จริงหรือไม่ที่คณะกรรมการชุดพิเศษนี้ได้รับการตั้งโดยผู้มีส่วนได้เสีย มีกลุ่มบุคคลที่ลดวงเงิน มีบุคคลที่รับผิดชอบการจำหน่ายหุ้นกู้อยู่ เรื่องเหล่านี้ผู้มีส่วนได้เสียและสังคมอยากรู้ และผมก็อยากรู้ว่าการกระทำทั้งหมดนี้ถูกต้องหรือไม่และทำเพราะเหตุใด

    เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า NPL เกิดขึ้นจากการผิดนัดหลักร้อยล้าน และได้ฉุดลากให้วงเงินทั้งหมดของธนาคารเอง 12,000 ล้าน หุ้นกู้อีก 5,500 ล้าน และหนี้ที่ธนาคารอื่นอีกหลายพันล้านกลายเป็น NPL ด้วย การตัดสินใจแบบนี้ ทำอย่างละเอียดถี่ถ้วนหรือไม่ ถูกหลักวิชาและธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารกรุงไทยหรือไม่ และได้คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบคอบหรือไม่ เพียงใด

    ประเด็นเหล่านี้ ผมก็ได้แต่เพียงตั้งคำถาม ผมเชื่อว่าไม่เพียงแต่ผมที่อยากรู้คำตอบ ผู้เสียหายอีกมากมายก็คงอยากรู้คำตอบเช่นเดียวกัน ก็คงได้แต่หวังพึ่งผู้กำกับดูแลต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งสองสถาบันนั้นมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ให้เข้ามาตรวจสอบ และสามารถให้ความชัดเจนกับประชาชนได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

    “ผมก็ยังยืนยันครับ ว่าเรื่องนี้ควรทำเป็นกรณีศึกษาของประเทศ แต่การตรวจสอบนั้นต้องทำโดยองค์กรที่เป็นกลางจริงๆ และโปร่งใส โดยตรวจสอบทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงนำมาป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างนี้ขึ้นอีก”

    #จรรยาบรรณสถาบันการเงิน
    #บทพิสูจน์ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน
    #ความจริงต้องปรากฏ
    #จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี หวังว่าจะทำจริง