ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 4) : ระเบียบ…มีไว้เพื่ออะไร?

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 4) : ระเบียบ…มีไว้เพื่ออะไร?

30 มกราคม 2019


นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่

ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

วันที่ 30 มกราคม 2562 นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก Kittiphun Anutarasotiเกี่ยวกับผลสอบสวนและข้อกล่าวหา เป็นครั้งที่ 4 ว่า “เมื่อคืนนี้มีเพื่อนส่งบทความให้สัมภาษณ์ของ ดร.เอกนิติ ประธานบอร์ดกรุงไทย มาให้ ในบทสัมภาษณ์มีการกล่าวว่า สำหรับบุคคลภายนอกธนาคารนั้น ทาง KTB ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบหรือเอาผิดแต่อย่างใด การที่ประธานกรรมการธนาคารให้สัมภาษณ์แบบนี้ หากผมตีความตรงๆ ประเด็นสำคัญน่าจะเป็นการชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมานั้นการตรวจสอบและการกล่าวหาคนนอกโดยธนาคารกรุงไทยนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของธนาคาร

ผมอยากตั้งคำถามต่อว่า หากไม่มีระเบียบรองรับอยู่นั้น ธนาคารมีสิทธิ์ในการตรวจสอบผมหรือไม่ แล้วการกระทำดังกล่าวถือว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเมื่อได้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบนั้นธนาคารกรุงไทยจะดำเนินการเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องที่ทำไม่ถูกต้องหรือไม่และอย่างไร ผลการตรวจสอบที่มาจากกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ และอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยและผู้เกี่ยวข้องจะรับผิดชอบอย่างไรกับสิ่งที่ตัวเองไม่ปฏิบัติตามระเบียบ

  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย แจงข้อกล่าวหากรณีปล่อยกู้ “เอิร์ธ”
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่1) : การค้นหาความจริงว่าความเสียหายเกิดจากอะไร?
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ”ยื่นลาพักชั่วคราว “บทบาทกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” 2เดือนครึ่ง
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่2) : ความจริงปิดกันไม่ได้…
  • “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่3) : เปรียบเทียบการให้สินเชื่อกับการขายหุ้นกู้
  • จริงๆแล้วเรื่องดังกล่าวได้มีผู้ใหญ่หลายท่านได้กรุณาแนะนำผม หลังจากที่ผมได้มีการแถลงข่าวในช่วงต้นเดือนมกราคมว่าให้ไปศึกษาดูระเบียบอย่างละเอียดว่าทางธนาคารกรุงไทยมีสิทธิ์สอบผมหรือไม่ ท่านเหล่านี้พอทราบถึงกฏเกณฑ์เรื่องวินัยพนักงานของรัฐวิสาหกิจอยู่บ้าง หลังจากไปตรวจสอบก็พบว่า ในระเบียบของธนาคารนั้นไม่ได้มีการให้สิทธิในการตรวจสอบพนักงานที่สิ้นสภาพการเป็นพนักงานแล้ว ซึ่งผมได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับดูแลได้ดำเนินการตรวจสอบถึงความถูกต้องของกระบวนการตรวจสอบดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

    ไหนๆพูดเรื่องการตรวจสอบในวันนี้ ผมเลยขอโพสต์จดหมายติดต่อกับกรุงไทยที่เป็นสาระสำคัญให้ดูกันครับ เพราะจะได้เห็นว่ามีการตรวจสอบ(ที่ผมคิดว่ากระบวนการไม่เป็นธรรม)และกล่าวหาจริง หากพิจารณาจากที่ประธานบอร์ดกรุงไทยให้สัมภาษณ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และกระบวนการที่ไม่มีระเบียบรองรับดังกล่าวทำไปเพื่ออะไร? ทำไปเพื่อเหตุผลได้กันแน่? เป็นไปเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงของเหตุแห่งความเสียหายต่อธนาคารและนักลงทุนรายย่อยด้วยความจริงใจหรือไม่?

    ส่วนเรื่องไม่ทำตามระเบียบ ก็ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียวนะครับ มีการรายงานโดยสำนักข่าวแห่งหนึ่งว่าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดพิเศษวันที่ตั้งก็ไม่มีระเบียบรองรับเหมือนกัน และมีการรายงานว่ามีการแก้ระเบียบตามมาในเวลาหลายเดือนต่อมา ไม่รู้รีบร้อนอะไร จึงต้องรีบตั้ง ผมฝากท่านผู้กำกับดูแลช่วยตรวจตราเรื่องพวกนี้ด้วยนะครับ เรื่องแบบนี้อยู่ในเอกสาร มีหลักฐานทุกอย่าง จริงหรือไม่จริง ไม่น่าตรวจสอบยาก ผมเลยเดาเอาเล่นๆครับว่าทำไมถึงเรียกว่าชุดพิเศษ ทางธนาคารใช้คำภาษาอังกฤษว่า “special audit committee” คงจะเป็นเพราะความพิเศษหรือ special ในการตรวจสอบเรื่องที่กรุงไทยไม่มีสิทธิ์และสามารถถูกแต่งตั้งก่อนมีระเบียบรองรับหลายเดือนนั่นเอง เรื่องระเบียบยังมีอีกหลายเรื่องครับแต่เอาแค่นี้ก่อนวันนี้ ผมเลยตั้งชื่อตอนนี้ว่าระเบียบมีไว้…เพื่ออะไร

    ทั้งนี้ผมยังยืนยันสิ่งที่ผมพูดเสมอนะครับ ว่ากรณีของเอิร์ธเป็นกรณีที่สร้างความเสียหายในวงกว้าง ต้องมีการตรวจสอบว่า แท้จริงอะไรคือต้นเหตุแห่งความเสียหายกันแน่ และกระบวนการตรวจสอบต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นกลาง โดยบุคคลที่ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือ เกี่ยวของกับกรณีดังกล่าว เพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

    นอกจากนั้นหลายท่านเขียนมาถามและขอดูเอกสารการติดต่อ เพื่อให้เห็นภาพเรื่องที่ผมได้แสดงความคิดเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับผม

    ผมเลยถือโอกาสนี้แชร์เรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งพี่น้องสื่อมวลชนนั้นได้เห็นจดหมายพวกนี้ไปแล้ว ผมได้นำชื่อบุคคลต่างๆรวมถึงข้อมูลลูกค้าออกแล้ว เพื่อที่จะไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับลูกค้า ทุกท่านสามารถใช้ดุลพินิจส่วนตัวได้ว่ากระบวนการตรวจสอบและแจ้งข้อกล่าวหาเป็นธรรมหรือไม่

    #ขอความเป็นธรรม
    #ขอให้ความจริงปรากฎ
    #จรรยาบรรณสถาบันการเงิน
    #บทพิสูจน์ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน
    #จริยธรรมและธรรมาภิบาล ได้เวลาเอาจริงหรือยัง