ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 11) : คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ…ผ่านสื่อถึงธนาคารแห่งประเทศไทย

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 11) : คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ…ผ่านสื่อถึงธนาคารแห่งประเทศไทย

8 พฤษภาคม 2019


นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ

ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุว่าได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Kittiphun Anutarasoti ต่อเป็นตอนที่ 11 ว่า “หลังจากลงตอนที่ 10 ไป ผมได้รับ feedback จากหลายๆท่าน โดยเฉพาะเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ทำงานในสายการเงินว่า ทำให้ได้เห็นข้อเท็จจริงอีกด้าน และเห็นได้ว่าผมไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร และหลาย ๆ ท่านก็ถามผมต่อไปว่า จะกลับไปทำงานเมื่อไหร่ ผมก็ได้ตอบทุกท่านที่ถามว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่ต้องตอบ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จริง ๆ แล้วภารกิจที่ผมได้ลางานมา เพื่อดำเนินการในกระบวนการอุทธรณ์ ผมก็ได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้นำส่งให้ธนาคารกรุงไทย พร้อมด้วยสำเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 19 เมษายน 2562 ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำโดยต้องเดาข้อกล่าวหา เนื่องจากทางธนาคารกรุงไทยโดยผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิเสธการให้รายละเอียดข้อกล่าวหา รวมถึงเอกสารต่างๆที่อ้างว่าเป็นหลักฐาน ถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตาม”

คำถามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเป็นผู้ตอบ

นายกิตติพันธ์กล่าวว่า “ผมเลยขอถือโอกาสนี้ update ทุกๆ ท่านว่า ผมเองได้ทำจดหมายถึงธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสอบถามถึงการตัดสินคุณสมบัติผู้บริหารของผม เพื่อให้ผมสามารถดำเนินการทุกอย่างต่อไปได้ แต่จนบัดนี้ แม้ว่าผมจะได้ส่งจดหมายทวงถามไป 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 5 เมษายน 2562 ครั้งที่สองวันที่ 17 เมษายน 2562 ผมก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ ผมจึงได้ส่งไปเพื่อขอคำตอบอีกเป็นครั้งที่สามเมื่อวานนี้(ึ7 พฤษภาคม 2562) ที่ผมบอกว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องตอบเพราะว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องระหว่างผมและธนาคารกรุงไทยที่มีผลกระทบกับคุณสมบัติของผมจากการตีความของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ซึ่งเป็นนายจ้างผมในปัจจุบันแต่ประการใด และตามกฎหมายและกฎของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง การถอดถอนในกรณีที่ผมขาดคุณสมบัติ เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย หากธนาคารแห่งประเทศไทยมีการตีความว่าผมขาดคุณสมบัติที่จะทำงานต่อไปในบทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก็ควรจะต้องมีหนังสือมาแจ้งให้ผม หรือ ธนาคารซีไอเอ็มบีได้ทราบถึงเรื่องคุณสมบัติดังกล่าว”

โดยย้ำว่า “ผมก็รอคำตอบอยู่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะตัดสินคุณสมบัติผมอย่างไร หลังจากทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเรื่องกระบวนการตรวจสอบที่ไม่เป็นธรรมกับผม และการปฏิบัติของธนาคารกรุงไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ไม่เห็นด้วยและมีคำสั่งให้แก้ไข”

เรื่องนี้คงเป็นบทพิสูจน์ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลบรรดาธนาคารทั้งหมด ซึ่งเน้นย้ำเรื่องจริยธรรมและธรรมาภิบาล และในประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีการเน้นย้ำเรื่อง ความเป็นกลาง เที่ยงธรรมและจริยธรรมว่า เรื่องที่เน้นย้ำ เป็นเพียงการพูดให้ฟังดูดี หรือ จะนำไปปฏิบัติจริงด้วย…

ความจริงใจในการแสวงหาข้อเท็จจริง

นายกิตติพันธ์ได้เล่าย้อนหลังไปถึงการแถลงข่าวในวันที่ 9 มกราคม 2562 … “หลังจากนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการออกมาแถลงว่า ผลการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยนั้นมีผลกระทบกับคุณสมบัติของผม แต่เนื่องจากผมได้ร้องขอความเป็นธรรม ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ขอข้อมูลเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากธนาคารกรุงไทย แต่จนถึงปัจจุบันผมก็ยังไม่ได้รับการแจ้งจากธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ประการใด”

“ในช่วงเวลาประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ผมออกมาแถลงข่าวเรื่องผลการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยที่มีข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงและมีผลกระทบต่อผมในเรื่องมาตรฐานวิชาชีพ ที่ผมยอมไม่ได้ ผมจึงต้องออกมาแถลงข่าวเพื่อให้สังคมได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งพร้อมทั้งนำเสนอข้อเท็จจริงที่ผมคิดว่าแสดงถึงความไม่เป็นธรรมของกระบวนการตรวจสอบ มีการตั้งคำถามต่างๆ มากมายที่อาจจะให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องของเรื่องกระบวนการตรวจสอบที่ผมได้ถามไป ที่ยังไม่มีคำตอบ เช่น ธนาคารกรุงไทยมีสิทธิ์ในการดำเนินการทางวินัยกับผมหรือไม่ หรือธนาคารกรุงไทยแก้ระเบียบย้อนหลัง เพื่อให้การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษจากการตั้งที่ผิดระเบียบกลายเป็นถูกระเบียบหรือไม่ เพียงใด กรณีที่ธนาคารกรุงไทยที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่สั่งให้ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหานั้นทำได้หรือไม่ เพียงใด

และล่าสุด อย่างที่ผมเขียนไว้ในตอนที่ 10 ผมตีความจากจดหมายที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยส่งให้ผม แล้วเห็นว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยคงเห็นว่า ผมซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้รับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาอย่างเพียงพอ และไม่ได้รับรายละเอียดที่อ้างว่ามีการกระทำความผิด รวมถึงการไม่ได้เข้าถึงข้อมูลและเอกสารที่ถูกอ้างว่าเป็นหลักฐานนั้น จึงมีคำสั่งให้ธนาคารกรุงไทยพิจารณาการให้รายละเอียดของข้อกล่าวหาอย่างเพียงพอ รวมถึงการให้เอกสารต่างๆที่อ้างว่าเป็นหลักฐาน ซึ่งตามที่ผมได้นำเสนอ จนบัดนี้ธนาคารกรุงไทยโดยผู้เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ

ขอความเป็นธรรมและความชัดเจน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมพูดมาตลอดว่าผมเห็นด้วยกับการตรวจสอบ เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ได้เคยทำลงไปเกี่ยวกับลูกค้ารายดังกล่าวอยู่ในมาตรฐานวิชาชีพที่ดีพอ แต่ผมต้องการความเป็นธรรมในกระบวนการตรวจสอบ ที่ไม่ใช่การตรวจสอบโดยผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ที่เคยมีเรื่องบาดหมางกันเป็นผู้มีอำนาจในการระบุความผิด และการตรวจสอบต้องเป็นไปอย่างมืออาชีพและตรวจสอบทุกส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยมาตรฐานเดียวกันตามที่ได้เคยนำเสนอไป

จริงๆ ผมได้ร้องขอความเป็นธรรมกับธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็มก่อนที่จะมีบทสรุปข้อกล่าวหาโดยธนาคารกรุงไทย เพราะผมคิดว่าแนวทางที่ธนาคารกรุงไทยได้ปฏิบัติกับผมนั้น ไม่เป็นธรรม และไม่โปร่งใสอย่างที่ ผมเคยเล่าให้ฟัง โดยไม่ให้รายละเอียดเพียงพอให้ผมชี้แจง ผมได้ส่งเอกสารต่างๆ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำการตรวจสอบ นอกจากนั้นผมเองก็ได้มีโอกาสเข้าพบ เพื่อขอความเป็นธรรมอีก 2 ครั้ง โดยทุกครั้งคำตอบที่ผมได้คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรอให้กระบวนการดังกล่าวจบสิ้นก่อน จึงจะสามารถดำเนินการใด ๆ ได้ แต่เมื่อกระบวนการดังกล่าวจบลงพร้อมข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงกับผมในช่วงปลายปี ​ ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับบอกผมว่า ผลสรุปการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยมีผลทำให้ผมขาดคุณสมบัติ เพราะธนาคารกรุงไทยตัดสินว่าผมผิดวินัยร้ายแรง

ขอความร่วมมือ…ด้วยการกระซิบ

นายกิตติพันธ์กล่าวต่อว่า “หนึ่งในสิ่งที่ผมผิดหวังคือ ผมได้ส่งเอกสารต่างๆให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบเรื่องที่ผมคิดว่าอาจจะมีความไม่เป็นธรรมในกระบวนการตรวจสอบ ผมคิดว่าหากธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงตามเอกสารเพียงเล็กน้อย และด้วยความเป็นธรรม ก็คงจะได้ดำเนินการสั่งให้ธนาคารกรุงไทยทำเสียให้ถูกกฎหมาย แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไปถึงปีเศษธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งสั่งให้ธนาคารกรุงไทยให้ความเป็นธรรมกับผมและผู้ถูกกล่าวหาทุกคน รอจนวันที่ต้องมีการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมผ่านสื่อ นอกจากนั้น ผมยังทราบมาว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้เคยให้ความเห็นว่า เชื่อว่าธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ มีกระบวนการที่ชัดเจน และยังมีนักกฎหมายในบอร์ดหลายคน ไม่น่าเป็นไปได้ที่เกิดเรื่องตามที่ผมเล่า ที่ผมผิดหวัง เพราะผมได้ส่งเอกสารให้ดู หากพิจารณาดูแบบไม่มีอคติและเป็นธรรม ผมคิดว่าไม่น่ายากเกินกว่าที่จะเห็นได้ว่า การกล่าวหานั้นไม่มีรายละเอียดใดๆเลย”

“และยิ่งไปกว่านั้น มีผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย ขอให้ผมลาออกจากงานเอง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ส่งหนังสือใด ๆ ให้กับผม ท่านบอกว่าเป็นการทำแบบไทย ๆ คือ กระซิบข้างหู แล้วกรุณาทำซะ โดยได้บอกผมว่าขอให้ผมมองเรื่องผลการตรวจสอบโดยธนาคารกรุงไทยเป็นคนละเรื่องกับกระบวนการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผมได้ร้องเรียนไปว่าไม่มีความเป็นธรรมกับผม”

“ผมก็เรียนตอบกลับไปด้วยความเคารพว่า เรื่องสองเรื่องเกี่ยวข้องกัน และไม่สามารถมองแยกจากกันได้ เพราะหากผลการตรวจสอบที่มาจากกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นธรรมนั้น จะนำมาตัดสินคุณสมบัติของผม จะเป็นธรรมได้อย่างไร การตัดสินของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ผมจึงได้ขออุทธรณ์ผลการตัดสินดังกล่าว พร้อมทั้งส่งเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่ผมมีให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณา”

“มาถึงวันนี้ นอกจากจดหมายที่ผมได้ทำส่งท่านผู้ว่าฯถึงสองครั้ง (ครั้งที่สามที่เพิ่งส่งเมื่อวานนี้น่าจะยังไม่ถึง) และยังไม่ได้คำตอบ ผมก็ขอถามผ่าน Facebook นี้ด้วยครับ ว่าถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยมีการตัดสินเรื่องดังกล่าวอย่างไร กรุณาแจ้งให้ผมทราบอย่างเป็นทางการด้วยครับ ผมในฐานะผู้เสียหาย และผู้ถูกละเมิด จะได้ดำเนินการในสิ่งที่ปกป้องสิทธิ์ของตัวเองตามกฎหมายต่อไปได้อย่างชัดเจน”

นอกจากนี้ ยังมีหลายท่านได้กรุณาแนะนำผมว่า จากสิ่งที่เขียน สังคมเข้าใจเรื่องขึ้นเยอะ และน่าจะดีหากผมสามารถสรุปข้อเท็จจริงที่ผมชี้แจงไปในอุทธรณ์ของผมเพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ผมได้ทำการสรุปเรื่องเหล่านี้โดยแยกเป็นแต่ละข้อกล่าวหาครับ จะเรียกว่าเป็น mini series ก็ได้ ซึ่งผมจะทยอยลงในตอนที่ 12.1 ถึง 12.10 โดยนำเอาข้อเท็จจริงที่ผมได้ชี้แจงไปในอุทธรณ์ของผมกับทุกข้อกล่าวหาทุกข้อของธนาคารกรุงไทย ทุกท่านจะได้เห็นและเข้าใจเพิ่มเติมอย่างชัดเจนครับ ว่าทำไมผมถึงคิดว่าหากผมได้รับเอกสารหลักฐานต่างๆ และรายละเอียดข้อกล่าวหา ผมถึงมั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้อย่างชัดเจน โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปครับ…

#จรรยาบรรณสถาบันการเงิน เรื่องจริงหรือแค่พูดให้ดูดี
#บทพิสูจน์ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน

  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย แจงข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ “เอิร์ธ”
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 1): การค้นหาความจริงว่าความเสียหายเกิดจากอะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” ยื่นลาพักชั่วคราว “บทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” 2 เดือนครึ่ง
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 2): ความจริงปิดกันไม่ได้…
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 3): เปรียบเทียบการให้สินเชื่อกับการขายหุ้นกู้
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 4): ระเบียบ…มีไว้เพื่ออะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 5): หมื่นสองพันล้านเกิดขึ้นอย่างไร…?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 6): ตัวละครลับ กับมาตรฐานที่แตกต่างกัน?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 7): คำถามในมุมมองผู้ถือหุ้นกู้…
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 8): คำถาม…ที่ยังไม่มีคำตอบ
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 9): จรรยาบรรณและคุณธรรมสถาบันการเงิน
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 10) : 3 คำถามที่ขอคำตอบจากแบงก์กรุงไทยและผู้กำกับดูแล