ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่3) : เปรียบเทียบการให้สินเชื่อกับการขายหุ้นกู้

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่3) : เปรียบเทียบการให้สินเชื่อกับการขายหุ้นกู้

28 มกราคม 2019


นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่

ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

วันที่ 27 มกราคม 2562 นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก Kittiphun Anutarasoti เกี่ยวกับผลสอบสวนและข้อกล่าวหา เป็นครั้งที่ 3 ว่า “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำนักงาน ก.ล.ต.ที่ได้มีการพูดถึงเรื่องบทบาทที่มีความสลับซับซ้อนของธนาคารในกรณีเอิร์ธซึ่งสำนักงานก.ล.ต.ได้แตะประเด็นที่สำคัญว่าด้วยกระบวนการของธนาคารในการคัดกรองสินค้าเพื่อมาขายนักลงทุนรายย่อย ซึ่งผู้บริหารที่รับผิดชอบเรื่องจัดจำหน่ายหุ้นกู้ให้แก่ประชาชนได้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่ดีหรือไม่ในการป้องกันความเสี่ยงให้นักลงทุน”

ในกรณีของเอิร์ธ ผมได้จัดส่งเอกสารที่อาจเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบให้ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินไปแล้ว เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าทีมงานที่นำหุ้นกู้ของบริษัทเอิร์ธไปขายรู้หรือไม่ว่าเครดิตลูกค้ารายนี้มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน มีการตรวจสอบหรือปกปิดวัตถุประสงค์การใช้เงินในการออกหุ้นกู้หรือไม่ ผมคิดว่าประเด็นนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.และธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีการตรวจสอบอย่างชัดเจนเพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงและอย่างที่ผมได้เคยแชร์ไปก่อนหน้านี้ครับว่าการตรวจสอบนั้นผมคิดว่าต้องตรวจสอบโดยองค์กรที่เป็นกลางเท่านั้นถึงจะได้คำตอบที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย

  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย แจงข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ “เอิร์ธ”
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่1) : การค้นหาความจริงว่าความเสียหายเกิดจากอะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ”ยื่นลาพักชั่วคราว “บทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” 2เดือนครึ่ง
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่2) : ความจริงปิดกันไม่ได้…
  • เนื่องจากที่ผมได้โพสต์ไปตอนที่แล้ว มีเพื่อนๆหลายท่านสงสัยและโทรมาถามว่ามาตรฐานของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อกับการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ต่างกันอย่างไร ทำไมมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อแต่ไม่มีการพูดถึงการตรวจสอบการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ของเอิร์ธซึ่งมีนักลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน

    ผมขอใช้โอกาสนี้ในการอธิบายเปรียบเทียบสินเชื่อกับหุ้นกู้ บางท่านมองว่าผู้ลงทุนในหุ้นกู้นั้น ได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขไปแล้วว่าการลงทุนมีความเสี่ยงจึงไม่น่ามีสิทธิ์เรียกร้องอะไรมาก ผมเลยขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มครับ ว่ามาตรฐานของธนาคารในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ไม่ควรด้อยหรือน้อยไปกว่าการปล่อยสินเชื่อ เพราะการปล่อยสินเชื่อกับหุ้นกู้คือการระดมทุนให้กับลูกค้าเหมือนกัน แตกต่างกันที่ผู้ลงทุนของสินเชื่อคือธนาคาร และผู้ลงทุนของหุ้นกู้คือนักลงทุนรายย่อยซึ่งพึ่งพาการกลั่นกรองและคัดสรรหุ้นกู้ที่มีคุณภาพมาให้ลงทุน ในกรณีของเอิร์ธ ทั้งสองกลุ่มได้รับความเสียหายไม่ต่างกัน

    ผมมีความคิดเห็นว่าธนาคารผู้นำหุ้นกู้มาขายควรเป็นผู้ให้ความกระจ่างกับสังคมและผู้กำกับดูแลว่าได้ใช้มาตรฐานที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เหตุไฉนในส่วนการอำนวยสินเชื่อนั้นมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบและผู้ที่เกี่ยว ข้องได้รับการกล่าวโทษ แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงการตรวจสอบผู้ที่ทำให้นักลงทุนเสียหาย ว่าได้ตรวจสอบโดยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ มีการการกล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้องเหมือนกันหรือไม่ ในกรณีนี้เข้าใจว่าน่าจะมีนักลงทุนเกิน 1 พันรายที่ลงทุนในหุ้นกู้ของเอิร์ธ หลายๆคนใช้เงินออมที่เก็บมาตลอดชีวิต วันนี้ได้รับความเสียหายและความลำบากเป็นอย่างมาก ผมเชื่อว่านักลงทุนเหล่านี้คงรอคำตอบอยู่

    ผมขอใช้หนึ่งในข้อกล่าวหาที่ผมถูกกล่าวหามาเป็นตัวตั้งคำถามต่อเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบระหว่างสินเชื่อและหุ้นกู้ ข้อกล่าวหาข้อนี้มีว่า ผมเป็นผู้กำหนดวงเงินส่วนหนึ่งเป็น Permanent Working Capital ที่เป็นวิธีทางการเงินที่สลับซับซ้อน โดยไม่มีหลักประกันเพิ่ม เป็นสาเหตุให้ธนาคารควบคุมวงเงินได้ยาก และไม่เป็นไปตามมาตร ฐานการอำนวยสินเชื่อตามปรกติ จนทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงมากขึ้น…. ผิดถูกเรายังไม่พูดถึงนะครับ

    แต่หุ้นกู้กับวงเงินนี้มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ หากธนาคารมีความเชื่อแบบนี้และมีการกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องที่ทำสินเชื่อด้วยเรื่องดังกล่าว ก็ชวนให้สงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงนำผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนกันมาขายให้นักลงทุนรายย่อย ประเด็นนี้นักลงทุนรายย่อยอาจจะต้องคอยคำตอบจากคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยเพื่อให้ได้คำอธิบายอย่างชัดเจน ว่ามาตรฐานต่างกันอย่างไร รวมถึงขอความเป็นธรรมไปที่ผู้กำกับดูแลต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานก.ล.ต. เพื่อให้ทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

    วันนี้เราควรต้องมีคำตอบให้นักลงทุนที่ได้รับความเดือดร้อนว่าสาเหตุความเสียหายคืออะไร มาตรฐานต่างหรือเหมือนกันอย่างไร และสังคมควรจะได้รับรู้ว่าคนที่นำผลิตภัณฑ์นี้มาจำหน่ายคือใคร บุคคลเหล่านี้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบทีมงานสินเชื่อหรือไม่ ถ้าเป็นคนเดียวกันยิ่งน่ากังวลและน่าสงสัยขึ้นไปอีกว่าทำได้หรือไม่ และถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้สังคมค่อนข้างคลางแคลงใจ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ผู้กำกับดูแลได้เข้ามาตรวจสอบและให้คำตอบแก่สังคมอย่างไร

    ผมจึงยืนยันว่าการตรวจสอบกับทุกคนกับทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องจำเป็น แต่การตรวจสอบต้องทำโดยสถาบันที่เป็นกลางเท่านั้น

    #ขอความเป็นธรรม
    #บทพิสูจน์ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน
    #มาตรฐานการตรวจสอบสถาบันการเงินไทย
    #จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี