ThaiPublica > เกาะกระแส > คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน3): “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? …ถามถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้ง คสช. ชี้มติ ป.ป.ช. ไม่ชอบ

คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน3): “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? …ถามถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้ง คสช. ชี้มติ ป.ป.ช. ไม่ชอบ

6 มิถุนายน 2019


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ประกาศผลประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ซึ่งผู้ชนะคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในพื้นที่สนามบินสุวรรณ ระยะเวลา 10 ปี โดย ทอท. ระบุว่าผู้ชนะเสนอผลตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท. เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ ทอท. คาดหมาย

เป็นที่ทราบว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ใช้พื้นที่ของทอท.ในการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ปี 2548 โดยที่ทอท.ขณะนั้นไม่ได้เปิดประมูลใหม่ แต่เป็นการขอต่อสัญญาต่อเนื่อง จากการย้ายสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมคำอ้างว่าเวลาเหลือ 1 ปี 9 เดือนอาจจะไม่ทันการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนกันยายน 2548 จึงทำสัญญา 10 ปีจนถึงปี 2558 จากนั้นได้รับการต่อสัญญาอีก 2 ครั้ง โดยอ้างความไม่สงบทางการเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ได้รับการขยายสัญญาจนสิ้นสุดปี 2563 รวมเวลา 14 ปี

  • ข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ขอต่อสัญญาปี 2547 ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว
  • ต่อจากตอนที่แล้ว…คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 2) : “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? … จากคมช. ถึง คสช. ยังมีอีกเรื่องเกี่ยวกับคำถามว่า “ทอท.- คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 ทั้งนี้มีปรากฏเป็นประเด็นวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ. 1567/2560, คดีหมายเลขแดงที่ อ. 2683/2561 และคำพิพากาษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ พ. 545/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ พ. 428/2562 ระหว่างกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ประกอบด้วย บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (KPI) เป็นโจทก์ที่ 1, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) โจทก์ที่ 2 และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) โจทก์ที่ 3 ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในข้อหาหมิ่นประมาท

    ข้อหาหมิ่นประมาทคือประเด็นที่นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์สื่อถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติ 5 ต่อ 4 เสียง ให้ยกคำร้อง (ให้เรื่องนี้ตกไป) เรื่องกล่าวหานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก ในข้อหาร่วมกันไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ปี 2535 และกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม กรณี ทอท. อนุญาตให้กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เข้าบริหารกิจการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ โดยให้เหตุผลว่าการดำเนินโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการลงทุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาทนั้น

    โดยคำพิพากษาของทั้งศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลแพ่ง ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก ในข้อหาร่วมกันไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ปี 2535 และกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม กรณี ทอท. อนุญาตให้กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เข้าบริหารกิจการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 326/2554 ลงมติ 5 ต่อ 4 เสียง ให้เรื่องนี้ตกไป เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานตามข้อกล่าวหา โดยเฉพาะในคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น ได้บรรยายเหตุการณ์ไว้ค่อนข้างละเอียดว่า

    …ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท. จึงได้เชิญ ป.ป.ช. มาชี้แจงการลงมติดังกล่าวแล้ว พบว่า ป.ป.ช. ไม่ได้พิจารณารายละเอียดการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องการคำนวณมูลค่าการลงทุน และไม่ได้นำพยานหลักฐานข้อเท็จจริงอื่นๆ เช่น คำฟ้องในคดีแพ่งที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ทอท. เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ สปท. จึงไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 โดยขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

    ปรากฎว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ข้อสรุปการตรวจสอบเบื้องต้นว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยกคำร้อง 5 ต่อ 4 เสียง โดยให้เหตุผลว่าการดำเนินการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์มีการลงทุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ น่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะพิจารณาจากผลการสอบสวนของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการวิสามัญและติดตามแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินโครงการต่างๆ ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มี พล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ เป็นประธานฯ สรุปว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

    นอกจากนี้ ในรายงานผลการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินเบื้องต้น ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. น่าจะมีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เช่น การไม่นำพยานหลักฐานข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวน คือ คำฟ้องของบริษัท คิง เพาเวอร์ ฟ้อง ทอท. และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องการคำนวณมูลค่าการลงทุน หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบพบ จึงทำหนังสือที่ ผผ. 10/967 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 พร้อมสรุปรายงานเบื้องต้นถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา

    หลังศาลอาญากรุงเทพใต้วินิจฉัยประเด็นที่โจทก์ฟ้องครบทุกประเด็นแล้ว พิพากษาว่า “ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% จึงถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ จำเลย คือ นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบ ของคณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย หรือ ได้รับแต่งตั้งโดยชอบ การกระทำของนายชาญชัยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะกระทำได้เพื่อเผยข้อเท็จจริง อันเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

    อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2528 ข้อ 81 วรรคท้าย ห้ามไม่ให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกิจการงานของคณะกรรมาธิการก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ประธานคณะกรรมาธิการในคณะนั้นๆ จะไปดำเนินการตามข้อบังคับกับจำเลยต่างหาก หามีผลต่อการวินิจฉัยในคดีไม่

    การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) และไม่ใช่เป็นการดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น พิพากษา “ยกฟ้อง” ทางกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ให้ทนายความยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาล

    ส่วนศาลแพ่ง วินิจฉัยประเด็นนี้ว่า ข้อความที่นายชาญชัยนำมาแถลงข่าวนั้น เป็นการแถลงตามความจริงที่ปรากฏตามข้อมูลในเอกสารที่ได้มาจากหลายหน่วยงาน ทั้งเอกสาร ทอท., เอกสารในสัญญา, เอกสารจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนวนที่มีการฟ้องร้องในศาล สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช., คณะกรรมาธิการ สปท., สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การแถลงข่าวของนายชาญชัย เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาตามอำนาจหน้าที่ของอนุกรรมาธิการฯ แถลงข่าวให้สาธารณชนทราบโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของชาติ เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ทอท. ผู้ถือหุ้นรายย่อย และประชาชนทั่วไปให้ทราบและเข้าใจประเด็นปัญหาความเป็นมา ข้อความที่นายชาญชัยแถลงจึงไม่ฝ่าฝืนความจริง จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

    สุดท้ายเมื่อศาลแพ่งได้วินิจฉัยประเด็นฟ้องครบทุกประเด็นแล้ว จึงพิพากษา “ยกคำฟ้องโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ” ความคืบหน้าของคดีนี้อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์เช่นกัน

    นอกจากนี้ กรณีที่ สปท. เคยทำข้อเสนอแนะถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้ปลดบอร์ด AOT-เลิกสัมปทานดิวตี้ฟรี และต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไว้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ว่า “ปลดเรื่องอะไร การสอบสวนและกฎหมายว่าอย่างไร แจ้งความกันหรือยัง ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รัฐบาลจะเอาเรื่องที่มีกระแสมาทำโดยไม่มีที่มา หลักฐานการทุจริต ผู้เสียหาย กระบวนการยุติธรรมว่าอย่างไร”

    อย่างไรก็ตามเพื่อให้เอกสารถึงมือนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาคดี นายชาญชัย จึงดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีเคยมีดำริไว้ โดยส่งสำเนาคำพิพากษาศาล พร้อมหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ ทอท. เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้

    ปรากฏว่ามีนายกรัฐมนตรีเพียงรายเดียวที่ทำหนังสือแจ้งกลับนายชาญชัยว่าได้รับเอกสารที่จัดส่งให้แล้ว แต่ไม่ได้สั่งการใดๆ เพื่อจัดการกับเรื่องนี้ให้ถูกต้อง แต่อย่างใด

    เช่นเดียวกับคณะกรรมการทอท.ที่ “คน” กระทรวงการคลังนั่งเป็นประธานกรรมการ(นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง)และเป็นกรรมการ(นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร) ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาหรือไม่อย่างไร

    ย้อนผลสอบ ป.ป.ช. เสียง 5 ต่อ 4 ตีตกสัมปทาน “ดิวตี้ฟรี – พื้นที่เชิงพาณิชย์”

    ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เคยนำเสนอข่าว “ย้อนผลสอบ ป.ป.ช. เสียง 5 ต่อ 4 ต่อสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้าน ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ” เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมีแหล่งข่าวจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงที่มาของเรื่องกล่าวหาดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. สมัยนั้นมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก ในข้อหาร่วมกันหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ และกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม กรณี ทอท. อนุญาตให้กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เข้าบริหารกิจการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

    เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 สำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง 1 ป.ป.ช. สรุปสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 326-73/2554 ขอให้วินิจฉัยว่า โครงการบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท และต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ หรือไม่

    มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เข้าร่วมประชุม 9 คน มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้

    กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คน เห็นชอบกับความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดวิธีการประเมินวงเงินลงทุนเอาไว้ ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เมื่อ ทอท. ต้องการประเมินวงเงินลงทุนของโครงการการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ดังนั้น บอร์ด ป.ป.ช. จึงนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ เรื่องเสร็จที่ 409/2546 เคยวินิจฉัยเอาไว้ว่า “ต้องนำมูลค่าที่ดิน อาคาร การปรับปรุงตกแต่งร้านค้า จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ ระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการจัดหาสินค้าคงคลังเพื่อจำหน่ายมารวมเป็นวงเงินลงทุนโครงการ” มาเป็นแนวทางในการประเมินวงเงินลงทุนโครงการบริหารจัดการกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์

    กฤษฎีกาคำนวณมูลค่าการลงทุน

    แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือตอบข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาในส่วนของอาคารไม่ได้ระบุรายละเอียดวิธีการไว้ ภายหลังบริษัทที่ปรึกษาได้ประเมินวงเงินลงทุนในส่วนของอาคารดังนี้

      1. ตามสัดส่วนพื้นที่โครงการ
      2. นำอายุการใช้งานอาคารโดยทั่วไปที่ 30 ปี มาหารมูลค่าก่อสร้างทั้งหมดแล้วคูณด้วยอายุสัมปทาน 10 ปี ซึ่งผลการศึกษาได้วงเงินลงทุนโครงการไม่ถึง 1,000 ล้านบาท โดยรายละเอียดสัดส่วนพื้นที่โครงการ อายุการใช้งานอาคาร มูลค่าก่อสร้างอาคารทั้งหมด ตลอดจนอายุสัญญาสัมปทาน สอดคล้องกับคำให้การพยานที่ได้ไต่สวนเพิ่มเติม

    ดังนั้น ตามพฤติการณ์และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ที่นำอายุการใช้งานอาคารมาคำนวณวงเงินลงทุน ยังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

    กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากจึงสรุปว่า “ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาประเด็นนี้เป็นอันตกไป”

    การใช้พื้นที่จริงในสนามบินสุวรรณภูมิ_resize

    ขณะที่กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 4 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว และนายวิชา มหาคุณ มีความเห็นว่า “โครงการนี้มีวงเงินลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการฯ ปรากฏว่ามีการใช้พื้นที่บริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์จริง 25,827 ตารางเมตร มากกว่าที่บริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. คำนวณไว้เดิมที่ 20,000 ตารางเมตร ดังนั้น เมื่อนำไปรวมกับวงเงินลงทุนในส่วนอื่นๆ และมูลค่าอาคารที่ใช้ประกอบกิจการย่อมเกินกว่า 1,000 ล้านบาท”

    ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาของ รศ.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. (ศ.เมธี ครองแก้ว) ที่ได้เสนอต่อที่ประชุมครั้งที่ 260-7/2554 เมื่อวันอังคารที่ 25 มกราคม 2554 กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อยสรุปว่า “การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงมีเจตนาหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ตามที่มีการกล่าวหา”

    ประเด็นที่ 2 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง และบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มีมูลเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่

    ประเด็นนี้ ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้

    กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คน เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ไม่มีมูลเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เนื่องจาก TOR ข้อ 1.4.1 (7) ระบุว่า “ทอท. จะเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนข้อเสนอทางเทคนิคดีที่สุด 2 อันดับแรก โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนตามที่คณะกรรมการ ทอท. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และต้องได้รับคะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 80 คะแนน จึงจะได้รับการพิจารณาเปิดซองด้านราคา”

    ดังนั้น การที่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคในส่วนของการเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ โดยได้กำหนดตำแหน่งของกิจกรรมเชิงพาณิชย์แต่ละประเภท รวมพื้นที่ 25,687 ตารางเมตรนั้น ไม่อยู่ในหัวข้อหลักเกณฑ์การให้คะแนนทางด้านเทคนิค คณะกรรมการคัดเลือกฯไม่ได้ตัดสิทธิบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ในการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค โดยเห็นว่าเป็นไปตามข้อกำหนด TOR

    ส่วนในเรื่องเงินประกันรายได้ขั้นต่ำปีที่ 1 ต้องเป็นไปตาม TOR (ข้อ 2.1.2) กำหนดพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ของโครงการฯ ที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร กรณีที่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำปีแรก 1,431 ล้านบาท ส่วนบริษัทมาสเตอร์มายนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เสนอ 1,210 ล้านบาท จึงเป็นการเสนออยู่บนพื้นฐานที่รับรู้ร่วมกันว่ามีขนาดพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ดังนั้น การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาว่าบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอเงินรายได้ขั้นต่ำปีที่ 1 สูงสุด จึงเป็นไปตามข้อกำหนดใน TOR

    สรุป กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากมีความเห็นว่า “พฤติการณ์และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหายังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับ ทอท. ข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาประเด็นนี้เป็นอันตกไป”

    ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 4 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, ศาสตราจารย์ เมธี ครองแก้ว และนายวิชา มหาคุณ เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค คณะกรรมการคัดเลือกฯ ทราบเรื่องที่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ได้ยื่นข้อเสนอใช้พื้นที่เกินกว่ากำหนดไว้ ซึ่งผิดไปจาก TOR และในการพิจารณาซองข้อเสนอราคาปรากฏว่า บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอใช้พื้นที่ 25,687 ตารางเมตร เสนอผลตอบแทน 1,431 ล้านบาท คำนวณผลตอบแทนได้เท่ากับ 55,707 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่บริษัท มาสเตอร์มายนด์ฯ เสนอใช้พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร เสนอผลตอบแทน 1,210 ล้านบาท คำนวณผลตอบแทนได้เท่ากับ 60,500 บาทต่อตารางเมตร

    ดังนั้น ในกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค และพิจารณาว่าบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำปีที่ 1 สูงสุด จึงไม่ถูกต้อง และต้องถือว่าคณะกรรมการ ทอท. ได้ทราบถึงการกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว แต่ยังอนุมัติให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เข้าทำสัญญากับ ทอท. การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการกระทำใดๆ โดยมุ่งหมายให้มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรม

    จากนั้น ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. สรุปผลการลงคะแนนเสียงเพื่อให้เป็นมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ โดยให้ถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. 5 เสียง ซึ่งเป็นเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการทั้งหมดว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก ร่วมกันหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ และกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในโครงการร้านค้าปลอดอากรและโครงการบริหารกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

    ต่อมา ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 330-77/2554 วันที่ 18 ตุลาคม 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง โดยที่ประชุมได้อภิปรายและสอบถามอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพื้นที่ในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ เพิ่มเติม ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอให้ที่ประชุมลงคะแนนเสียงอีกครั้ง เพื่อมีมติในประเด็นดังต่อไปนี้

    1. โครงการร้านค้าปลอดอากรตามข้อกล่าวหา เป็นโครงการลงทุนที่มีวงเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานฯ หรือไม่ ประเด็นนี้ที่ประชุมบอร์ด ป.ป.ช. ยังคงมีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย คือ

    กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คน ยังคงเห็นชอบตามความเห็นคณะอนุกรรมการไต่สวน ว่าโครงการร้านค้าปลอดอากรเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

    ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 4 คน ประกอบด้วย นายกล้านรงค์ จันทิก, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว และนายวิชา มหาคุณ มีความเห็นว่า โครงการร้านค้าปลอดอากรเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตามสัญญาเช่าพื้นที่ กำหนดจำนวนพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5,000 ตารางเมตร เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ได้ใช้พื้นที่จริง 11,820 ตารางเมตร ภายในระยะเวลา 10 ปี แต่กลับมีการคำนวณมูลค่าการลงทุนเพียง 5,000 ตารางเมตร ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง

    ดังนั้น มูลค่าการลงทุนควรจะต้องเกินกว่า 1,000 ล้านบาท และต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ทั้งนี้ ตามผลการศึกษาของ รศ.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. (ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว) ได้เสนอต่อที่ประชุมครั้งที่ 260-7/2554 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 และตามความเห็นของนายกล้านรงค์ จันทิก และศาสตราจารย์เมธี คลองแก้ว ที่ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 268-15/2554 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554

    2. การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้อง และบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด อาจมีมูลเป็นการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่

    ที่ประชุมบอร์ด ป.ป.ช. มีความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้

    กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 คน เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 16 และ 17 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานตามคำสั่งคณะกรรมการ ทอท. ที่ 69/2547 ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเสนอการขอต่อสัญญา เพื่อเข้าเป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ เป็นไปด้วยความเหมาะสม และเกิดประโยชน์ต่อ ทอท. แล้วให้รายงานผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการ ทอท. รับทราบและพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ยังได้พิจารณารายงานผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าวงเงินลงทุนโครงการร้านค้าปลอดอากรไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จึงไม่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

    เมื่อคณะทำงานตามคำสั่งคณะกรรมการ ทอท. ที่ 69/2547 พิจารณาแล้ว เห็นควรดำเนินการตามผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท. จนเป็นที่ยอมรับได้ และเมื่อพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นต่อ ทอท. พบว่ามีข้อดีทั้งหมด 7 ข้อ ทำให้ ทอท. ได้รับประโยชน์สูงสุด

    กรณีผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 2-12 ในฐานะกรรมการ ทอท. ที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 3/2547 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2547 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เป็นผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรรายเดียว เป็นเวลา 10 ปี โดยได้พิจารณาจากรายงานผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าวงเงินลงทุนในโครงการร้านค้าปลอดอากรไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จึงไม่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

    จากรายงานของคณะทำงานฯ ที่เห็นชอบตามผลการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ ทอท. ยอมรับได้ เมื่อพิจารณาถึงผลดี-ผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อ ทอท. ซึ่งในรายงานนั้นได้แสดงผลดีถึง 7 ข้อ ทำให้ ทอท. ได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ถูกกล่าวหาจึงพิจารณาอนุมัติให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เป็นผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร

    ดังนั้น ตามพฤติการณ์และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ยังฟังไม่ได้ว่ามีเจตนากีดกันไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับ ทอท. ข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาประเด็นนี้เป็นอันตกไป

    กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย 4 คน มีความเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าร้านค้าปลอดอากรเป็นโครงการลงทุนที่มีวงเงินเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกลับพิจารณาว่าเป็นโครงการลงทุนที่มีขนาดไม่ถึง 1,000 ล้านบาท และได้พิจารณาเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิม โดยไม่ได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป ดังนั้น การกระทำจึงมีมูล เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542