ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 6) : ตัวละครลับ กับมาตรฐานที่แตกต่างกัน?

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 6) : ตัวละครลับ กับมาตรฐานที่แตกต่างกัน?

23 กุมภาพันธ์ 2019


นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ

ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Kittiphun Anutarasoti ต่อเป็นตอนที่ 6 ว่า “ผมไม่ได้เขียนมาประมาณ 2 สัปดาห์กว่าๆ มีพี่ๆ หลายท่านถามมา เพราะอยากติดตามตอนต่อไป เพราะอยากทราบความจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แม้กระทั่งในบอร์ดของธนาคารกรุงไทยเองหลายท่านหลังอ่านเฟซบุ๊กผมก็เริ่มตั้งคำถามเอากับผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเช่นกัน…”

ผมใช้เวลาช่วงที่ผ่านมาในการทำเรื่องอุทธรณ์กับที่ปรึกษาทางกฎหมาย เลยยังไม่มีโอกาสได้โพสต์อะไรเพิ่มเติม ตอนแรกต้องส่งอุทธรณ์ภายใน 25 กุมภาพันธ์ แต่ตอนนี้ธนาคารกรุงไทยอนุญาตให้ยืดไป 60 วันครับ

ก่อนอื่น ขอเล่าให้ฟังว่า ก่อนจะเริ่มการทำเรื่องอุทธรณ์ ผมก็ได้ทำเรื่องขอเอกสารที่เกี่ยวข้องจากธนาคารกรุงไทย แต่ก็ตามคาดครับ ไม่ได้รับเอกสารใดๆ เลยต้องพึ่งช่องทางตามกฎหมาย ธนาคารกรุงไทยใช้เวลานานมากในการตัดสินใจว่าไม่ให้เอกสาร ต้องส่งจดหมายถึงสองฉบับ (วันที่ 10 และ 22 มกราคม 2562) และธนาคารใช้เวลารวมกันกว่า 3 สัปดาห์จึงตอบผมในวันที่ 31 มกราคม 2562 ว่าไม่ให้เอกสาร ผมก็ไม่แน่ใจว่าทำไมต้องตัดสินใจกันตั้ง 3 สัปดาห์ว่าจะให้ หรือไม่ให้

หลังจากนั้น ผมได้ทำหนังสือขอรายละเอียดข้อกล่าวหาเพิ่มเติม และขอยืดเวลาอุทธรณ์ แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบใดๆ จากธนาคารกรุงไทย จนกระทั่งวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ผมได้รับจดหมายจากธนาคารกรุงไทยยืนยันว่าให้ยืดระยะเวลาอุทธรณ์ได้ 60 วันตามขอ แต่ก็ต้องเขียนไปถึง 2 ครั้ง และสำเนาให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยในครั้งที่ 2 ถึงได้คำตอบ ผมจึงคิดว่าผมคงต้องพึ่งบารมีธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังแล้วละครับ เพราะผมทำทุกอย่างไปตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่ผมไม่แน่ใจว่าธนาคารกรุงไทยโดยผู้มีอำนาจ มีความตั้งใจที่จะให้ความเป็นธรรมกับผมหรือไม่ เพียงใด หลายคนจ้องตาไม่กระพริบครับ

ก่อนผมจะเขียนตอนต่อไป หลังจากเขียนมา 5 ตอน มีพี่ๆ เพื่อนๆ และท่านที่เคารพนับถือหลายท่านบอกให้ช่วยสรุปของเก่าก่อนขึ้นตอนใหม่ เพื่อจะได้เรียบเรียงเรื่องถูกว่าความจริงอีกด้านเป็นอย่างไร เพราะยิ่งอ่าน ยิ่งเห็นถึงความสลับซับซ้อนของเรื่อง

ผมเลยขอสรุปแบบสั้นๆ ครับ ใน 5 ตอนที่ผ่านมานั้น ผมได้แชร์และตั้งคำถามหลักๆดังนี้ครับ

ตอนที่ 1 – ผมเห็นด้วยกับการตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นนี้อีกในอนาคต โดยมีผู้มีเสียหายจำนวนมาก และเป็นเงินมหาศาล ผมได้แชร์แนวคิดว่า การตรวจสอบจะเป็นธรรมได้ ต้องทำโดยมืออาชีพ ที่ไม่มีส่วนได้เสีย และต้องตรวจสอบทุกๆ เรื่อง ทุกๆ คนที่มีความเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงเรื่องสินเชื่อเพียงอย่างเดียว และที่ธนาคารเดียว…

ตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3– ผมนำเอาข้อมูลทางการเงินของลูกค้า ที่อยู่ในสื่อสาธารณะมาให้ทุกท่านได้ดูว่า ในแต่ละจุดที่ธนาคารกรุงไทยทำธุรกรรมกับเอิร์ธ ผลประกอบการของเอิร์ธ เป็นอย่างไร หุ้นกู้และสินเชื่อ เป็นการระดมเงินให้ลูกค้าเหมือนกัน แตกต่างกันที่สินเชื่อธนาคารเปรียบเสมือนนักลงทุน หุ้นกู้ขายให้ลูกค้า โดยเฉพาะชุดหลังเป็นลูกค้ารายย่อยหลายพันราย ผมสงสัยว่า ที่บอกว่าสินเชื่อที่หน้าตาเหมือนหุ้นกู้ทุกประการผิดนั้น เพราะเหตุใดธนาคารจึงนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปขายให้ลูกค้ารายย่อย ผู้บริหารคนไหนเป็นคนรับผิดชอบเรื่องการขายหุ้นกู้แล้วธนาคารจัดการอย่างไรกับผู้บริหารที่ขายหุ้นกู้ หากการอำนวยสินเชื่อผิด แล้วคนขายหุ้นกู้ผิดไหมครับ เพราะใช้ข้อมูลหลักๆของลูกหนี้ชุดเดียวกันในการทำงาน เรื่องนี้เป็นที่จับตาของใครหลายคนนะครับ

ตอนที่ 4 – ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับระเบียบธนาคารกรุงไทย เนื่องจากการที่ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยให้สัมภาษณ์ว่าธนาคารไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบคนนอก ผมเลยสงสัยว่าที่มาตรวจสอบวินัยผม แล้วตัดสินว่าผมทำผิดวินัยร้ายแรงนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะผมเป็นคนนอกออกจากกรุงไทยมาแล้ว

และจริงหรือไม่ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดสุดพิเศษ โดยไม่มีระเบียบรองรับในขณะนั้น และจริงหรือไม่ที่มีการแก้ระเบียบตามมาแล้วให้มีผลย้อนหลัง และผมสงสัยว่า หากกรรมการธนาคารทำผิดระเบียบของธนาคารเอง จะเกิดอะไรขึ้น แล้วใครจะทำอะไรได้บ้าง นี่คือคำถามที่ผมกับสังคมอยากทราบคำตอบครับ

ตอนที่ 5 – ผมตั้งคำถามว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ให้เกิดโศกนาฏกรรมทางการเงินในครั้งนี้ และเหตุผลใดที่ปัญหาจากหลักร้อยล้านกลายเป็นปัญหาหลักหมื่นล้านภายในเวลาอันรวดเร็ว การปฏิบัติกับลูกหนี้รายนี้เหมือนหรือต่างกับลูกค้ารายอื่นอย่างไร หากเทียบมาตรฐานวิชาชีพ เหมือนหรือต่างกับธนาคารอื่นปฏิบัติกับลูกค้าในสถานการณ์คล้ายคลึงกันหรือไม่ อย่างไร หากมองให้ครบทุกๆด้าน คงมีคนถามคล้ายๆผมว่า แล้วปัญหาเกิดจากอะไร และเกิดจากใคร

โดยทุกๆ ตอน ผมก็ย้ำจุดยืนว่าเห็นด้วยกับการตรวจสอบ แต่ต้องทำโดยคนกลาง มืออาชีพ และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันปัญหาอย่างเดียวกันในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับธนาคารเองและประชาชน ส่วนเรื่องลงโทษ ผมคิดว่าต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรมในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกัน และผมยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แต่ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าข้อเท็จจริงมันพิสูจน์ได้ชัดแจ้งว่า คนที่มีอำนาจและเป็นคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยเองบริหารงานผิดพลาด จนเกิดความเสียหายมโหฬารกับธนาคารและประชาชน ธนาคารกรุงไทยจะทำอย่างไร ต้องตรวจสอบและดำเนินคดีไหม ประเด็นนี้น่าคิดนะครับ

ตอนที่ 6 ผมคงไม่เขียนยาวมากครับ อยากสอบถามในประเด็นที่สงสัยในฐานะประชาชนที่อยากเห็นความเป็นธรรมและโปร่งใสครับ

ผมขอสมมติเหตุการณ์นะครับว่า ถ้าคณะกรรมการพิเศษชุดนี้และคณะกรรมการวินัยลงมาล้วงลูกจนรู้ว่าผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ดูแลลูกค้ารายนี้ก่อนผมร่วมงานกับธนาคาร (และรวมถึงหลังจากผมออกจากธนาคาร) ทำผิดเพราะปิดบังข้อมูลที่สำคัญก่อนผมเข้าทำงาน และลงนามในเอกสารทุกอย่าง (ผมไม่ได้ลงนาม) แต่ไม่ถูกลงโทษว่าผิดวินัยร้ายแรงเหมือนผม กรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้ไหมครับ ถ้าตอบว่าเกิดขึ้นได้ ผู้บริหารระดับสูงคนนี้คงเส้นใหญ่มาก และเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจหรือเปล่าครับ นี่เป็นเพียงเหตุการณ์สมมตินะครับ ทั้งนี้ ผมมั่นใจว่าความจริงต้องเป็นความจริง และความลับไม่มีในโลกครับ

ผมมีคำถามอีกมากมาย แต่วันนี้ขอทิ้งไว้สั้นๆก่อน เพื่อให้ท่านได้ช่วยกันคิด ว่าตัวละครลับนั้นมีจริงไหม เป็นใคร และมีใครอยู่เบื้องหลังอีกหรือไม่ และมาตรฐานเรื่องการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมามีรายงานข่าวโดยสำนักข่าวแห่งหนึ่งว่า ธนาคารกรุงไทยได้ยื่นเรื่องไปให้สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่ถูกกล่าวหา 3 คน ผมพอได้ยินมาบ้าง และเตรียมพร้อมในการชี้แจง แต่ที่ดูประหลาดคือ กระบวนการอุทธรณ์ยังไม่เริ่มเลยเพราะกรุงไทยให้ผมขยายไปอีก 60 วัน แต่ถ้ามีการยื่นเรื่องไปที่ ป.ป.ช แล้วจริง แสดงว่าถึงอุทธรณ์ไป ผลการตัดสินคงไม่เปลี่ยนใช่ไหม แต่ผมก็ยืนยันว่าจะยื่นอุทธรณ์แน่นอน เพราะในธนาคารกรุงไทยก็ยังมีผู้ใหญ่หลายท่านที่อยากทราบความจริงด้านที่ไม่มีใครเคยบอก และผมคิดว่าข่าวจากสำนักข่าวแห่งนี้อาจไม่ถูกต้องก็ได้

อย่างที่เล่าครับ มีคำถามอีกเยอะ แต่แค่ที่ผ่านมา 6 ตอน คงพอเห็นว่า ต้องตั้งชื่อว่าลับ ลวง พราง เพราะมันซับซ้อน ซ่อนเงื่อนจนนึกไม่ถึง! ผมไม่ทราบว่าหากบอร์ดกรุงไทยบางท่านเห็นความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้ และตั้งคำถามกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วจะมีใครตอบท่านเหล่านี้ว่าอย่างไร

ก่อนจบก็ขอโพสต์อีก 3 – 4 รูปเพื่อตั้งคำถามต่อครับ ผมเอามาจากเว็บไซต์กรุงไทยว่าด้วยบทบาทหน้าที่กรรมการ ซึ่งเขียนไว้ว่ามีหน้าที่กำกับดูแลให้ผู้บริหารให้ปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ และมาตรฐานสากล คำถามคือ หากกรรมการปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบเสียเอง จะต้องรับโทษไหมครับ?