ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย แจงข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ “เอิร์ธ”

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย แจงข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ “เอิร์ธ”

10 มกราคม 2019


นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

“ผมขอใช้โอกาสนี้ชี้แจงข่าวของธนาคารกรุงไทยที่กล่าวหาตัวผม ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ผมถูกกล่าวหาอยู่ข้างเดียว ถ้าติดตามข่าวที่อออกมา จะเห็นว่า ไม่ค่อยมีรายละเอียดสักเท่าไร มีแต่ประเด็นกว้าง ๆ ว่า มีการทุจริตและบกพร่องเกี่ยวกับการให้สินเชื่อ บริษัทเอิร์ธ มีผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่เกี่ยวข้องหลายระดับ ซึ่งจะต้องถูกลงโทษทางวินัยและถูกดำเนินคดี ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นธรรมกับตัวผมเอง เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว มีรายละเอียด ที่จะบอกได้ว่า ผมไปเกี่ยวข้องตรงไหน อย่างไร และตรงนั้นมันเป็นสาเหตุของปัญหาหรือเปล่า ทั้งนี้ผมได้รับข้อกล่าวหา แต่ไม่มีรายละเอียดว่าผมทำผิดอะไรบ้าง อย่างไร เมื่อไหร่ เพื่อผมจะได้แก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้อง แต่ธนาคารกรุงไทยไม่เคยมีความชัดแจ้งในเรื่องนี้ ผมจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ทราบจะชี้แจงอย่างไรกับคณะกรรมการตรวจสอบที่ธนาคารกรุงไทยตั้งขึ้นมา”

ความเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อ”เอิร์ธ”

นายกิตติพันธ์กล่าวว่าเอิร์ธ เป็นลูกค้าธนาคารมาก่อนที่ตนจะเข้ามา ในขณะนั้นเป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย งบการเงินได้รับการรับรองจาก บริษัท PWC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก

“ผมเป็นผู้ดูแลสายงานที่นำเสนอขออนุมัติสินเชื่อให้เอิร์ธ สองวงเงิน มูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาทเมื่อปี 2558 คำขออนุมัติผ่านการตรวจสอบจากสายงานประเมินความเสี่ยง ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร”

พร้อมย้ำว่า “คำขออนุมัติสินเชื่อดังกล่าว กระทำอย่างถูกต้องทั้งในแง่คุณสมบัติของลูกค้า การประเมินความเสี่ยง การกลั่นกรอง ก่อนเสนอให้บอร์ดบริหารพิจารณาขั้นสุดท้าย ผมไม่ใช่ผู้อนุมัติสินเชื่อ เพราะไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ”

หลังจากสินเชื่อทั้งสองวงเงินดังกล่าว เอิร์ธได้รับการจัดอันดับเรทติ้ง BBB- (ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในเกณฑ์ที่เพียงพอ) โดย TRIS ซึ่งเป็นการยืนยันความสามารถในการชำระหนี้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ธนาคารกรุงไทยได้เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหรือข้อมูลอันเดอร์ไรเตอร์ หุ้นกู้เอิร์ธ 2 รุ่น ในวงเงินรวม 5,500 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ถือเป็นการกลั่นกรองอีกครั้งว่าเป็นลูกค้าที่ดีที่ธนาคารจะนำหุ้นกู้ไปขายให้กับลูกค้ารายย่อยได้

สินเชื่อ 4,500 ล้าน ไม่ใช่เอ็นพีแอล

นายกิตติพันธ์กล่าวต่อว่าสินเชื่อ 2 วงเงิน มูลค่า 4,500 ล้านบาท ที่เอิร์ธได้รับอนุมัติจากธนาคารกรุงไทยนั้น ตนมีส่วนร่วมในการนำเสนอเมื่อปี 2558 เป็นสินเชื่อปกติ ไม่มีการผิดนัดชำระ และไม่มีการทำผิดเงื่อนไข แต่อย่างใด สินเชื่อทั้งสองวงเงินนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อที่ธนาคารกรุงไทยให้กับเอิร์ธ เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในเดือนพฤษภาคม 2560 โดยเริ่มจากจำนวน 200 กว่าล้านบาท แต่เมื่อไม่ได้รับการผ่อนผันทำให้เกิดผลกระทบกับวงเงินอื่น ภาษาด้านแบงก์เรียกว่า Cross Default ทำให้วงเงินอื่นทั้งหมดเปรียบเสมือนว่าผิดนัดชำระหนี้ไปด้วย ทำให้สินเชื่อทั้งหมด 12,000 ล้านบาทกลายเป็น NPL ความเสียหายที่เกิดกับธนาคารกรุงไทย อันเนื่องมาจากเอ็นพีแอลของเอิร์ธ จึงไม่ได้เกิดจากสินเชื่อ 2 วงเงิน ที่ตนมีส่วนร่วมในการนำเสนอเมื่อ ปี 2558

“เอิร์ธเป็นลูกค้ากรุงไทยมาตั้งแต่ยุคก่อนผมเข้าทำงานหลายปี ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน มารู้จักตอนที่กรุงไทยเซ็นสัญญาเงินกู้ช่วงเดือนสิงหาคม 2557 โดยในช่วงนั้นเอิร์ธเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของสายงานธุรกิจขนาดใหญ่”

ในแง่ของการวิเคราะห์สินเชื่อและการประเมินความเสี่ยง เอิร์ธจัดเป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคารกรุงไทย เพราะว่าบริษัทมีประวัติการชำระหนี้ดี ไม่เคยล่าช้า ผ่านการตรวจสอบภายในของธนาคารกรุงไทย และผ่านการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย งบการเงินของเอิร์ธได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก PWC ซึ่งเป็นบริษัทผู้สอบบัญชีระดับสากล อีกทั้งยังได้รับการจัดอันดับหรือเรทติ้งจาก TRIS ที่ BBB- ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ Investment Grade ในเดือนมิถุนายน 2559

ส่วนกรณีที่เอิร์ธออกหุ้นกู้ ในเวลาต่อมา ธนาคารกรุงไทย เป็นอันเดอร์ไรเตอร์ ในแบบเปิดเผยข้อมูล เพื่อขออนุญาต ก.ล.ต จำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าว ซึ่งได้รับอนุญาต จาก ก.ล.ต. ให้ขายหุ้นกู้ได้ จึงเป็นการรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ของข้อมูลที่ใช้พิจารณา

สำหรับกระบวนการกล่าวหาและการชี้แจงนั้นนายกิตติพันธ์กล่าวว่าในเดือนตุลาคม 2560 ธนาคารมีการส่งจดหมายแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมทั้งแจ้งเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดพิเศษ โดยข้อกล่าวหานั้นมีเพียงแค่ว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงเงินใดในสมัยทำงานที่ธนาคารกรุงไทย และมีการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อ โดยไม่มีรายละเอียดใดๆ ว่าการเสนอขอสินเชื่อครั้งใด ข้อมูลอะไรที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และมีผลทำให้เสียหายอย่างไร

ต่อมาพฤศจิกายน 2560 ตนได้ทำจดหมายกลับไปเพื่อคัดค้านกรรมการชุดพิเศษทั้งชุด อีกทั้งตนได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ผิดจากระเบียบปฏิบัติที่ดีและพร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง ขอให้มีการส่งรายละเอียดว่าทำอะไรผิด มีพฤติกรรมอย่างไร เวลาใด มีผลทำให้เสียหายอย่างไร ผิดระเบียบข้อไหน การกล่าวหาที่ไม่มีรายละเอียดและหลักฐาน เป็นเพียงการกล่าวหาตนไม่สามารถที่จะชี้แจงรายละเอียดได้

ต่อมาธันวาคม 2560 ตนได้รับจดหมายของกรุงไทยปฏิเสธการคัดค้านการแต่งตั้งคณะกรรมการ ในขณะเดียวกันกลับไม่มีการตอบเรื่องรายละเอียดการกล่าวหาแต่อย่างใด

ต่อมามกราคม 2561 ตนส่งจดหมายไปทวงถามรายละเอียดอีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อที่จะได้ชี้แจง และในเดือนมกราคม 2561 ตนได้รับจดหมายตอบกลับมาว่าจดหมายแจ้งข้อกล่าวหามีรายละเอียดชัดเจนอยู่แล้ว โดยยังคงไม่มีการให้รายละเอียดหรือหลักฐานใดๆ

หลังจากนั้นธันวาคม 2561 ตนได้รับจดหมายแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งได้มีข้อกล่าวหาใหม่เพิ่มเข้ามาหลายข้อ ซึ่งทุกข้อไม่ได้มีการให้รายละเอียดหรือแสดงหลักฐานใดๆ ที่สำคัญตนไม่เคยได้รับการติดต่อใดๆ หรือได้รับเชิญไปให้ข้อมูลแต่ประการใด

“ผมไม่ได้รับโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง ก่อนหน้านี้ ผมได้ทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความกังวลใจและได้รับการบอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นแล้วว่าเป็นอย่างที่ผมพูดหรือไม่”

นายกิตติพันธ์กล่าวย้ำว่า “คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษ เพื่อสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาน้อยกว่า 1 เดือนหลังจากเอิร์ธผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแปลกมาก ผมจึงไม่เข้าใจว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ผมเห็นว่าไม่น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องตามหลักสากล นอกจากนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยคณะกรรมการบริหารฯนั้น ผมมีความเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะคณะกรรมการบริหารฯ ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย เพราะมีส่วนในการอนุมัติสินเชื่อด้วย ผมจึงไม่เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ผมซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ถูกเรียกตัวไปให้ข้อมูลเบื้องต้น ต่อมาถูกกล่าวหา โดยข้อกล่าวหาที่เคลือบคลุมเครือมาก ไม่ชัดแจ้งเลย เพราะข้อกล่าวหาไม่ได้บอกว่าผมทำผิดอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และมีหลักฐานอะไร เพื่อผมจะได้ชี้แจง และแก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้องและครบถ้วน ผมสอบถามไปธนาคารกรุงไทยหลายครั้งก็ได้รับคำตอบว่าชัดแจ้งแล้ว โดยไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ในที่สุดก็มีมติกล่าวหาว่าผมกระทำผิด ผมจึงเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับชีวิตและวิชาชีพผม ซึ่งผมก็คงต้องหวังพึ่งบารมีศาลต่อไป”

ป้ายคำ :