ThaiPublica > เกาะกระแส > คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 4): “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? นำไปสู่การแก้กม. ให้ตีความใหม่ เพื่อ “อำนาจชี้ขาดเพียงผู้เดียว”

คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 4): “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? นำไปสู่การแก้กม. ให้ตีความใหม่ เพื่อ “อำนาจชี้ขาดเพียงผู้เดียว”

13 มิถุนายน 2019


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ประกาศผลประมูลสัมปทานกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรี ซึ่งผู้ชนะคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในพื้นที่สนามบินสุวรรณ ระยะเวลา 10 ปี โดย ทอท.ระบุว่าผู้ชนะเสนอผลตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมาย

และวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ทอท.ประกาศผลคะแนนรวมสูงสุดของผู้ยื่นข้อเสนองานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ คือบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

เป็นที่ทราบว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ใช้พื้นที่ของ ทอท.ในการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ปี 2548 โดยที่ ทอท.ขณะนั้นไม่ได้เปิดประมูลใหม่ แต่เป็นการขอต่อสัญญาต่อเนื่อง จากการย้ายสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมคำอ้างว่าเวลาเหลือ 1 ปี 9 เดือนอาจจะไม่ทันการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนกันยายน 2548 จึงทำสัญญา 10 ปีจนถึงปี 2558 จากนั้นได้รับการต่อสัญญาอีก 2 ครั้ง โดยอ้างความไม่สงบทางการเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ได้รับการขยายสัญญาจนสิ้นสุดปี 2563 รวมเวลา 14 ปี

  • ข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ขอต่อสัญญาปี 2547 ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว
  • 2 ตอนที่ผ่านมา ได้เกาะติดประเด็นที่ว่า “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? สำหรับสัมปทานเก่าอายุ 14 ปี ที่จะหมดอายุในปี 2563

    เป็นประเด็นคำถามที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ได้ต่อสัมปทานจนถึงปัจจุบัน

  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี-ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 2): “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่? … จาก คมช. ถึง คสช.
  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน3): “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? …ถามถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้ง คสช. ชี้มติ ป.ป.ช. ไม่ชอบ
  • จากปัญหาการตีความในประเด็นข้อกฎหมาย กลายเป็นคดีความฟ้องร้องกันในชั้นศาลที่มีมาอย่างต่อเนื่องในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การยกร่างกฎหมายมาแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯปี 2556 ทั้งนี้ เนื่องจากพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน กำหนดขอบเขตไว้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ มาตรา 7 ระบุว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้กับการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ยกเว้นการให้สัมปทานตามกฎหมายปิโตรเลียม และการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่” ทำให้โครงการร่วมลงทุนทุกโครงการ ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดใน พ.ร.บ. ร่วมทุน ฯ ฉบับนี้ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาท จะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานภายนอก อาทิ สภาพัฒน์ ฯ กระทรวงเจ้าสังกัด กระทรวงการคลัง หน่วยงานเจ้าของโครงการ ทำหน้าที่ติดตามและกำกับดูแล ตั้งแต่การยกร่างประกาศเชิญชวน คัดเลือก ทำสัญญา ฯ ไปจนสิ้นสุดโครงการ

    ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าโครงการประเภทใดบ้าง อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ในร่างพ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่จึงมีการแก้ไขมาตรา 7 โดยกำหนดคุณลักษณะของโครงการร่วมลงทุนที่อยู่ภายใต้ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ ต้องเป็นโครงการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะ ซึ่งมีทั้งหมด 12 ประเภท (ดูภาพประกอบ) ไม่รวมถึงโครงการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ การเข้าบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐ แต่อย่างไรก็ตามใน วรรคท้ายของมาตรา 7 ระบุว่า “กิจการตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานดังกล่าวด้วย”

    หากโครงการร่วมลงทุน ฯ ไม่มีคุณลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 7 ก็จะไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. ร่วมทุน อำนาจในการกำกับดูแล และพิจารณาอนุมัติโครงการจะเป็นของหน่วยงานเจ้าของโครงการ

    วันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ฉบับใหม่ เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จึงเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)นัดพิเศษเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ใช้เวลาผ่านร่างกฎหมาย 1 เดือน วันที่ 10 มีนาคม 2562พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

    ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 มีนาคม 2562 ทอท.ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบินโดยที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ยังไม่ได้มีการประชุม เพื่อพิจารณาออกประกาศคณะกรรมการ ฯ กำหนดประเภท “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” เสนอให้ที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบ ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสุดท้ายของ มาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ ปี 2562 (กฎหมายลำดับรอง) ประกอบกับมีข้อร้องเรียนจากภาคเอกชนและนักวิชาการในประเด็นผูกขาด รวมทั้งคณะกรรมการ PPP ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าโครงการนี้เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน ฯหรือไม่

    ทั้งนายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงสั่งให้ ทอท. ชะลอการประมูลออกไปก่อน โดยให้นำข้อเรียกร้องของภาคเอกชนมาพิจารณาทบทวน

    เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 เวลา 13.30 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    สั่งทบทวนได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ วันที่ 29 มีนาคม 2562 ทอท.ออกประกาศเป็นครั้งที่ 2เชิญชวนเอกชนเขาร่วมประมูลสิทธิดิวตี้ฟรีอีก เป็นวันเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มานั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ครั้งที่ 1/2562 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ยกร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น พ.ศ. โดยไม่รอต้องรอผลการพิจารณาสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์จะอยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่หรือไม่

  • “ประภาศ คงเอียด” แจงกรอบการวินิจฉัย “ดิวตี้ฟรี” เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามพ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่หรือไม่?
  • จากนั้น คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, กรมศุลกากร, กรมท่าอากาศยาน, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), กองทัพเรือ, บริษัท การบินไทน จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มาประชุม 2 ครั้ง ในวันที่ 2 เมษายน 2562 และวันที่ 10 เมษายน 2562 เพื่อกำหนดกรอบหลักการพิจารณาว่ากิจการประเภทใดที่ถือเป็น “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามมาตรา 7 วรรคท้าย เอาไว้ 2 แนวทาง คือ

    • หากไม่มีกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นนั้น จะไม่สามารถดำเนินกิจการตามมาตรา 7 วรรคที่ 1 ได้
    • กรณีที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง กำหนดให้ต้องมี “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ไว้ในการดำเนินกิจการตามมาตรา 7 วรรคที่ 1

    สรุปผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ฯ กิจการร้านค้าปลอดอากร และกิจการร้านค้าและบริการในสนามบิน ไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น ตามมาตรา 7 ไม่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯปี 2562 โดยคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายให้เหตุผลว่า “กิจการดังกล่าวเป็นกิจการเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่กิจการที่จำเป็นที่ขาดไม่ได้”

    ใกล้เคียงกับหลักการที่นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เคยให้สัมภาษณ์ “ไทยรัฐ” ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2562 ว่า “สนามบินถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หากไม่มีดิวตี้ฟรี ก็ไม่กระทบต่อการให้บริการของสนามบิน เครื่องบินยังบินขึ้นลงได้ตามปกติ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เข้าข่ายเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะไม่ได้กระทบต่อการบริการของสนามบิน มีหรือไม่มีดิวตี้ฟรี สนามบินก็ให้บริการได้”

    ขณะที่กิจการครัวการบิน , คลังสินค้า , ระบบให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานอุปกรณ์บริการภาคพื้นดิน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง และอุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งมีขนาดของมูลค่าการลงทุนน้อยกว่ากิจการดิวตี้ฟรี และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ถือเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น ตามกรอบการพิจารณา ข้อที่ 2

    วันที่ 18 เมษายน 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 2/ 2562 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานหัวโต๊ะ ได้มีมติเห็นชอบธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบิน ไม่ใช่กิจการจำเป็น ที่ขาดไม่ได้ ตามที่คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายเสนอ โดยที่ประชุมครม.ได้มีมติความเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการ PPP ฉบับนี้แล้วเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562

    ล่าสุด ร่างประกาศคณะกรรมการ PPP ฉบับนี้ ยังไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพราะอยู่ระหว่างการกลั่นกรอง และตรวจทานถ้อยคำ

    ขณะที่ทอท. ประกาศชื่อผู้ชนะการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดเสนอผลตอบแทนให้กับ ทอท.สูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับ และสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมาย แต่ไม่เปิดเผยประกาศรายละเอียดคะแนนด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ประมูลแต่ละรายเสนอให้กับ ทอท.เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ แถมยังเชิญผู้ประมูล 2 รายที่ได้คะแนนอันดับที่ 2 และ 3 ออกจากห้องประชุม เพื่อเจรจาต่อรองราคากับ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ที่ได้คะแนนสูงสุด

    ตามหลักการประมูลที่มีความโปร่งใส หลังประกาศผลคะแนนด้านเทคนิค เมื่อเปิดซองราคา เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้ประมูลที่เข้าร่วมประมูลทราบว่า แต่ละรายเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท.เท่าไหร่

    ทั้งๆที่การให้สัมปทานครั้งนี้ นักวิเคราะห์เคยประมาณการณ์ว่า หากให้สัมปทาน 10 ปี รัฐควรมีรายได้ประมาณ 5 แสนล้านบาท

  • 14 ปีผลงาน ทอท.กับบริการผู้โดยสารจาก 47 ล้านคนเป็น 139 ล้านคน – “สัมปทานดิวตี้ฟรี” …ประเทศไทยได้อะไร?
  • กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนที่ 2): ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิคะแนนต่ำกว่าสนามบินชั้นนำในภูมิภาคเกือบทุกเกณฑ์
  • กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนจบ): เปรียบเทียบ “โครงสร้าง-ผลตอบแทน” สัมปทานดิวตี้ฟรีโลกกับของไทย
  • นี่คือ ผลจากการตีความกิจการดิวตี้ฟรี และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการของพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ การพิจารณาดำเนินการไปจนถึงอนุมัติโครงการ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของโครงการทั้งหมด นั่นคือทอท.มีอำนาจชี้ขาดเพียงผู้เดียว โดยไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาคานอำนาจ คอยกำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ