ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 8): คำถาม…ที่ยังไม่มีคำตอบ

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 8): คำถาม…ที่ยังไม่มีคำตอบ

14 มีนาคม 2019


นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่

ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย แจงข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ “เอิร์ธ”
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่1) : การค้นหาความจริงว่าความเสียหายเกิดจากอะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ”ยื่นลาพักชั่วคราว “บทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” 2เดือนครึ่ง
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่2) : ความจริงปิดกันไม่ได้…
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่3) : เปรียบเทียบการให้สินเชื่อกับการขายหุ้นกู้
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 4) : ระเบียบ…มีไว้เพื่ออะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 5) : หมื่นสองพันล้านเกิดขึ้นอย่างไร…?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ(ตอนที่ 6) : ตัวละครลับ กับมาตรฐานที่แตกต่างกัน?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 7): คำถามในมุมมองผู้ถือหุ้นกู้…
  • เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Kittiphun Anutarasotiต่อเป็นตอนที่ 8 ว่าผมได้มีโอกาสอ่านการให้สัมภาษณ์ที่ทาง Thaipublica ได้นำเสนอในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ผมต้องยอมรับว่าผมอ่านแล้วหลายเรื่องที่ผมไม่เข้าใจ

    ผมได้ถามคำถามหลักๆ ไปหลายรอบ ทั้งผ่านทางโซเชียลมีเดีย และที่เป็นทางการผ่านหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่จนปัจจุบัน ผมยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ นอกจากจดหมายตอบกลับจากบางหน่วยงานที่ผมได้ร้องเรียนไปว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ว่าอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงของเรื่องที่ผมได้ร้องเรียนไป

    ผมก็อยากได้คำตอบครับ เห็นมีการประกาศเสียงดังฟังชัดว่าทุกอย่างทำตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ของธนาคารกรุงไทย และพร้อมถูกตรวจสอบ ผมเลยอยากจะรบกวนให้ช่วยตอบคำถามผมที่ผมตั้งไว้ผ่านสื่อได้เลยครับ

    ผมขอเขียนคำถามหลักๆ ซ้ำนะครับ ผมขอย้ำครับ ว่าคำถามผมนั้นตอบง่าย เพียงแค่ใช่หรือไม่ใช่ หากท่านใดมีความเห็นเรื่องนี้ รบกวนให้ความเห็นหรือคำแนะนำได้นะครับ ว่าคำถามต่างๆ เหล่านี้ ท่านคิดว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไร และหากเป็นท่านที่อยู่ในสถานการณ์เหมือนผม ท่านจะอยากได้รับคำตอบของคำถามเหล่านี้หรือไม่

    1. ธนาคารกรุงไทยมีการสอบสวนทางวินัยผมจริงหรือไม่ หากการสอบสวนไม่ได้เกิดขึ้นจริง และเอกสารไม่ใช่เอกสารจริง ผมรบกวนกรุณาแจ้งให้ผมทราบด้วยครับ

    2. ตามระเบียบธนาคารกรุงไทย มีสิทธิ์สอบสวนทางวินัยผมหรือไม่ หากไม่มีสิทธิ์ที่จะสอบสวน นั่นหมายถึงกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดพิเศษทำผิดระเบียบของธนาคารกรุงไทย และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช่หรือไม่ การที่ ดร.เอกนิติ (นิติทัณฑ์ประภาส) ประธานคณะกรรมการธนาคาร พูดเรื่องธนาคารกรุงไทยไม่มีอำนาจสอบสวนทางวินัยคนนอกธนาคาร เป็นการชี้ให้เห็นหรือไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง และมีใครเคยฟังไหมครับ

    3. จริงหรือไม่ครับ ที่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดพิเศษไม่เป็นไปตามระเบียบธนาคารกรุงไทยขณะนั้น จริงหรือไม่ครับ ที่มีการแก้ระเบียบเรื่องนี้ตามหลัง จริงหรือไม่ครับ ที่มีการให้คณะกรรมการมีมติรับรองความถูกต้องของการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดพิเศษชุดนี้หลายเดือนหลังจากการตั้งกรรมการ หากจริง เป็นไปตามกฎเกณฑ์และระเบียบธนาคารหรือไม่ อย่างไร

    4. การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตั้งโดยบุคคลที่มีส่วนได้เสียและมีผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่ เป็นไปตามกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีหรือไม่ อย่างไร?

    ผมอยากฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ธนาคารกรุงไทย ช่วยตรวจสอบและให้ความกระจ่างกับสังคมด้วยครับ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ปฏิบัติถูกต้องตามกฎเกณฑ์ หรือไม่ อย่างไร

    ในเรื่องที่มีการพูดว่า “พวกเราต้องคิดว่าธนาคารกรุงไทยโดยเงินภาษีประชาชนเสียหายหมื่นกว่าล้านบาทในเคสกรณีหนึ่ง จะให้เราอยู่เฉยๆ เหรอครับ ฝากคิดประเด็นนี้ด้วย” ผมเห็นด้วยกับคำพูดนี้มาตลอด และเน้นย้ำเสมอมาว่า ผมสนับสนุนให้มีการตรวจสอบ แต่ต้องทำอย่างเป็นกลางและโปร่งใส โดยต้องตรวจสอบให้ครบทุกส่วน ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องสินเชื่ออย่างเดียว ที่ธนาคารเดียว ต้องสอบสวนคนที่ออกหุ้นกู้ด้วยจะได้ครบถ้วน ผมคิดว่าจนถึงปัจจุบัน เรายังไม่เคยได้ยินข้อสรุปเลยว่าต้นเหตุความเสียหายคืออะไรกันแน่

    และในประเด็นเรื่องการตรวจสอบ เคยมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงคำถามว่า เคยมี NPL ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคารกรุงไทย ในวงเงิน 2 หมื่นกว่าล้านจริงหรือไม่ แล้วคณะกรรมการบริหารโดยประธานกรรมการบริหารคนเดียวกัน ได้มีการตรวจสอบกระบวนการอำนวยสินเชื่อและอนุมัติสินเชื่อเรื่องดังกล่าว ด้วยมาตรฐานเดียวกับที่ตรวจเรื่องเอิร์ธหรือไม่ อย่างไร ด้วยวงเงินนั้นที่ใหญ่กว่าเกือบเท่าตัว ถ้าไม่มีการตรวจสอบในมาตรฐานเดียวกันกับของเอิร์ธ จะถือว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ/หรือกระทรวงการคลัง เคยตรวจสอบอะไรหรือไม่ครับ

    ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ ที่ผมออกมาแถลงข่าว และร้องขอความเป็นธรรมนั้น เป็นเพราะผมเป็นผู้เสียหาย เป็นผู้ที่ถูกกระทำ อย่างที่เคยเล่าให้ทุกท่านฟัง ให้ท่านดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผมไม่เคยได้รับข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน แม้มีการทวงถามไปก็ไม่เคยได้รับเอกสารที่อ้างว่าผมทำผิด ไม่เคยได้รับโอกาสชี้แจง แม้กระทั่งถึงที่สุด การตัดสินก็ไม่มีรายละเอียดใดๆ พอที่จะให้ชี้แจงว่าความจริงมันเป็นอย่างไร

    หลังจากโดนกล่าวหา ผมทำเรื่องขอเอกสารที่เป็นหลักฐานที่อ้างถึงการกระทำความผิดของผม แต่ได้รับการปฏิเสธจากธนาคารกรุงไทย แม้ผมจะได้ทำการขอเอกสารดังกล่าวผ่านศูนย์ข้อมูลข่าวสารในเวลาต่อมา ก็ยังได้รับการปฏิเสธอยู่ดี นอกจากนี้ ผมได้ทำหนังสือขอรายละเอียดของข้อกล่าวหาจากธนาคารกรุงไทย แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบแต่อย่างใด

    ผมฝากทุกท่านช่วยพิจารณาหน่อยครับว่า หากผมไม่ทราบถึงข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน ไม่ได้รับเอกสารที่ใช้ในการกล่าวหา ท่านคิดว่าผมจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนในการต่อสู้เรื่องดังกล่าว มันยุติธรรมกับผมแล้วหรือครับ และหากท่านเป็นผมซึ่งถูกกระทำเหมือนผม ท่านจะอยู่เฉยๆ หรือครับ

    ผมเห็นคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย มีนักกฎหมายระดับปรมาจารย์และอดีตข้าราชการระดับสูงหลายท่านที่น่าจะคุ้นเคยกับเรื่องการตรวจสอบ เช่น คุณกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และประธานสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย, คุณดิสทัต โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกา, คุณนนทิกร กาญจนะจิตรา อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผมเลยขอฝากเรียนถามท่านทั้งสาม ช่วยกรุณาพิจารณาสักนิดเถอะครับ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ตามที่ผมอธิบายด้านบน เรียกได้ว่าให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ และในองค์กรที่ท่านทั้งหลายเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดนั้น ปฏิบัติกับพนักงานในแบบเดียวกับที่ธนาคารกรุงไทยปฏิบัติกับผมหรือไม่

    ผมคิดว่าการตรวจสอบที่ตรงไปตรงมา โปร่งใส ยุติธรรมของธนาคารกรุงไทยนั้น เป็นการแสดงถึงสปิริตของผู้นำองค์กรของรัฐ แสดงถึงสปิริตความเป็นนายธนาคาร และที่สำคัญที่สุดคือสปิริตถึงความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูงส่งควรแก่การยกย่องครับ

    ผมก็ได้แต่หวังว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เน้นย้ำเรื่องจริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี จะให้ความเป็นธรรมกับผมได้ โดยดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบจากคำถามข้างต้น เพื่อประเมินว่า สิ่งที่ผมร้องขอความเป็นธรรมนั้น สมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไร ผลการพิจารณาที่จะใช้ในการตัดสินคุณสมบัติผม มาจากกระบวนการที่ถูกต้องตามระเบียบธนาคารและกฎหมาย หรือไม่ และหากมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ระเบียบภายใน หรือตามกฎหมาย ผลการพิจารณาดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายในการนำมาใช้ตัดสินคุณสมบัติผมหรือไม่ อย่างไร

    ผมมีความเชื่อนะครับว่า คุณธรรมของมนุษย์อันเป็นวิญญูชนทั่วๆ ไป ก็สามารถวัดได้ว่าอะไรคือความเป็นธรรม อะไรคือความไม่เป็นธรรม และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารกรุงไทย จะให้ความเป็นธรรมกับผมในเรื่องนี้ นอกจากผมที่คอยฟังคำตอบอยู่ สังคมก็กำลังจ้องมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ความยุติธรรมเรื่องนี้กับทุกฝ่ายแบบไหนและอย่างไรครับ

    และที่สำคัญ ผมคิดว่าความเสียหายในวงเงินที่ใหญ่ กระทบคนในวงกว้าง เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วแบบนี้ ผมคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย น่าที่จะทำให้เป็นกรณีศึกษาจริงๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายอันมากมายแบบนี้เกิดขึ้นได้อีกโดยง่าย เพราะฉะนั้น การที่ให้มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถ เป็นกลาง และตรวจสอบทุกส่วน ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นกลางนั้น น่าจะเป็นวิธีที่ได้มาซึ่งคำตอบและความเป็นธรรมสำหรับทุกคน ไม่อย่างนั้น เราจะสูญเสียโอกาสในการทราบต้นเหตุที่แท้จริง และที่สำคัญ จะป้องกันเรื่องอย่างนี้ไม่ให้เกิดในอนาคตอีกได้อย่างไร สภาพของวันนี้คือมีคนเป็นผู้เสียหายเต็มไปหมด แต่กลับไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง และยังไม่รู้ว่าผู้เสียหายแต่ละส่วน จะได้รับการบรรเทาหรือแก้ปัญหาอย่างไร ผมคิดว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจกระทบกับความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินแบบนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องตรวจสอบแล้วอธิบายกับสังคมให้ได้ครับว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร

    #ขอความเป็นธรรม
    #ขอให้ความจริงปรากฏ
    #จรรยาบรรณสถาบันการเงิน
    #บทพิสูจน์จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี