ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 16) : ธปท. – ธ.กรุงไทยตัดสินโดยปราศจากอคติ 4 หรือไม่?

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 16) : ธปท. – ธ.กรุงไทยตัดสินโดยปราศจากอคติ 4 หรือไม่?

22 มิถุนายน 2019


ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุว่าได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ

  • ต่อจากตอนที่ 15
  • เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก ตอนที่ 16 ดังนี้ (*การสะกดเป็นไปตามต้นทาง)

    มีการกล่าวถึงเรื่อง “หลักอินทภาษ” เรื่องอคติ 4 ประการไว้ว่า คนที่อยู่ในฐานะต้องตัดสินคนอื่นนั้น ต้องไม่มีอคติ 4 ประการ ดังนี้

      1) ฉันทาคติ “รัก” เพราะเป็นลูก เป็นภรรยา เป็นญาติ เป็นเพื่อน
      2) โทสาคติ “โกรธ” เพราะเป็นคู่อาฆาต คู่ศัตรู เคียดแค้น จ้องจับผิด เพื่อที่จะเล่นงานกัน
      3) ภยาคติ “กลัว” เพราะโจทก์เป็นผู้มีอำนาจ ถ้าไม่ตัดสินลงโทษเลยตามที่เขาสั่ง ก็กลัวว่าเขาอาจจะไม่ชอบ
      4) โมหาคติ “หลง” หรือ “ความไม่รู้จริง” อาจทำให้ตัดสินผิดๆได้

    ผมในฐานะผู้ถูกตัดสินจากธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย ขอถามว่า 2 องค์กรนี้ได้ตัดสินผมโดยปราศจากอคติ 4 หรือไม่ อย่างไรครับ เพราะเมื่อผมนำหลักอคติ 4 มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผมถูกตัดสินแล้ว ผมไม่แน่ใจครับ ผมขอเล่าเรื่องของผมอีกทีนะครับ

    เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ธนาคารกรุงไทยตัดสินว่าผมกระทำผิดวินัยร้ายแรง ต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2562 ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้ผมทราบทางวาจาว่าผมได้ขาดคุณสมบัติผู้บริหารระดับสูงเพราะธนาคารกรุงไทยตัดสินแบบนั้น

    นอกจากนี้ ผมทราบจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทยว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการธนาคารซีไอเอ็มบีไทยทราบแทบจะทันทีที่ได้รับรายงานผลการตัดสินของธนาคารกรุงไทย ทั้งๆที่ผมได้ร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของธนาคารกรุงไทยไปแล้วหลายครั้งตลอดเวลาเกือบ 1 ปี โดยผมได้ส่งพยานเอกสารต่างๆ ที่ผมเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยทุกครั้ง และได้เคยเข้าพบกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ และเพื่อติดตามถามความคืบหน้าว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลจะดำเนินการอย่างไรบ้าง

    อย่างที่เคยได้เล่าให้ท่านฟังผ่านบทความ ใน Facebook ก่อนหน้านี้ว่า ทุกครั้งที่ผมเข้าพบ ผมได้รับการบอกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการอะไรไม่ได้จนกว่าธนาคารกรุงไทยจะตัดสิน แต่พอธนาคารกรุงไทยตัดสินในวันที่ 25 ธันวาคม 2561 แทนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มทำการสอบสวนเรื่องนี้ว่าเกิดอะไรขึ้น ความจริงเป็นอย่างไร ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับแจ้งธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และตัวผมเองว่าผมขาดคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารระดับสูงนั้น หมายความว่าอะไรครับ จะให้ผมคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีธงคำตอบอยู่แล้วได้ไหมครับ แล้วจะให้ผมเข้าใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทยปิดหูปิดตาและเพิกเฉยต่อการร้องขอความเป็นธรรมของผมได้หรือไม่ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหลักกฎหมายแล้ว จะถือว่าคนของธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ผมเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ครับ ช่วยตอบผมที

    สิ่งที่น่าเศร้าใจสำหรับผมก็คือ ผมได้รับทราบจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่า ธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ มีกระบวนการชัดเจน คงไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเกิดเรื่องความไม่โปร่งใส และไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่ผมได้ร้องขอความเป็นธรรมไป ผมเชื่อนะครับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งธนาคารซีไอเอ็มบีไทยแบบนั้น เพราะผมเองก็ได้รับการแจ้งจากผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ให้มองเรื่องของผลการตรวจสอบธนาคารกรุงไทย และเรื่องความถูกต้องและโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบเป็นเรื่องแยกกัน และได้แจ้งโดยการกระซิบให้ผมลาออกไปก่อน เพราะผลการตัดสินของธนาคารกรุงไทยทำให้ผมขาดคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารระดับสูงแล้ว!!! โดยที่ยังไม่ยอมตรวจสอบเรื่องที่ผมร้องเรียนเรื่องกระบวนการของธนาคารกรุงไทยเลย อย่างนี้ท่านคิดว่าน่าเศร้าใจมั้ยครับ?

    ผมขอถามหน่อยเถอะครับว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเกรงใจธนาคารกรุงไทยหรือเปล่าครับ? ทำไมทำแบบนี้ครับ ธนาคารแห่งประเทศไทยรู้ไหมครับว่าข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบมานั้นอาจไม่ถูกต้อง ธนาคารแห่งประเทศไทยรู้ไหมครับว่าสิ่งที่ท่านรู้มานั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด เพราะท่านก็ยังไม่ได้ตรวจสอบในเชิงลึก ธนาคารแห่งประเทศไทยรู้ไหมครับว่าความเสียหายที่แท้จริงเกิดจากอะไร ธนาคารแห่งประเทศไทยรู้ไหมครับว่าธนาคารกรุงไทยมีคำตอบให้กับผู้ถือหุ้นกู้ขัดแย้งกับที่ตัดสินผมอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ทุกอย่างมีพยานหลักฐานทั้งสิ้น และผมขอถามธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ผมบอกในการร้องขอความเป็นธรรมหรือไม่ครับ อย่างนี้จะสามารถเรียกได้หรือไม่ครับว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ตัดสินประหารชีวิตวิชาชีพผมไปตามที่ธนาคารกรุงไทยตัดสิน ผมขอถามย้ำอีกครั้งว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเกรงใจธนาคารกรุงไทยหรือเปล่าครับ?

    ผมไม่อยากให้ใครคิดว่า การตัดสินผมของธนาคารกรุงไทย เป็นการสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยเคยตรวจสอบธุรกรรมของลูกค้ารายนี้มาหลายปี ทั้งที่ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอื่นด้วย แต่ไม่เคยพบการทุจริตอะไรเลย พอธนาคารกรุงไทยอ้างว่าตรวจเจอ แล้วผมเป็นผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรง แทนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะตั้งข้อสงสัยกับทีมงานตรวจสอบของตัวเองว่าทำไมตรวจไม่พบ

    ความจริงคืออะไรกันแน่ และพิจารณารับฟังข้อเท็จจริงจากฝั่งธนาคารกรุงไทยและฝั่งผมในฐานะผู้กำกับดูแลว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่กลับตัดสินว่าผมขาดคุณสมบัติผู้บริหารระดับสูงเพราะมีความผิดตามที่ธนาคารกรุงไทยตัดสิน กรณีเช่นนี้ถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ถูกต้องตามบทบาทในฐานะผู้คุมกฎไหมครับ ธนาคารแห่งประเทศไทยทำกับผมแบบนี้จริงหรือไม่ครับ ถ้าตอบว่าไม่จริง ไม่ได้ทำ ใช้ดุลพินิจดีแล้ว จึงแจ้งผมด้วยวาจาให้ลาออก ธนาคารแห่งประเทศไทยก็กลับไปดูระยะเวลาการวินิจฉัยซิครับว่าข้อแก้ตัวนี้ฟังขึ้นไหม ธนาคารกรุงไทยตัดสินผมวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันคริสต์มาส หลังจากนั้นก็ปิดยาวช่วงปีใหม่ เปิดงานมาวันที่ 2 มกราคม 2562 ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งด้วยวาจาให้ผมลาออกเพราะขาดคุณสมบัติของผู้บริหารระดับสูง! โดยบอกว่าให้ดูเรื่องผลการตัดสินกับความถูกต้องของกระบวนการตรวจสอบเป็นเรื่องแยกจากกัน ดูเอาเถอะครับคำอธิบายฟังขึ้นไหมครับ?

    ผมขอเรียนว่า ผมมีพยานหลักฐานสำคัญสนับสนุนว่า หลังจากผมขอความเป็นธรรมต่อสังคมโดยผ่านเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งจดหมายถึงผมในเดือนเมษายน 2562 มีใจความสำคัญว่า หลังจากที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเองได้มีโอกาสเข้าไปพิจารณาถึงกระบวนการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยแล้ว ได้มีคำสั่งให้ธนาคารกรุงไทยได้ให้ข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนและให้ผมเข้าถึงเอกสารพยานหลักฐานต่างๆด้วย ผมจึงตีความจดหมายดังกล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับแล้วว่า ธนาคารกรุงไทยกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งไปเช่นนั้น ดูเหมือนธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพระเอกนะครับ!!!

    ผมจึงขอถามไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยว่า แล้วที่ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งด้วยวาจาว่าผมขาดคุณสมบัติแล้วให้ผมลาออกละครับ ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินผมจากอะไร จากคำตัดสินของธนาคารกรุงไทยที่ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าตัดสินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า? ผมขอถามธนาคารแห่งประเทศไทยหลายข้อว่า ตัดสินผมโดยมีโมหาคติ คือความไม่รู้จริงหรือเปล่า หรือมีโทสาคติ ที่ว่าโกรธเพราะจ้องจับผิดเพื่อจะเล่นงานกันหรือเปล่า หรือมีฉันทาคติ รักเพราะเป็นญาติหรือเป็นเพื่อนกับใครหรือเปล่า หรือมีภยาคติ คือกลัวว่าถ้าไม่ตัดสินลงโทษผมเช่นนั้นแล้ว กลัวใครจะไม่ชอบหรือเปล่า ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยตอบคำถามผมให้สังคมเข้าใจด้วยเถอะครับว่า ตัดสินผมโดยปราศจากอคติหรือไม่ครับ?

    ผมขอถามคำถามธนาคารแห่งประเทศไทยที่เน้นย้ำนักหนาเรื่องการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดีนะครับว่า วันนี้ท่านทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือยังครับ?

    อย่าลืมนะครับว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับอย่างชัดแจ้งแล้วว่า มีคำสั่งให้ธนาคารกรุงไทยปฏิบัติต่อผมให้ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในเรื่องการเข้าถึงเอกสารอันเป็นพยานหลักฐาน เพื่อผมจะได้ชี้แจงได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อธนาคารกรุงไทยยังคงเพิกเฉย ผมขอถามธนาคารแห่งประเทศไทยเถอะครับว่า แล้วท่านจะทำอะไรธนาคารกรุงไทยได้บ้างครับ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลสั่งขนาดนี้แล้ว ธนาคารกรุงไทยยังไม่ทำตามคำสั่งประมาณ 3 เดือนแล้วนะครับ!!!

    ผมขอถามต่อไปว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงจะตัดสินประหารชีวิตผมว่า ผมขาดคุณสมบัติของผู้บริหารระดับสูงหรือไม่ครับ วันนี้ผมขอท้าธนาคารแห่งประเทศไทยครับว่า ถ้าท่านมั่นใจว่าทำทุกอย่างทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ช่วยตอบเป็นหนังสือด้วยเถอะครับ ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะได้ตอบคำถามกันในคอกพยานที่ศาลอาญาได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่ต้องคาดเดากันว่าใครทำอะไร แต่ผมคิดว่าการไปศาลอาญาในฐานะจำเลยนั้นไม่สนุกนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องตกเป็นจำเลยเพราะปกป้องคนกระทำผิดกฎหมาย ผมคิดว่าท่านทำสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วปล่อยให้คนทำผิดกฎหมายรับผิดชอบกับสิ่งที่เขากระทำเองดีไหมครับ ผมคิดว่าชีวิตแบบนั้นง่ายกว่าเยอะนะครับ

    ผมชอบใจและเห็นด้วยกับการกล่าวว่า ถ้าตัดสินคนอื่นโดยปราศจากอคติ 4 ประการดังกล่าวแล้ว อิสริยยศ และบริวารยศแห่งบุคคลผู้นั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง เปรียบประดุจเดือนข้างขึ้น ถ้าตัดสินคนอื่นโดยมีอคติ 4 ประการดังกล่าว อิสริยยศ และบริวารยศ ก็จะเสื่อมสูญไปเปรียบประดุจเดือนข้างแรม ผมว่าคำกล่าวนี้จริงมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และผมเชื่อกฎแห่งกรรมด้วยครับ!!!

    ผมขอฝากประโยคสุดท้ายจากย่อหน้าด้านบนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดครับ โดยเฉพาะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า วันนี้หากท่านทราบข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่สายที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรมนะครับ ผมไม่เชื่อว่าใครจะปกป้องคนทำผิดกฎหมายได้ตลอดไปหรอกครับ ใช้อำนาจของท่านทำสิ่งที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายเถอะครับ โลกจะสรรเสริญ และท่านก็สง่างามไม่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาร่วมกับคนทำความผิดอื่นๆ ผมไม่ได้ข่มขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายนะครับ แต่ผมขอถามหน่อยว่าถ้าท่านเป็นผมท่านจะทำอย่างไร?

    #จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี มีจริงหรือแค่พูดให้ดูดี